Skip to main content
 

นายยืนยง



ชื่อหนังสือ
          :           พ.๒๗ สายลับพระปกเกล้าฯ
ผู้เขียน               :           อ.ก. ร่งแสง (โพยม โรจนวิภาต)
ประเภท              :           สารคดีประวัติศาสตร์          พิมพ์ครั้งที่ 2  พ.ศ. 2547
จัดพิมพ์โดย        :           สำนักพิมพ์ วสี ครีเอชั่น

เป็นความบังเอิญทีเดียวที่ทำให้ฉันสนใจหนังสือเล่มหนึ่ง ค่อนข้างหนาขนาดที่นอนอ่านจะทุลักทุเลน่าดูชม ยิ่งถ้าเผลอหลับอาจต้องศัลยกรรมดั้งจมูกโดยด่วน หนังสือนั้นจะว่าเป็นนิยายก็ใช่ เพราะผู้แต่งเขียนอย่างมีลีลาวรรณศิลป์ สำนวนภาษาเข้าขั้นปรมาจารย์ก็ว่าได้ หากจะว่าเป็นสารคดีเชิงประวัติศาสตร์ก็ไม่ผิดอีก เนื่องจากตัวละครและเหตุการณ์เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง มีตัวตนอยู่จริงในสมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นคณาธิปไตย เอ้ย ประทานโทษ ประชาธิปไตย ต่างหาก

อีกกระทงหนึ่ง หนังสือเล่มนี้เรียกได้ว่าเป็นอัตชีวประวัติของผู้แต่งด้วย

พ.๒๗ สายลับพระปกเกล้าฯ คือหนังสือเล่มดังกล่าว โดย อ.ก. รุ่งแสง (โพยม โรจนวิภาต) เป็นผู้แต่ง กล่าวถึงอ.ก.รุ่งแสง แม้เคยได้ยินผ่านหู แต่ไม่ค่อยคุ้น เพิ่งมารู้จากหนังสือเล่มนี้เอง เขาเป็นนักเขียนคนสำคัญ 1 ใน 10 ของคณะสุภาพบุรุษ ร่วมสมัยกับศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์) และ พ.๒๗ สายลับพระปกเกล้าฯ เล่มนี้เคยเผยแพร่มาครั้งหนึ่งแล้วในนิตยสาร ฟ้าเมืองไทย

การอ่านหนังสือเล่มนี้จะไม่มีมรรคผลงอกงามเลย นอกเสียจากได้อ่านชีวประวัติสายลับคนสำคัญของรัชกาลที่ 7 ที่ฝ่าฟันอุปสรรคฉกาจฉกรรจ์ในช่วงบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงขนานหนัก แต่ฉันกลับพบว่าจะไม่เป็นธรรมเลย หากอ่านประวัติศาสตร์จากฝ่ายกษัตริย์นิยม หรือรอยัลลิสต์ ฝ่ายเดียว และเพื่อขยายอาณาเขตความคิดอ่านของเรา จึงต้องแสวงหาหนังสือประวัติศาสตร์จากผู้แต่งท่านอื่น นำมาสังสรรค์กันให้ชุลมุนไปหมด จะว่าสนุกก็ใช่ แต่ออกจากปวดตามาก ทำให้พึ่งยาเสพติดประเภทแก้ปวดกล้ามเนื้อ

จำได้ว่าเคยอ่านจากหนังสือที่จัดพิมพ์โดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ ที่วิเคราะห์ถึงกรณีรัชกาลที่ 7 ทรงสละราชย์สมบัติ ซึ่งคณะผู้แต่งได้จำแนกกลุ่มแนวคิดไว้เป็น 3 กลุ่มคร่าว ๆ ได้แก่ กลุ่มกษัตริย์นิยม กลุ่มสนับสนุนคณะราษฎร (คำว่า คณะราษฎร นี้ อ.ก.รุ่งแสง ใช้ คณะราษฎร์ มีตัวการันต์กำกับที่รอเรือ แต่ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ใช้ คณะราษฎร ไม่มีการันต์ ท่านให้เหตุผลว่า มาจากราษฎร นั่นเอง) และสุดท้าย กลุ่มเป็นกลาง ๆ แต่ไม่รู้ไปทำอีท่าไหนจึงหาหนังสือเล่มดังกล่าวนี้ไม่พบเป็นครั้งที่สอง น่าเสียดายจริง ๆ

ด้วยเหตุผลของความเป็นธรรม ฉันจึงต้องอ่านหนังสือของแต่ละกลุ่มมาประกอบด้วย นอกเหนือจากความเป็นธรรมแล้ว ฉันคิดว่าอย่างน้อย การอ่านหนังสือหลายเล่มในหัวข้อเดียวกัน ทำให้เราชั่งตวงวัดปริมาตรความคิด อารมณ์ได้แม่นยำกว่าจะเลือกอ่านเล่มใดเล่มหนึ่ง

เข้าเรื่องสายลับ พ.๒๗ ดีกว่า

พ.๒๗ สายสับพระปกเกล้าฯ  โดย อ.ก.รุ่งแสง (โพยม โรจนวิภาต) มี สัมพันธ์ ก้องสมุทรเป็นบรรณาธิการ
จัดพิมพ์ครั้งที่ 2 โดยสำนักพิมพ์ วสี ครีเอชั่น รวม 1 เล่มจบ พ.ศ. 2547
นายโพยม โรจนวิภาต ผู้แต่งเป็นข้าราชการสำนักในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก (พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7) เป็นบันทึกชีวประวัติของข้าราชการสำนักของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และปฏิบัติราชการลับในฐานะสายลับ รหัส พ.๒๗ เป็นรหัสประจำตัว

มีจุดมุ่งหมาย คือ ทำหน้าที่พิเศษสอดส่องเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวปฏิกิริยาของราชวงศ์สมัย ร.7 ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของไทย พ.ศ. 2475 - 2476 (ยุคประชาธิปไตยอลวน ผ่านไปสู่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ลุกลามมาเป็นสงครามเอเชียบูรพา พ.๒๗ ปฏิบัติหน้าที่สำคัญในแผนกสงครามจิตวิทยาของฝ่ายสัมพันธมิตร โดยผู้แต่งแบ่งเป็นภาคที่ 1- 4 มีชื่อตอนกำกับเสร็จ

อ.ก.รุ่งแสง ได้เปิดทัศนะเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวไว้ตั้งแต่ต้น เข้าทำนองประกาศเจตนารมณ์เลยทีเดียว เขาเขียนเกริ่นนำในตอนแรกว่า

เจ้าฟ้าชายประชาธิปศักดิเดชน์ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา หรือ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 กษัตริย์ซึ่งถูกยึดอำนาจโดยการนำของ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา เพื่อดำเนินการปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่พระยาพหลฯ และพวกปกครองโดยวิธีคณาธิปไตย การกบฏซึ่งนำโดยพระองค์เจ้าบวรเดชจึงอุบัติขึ้น ทำให้พระองค์ทรงอยู่ในฐานะที่ลำบากมากในระหว่างพวกกบฏซึ่งมีราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ไปเกี่ยวข้องด้วยกับรัฐบาลคณะปฏิวัติ โดยฝ่ายรัฐคณะปฏิวัติเข้าใจว่าพระองค์อาจมีส่วนสนับสนุนฝ่ายกบฏด้วย

ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่า หนังสือเล่มนี้เขียนโดยกลุ่มนิยมกษัตริย์ ซึ่งนี่ไม่ใช้ข้อกล่าวหาแต่อย่างใด  

โปรดทำความเข้าใจด้วย เพราะในที่นี้หรือที่ไหน หรือเหตุการณ์นี้หรือเหตุการณ์ไหน เราคงตัดสินแน่วแน่ลงไปโดยไร้ข้อโต้แย้งว่า ใครเป็นผู้ร้าย ใครเป็นพระเอก หรือใครจะเดินทางสายกลาง (เหยียบเรือสองแคม) ทั้งนี้ไม่ใช่เหตุผลด้านมุมมองหรือเป็นเรื่องอัตวิสัยเท่านั้น และหากจะว่ากันตามข้อเท็จจริง

ตามหลักฐานปฐมเหตุโดยไม่สืบสาวราวเรื่อง ความจริงอันเป็นที่ประจักษ์ย่อมไม่ใช่ความจริงในขั้นสัจจะที่ไร้ข้อโต้แย้ง (สัมบูรณ์)  แต่อาจเป็นความจริงในเชิงตรรกะเท่านั้น ยังมีหลายส่วนที่อ.ก.รุ่งแสง เขียนในทำนองเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น หนังสือพิมพ์ประโคมข่าว เช่น "ส่งปืนกลและทหารรักษาวังเพิ่มไปวังไกลกังวล" ให้ประชาชนเข้าใจว่ากษัตริย์สะสมอาวุธไว้เพื่อยึดอำนาจคืนจากคณะราษฎร์ ยังมีการปรุงแต่งข่าว "ตกบันไดพลอยโจน" มั่งล่ะ หรือในหน้า 195

มีความพยายามกลั่นแกล้งกษัตริย์ โดยให้กรรมกรคนหนึ่งชื่อ นายถวัติ ฤทธิเดช ฟ้องพระปกเกล้าฯ เป็นจำเลยในศาล เรื่องนายคนนี้เช่าห้องแถวของกรมพระคลังข้างที่พักอาศัย แล้วไม่ชำระค่าเช่า ครั้นถูกทวงถามตามระเบียบของเจ้าหนี้ กรรมกรคนนี้ก็ยื่นฟ้องว่าพระมหากษัตริย์ว่าหมิ่นประมาท ฯลฯ เป็นที่ทราบกันว่า พวก "สลาตินนิยม" สนับสนุนการบังอาจครั้งนี้ด้วยการจัดหาทนายโดยตลอด

ในวิถีโลดโผนของสายลับ พ.๒๔ นี้ ได้เล่าย้อนเป็นเกร็ดประวัติศาสตร์ถึงรัชกาลที่ 4 ที่พระองค์มีพระราชดำริเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยแบบอารยะประเทศหลายประการ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ พระองค์ทรงเริ่มออกพระราชกำหนดกฎหมาย เรียกว่า ประกาศรัชกาลที่ 4 และทรงร่างเอง มีฉบับหนึ่งเกี่ยวกับเสรีภาพทางศาสนา เป็นตัวอย่างวิธีการแบบประชาธิปไตย มาถึงรัชกาลที่ 5 เช่นนี้แล้วทัศนคติของฝ่ายตรงข้ามที่คิดว่าสถาบันกษัตริย์ไม่ปรารถนาประชาธิปไตยนั้น จะเป็นฟังขึ้นหรือไม่

อีกเหตุการณ์หนึ่งที่ขออนุญาตยกมากล่าวถึง คือกบฏบวรเดช หรือในนามกบฏเก้าทัพ ที่เกิดขึ้นหลังจากการปฏิวัติของคณะราษฎร์ ปี 2475 ฉันขอยกส่วนหนึ่งของบทความที่ตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ (เดือนกุมภาพันธ์ 2552) ของ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ มาแสดง เพื่อลำดับเหตุการณ์ก่อนหลัง

2475 ปฏิวัติโดยคณะราษฎร อันประกอบด้วย อำมาตยาเสนา ข้าราชการ พลเรือนและนักกฎหมาย ยึดอำนาจจาก "พระราชา" (ร.7)

2476 รัฐประหารซ้ำ 20 มิ.ย. รัฐประหารซ้ำ เมื่อ 20 มิถุนายน โดยคณะราษฎร์ทำการล้มรัฐบาลที่มีพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งถูกมองว่าเป็น "ตัวแทน" (ที่ควบคุมไม่ได้) ของ "คณะเจ้า"

และปีเดียวกันนี้ มีรัฐประหารซ้อน หรือกบฏบวรเดช (พระองค์เจ้าบวรเดช อดีตผู้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหม) ที่นำโดยอดีตเสนาบดี กลาโหมของ "พระราชา" (ร.7)

2477-2478 รัชกาลที่ 7 ทรงสละราชย์สมบัติ รัฐบาลของคณะราษฎรขาดเสถียรภาพอย่างยิ่ง รัฐบาลสนับสนุนและดันกระแส "ลัทธิอำมาตยาเสนาชาตินิยม" อันมีแกนกลางอยู่ที่เชื้อชาติไทย แทนราชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลาง ยกย่อง "เอกลักษณ์" ของชนชาติไทย กดทับพหุลักษณ์และความหลากหลายของเชื้อ ชนชาติอื่น ๆ อันหลากหลายที่มาแต่ดั้งเดิม

2482 สงครามโลกครั้งที่ 2 ระเบิดขึ้นในยุโรป นายกฯหลวงพิบูลสงครามเปลี่ยนนามประเทศจากสยาม เป็นไทย (Siam เป็น Thailand) และเรียกร้องให้มีการปรับพรมแดนระหว่างไทยกับลาวและกัมพูชาของฝรั่งเศส ที่ทำกันไว้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5

อ.ก.รุ่งแสง เขียนเกี่ยวกับการก่อกบฏบวรเดชไว้อย่างละเอียดลออ เพราะเขาเป็นคนหนึ่งที่อยู่ในเหตุการณ์ในฐานะสายลับ แถมมีพี่ชายที่คลานตามกันมาเป็นหนึ่งในกระบวนการด้วย

หน้า 154 จากการค้นคว้าและสอบหลักฐานแล้ว ปรากฎว่าพระวงวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดชเป็นคนต้นคิดแผนการยึดอำนาจครั้งนั้น จริงหรือไม่ว่าเพราะความผิดพ้องหมองพระทัยกัน   ระหว่างสมเด็จกรมพระนครสวรรค์ฯ กับพระองค์เจ้าบวรเดช พระองค์เจ้าบวรเดชจึงคิดแผนการที่จะยึดอำนาจการปกครองโดย "จงใจ" ที่จะปลดอำนาจสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ เป็นการแก้แค้น? จริงเฉพาะ เรื่องหมองหมางกัน ซึ่งเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย เพราะถ้าพระองค์เจ้าบวรฯ จะทรงคิดปฏิวัติเช่นนั้น ก็ต้องทำด้วยเหตุผลอย่างอื่น

ขณะที่หนังสือเล่มอื่นได้เขียนในทำนองว่า การคิดกบฏต่อรัฐบาลของพระองค์เจ้าบวรฯ จะว่าทำไปเพราะทนไม่ได้ที่กษัตริย์ถูกริบรอนอำนาจ ก็คงไม่ถูกต้องทั้งหมด บางเล่มว่ายังคลุมเครือ บางเล่มมีการเขียนว่าก่อนเกิดเหตุการณ์พระองค์เจ้าบวรฯ ไปเฝ้าในหลวงรัชกาลที่ 7 ถึงวังไกลกังวล หัวหิน และได้เงินมาสองแสนบาทเพื่อการนี้อีกด้วย ขณะที่อ.ก.รุ่งแสง เขียนว่าขณะที่เขาเป็นสายลับได้สืบสาวถึงขั้นทราบละเอียดในแผนการเชิงยุทธวิธีของคณะกบฏ มีใครเป็นผู้ร่วมงานกี่คน ๆ แล้วยังส่งข่าวถึงพระองค์ก่อนเหตุการณ์จะเกิดอีกด้วย

ในฐานะผู้อ่าน (อย่างฉัน) มีแต่จะงงงวยมากขึ้น ไม่รู้จะฟังใคร หากถือคติไม่รู้มากก็ไม่ทุกข์ก็ดีไป เพราะนอกจากข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์แล้ว หนังสือเล่มนี้ยังมีเกร็ดที่น่าอ่านอีกเพียบ เช่นในหน้า 80

กล่าวถึง หอวัง' ผลิตแพทย์ วิศวกรและนักปกครองมาหลายสมัย จนภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ปี 2475 วังเจ้านายถูกถือว่าไม่มีความหมายใด ๆ หอวังจึงถูกทำลายอย่างราบเรียบไม่เหลืออิฐสักก้อน ต้นไม้สักต้น เพื่อสร้างเป็นสนามกีฬาแห่งชาติ ชื่อสนามศุภชลาศัย ตามราชทินนาม หลวงศุภชลาศัย ผู้ดำริสร้าง หอวัง'  แต่เดิมคือวังของสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ พระเชษฐาของทูลกระหม่อม เมื่อท่านเจ้าของวังทิวงคตแล้ว วังนี้จึงทำหน้าที่เป็นสถานศึกษาแห่งหนึ่งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หอวังเป็นสถาปัตยกรรมคล้ายพระราชวังวินเซอร์ แต่ย่อขนาดลงเป็น 1 ใน 7 ส่วน

ส่วนที่จะยกมาอีกนี้ เป็นการแสดงถึงสำนวนโวหารอย่างนักประพันธ์ของ อ.ก.รุ่งแสง ซึ่งต่อให้ไม่มีใครรับประกันฝีไม้ลายมือ เขาก็เขียนได้น่าอ่าน

หน้า 149 ภายหลัง 24 มิถุนายน 2475 เมื่อมีการปฏิวัติก็ต้องมีปฏิกิริยาติดตามมาเหมือนเงาตามตัว ฝ่ายที่ได้ครองอำนาจก็พยายามรักษาอำนาจที่ถือว่าได้มาโดยเสี่ยงอันตรายนั้นอย่างเต็มที่ ความหวาดระแวงว่าจะถูกแย่งอำนาจกลับคืนไป ถึงกลายเป็นโรคประจำตัวอยู่ตลอดกาล นั่นคือปฏิกิริยาของฝ่ายก่อการปฏิวัติ เพื่อความปลอดภัยจึงกำเนิดอำนาจตำรวจแบบ Police State รัฐที่ปกครองด้วยอำนาจตำรวจ ผู้วิจารณ์อาจถูกจับไปคุมขังได้ง่าย ๆ จนเกิดศัพท์ใหม่ว่า โอษฐภัย ผู้ที่ถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษคือ พวกกษัตริย์นิยม (รอยัลลิสต์)

นอกจากนี้อ.ก.รุ่งแสงยังได้แสดงให้เห็นถึงเล่ห์เหลี่ยมทางการเมืองสมัยต้นของระบอบประชาธิปไตยเอาไว้หลายร้อยเล่มเกวียน อย่างที่เราคุ้นกันแค่ ไม่มีมิตรแท้ศัตรูถาวร ก็ใช่ หรือที่เขียนว่า "เสร็จศึกบวรเดชแล้วจึงมีคติเตือนใจกันไว้ว่า ใครที่คิดปฏิวัติจงอย่าได้คบกับตำรวจเป็นอันขาด"

อย่างว่านั่นแหละ หนังสือเล่มใหญ่ต้องใช้เวลาอ่าน แต่อ่านแล้วจะพบเจอกับอะไรนั้น จะให้บรรณาธิการรับประกันก็ไม่ถูกเรื่อง เอาเป็นว่าอ่านเอาเพลิดเพลินจำเริญใจเป็นขั้นหนึ่งล่ะ ส่วนใครจะได้มรรคผลวิเศษกว่าใครนั้น สุดแท้แต่อัตวิสัยของใครของมัน และ ฉัน ผู้อ่านที่ติดกับดับความอลเวงอลวนของประวัติศาสตร์ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ (ดังคำทำนายของโหราศาสตร์เมื่อสมัยต้นราชวงศ์จักรีที่ว่า ราชวงศ์นี้จะมีอายุไม่เกิน 150 ปี ซึ่งตกอยู่ในรัชสมัยรัชกาลที่ 7 พอดี) ก็ต้องหามาอ่านอีกหลายเล่ม โดยเฉพาะที่ถูกกล่าวขานอย่างเลอเลิศในแวดวงนักอ่าน เช่นผลงานของสุพจน์ ด่านตระกูล ในเล่ม นายปรีดี พนมยงค์ กับในหลวงอานันท์ฯ และกรณีสวรรคต หรือพลิกแผ่นดิน ประวัติการเมืองไทย ของ ประจวบ อัมพะเศวต เล่มที่ให้รายละเอียดยิบ ๆ มีกระทั่งใครผ้าขะม้าหลุดโน่นเลย ใครนินทาใครก็ปรากฏอยู่ด้วย เรียกว่าอ่านมันอ่านเพลินอีกเล่ม หรือผลงานของชาญวิทย์ เกษตรศิริ ที่เขียนปกในไว้ว่า

แด่ นายปรีดี พนมยงค์ และคณะราษฎร ผู้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ และระบบประชาธิปไตย

อย่างไรเสีย โปรดติดตามอ่านอีกหนึ่งตอนนะ.

 

 

บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ                     :    เค้าขวัญวรรณกรรมผู้เขียน                         :    เขมานันทะพิมพ์ครั้งที่สอง (ฉบับปรับปรุง) ตุลาคม ๒๕๔๓     :    สำนักพิมพ์ศยาม  
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ชื่อนิตยสาร      :    ฅ คน ปีที่ ๓  ฉบับที่ ๕ (๒๔)  มีนาคม ๒๕๕๑บรรณาธิการ     :    กฤษกร  วงค์กรวุฒิเจ้าของ           :    บริษัท ทีวีบูรพา จำกัด
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ ชะตากรรมของสังคมฝากความหวังไว้กับวรรณกรรมเพื่อชีวิตเห็นจะไม่ได้เสียแล้ว  หากเมื่อความเป็นไปหรือกลไกการเคลื่อนไหวของสังคมถูกนักเขียนมองสรุปอย่างง่ายเกินไป  ดังนั้นคงไม่แปลกที่ผลงานเหล่านั้นถูกนักอ่านมองผ่านอย่างง่ายเช่นกัน  เพราะนอกจากจะเชยเร่อร่าแล้ว ยังเศร้าสลด ชวนให้หดหู่...จนเกือบสิ้นหวังไม่ว่าโลกจะเศร้าได้มากแค่ไหน ก็ไม่ได้หมายรวมว่าเราจะใช้ชีวิตอยู่แต่กับโลกแห่งความเศร้าใช่หรือไม่? เพราะบ่อยครั้งเราพบว่าความเศร้าก็ไม่ใช่ความทุกข์ที่ไร้แสงสว่าง  ความคาดหวังดังกล่าวจุดประกายขึ้นต่อฉัน เมื่อตั้งใจจะอ่านรวมเรื่องสั้น โลกใบเก่ายังเศร้าเหมือนเดิม ของ…
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ       :    รายงานจากหมู่บ้าน       ประเภท         :    กวีนิพนธ์     ผู้เขียน         :    กานติ ณ ศรัทธา    จัดพิมพ์โดย     :    สำนักพิมพ์ใบไม้ผลิพิมพ์ครั้งแรก      :    มีนาคม  พ.ศ. ๒๕๕๐เขียนบทวิจารณ์     :    นายยืนยง
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ      :    ลิกอร์ พวกเขาเปลี่ยนไปประเภท    :    เรื่องสั้น    ผู้เขียน    :    จำลอง  ฝั่งชลจิตรจัดพิมพ์โดย    :    แพรวสำนักพิมพ์พิมพ์ครั้งแรก    :    มีนาคม  ๒๕๔๘    
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : ช่อการะเกด ๔๒ ( ตุลาคม – ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๐ ) ประเภท : นิตยสารเรื่องสั้นและวรรณกรรมรายสามเดือน บรรณาธิการ : สุชาติ สวัสดิ์ศรี จัดพิมพ์โดย : พิมพ์บูรพา สาเหตุที่วรรณกรรมแนวเพื่อชีวิตยังคงมีลมหายใจอยู่ในหน้าหนังสือ มีหลายเหตุผลด้วยกัน เริ่มตั้งแต่ตัวนักเขียนเองที่อาจมีรสนิยม ความรู้สึกฝังใจต่อวรรณกรรมแนวนี้ว่าทรงพลังสามารถขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลง แก้ปัญหาสังคมได้ ในที่นี้ขอกล่าวถึงเหตุผลนี้เพียงประการเดียวก่อน คำว่า แนวเพื่อชีวิต ไม่ใช่ของเชยแน่หากเราได้อ่านเพื่อชีวิตน้ำดี ซึ่งเห็นว่าเรื่องนั้นต้องมีน้ำเสียงของความรับผิดชอบสังคมและตัวเองอย่างจริงใจของนักเขียน…
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ชื่อหนังสือ      :    เถ้าถ่านแห่งวารวัน    The Remains of the Day ประเภท            :    วรรณกรรมแปลจัดพิมพ์โดย    :    แพรวสำนักพิมพ์พิมพ์ครั้งที่ ๑    :    กุมภาพันธ์   ๒๕๔๙ผู้เขียน            :    คาสึโอะ  อิชิงุโระ ผู้แปล            :    นาลันทา  คุปต์
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ ชื่อหนังสือ      :    คลื่นทะเลใต้ประเภท    :    เรื่องสั้น    จัดพิมพ์โดย    :    สำนักพิมพ์นาครพิมพ์ครั้งแรก    :    ตุลาคม  พ.ศ. ๒๕๔๘  ผู้เขียน    :    กนกพงศ์  สงสมพันธุ์, จำลอง ฝั่งชลจิตร, ไพฑูรย์ ธัญญา, ประมวล มณีโรจน์, ขจรฤทธิ์ รักษา, ภิญโญ ศรีจำลอง, พนม นันทพฤกษ์, อัตถากร บำรุง เรื่องสั้นแนวเพื่อชีวิตในเล่ม คลื่นทะเลใต้เล่มนี้  ทุกเรื่องล้วนมีความต่าง…
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ชื่อหนังสือ : คลื่นทะเลใต้ประเภท : เรื่องสั้น    จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์นาครพิมพ์ครั้งแรก : ตุลาคม  พ.ศ. ๒๕๔๘  ผู้เขียน : กนกพงศ์  สงสมพันธุ์, จำลอง ฝั่งชลจิตร, ไพฑูรย์ ธัญญา, ประมวล มณีโรจน์, ขจรฤทธิ์ รักษา, ภิญโญ ศรีจำลอง, พนม นันทพฤกษ์, อัตถากร บำรุงวรรณกรรมประเภทเรื่องสั้นมีความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการตลอดเวลาถึงปัจจุบัน ในยุคหนึ่งเรื่องสั้นเคยเป็นวรรณกรรมที่สะท้อนสภาวะปัญหาสังคม สะท้อนภาพชนชั้นที่ถูกกดขี่ เอารัดเอาเปรียบ และยุคนั้นเราเคยรู้สึกว่าเรื่องสั้นเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถปฏิวัติเปลี่ยนแปลงสังคมได้…
สวนหนังสือ
‘พิณประภา ขันธวุธ’ ชื่อหนังสือ : ฉลามผู้แต่ง: ณัฐสวาสดิ์ หมั้นทรัพย์สำนักพิมพ์ : ระหว่างบรรทัดข้อดีของการอ่านิยายสักเรื่องคือได้เห็นตอนจบของเรื่องราวเหล่านั้นไม่จำเป็นเลย...ไม่จำเป็น...ที่จะต้องเดินย่ำไปรอยเดียวกับตัวละครเล่านั้นในขณะที่สังคมไทยกำลังเคลื่อนเข้าสู่ความเป็น “วัตถุนิยม” ที่เรียกว่า เป็นวัฒนธรรมอุปโภคบริโภค อย่างเต็มรูปแบบ ลัทธิสุขนิยม (hedonism) ก็เข้ามาแทบจะแยกไม่ออก ทำให้ความเป็น ปัจเจกบุคคล ชัดเจนขึ้นทุกขณะ ทั้งสามสิ่งที่เอ่ยไปนั้นคน สังคมไทยกำลัง โดดเดี่ยว เราเปิดเผยความโดดเดี่ยวนั้นด้วยรูปแบบของ ภาษาและถ้อยคำสำนวนที่สะท้อนโลกทัศน์ของความเป็นปัจเจกนิยมได้แก่ เอาตัวรอด…
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’  ชื่อหนังสือ      :    วิมานมายา  The house of the sleeping beautiesประเภท         :    วรรณกรรมแปลจัดพิมพ์โดย    :    สำนักพิมพ์ดอกหญ้าพิมพ์ครั้งที่ ๑   :    มิถุนายน ๒๕๓๐ผู้เขียน          :    ยาสึนาริ คาวาบาตะ ผู้แปล           :    วันเพ็ญ บงกชสถิตย์   
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ ชื่อหนังสือประเภทจัดพิมพ์โดยผู้ประพันธ์ผู้แปล:::::เปโดร  ปาราโม ( PEDRO  PARAMO )วรรณกรรมแปลสำนักพิมพ์โพเอม่าฮวน รุลโฟราอูล  การวิจารณ์วรรณกรรมนั้น บ่อยครั้งมักพบว่าบทวิจารณ์ไม่ได้ช่วยให้ผู้ที่ยังไม่ได้อ่านหรืออ่านวรรณกรรมเล่มนั้นแล้วได้เข้าใจถึงแก่นสาร สาระของเรื่องลึกซึ้งขึ้น แต่สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่บทวิจารณ์ต้องมีคือ การชี้ให้เห็นหรือตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับจุดเด่นสำคัญที่ไม่อาจละเลยได้ของวรรณกรรมเล่มนั้น วรรณกรรมที่ดีย่อมถ่ายทอดผ่านมุมมองอันละเอียดอ่อน ด้วยอารมณ์ประณีตของผู้ประพันธ์…