Skip to main content

นายยืนยง





ชื่อหนังสือ : เจ้าหญิงน้อย (A Little Princess)

ผู้เขียน : ฟรานเซส ฮอดจ์สัน เบอร์เน็ตต์ (Frances Hodgson Burnett)

ผู้แปล : เนื่องน้อย ศรัทธา

ประเภท : วรรณกรรมเยาวชน พิมพ์ครั้งที่ 3 กรกฎาคม 2545

จัดพิมพ์โดย : แพรวเยาวชน


ปีกลายที่ผ่านมา มีหนังสือขายดีติดอันดับเล่มหนึ่งที่สร้างกระแสให้เกิดการเขียนหนังสืออธิบาย เพื่อตอบสนองความสนใจผู้อ่านต่อเนื่องอีกหลายเล่ม ทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิเคราะห์เอย ด้านมายาจิตเอย ทำให้หลายคนหันมาสนใจเรื่องความคิดเป็นจริงเป็นจัง หนังสือเล่มดังกล่าวนั่นคงไม่เกินเลยความคาดหมาย มันคือ เดอะซีเคร็ต


ใครเคยอ่านบ้าง?

คนที่ไม่ชอบหนังสือแนวแนะนำวิธีการ หรือที่เรียกติดปากว่า ฮาวทู อาจขยับความชิงชังออกห่างไปนิด

แต่ก็ไม่มากหรอก เพราะอย่างไรมันก็คือ ฮาวทู วันยังค่ำ ต่อให้ผู้แปลเป็นดั่งดาวกระจ่างฟ้า เนื้อนัยก็ไม่อาจเทียบรัศมี


ส่วนใคร ๆ ที่อ่านวรรณกรรมจะตอบได้ทันทีว่า เดอะซีเคร็ต เป็นหนังสือสุดเชย และไม่ใช่ของเก่า ประเภทหมักบ่มมาสองชั่วอายุคน แล้วเพิ่งถูกค้นพบจนฮือฮากันไม่เลิก ก็เพราะในวรรณกรรมเยาวชน เรื่อง

เจ้าหญิงน้อย (A Little Princess) ของ ฟรานเซส ฮอดจ์สัน เบอร์เน็ตต์ (Frances Hodgson Burnett) ที่เนื่องน้อย ศรัทธา แปลเอาไว้ มีเรื่องราวเดียวกับ หรือคล้ายคลึงกับ เดอะซีเคร็ตเป็นแก่นเรื่อง หนำซ้ำ

เจ้าหญิงน้อยเรื่องนี้ยังอ่านได้อรรถรส น่ารื่นรมย์กว่ากันเยอะ ใครที่เคยอ่านเดอะซีเคร็ตจะรู้สึกเหมือนถูกครอบงำอยู่ตลอดทั้งแต่อักษรตัวแรก


ส่วนใครที่มีวรรณกรรมเยาวชนเรื่อง เจ้าชายน้อย อยู่ในลิ้นชักความทรงจำล่ะก็ ขอฝากให้วาง

เจ้าหญิงน้อย เข้าไปเคียงคู่กันอีกเล่ม เนื่องจาก หนูน้อยซาร่า ครูว์ ก็น่าเอ็นดูไม่แพ้กัน ถึงจะไม่ค่อยมีใครนิยมชื่นชมในแง่ของปรัชญา แต่อ่านแล้วอิ่มเอม ตื้นตัน และอาจทำให้หวนคิดถึงสัจธรรมแบบที่เราหลงลืมไปแล้ว


เจ้าหญิงน้อยของเรา ไม่ได้เป็นเจ้าหญิงโดยชาติกำเนิด เพียงแต่เธอเป็นลูกสาวคนเดียวของนายทหารผู้มีอันจะกิน มีบริวารรับใช้ พรั่งพร้อมบริบูรณ์เท่าที่มนุษย์คนหนึ่งจะมีได้ เว้นก็แต่ เธอไม่มีแม่


ซาร่าอายุสิบสอง เป็นเด็กเฉลียวฉลาดเกินวัย แต่ที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ เธอมีจินตนาการบรรเจิด และจินตนาการนี้เองที่ทำให้ชีวิตของเธอห่อหุ่มไว้ด้วยความสุข เป็นจินตนาการที่นึกคิดอย่างเป็นจริงเป็นจัง ต่อเนื่องตลอดเวลา ไม่เท่านั้น เธอยังเล่าให้เพื่อน ๆ ฟังถึงเรื่องราวเหล่านั้นอีกด้วย ซึ่งทุกคนที่ได้ฟังล้วนติดอกติดใจนิทานแสนสนุกของเธอทั้งนั้น


เรื่องเปิดขึ้นมาเมื่อซาร่าเดินทางจากอินเดียเพื่อเข้าโรงเรียนประจำในอังกฤษ การเดินทางครั้งนี้เท่ากับได้เปิดประตูให้เธอก้าวไปเผชิญโลกโดยปราศจากผู้เป็นพ่อ ญาติทางสายโลหิตคนเดียวในโลก ที่โรงเรียนเธอมีชีวิตประดุจเจ้าหญิง มีห้องส่วนตัว มีคนคอยดูแลรับใช้ มีเสื้อผ้าหรูหรา ตกแต่งห้องส่วนตัวอย่างสุดวิเศษ ที่โรงเรียนนี้เองที่เป็นเสมือนโรงอุปรากรที่มีซาร่ารับบทเป็นเจ้าหญิง


กล่าวถึงการเป็นเจ้าหญิงของซาร่าสักนิด เธอมีจริยวัตรเพียบพร้อมจนไม่น่าเชื่อว่า เจ้าหญิงจริง ๆ จะเป็นได้เท่านี้ด้วยซ้ำ มองในแง่ของอุดมคติ ซาร่าเป็นตัวแทนของความดีงามสูงส่ง เธอเสียสละ มีเมตตา โอบอ้อมอารี ขณะเดียวกันก็กล้าหาญแข็งแกร่ง และเฉลียวฉลาด แต่แล้วเมื่อพ่อของเธอที่อินเดียได้ทำลงทุนไปกับธุรกิจเหมืองเพชรร่วมกับเพื่อนรัก เขาก็ทำให้ทุกอย่างพลิกผัน ซาร่าต้องหมดสิ้นทุกอย่างที่ชีวิตอย่างเจ้าหญิงเคยมี เมื่อเหมืองล้มละลายและสูญเสียพ่อ


ซาร่ามีชีวิตอยู่ได้อย่างไรโดยที่เธอยังเป็นเจ้าหญิงอยู่เหมือนเดิม โดยที่ไม่มีห้องส่วนตัว ไร้เสื้อผ้าหรูหรา และไม่ได้อยู่ในฐานะนักเรียนอีกต่อไป เธอต้องทำงานหนักแลกกับอาหารน้อยนิดและห้องอับ ๆ ที่ใต้หลังคา เธอบอกกับเบ็คกี้ เด็กหญิงรับใช้ว่า

เบ็คกี้ จำได้ไหมที่ฉันเคยบอกเธอว่า เราเป็นเพียงแค่เด็กหญิงเล็ก ๆ –เหมือนกัน—เป็นแค่เด็กหญิงเล็ก ๆ สองคน—เธอเห็นแล้วใช่ไหม ตอนนี้เราไม่มีอะไรแตกต่างกันแล้ว ฉันไม่ใช่เจ้าหญิงน้อยอีกต่อไปแล้ว”


เบ็คกี้บอกว่า “ไม่จริงค่ะคุณหนู” เบ็คกี้ร้องไห้ “คุณหนูยังเป็นเจ้าหญิงน้อยเสมอ—ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น—ไม่ว่าอะไรทั้งนั้น –คุณหนูจะเป็นเจ้าหญิงตลอดไป—ไม่มีอะไรมาเปลี่ยนแปลงได้”


ตลอดเวลาที่ชะตากรรมพลิกผันทำให้เจ้าหญิงน้อยซาร่ากลายเป็นเด็กหญิงรับใช้ประจำโรงเรียน บรรดาผองเพื่อนที่เคยชื่นชมก็แปรเปลี่ยน ยกเว้นเบ็คกี้ เด็กหญิงรับใช้คนเดิม เพื่อนรักของเธอ เออร์เมนการ์ด

และเด็กหญิงล็อตตี้


เมื่อเออร์เมนการ์ดพบว่าซาร่าเพื่อนรักตกอยู่ในสภาพเช่นไรในห้องใต้หลังคาอันอุดอู้ ไม่มีแม้กระทั่งถ่านหินจะจุดไฟให้สว่างอบอุ่น เธอถามซาร่าว่า (หน้า 121)


ฉันไม่เห็นว่ามันจะดีตรงไหน”

ฉันก็เหมือนกัน—ถ้าจะพูดกันตรง ๆ ” ซาร่ายอมรับ “แต่ฉันคิดว่าน่าจะมีความดีในสิ่งต่าง ๆ แม้ว่าเราจะมองไม่เห็นก็ตาม ... ”

เออร์เมนการ์ดมองดูไปรอบ ๆ ห้องใต้หลังคาด้วยความสงสัยใคร่รู้และหวั่นกลัว

ซาร่า เธอคิดว่าเธอทนอยู่ที่นี่ต่อไปได้หรือ” เออร์เมนการ์ดถาม

ถ้าฉันสมมุติได้ ฉันก็อยู่ได้” แกตอบ “ฉันอาจจะสมมุติว่าที่นี่เป็นสถานที่ในนิทานสักเรื่องก็ได้”

เด็กหญิงพูดช้า ๆ จินตนาการของแกเริ่มทำงาน มันไม่ได้ทำงานอีกเลยนับตั้งแต่เรื่องเลวร้ายเกิดขึ้น


ตลอดเวลาแห่งความทุกข์ระทมที่ดำมืดนั้น ซาร่าจินตนาการถึงความสวยงาม ความสุขตามแบบของเธอ ไม่ว่าในยามหลับยามตื่น จินตนาการนี้เองที่ทำให้ชีวิตไม่อับจนหนทาง ทำให้มีพลังอบอุ่น ทำให้หัวใจของเด็กน้อยไม่อ้างว้างจนเกิดไป เพราะเรื่องที่สมมุติขึ้นนั้นได้เฝ้าปลอบโยนเธอ หล่อเลี้ยงด้วยความหวังที่จะได้พบเจอกับแสงสว่าง


ตรงนี้เองที่วรรณกรรมเยาวชนเรื่องนี้บอกกับเราอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า ต้องคิดให้ได้ว่า... เพื่อเราจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อย่างกล้าหาญ ซึ่งไปพ้องกับหนังสือเดอะซีเคร็ตได้บอกเราชัดเจนถึงเรื่องของ การคิด และความคิดอย่างเป็นระบบ แต่หนังสือฮาวทูเล่มนี้มุ่งเน้นไปที่การตั้งความหวังเพื่อตัวเอง เพื่อความสุข ความสำเร็จส่วนตัว หาใช่เพื่อจะได้เป็นเจ้าหญิงอย่างซาร่า เจ้าหญิงที่แท้จริง ยอมทนทุกข์ทรมานเพื่อคนอื่น มองเห็น และรู้สึกรู้สาไปกับทุกข์ของคนอื่น ไม่ใช่เพื่อตัวเอง


เมื่อครูใหญ่ถอดซาร่าออกจากการเป็นนักเรียนผู้ทรงเกียรติ เธอต้องรับบทหนักด้วยการงานที่เกินกำลังเด็ก ได้รับแต่คำดุด่าว่ากล่าวอย่างเจ็บแสบนั้น เธอพยายามอดทนอย่างหนัก และเสริมกำลังใจให้ตัวเองด้วยความคิดว่า

ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็เปลี่ยนสิ่งหนึ่งไม่ได้” แกพูด “ถ้าฉันจะเป็นเจ้าหญิงนุ่งผ้าขี้ริ้วขาด ๆ ฉันก็ยังคงเป็นเจ้าหญิง การเป็นเจ้าหญิงเพราะมีเสื้อผ้าสวยงามสวมใส่เป็นเรื่องง่าย แต่การเป็นเจ้าหญิงอยู่ตลอดเวลาโดยไม่มีใครรู้เป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่กว่า...” (หน้า 162) ประดุจเป็นการตั้งปณิธานต่ออุดมคติที่จะได้เป็นเจ้าหญิงที่แท้จริง


และแล้วผู้ที่ย้ายเข้ามาอยู่ใหม่ห้องติดกันซึ่งเป็นสุภาพบุรุษชาวอินเดียนั่นเอง ที่เข้ามาสร้างปาฏิหาริย์ให้บังเกิดขึ้นแก่เจ้าหญิงตกอับ ชีวิตของซาร่าจะพลิกผันอีกครั้งอย่างไร อุดมคติจะยืนหยัดอยู่ได้ตลอดรอดฝั่งแค่ไหน ต้องลองหามาอ่าน แต่ที่แน่ ๆ ความงดงามปลาบปลื้มจะช่วยชุบชูพลังชีวิตของเราไปพร้อมกับซาร่าด้วย


แม้วรรณกรรมเยาวชนเรื่องนี้จะมีเค้าโครงเรื่องที่แสนธรรมดา คือ มีจุดพลิกผันและจบลงตามขนบของเรื่องแต่ง แต่พลังลึกลับบางอย่างที่แฝงอยู่ภายในกลับเป็นเรื่องไม่ธรรมดา


บ่อยครั้งจะพบว่า เราเรียกร้องให้วรรณกรรมตอบสนองความต้องการอย่างไม่หยุดหย่อน เช่น ต้องรับใช้สังคม รับใช้อุดมคติ หรือดูแลอารมณ์ของสังคม อะไรทำนองที่ดูดี ดูเคร่งขรึม ขณะเดียวกันวรรณกรรมบางเรื่องที่ไม่ได้รับใช้อะไรเลย นอกจากตอบสนองความต้องการของนักเขียน โดยไม่รีรอจะบีบคั้น เร่งรัด บรรดาผู้ที่อ่านมา ราวกับเราเป็นนักโทษ อีกทั้งยังต้องแบกคำถามที่เคี่ยวเค้นเราจนตลอดเรื่อง

อย่างไรก็แล้วแต่ วรรณกรรมย่อมมีจุดคลี่คลายในตัวเอง ต่างแต่ว่าเรื่องใดจะทำหน้าที่นี้ได้มากน้อยกว่ากัน

ผู้อ่านจะเป็นฝ่ายก้าวเข้ามาพิจารณาด้วยตนเอง


ต่างแต่ว่าใครจะพิจารณาแล้วนำไปใช้ประโยชน์เพื่อตัวเองมากจนเบียดบังจนมองไม่เห็นคนรอบข้าง

ที่สาหัสกว่านั้น คือ การตีความจากสิ่งเดียวกันแล้วนำไปแสวงหาผลความดีงามสูงส่งเพื่อปรนเปรอตัวเองกระทั่งหลงงมงายอยู่ในมายาภาพนั้นจนไม่รู้ตัว.


บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
นายยืนยง ถ้าเปรียบสวนหนังสือเหมือนผืนดินแห่งหนึ่งแล้วล่ะก็ ผู้เขียนเองก็ได้แสดงความคิดเห็นต่อหนังสือ จากการอ่านผลงานทางวรรณกรรมของบรรดานักประพันธ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะรูปแบบเรื่องสั้น นวนิยาย หรือกระทั่งกวีนิพนธ์บางเล่ม ข้อเขียนที่มีต่อหนังสือบางเล่มหรือเรื่องบางเรื่อง อาจแบ่งเป็นผลรับตามสูตรคณิตศาสตร์ได้ไม่ชัดเจน ใช้หลักต้องใจต้องอารมณ์และความนึกหวังเป็นหลักก็ว่าได้
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ : จักรวาลผลัดใบ การเกิดใหม่ของจิตสำนึก ผู้เขียน : กลุ่มจิตวิวัฒน์ ประเภท : ความเรียง พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ.2549 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์มติชน  
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ           :           ชะบน ผู้เขียน               :           ธีระยุทธ  ดาวจันทึก ประเภท              :           นวนิยาย   พิมพ์ครั้งที่ 1 เมษายน 2537 จัดพิมพ์โดย        :    …
สวนหนังสือ
นายยืนยง  ชื่อหนังสือ : มนุษย์หมาป่า ผู้แต่ง : เจน ไรซ์ ผู้แปล : แดนอรัญ แสงทอง จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์หนึ่ง พิมพ์ครั้งแรก : สิงหาคม 2552
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ : บันทึกนกไขลาน (The Wind-up Bird Chronicle) ผู้เขียน : ฮารูกิ มูราคามิ (Haruki Murakami) ผู้แปล : นพดล เวชสวัสดิ์ พิมพ์ครั้งที่ 1 : กันยายน 2549 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์แม่ไก่ขยัน   “หนูอยาก...อยากจะได้มีดผ่าตัดสักเล่ม หนูจะกรีดผ่า ชะโงกหน้าเข้าไปมองข้างใน ไม่ใช่ผ่าศพคนนะ... แค่ก้อนเนื้อแห่งความตาย หนูแน่ใจว่าจะต้องมีอะไรสักอย่างซ่อนอยู่ในนั้น ก้อนกลมเหนียวหยุ่นเหมือนลูกซอฟต์บอล แก่นกลางแข็งเป็นเส้นประสาทพันขดแน่น หนูอยากหยิบออกมาจากร่างคนตาย เอาก้อนนั้นมาผ่าดู อยากรู้ว่าเป็นอะไรกันแน่... (ภาคหนึ่ง, หน้า 36)
สวนหนังสือ
นายยืนยง  เมื่อวานนี้เอง ฉันเพิ่งถามตัวเองอย่างจริงจัง แบบไม่อิงค่านิยมใด ๆ ถามออกมาจากตัวของความรู้สึกอันแท้จริง ณ เวลานี้ว่า ทำไมฉันชอบอ่านวรรณกรรมมากที่สุดในบรรดาหนังสือทั้งหลาย คุณเคยถามตัวเองด้วยคำถามเดียวกันนี้หรือเปล่า
สวนหนังสือ
นายยืนยง ฉันวาดหวังสวยหรูไว้กับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงบนผืนดินห้าไร่เศษ ที่ดินผืนสวยซึ่งพรั่งพร้อมไปด้วยปัจจัยแห่งกสิกรรม มีไม้ใหญ่ให้ร่มเงา มีบ่อน้ำขนาดใหญ่สองบ่อ และกระท่อมน้อยบนเนินเตี้ย ๆ รายล้อมไปด้วยทุ่งข้าวเขียวขจี แต่ระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน มายาแห่งหวังก็พังทลายลงต่อหน้าต่อตา ฉันจำเก็บข่มความขมขื่นไว้กับชีวิตใหม่ ในที่พำนักใหม่ ซึ่งไม่ใช่ผืนดินแห่งนี้
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ  : ความมั่งคั่งปฏิวัติ Revolutionary Wealth ผู้เขียน  : Alvin Toffler, Heidi Toffler ผู้แปล  : สฤณี  อาชวานันทกุล จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์มติชน   พิมพ์ครั้งที่ 2  มกราคม  2552
สวนหนังสือ
  และแล้วรางวัลซีไรต์ปี 2552 รอบของนวนิยายก็ประกาศผลแล้ว ปรากฏเป็นผลงานนวนิยายเรื่อง ลับแลแก่งคอย ของอุทิศ เหมะมูล โดยแพรวสำนักพิมพ์เป็นผู้จัดพิมพ์ (ประกาศผลเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2552 ที่ผ่านมา)ใครเชียร์เล่มนี้ก็ได้ไชโยกัน ฉันเองก็มีเล่มนี้เป็นหนึ่งในหลายเล่มด้วย รู้สึกสะใจลึก ๆ ที่อุทิศได้ซีไรต์ เนื่องจากเคยเชื่อว่า งานดี ๆ อย่างที่ใจเราคิดมักพลาดซีไรต์เป็นเนืองนิตย์ ผิดกับคราวนี้ที่งานดี ๆ ของนักเขียน "อย่างอุทิศ" ได้รางวัล
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ           :           นัยน์ตาของโคเสี่ยงทาย ผู้แต่ง                 :           วิสุทธิ์ ขาวเนียม ประเภท              :           กวีนิพนธ์รางวัลนายอินทร์อะวอร์ดครั้งที่ 10 จัดพิมพ์โดย        : …
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ : ลับแล, แก่งคอยผู้แต่ง : อุทิศ เหมะมูลประเภท : นวนิยายจัดพิมพ์โดย : แพรวสำนักพิมพ์ พิมพ์ครั้งแรก 2552
สวนหนังสือ
  นายยืนยงชื่อหนังสือ : ประเทศใต้ผู้เขียน : ชาคริต โภชะเรืองประเภท : นวนิยาย พิมพ์ครั้งที่ 1 มีนาคม 2552จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ก๊วนปาร์ตี้ ข้อเด่นอย่างแรกที่เห็นได้ชัดจากนวนิยายเรื่องประเทศใต้ หนึ่งในผลงานที่เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ปีนี้ คือ วิธีการดำเนินเรื่องที่กระโดดข้าม สลับกลับไปมา อย่างไม่อาจระบุว่าใช้รูปแบบความสัมพันธ์ใด ๆ ตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง หรืออย่างที่สกุล บุณยทัต เรียกในบทวิจารณ์ว่า "ไร้ระเบียบ" แต่อย่าลืมว่านวนิยายเรื่องนี้ได้เริ่มต้นที่ "ชื่อ" ของนวนิยาย ซึ่งในบทนำได้บอกไว้ว่า "ผม" ได้รับต้นฉบับนวนิยายเรื่องหนึ่งจาก "เขา" ในฐานะที่เป็นคนรู้จักกัน มันมีชื่อเรื่องว่า…