Skip to main content
หากพูดถึงหนังเพลงหรือ musical ที่มีสีสันมากที่สุดเรื่องหนึ่งในทศวรรษที่ห้าสิบและหกสิบ เราก็คงจะนึกถึงเรื่อง West Side Story เป็นเรื่องแรก ๆ อาจจะก่อน Singin' in The Rain หรือ Sound of Music เสียด้วยซ้ำ ด้วยหนังเรื่องนี้มีจุดเด่นคือเพลงทั้งบรรเลงและเพลงร้องที่แสนไพเราะ ฝีมือการกำกับวงของวาทยากรอันดับหนึ่งของอเมริกาและเป็นอันดับสองตลอดกาลของโลก รองแค่เฮอร์เบิร์ต ฟอน คารายาน ท่านผู้นั้นก็คือลีโอนาร์ด เบอร์สไตน์ ส่วนคนเขียนบทคืออาร์เทอร์ เลอเรนท์ส และคนแต่งเนื้อร้องก็คือสตีเวน ซาวน์ไฮม์ แน่นอนว่ามันสร้างมาจากละครเวที ที่มีชื่อเสียงมากเรื่องหนึ่งและยังถูกนำมาแสดงจนถึงทุกวันนี้ นับอายุตั้งแต่ละครเรื่องนี้ถูกนำออกมาแสดงเป็นครั้งแรกที่วินเทอร์การ์เดนเทียเตอร์  เมื่อ 26 กันยายน ปี 1957 ก็ถือได้ว่ามีอายุเกินครึ่งศตวรรษ ผู้กำกับละครเวทีมีนามว่าเรโรเม รอบบินส์ และก็ได้มากำกับร่วมกับโรเบิร์ต ไวส์ (ผู้กำกับ หนังเรื่อง Sound of Music) เมื่อถูกสร้างเป็นหนังและออกฉายในปี 1961 ก็โกยเงินได้จำนวนสูงสุดแห่งปีเลยทีเดียว แถมยังได้รางวัลออสก้าไปถึงสิบสาขารวมไปถึงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากการถูกเสนอเข้าชิงสิบเอ็ดสาขา ปัจจุบันถูกจัดโดยสมาคมภาพยนตร์อเมริกาให้เป็นหนึ่งในร้อยภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในรอบหนึ่งร้อยปี และหากเป็นเฉพาะประเภทของภาพยนตร์เพลงก็จะอยู่ลำดับสาม
 
                            
                                        (ภาพจาก www. Amazon.com)
 
West Side Story มีพล็อตเรื่องที่ได้รับอิทธิพลจากบทละครนามอุโฆษของวิลเลียม เช็คสเปียร์  คือ Romeo and Juliet แต่ในหนังเรื่องนี้มีฉากคือแหล่งเสื่อมโทรมของกรุงนิวยอร์ก เป็นเรื่องราวของความขัดแย้งระหว่างแก๊งค์วัยรุ่นสองกลุ่มที่มีเชื้อชาติต่างกันนั้นคือ แก๊งเจต ซึ่งเป็นคนอเมริกัน และแก๊งชาร์ก ซึ่งมีเชื้อสายปอร์โตริโก ทั้งสองกลุ่มนี้มีการทะเลาะวิวาทกันอยู่บ่อยครั้ง แต่เป็นการทะเลาะกันแบบละครเวทีคือเต้นสไตล์โมเดิร์นแดนซ์ เวลาปะทะกันเหมือนกับเต้นประสานด้วยกัน ดูไม่น่ากลัวเลย เข้าใจว่าคงมีอิทธิพลต่อหนังเพลงและละครเพลงของไทยในช่วงทศวรรษที่ยี่สิบอย่างมากมาย กระนั้นนายตำรวจ (คนที่แสดงเป็นจิตแพทย์ในหนังเรื่อง Psycho) พยายามเข้ามาแทรกแซงเพื่อไม่ให้ทั้งสองแก๊งค์ประพฤติตนนอกลู่นอกทาง แต่ก็ไร้ผล หนังให้เขาเป็นตัวแทนของอำนาจรัฐที่พยายามสร้างอิทธิพลเหนือวัยรุ่นหัวขบถ
 
 
ต่อมาหัวหน้ากลุ่มเจ็ตที่ชื่อริฟฟ์ ก็คิดจะต่อสู้กันให้แตกหักกันไปข้างเลยไปชวนเพื่อนรักของเขาคือ โทนี มาร่วมแก๊งค์อีกครั้ง โทนีเคยร่วมกับเขาในการตั้งกลุ่มเจ็ตขึ้นมา แต่ปัจจุบันวางมือไปทำงานเป็นลูกจ้างของร้านอาหารแห่งหนึ่ง ด้วยความเป็นพระเอ๊กพระเอก โทนี่ก็ปฏิเสธเพราะเป็นคนรักสงบไปเสียแล้ว แต่โทนี่ก็ไปร่วมกับงานเต้นรำที่มีทั้งสองแก๊งค์เข้าร่วมเพื่อหวังจะให้ทั้งสองกลุ่มเกิดความสมานฉันท์ ณ ที่นั่นเขาได้ตกหลุมรักมาเรีย  น้องสาวคนสวยของเบอร์นาโด หัวหน้าแก๊งชาร์คแน่นอนว่าย่อมเหมือนกับโรมีโอและจูเลียต ที่มาเรียเองก็ไม่อาจถอนสายตาจากชายหนุ่มรูปหล่อได้เช่นกัน ความรักของทั้งคู่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและต้องพบกับอุปสรรค์อันใหญ่หลวงคือความเกลีดชังระหว่างสองฝ่าย โทนี่จะทำอย่างไรเพื่อให้เกิดสันติภาพขึ้นเพื่อที่เขาจะได้สมหวังในความรัก หากใครรู้เกี่ยวกับพล็อตเรื่องของโรมิโอและจูเลียตแล้วอย่าเพิ่งคิดว่าทั้งสองเรื่องจะเหมือนกันเสียทีเดียวกระนั้นในตอนจบก็เต็มไปด้วยโศกนาฏกรรมอันแสนเศร้าไม่แพ้กับละครของเช็กส์เปียร์เลยทีเดียว
 
West Side Story ถือได้ว่ามีอิทธิพลต่อละครเพลงยุคใหม่ของอเมริกาเป็นยิ่งนักจากเดิมที่ละครเพลงส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับรัก ๆใคร่ ๆ หรือความสัมพันธ์ในครอบครัวหรือเรื่องตลก หนังเรื่องนี้กลับด้วยการนำเสนอด้านมืดของสังคมอเมริกันที่อุดมไปด้วยเชื้อชาติต่าง ๆ (ดังที่เขาเรียกว่า Melting pot นั้นแล) ที่สำคัญคือปัญหาของวัยรุ่นในช่วงปลายทศวรรษที่ห้าสิบที่เกิดจากทางบ้านที่ยากจนและขาดความรักความเข้าใจจากพ่อแม่ของตนจนต้องออกมารวมตัวกันเป็นแก๊งค์เพื่อก่อความวุ่นวายให้กับชาวบ้านแถวนั้น แน่นอนว่าเนื้อหาของเพลงย่อมมีหลายๆ ส่วนค่อนข้างจะแรงและใช้คำทางเพศแบบโจ๋งครึม แต่เมื่อมาทำเป็นหนัง ด้วยระเบียบอันเข้มงวดของฮอลลี่วู๊ดหรือ Hollywood Production Code ผู้สร้างต้องเหนื่อยต่อการเปลี่ยนคำใหม่ให้ดูสุภาพยิ่งขึ้น จะได้ผ่านเซนเซอร์ แต่เพลงของหนังเรื่องนี้หลายเพลงก็ได้รับความนิยมและถูกนำไปดัดแปลงเสียใหม่จากคนรุ่นหลังอย่างเช่นเพลงโหมร้องหรือ Overture ซึ่งหนังเพลงในสมัยก่อนจะมีกันทุกเรื่องพร้อมกับฉากเบลอๆ ที่เปลี่ยนสีไปเรื่อย ๆ เมื่อดูได้สักพักก็รู้ว่าเป็นภาพวาดแบบยุคใหม่ของทัศนียภาพกรุงนิวยอร์ก นอกจากนี้หนังเพลงยุคเก่ายังมีพักช่วงกลางนั้นคือไม่มีภาพมีแต่เสียงเพลงดังที่เรียกว่า Intermission สำหรับเพลงที่ไพเราะมากคือเพลง America ซึ่งเป็นการร้องหมู่ระหว่างหนุ่มสาวชาวปอร์โตริโก ซึ่งมีเนื้อหาในการเชิดชูสังคมอันอุดมไปด้วยวัตถุของอเมริกา ซึ่งเพลงๆ นี้ถูกวิจารณ์ว่าออกไปแนวเหยียดสีผิวโดยให้พวกปอร์โตริโก้ดูกระจอกงอกง่อยเมื่ออพยพมาอยู่อเมริกา 
 
 
เพลงที่ถือได้ว่าดังที่สุดของเรื่องคือ Tonight ซึ่งเป็นการร้องคู่กันอย่างแสนหวานระหว่างโทนีและมาเรีย ตอนที่โทนี่แอบปีนบันไดหนีไฟไปหามาเรียที่อาพาตเมนท์หลังจากที่ทั้งคู่ปึ๊งกันในงานเต้นรำที่มีเนื้อร้อง (และ เพลงนี้ก็ถูกดัดแปลงไปเป็นอีกเวอร์ชั่นหนึ่งสำหรับร้องหมู่กันอย่างสนุกสนานในขณะที่ทั้งสองแก๊งค์กำลังจะปะทะกัน)หรือเพลงคร่ำครวญของโทนีต่อมาเรียคือ Maria ก็ไพเราะไม่แพ้กัน เพลงที่จังหวะสนุกสานเช่น I Feel pretty ตอนที่มาเรียร้องบรรยายความสุขที่เกิดจากการอยู่ในห้วงรักให้เพื่อน ๆที่ทำงานตัดผ้าด้วยกันฟังก็ได้รับความนิยมไม่น้อย หนังเรื่อง Anger Management ก็หยิบยืมเพลงนี้โดยให้จิตแพทย์ที่แสดงโดยแจ๊ค นิโคลสันเอามาสอนให้อดัมแซนเดอร์ร้องขณะขับรถยนตร์บนสะพานข้ามแม่น้ำเพื่อให้ใจเย็น ๆ อย่างไรก็ตามเพลงที่น่าจะอื้อฉาวที่สุดของเรื่องก็คือ Gee, Officer Krupke คือตอนที่พวกเจ็ตมามั่วสุ่มกันและโดนตำรวจหาเรื่องจากนั้นพวกเขาก็ร้องเพลงหมู่ประชดเสียดสีครอบครัวของตัวเองและผู้ทรงเกียรติในสังคมที่พยายามจัดระเบียบพวกเขาไม่ว่าตำรวจ, ศาล ,นักวิชาการ หรือนักสังคมสงเคราะห์กันอย่างสนุกสนานซึ่งสามารถสะท้อนสังคมของคนระดับล่างในอเมริกาสมัยนั้นได้แบบแสบๆ คันๆ (นอกจากนี้ดูหนังเรื่องนี้แล้วทำให้รู้ว่าในสังคมยุคหกสิบได้มี "ทอม"กับเขาด้วย เธอเป็นผู้หญิงที่ตัดผมสั้น ห้าว ๆ และต้องการจะเข้ารวมกลุ่มกับพวกเจ๊ตแต่ได้รับการปฏิเสธในตอนท้ายๆ กลับมีบทบาทสำคัญขึ้นมาต่อตัวโทนี)
 
                        
                                      ภาพจาก www.a.ltrbxd.com
 
เมื่อเอาละครเพลงเรื่องนี้มาทำเป็นหนังแล้ว ผู้กำกับจึงจำเป็นต้องหานักแสดงใหม่เนื่องจากนักแสดงบรอดเวย์ดูขึ้นไม่ขึ้นกล้องและอายุมากโขแล้ว อีกทั้งหนังเพลงในยุคนั้นนิยมให้นักแสดงลิปซิ้งค์จากเสียงร้องของนักร้องอาชีพ จึงทำให้ผู้กำกับหาดาราแบบไม่ต้องสนใจว่าคนนั้นจะมีเสียงร้องอย่างไร และไม่น่าเชื่อว่านักแสดงที่ไวส์ผู้กำกับมุ่งมั่นเหลือเกินคือเอลวิส เพรสเลย์ ราชาร็อค เอน โรลล์นั้นเอง โดยที่เจ้าตัวก็กระตือลือล้นอยากจะแสดงด้วย แต่ติดอยู่ที่ผู้จัดการส่วนตัวคือผู้พันปาร์คเกอร์ ที่ไม่ยอมให้แสดงจึงต้องอดไป สุดท้ายก็ได้นักแสดงที่ไม่ดังนักอย่างเช่นริชาร์ด เบย์เมอร์  ถึงแม้จะอายุมากเกินไปสำหรับบทโทนี่แต่อาศัยหน้าเด็ก ส่วนมาเรียนั้นไวส์ก็เล็งหาดาราสาวมากมายอีกเช่นกัน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็ได้แก่ดาวจรัสแสงที่ชื่อออเดรย์ เฮบเบิร์น แต่เธอปฏิเสธไปเพราะกำลังตั้งครรภ์อยู่พอดี นึกภาพไม่ออกว่าถ้า เอลวิสได้ร้องและแสดงคู่กับเฮฟเบิร์นว่าหนังจะเป็นอย่างไร ? อาจจะยิ่งใหญ่กว่านี้หรือว่าอาจจะดูด้อยไปมาก เพราะโดนบารมีของนักร้องและดาราคู่นี้กลบทับเอาเสียหมด ท้ายสุดไวส์ก็ได้นาตาลี วูดผู้มีชื่อเสียงจากหนังเรื่อง Rebel Without A Cause ทั้งคู่สามารถแสดงรับส่งกันได้ดีแต่ไม่ดีพอที่จะได้รางวัลออสการ์ และยังถูกเบียดบังโดยตัวประกอบคนอื่น ๆ คือเพื่อนวัยรุ่นทั้งสองแก๊งที่แสดงได้อย่างยอดเยี่ยม และกลับเป็นผู้แสดงเป็นเบอร์นาโด (จอร์จ ชากิริส) และแอนนิตา (ริตา โมเรโน) ที่ได้รางวัลออสการ์สาขาดาราสมทบชายหญิงไป ที่น่าสังเกตว่าทุกคนยังเเก่งในเรื่องกายกรรมเป็นอย่างน้อยเพื่อที่จะได้ห้อยโหนบนรั้วไวส์ถึงกลับลงทุนให้ทั้งผู้แสดงของทั้งสองแก๊งค์ยั่วโทสะกันแม้จะไม่ได้อยู่ในช่วงถ่ายทำเพื่อให้เกิดความตึงเครียดต่อกันและเกิดความสมจริงสมจัง
 
ในปี 1984  เบอร์สไตน์ นำเอาดนตรีของหนังเรื่องนี้มาเรียบเรียงเสียงใหม่ให้อยู่ในรูปแบบอุปรากรโดยให้นักร้องโอเปร่าเสียงทั้งเทนเนอร์และโซฟราโนชื่อดังมาร้อง เช่นให้ โฮเซ คาร์เรรัส  มาร้องส่วนของโทนีและคิริ เต คานาวา  มาร้องส่วนของมาเรีย เป็นต้น อัลบั้มนี้ได้รางวัลแกรมมี่ในปี 1985 นอกจากนี้ยังถ่ายทำเป็นวีดีโอตอนที่ทั้งหมดกำลังฝึกซ้อมและบันทึกเสียงด้วย หากใครได้ยินจะรู้สึกว่าเสียงมีความลึกและพริ้วไหวกว่าเวอร์ชั่นของละครเวทีหรือหนังมาก นับได้ว่าเป็นอุปรากรฉบับอเมริกันเลยก็ว่าได้
 

บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
    อุปรากรที่คนไทยน่าจะรู้จักไม่แพ้ Madame Butterfly ก็คือ Carmen ซึ่งเป็นอุปรากรฝรั่งเศสที่แต่งโดยคตีกวีที่เราไม่เคยคุ้นเคยนักและก็ไม่ถือว่าดังเหมือนเบโธเฟนหรือโมซาร์ทคือจอร์จ บิเซต์ เขาเน้นไปที่การแต่งอุปรากรและอุปรากรก็ดังแค่ไม่กี่เรื่อง แต่พฤติกรรมตัวเอกของ Carmen ทำให้อุปรากรเรื่อ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
                               
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
   Bicycle Thief เป็นภาพยนตร์ขาวดำสัญชาติอิตาลี ที่ออกฉายในปี 1948  และมักถูกจัดว่าเป็นตระกูลนวสัจนิยมหรือ Neo Realism ที่สะท้อนชีวิตของคนรากหญ้าเป็นหลัก   หากใครที่ไม่คุ้นเคยกับภาพยนตร์ตระกูลนวสัจนิยม ก็ลองไปดูภาพยนตร์สมัยทศวรรษที่ 10 และ 20 ของท่านมุ้ยเกี่ยวกับชีวิตของคนตัวเ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
อาชญากรรมและการลงทัณฑ์เป็นชื่อแปลมาจากภาษาอังกฤษคือ Crime and Punishment ซึ่งเป็นนวนิยายชิ้นเอกของนักเขียนนามอุโฆษชาวรัสเซียคือฟีออดอร์ ดอสโตเยฟสกี (Fyodor Dostoevsky) ผู้มีชีวิตในช่วงระหว่างปี 1821 จนถึงปี 1881 เขาเป็นที่รู้จักอย่างดีในนวนิยายเรื่อง Brothers Karamazov ที่แสนจะยาวเหยียดและซับซ้อน
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
เมื่อพูดถึงอันโตนีโอ วิวัลดี (Antonio Vivaldi) คนก็ต้องนึกถึงเพลงยอดนิยมของเขาคือ Four Seasons หรือฤดูกาลทั้ง 4 (ต่อมา กลายเป็นชื่อโรงแรมอันอื้อฉาว) เป็นอันดับแรก ทั้งที่คีตกวีท่านนี้มีผลงานออกมาเป็นจำนวนมาก
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
    เฮอร์มันน์ เฮสเส เป็นนักเขียนแนวจินตนิยม (Romanticism) และแนวอัตถิภาวนิยม (Existentialism) ที่ประทับใจผมมาก เริ่มจากการถูกอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยบังคับให้อ่านหนังสือของเขาที่คนไทยรู้จักกันดีคือ สิทธารถะ จากนั้นเมื่อได้อ่านเรื่องอื่นๆ ที่คนไทยคืออาจารย์สดใสแปลไม่ว่า ปีเตอร์คาเมนซิน &nb
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
   
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
แปลมาจากบทความของคุณอิลิซาเบท ชวาร์ม เกลสเนอร์  จาก www.w3.rz-berlin.mpg.de Symphony No.1, Op.21 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
   
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
                                           
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์