Skip to main content

นายยืนยง





ชื่อหนังสือ : เจ้าหญิงน้อย (A Little Princess)

ผู้เขียน : ฟรานเซส ฮอดจ์สัน เบอร์เน็ตต์ (Frances Hodgson Burnett)

ผู้แปล : เนื่องน้อย ศรัทธา

ประเภท : วรรณกรรมเยาวชน พิมพ์ครั้งที่ 3 กรกฎาคม 2545

จัดพิมพ์โดย : แพรวเยาวชน


ปีกลายที่ผ่านมา มีหนังสือขายดีติดอันดับเล่มหนึ่งที่สร้างกระแสให้เกิดการเขียนหนังสืออธิบาย เพื่อตอบสนองความสนใจผู้อ่านต่อเนื่องอีกหลายเล่ม ทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิเคราะห์เอย ด้านมายาจิตเอย ทำให้หลายคนหันมาสนใจเรื่องความคิดเป็นจริงเป็นจัง หนังสือเล่มดังกล่าวนั่นคงไม่เกินเลยความคาดหมาย มันคือ เดอะซีเคร็ต


ใครเคยอ่านบ้าง?

คนที่ไม่ชอบหนังสือแนวแนะนำวิธีการ หรือที่เรียกติดปากว่า ฮาวทู อาจขยับความชิงชังออกห่างไปนิด

แต่ก็ไม่มากหรอก เพราะอย่างไรมันก็คือ ฮาวทู วันยังค่ำ ต่อให้ผู้แปลเป็นดั่งดาวกระจ่างฟ้า เนื้อนัยก็ไม่อาจเทียบรัศมี


ส่วนใคร ๆ ที่อ่านวรรณกรรมจะตอบได้ทันทีว่า เดอะซีเคร็ต เป็นหนังสือสุดเชย และไม่ใช่ของเก่า ประเภทหมักบ่มมาสองชั่วอายุคน แล้วเพิ่งถูกค้นพบจนฮือฮากันไม่เลิก ก็เพราะในวรรณกรรมเยาวชน เรื่อง

เจ้าหญิงน้อย (A Little Princess) ของ ฟรานเซส ฮอดจ์สัน เบอร์เน็ตต์ (Frances Hodgson Burnett) ที่เนื่องน้อย ศรัทธา แปลเอาไว้ มีเรื่องราวเดียวกับ หรือคล้ายคลึงกับ เดอะซีเคร็ตเป็นแก่นเรื่อง หนำซ้ำ

เจ้าหญิงน้อยเรื่องนี้ยังอ่านได้อรรถรส น่ารื่นรมย์กว่ากันเยอะ ใครที่เคยอ่านเดอะซีเคร็ตจะรู้สึกเหมือนถูกครอบงำอยู่ตลอดทั้งแต่อักษรตัวแรก


ส่วนใครที่มีวรรณกรรมเยาวชนเรื่อง เจ้าชายน้อย อยู่ในลิ้นชักความทรงจำล่ะก็ ขอฝากให้วาง

เจ้าหญิงน้อย เข้าไปเคียงคู่กันอีกเล่ม เนื่องจาก หนูน้อยซาร่า ครูว์ ก็น่าเอ็นดูไม่แพ้กัน ถึงจะไม่ค่อยมีใครนิยมชื่นชมในแง่ของปรัชญา แต่อ่านแล้วอิ่มเอม ตื้นตัน และอาจทำให้หวนคิดถึงสัจธรรมแบบที่เราหลงลืมไปแล้ว


เจ้าหญิงน้อยของเรา ไม่ได้เป็นเจ้าหญิงโดยชาติกำเนิด เพียงแต่เธอเป็นลูกสาวคนเดียวของนายทหารผู้มีอันจะกิน มีบริวารรับใช้ พรั่งพร้อมบริบูรณ์เท่าที่มนุษย์คนหนึ่งจะมีได้ เว้นก็แต่ เธอไม่มีแม่


ซาร่าอายุสิบสอง เป็นเด็กเฉลียวฉลาดเกินวัย แต่ที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ เธอมีจินตนาการบรรเจิด และจินตนาการนี้เองที่ทำให้ชีวิตของเธอห่อหุ่มไว้ด้วยความสุข เป็นจินตนาการที่นึกคิดอย่างเป็นจริงเป็นจัง ต่อเนื่องตลอดเวลา ไม่เท่านั้น เธอยังเล่าให้เพื่อน ๆ ฟังถึงเรื่องราวเหล่านั้นอีกด้วย ซึ่งทุกคนที่ได้ฟังล้วนติดอกติดใจนิทานแสนสนุกของเธอทั้งนั้น


เรื่องเปิดขึ้นมาเมื่อซาร่าเดินทางจากอินเดียเพื่อเข้าโรงเรียนประจำในอังกฤษ การเดินทางครั้งนี้เท่ากับได้เปิดประตูให้เธอก้าวไปเผชิญโลกโดยปราศจากผู้เป็นพ่อ ญาติทางสายโลหิตคนเดียวในโลก ที่โรงเรียนเธอมีชีวิตประดุจเจ้าหญิง มีห้องส่วนตัว มีคนคอยดูแลรับใช้ มีเสื้อผ้าหรูหรา ตกแต่งห้องส่วนตัวอย่างสุดวิเศษ ที่โรงเรียนนี้เองที่เป็นเสมือนโรงอุปรากรที่มีซาร่ารับบทเป็นเจ้าหญิง


กล่าวถึงการเป็นเจ้าหญิงของซาร่าสักนิด เธอมีจริยวัตรเพียบพร้อมจนไม่น่าเชื่อว่า เจ้าหญิงจริง ๆ จะเป็นได้เท่านี้ด้วยซ้ำ มองในแง่ของอุดมคติ ซาร่าเป็นตัวแทนของความดีงามสูงส่ง เธอเสียสละ มีเมตตา โอบอ้อมอารี ขณะเดียวกันก็กล้าหาญแข็งแกร่ง และเฉลียวฉลาด แต่แล้วเมื่อพ่อของเธอที่อินเดียได้ทำลงทุนไปกับธุรกิจเหมืองเพชรร่วมกับเพื่อนรัก เขาก็ทำให้ทุกอย่างพลิกผัน ซาร่าต้องหมดสิ้นทุกอย่างที่ชีวิตอย่างเจ้าหญิงเคยมี เมื่อเหมืองล้มละลายและสูญเสียพ่อ


ซาร่ามีชีวิตอยู่ได้อย่างไรโดยที่เธอยังเป็นเจ้าหญิงอยู่เหมือนเดิม โดยที่ไม่มีห้องส่วนตัว ไร้เสื้อผ้าหรูหรา และไม่ได้อยู่ในฐานะนักเรียนอีกต่อไป เธอต้องทำงานหนักแลกกับอาหารน้อยนิดและห้องอับ ๆ ที่ใต้หลังคา เธอบอกกับเบ็คกี้ เด็กหญิงรับใช้ว่า

เบ็คกี้ จำได้ไหมที่ฉันเคยบอกเธอว่า เราเป็นเพียงแค่เด็กหญิงเล็ก ๆ –เหมือนกัน—เป็นแค่เด็กหญิงเล็ก ๆ สองคน—เธอเห็นแล้วใช่ไหม ตอนนี้เราไม่มีอะไรแตกต่างกันแล้ว ฉันไม่ใช่เจ้าหญิงน้อยอีกต่อไปแล้ว”


เบ็คกี้บอกว่า “ไม่จริงค่ะคุณหนู” เบ็คกี้ร้องไห้ “คุณหนูยังเป็นเจ้าหญิงน้อยเสมอ—ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น—ไม่ว่าอะไรทั้งนั้น –คุณหนูจะเป็นเจ้าหญิงตลอดไป—ไม่มีอะไรมาเปลี่ยนแปลงได้”


ตลอดเวลาที่ชะตากรรมพลิกผันทำให้เจ้าหญิงน้อยซาร่ากลายเป็นเด็กหญิงรับใช้ประจำโรงเรียน บรรดาผองเพื่อนที่เคยชื่นชมก็แปรเปลี่ยน ยกเว้นเบ็คกี้ เด็กหญิงรับใช้คนเดิม เพื่อนรักของเธอ เออร์เมนการ์ด

และเด็กหญิงล็อตตี้


เมื่อเออร์เมนการ์ดพบว่าซาร่าเพื่อนรักตกอยู่ในสภาพเช่นไรในห้องใต้หลังคาอันอุดอู้ ไม่มีแม้กระทั่งถ่านหินจะจุดไฟให้สว่างอบอุ่น เธอถามซาร่าว่า (หน้า 121)


ฉันไม่เห็นว่ามันจะดีตรงไหน”

ฉันก็เหมือนกัน—ถ้าจะพูดกันตรง ๆ ” ซาร่ายอมรับ “แต่ฉันคิดว่าน่าจะมีความดีในสิ่งต่าง ๆ แม้ว่าเราจะมองไม่เห็นก็ตาม ... ”

เออร์เมนการ์ดมองดูไปรอบ ๆ ห้องใต้หลังคาด้วยความสงสัยใคร่รู้และหวั่นกลัว

ซาร่า เธอคิดว่าเธอทนอยู่ที่นี่ต่อไปได้หรือ” เออร์เมนการ์ดถาม

ถ้าฉันสมมุติได้ ฉันก็อยู่ได้” แกตอบ “ฉันอาจจะสมมุติว่าที่นี่เป็นสถานที่ในนิทานสักเรื่องก็ได้”

เด็กหญิงพูดช้า ๆ จินตนาการของแกเริ่มทำงาน มันไม่ได้ทำงานอีกเลยนับตั้งแต่เรื่องเลวร้ายเกิดขึ้น


ตลอดเวลาแห่งความทุกข์ระทมที่ดำมืดนั้น ซาร่าจินตนาการถึงความสวยงาม ความสุขตามแบบของเธอ ไม่ว่าในยามหลับยามตื่น จินตนาการนี้เองที่ทำให้ชีวิตไม่อับจนหนทาง ทำให้มีพลังอบอุ่น ทำให้หัวใจของเด็กน้อยไม่อ้างว้างจนเกิดไป เพราะเรื่องที่สมมุติขึ้นนั้นได้เฝ้าปลอบโยนเธอ หล่อเลี้ยงด้วยความหวังที่จะได้พบเจอกับแสงสว่าง


ตรงนี้เองที่วรรณกรรมเยาวชนเรื่องนี้บอกกับเราอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า ต้องคิดให้ได้ว่า... เพื่อเราจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อย่างกล้าหาญ ซึ่งไปพ้องกับหนังสือเดอะซีเคร็ตได้บอกเราชัดเจนถึงเรื่องของ การคิด และความคิดอย่างเป็นระบบ แต่หนังสือฮาวทูเล่มนี้มุ่งเน้นไปที่การตั้งความหวังเพื่อตัวเอง เพื่อความสุข ความสำเร็จส่วนตัว หาใช่เพื่อจะได้เป็นเจ้าหญิงอย่างซาร่า เจ้าหญิงที่แท้จริง ยอมทนทุกข์ทรมานเพื่อคนอื่น มองเห็น และรู้สึกรู้สาไปกับทุกข์ของคนอื่น ไม่ใช่เพื่อตัวเอง


เมื่อครูใหญ่ถอดซาร่าออกจากการเป็นนักเรียนผู้ทรงเกียรติ เธอต้องรับบทหนักด้วยการงานที่เกินกำลังเด็ก ได้รับแต่คำดุด่าว่ากล่าวอย่างเจ็บแสบนั้น เธอพยายามอดทนอย่างหนัก และเสริมกำลังใจให้ตัวเองด้วยความคิดว่า

ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็เปลี่ยนสิ่งหนึ่งไม่ได้” แกพูด “ถ้าฉันจะเป็นเจ้าหญิงนุ่งผ้าขี้ริ้วขาด ๆ ฉันก็ยังคงเป็นเจ้าหญิง การเป็นเจ้าหญิงเพราะมีเสื้อผ้าสวยงามสวมใส่เป็นเรื่องง่าย แต่การเป็นเจ้าหญิงอยู่ตลอดเวลาโดยไม่มีใครรู้เป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่กว่า...” (หน้า 162) ประดุจเป็นการตั้งปณิธานต่ออุดมคติที่จะได้เป็นเจ้าหญิงที่แท้จริง


และแล้วผู้ที่ย้ายเข้ามาอยู่ใหม่ห้องติดกันซึ่งเป็นสุภาพบุรุษชาวอินเดียนั่นเอง ที่เข้ามาสร้างปาฏิหาริย์ให้บังเกิดขึ้นแก่เจ้าหญิงตกอับ ชีวิตของซาร่าจะพลิกผันอีกครั้งอย่างไร อุดมคติจะยืนหยัดอยู่ได้ตลอดรอดฝั่งแค่ไหน ต้องลองหามาอ่าน แต่ที่แน่ ๆ ความงดงามปลาบปลื้มจะช่วยชุบชูพลังชีวิตของเราไปพร้อมกับซาร่าด้วย


แม้วรรณกรรมเยาวชนเรื่องนี้จะมีเค้าโครงเรื่องที่แสนธรรมดา คือ มีจุดพลิกผันและจบลงตามขนบของเรื่องแต่ง แต่พลังลึกลับบางอย่างที่แฝงอยู่ภายในกลับเป็นเรื่องไม่ธรรมดา


บ่อยครั้งจะพบว่า เราเรียกร้องให้วรรณกรรมตอบสนองความต้องการอย่างไม่หยุดหย่อน เช่น ต้องรับใช้สังคม รับใช้อุดมคติ หรือดูแลอารมณ์ของสังคม อะไรทำนองที่ดูดี ดูเคร่งขรึม ขณะเดียวกันวรรณกรรมบางเรื่องที่ไม่ได้รับใช้อะไรเลย นอกจากตอบสนองความต้องการของนักเขียน โดยไม่รีรอจะบีบคั้น เร่งรัด บรรดาผู้ที่อ่านมา ราวกับเราเป็นนักโทษ อีกทั้งยังต้องแบกคำถามที่เคี่ยวเค้นเราจนตลอดเรื่อง

อย่างไรก็แล้วแต่ วรรณกรรมย่อมมีจุดคลี่คลายในตัวเอง ต่างแต่ว่าเรื่องใดจะทำหน้าที่นี้ได้มากน้อยกว่ากัน

ผู้อ่านจะเป็นฝ่ายก้าวเข้ามาพิจารณาด้วยตนเอง


ต่างแต่ว่าใครจะพิจารณาแล้วนำไปใช้ประโยชน์เพื่อตัวเองมากจนเบียดบังจนมองไม่เห็นคนรอบข้าง

ที่สาหัสกว่านั้น คือ การตีความจากสิ่งเดียวกันแล้วนำไปแสวงหาผลความดีงามสูงส่งเพื่อปรนเปรอตัวเองกระทั่งหลงงมงายอยู่ในมายาภาพนั้นจนไม่รู้ตัว.


บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ                     :    เค้าขวัญวรรณกรรมผู้เขียน                         :    เขมานันทะพิมพ์ครั้งที่สอง (ฉบับปรับปรุง) ตุลาคม ๒๕๔๓     :    สำนักพิมพ์ศยาม  
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ชื่อนิตยสาร      :    ฅ คน ปีที่ ๓  ฉบับที่ ๕ (๒๔)  มีนาคม ๒๕๕๑บรรณาธิการ     :    กฤษกร  วงค์กรวุฒิเจ้าของ           :    บริษัท ทีวีบูรพา จำกัด
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ ชะตากรรมของสังคมฝากความหวังไว้กับวรรณกรรมเพื่อชีวิตเห็นจะไม่ได้เสียแล้ว  หากเมื่อความเป็นไปหรือกลไกการเคลื่อนไหวของสังคมถูกนักเขียนมองสรุปอย่างง่ายเกินไป  ดังนั้นคงไม่แปลกที่ผลงานเหล่านั้นถูกนักอ่านมองผ่านอย่างง่ายเช่นกัน  เพราะนอกจากจะเชยเร่อร่าแล้ว ยังเศร้าสลด ชวนให้หดหู่...จนเกือบสิ้นหวังไม่ว่าโลกจะเศร้าได้มากแค่ไหน ก็ไม่ได้หมายรวมว่าเราจะใช้ชีวิตอยู่แต่กับโลกแห่งความเศร้าใช่หรือไม่? เพราะบ่อยครั้งเราพบว่าความเศร้าก็ไม่ใช่ความทุกข์ที่ไร้แสงสว่าง  ความคาดหวังดังกล่าวจุดประกายขึ้นต่อฉัน เมื่อตั้งใจจะอ่านรวมเรื่องสั้น โลกใบเก่ายังเศร้าเหมือนเดิม ของ…
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ       :    รายงานจากหมู่บ้าน       ประเภท         :    กวีนิพนธ์     ผู้เขียน         :    กานติ ณ ศรัทธา    จัดพิมพ์โดย     :    สำนักพิมพ์ใบไม้ผลิพิมพ์ครั้งแรก      :    มีนาคม  พ.ศ. ๒๕๕๐เขียนบทวิจารณ์     :    นายยืนยง
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ      :    ลิกอร์ พวกเขาเปลี่ยนไปประเภท    :    เรื่องสั้น    ผู้เขียน    :    จำลอง  ฝั่งชลจิตรจัดพิมพ์โดย    :    แพรวสำนักพิมพ์พิมพ์ครั้งแรก    :    มีนาคม  ๒๕๔๘    
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : ช่อการะเกด ๔๒ ( ตุลาคม – ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๐ ) ประเภท : นิตยสารเรื่องสั้นและวรรณกรรมรายสามเดือน บรรณาธิการ : สุชาติ สวัสดิ์ศรี จัดพิมพ์โดย : พิมพ์บูรพา สาเหตุที่วรรณกรรมแนวเพื่อชีวิตยังคงมีลมหายใจอยู่ในหน้าหนังสือ มีหลายเหตุผลด้วยกัน เริ่มตั้งแต่ตัวนักเขียนเองที่อาจมีรสนิยม ความรู้สึกฝังใจต่อวรรณกรรมแนวนี้ว่าทรงพลังสามารถขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลง แก้ปัญหาสังคมได้ ในที่นี้ขอกล่าวถึงเหตุผลนี้เพียงประการเดียวก่อน คำว่า แนวเพื่อชีวิต ไม่ใช่ของเชยแน่หากเราได้อ่านเพื่อชีวิตน้ำดี ซึ่งเห็นว่าเรื่องนั้นต้องมีน้ำเสียงของความรับผิดชอบสังคมและตัวเองอย่างจริงใจของนักเขียน…
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ชื่อหนังสือ      :    เถ้าถ่านแห่งวารวัน    The Remains of the Day ประเภท            :    วรรณกรรมแปลจัดพิมพ์โดย    :    แพรวสำนักพิมพ์พิมพ์ครั้งที่ ๑    :    กุมภาพันธ์   ๒๕๔๙ผู้เขียน            :    คาสึโอะ  อิชิงุโระ ผู้แปล            :    นาลันทา  คุปต์
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ ชื่อหนังสือ      :    คลื่นทะเลใต้ประเภท    :    เรื่องสั้น    จัดพิมพ์โดย    :    สำนักพิมพ์นาครพิมพ์ครั้งแรก    :    ตุลาคม  พ.ศ. ๒๕๔๘  ผู้เขียน    :    กนกพงศ์  สงสมพันธุ์, จำลอง ฝั่งชลจิตร, ไพฑูรย์ ธัญญา, ประมวล มณีโรจน์, ขจรฤทธิ์ รักษา, ภิญโญ ศรีจำลอง, พนม นันทพฤกษ์, อัตถากร บำรุง เรื่องสั้นแนวเพื่อชีวิตในเล่ม คลื่นทะเลใต้เล่มนี้  ทุกเรื่องล้วนมีความต่าง…
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ชื่อหนังสือ : คลื่นทะเลใต้ประเภท : เรื่องสั้น    จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์นาครพิมพ์ครั้งแรก : ตุลาคม  พ.ศ. ๒๕๔๘  ผู้เขียน : กนกพงศ์  สงสมพันธุ์, จำลอง ฝั่งชลจิตร, ไพฑูรย์ ธัญญา, ประมวล มณีโรจน์, ขจรฤทธิ์ รักษา, ภิญโญ ศรีจำลอง, พนม นันทพฤกษ์, อัตถากร บำรุงวรรณกรรมประเภทเรื่องสั้นมีความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการตลอดเวลาถึงปัจจุบัน ในยุคหนึ่งเรื่องสั้นเคยเป็นวรรณกรรมที่สะท้อนสภาวะปัญหาสังคม สะท้อนภาพชนชั้นที่ถูกกดขี่ เอารัดเอาเปรียบ และยุคนั้นเราเคยรู้สึกว่าเรื่องสั้นเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถปฏิวัติเปลี่ยนแปลงสังคมได้…
สวนหนังสือ
‘พิณประภา ขันธวุธ’ ชื่อหนังสือ : ฉลามผู้แต่ง: ณัฐสวาสดิ์ หมั้นทรัพย์สำนักพิมพ์ : ระหว่างบรรทัดข้อดีของการอ่านิยายสักเรื่องคือได้เห็นตอนจบของเรื่องราวเหล่านั้นไม่จำเป็นเลย...ไม่จำเป็น...ที่จะต้องเดินย่ำไปรอยเดียวกับตัวละครเล่านั้นในขณะที่สังคมไทยกำลังเคลื่อนเข้าสู่ความเป็น “วัตถุนิยม” ที่เรียกว่า เป็นวัฒนธรรมอุปโภคบริโภค อย่างเต็มรูปแบบ ลัทธิสุขนิยม (hedonism) ก็เข้ามาแทบจะแยกไม่ออก ทำให้ความเป็น ปัจเจกบุคคล ชัดเจนขึ้นทุกขณะ ทั้งสามสิ่งที่เอ่ยไปนั้นคน สังคมไทยกำลัง โดดเดี่ยว เราเปิดเผยความโดดเดี่ยวนั้นด้วยรูปแบบของ ภาษาและถ้อยคำสำนวนที่สะท้อนโลกทัศน์ของความเป็นปัจเจกนิยมได้แก่ เอาตัวรอด…
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’  ชื่อหนังสือ      :    วิมานมายา  The house of the sleeping beautiesประเภท         :    วรรณกรรมแปลจัดพิมพ์โดย    :    สำนักพิมพ์ดอกหญ้าพิมพ์ครั้งที่ ๑   :    มิถุนายน ๒๕๓๐ผู้เขียน          :    ยาสึนาริ คาวาบาตะ ผู้แปล           :    วันเพ็ญ บงกชสถิตย์   
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ ชื่อหนังสือประเภทจัดพิมพ์โดยผู้ประพันธ์ผู้แปล:::::เปโดร  ปาราโม ( PEDRO  PARAMO )วรรณกรรมแปลสำนักพิมพ์โพเอม่าฮวน รุลโฟราอูล  การวิจารณ์วรรณกรรมนั้น บ่อยครั้งมักพบว่าบทวิจารณ์ไม่ได้ช่วยให้ผู้ที่ยังไม่ได้อ่านหรืออ่านวรรณกรรมเล่มนั้นแล้วได้เข้าใจถึงแก่นสาร สาระของเรื่องลึกซึ้งขึ้น แต่สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่บทวิจารณ์ต้องมีคือ การชี้ให้เห็นหรือตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับจุดเด่นสำคัญที่ไม่อาจละเลยได้ของวรรณกรรมเล่มนั้น วรรณกรรมที่ดีย่อมถ่ายทอดผ่านมุมมองอันละเอียดอ่อน ด้วยอารมณ์ประณีตของผู้ประพันธ์…