Skip to main content
เข้าใจว่าผลงานของ William Shakespeare ที่คนไทยรู้จักกันดีรองจากเรื่อง Romeo and Julius ก็คือวานิชเวนิส หรือ Merchant of Venice ด้วยเหตุที่ล้นเกล้ารัชกาลที่หกทรงแปลออกมาเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาสำหรับเด็กนักเรียนได้อ่านกัน และประโยค ๆ หนึ่งกลายเป็นประโยคยอดฮิตที่ยกย่องดนตรีว่า 
 
ชนใดไม่มีดนตรีการ
ในสันดานเปนคนชอบกลนัก
อีกใครฟังดนตรีไม่เหนเพราะ
เขานั้นเหมาะคิดขบถอัปลักษณ์...
หรืออุบายมุ่งร้ายฉมังนัก
มโนนึกมืดมัวเหมือนราตรี
และดวงใจย่อมดำสกะปรก 
ราวนรก ชนเช่นกล่าวมานี่ 
ไม่ควรไว้ใจใครในโลกนี้
เจ้าจงฟังดนตรีเถอดชื่นใจ
 
ข้างบนนี้รัชกาลที่หกไม่ได้ทรงแต่งเองหากแปลจากบทละครเรื่องนี้เป็นประโยคสนทนาระหว่างหนุ่มสาวซึ่งกำลังพรอดรักกันอยู่ เมื่อสาวเจ้าบ่นว่าไม่ชอบเพลงที่แว่วมา เพราะทำให้เธอรู้สึกเศร้าหมอง หนุ่มคนรักก็ได้บอกถึงคุณลักษณะอันวิเศษของดนตรีดังนี้ 
 
The man that hath no music in himself,
Nor is not moved with concord of sweet sounds,
Is fit for treason...
 
stratagems and spoils;
The motions of his spirit are dull as night
And his affections dark as Erebus:
Let no such man be trusted. Mark the music.
 
จะขอสารภาพว่าตัวผู้เขียนเองไม่ได้หาญกล้าจะอ่านหนังสือจริง ๆ เพราะภาษาอังกฤษ (โดยเฉพาะด้านวรรณคดี) ยังอ่อนด้อย หากแต่ได้เสพงานชิ้นเอกของโลกชิ้นนี้ผ่านภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากละครของ Michael Radford ผู้ที่เคยฝากผลงานเรื่อง Il postino หรือ The postman(1994) ในหนังเรื่อง Merchant of Venice นี้ (2004) แต่กระนั้นผมเองก็ต้องอ่าน Subtitle ที่เป็นภาษาอังกฤษไปก็ต้องถอนหายใจไปด้วย
 
ในที่นี้จึงใคร่จะเขียนถึงทั้งละครและหนังไปด้วยกัน สำหรับหนังนั้น มีพระเอกที่เราคุ้นหน้ากันดีสามคนไม่ว่า Al Pacino ที่รับบทเป็น Shylock , Jeremy Iron รับบทเป็น Antonio และ Joseph Fiennes รับบทเป็น Bassanio (ทำให้หนังดูบรรยากาศเป็นแบบ เช็กส์เปียร์มากขึ้นเพราะเขาเคยโด่งดังจากหนังเรื่อง Shakespeare in Love) แต่ในเรื่อง คนที่เด่นที่สุดก็เห็นจะได้แก่อัลปาชิโน ที่นักวิจารณ์คือ Roger Ebert ชมว่าแสดงเรื่องนี้ได้ดีมาก 
 
วานิชเวนิส เป็นบทละครแบบ Comedy ซึ่งในที่นี้แตกต่างจาก "ตลก" ตามความหมายในปัจจุบัน หากเป็นละครของเช็กส์เปียร์ที่ท้ายสุดตัวละครได้แต่งงานกันหลังจากผ่านความวุ่นวาย โดยตัวละครจะแก้ไขปัญหาด้วยไหวพริบ และต้องมีการแต่งตัวสลับเพศอีกด้วย เวนิชวานิสถูกเขียนในช่วงปี 1594-1597 โดยเช็กส์เปียร์ตั้งใจเขียนเพื่อโต้กับละครเรื่อง The Jew of Malta ที่ฮิตสุดๆ ที่เขียนโดย Christopher Marlowe กวีคนเก่งอีกคนในยุค Elizabethan (ยุคที่ปกครองโดยพระนางอลิสซาเบท)
 
ฉากเริ่มต้นที่เมืองเวนิสเมืองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของยุโรปในศตวรรษที่สิบหก ซึ่งเป็นช่วงฟื้นฟูทางวัฒนธรรม (Renaissance) แต่กระแสการต่อต้านยิวรุนแรงมากถึงขั้นที่พวกคริสเตียนได้จำกัดชาวยิวไว้อยู่แค่ในที่ ๆ หนึ่งที่เรียกว่า Ghetto เมื่อพระอาทิตย์ตกดิน ประตูจะถูกล็อค และมีคนเฝ้าไว้ไม่ให้คนเหล่านั้นออกมาเพ่นพ่านในเมืองเวนิส ชาวยิวออกจากมาได้เฉพาะแค่กลางวันและต้องสวมหมวกแดงเพื่อแสดงตัว (เหมือนที่นาซีให้พวกยิวคาดผ้ารูปดาวเดวิด) มีการห้ามชาวยิวครอบครองทรัพย์สิน พวกเขาจึงปล่อยเงินกู้หรือเปิดโรงจำนำซึ่งขัดกับหลักของศาสนาคริสต์ แต่ผู้ปกครองก็ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้เสีย พวกพระก็เลยเทศนาต่อต้านพวกยิวเสียยกใหญ่
 
วานิชซึ่งเป็นชื่อเรื่องนี้หาใช่ไชล็อคตัวละครที่เด่นที่สุดในเรื่องไม่หากเป็นตัวอันโตนิโอผู้ซึ่งเกลียดชังไชล็อคพ่อค้ายิวเป็นหนักหนา แต่แล้วบาสซานิโอซึ่งสหายสุดรักของอันโตนิโอต้องการจะไปจีบนางปอร์เทีย สาวผู้เลอโฉมและเป็นทายาทของมหาเศรษฐีผู้ล่วงลับ แต่สหายหนุ่มต้องการเงินจำนวนมากสำหรับค่าเดินทางจึงมาขอความช่วยเหลือจากอันโตนิโอ ทว่าอันโตนิโอกำลังส่งเรือไปค้าขาย ณ แดนไกลจึงไม่มีเงิน ด้วยความรักเพื่อน เขาถึงกลับลดตัวไปขอยืมเงินจากไชล็อค พ่อค้ายิวที่เคยถูกเขาถ่มน้ำลายก็ดีใจหายให้ยืมเงินและทำสัญญาที่มีข้อแม้ว่าหากอันโตนิโอคืนเงินให้ไม่ทันจะต้องเสียเนื้อให้ไชล็อคหนึ่งปอนด์ อันโตนิโอยอมเซ็นสัญญา บาสซานิโอจึงสามารถเดินทางไปจีบนางปอร์เทียซึ่งมีแต่หนุ่ม ๆ มาตอมกันหึง แต่ก็ต้องแห้วไปเพราะ ตามพินัยกรรมของเจ้าคุณพ่อมีกฏว่าหนุ่มใดจะได้ครองนางจะต้องสามารถเลือกกล่องที่ถูกต้องจากทั้งหมดสามใบ มีเพียงบาสซานิโอคนเดียวที่เลือกเปิดกล่องที่ถูกต้อง จึงแต่งงานกับนางปอร์เทีย เช่นเดียวกับเพื่อนของเขาที่แต่งงานกับคนใช้คนสนิทของปอร์เทีย
 
 
เรื่องร้าย ๆ เกิดขึ้นเมื่อเรือที่ขนสินค้าของอันโตนิโอเกิดโดนพายุจนหายไปหมด เขาไม่สามารถใช้เงินคืนให้กับไชล็อค ทัน แถมก่อนหน้านี้ เพื่อนคนหนึ่งของบาสซานิโอคือ Lozenzo ดันพา Jessica ลูกสาวของไชล็อคหนีแถมยังเอาเงินของพ่อค้ายิวไปเสียหมด และทั้งสองคนนี้เองที่เป็นเจ้าของบทสนทนาเกี่ยวกับดนตรีอันแสนโด่งดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ด้วยความแค้นไชล็อครีบเร่งสัญญาเอาตัวอันโตนิขึ้นศาลเพื่อจะควักเอาเนื้อหนึ่งปอนด์ บาสซานิโอได้ข่าวจึงเร่งรุดไปช่วยอันโตนิโอ ส่วนนางปอร์เทียต้องการสืบความจริงจึงเดินทางพร้อมคนรับใช้ตามไปพร้อมกับปลอมตัวเป็นนักกฏหมายหนุ่ม
 
บาสซานิโอจะสามารถช่วยเพื่อนรักได้หรือไม่ ? นางปอร์เทียปลอมตัวเป็นนักกฏหมายหนุ่มเพื่ออะไร ? โปรดติดตามหาอ่านหรือชมเอาเอง
 
 
วานิชเวนิสมีสารบอกถึงเราอยู่สองประการนั้นคือ เรื่องรักร่วมเพศและ กระแสต้านยิว เป็นที่ชัดเจนว่าความส้มพันธ์ระหว่างอันโตนิโอและบาสซานีโอมีเป็นแบบรักร่วมเพศ หนังไม่ได้มีฉากชัดเจนเหมือนกับ Brokeback Mountain แต่มีท่าทีส่อไปในด้านนั้น รวมไปถึงประโยคคำพูดในละครของเช็คส์เปียร์ที่บอกอย่างชัดเจน (และยังมีคนตีความอีกว่า เช็คส์เปียร์เองน่าจะเป็นเกย์ เพราะยังมีงานเขียนอื่น ๆ ของเขาที่ส่อไปทางนั้น) แต่แล้วบาสซานีโอก็สามารถแต่งงานกับผู้หญิงได้ อันนำความเศร้ามาสู่อันโตนิโออย่างมาก(ในหนังไม่ได้แสดงชัดเจนนักแต่เข้าใจว่าละครคงมีชัดเจน)แต่ด้วยความรักเขาจึงยอมสละ นอกจากนี้ยังรวมถึงในภาพยนตร์ที่มีฉากผู้หญิงขายตัวซึ่งเปลือยหน้าอก เพื่อให้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์ที่ว่ามีกระเทยปลอมตัวมาขายบริการอยู่มากมายในยุคนั้น ทางการจึงต้องการป้องกันโดยการให้โสเภณีโชว์หน้าอก
 
ที่ชัดเจนที่สุดคือละครเรื่องนี้เต็มเปี่ยมด้วยกระแสการต่อต้านยิว (Anti-semitism) สังคมอังกฤษที่เช็กสเปียร์อาศัยอยู่ในช่วงทศวรรษที่ 16 นั้นแน่นอนว่ามีกระแสนี้อยู่แรงกล้า เช็คสเปียร์เองใช้มุมมองของชาวคริสต์ที่เกลียดชังยิว จึงมองการกดขี่ชาวยิวเป็นเรื่องธรรมดา เขาไม่ได้แสดงความเห็นอกเห็นใจต่อไชล็อกที่ถูกดูถูกดูหมิ่นแม้ จะมีประโยคที่ไชล็อคพูดว่า
 
Hath not a Jew eyes? Hath not a Jew hands, organs 
dimensions, senses, affections, passions; fed with 
the same food, hurt with the same weapons, subject 
to the same diseases, heal'd by the same means 
warm'd and cool'd by the same winter and summer 
as a Christian is? If you prick us, do we not bleed? 
If you tickle us, do we not laugh? If you 
poison us, do we not die? And if you wrong us, shall we not revenge? 
 
(อ้างมาจาก Wikipedia.com)
 
แปลรวมๆ ก็คือไชล็อคต้องการจะบอกว่ายิวก็เป็นคน มีอารมณ์และความรู้สึกเหมือนกัน หากถูกล่วงละเมิดก็ต้องการแก้แค้นเหมือนกัน กระนั้นในตอนจบเช็กสเปียร์คงไม่ได้ต้องการให้ผู้อ่านรู้สึกเห็นอกเห็นใจไชล็อคสักเท่าไรนัก
 
ความเกลียดยิวของเช็กส์เปียร์เช่นนี้ทำให้เขาเป็นที่นิยมของพวกนาซีเป็นยิ่งนัก ถึงแม้บทละครของเช็กส์เปียร์จะเป็นของชาติศัตรูของเยอรมันก็ตาม เพราะไชล็อคผู้น่าเกลียดชังจะกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความชั่วร้าย คดโกงของ ชาวยิวในหนังโฆษณาชวนเชื่อของพวกนาซี และกลายเป็นภาพที่ติดหูติดตาของชาวโลกจนถึงปัจจุบัน เข้าใจว่ารัชกาลที่ 6 (ก่อนพวกนาซี) จะทรงมีทัศนคติเช่นเหมือนกันดังที่ทรงเรียกคนจีน ที่ทรงต่อต้านตามลัทธิชาตินิยมของพระองค์ว่าเป็น "ยิวแห่งบูรพาทิศ (ตะวันออก)"
 
ในยุคปัจจุบันจึงมีการตีความใหม่โดยเห็นอกเห็นใจ ไชล็อคมากขึ้น ในขณะที่บรรดาหนุ่มสาวทั้งหลายซึ่ง Happy Ending ล้วนแต่เป็นพวกตลบแตลง อันโตนิโอเป็นแบบเสี่ยอู๊ด พระเครื่องที่ปรนเปรอดาราหนุ่ม ส่วนบาสซานีโอก็เหมือนกับฟิ... เอ้ย เด็กหนุ่มที่ชอบผลาญเงินของคนรวย เจสซิก้าลูกของไชล็อกเป็นคนอกตัญญู และโลเร็นโซนั้นก็เหมือนกับขโมยที่เอาเงินของไชล็อคไปด้วย ส่วนไชล็อก บุรุษผู้ซึ่งยึดมั่นกฏระเบียบ ที่ต้องการเอาเนื้อของอันโตนิโอก็เพราะจากความหยิ่งในศักดิ์ศรีมากกว่า ความพยาบาท (ในหนังเขาถูกอันโตนิโอถ่มน้ำลายใส่หน้าเสียก่อน แถมลูกสาวก็หนีตามเพื่อนของอันโตนิโอไป)แต่เขาต้องพบกับโศกนาฎกรรมในภายหลังนั้นคือทรัพย์สินถูกยึดและตัวเองต้องเข้ารีตเป็นคริสต์เตียน ถูกพวกยิวด้วยกันขับไล่ออกจากชุมชน เป็นการแสดงให้เห็นถึงอคติของตัวเช็กส์เปียร์ เหมือนกับที่มีคนตีความวรรณคดี "ขุนช้างขุนแผน" เสียใหม่โดยให้ขุนช้างถึงแม้อาจจะเจ้าเล่ห์ที่แต่รักนางพิมพ์อย่างมั่นคงในขณะที่ขุนแผนซึ่งจะหล่อเป็นชายชาตรีแต่ชั่วร้าย มักมากในกาม 
 
 
           
 
 
 
              [ MERCHANT OF VENICE POSTER ]
 

บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
    ฟังเพลงของเขามามากต่อมากแล้วเรามาทายกันดีกว่าว่าหน้าตาของเขาน่าจะเป็นอย่างไร สูงผอม บอบบาง ขี้โรค อารมณ์อ่อนไหวง่ายและหน้าตาเต็มไปด้วยความทุกข์อยู่ไม่คลาย ?  และเมื่อเห็นภาพของโชแปงซึ่งเป็นภาพถ่ายของเขาเพียงภาพเดียว (ไม่นับภาพวาดอีกหลายๆ ภาพ และภาพยนตร์ที่อิงกับชีวิตของเขา) ก็ค
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
จำได้หรือไม่กับพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิกของอังกฤษเมื่อปี 2012 ที่มีภาพยนตร์สั้น ซึ่งสร้างความประหลาดใจและความประทับใจให้กับคนดูทั่วโลกอย่างมาก เมื่อเจมส์ บอนด์ (แสดงโดย ดาเนียล เครก) ได้เดินทางไปถวายการอารักขาให้สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 (แสดงโดยพระองค์จริง) ที่พระราชวังบักกิงแฮมก่อนจะเสด็จโด
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
       คนไทยมักจะรู้จักอุปรากร Madame Butterfly  หรือ คุณนายผีเสื้อ  เป็นอย่างดีผ่านบทละครร้องเรื่องสาวเครือฟ้าของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ที่ทรงดัดแปลงหรือได้รับแรงบันดาลใจมาจากอุปรากรเรื่องนี้ซึ่งแสดงถึงโศกนาฏกรรมของความรักระหว่างคน 2 เชื้อชาติคือ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
       หากเข้าใจเปรียบเทียบ Psycho นั้นเปรียบดังดาวซึ่งจรัสแสงที่สุดเท่าที่ฮอลลีวู้ดจะมีไว้ประดับท้องฟ้าแห่งวงการภาพยนตร์โลกประเภทตื่นเต้นสยองขวัญ แน่นอนว่าผู้สร้างสรรค์ภาพยนตร์ซึ่งทำให้คนดูเหงื่อทะลักเกือบทั้งเรื่องทั้งที่มีเครื่องปรับอากาศย่อมไม่ใช่ใครอื่นนอกจากราชาแห่งภาพยน
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 ตอนที่ 1    
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
   บทความนี้ขออุทิศให้ภรรยาของอ้ายจรัลซึ่งครั้งหนึ่งผู้เขียนบทความนี้มีโอกาสได้รู้จัก
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
      โยฮันน์ เซบาสเตียน บาค (Johann Sebastian Bach) ถือได้ว่าเป็นคีตกวีผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของวงการดนตรีคลาสสิก เขาเป็นผู้บุกเบิกดนตรียุคบาร็อค (Baroque) ซึ่งเป็นดนตรีที่เรียบง่าย ฟังสบายๆ ไม่ดุเดือดเหมือนกับแนวโรแมนติกที่บุกเบิกโดยเบโธเฟนในหลายสิบปีให้หลัง  ด้วยดนตรีของบ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
     เคยมีอยู่ครั้งหนึ่ง เมื่อไม่นานมานี้ สังคมไทยเกิดคำฮิตกับเพศชายคือคำว่าเมโทรเซ็กซัล (Metrosexual) หรือเรียกสั้นๆ ว่าเมโทร กระนั้นก็ทำให้คนเข้าใจไปเป็นคำ ๆ เดียวหรือใกล้เคียงกับ  คำว่า Homosexual หรือ พวกรักร่วมเพศ จึงกลายเป็นมองว่าคนพวกนี้เป็นเกย์ทั้งนั้น  ตามความจริ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 Ran(1985) เป็นงานชิ้นโดดเด่นและใช้ทุนสุดมหาศาลของยอดผู้กำกับภาพยนตร์อย่างอาคิระ คุโรซาวาในช่วงบั้นปลายที่เขาหันมาทำภาพยนตร์เป็นสีธรรมชาติ บางคนอาจจะชอบภาพยนตร์สีธรรมชาติเรื่องก่อนหน้านี้ของเขาคือ kagemusha หรือนักรบเงา (1980) แต่ผมคิดว่า Ran จัดว่าเป็นภาพยนตร์ที่เปี่ยมด้วยเนื้อ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
                                        
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
   
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
ปีเตอร์ ไชคอฟสกี (Pyotr Ilyich Tchaikovsky) คีตกวีชื่อดังที่สุดคนหนึ่งของรัสเซีย ไม่ได้เก่งแค่แต่งเพลงประกอบบัลเลต์อย่างเช่น Nutcracker หรือ Swan Lake รวมไปถึงไวโอลินและเปียโนคอนแชร์โตอันลือชื่อ หากแต่ยังฉกาจในการแต่งซิมโฟนี ซึ่งแต่ละบทก็มีชื่