Skip to main content

นายยืนยง



ชื่อหนังสือ : แม่ทั้งโลกเป็นเช่นนี้

ผู้เขียน : ชมัยภร แสงกระจ่าง

ประเภท : รวมเรื่องสั้น พิมพ์ครั้งที่ 1 มีนาคม 2551

จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ คมบาง



เมื่อคืนพายุฝนสาดซัดเข้ามาทั่วทิศทาง กระหน่ำเม็ดราวเป็นคืนแห่งวาตะภัย มันเริ่มตั้งแต่หกทุ่มเศษ และโหมเข้า สาดเข้า ถ้าเป็นหลังคาสังกะสี ฉันคงเจ็บปางตายเพราะฝนเม็ดหนานัก มันพุ่งแรงเหลือเกิน ต่อเนื่องและเยือกฉ่ำ


ฉันลุกขึ้นมาเปิดไฟ เผชิญกับความกลัวที่ว่าบ้านจะพังไหม? ตัดเรือน เสา ที่เป็นไม้ (เก่า) ฐานรากที่แช่อยู่ในดินชุ่มฉ่ำ โถ..บ้านชราภาพจะทนทานไปได้กี่น้ำ นั่งอยู่ข้างบนก็รู้หรอกว่า ที่ใต้ถุนนั่น น้ำคงเนืองนอง

อยากหลับต่อจนถึงเช้าคงจะยากแล้วล่ะ เพราะเลยหกทุ่มมันเป็นช่วงที่ความคิดตื่น สดใหม่ หากจะนอนให้หลับก็เสียดาย แต่ถึงจะฝืนคงหลับไม่เป็นดีหรอก


การนอนให้หลับสบายเพื่อตื่นขึ้นด้วยพลังเรี่ยวแรงเต็มชีวิต จะหาได้จากที่ไหนกัน เมื่อเราไม่ใช่เด็ก ๆ แล้ว ว่าไป..การนอนหลับอาจถือเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง.. หรือเปล่านะ นอนคือพักผ่อน พัก ทุกอย่างไว้

และ ผ่อน (ไม่ใช่ผ่อนบ้าน) ผ่อนให้ทุกอย่างทุเลา อ่อนบางลงเสียบ้าง อะไร ๆ ในจอทีวีก็พักไว้ก่อน

ไม่ต้องเกร็งมาเฝ้าลุ้นระลึกไปกับข่าวต้นชั่วโมง กดรีโมตทีวีสลับไปสลับมาจนตาลาย หนังสือพิมพ์ก็เลือกอ่านอย่างปล่อยวางบ้าง ไม่ต้องบ้าคลั่งหยิบมาทีสี่ห้าฉบับเพื่อเปรียบเทียบว่า สำนักไหนเอียงข้างไหน แล้วมานั่งด่าเขาอย่างนั้นอย่างนี้


บางทีหันมาดูตัวเองก็นึกสลดใจอยู่เหมือนกัน ทำไมต้องโหมบริโภคข่าวจนเต็มอัตราปานนั้น

เอาล่ะ หาหนังสือสักเล่มมาเป็นเพื่อนดีกว่า เผื่อว่าจะหลับต่ออย่างสบาย ๆ สักสองชั่วโมงได้


เมื่อพร้อม ก็หยิบหนังสือมาเล่มหนึ่ง เพิ่งได้มาวันนี้เอง

แม่ทั้งโลกเป็นเช่นนี้ รวมเรื่องสั้นของนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศปัจจุบัน คุณชมัยภร แสงกระจ่าง ผู้หญิงเก่งและแกร่งคนหนึ่งในสังคม ดูจากผลงานเขียนที่หลากหลาย ทั้งกวีนิพนธ์ เรื่องสั้น นวนิยาย

นวนิยายสำหรับเยาวชน หรือวรรณกรรมเยาวชน บทความ บทวิจารณ์ ในหลากหลายนามปากกา ใครที่เป็นแฟนคลับจะทราบดี นอกจากการงานอันเป็นที่รักแล้ว เธอยังเป็นคุณแม่ของลูก ๆ และเป็นลูกของคุณแม่ ซึ่งเป็นพลังจากความทรงจำให้กลั่นกรองออกมาเป็นเรื่องสั้นสัมพันธภาพเล่มนี้


แม่ทั้งโลกเป็นเช่นนี้ เป็นรวมเรื่องสั้น 18 เรื่อง นับจากปีพ.. 2514 ยุคสังคมอุดมการณ์ นั่นคือเรื่องสั้น ด้วยเลือด และวิญญาณ กระทั่งถึงปีพ..2550 ผ่านการคัดสรรเป็นพิเศษให้ลงตัวกับตลาดหนังสือปัจจุบัน มีจุดเด่นชัดเจนตรงที่ แม่ทั้งโลกเป็นเช่นนี้ เป็นรวมเรื่องสั้นคัดสรร ที่ ‘คนมีลูก’ ต้องอ่าน และ ‘คนเป็นลูก’ ยิ่งต้องอ่าน ดังที่คำนำสำนักพิมพ์โปรยไว้ เมื่ออ่านแล้วพบว่า เป็นจริงดังเขาว่านั่นเอง


ใครก็ตามที่ชอบซื้อหนังสือเป็นของขวัญให้กัน ไม่น่าพลาดเล่มนี้ และลืมภาระในการอ่านไปได้เลย เพราะว่า อ่านสบาย อ่านได้ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ แต่ละเรื่องก็สั้นกระชับดี ไม่เสียเวลามาก ใครก็อ่านได้แน่นอน ขอให้อ่านหนังสือออกเถอะ ที่สำคัญคือ ได้ข้อคิด คติเตือนใจ ได้มุมมองที่สว่างไสวขึ้นในใจอีกด้วย

โดยเฉพาะมุมมองที่สะท้อนกลับระหว่างแม่กับลูก ดังที่คุณชมัยภรได้เขียนในหน้า จากใจนักเขียนว่า


ขอขอบคุณ แม่บัวขาว วิทูธีรศานต์ ผู้เป็นดั่งดอกบัวสีขาว (บุณฑริกา) บานบริสุทธิ์ในหัวใจของลูก

และเป็นเช่นเดียวกับแม่ทั้งโลก คือเป็นผู้ให้ความรักแก่ลูกอย่างสม่ำเสมอ ไม่มีที่สิ้นสุด


นอกจากแง่มุมที่ได้กล่าวมาแล้ว ลองหันมาพิจารณาศักยภาพของนักเขียนกันบ้าง


รวมเรื่องสั้นเล่มนี้ ถือเป็นการรวบรวมเอาศักยภาพด้านงานเขียนอันหลากหลายของคุณชมัยภรมารวมไว้ด้วยกัน เริ่มตั้งแต่ด้านการเขียนกวีนิพนธ์ เรื่องสั้น บทวิจารณ์


ด้านกวีนิพนธ์ ซึ่งคุณชมัยภรบอกไว้ว่า เริ่มงานเขียนครั้งแรกด้วยบทกวี... ผลงานยุคแรกในนามปากกา

ชมจันทร์ ยกตัวอย่าง ใบไม้ในนาคร (ปี 2516) มิเหมือนแม้นอันใดเลย (ปี2533) หนูน้อยตัวหนังสือ

(ปี2536) หรืออรุณในราตรี (ปี2541) และในเล่มนี้ มีกวีนิพนธ์เปิดเรื่องไว้ 1 บท นั่นคือ บท

โสนบานเช้า คัดเค้าบานเย็น ที่เขียนขึ้นในวันแม่ เป็นวันพิเศษ และถือเป็นบทนำอันอบอุ่นของรวมเรื่องสั้นเล่มนี้

เธอเขียนไว้ในหน้าที่ 14 ว่า

เห็นโบกไกวไหวเงา เล่นลมเช้าอยู่ครื้นเครง

ตื่นตามากันเอง แม่ทอดไข่ใส่บาตรพระ

ใส่ดอกโสนน้อย แสนอร่อยสาธุสะ

ไหว้พระเสียเถิดนะ เป็นมงคลไปทั้งวัน

แดดเช้ามาฉายชื่น อารมณ์รื่นชื่นใจพลัน

บานเช้ามาฉายฉัน คลี่กลีบนวลงามยวนใจ

ฯลฯ

ร้อนร้ายในชีวิต ลูกหงุดหงิดมาทั้งวัน

เย็นแม่โลมใจนั้น ให้กลับเย็นเป็นสายธาร

แม่คือทุกเวลา เช้าค่ำมาแม่ก็บาน

เพื่อทุกลูกทุกวันวาร แม่ยินดีแม่มีใจ

ลูกสุขแม่สุขด้วย ลูกจะม้วยแม่จะไป

ทุกอย่างแม่รับไว้ ยิ่งกว่าลูกจะรับมัน

เวลาแม่เป็นของลูก เช้าก็ผูกเย็นก็พัน

โสนบานเช้าคัดเค้านั้น บานเย็นพร้อมยอมทุกกาล

หนึ่งวันแม่บานให้ คือหนึ่งใจผสมผสาน

หนึ่งชาตินิรันดร์นาน แม่บานให้ทุกเวลา.


เป็นคำเรียบง่ายที่ถักทอผ่านมุมมอง ซึ่งผู้เขียนมอบสัญลักษณ์ของแม่ไว้กับดอกไม้ กลายเป็นความงดงามที่อ่านแล้วอิ่มเอม ไม่ต้องอ้างอิงเอาคำยากมาทดแทนความรู้สึก กลวิธีการเขียนเหล่านี้ของคุณชมัยภรได้แผ่ไปยังเรื่องสั้น รวมถึงนวนิยายของเธอด้วย ถือได้ว่าเป็นลักษณะเฉพาะตัวเลยทีเดียว เท่าที่ได้ติดตามอ่านนวนิยายของเธอนั้น ประจักษ์เลยว่า การเลือกใช้ถ้อยคำง่าย กระชับ มีสำนวนแบบร่วมสมัย ทำให้งานเขียนมีเสน่ห์แบบไร้ข้อจำกัด โดยเฉพาะกับรวมเรื่องสั้นเล่มนี้


เรื่องสั้น 18 เรื่องที่บรรจุอยู่นั้น มีทั้งมุมมองของคนที่เป็นลูก และคนที่เป็นแม่ ผสมผสานอยู่

เรื่องที่เล่าผ่านมุมมองของคนที่เป็นแม่นั้น มีหลายเรื่อง ได้แก่ ดอกโมกบาน (.139) คืนที่เศร้าโศก

(.125) ยังไม่สิ้นกระแสธาร (.23) เรื่องนี้เศร้าจัง (.83) ขบวนการล่างู (.109) ญ หญิงอดทน (.43) ส่วนที่เล่าผ่านมุมมองของคนที่เป็นลูก ก็ได้แก่ สิ่งที่หลงอยู่ (.91) กระจกบานนั้น (.77)

พาแม่(สองคน)ไปวัด (.101) มะลิซ้อนสามต้น (.131) มิอาจซื้อ (.145) ด้วยเลือดและวิญญาณ

(.35) ฯลฯ


โดยเฉพาะเรื่อง ด้วยเลือดและวิญญาณ ที่ถือเป็นผลงานเรื่องสั้นยุคแรก ๆ ของเธอ (ปี 2514) นั้น แสดงออกถึงอารมณ์ปะทะรุนแรงที่ลูกสาวมีต่อแม่ เป็นเหมือนเรื่องสั้นยุคแสวงหาทั่วไปที่เราเคยอ่าน โดยตัวละครจะกบฏต่อสิ่งที่เป็นอยู่ในสังคม แต่กับเรื่องนี้ตัวละครเธอประท้วงผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งก็คือแม่ของเธอเอง ยกมาให้อ่านนิดหนึ่ง จากหน้า 36


แกไปให้พ้นหน่อยได้ไหม มานั่งเป็นเบื้ออยู่ได้ ว่าเข้าทีไรก็ตีสีหน้าเหมือนนักปราชญ์ ช่างคิด เชอะ”

ก็ฉันมานี่แล้วไง ฉันอุตส่าห์มาจนไกลแสนไกลอย่างนี้แล้ว เสียงผู้หญิงคนนั้นก็ยังตามมาจนได้ คงเป็นเพราะฉันเพิ่งได้ยินมันเมื่อเช้านี้เอง มันจึงยังแจ่มชัดนักสำหรับความทรงจำ ฉันจะต้องลบมันให้หมด ลบมันให้ได้เดี๋ยวนี้ ไม่เช่นนั้นฉันจะเขียนบทกวีได้อย่างไรกัน บทกวีที่ดีต้องการความสงบเงียบ ฉันคิดอย่างนั้น


หนังสือเล่มนี้มีความพิเศษตรงที่ เมื่อจบเรื่องแล้ว จะมี หมายเหตุนักเขียน สรุปความไว้ทุกเรื่อง เหมือนกับเป็นการวิจารณ์ผลงานของตัวเองไปพร้อมกัน เป็นการกล่าวถึงแรงบันดาลใจ และในเรื่อง ด้วยเลือดและวิญญาณก็เช่นกัน นักเขียนได้วิจารณ์ผลงานของตัวเองไปพร้อมกันด้วยว่า


ช่วงเวลาที่เขียนเรื่องนี้ เป็นยุคแสวงหา และฉันเป็นสาวอายุยี่สิบ การเขียนสะท้อนอารมณ์แรง ๆ เป็นปัจเจกชนหน่อย ๆ ดูจะเป็นภาพสะท้อนของยุคนั้น ความที่ยังไม่ค่อยชำนาญเท่าไรนัก เรื่องจึงเล่าผ่านตัวละครไปในคราวเดียว โดยไม่มีการสร้างเหตุการณ์ตัดฉาก เพ้อฝันถึงความคิดเชิงอุดมคติเล็กน้อย โดยพูดถึงการเขียนที่สมบูรณ์แบบ สังเกตได้ว่า ผู้เล่ายังลอย ๆ อยู่ (หน้า 40)


เป็นการยืนยันว่ารวมเรื่องสั้นเล่มนี้ได้รวบรวมเอาศักยภาพของนักเขียนจนครบทุกด้านดังที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่หากจะว่ากันตามตรง ถามว่า มีความจำเป็นหรือไม่ที่นักเขียนจะต้องเขียนบทวิจารณ์ผลงานเขียนของตัวเองให้ผู้อ่านได้อ่าน ในแง่ของวรรณศิลป์ อาจไม่จำเป็นนัก เพราะถือว่าเปิดโอกาสให้ผู้อ่านคิด จินตนาการและพิจารณาตัดสินเองโดยอิสระ แต่ในแง่มุมของชมัยภรที่มีต่อหนังสือเล่มนี้ ดูเหมือนว่า หมายเหตุนักเขียนที่มีไว้ท้ายเรื่องสั้น มีส่วนของ ข้อมูลดิบ และข้อมูลทางวรรณศิลป์ น่าจะมีนัยยะไปในทำนองที่สอดคล้องกับ เจตคติของหนังสือที่ว่า ตัวนักเขียนเป็นทั้งแม่และลูก ดังนั้นในด้านงานเขียนเธอจึงเป็นทั้งนักเขียนและนักวิจารณ์ ก็เป็นได้


โดยส่วนตัวแล้ว อ่านจบรวดเดียว จนไม่เหลือเวลานอน ยังชื่นชอบเรื่อง มิอาจซื้อ ของคุณชมัยภรไม่ได้

เป็นเรื่องที่สะท้อนสภาพสังคมที่อยู่กับแบบครอบครัวเดี่ยว มีพ่อแม่ลูก ไม่มีปู่ย่าตายายร่วมชายคา ผู้เฒ่าที่เคยเลี้ยงดูลูกต้องอยู่ไปลำพัง เฝ้ารอให้ลูกหลานมาเยี่ยมหาเป็นครั้งคราว กระทั่งเด็กหญิงตัวเล็กคนหนึ่ง ที่เกิดมาไม่เคยเห็นคนแก่เลย จึงเห็นเป็นของประหลาด ความช่างสงสัยของเด็กจึงถามแม่ว่า


ไมบ้านเราไม่มีทวด”
ขณะที่คนเป็นแม่ยังหาโอกาสไปเยี่ยม คุณยาย ที่ต่างจังหวัดไม่ได้สักที ครั้นแม่จะไปตลาด ลูกสาวช่างสงสัยจึงสั่งแม่ว่า “แม่ซื้อทวดมาด้วยนะ” ซึ่งทำให้แม่สะเทือนใจอย่างหนัก กระทั่งตัดสินใจจะพาลูกสาวไปเยี่ยมคุณยายภายในสัปดาห์นี้ให้ได้


เป็นเรื่องสั้น ๆ ที่ทำให้ฉันฉุกคิดขึ้นได้ จากคำพูดของเด็กแบบไร้เดียงสา มุมมองของเด็กที่มองเห็นอะไรก็คิด รู้สึกไปตามนั้น ซึ่งตัดกันอย่างรุนแรงกับทัศนะแบบผู้ใหญ่ ที่คุณชมัยภรนำมาเป็นความขัดแย้งที่ชัดเจนของเรื่อง ทำให้เรื่องสั้นที่ใช้คำไม่กี่คำ มีน้ำหนักและเหลี่ยมมุมจะสะท้อนคุณค่าของรสวรรณศิลป์ให้ออกไปสู่สังคมได้อย่างงดงามทีเดียว


แม้คืนนี้จะอดนอน ไม่ได้พักผ่อนอย่างมีศิลปะ แต่การได้อ่านหนังสือเล่มนี้กลับทำให้ความคิดโปร่งเบาขึ้น ถ้าให้แลกกับการได้นอนหลับอย่างอิ่มเอมแล้วคงไม่ยอมหรอก แปลกอยู่นะ ทั้งที่นอนไม่อิ่มก็กลับมีเรี่ยวแรงขึ้นมาได้ ดีเหมือนกันจะได้ลงไปจัดการน้ำฝนที่ท่วมขังตรงใต้ถุนบ้านเสียที.


บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
 ‘ นายยืนยง ’ ชื่อหนังสือประเภทจัดพิมพ์โดยพิมพ์ครั้งที่ ๑ผู้เขียน ผู้แปล  : ::::::เดวิด หนีสุดชีวิต   ( I am David )วรรณกรรมแปล   /  นวนิยายเดนมาร์ก สำนักพิมพ์ นานมีบุ๊คส์ทีนกันยายน   พ.ศ.๒๕๔๙Anne Holmอัจฉรัตน์  ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตของโลกในสภาวะต่าง ๆ ทั้งเศรษฐกิจและธรรมชาติ มนุษยชาติต่างผ่านพ้นมาแล้วซึ่งวิกฤตนานัปการ แม้แต่ในนามของสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่ผงฝุ่นแห่งความทรงจำเลวร้ายทั้งมวล เหมือนได้ล่องลอยไปตกตะกอนอยู่ภายในใจผู้คน ครอบคลุมแทบทุกแนวเส้นละติจูด แม้นเวลาจะผ่านมาเนิ่นนานเพียงไร แต่ตะกอนนั้นกลับยังคงอยู่ โดยเฉพาะในงานวรรณกรรม เดวิด…
สวนหนังสือ
โดย ‘นายยืนยง’ ชื่อหนังสือ      :    ภาพเหมือน  ( The Portrait ) ประเภท    :        วรรณกรรมแปล จัดพิมพ์โดย    :    สำนักพิมพ์ คมบาง พิมพ์ครั้งที่ ๑    :    ตุลาคม ๒๕๔๔ ผู้เขียน        :    นิโคไล  โกโกล ผู้แปล        :    ดลสิทธิ์  บางคมบาง    จากต้นฉบับภาษาอังกฤษของ  CHRISTOPHER  ENGLISH …
สวนหนังสือ
โดย ‘นายยืนยง’ชื่อหนังสือ :    ไตร่ตรองมองหลักประเภท :                บทความพุทธปรัชญา     จัดพิมพ์โดย :    สำนักพิมพ์ศยามพิมพ์ครั้งที่ ๒ :    กันยายน  พ.ศ. ๒๕๔๓  :  แก้ไขปรับปรุงผู้เขียน :    เขมานันทะบรรณาธิการ :    นิพัทธ์พร  เพ็งแก้ว ในกระแสนิยมปัจจุบัน  แม้พุทธศาสนาจะอยู่ในรูปสภาพที่เป็นกิจการค้าความเชื่อมากมายเพียงไร  และคงไม่ต้องกล่าวถึงว่าจะมีตรายี่ห้อใดบ้าง …
สวนหนังสือ
โดย นายยืนยงเรื่อง สายรุ้ง รุ่งเยือน    สำนักพิมพ์  เคล็ดไทยผู้แต่ง ณรงค์ยุทธ  โคตรคำ ประเภท กวีนิพนธ์ฟ้าครึ้มอยู่อย่างนี้สักสองสามวันได้ เมฆขมุกขมัวเกาะกันเคว้งคว้าง พากันลอยล่องไปตามแรงลม   …ลมเย็นต้องผิวเนื้อสัมผัส รู้สึกได้ถึงลมหนาวอันสะท้านใจ  โอหนอ... ลมหนาวแรกของปลายมิถุนายน  โอหนอ... กวีนิพนธ์ถ้าเอ่ยชื่อ ณรงค์ยุทธ โคตรคำ กับลมหนาวแสนประหลาดของเดือนมิถุนายน  ชื่อนี้คงไม่คุ้นหู ไม่ว่าในกลุ่มแขนงใด ๆ แต่การที่หนังสือกวีนิพนธ์ ชื่อ สายรุ้ง รุ่งเยือน มีประโยคเปิดหน้าปกว่า  รวมบทกวีคัดสรรเล่มแรกของ ณรงค์ยุทธ โคตรคำ นั้น …