Skip to main content

นายยืนยง

 

ชื่อหนังสือ : เพลงกล่อมผี

ผู้เขียน : นากิบ มาห์ฟูซ

ผู้แปล : แคน สังคีต จาก Wedding Song ภาษาอังกฤษโดย โอลีฟ อี เคนนี

ประเภท : นวนิยาย พิมพ์ครั้งแรก มิถุนายน 2534

จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์รวมทรรศน์


หนาวลมเหมันต์แห่งพุทธศักราช
2552
เยียบเย็นยิ่งกว่า ผ้าผวยดูไร้ตัวตนไปเลยเมื่อเจอะเข้ากับลมหนาวขณะมกราคมสั่นเทิ้มด้วยคน ฉันขดตัวอยู่ในห้องหลบลมลอดช่องตึกอันทารุณ อ่านหนังสือเก่า ๆ ที่อุดม

ไรฝุ่นยั่วอาการภูมิแพ้ โรคประจำศตวรรษที่ใครก็มีประสบการณ์ร่วม อ่านเพลงกล่อมผีของนากิบ มาห์ฟูซ ที่แคน สังคีต ฝากสำนวนแปลไว้อย่างเฟื่องฟุ้งเลยทีเดียว ถือว่าหนังสือเล่มนี้เป็นแรงบันดาลใจใหญ่หลวงเลยก็ว่าได้ สำหรับนักเขียนหรือนักปรารถนาจะเขียนเช่นเดียวกัน ฉันลงความเห็นกับตัวเองว่า เพลงกล่อมผี เล่มนี้เป็นอาจารย์ของนักเขียนในหลายวิชา ทั้งวิชาว่าด้วยเทคนิคการประพันธ์ วิชาปรัชญา ศาสนาเปรียบเทียบ อาจรวมถึงวิชาโลกียชนด้วย


   ว่าไปแล้ว ที่ผ่านมาฉันดูเข้าข้างวรรณกรรมแปลเสียมากกว่าวรรณกรรมไทยบ้านเราจนน่าเกลียด เป็นการเข้าข้างโลกอื่นมากกว่าดินแดนมาตุภูมิก็ว่าได้ เอะอะอะไรก็หนังสือแปลดีเยี่ยมอย่างนั้นดียอดอย่างนี้ นักเขียนไทยเต่าบรรพกาลบ้างล่ะ นักเขียนไทยพายเรือวนในอ่างพลาสติกบ้างล่ะ ฉันยอมรับ ขอรับผิดในบาดแผลแห่งฉันทาคติ ณ ตรงนี้ แต่ถ้าหากบทความเหล่านี้จะมีมรรคผลใด ๆ แม้เพียงเศษเสี้ยวองคุลีต่อวงการวรรณกรรมไทยบ้าง ฉันควรอ่านหนังสือของนักเขียนไทยให้มากกว่านี้ ถูกไหม? ถ้าเห็นว่าถูกต้อง เหมาะควร สต๊อคหนังสือไทยต้องถูกรื้อค้นในอีกไม่ช้า


เข้าเรื่อง เพลงกล่อมผี เสียที

คำนำ ของ โอ.อี.เค. ผู้แปลผลงานเล่มนี้เป็นภาษาอังกฤษจารึกไว้ว่า


WEDDING SONG เป็นชื่อเรื่องในภาษาอังกฤษ ที่พยายามจะรักษาสำนวนแดกดันของคำว่า AFFAH al-QUBBAH ตามตัวอักษรในภาษาอาหรับ AFFAH al-QUBBAH อาจจะหมายความในทำนอง “พิธีฉลองการแต่งงานในสุสานนักบุญ” นี่เป็นตำนานของชาวไคโร อย่างไรก็ตาม คำว่า al-QUBBAH หมายถึงวังแห่งหนึ่ง เป็นที่ประทับอย่างเป็นทางการของบรรดาอดีตอุปราชอียิปต์ นากิบ มาห์ฟูซอธิบายให้ข้าพเจ้าฟังว่า พิธีวิวาห์ของพวกอุปราชเรียกร้องความสนใจด้วยริ้วขบวนร่ายรำและเพลงร้อง เพลงที่ร้องกันแพร่หลายซ้ำแล้วซ้ำอีกในโอกาสต่าง ๆ นี้ คือเพลงที่รู้จักกันในชื่อ AFFAH al-QUBBAH หรือ WEDDING SONG นั่นเอง


นวนิยายเรื่องนี้ดีวิเศษอย่างไร... เชิญอ่านเรื่องแบบย่นความก่อน


เพลงกล่อมผี ว่าด้วยมุมมองของตัวละครแต่ละตัวในเนื้อเรื่อง ที่ถ่ายทอดผ่านลักษณะเชิงปัจเจกของตัวละครซึ่งมีต่อตัวละครอื่น ในเรื่องนี้หมายถึง อับบัส การาม ยูนิส นักประพันธ์บทละครเวทีผู้เอาเรื่องจริงมาเขียน เรื่องที่มาจากชีวิตจริงของตัวละคร แสดงโดยตัวละครที่มีชีวิตอยู่จริงในเรื่อง และเป็นเรื่องบัดสีที่บาดหมางกันและกันอยู่


อับบัส การาม ยูนิส เป็นลูกชายคนเดียวของการาม ยูนิสและฮาลีมะห์ อัล กับซะห์ แรกทีเดียวทั้งการามและฮาลีมะห์ต่างทำงานในโรงละคร โดยฝ่ายชายการามเป็นผู้บอกบท ฝ่ายหญิงฮาลีมะห์เป็นแคชเชียร์ ทั้งคู่ต้องทำงานที่นั่นพร้อมกับเลี้ยงลูกชายอับบัสไปด้วย ขณะรายได้ไม่พอเลี้ยงชีพ พวกเขาก็ยอมให้นักแสดงประกอบนาม ตอรีก รอมาดอน มาเช่าห้องที่บ้าน ภายใต้สายตาที่เฝ้ามองของอับบัสผู้เยาว์

บ้านของเขาค่อย ๆ กลายเป็นนรกทีละน้อย โดยการามพ่อของเขาเริ่มติดฝิ่นและเป็นผู้ขายด้วย เขาแบ่งห้องในบ้านให้เช่า และเปิดบ้านเป็นบ่อนการพนัน สุดท้ายมันก็กลายเป็นซ่อง ที่ฮาลีมะห์แม่ของอับบัสแทบจะกลายเป็นโสเภณี


เรื่องดำเนินมาจนกระทั่งหนุ่มน้อยอับบัสตกหลุมรักสาวโรงละครนาม ทาฮียะห์ ผู้จำเป็นต้องปล่อยตัวให้เป็นนักผจญภัยทางเพศเพื่อเอาชีวิตให้รอด หล่อนกับตอรีกเป็นผู้เช่าห้องในบ้านเขา ในวันนั้นอับบัสขอหล่อนแต่งงาน ซึ่งฝ่ายหญิงเองต้องเลิกรากับตอรีก รอมมาดอน คนรักปัจจุบัน เป็นเหตุให้ตอรีกผูกใจเจ็บ เขาจ้องอาฆาตอับบัสตั้งแต่นั้น อับบัสเป็นเด็กที่เติบโตขึ้นมาพร้อมคุณธรรมประจำใจ เขาฝันจะเป็นนักเขียนบทละครเวที พยายามเขียนให้ได้ดีอย่างไม่ลดละแม้นจะเผชิญอุปสรรคสาหัสเพียงไร และวันหนึ่งชัยชนะก็เป็นของเขา บทละครเรื่อง เพลงกล่อมผี ก็ขายออก โดยผู้จัดการโรงละครเลือกตอรีก รอมาดอน นักแสดงวัยห้าสิบผู้ได้รับแต่บทกระจอกงอกง่อยมาตลอดให้เป็นตัวเอกและเขาก็โด่งดังเพียงชั่วข้ามคืนจากบทละครของอับบัส ศัตรูหัวใจของเขา


ตลอดเวลาที่ตอรีกสัมพันธ์กับบทละคร เขาไม่อาจแยกแยะระหว่างเรื่องที่เกิดขึ้นจริง กับเรื่องที่เกิดในบทละครได้ เขาเอาแต่จ้องจับผิดอับบัส นักเขียนบทละคร ซึ่งเป็นตัวละครที่ถูกเขียนให้เป็นอาชญากรฆ่า ทาฮียะห์ผู้เป็นภรรยา และฆ่าลูกชายของเขาเอง เขาเชื่ออย่างสนิทใจไร้ข้อกังขาว่าอับบัสเขียนบทละครเพื่อสารภาพผิดกับทุกคน เขาต้องส่งตัวอับบัสเข้าตะรางให้ได้ ฉากสุดท้ายในบทละคร อับบัสต้องฆ่าตัวตาย เขาถึงกับป่าวร้องไปทั่วว่า อับบัสฆ่าตัวตายแล้ว ติดแต่ตามหาศพไม่พบเท่านั้น


เหล่านี้เป็นเรื่องราวของผู้คนที่จมดิ่งในหนทางแห่งโลกียะโดยมีความยากจนข้นแค้นเป็นเดิมพัน มีผลประโยชน์เป็นโซ่ตรวนที่ล่ามไว้ตลอดกาล


ความดีอันน่ายกย่องของเพลงกล่อมผีนั้น อยู่ที่กลวิธีการประพันธ์อันแยบคาย เนื่องจากเป็นความโดดเด่นเฉพาะที่ถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในงานเขียนอื่น ๆ ของนักเขียนนามอื่น นั่นคือ การเล่าเรื่องผ่านมุมมองของตัวละครแต่ละตัวที่มีต่อเหตุการณ์เดียวกันนั้น ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คือ ทัศนคติอันจำลองมาจากมุมมองของสัจจะในเชิงปัจเจกของตัวละคร เพราะแม้นว่าจะอยู่ในเหตุการณ์เดียวกัน แต่เรื่องที่เกิดขึ้นโดยคำบอกเล่าของใครคนใดคนหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันทั้งหมด เป็นงานเขียนที่ใช้มุมมองรอบด้าน กำหนดให้ตัวละครแต่ละตัวเล่าเรื่องของตนเอง บอกทัศนคติที่มีต่อตัวละครใด ๆ ด้วยสายตาของตัวเอง


นี่เป็นความวิเศษอย่างหนึ่งในโลกวรรณกรรม เนื่องจากมีเรื่องแต่งจำนวนมากที่เล่าผ่านมุมมองของตัวละครตัวใดตัวหนึ่งเป็นเฉพาะตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่ก็เล่าจากมุมมองของนักเขียนเพียว ๆ กลวิธีการเล่าเรื่องของ นากิบ มาห์ฟูซในนวนิยายเรื่องนี้ จึงน่าศึกษาในแง่ของ การปรากฎขึ้นของสัจจะและการดำรงอยู่ของมัน


โดยนากิบ แบ่งเรื่องออกเป็นตอน แต่ละตอนเป็นการเล่าของตัวละครต่างกันไป ดังนี้

1.ตอรีก รอมาดอน ดาราผู้ชำระรอยแค้นด้วยการทึกทัก

2.การาม ยูนิส คนบอกบท เปิดบ่อน และขายเม็ดแตงกับถั่วมัน ๆ

3.ฮาลีมะห์ อัล กับซะห์ สาวแคชเชียร์เหยื่อโลกีย์ ผู้ฝากความหวังไว้กับลูก

4.อับบัส การาม ยูนิส นักประพันธ์ผู้ถูกตามล่า เพราะเขียนเรื่องได้เหมือนจริง


ทุกคนเล่าเรื่องโดยใช้สรรพนามบุรุษที่ 1 คือ ข้า ยกเว้น ฮาลีมะห์ ใช้ ฉัน

ผู้อ่านสามารถเลือกอ่านตอนใดก่อนก็ได้ ดังที่ ค... เขียนในบทนำว่า เพลงนี้ มีอยู่ด้วยกันทั้งหมดสี่ท่อน ท่านผู้ฟังจะเลือกฟังท่อนไหนก่อนหลัง สลับกันไปมา หรือจะพริ้มตาหลับฟังแต่เพียงท่อนสุดท้ายก็ได้นะครับ ไม่ถือว่าเสียมรรยาทนักฟังเพลงชั้นคลาสิกแต่อย่างใด


เพราะทุกท่อนเป็นเพลงเดียวกัน ไม่เชื่อลองหามาอ่านดูเถิด คำยกย่องสรรเสริญไม่เกินจริงหรอก


คราวนี้มาดูบทบาทของแคน สังคีต ผู้แปลมือฉมัง เป็นการส่งท้าย

โอ้โหย สำนวนท่านเด็ดดวงเหลือเชื่อ ต่อให้เป็นแดนอรัญ แสงทอง ก็เถอะ แคน สังคีต ไม่เป็นรองใครเช่นเดียวกัน ฉันขอเลือกฉากที่ละครเปิดม่านในกระแสคิดของตัวละครแต่ละตัวมาให้อ่านเรียกน้ำย่อยนะ


หน้า 34 ตอนของตอรีก ไอ้นักแสดงถ่อยที่จำได้แต่ความหลังอันรวดร้าวจนปีศาจไม่อาจเยียวยา

รอบปฐมทัศน์ วันที่สิบตุลาคม อากาศภายนอกอบอุ่นสบาย แต่ภายในร้อนอย่างกับอยู่ในเตาอบ การามกับฮาลีมะห์, ฮิลาลี และฟาฮัด ปะปนอยู่ในกลุ่มผู้เข้าชม ในจำนวนผู้แสดงมีข้าคนเดียวที่รู้ความจริงว่าเรื่องราวเป็นมายังไง ฮิสมาแอลแสดงเป็นอับบัส บ้านเก่า ๆ กลับมีชีวิตขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ท่ามกลางเรื่องบัดสีบัดเถลิงสารพัด แถมด้วยอาชญากรรมอันโหดร้ายที่เกิดขึ้นสด ๆ ร้อน ๆ เรื่องอื้อฉาวคาวโลกีย์ครั้งแล้วครั้งเล่า ผู้อำนวยการสร้างเสี่ยงอันตราย ดอดเข้าไปในห้องนอนของฮาลีมะห์ และถูกสวมหัวโขนให้เป็นผู้ทรยศและฆาตกร ระหว่างการแสดงข้าได้รับการปรบมือเป็นครั้งแรกในชีวิต ทาฮียะห์ เธอกำลังมองดูเรามาจากหลุมฝังศพหรือเปล่าน้า?


หน้า 67 ตอนของการาม พ่อผู้ศรัทธาในที่สาปส่งพวกหน้าไหว้หลังหลอกทั้งมวล

เอาล่ะ! ม่านเปิดแล้ว เห็นบ้านของเรา บ้านเรา ไม่ใช่บ้านคนอื่น อักรูดีหรืออับบัสกันแน่ที่ต้องการแบบนี้? อะไรกันนั่น พ่อแม่และลูกชาย ซ่องโสเภณี และบ่อนพนัน มันร้ายยิ่งกว่าอาชญากรรมและการทรยศหักหลังเสียอีก ตัวผู้แสดงเป็นแม่บนเวทีเป็นผู้หญิงหากินที่เลี้ยงไม่เชื่อง เธอผลัดเปลี่ยนความสัมพันธ์กับผู้อำนวยการสร้าง ผู้กำกับการแสดง นักวิจารณ์ และตอรีกทีละคน ข้าหันขวับไปทางฮาลีมะห์ที่กำลังหอบหายใจแรง นรกบริสุทธิ์ เอาล่ะ ถึงขั้นนี้แกจะเข้าไปเกลือกกลั้วกับความคิดเห็นของลูกแกก็ได้ เห็นได้ชัดว่า สิ่งที่ลูกคิดเกี่ยวกับพ่อและแม่ของตัวเองนั้นเจ็บปวดรวดร้าวเพียงใด ใครจะคิดว่าหัวขี้เลื่อยของลูกจะเต็มไปด้วยการล้างผลาญ ข้าดีใจที่ลูกมองแม่เช่นนี้ ดีใจที่ลูกเขียนออกมาตามความคิดเห็นจริง ๆ ที่มีต่อแม่ ละครเรื่องนี้เป็นส่วนลึกของลูกที่แสดงออกมาให้เห็นการล้างแค้นข้า ลงโทษข้าที่เป็นอย่างนี้


หน้า 98 ฮาลีมะห์ แม่ผู้สับสนและขมขื่น

เมื่อได้เวลา เราก็เข้าไปในโรงละคร ฉันรู้สึกดีใจอย่างบอกไม่ถูกที่เห็นคนแน่นเต็มโรง “สำเร็จแล้ว!”

ฉันไม่สนใจฟังคำตอบจากเขา เปิดม่านเห็นบ้านเก่า ๆ เรื่องผ่านไปฉากแล้วฉากเล่า ความเจ็บปวดรวดร้าวของฉันค่อย ๆ ปรากฏขึ้น ตอนนี้ไม่มีอะไรเหลืออีกแล้ว นอกจากความทรงจำอันขมขื่น ฉันรู้สึกราวกับตกนรกอีกครั้งหนึ่ง นึกแช่งด่าตัวเองมากกว่าทุกครั้ง นั่นไงจังหวะที่ฉันควรตีจาก ฉันพูดกับตัวเอง นั่นไงจังหวะที่ฉันควรปฏิเสธ ฉันไม่ใช่เหยื่อตามที่คิดไว้อีกต่อไปแล้ว


เรื่องห่าเหวใหม่ ๆ ทั้งหมดนี้คืออะไรกันแน่ การไหลบ่าของอาชญากรรมเช่นนี้ ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน ตัวฉันกำลังถูกอุปโลกน์ไปในทางแปลก ๆ นี่เป็นสิ่งที่ลูกคิดเกี่ยวกับฉันจริง ๆ หรือเปล่า? อะไรกันลูก? ลูกเข้าใจแม่ผิดยิ่งกว่าพ่อ ลูกอคติต่อแม่ยิ่งไปกว่าพ่อเสียอีก


นั่นล้วนแสดงให้เห็นอิทธิพลของศิลปะในนามของเรื่องโศกนาฏกรรมที่มีเหนือทัศนคติของตัวละคร

พวกเขาล้วนมองเห็นตัวเองในนั้น เจ็บปวด และต้องการคำตอบ แม้กระทั่งตัวผู้ประพันธ์อย่างอับบัสเองก็ไม่เว้น


ในตอนของอับบัส นักประพันธ์ผู้ถูกถามหาตลอดเรื่อง หน้า 145 -147

ในขณะที่กำลังสับสนอยู่นี้ ข้าได้อ่านข้อเขียนเกี่ยวกับความสำเร็จของละครเป็นอันมาก ส่วนใหญ่เป็นบทวิพากษ์วิจารณ์ที่กล่าวชมเชยผู้แต่ง ฯลฯ การวิจารณ์ต้อนรับนี้ดู ๆ ก็คล้ายกับเป็นการเยาะเย้ย ทั้ง ๆ ที่ข้าบากบั่นเขียนขึ้นมาในนรกแห่งความแห้งแล้ง นรกแห่งความเศร้าและความทะเยอทะยาน ฯลฯ ข้ากำลังประลองกับความตาย รู้สึกว่าภายในร่างกายเหือดแห้ง ราวกับเป็นซากที่ยังมีชีวิต แต่ปราศจากวิญญาณ เสียงอึกทึกแห่งการทำลายล้างเล็ดลอดเข้าไปในรูหูของข้า บอกให้ข้ารู้ว่าตัวเองกำลังจะถึงที่สุด มันเล่นเอาเถิดกับข้าตามใจชอบ มันแยกเขี้ยวใส่ข้า ประกาศว่าข้าตายแล้ว


อับบัสหมกมุ่นอยู่กับเรื่องราวที่เขาเขียนขึ้น เขาเขียนให้ตัวเองต้องฆ่าตัวตายและเขาก็ตกอยู่ในเงื้อมมือแห่งศิลปะการประพันธ์ของตนเองจนกระทั่ง ...


ก่อนหน้าจะมีการชุมนุมนมัสการตอนบ่ายไม่นาน ข้าเข้าไปในสวนญี่ปุ่นและนั่งลงบนม้านั่ง ไม่คำนึงถึงสิ่งที่เกิดขึ้นรอบ ๆ ตัว เป็นห่วงแต่ความคิดของตัวเองที่สับสนชุลมุนวุ่นวาย ด้วยวิธีอะไร? และเมื่อไหร่?


เมื่อคืนข้าหลับแค่ชั่วโมงเดียว ลมพัดมาวูบหนึ่ง หัวข้าหนักอึ้ง แสงสว่างของกลางวันจางลงอย่างรวดเร็ว เรี่ยวแรงในกายข้าค่อย ๆ ลดน้อยถอยลงไปทุกที


เมื่อข้าลืมตาขึ้น อากาศขมุกขมัวเต็มทนแล้ว ความมืดโรยตัวลงมาอย่างช้า ๆ ข้าคงหลับไปไม่ต่ำกว่าหนึ่งชั่วโมง ข้าลุกจากม้านั่ง รู้สึกกระปรี้กระเปร่า จิตใจร่าเริงอย่างบอกไม่ถูก สมองปลอดโปร่ง ไม่มีไข้ ใจเบาโหวง ช่างมหัศจรรย์เสียจริง ความหม่อนหมองหายไป ความตึงเครียดปลาสนาการไป ข้ากลายเป็นคนใหม่โดยสิ้นเชิง ฯลฯ


ข้าไม่ได้หลับชั่วโมงเดียว แต่หลับไปเป็นศตวรรษ จากนั้นข้าก็ตื่นขึ้นมาเป็นคนใหม่ ฯลฯ ความปิติสุขที่ได้ขจัดความตายออกไปในบั้นปลาย ฯลฯ ความปิติสุขอันนี้เป็นสิ่งเดียวที่ข้าต้องการจะยึดเอาไว้เป็นประหนึ่งเครื่องรางแห่งความหฤหรรษ์ ขอให้พลังของมันจงยืนหยัดอยู่ด้วยความลึกลับของตัวเองอย่างไม่มีทางจะหยั่งถึง! ดูสิดู! พลังชุบชีวิตของมันเคลื่อนไปข้างหน้า อบอวลไปด้วยกลิ่นหอมแห่งชัยชนะ!


อับบัสหลับไปวูบหนึ่ง เขาเกิดใหม่อีกครั้ง และไม่ติดใจกับแผนการจะฆ่าตัวตาย ตามบทละครที่ตัวเองเขียนไว้ ภวังค์ การหลับลึก หรือภาวะที่ชุบชีวิตแห้งเฉาขึ้นใหม่ เหล่านี้เป็นที่น่าสังเกตว่ามันมักจะปรากฎในผลงานของนากิบ มาห์ฟูซ อยู่หลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง มุ่งเมืองแมน ที่ตัวละครตั้งปณิธานเป็นผู้แสวงหาประทีปแห่งความรู้ มุ่งหมายจะไปให้ถึงอาณาจักรยีบีล ดินแดนในฝัน แสดงว่านากิบให้ความสำคัญกับภาวะเช่นนี้อยู่มากเหมือนกัน


นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของวัฏจักรแห่งกระแสสำนึกของผู้คน ที่วนว่ายถ่ายเวียนระหว่างกันและกันซึ่งถูกนำมาถ่ายทอดผ่านภาษาวรรณศิลป์อันอุดมด้วยชีวิตชีวาและเต็มไปด้วยแรงดึงดูด


เพลงกล่อมผี นวนิยายขนาดกะทัดรัดแต่ทรงพลังเล่มนี้ ฉันท้าได้เลยว่า ใครได้อ่านมันจะต้องค้นพบพลังในตัวเองที่เรืองรองอยู่ ไม่ว่าจะมันจะซ่อนตัวอยู่ลึกเร้นเพียงไร ต้องขอบคุณนากิบ มาห์ฟูซ ผู้เขียนอัจฉริยะ เจ้าของรางวัลโนเบลปี ค..1988 ที่สร้างสรรค์ผลงานเปี่ยมอรรถรสจำนัลแด่โลก

ขอบคุณโอลีฟ อี เคนนี ผู้แปลเป็นภาษาอังกฤษ ขอบคุณแคน สังคีต ที่ถ่ายทอดเป็นภาษาไทยแห่งมาตุภูมิ ขอบคุณผู้เกี่ยวข้องทุกคนที่ร่วมบรรเลงให้เกิดหนังสือดี ๆ ขึ้นมาในสังคมการอ่าน และขอบคุณผู้อ่านทุกท่านที่ให้ความสำคัญวรรณกรรมอันน่ายกย่อง ขอบคุณ.

 

 

 

 

บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ                     :    เค้าขวัญวรรณกรรมผู้เขียน                         :    เขมานันทะพิมพ์ครั้งที่สอง (ฉบับปรับปรุง) ตุลาคม ๒๕๔๓     :    สำนักพิมพ์ศยาม  
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ชื่อนิตยสาร      :    ฅ คน ปีที่ ๓  ฉบับที่ ๕ (๒๔)  มีนาคม ๒๕๕๑บรรณาธิการ     :    กฤษกร  วงค์กรวุฒิเจ้าของ           :    บริษัท ทีวีบูรพา จำกัด
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ ชะตากรรมของสังคมฝากความหวังไว้กับวรรณกรรมเพื่อชีวิตเห็นจะไม่ได้เสียแล้ว  หากเมื่อความเป็นไปหรือกลไกการเคลื่อนไหวของสังคมถูกนักเขียนมองสรุปอย่างง่ายเกินไป  ดังนั้นคงไม่แปลกที่ผลงานเหล่านั้นถูกนักอ่านมองผ่านอย่างง่ายเช่นกัน  เพราะนอกจากจะเชยเร่อร่าแล้ว ยังเศร้าสลด ชวนให้หดหู่...จนเกือบสิ้นหวังไม่ว่าโลกจะเศร้าได้มากแค่ไหน ก็ไม่ได้หมายรวมว่าเราจะใช้ชีวิตอยู่แต่กับโลกแห่งความเศร้าใช่หรือไม่? เพราะบ่อยครั้งเราพบว่าความเศร้าก็ไม่ใช่ความทุกข์ที่ไร้แสงสว่าง  ความคาดหวังดังกล่าวจุดประกายขึ้นต่อฉัน เมื่อตั้งใจจะอ่านรวมเรื่องสั้น โลกใบเก่ายังเศร้าเหมือนเดิม ของ…
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ       :    รายงานจากหมู่บ้าน       ประเภท         :    กวีนิพนธ์     ผู้เขียน         :    กานติ ณ ศรัทธา    จัดพิมพ์โดย     :    สำนักพิมพ์ใบไม้ผลิพิมพ์ครั้งแรก      :    มีนาคม  พ.ศ. ๒๕๕๐เขียนบทวิจารณ์     :    นายยืนยง
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ      :    ลิกอร์ พวกเขาเปลี่ยนไปประเภท    :    เรื่องสั้น    ผู้เขียน    :    จำลอง  ฝั่งชลจิตรจัดพิมพ์โดย    :    แพรวสำนักพิมพ์พิมพ์ครั้งแรก    :    มีนาคม  ๒๕๔๘    
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : ช่อการะเกด ๔๒ ( ตุลาคม – ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๐ ) ประเภท : นิตยสารเรื่องสั้นและวรรณกรรมรายสามเดือน บรรณาธิการ : สุชาติ สวัสดิ์ศรี จัดพิมพ์โดย : พิมพ์บูรพา สาเหตุที่วรรณกรรมแนวเพื่อชีวิตยังคงมีลมหายใจอยู่ในหน้าหนังสือ มีหลายเหตุผลด้วยกัน เริ่มตั้งแต่ตัวนักเขียนเองที่อาจมีรสนิยม ความรู้สึกฝังใจต่อวรรณกรรมแนวนี้ว่าทรงพลังสามารถขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลง แก้ปัญหาสังคมได้ ในที่นี้ขอกล่าวถึงเหตุผลนี้เพียงประการเดียวก่อน คำว่า แนวเพื่อชีวิต ไม่ใช่ของเชยแน่หากเราได้อ่านเพื่อชีวิตน้ำดี ซึ่งเห็นว่าเรื่องนั้นต้องมีน้ำเสียงของความรับผิดชอบสังคมและตัวเองอย่างจริงใจของนักเขียน…
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ชื่อหนังสือ      :    เถ้าถ่านแห่งวารวัน    The Remains of the Day ประเภท            :    วรรณกรรมแปลจัดพิมพ์โดย    :    แพรวสำนักพิมพ์พิมพ์ครั้งที่ ๑    :    กุมภาพันธ์   ๒๕๔๙ผู้เขียน            :    คาสึโอะ  อิชิงุโระ ผู้แปล            :    นาลันทา  คุปต์
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ ชื่อหนังสือ      :    คลื่นทะเลใต้ประเภท    :    เรื่องสั้น    จัดพิมพ์โดย    :    สำนักพิมพ์นาครพิมพ์ครั้งแรก    :    ตุลาคม  พ.ศ. ๒๕๔๘  ผู้เขียน    :    กนกพงศ์  สงสมพันธุ์, จำลอง ฝั่งชลจิตร, ไพฑูรย์ ธัญญา, ประมวล มณีโรจน์, ขจรฤทธิ์ รักษา, ภิญโญ ศรีจำลอง, พนม นันทพฤกษ์, อัตถากร บำรุง เรื่องสั้นแนวเพื่อชีวิตในเล่ม คลื่นทะเลใต้เล่มนี้  ทุกเรื่องล้วนมีความต่าง…
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ชื่อหนังสือ : คลื่นทะเลใต้ประเภท : เรื่องสั้น    จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์นาครพิมพ์ครั้งแรก : ตุลาคม  พ.ศ. ๒๕๔๘  ผู้เขียน : กนกพงศ์  สงสมพันธุ์, จำลอง ฝั่งชลจิตร, ไพฑูรย์ ธัญญา, ประมวล มณีโรจน์, ขจรฤทธิ์ รักษา, ภิญโญ ศรีจำลอง, พนม นันทพฤกษ์, อัตถากร บำรุงวรรณกรรมประเภทเรื่องสั้นมีความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการตลอดเวลาถึงปัจจุบัน ในยุคหนึ่งเรื่องสั้นเคยเป็นวรรณกรรมที่สะท้อนสภาวะปัญหาสังคม สะท้อนภาพชนชั้นที่ถูกกดขี่ เอารัดเอาเปรียบ และยุคนั้นเราเคยรู้สึกว่าเรื่องสั้นเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถปฏิวัติเปลี่ยนแปลงสังคมได้…
สวนหนังสือ
‘พิณประภา ขันธวุธ’ ชื่อหนังสือ : ฉลามผู้แต่ง: ณัฐสวาสดิ์ หมั้นทรัพย์สำนักพิมพ์ : ระหว่างบรรทัดข้อดีของการอ่านิยายสักเรื่องคือได้เห็นตอนจบของเรื่องราวเหล่านั้นไม่จำเป็นเลย...ไม่จำเป็น...ที่จะต้องเดินย่ำไปรอยเดียวกับตัวละครเล่านั้นในขณะที่สังคมไทยกำลังเคลื่อนเข้าสู่ความเป็น “วัตถุนิยม” ที่เรียกว่า เป็นวัฒนธรรมอุปโภคบริโภค อย่างเต็มรูปแบบ ลัทธิสุขนิยม (hedonism) ก็เข้ามาแทบจะแยกไม่ออก ทำให้ความเป็น ปัจเจกบุคคล ชัดเจนขึ้นทุกขณะ ทั้งสามสิ่งที่เอ่ยไปนั้นคน สังคมไทยกำลัง โดดเดี่ยว เราเปิดเผยความโดดเดี่ยวนั้นด้วยรูปแบบของ ภาษาและถ้อยคำสำนวนที่สะท้อนโลกทัศน์ของความเป็นปัจเจกนิยมได้แก่ เอาตัวรอด…
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’  ชื่อหนังสือ      :    วิมานมายา  The house of the sleeping beautiesประเภท         :    วรรณกรรมแปลจัดพิมพ์โดย    :    สำนักพิมพ์ดอกหญ้าพิมพ์ครั้งที่ ๑   :    มิถุนายน ๒๕๓๐ผู้เขียน          :    ยาสึนาริ คาวาบาตะ ผู้แปล           :    วันเพ็ญ บงกชสถิตย์   
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ ชื่อหนังสือประเภทจัดพิมพ์โดยผู้ประพันธ์ผู้แปล:::::เปโดร  ปาราโม ( PEDRO  PARAMO )วรรณกรรมแปลสำนักพิมพ์โพเอม่าฮวน รุลโฟราอูล  การวิจารณ์วรรณกรรมนั้น บ่อยครั้งมักพบว่าบทวิจารณ์ไม่ได้ช่วยให้ผู้ที่ยังไม่ได้อ่านหรืออ่านวรรณกรรมเล่มนั้นแล้วได้เข้าใจถึงแก่นสาร สาระของเรื่องลึกซึ้งขึ้น แต่สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่บทวิจารณ์ต้องมีคือ การชี้ให้เห็นหรือตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับจุดเด่นสำคัญที่ไม่อาจละเลยได้ของวรรณกรรมเล่มนั้น วรรณกรรมที่ดีย่อมถ่ายทอดผ่านมุมมองอันละเอียดอ่อน ด้วยอารมณ์ประณีตของผู้ประพันธ์…