Skip to main content

นายยืนยง

24_8_01


ชื่อหนังสือ : แม่ใหม่ที่รัก ( Sarah, Plain and Tall )

ผู้เขียน : แพทริเซีย แมคลาแคลน

ผู้แปล : เพชรรัตน์

ประเภท : วรรณกรรมเยาวชน พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2544

จัดพิมพ์โดย : แพรวเยาวชน


หากใครเคยพยายามบ่มเพาะให้เด็กมีนิสัยรักหนังสือ รักการอ่าน ย่อมเคยประสบคำถามจากเด็ก ๆ ของท่านทำนองว่า หนังสือจำเป็นกับชีวิตมากปานนั้นหรือ? เราจะตายไหมถ้าไม่อ่านหนังสือ? หรือเราจะมีชีวิตอยู่ได้ โดยที่ไม่อ่านหนังสือจะได้ไหม? กระทั่งบ่อยครั้งผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ ก็อาจหาคำตอบที่สมเหตุสมผลมาตอบอย่างซื่อสัตย์ได้ไม่ง่ายนัก


เป็นที่แน่นอนอยู่ว่า ผู้ใหญ่บางคนมีคำตอบในใจอยู่แล้ว ต่างแต่ว่า ใครจะตอบไปทางใด

สำหรับคนชอบอ่าน เป็นหนอนหนังสือ รักการอ่านเป็นชีวิตจิตใจ การได้อ่านหนังสือโดยไม่จำกัดเวลาย่อมเป็นสุดยอดปรารถนา และย่อมตอบเด็ก ๆ ไปได้ตามสะดวก เพราะจะไม่ต้องประสบข้อโต้แย้งต่อไปว่า

ทำไมหนูไม่เห็นพ่อแม่จะตายเลยถ้าไม่ได้อ่านหนังสือ เพราะสิ่งที่เด็ก ๆ เห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนั้นต่างหากเล่า คือคำสอนที่เป็นจริงที่สุด บางคนอาจไม่ต้องเคี่ยวเข็ญให้ลูกอ่านอะไรเลยก็ได้ เพราะเด็กส่วนใหญ่จะถอดนิสัยมาจากพ่อแม่ คนใกล้ตัว ไม่มากก็น้อย ถ้าพ่อแม่อ่าน ลูกก็ย่อมอ่านด้วย

ขณะสำหรับผู้ใหญ่บางคนที่รักการอ่านอยู่เหมือนกันแต่ไม่ใช่หนอนตัวยง และปรารถนาให้เด็ก ๆ รักการอ่าน ต้องค่อย ๆ ปลูกฝังเขาด้วยความเมตตา ไม่ว่าจะคิดเห็นเช่นไรก็คงไม่มีใครถูกทั้งหมด ดังเช่นคำกล่าวที่ว่า “หนังสือคือชีวิต” จะหมายความว่า หนังสือคือเรื่องราวของชีวิต หรืออีกทำนองหนึ่งอาจหมายถึง ชีวิตของบางคนเปรียบดั่งหนังสือที่มีไว้อ่านไว้ศึกษา ประดุจหนังสือเล่มหนึ่ง


หากคุณคิดว่า ชีวิตนี้ขาดหนังสือไม่ได้ และเมื่อมีหนังสือ เราก็ควรจะอ่านมันเสีย พร้อมกันนั้นเราก็ควรหว่านเมล็ดพันธุ์การอ่านไปถึงเยาวชน เด็ก ๆ ของเราด้วย จะไม่เป็นการดีกว่าหรือ


ทุกวันนี้โลกการสื่อสารมีหลายรูปแบบ หนังสือเป็นเพียงตัวเลือกหนึ่ง โดยเฉพาะกับเด็ก ๆ ที่เหมือนถูกผลักให้ห่างไกลจากหนังสือที่ไม่ใช่ตำราเรียนไปทุกที เพราะเขามีกิจกรรมอื่นเยอะ ทั้งกีฬา ทั้งศิลปะ โทรทัศน์ การ์ตูน หรือเกมคอมพิวเตอร์ แน่นอนว่าทุกสิ่งล้วนมีทั้งคุณและโทษในตัว เกมคอมพิวเตอร์ก็ดี การ์ตูนก็เช่นกัน ล้วนช่วยให้เด็กได้ผ่อนคลาย สนุกบันเทิง แต่ถ้ามากไปก็แย่หน่อย ที่หนักหนาคือ อาการเสพติดความบันเทิง ที่ทำเอาผู้ใหญ่ตามแก้ปัญหาจนหน้ามืด บ่อยครั้งอาการเสพติดเกมคอมพิวเตอร์ก็ส่งผลกระทบร้ายแรงเกินกว่าผู้ใหญ่จะคาดคิดได้ทัน ดังนั้น หากเราได้ตั้งความหวังไว้ว่า ลูกหลานจะไม่ติดเกมงอมแงมจนไม่เป็นอันทำอะไรก็เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ที่จะสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็ก ๆ ของเรา


บรรดาหนังสือสำหรับเด็ก ทั้งวรรณกรรมเยาวชน หนังสือการ์ตูนที่มีสาระความรู้แทรกเข้ามาด้วยนั้น น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดี และหนังสือสำหรับเด็กทุกวันนี้มีให้เลือกเยอะแยะทีเดียว รูปภาพก็มีสีสันสะดุดตา ชวนอ่าน แต่เด็กส่วนใหญ่ก็ยังเมินอยู่ดี โดยให้เหตุผลว่า ตัวหนังสือเยอะบ้างล่ะ หรือยาวเกินไปบ้างล่ะ คนเป็นพ่อแม่ผู้ปกครองก็อย่าด่วนตำหนิเขาจนเสียกำลังใจไปก่อน เราต้องมีเมตตาให้มากและมีเวลาให้ด้วย


คราวนี้ขอเสนอวิธีการจูงใจเด็ก ๆ ของเราก่อน แรกเลยต้องชวนเข้าร้านหนังสือ หรือหอสมุด จะเห็นชัดเลยว่าหนังสือสำหรับเด็กมีหลายหลากจริง ๆ ทั้งเล่มเล็กไปถึงเล่มหนา ทั้งของนักเขียนคนไทยและของนักเขียนต่างประเทศที่แปลเป็นภาษาไทย เมื่อเขาได้เห็นแล้ว ก็ให้โอกาสเขาเป็นผู้เลือกเอง ชอบเล่มไหนก็เลือกมาเถิดลูก อย่างที่บอกอย่างไรว่าต้องเมตตา อีกทั้งเป็นการให้เกียรติ (และกดดันไปในตัว) ถ้าเขาเลือกหยิบมาแล้ว จำเป็นต้องรับผิดชอบอ่าน ถ้าไม่ยอมอ่านหรืออิดออด เราก็บอกได้ว่า ลูกไม่รักเคารพความคิด การตัดสินใจของตัวเอง แล้วอย่างไรนี้จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้อย่างไรเล่า ฉะนั้นทางที่ดี หากแนะนำได้ควรเลือกเล่มบาง ๆ ก่อน


ลำดับต่อไปเป็นของเรื่องเวลาและการเอาใจใส่ เลือกช่วงที่ว่างยาวสักหน่อย หากเป็นได้เราควรอ่านพร้อมไปด้วย จะสลับกันอ่านออกเสียงคนละย่อหน้า เพื่อทดสอบว่าเขาอ่านได้ถูกต้องหรือไม่ เหนื่อยก็พักไม่ต้องเร่งร้อน พอถึงตอนตื่นเต้นประเภทตัวเอกจะตาย หรือตอนสำคัญก็แกล้งขอพักสักหน่อย ดูว่าเขาจะโวยวายไหม ถ้าเอะอะขึ้นมาไม่ยอมให้พัก แสดงว่าประสบความสำเร็จไปขั้นหนึ่งแล้ว สำหรับเด็กเล็กที่ยังอ่านเองไม่ได้ ก็เป็นที่แน่นอนว่าพ่อแม่ต้องอ่านให้ฟัง สวมบทบาทเป็นตัวละคร เลียนเสียงให้ฟังสนุกสนานตามแต่จะทำได้ อย่างนี้ไม่เพียงลูกจะสนุกแล้ว คุณเองอาจมีความสุขสดใสขึ้นมาด้วยก็ได้ เพิ่มเติมไว้นิดหนึ่งว่า หนังสือสำหรับเด็กนั้น ไม่ใช่อ่านแล้วก็จบไป ส่วนใหญ่เด็ก ๆ มักจะอ่านซ้ำ ๆ อยู่อย่างนั้นเอง ห้ารอบสิบรอบก็ไม่เบื่อง่าย ๆ เหมือนเรา


วรรณกรรมเยาวชนไม่ว่าจะของนักเขียนไทยหรือต่างประเทศล้วนมีข้อดีน่าสนใจ ถ้าหากเป็นวรรณกรรมแปลอาจมีชื่อตัวละครที่จำยากบ้าง แต่ขณะเดียวกันเราจะได้อ่านเรื่องราวของคนที่อยู่ไกลจากเรา ได้อ่านวัฒนธรรม วิถีชีวิต รวมถึงสภาพภูมิศาสตร์ด้วย อย่างเรื่องที่นำมากล่าวถึงนี้ เป็นวรรณกรรมแปลของนักเขียนหญิงชาวอเมริกัน ชื่อ แพทริเซีย แมคลาแคลน


งานเขียนสำหรับเด็กของเธอหลายเรื่องได้รับรางวัลจากสมาคมและหน่วยงานต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่แนะนำและคัดเลือกหนังสือดีให้เด็กและผู้ใหญ่ เธอได้รับคำชื่นชมมากจากนักวิจารณ์และเด็ก ๆ โดยเฉพาะเด็ก ๆ มักจะเขียนจดหมายมาคุยและปรึกษาปัญหาต่าง ๆ อยู่เสมอ สำหรับเด็ก ๆ อเมริกันจำนวนหนึ่ง เธอคือคุณป้าใจดีผู้เข้าใจพวกเขาอย่างลึกซึ้ง (จากปกในของหนังสือ)


เรื่องแม่ใหม่ที่รัก ( Sarah, Plain and Tall )เล่มนี้ มีขนาดพอเหมาะด้วยจำนวน 60 หน้า ตัวละครหลักมี 4 คน เด็กเล็กที่อ่านออกแล้วก็อ่านเองได้ ด้วยการเลือกใช้คำง่าย รูปประโยคสั้น อ่านสนุกมีชีวิตชีวาและมีความหวัง ความฝัน เข้าใจว่า วรรณกรรมเยาวชนเรื่องนี้ผู้เขียนคือ แพทริเซีย แมคลาแคลน น่าจะได้แรงบันดาลใจปัญหาครอบครัวหรือมีจุดมุ่งหมายในเชิงสังคมอันเนื่องมาจากปัญหาการหย่าร้าง หรือครอบครัวที่ขาดพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่ง ซึ่งกำลังเพิ่มมากขึ้นในสังคมอเมริกัน ปัญหาเหล่านั้นทำให้คนในครอบครัว โดยเฉพาะเด็ก ๆ ขาดความอบอุ่น โหยหาส่วนเติมเต็มในด้านที่ขาดหายนั้น วรรณกรรมเรื่องนี้สะท้อนออกมาได้ลึกซึ้งหมดจด แม้หลายคนอาจจะคิดเห็นว่า ก็เป็นเรื่องธรรมดา ๆ ไม่ได้หวือหวาอะไร วรรณกรรมเล่มไหนก็เขียนแบบนี้ทั้งนั้น แต่ส่วนพิเศษหนึ่งที่สำคัญซึ่งเด็กจะได้รับจากวรรณกรรมเรื่องนี้คือ การทำให้เขาได้มองเห็น ได้รู้สึกรู้สาในความทุกข์ของผู้อื่น ยังมีเด็ก ๆ ที่เป็นทุกข์อีกมาก ไม่ใช่มีแต่เขาคนเดียวเท่านั้น ทุกข์ของเด็กคนอื่นอาจจะหนักหนากว่าเราด้วยซ้ำ ฉันเชื่อว่าบทเรียนที่ยิ่งใหญ่อันหนึ่งของชีวิตวัยเด็ก คือ การได้มองเห็น และร่วมรู้สึกไปกับความทุกข์ของผู้อื่น อย่างน้อยที่สุด เราก็จะได้มองชีวิตที่กว้างไกลออกไป ไม่จมอยู่แค่มองเห็นแต่เงาของตัวเอง และทำให้เห็นแก่ตัวน้อยลงบ้างก็ได้


แม่ใหม่ที่รัก เป็นเรื่องราวของคาเลบและแอนนา สองพี่น้องที่ต้องสูญเสียแม่ไป เมื่อแม่คลอดคาเลบน้องชายได้คืนเดียว แม้แอนนาจะรักคาเลบเพียงใด แต่เธอก็เป็นเด็ก ความรู้สึกที่ฝังอยู่ว่า คาเลบเป็นคนทำให้แม่ต้องตาย นั่นก็กัดกินใจเธออยู่นาน


(หน้า 11) เป็นเรื่องยากที่จะคิดว่าเคเลบเป็นสิ่งสวยงาม ฉันใช้เวลาถึงสามวันเต็ม ๆ เพื่อจะรักเขา ฉันนั่งอยู่บนเก้าอี้ข้างเตาผิง พ่อกำลังล้างจาน มือน้อย ๆ ของคาเลบเปะปะอยู่ข้างแก้มฉัน แล้วเขาก็ยิ้ม ฉันรู้ว่านั่นเป็นรอยยิ้ม


ขณะที่แอนนาต้องรับผิดชอบงานบ้านและดูแลน้อง คาเลบก็เฝ้าเพียรถามถึงตอนที่แม่ยังมีชีวิตอยู่ แล้วพยายามสร้างเรื่องราวจากคำบอกเล่าของพี่สาวเป็นประวัติศาสตร์ส่วนตัวของเขา ขอยกมาให้อ่านตั้งแต่เริ่มเรื่องเลยดีกว่า


แม่ร้องเพลงทุกวันใช่ไหม” คาเลบถาม “ทุก ๆ วันเลยใช่ไหม” เขานั่งอยู่ข้างเตาผิง มือเท้าคาง ตอนนั้นเป็นเวลาพลบค่ำ มีหมา ๆ นอนหมอบอยู่ข้าง ๆ บนพื้นหินอันอบอุ่น

ทุก ๆ วันเลยจ๊ะ” ฉันบอกเขาเป็นครั้งที่สองของอาทิตย์นี้ ครั้งที่ยี่สิบสำหรับเดือนนี้ และนับเป็นครั้งที่ร้อยได้แล้วมั้ง ถ้าจะเอากันทั้งปี แล้วยังปีที่ผ่าน ๆ มานั่นอีกล่ะ

แล้วพ่อเราก็ร้องด้วยใช่มะ”

ใช่แล้วจ๊ะ พ่อก็ร้องด้วย อย่าเข้าไปใกล้ขนาดนั้นสิ คาเลบ เดี๋ยวก็ได้ร้อนแย่หรอก”


เขากระเถิบเก้าอี้ออกมา เสียงครูดพื้นหินดังเอี๊ยด พวกหมา ๆ ถึงกับผวาสุดตัว เจ้าล๊อตตี้สีดำตัวกะเปี๊ยกทำกระดิกหาง ยกหัวขึ้นมอง ส่วนเจ้านิคคงนอนเฉยอยู่อย่างนั้น


ฉันพลิกแป้งที่นวดไว้สำหรับทำขนมปังไปมาบนแผ่นไม้สี่เหลี่ยมบนโต๊ะในครัว

เอ! ไม่ยักเห็นพ่อร้องเพลงอีกเลยเนอะ” คาเลบพูดเสียงเบา ท่อนฟืนในเตาผิงปะทุลั่นเปรียะ ๆ ก่อนจะหักลง เขาเงยหน้าขึ้นมองฉัน “ตอนเกิดใหม่ ๆ ฉันเป็นไงบ้างนะ”

เก๊าะล่อนจ้อนน่ะสิ” ฉันบอกเขา

ฉันรู้น่า” เขาตอบ

...ฯลฯ...

แล้วแม่ก็ตั้งชื่อฉันว่าคาเลบ” เขายังคงเติมต่อเรื่องราวเก่า ๆ ที่แสนจะเคยคุ้นนั้นไม่เลิก

เป็นฉันจะตั้งชื่อเธอว่าเจ้าตัวปัญหา” ฉันว่า ทำเอาคาเลบถึงกับฉีกยิ้มออกมานั่นเชียว

แล้วแม่ก็ห่อฉันด้วยผ้าอ้อมสีเหลืองส่งให้พี่ แล้วพูดว่า...” เขารอให้ฉันเป็นคนพูดต่อ “แล้วพูดว่าอะไรน้า...?”

ฉันถอนใจ “แล้วแม่ก็พูดว่า เขาสวยงามมากใช่ไหมจ๊ะแอนนา”

แล้วฉันก็เป็นยังงั้นจริง ๆ ” คาเลบต่อให้เสร็จสรรพ


ตลอดทั้งเรื่องที่เล่าผ่านมุมมอง “ฉัน” คือ แอนนา พี่สาวของคาเลบ โดยผู้เขียนไม่ได้บอกลักษณะนิสัยของตัวละครโดยการบรรยายเลยสักครั้ง แพทริเซียใช้วิธีการเขียนที่มีชั้นเชิง ซับซ้อนแต่งดงาม ราวกับเรากำลังดูภาพยนตร์เรื่องหนึ่งผ่านภาษาเขียน ที่ตัวละครต่างเป็นตัวของเขาเองอย่างธรรมชาติที่สุด

จากที่ยกมาให้อ่านข้างต้นนั้น เราจะจินตนาการได้เลยว่า แอนนา คาเลบมีนิสัยอย่างไร อายุประมาณเท่าไหร่ และเหงาเศร้าจนไม่รู้สึกทุกข์ทรมานกับมันเลย ภาษาที่ใช้ในเรื่องนี้เป็นภาษาที่ให้ภาพพจน์ประณีตมากเรื่องหนึ่ง ที่สำคัญมันเหมาะกับเด็ก ๆ อย่างไร้ข้อกังขา นอกจากได้ร่วมลุ้นระทึกไปกับตัวละครแล้ว ภาษายังช่วยกระตุ้นให้เด็ก ๆ ได้ใช้จินตนาการ ฝึกใช้สมองครุ่นคิด ยกมาพิจารณาอีกนิดหนึ่งในตอนที่พ่อคุยกับลูกเรื่องหาแม่ใหม่บนโต๊ะอาหาร ในตอนแรกเด็ก ๆ คิดว่า พ่อจะหาแม่บ้านคนใหม่ ก็พากันหัวเราะ เพราะแม่บ้านคนเก่านั้นใช้ไม่ได้ ชอบนอนกรนแล้วก็อ้วนตุ๊ต๊ะ ฝ่ายพ่อเองก็มีท่าทีจะเขินลูกอยู่เหมือนกัน แต่ผู้เขียนไม่บรรยายตรง ๆ แต่เลือกให้ตัวละคร “พ่อ” แสดงกิริยาอาการแก้เขินด้วยการเกาหูเจ้านิค สุนัขประจำบ้าน เป็นตัวอย่างง่าย ๆ เช่น หน้า 14


ไม่หรอก” พ่อพูดช้า ๆ “ไม่ใช่แม่บ้าน” หยุดอยู่ครู่หนึ่งจึงกล่าวต่อว่า “เป็นภรรยา”

คาเลบมองจ้องหน้าพ่อ “ภรรยา? พ่อหมายถึงแม่?”

เจ้านิคเลื่อนคางวางลงบนตักพ่อ พ่อเกาหูให้มันเบา ๆ


ทีแรกเราก็สงสัยขึ้นมาว่า ลูก ๆ จะมีปฏิกิริยาอย่างไร เมื่อพ่อจะมีแม่ใหม่ แต่แล้วแอนนาก็ถามขึ้นว่า เธอร้องเพลงเป็นไหม? จากนั้นเด็ก ๆ ก็ตื่นเต้นเป็นการใหญ่ เขียนจดหมายถามไถ่ ซาร่าห์ เอลิซาเบ็ธ วีตัน ผู้หญิงที่จะมา “ทดลอง” เป็นแม่ใหม่ 1 เดือนก่อนจะตัดสินอยู่ต่อหรือไม่ กระทั่งเธอเดินทางมาถึงบ้านพร้อมของฝากจากทะเล ซาร่าห์เดินทางจากบ้านที่อยู่ติดทะเลมายังดินแดนที่เธอไม่รู้จัก ไม่คุ้นเคย

ทั้งภูเขา เนินดิน ดอกไม้ใบหญ้า และหิมะ ตลอดเวลาเธอเฝ้าโหยหาถึงแต่ทะเล จนทำให้คาเลบและ

แอนนาใจคอไม่ดี และพยายามแสดงออกถึงความรักที่มีต่อเธอ อยากให้เธออยู่ที่นี่ตลอดไป แต่ก็กลัวเหลือเกินว่าสักวันหนึ่งเธอจะจากพวกเขาไปสู่ทะเลที่เธอรัก


แม่ใหม่ที่รัก ที่ชวนให้อ่านเล่มนี้ เป็นเรื่องราวที่ไม่ได้ฟูมฟายในความเศร้าโศก และแม้จะสะท้อนปัญหาเชิงสังคม ปัญหาครอบครัว แต่ผู้เขียนกลับทำให้เป็นเรื่องที่ลึกซึ้งกินใจกว่า เพราะเต็มเปี่ยมไปด้วยความรัก โดยเฉพาะกับเด็ก ๆ ของเรา หากจะปลูกฝัง บ่มเพาะนิสัยรักการอ่านให้เด็ก ๆ แล้ว (แม้บางคนจะบอกว่า อ่านไปเถอะ อ่านอะไรก็ได้ ขอให้อ่านก็ดีถมไปแล้ว) สิ่งที่อยู่เหนือความคาดหมายของการอ่านนั้น ย่อมมีความสำคัญ ควรพิถีพิถันอย่างยิ่งด้วย เพราะการอ่านนอกจากจะได้เกร็ดความรู้และได้ดื่มด่ำไปกับเรื่องราวสนุกสนานแล้ว หากได้ชุบชูจิตใจด้วยแล้ว ก็เท่ากับว่าหนังสือเล่มนั้นได้มอบพรอันวิเศษประการหนึ่งแก่เราด้วย.


บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ                     :    เค้าขวัญวรรณกรรมผู้เขียน                         :    เขมานันทะพิมพ์ครั้งที่สอง (ฉบับปรับปรุง) ตุลาคม ๒๕๔๓     :    สำนักพิมพ์ศยาม  
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ชื่อนิตยสาร      :    ฅ คน ปีที่ ๓  ฉบับที่ ๕ (๒๔)  มีนาคม ๒๕๕๑บรรณาธิการ     :    กฤษกร  วงค์กรวุฒิเจ้าของ           :    บริษัท ทีวีบูรพา จำกัด
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ ชะตากรรมของสังคมฝากความหวังไว้กับวรรณกรรมเพื่อชีวิตเห็นจะไม่ได้เสียแล้ว  หากเมื่อความเป็นไปหรือกลไกการเคลื่อนไหวของสังคมถูกนักเขียนมองสรุปอย่างง่ายเกินไป  ดังนั้นคงไม่แปลกที่ผลงานเหล่านั้นถูกนักอ่านมองผ่านอย่างง่ายเช่นกัน  เพราะนอกจากจะเชยเร่อร่าแล้ว ยังเศร้าสลด ชวนให้หดหู่...จนเกือบสิ้นหวังไม่ว่าโลกจะเศร้าได้มากแค่ไหน ก็ไม่ได้หมายรวมว่าเราจะใช้ชีวิตอยู่แต่กับโลกแห่งความเศร้าใช่หรือไม่? เพราะบ่อยครั้งเราพบว่าความเศร้าก็ไม่ใช่ความทุกข์ที่ไร้แสงสว่าง  ความคาดหวังดังกล่าวจุดประกายขึ้นต่อฉัน เมื่อตั้งใจจะอ่านรวมเรื่องสั้น โลกใบเก่ายังเศร้าเหมือนเดิม ของ…
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ       :    รายงานจากหมู่บ้าน       ประเภท         :    กวีนิพนธ์     ผู้เขียน         :    กานติ ณ ศรัทธา    จัดพิมพ์โดย     :    สำนักพิมพ์ใบไม้ผลิพิมพ์ครั้งแรก      :    มีนาคม  พ.ศ. ๒๕๕๐เขียนบทวิจารณ์     :    นายยืนยง
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ      :    ลิกอร์ พวกเขาเปลี่ยนไปประเภท    :    เรื่องสั้น    ผู้เขียน    :    จำลอง  ฝั่งชลจิตรจัดพิมพ์โดย    :    แพรวสำนักพิมพ์พิมพ์ครั้งแรก    :    มีนาคม  ๒๕๔๘    
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : ช่อการะเกด ๔๒ ( ตุลาคม – ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๐ ) ประเภท : นิตยสารเรื่องสั้นและวรรณกรรมรายสามเดือน บรรณาธิการ : สุชาติ สวัสดิ์ศรี จัดพิมพ์โดย : พิมพ์บูรพา สาเหตุที่วรรณกรรมแนวเพื่อชีวิตยังคงมีลมหายใจอยู่ในหน้าหนังสือ มีหลายเหตุผลด้วยกัน เริ่มตั้งแต่ตัวนักเขียนเองที่อาจมีรสนิยม ความรู้สึกฝังใจต่อวรรณกรรมแนวนี้ว่าทรงพลังสามารถขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลง แก้ปัญหาสังคมได้ ในที่นี้ขอกล่าวถึงเหตุผลนี้เพียงประการเดียวก่อน คำว่า แนวเพื่อชีวิต ไม่ใช่ของเชยแน่หากเราได้อ่านเพื่อชีวิตน้ำดี ซึ่งเห็นว่าเรื่องนั้นต้องมีน้ำเสียงของความรับผิดชอบสังคมและตัวเองอย่างจริงใจของนักเขียน…
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ชื่อหนังสือ      :    เถ้าถ่านแห่งวารวัน    The Remains of the Day ประเภท            :    วรรณกรรมแปลจัดพิมพ์โดย    :    แพรวสำนักพิมพ์พิมพ์ครั้งที่ ๑    :    กุมภาพันธ์   ๒๕๔๙ผู้เขียน            :    คาสึโอะ  อิชิงุโระ ผู้แปล            :    นาลันทา  คุปต์
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ ชื่อหนังสือ      :    คลื่นทะเลใต้ประเภท    :    เรื่องสั้น    จัดพิมพ์โดย    :    สำนักพิมพ์นาครพิมพ์ครั้งแรก    :    ตุลาคม  พ.ศ. ๒๕๔๘  ผู้เขียน    :    กนกพงศ์  สงสมพันธุ์, จำลอง ฝั่งชลจิตร, ไพฑูรย์ ธัญญา, ประมวล มณีโรจน์, ขจรฤทธิ์ รักษา, ภิญโญ ศรีจำลอง, พนม นันทพฤกษ์, อัตถากร บำรุง เรื่องสั้นแนวเพื่อชีวิตในเล่ม คลื่นทะเลใต้เล่มนี้  ทุกเรื่องล้วนมีความต่าง…
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ชื่อหนังสือ : คลื่นทะเลใต้ประเภท : เรื่องสั้น    จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์นาครพิมพ์ครั้งแรก : ตุลาคม  พ.ศ. ๒๕๔๘  ผู้เขียน : กนกพงศ์  สงสมพันธุ์, จำลอง ฝั่งชลจิตร, ไพฑูรย์ ธัญญา, ประมวล มณีโรจน์, ขจรฤทธิ์ รักษา, ภิญโญ ศรีจำลอง, พนม นันทพฤกษ์, อัตถากร บำรุงวรรณกรรมประเภทเรื่องสั้นมีความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการตลอดเวลาถึงปัจจุบัน ในยุคหนึ่งเรื่องสั้นเคยเป็นวรรณกรรมที่สะท้อนสภาวะปัญหาสังคม สะท้อนภาพชนชั้นที่ถูกกดขี่ เอารัดเอาเปรียบ และยุคนั้นเราเคยรู้สึกว่าเรื่องสั้นเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถปฏิวัติเปลี่ยนแปลงสังคมได้…
สวนหนังสือ
‘พิณประภา ขันธวุธ’ ชื่อหนังสือ : ฉลามผู้แต่ง: ณัฐสวาสดิ์ หมั้นทรัพย์สำนักพิมพ์ : ระหว่างบรรทัดข้อดีของการอ่านิยายสักเรื่องคือได้เห็นตอนจบของเรื่องราวเหล่านั้นไม่จำเป็นเลย...ไม่จำเป็น...ที่จะต้องเดินย่ำไปรอยเดียวกับตัวละครเล่านั้นในขณะที่สังคมไทยกำลังเคลื่อนเข้าสู่ความเป็น “วัตถุนิยม” ที่เรียกว่า เป็นวัฒนธรรมอุปโภคบริโภค อย่างเต็มรูปแบบ ลัทธิสุขนิยม (hedonism) ก็เข้ามาแทบจะแยกไม่ออก ทำให้ความเป็น ปัจเจกบุคคล ชัดเจนขึ้นทุกขณะ ทั้งสามสิ่งที่เอ่ยไปนั้นคน สังคมไทยกำลัง โดดเดี่ยว เราเปิดเผยความโดดเดี่ยวนั้นด้วยรูปแบบของ ภาษาและถ้อยคำสำนวนที่สะท้อนโลกทัศน์ของความเป็นปัจเจกนิยมได้แก่ เอาตัวรอด…
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’  ชื่อหนังสือ      :    วิมานมายา  The house of the sleeping beautiesประเภท         :    วรรณกรรมแปลจัดพิมพ์โดย    :    สำนักพิมพ์ดอกหญ้าพิมพ์ครั้งที่ ๑   :    มิถุนายน ๒๕๓๐ผู้เขียน          :    ยาสึนาริ คาวาบาตะ ผู้แปล           :    วันเพ็ญ บงกชสถิตย์   
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ ชื่อหนังสือประเภทจัดพิมพ์โดยผู้ประพันธ์ผู้แปล:::::เปโดร  ปาราโม ( PEDRO  PARAMO )วรรณกรรมแปลสำนักพิมพ์โพเอม่าฮวน รุลโฟราอูล  การวิจารณ์วรรณกรรมนั้น บ่อยครั้งมักพบว่าบทวิจารณ์ไม่ได้ช่วยให้ผู้ที่ยังไม่ได้อ่านหรืออ่านวรรณกรรมเล่มนั้นแล้วได้เข้าใจถึงแก่นสาร สาระของเรื่องลึกซึ้งขึ้น แต่สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่บทวิจารณ์ต้องมีคือ การชี้ให้เห็นหรือตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับจุดเด่นสำคัญที่ไม่อาจละเลยได้ของวรรณกรรมเล่มนั้น วรรณกรรมที่ดีย่อมถ่ายทอดผ่านมุมมองอันละเอียดอ่อน ด้วยอารมณ์ประณีตของผู้ประพันธ์…