Skip to main content

นายยืนยง



ชื่อหนังสือ : แม่ทั้งโลกเป็นเช่นนี้

ผู้เขียน : ชมัยภร แสงกระจ่าง

ประเภท : รวมเรื่องสั้น พิมพ์ครั้งที่ 1 มีนาคม 2551

จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ คมบาง



เมื่อคืนพายุฝนสาดซัดเข้ามาทั่วทิศทาง กระหน่ำเม็ดราวเป็นคืนแห่งวาตะภัย มันเริ่มตั้งแต่หกทุ่มเศษ และโหมเข้า สาดเข้า ถ้าเป็นหลังคาสังกะสี ฉันคงเจ็บปางตายเพราะฝนเม็ดหนานัก มันพุ่งแรงเหลือเกิน ต่อเนื่องและเยือกฉ่ำ


ฉันลุกขึ้นมาเปิดไฟ เผชิญกับความกลัวที่ว่าบ้านจะพังไหม? ตัดเรือน เสา ที่เป็นไม้ (เก่า) ฐานรากที่แช่อยู่ในดินชุ่มฉ่ำ โถ..บ้านชราภาพจะทนทานไปได้กี่น้ำ นั่งอยู่ข้างบนก็รู้หรอกว่า ที่ใต้ถุนนั่น น้ำคงเนืองนอง

อยากหลับต่อจนถึงเช้าคงจะยากแล้วล่ะ เพราะเลยหกทุ่มมันเป็นช่วงที่ความคิดตื่น สดใหม่ หากจะนอนให้หลับก็เสียดาย แต่ถึงจะฝืนคงหลับไม่เป็นดีหรอก


การนอนให้หลับสบายเพื่อตื่นขึ้นด้วยพลังเรี่ยวแรงเต็มชีวิต จะหาได้จากที่ไหนกัน เมื่อเราไม่ใช่เด็ก ๆ แล้ว ว่าไป..การนอนหลับอาจถือเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง.. หรือเปล่านะ นอนคือพักผ่อน พัก ทุกอย่างไว้

และ ผ่อน (ไม่ใช่ผ่อนบ้าน) ผ่อนให้ทุกอย่างทุเลา อ่อนบางลงเสียบ้าง อะไร ๆ ในจอทีวีก็พักไว้ก่อน

ไม่ต้องเกร็งมาเฝ้าลุ้นระลึกไปกับข่าวต้นชั่วโมง กดรีโมตทีวีสลับไปสลับมาจนตาลาย หนังสือพิมพ์ก็เลือกอ่านอย่างปล่อยวางบ้าง ไม่ต้องบ้าคลั่งหยิบมาทีสี่ห้าฉบับเพื่อเปรียบเทียบว่า สำนักไหนเอียงข้างไหน แล้วมานั่งด่าเขาอย่างนั้นอย่างนี้


บางทีหันมาดูตัวเองก็นึกสลดใจอยู่เหมือนกัน ทำไมต้องโหมบริโภคข่าวจนเต็มอัตราปานนั้น

เอาล่ะ หาหนังสือสักเล่มมาเป็นเพื่อนดีกว่า เผื่อว่าจะหลับต่ออย่างสบาย ๆ สักสองชั่วโมงได้


เมื่อพร้อม ก็หยิบหนังสือมาเล่มหนึ่ง เพิ่งได้มาวันนี้เอง

แม่ทั้งโลกเป็นเช่นนี้ รวมเรื่องสั้นของนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศปัจจุบัน คุณชมัยภร แสงกระจ่าง ผู้หญิงเก่งและแกร่งคนหนึ่งในสังคม ดูจากผลงานเขียนที่หลากหลาย ทั้งกวีนิพนธ์ เรื่องสั้น นวนิยาย

นวนิยายสำหรับเยาวชน หรือวรรณกรรมเยาวชน บทความ บทวิจารณ์ ในหลากหลายนามปากกา ใครที่เป็นแฟนคลับจะทราบดี นอกจากการงานอันเป็นที่รักแล้ว เธอยังเป็นคุณแม่ของลูก ๆ และเป็นลูกของคุณแม่ ซึ่งเป็นพลังจากความทรงจำให้กลั่นกรองออกมาเป็นเรื่องสั้นสัมพันธภาพเล่มนี้


แม่ทั้งโลกเป็นเช่นนี้ เป็นรวมเรื่องสั้น 18 เรื่อง นับจากปีพ.. 2514 ยุคสังคมอุดมการณ์ นั่นคือเรื่องสั้น ด้วยเลือด และวิญญาณ กระทั่งถึงปีพ..2550 ผ่านการคัดสรรเป็นพิเศษให้ลงตัวกับตลาดหนังสือปัจจุบัน มีจุดเด่นชัดเจนตรงที่ แม่ทั้งโลกเป็นเช่นนี้ เป็นรวมเรื่องสั้นคัดสรร ที่ ‘คนมีลูก’ ต้องอ่าน และ ‘คนเป็นลูก’ ยิ่งต้องอ่าน ดังที่คำนำสำนักพิมพ์โปรยไว้ เมื่ออ่านแล้วพบว่า เป็นจริงดังเขาว่านั่นเอง


ใครก็ตามที่ชอบซื้อหนังสือเป็นของขวัญให้กัน ไม่น่าพลาดเล่มนี้ และลืมภาระในการอ่านไปได้เลย เพราะว่า อ่านสบาย อ่านได้ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ แต่ละเรื่องก็สั้นกระชับดี ไม่เสียเวลามาก ใครก็อ่านได้แน่นอน ขอให้อ่านหนังสือออกเถอะ ที่สำคัญคือ ได้ข้อคิด คติเตือนใจ ได้มุมมองที่สว่างไสวขึ้นในใจอีกด้วย

โดยเฉพาะมุมมองที่สะท้อนกลับระหว่างแม่กับลูก ดังที่คุณชมัยภรได้เขียนในหน้า จากใจนักเขียนว่า


ขอขอบคุณ แม่บัวขาว วิทูธีรศานต์ ผู้เป็นดั่งดอกบัวสีขาว (บุณฑริกา) บานบริสุทธิ์ในหัวใจของลูก

และเป็นเช่นเดียวกับแม่ทั้งโลก คือเป็นผู้ให้ความรักแก่ลูกอย่างสม่ำเสมอ ไม่มีที่สิ้นสุด


นอกจากแง่มุมที่ได้กล่าวมาแล้ว ลองหันมาพิจารณาศักยภาพของนักเขียนกันบ้าง


รวมเรื่องสั้นเล่มนี้ ถือเป็นการรวบรวมเอาศักยภาพด้านงานเขียนอันหลากหลายของคุณชมัยภรมารวมไว้ด้วยกัน เริ่มตั้งแต่ด้านการเขียนกวีนิพนธ์ เรื่องสั้น บทวิจารณ์


ด้านกวีนิพนธ์ ซึ่งคุณชมัยภรบอกไว้ว่า เริ่มงานเขียนครั้งแรกด้วยบทกวี... ผลงานยุคแรกในนามปากกา

ชมจันทร์ ยกตัวอย่าง ใบไม้ในนาคร (ปี 2516) มิเหมือนแม้นอันใดเลย (ปี2533) หนูน้อยตัวหนังสือ

(ปี2536) หรืออรุณในราตรี (ปี2541) และในเล่มนี้ มีกวีนิพนธ์เปิดเรื่องไว้ 1 บท นั่นคือ บท

โสนบานเช้า คัดเค้าบานเย็น ที่เขียนขึ้นในวันแม่ เป็นวันพิเศษ และถือเป็นบทนำอันอบอุ่นของรวมเรื่องสั้นเล่มนี้

เธอเขียนไว้ในหน้าที่ 14 ว่า

เห็นโบกไกวไหวเงา เล่นลมเช้าอยู่ครื้นเครง

ตื่นตามากันเอง แม่ทอดไข่ใส่บาตรพระ

ใส่ดอกโสนน้อย แสนอร่อยสาธุสะ

ไหว้พระเสียเถิดนะ เป็นมงคลไปทั้งวัน

แดดเช้ามาฉายชื่น อารมณ์รื่นชื่นใจพลัน

บานเช้ามาฉายฉัน คลี่กลีบนวลงามยวนใจ

ฯลฯ

ร้อนร้ายในชีวิต ลูกหงุดหงิดมาทั้งวัน

เย็นแม่โลมใจนั้น ให้กลับเย็นเป็นสายธาร

แม่คือทุกเวลา เช้าค่ำมาแม่ก็บาน

เพื่อทุกลูกทุกวันวาร แม่ยินดีแม่มีใจ

ลูกสุขแม่สุขด้วย ลูกจะม้วยแม่จะไป

ทุกอย่างแม่รับไว้ ยิ่งกว่าลูกจะรับมัน

เวลาแม่เป็นของลูก เช้าก็ผูกเย็นก็พัน

โสนบานเช้าคัดเค้านั้น บานเย็นพร้อมยอมทุกกาล

หนึ่งวันแม่บานให้ คือหนึ่งใจผสมผสาน

หนึ่งชาตินิรันดร์นาน แม่บานให้ทุกเวลา.


เป็นคำเรียบง่ายที่ถักทอผ่านมุมมอง ซึ่งผู้เขียนมอบสัญลักษณ์ของแม่ไว้กับดอกไม้ กลายเป็นความงดงามที่อ่านแล้วอิ่มเอม ไม่ต้องอ้างอิงเอาคำยากมาทดแทนความรู้สึก กลวิธีการเขียนเหล่านี้ของคุณชมัยภรได้แผ่ไปยังเรื่องสั้น รวมถึงนวนิยายของเธอด้วย ถือได้ว่าเป็นลักษณะเฉพาะตัวเลยทีเดียว เท่าที่ได้ติดตามอ่านนวนิยายของเธอนั้น ประจักษ์เลยว่า การเลือกใช้ถ้อยคำง่าย กระชับ มีสำนวนแบบร่วมสมัย ทำให้งานเขียนมีเสน่ห์แบบไร้ข้อจำกัด โดยเฉพาะกับรวมเรื่องสั้นเล่มนี้


เรื่องสั้น 18 เรื่องที่บรรจุอยู่นั้น มีทั้งมุมมองของคนที่เป็นลูก และคนที่เป็นแม่ ผสมผสานอยู่

เรื่องที่เล่าผ่านมุมมองของคนที่เป็นแม่นั้น มีหลายเรื่อง ได้แก่ ดอกโมกบาน (.139) คืนที่เศร้าโศก

(.125) ยังไม่สิ้นกระแสธาร (.23) เรื่องนี้เศร้าจัง (.83) ขบวนการล่างู (.109) ญ หญิงอดทน (.43) ส่วนที่เล่าผ่านมุมมองของคนที่เป็นลูก ก็ได้แก่ สิ่งที่หลงอยู่ (.91) กระจกบานนั้น (.77)

พาแม่(สองคน)ไปวัด (.101) มะลิซ้อนสามต้น (.131) มิอาจซื้อ (.145) ด้วยเลือดและวิญญาณ

(.35) ฯลฯ


โดยเฉพาะเรื่อง ด้วยเลือดและวิญญาณ ที่ถือเป็นผลงานเรื่องสั้นยุคแรก ๆ ของเธอ (ปี 2514) นั้น แสดงออกถึงอารมณ์ปะทะรุนแรงที่ลูกสาวมีต่อแม่ เป็นเหมือนเรื่องสั้นยุคแสวงหาทั่วไปที่เราเคยอ่าน โดยตัวละครจะกบฏต่อสิ่งที่เป็นอยู่ในสังคม แต่กับเรื่องนี้ตัวละครเธอประท้วงผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งก็คือแม่ของเธอเอง ยกมาให้อ่านนิดหนึ่ง จากหน้า 36


แกไปให้พ้นหน่อยได้ไหม มานั่งเป็นเบื้ออยู่ได้ ว่าเข้าทีไรก็ตีสีหน้าเหมือนนักปราชญ์ ช่างคิด เชอะ”

ก็ฉันมานี่แล้วไง ฉันอุตส่าห์มาจนไกลแสนไกลอย่างนี้แล้ว เสียงผู้หญิงคนนั้นก็ยังตามมาจนได้ คงเป็นเพราะฉันเพิ่งได้ยินมันเมื่อเช้านี้เอง มันจึงยังแจ่มชัดนักสำหรับความทรงจำ ฉันจะต้องลบมันให้หมด ลบมันให้ได้เดี๋ยวนี้ ไม่เช่นนั้นฉันจะเขียนบทกวีได้อย่างไรกัน บทกวีที่ดีต้องการความสงบเงียบ ฉันคิดอย่างนั้น


หนังสือเล่มนี้มีความพิเศษตรงที่ เมื่อจบเรื่องแล้ว จะมี หมายเหตุนักเขียน สรุปความไว้ทุกเรื่อง เหมือนกับเป็นการวิจารณ์ผลงานของตัวเองไปพร้อมกัน เป็นการกล่าวถึงแรงบันดาลใจ และในเรื่อง ด้วยเลือดและวิญญาณก็เช่นกัน นักเขียนได้วิจารณ์ผลงานของตัวเองไปพร้อมกันด้วยว่า


ช่วงเวลาที่เขียนเรื่องนี้ เป็นยุคแสวงหา และฉันเป็นสาวอายุยี่สิบ การเขียนสะท้อนอารมณ์แรง ๆ เป็นปัจเจกชนหน่อย ๆ ดูจะเป็นภาพสะท้อนของยุคนั้น ความที่ยังไม่ค่อยชำนาญเท่าไรนัก เรื่องจึงเล่าผ่านตัวละครไปในคราวเดียว โดยไม่มีการสร้างเหตุการณ์ตัดฉาก เพ้อฝันถึงความคิดเชิงอุดมคติเล็กน้อย โดยพูดถึงการเขียนที่สมบูรณ์แบบ สังเกตได้ว่า ผู้เล่ายังลอย ๆ อยู่ (หน้า 40)


เป็นการยืนยันว่ารวมเรื่องสั้นเล่มนี้ได้รวบรวมเอาศักยภาพของนักเขียนจนครบทุกด้านดังที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่หากจะว่ากันตามตรง ถามว่า มีความจำเป็นหรือไม่ที่นักเขียนจะต้องเขียนบทวิจารณ์ผลงานเขียนของตัวเองให้ผู้อ่านได้อ่าน ในแง่ของวรรณศิลป์ อาจไม่จำเป็นนัก เพราะถือว่าเปิดโอกาสให้ผู้อ่านคิด จินตนาการและพิจารณาตัดสินเองโดยอิสระ แต่ในแง่มุมของชมัยภรที่มีต่อหนังสือเล่มนี้ ดูเหมือนว่า หมายเหตุนักเขียนที่มีไว้ท้ายเรื่องสั้น มีส่วนของ ข้อมูลดิบ และข้อมูลทางวรรณศิลป์ น่าจะมีนัยยะไปในทำนองที่สอดคล้องกับ เจตคติของหนังสือที่ว่า ตัวนักเขียนเป็นทั้งแม่และลูก ดังนั้นในด้านงานเขียนเธอจึงเป็นทั้งนักเขียนและนักวิจารณ์ ก็เป็นได้


โดยส่วนตัวแล้ว อ่านจบรวดเดียว จนไม่เหลือเวลานอน ยังชื่นชอบเรื่อง มิอาจซื้อ ของคุณชมัยภรไม่ได้

เป็นเรื่องที่สะท้อนสภาพสังคมที่อยู่กับแบบครอบครัวเดี่ยว มีพ่อแม่ลูก ไม่มีปู่ย่าตายายร่วมชายคา ผู้เฒ่าที่เคยเลี้ยงดูลูกต้องอยู่ไปลำพัง เฝ้ารอให้ลูกหลานมาเยี่ยมหาเป็นครั้งคราว กระทั่งเด็กหญิงตัวเล็กคนหนึ่ง ที่เกิดมาไม่เคยเห็นคนแก่เลย จึงเห็นเป็นของประหลาด ความช่างสงสัยของเด็กจึงถามแม่ว่า


ไมบ้านเราไม่มีทวด”
ขณะที่คนเป็นแม่ยังหาโอกาสไปเยี่ยม คุณยาย ที่ต่างจังหวัดไม่ได้สักที ครั้นแม่จะไปตลาด ลูกสาวช่างสงสัยจึงสั่งแม่ว่า “แม่ซื้อทวดมาด้วยนะ” ซึ่งทำให้แม่สะเทือนใจอย่างหนัก กระทั่งตัดสินใจจะพาลูกสาวไปเยี่ยมคุณยายภายในสัปดาห์นี้ให้ได้


เป็นเรื่องสั้น ๆ ที่ทำให้ฉันฉุกคิดขึ้นได้ จากคำพูดของเด็กแบบไร้เดียงสา มุมมองของเด็กที่มองเห็นอะไรก็คิด รู้สึกไปตามนั้น ซึ่งตัดกันอย่างรุนแรงกับทัศนะแบบผู้ใหญ่ ที่คุณชมัยภรนำมาเป็นความขัดแย้งที่ชัดเจนของเรื่อง ทำให้เรื่องสั้นที่ใช้คำไม่กี่คำ มีน้ำหนักและเหลี่ยมมุมจะสะท้อนคุณค่าของรสวรรณศิลป์ให้ออกไปสู่สังคมได้อย่างงดงามทีเดียว


แม้คืนนี้จะอดนอน ไม่ได้พักผ่อนอย่างมีศิลปะ แต่การได้อ่านหนังสือเล่มนี้กลับทำให้ความคิดโปร่งเบาขึ้น ถ้าให้แลกกับการได้นอนหลับอย่างอิ่มเอมแล้วคงไม่ยอมหรอก แปลกอยู่นะ ทั้งที่นอนไม่อิ่มก็กลับมีเรี่ยวแรงขึ้นมาได้ ดีเหมือนกันจะได้ลงไปจัดการน้ำฝนที่ท่วมขังตรงใต้ถุนบ้านเสียที.


บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ                     :    เค้าขวัญวรรณกรรมผู้เขียน                         :    เขมานันทะพิมพ์ครั้งที่สอง (ฉบับปรับปรุง) ตุลาคม ๒๕๔๓     :    สำนักพิมพ์ศยาม  
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ชื่อนิตยสาร      :    ฅ คน ปีที่ ๓  ฉบับที่ ๕ (๒๔)  มีนาคม ๒๕๕๑บรรณาธิการ     :    กฤษกร  วงค์กรวุฒิเจ้าของ           :    บริษัท ทีวีบูรพา จำกัด
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ ชะตากรรมของสังคมฝากความหวังไว้กับวรรณกรรมเพื่อชีวิตเห็นจะไม่ได้เสียแล้ว  หากเมื่อความเป็นไปหรือกลไกการเคลื่อนไหวของสังคมถูกนักเขียนมองสรุปอย่างง่ายเกินไป  ดังนั้นคงไม่แปลกที่ผลงานเหล่านั้นถูกนักอ่านมองผ่านอย่างง่ายเช่นกัน  เพราะนอกจากจะเชยเร่อร่าแล้ว ยังเศร้าสลด ชวนให้หดหู่...จนเกือบสิ้นหวังไม่ว่าโลกจะเศร้าได้มากแค่ไหน ก็ไม่ได้หมายรวมว่าเราจะใช้ชีวิตอยู่แต่กับโลกแห่งความเศร้าใช่หรือไม่? เพราะบ่อยครั้งเราพบว่าความเศร้าก็ไม่ใช่ความทุกข์ที่ไร้แสงสว่าง  ความคาดหวังดังกล่าวจุดประกายขึ้นต่อฉัน เมื่อตั้งใจจะอ่านรวมเรื่องสั้น โลกใบเก่ายังเศร้าเหมือนเดิม ของ…
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ       :    รายงานจากหมู่บ้าน       ประเภท         :    กวีนิพนธ์     ผู้เขียน         :    กานติ ณ ศรัทธา    จัดพิมพ์โดย     :    สำนักพิมพ์ใบไม้ผลิพิมพ์ครั้งแรก      :    มีนาคม  พ.ศ. ๒๕๕๐เขียนบทวิจารณ์     :    นายยืนยง
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ      :    ลิกอร์ พวกเขาเปลี่ยนไปประเภท    :    เรื่องสั้น    ผู้เขียน    :    จำลอง  ฝั่งชลจิตรจัดพิมพ์โดย    :    แพรวสำนักพิมพ์พิมพ์ครั้งแรก    :    มีนาคม  ๒๕๔๘    
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : ช่อการะเกด ๔๒ ( ตุลาคม – ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๐ ) ประเภท : นิตยสารเรื่องสั้นและวรรณกรรมรายสามเดือน บรรณาธิการ : สุชาติ สวัสดิ์ศรี จัดพิมพ์โดย : พิมพ์บูรพา สาเหตุที่วรรณกรรมแนวเพื่อชีวิตยังคงมีลมหายใจอยู่ในหน้าหนังสือ มีหลายเหตุผลด้วยกัน เริ่มตั้งแต่ตัวนักเขียนเองที่อาจมีรสนิยม ความรู้สึกฝังใจต่อวรรณกรรมแนวนี้ว่าทรงพลังสามารถขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลง แก้ปัญหาสังคมได้ ในที่นี้ขอกล่าวถึงเหตุผลนี้เพียงประการเดียวก่อน คำว่า แนวเพื่อชีวิต ไม่ใช่ของเชยแน่หากเราได้อ่านเพื่อชีวิตน้ำดี ซึ่งเห็นว่าเรื่องนั้นต้องมีน้ำเสียงของความรับผิดชอบสังคมและตัวเองอย่างจริงใจของนักเขียน…
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ชื่อหนังสือ      :    เถ้าถ่านแห่งวารวัน    The Remains of the Day ประเภท            :    วรรณกรรมแปลจัดพิมพ์โดย    :    แพรวสำนักพิมพ์พิมพ์ครั้งที่ ๑    :    กุมภาพันธ์   ๒๕๔๙ผู้เขียน            :    คาสึโอะ  อิชิงุโระ ผู้แปล            :    นาลันทา  คุปต์
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ ชื่อหนังสือ      :    คลื่นทะเลใต้ประเภท    :    เรื่องสั้น    จัดพิมพ์โดย    :    สำนักพิมพ์นาครพิมพ์ครั้งแรก    :    ตุลาคม  พ.ศ. ๒๕๔๘  ผู้เขียน    :    กนกพงศ์  สงสมพันธุ์, จำลอง ฝั่งชลจิตร, ไพฑูรย์ ธัญญา, ประมวล มณีโรจน์, ขจรฤทธิ์ รักษา, ภิญโญ ศรีจำลอง, พนม นันทพฤกษ์, อัตถากร บำรุง เรื่องสั้นแนวเพื่อชีวิตในเล่ม คลื่นทะเลใต้เล่มนี้  ทุกเรื่องล้วนมีความต่าง…
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ชื่อหนังสือ : คลื่นทะเลใต้ประเภท : เรื่องสั้น    จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์นาครพิมพ์ครั้งแรก : ตุลาคม  พ.ศ. ๒๕๔๘  ผู้เขียน : กนกพงศ์  สงสมพันธุ์, จำลอง ฝั่งชลจิตร, ไพฑูรย์ ธัญญา, ประมวล มณีโรจน์, ขจรฤทธิ์ รักษา, ภิญโญ ศรีจำลอง, พนม นันทพฤกษ์, อัตถากร บำรุงวรรณกรรมประเภทเรื่องสั้นมีความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการตลอดเวลาถึงปัจจุบัน ในยุคหนึ่งเรื่องสั้นเคยเป็นวรรณกรรมที่สะท้อนสภาวะปัญหาสังคม สะท้อนภาพชนชั้นที่ถูกกดขี่ เอารัดเอาเปรียบ และยุคนั้นเราเคยรู้สึกว่าเรื่องสั้นเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถปฏิวัติเปลี่ยนแปลงสังคมได้…
สวนหนังสือ
‘พิณประภา ขันธวุธ’ ชื่อหนังสือ : ฉลามผู้แต่ง: ณัฐสวาสดิ์ หมั้นทรัพย์สำนักพิมพ์ : ระหว่างบรรทัดข้อดีของการอ่านิยายสักเรื่องคือได้เห็นตอนจบของเรื่องราวเหล่านั้นไม่จำเป็นเลย...ไม่จำเป็น...ที่จะต้องเดินย่ำไปรอยเดียวกับตัวละครเล่านั้นในขณะที่สังคมไทยกำลังเคลื่อนเข้าสู่ความเป็น “วัตถุนิยม” ที่เรียกว่า เป็นวัฒนธรรมอุปโภคบริโภค อย่างเต็มรูปแบบ ลัทธิสุขนิยม (hedonism) ก็เข้ามาแทบจะแยกไม่ออก ทำให้ความเป็น ปัจเจกบุคคล ชัดเจนขึ้นทุกขณะ ทั้งสามสิ่งที่เอ่ยไปนั้นคน สังคมไทยกำลัง โดดเดี่ยว เราเปิดเผยความโดดเดี่ยวนั้นด้วยรูปแบบของ ภาษาและถ้อยคำสำนวนที่สะท้อนโลกทัศน์ของความเป็นปัจเจกนิยมได้แก่ เอาตัวรอด…
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’  ชื่อหนังสือ      :    วิมานมายา  The house of the sleeping beautiesประเภท         :    วรรณกรรมแปลจัดพิมพ์โดย    :    สำนักพิมพ์ดอกหญ้าพิมพ์ครั้งที่ ๑   :    มิถุนายน ๒๕๓๐ผู้เขียน          :    ยาสึนาริ คาวาบาตะ ผู้แปล           :    วันเพ็ญ บงกชสถิตย์   
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ ชื่อหนังสือประเภทจัดพิมพ์โดยผู้ประพันธ์ผู้แปล:::::เปโดร  ปาราโม ( PEDRO  PARAMO )วรรณกรรมแปลสำนักพิมพ์โพเอม่าฮวน รุลโฟราอูล  การวิจารณ์วรรณกรรมนั้น บ่อยครั้งมักพบว่าบทวิจารณ์ไม่ได้ช่วยให้ผู้ที่ยังไม่ได้อ่านหรืออ่านวรรณกรรมเล่มนั้นแล้วได้เข้าใจถึงแก่นสาร สาระของเรื่องลึกซึ้งขึ้น แต่สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่บทวิจารณ์ต้องมีคือ การชี้ให้เห็นหรือตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับจุดเด่นสำคัญที่ไม่อาจละเลยได้ของวรรณกรรมเล่มนั้น วรรณกรรมที่ดีย่อมถ่ายทอดผ่านมุมมองอันละเอียดอ่อน ด้วยอารมณ์ประณีตของผู้ประพันธ์…