นายยืนยง
เมื่อการอ่านประวัติศาสตร์ อันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีตนั้น ฉันว่าควรมีการเขียนหนังสือแนะนำ (How to) เป็นขั้นเป็นตอนเลยจะดีกว่าไหม เพราะมันนอกจากจะปวดเศียรเวียนเกล้ากับผู้แต่งแต่ละท่านแล้ว (ผู้แต่งบางท่านก็ชี้ชัดลงไปเลย เจตนาจะเข้าข้างฝ่ายไหน แต่บางท่านเน้นวิเคราะห์วิจารณ์ โดยที่หากผู้อ่านมีความรู้เชิงประวัติศาสตร์น้อยกว่าหางอึ่งอย่างฉัน ต้องกลับไปลงทะเบียนเรียนวิชานี้อีกหลายเล่ม) ยังทำให้ใช้เวลาอย่างมหาศาลไปกับหนังสือที่เกี่ยวเนื่องกันอีกหลายเล่ม
ไม่เป็นไร ๆ เราไม่ได้อ่านเพื่อพิพากษาใครเป็นถูกเป็นผิดมิใช่หรือ อ่านเพื่อได้อ่าน แบบกำปั้นทุบดินก็ไม่เสียหายอะไรนี่นา บางทีการอ่านแบบนี้ทำให้เรามองเห็นหน้าตาตัวเองชัดขึ้น อาจจะเกือบ ๆ ทำความเข้าใจตัวเองได้ด้วยซ้ำ ว่าไอ้ที่เราถือข้างนี้ ถือข้างโน้น มันก่อกำเนิดมาจากอะไร หรือใคร เอาล่ะ ขอนำส่วนหนึ่งที่กล่าวถึงทัศนะอันเกี่ยวกับ ปี 2475 แห่งสยามประเทศ ซึ่งคัดมาจากหนังสือ 2475 การปฏิวัติสยาม (1932 Revolution in Siam) ชาญวิทย์ เกษตรศิริ จัดพิมพ์โดย มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ ที่มีอนุทินในหน้าปกด้านในว่า
แด่ นายปรีดี พนมยงค์ และคณะราษฎร
ผู้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตย
ส่วนคำนำหน้า 26
ไม่ว่าจะถกเถียงกันว่า “2475” คืออะไร...ในที่นี้เราน่าจะมาดูกันว่าสิ่งที่เรียกว่า “สปิริต” หรือ
“จิตวิญญาณ” ของ 24 มิถุนายน 2475 นั้นคืออะไรกันแน่... ฯลฯ... ผู้เขียนมีความเห็นว่าสิ่งที่ชัดเจนที่สุด และเป็นรูปธรรมที่สุดของ 24 มิถุนายน 2475 ก็คือการเปลี่ยน “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์” มาเป็นระบอบกษัตริย์(ที่มีพระราชอำนาจ) จำกัด ภาษาอังกฤษ absolute monarchy มาเป็น limited monarchy ซึ่งก็มีความหมายเดียวกันกับ constitutional monarchy หรือ ระบอบกษัตริย์รัฐธรรมนูญนั่นเอง
จากการอ่านมาบ้าง อย่างฉัน จึงขอหยิบประเด็นที่เห็นว่าสำคัญและมีส่วนพลิกผันสัก 4 ข้อ
ข้อแรก การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน 2475
ข้อสอง เจตนาที่แท้จริงการก่อกบฏของพระองค์เจ้าบวรเดช
ข้อสาม เค้าโครงเศรษฐกิจที่เขียนโดย นายปรีดี พนมยงค์ ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์
ข้อสี่ การสละราชย์สมบัติของในหลวงรัชกาลที่ 7
ดูแล้วมีแต่เรื่องใหญ่เกินตัวทั้งนั้นเลย ใช่ไหม ครั้นจะนำเอาข้อความจากหนังสือต่าง ๆ ที่ดั้นด้นอ่านจนกองท่วมหัวมาตัดแปะให้เกิดมโนภาพก็ถือเป็นเรื่องหยาบเกินไป เพราะฉะนั้น หากใครสนใจประเด็นเหล่านี้ ฉันเห็นว่าควรไปอ่านเองตามสะดวก ที่แน่ ๆ พ.๒๗ฯ นั้นอ่านสนุกไม่แพ้นิยายเลยล่ะ
มาถึงข้อสังเกตของชาญวิทย์ เกษตรศิริ ที่ยกเอา 2475 ที่อยู่ในสำนึกของคนไทยมาเขียนอธิบายไว้ในหนังสือเล่มดังกล่าว ฉันถือว่าเป็นการคิดอย่างสร้างสรรค์ มิได้เหยียบเรือแคมใดแคมหนึ่งจนเรือเอียงกะเท่เร่จวนจะคว่ำแหล่ไม่คว่ำแหล่ จะว่าเป็นกลางหรือก็ถูก ท่านเองได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองไทยหลายเล่ม เช่น ประวัติการเมืองไทย 2475 -2500 ชาญวิทย์ เกษตรศิริ จัดพิมพ์โดย มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ พิมพ์ครั้งที่ 3 แก้ไขปรับปรุง 1 ตุลาคม 2544
ในเล่มนี้ ท่านออกตัวในบทนำว่า
บทนำในฐานะอาจารย์และนักประวัติศาสตร์อาชีพ ก็รู้ดีว่าสิ่งที่นักประวัติศาสตร์พยายามอ้างว่า “เป็นกลาง” หรือ “ปราศจากอคติ” นั้นเป็นเรื่องที่ยากเย็นยิ่ง
ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ไม่อาจเป็นภววิสัยบริสุทธิ์ได้ ทั้งนี้เพราะมันกลายเป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ขึ้นมาได้ก็โดยคุณสมบัติสำคัญที่นักประวัติศาสตร์ให้กับมัน.
เล่มหลังนี้มีเนื้อหาคล้ายคลึงกับเล่มแรก แต่ได้เขียนให้เห็นถึงสภาพสังคมที่ค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนกระบวนไปตามสภาวะ ยกตัวอย่างหน้า 19
น.19 เปิดการค้าเสรีทำให้ชาวสยามส่วนหนึ่งกับชาวสยามเชื้อสายจีนที่มีมาแต่สมัยเก่าแล้วได้ก่อตัวขึ้นเป็น “คนชั้นกลาง” ขนาดเล็ก และคนชั้นกลางที่มีลักษณะเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ บุตรหลานของคนชั้นกลางที่จำนวนไม่น้อย ได้รับการศึกษาแผนใหม่ และได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการใหม่ ในขณะเดียวกันนอกเหนือจากการศึกษาแบบใหม่ภายในประเทศแล้ว รัฐบาลสยามก็ยังได้คัดเลือกบรรดานักเรียนที่เรียนเก่งเป็นพิเศษส่งไปศึกษาต่อในต่างประเทศ สมาชิกส่วนหนึ่งของคณะราษฎรดังกล่าวเป็นนักเรียนที่ได้รับการศึกษาในฝรั่งเศส แล้วเริ่มคบคิดวางแผนที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองกันตั้งแต่สมัยที่อยู่ในกรุงปารีส เมื่อปลาย คริสต์ศตวรรษ 1920 หรือต้นรัชกาลที่ 7
ดังนั้นเราจึงได้รู้ว่านักเรียนทุนของกษัตริย์นั้น ได้นำแก่นแท้ของวิชาความรู้มาใช้พัฒนาประเทศอย่างแท้จริงไม่ใช่หรือ หากจะกล่าวหาว่านายปรีดี นักเรียนทุนเป็นคนเนรคุณเพราะนำความรู้มาล้มล้างสถาบันกษัตริย์ย่อมไม่ถูกเป็นแน่ เป็นการใส่ร้ายกันอย่างไร้สามัญสำนึกที่สุด หรือแม้กระทั่งกรณีเค้าโครงเศรษฐกิจแห่งชาติ หรือสมุดปกเหลือง ที่นายปรีดี เป็นคนร่าง จะมี “ความคิด” อย่างที่เรียกกันว่าคอมมิวนิสต์นั้น หนังสือหลายเล่มได้เขียนไว้อย่างละเอียด รวมทั้งเล่มนี้ด้วย ใครอยากศึกษาย่อมไม่ยากเกินกำลังความสามารถ แต่ที่ส่วนที่สำคัญไม่แพ้เนื้อหาการวิเคราะห์ของชาญวิทย์ เกษตรศิริแล้ว ยังมีส่วนหลังที่เป็น ภาคผนวกเอกสารประวัติศาสตร์ ที่รวบรวมโดย ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ เช่น
ประกาศคณะราษฎร (ฉบับที่ 1)
พระบรมราโชวาท พระราชทานในที่ประชุมนายทหาร เมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2474 เรื่องการเงินฝืดเคือง
หนังสือกราบบังคมทูล ร. 7
คณะราษฎรประกาศแก่หนังสือพิมพ์
สำเนาวิทยุ โทรเลข
พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475
ฯลฯ ที่น่าจะนำมาพิจารณาควบคู่ไปกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ด้วย
มาถึงอีกเล่มหนึ่งที่ว่าให้รายละเอียดชนิดผู้เขียนอยู่ในเหตุการณ์เลยทีเดียว นั่นคือ
พลิกแผ่นดิน โดย ประจวบ อัมพะเศวต
ประวัติการเมืองไทย 24 มิถุนายน 2475 – 14 ตุลาคม 2514 สำนักพิมพ์สุขภาพใจ พิมพ์ครั้งที่ 1 กันยายน 2543 ขอยกตอนสนุก ๆ มาให้อ่าน หากใครสนใจก็เชิญหามาอ่านได้
เหตุการณ์ตอนเกิดปฏิวัติคณะราษฎร์ เมื่อเช้าตรู่วันที่ 24 มิถุนายน 2475
มีการจับขุนนาง ราชวงศ์ไปขังรวมไว้ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม มีเจ้านายพระองค์หนึ่งยังอยู่ในชุดใส่ผ้า
ขะม้าผืนเดียว พระองค์ถามว่าใครเป็นคนก่อเหตุ พอได้รับคำตอบ ก็เกิดอาการกลั้นไม่อยู่ถึงขั้นลุกขึ้นมาจะเตะกันโดยไม่คำนึงสายตาใครเลย ทั้งนี้ผู้แต่งได้ใส่ชื่อบุคคลลงไปด้วย
หรือ
น.29 หลวงศุภชลาศัยได้รับคำสั่งจากผุ้รักษาพระนครฝ่ายทหาร นำเรือรบสุโขทัยไปหัวหิน พร้อมทูลเชิญเสด็จพระราชดำเนินกลับพระนคร หลวงศุภชลาศัยสั่งผบ.เรือรบสุโขทัยว่า ถ้าตนไม่กลับมาจาก
“ไกลกังวล” ภายใน 1 ชั่วโมง ก็ให้สั่งปืนเรือสุโขทัย ระดมยิงเข้าไปที่พระราชวังโดยไม่ต้องห่วงชีวิตตน
ขณะที่เหตุการณ์ปฏิวัติดังกล่าวมีคนเขียนไว้หลายสำนวน แล้ว พ.๒๙ ของเราเขียนไว้อย่างไร ลองอ่านดู
หน้า 152 การปฏิวัติเปลี่ยนระบอบการปกครองจากราชาธิปไตยมาสู่ประชาธิปไตย เมื่อ 24 มิถุนายน 2475 นั้นได้มีผู้เขียนไว้มากแล้วในสำนวนความและแง่มุมต่าง ๆ กัน ซึ่งเมื่อสรุปเรื่องแล้ว ก็ปรากฎว่าเป็นความจริงตรงกันว่าความสำเร็จอย่างง่ายดายของการปฏิวัติด้านทหารที่ลานพระบรมรูปทรงม้าในเช้าวันนั้น เกิดจากการใช้เล่ห์กระเท่หลอกลวงกันอย่างห้าวหาญเป็นประวัติการณ์ของการ “ต้มหมู” นายทหารกลุ่มใหญ่ถูกหลอกให้ไปชุมนุม แล้วผู้ก่อการฝ่ายทหารก็ใช้กำลังของนายทหารเพียงไม่กี่คนบังคับให้ร่วมทำการกบฏยึดอำนาจการปกครองตามแผนการอันเป็นกลวิธีที่แนบเนียนอย่างยิ่ง กว่าบรรดาผู้ถูก “ตุ๋น” จะรู้สึกตัวก็ถึงขนาดเปื่อยยุ่ย จนต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของฝ่ายผู้ก่อการอย่างดิ้นไม่หลุดเสียแล้ว
ขณะที่เล่มอื่นได้เขียนกันไปตามสำนวนและทัศนคติอย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว ลองมาดูผลงานของสุพจน์ ด่านตระกูล กันบ้าง
จากหนังสือเรื่อง นายปรีดี พนมยงค์ กับ ในหลวงอานันท์ฯ และ กรณีสวรรคต โดย สุพจน์ ด่านตระกูล
พิมพ์ครั้งแรก ธันวาคม 2541 จัดพิมพ์โดย สถาบันวิทยาศาสตร์สังคม (ประเทศไทย)
ซึ่งเน้นบทบาทของนายปรีดี พนมยงค์ระหว่างเหตุการณ์รัชกาลที่ 7 ทรงสละราชย์สมบัติ กระทั่งถึงรัชกาลที่ 8 ทรงเสด็จสวรรคต
สุพจน์ ด่านตระกูล ก็เป็นอีกท่านหนึ่งที่มีผลงานด้านประวัติศาสตร์หลายเล่ม และเล่มนี้เขาเขียนเหมือนได้แก้ต่างให้นายปรีดีในทางหนึ่ง เพราะหากอ่านแล้วเราจะได้รู้ซึ้งว่า การแย่งชิงอำนาจที่แท้จริงนั้น ไม่ใช่พระมหากษัตริย์เป็นฝ่ายลงมายื้อแย่งแต่อย่างใด แต่หากเป็นการฉุดกระชากกันระหว่างอำมาตยาเสนาบดีและเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ผู้มักใหญ่ใฝ่สูงเกินตัว มีการใส่ร้ายป้ายสี เล่นเกมการเมือง ใช้สื่อหนังสือพิมพ์เป็นเครื่องมือทั้งสิ้น ซึ่งไม่ผิดกับสมัยนี้เลย สุพจน์ยังได้เท้าความไปถึงการขึ้นเสวยราชย์ของรัชกาลที่ 8 โดยอ้างบันทึกฉบับหนึ่งด้วย ผู้สนใจสามารถหามาอ่านได้
จำได้แม่นเลยว่าเมื่อหลายปีก่อนที่ยังเป็นนักศึกษา ฉันเป็นเคยคุยกับพ่อเรื่องกรณีสวรรคตรัชกาลที่ 8
พ่อแนะนำว่าถ้าอยากรู้เรื่องให้ไปหาอ่านหนังสือเอาเอง แต่เน้นให้เลือกอ่านเล่มที่ไม่ใส่ร้ายป้ายสี และไม่บิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อสร้างประวัติศาสตร์ฉบับยกยอปอปั้นใคร โดยเฉพาะพวกฝ่ายขวา (พ่อเน้นย้ำตาแดง ๆ ) ฉันจำได้ พ่อเอ่ยชื่อสุพจน์ ด่านตระกูล เพียงชื่อเดียว และฉันก็เชื่อพ่อ ครั้งนั้นนานมาแล้ว ถึงวันนี้ก็ยังศรัทธาผลงานของสุพจน์ ด่านตระกูล ซึ่งอันที่จริง ในฐานะยุวชนรุ่นหลัง ฉันควรเรียกท่านว่าคุณลุงด้วยซ้ำไป ส่วนอีกเล่มที่เก็บไว้เป็นหนังสือเก่า ปกแข็งสีขาว ชื่อว่า ชีวิตและผลงานของปรีดี พนมยงค์
วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2552 ที่ผ่าน คุณลุงสุพจน์ ด่านตระกูลได้แก่กรรมลงแล้วอย่างสงบด้วย โรคมะเร็งในต่อมน้ำเหลือง ฉันขอร่วมคารวะดวงวิญญาณแห่งความเป็นมนุษย์ของท่าน ขอไว้อาลัย ณ ที่นี้ ขอท่านได้โปรดรับรู้ด้วยว่ายังมีผู้คนอีกจำนวนมากที่ได้รับประโยชน์คณานับจากผลงานเขียนของท่าน
สำหรับฉันผู้กลายเป็นคนงงงวยตลอดกาลไปแล้วเมื่อเจอเข้ากับหนังสือประวัติศาสตร์หลายเล่มและหลายผู้แต่ง ยังไม่สามารถหาข้อสรุปอะไรเป็นชิ้นเป็นอันได้ จึงบอกตัวเองว่า อ่านต่อไปเถอะ ผู้แต่งเขาเขียนสนุกดี แถมยังทำให้สืบสาวไปถึงหนังสือเล่มอื่นได้อีกเป็นร้อย (เหมือนจดหมายลูกโซ่ยังไงยังงั้น) และแม้ข้อสังเกต 4 ข้อที่ได้ให้ไว้กับตัวเอง จะไม่ได้ไขความให้กระจ่าง ฉันยังรู้สึกยินดีและสำนึกในบุญคุณที่นักประวัติศาสตร์ยังไม่ลดละความพยายามที่จะดำเนินหน้าที่นักวิชาการของท่านต่อไป ทั้งนี้เพื่อประโยชน์แก่อนุชนรุ่นหลัง ผู้ซึ่งยังไม่รู้ว่าชะตากรรมในอดีตของบรรพบุรุษพวกเขาถูกเล่นงานด้วยน้ำมือของฝ่ายใดบ้าง.