นายยืนยง
นวนิยายเรื่อง : บ้านก้านมะยม
สำนักพิมพ์ : นิลุบล
ผู้แต่ง : ประภัสสร เสวิกุล
อาขยาน เป็นบทท่องจำที่เด็กวัยประถมล้วนมีประสบการณ์ในการท่องจนเสียงแหบแห้งมาบ้างแล้ว ทุกครั้งที่แว่วเสียง ...
แมวเอ๋ยแมวเหมียว รูปร่างประเปรียวเป็นนักหนา หรือ
มานี มานะ จะปะกระทะ มะระ อะไร จะไป จะดู หรือ
บ้าใบ้ถือใยบัว หูตามัวมาใกล้เคียง เล่าท่องอย่าละเลี่ยง ยี่สิบม้วนจำจงดี ฯลฯ
เมื่อนั้น..ความรู้สึกจากอดีตเหมือนได้ลอยอ้อยอิ่งออกมาจากความทรงจำ ช่างเป็นภาพแสนอบอุ่น ทั้งรอยยิ้มและไม้เรียวของคุณครู ทั้งเสียงหัวเราะและเสียงกระซิบกระซาบจากเพื่อน ๆ ตัวน้อยในวัยเยาว์ของเรา แต่ขณะเดียวกันต้องยอมรับไปพร้อมว่า ยังมีเด็กอีกจำนวนไม่น้อยที่ไร้โอกาสเข้าถึงการศึกษาภาคประถม นวนิยายที่เขียนถึงสัมพันธภาพระหว่างครูกับลูกศิษย์ถือกำเนิดและดำรงอยู่เหมือนเป็นมนต์เสน่ห์หนึ่งของชีวิต และด้วยภาษาเขียนที่ให้ความรู้สึกอบอุ่น อ่อนโยน ชวนซาบซึ้ง ก็ทำให้นวนิยายเรื่อง บ้านก้านมะยม ก้าวออกมาจากความทรงจำอีกครั้ง
บ้านก้านมะยม ผลงานของประภัสสร เสวิกุล เป็นผลงานเขียนที่เล่าถึงความผูกพันระหว่างครูกับลูกศิษย์ ที่ความเรียบง่าย ซึ้งกินใจ แต่ความมุ่งหมายของผู้เขียน ไม่ได้หยุดอยู่เพียงเชิงชั้นการประพันธ์เท่านั้น เพราะขณะเดียวกันยังเสนอแนะให้คนในสังคมครุ่นคิดไปถึงปัญหาด้านการศึกษาและแนวทางที่เด็กด้อยโอกาสจะเข้าถึงครู เข้าถึงความรู้ ...นี่เองที่เป็นจุดน่ายกย่องยิ่งเมื่อนวนิยายเรื่องหนึ่งจะมีมรรคประโยชน์ต่อสังคมมากกว่าความงดงามทางวรรณศิลป์
กล่าวกันว่า ประภัสสร เสวิกุล ถนัดมากในการเขียนเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ (บางส่วนจาก รวมเรื่องสั้น หยาดฝน สำนักพิมพ์ผ่านฟ้าวิทยา พ.ศ.๒๕๑๙ ) ขณะที่ บ้านก้านมะยม ก็เป็นเรื่องรักในแนวถนัดของประภัสสร แต่ไม่ใช่ความรักความใคร่อย่างธรรมดา หากเป็นความรักที่ช่วยชุบชูจรรโลงสังคม เป็นรักที่ไม่เห็นแก่ตน ซึ่งล้วนน่าสนใจยิ่ง ด้วยเหตุผลที่ว่า บ้านก้านมะยมได้กระตุ้นให้รู้สึก นึก ครุ่นคิดกับปัญหาสังคม และพร้อม “กล้า” ยื่นมือเข้ามาช่วยคลี่คลาย นี่คือหลักใหญ่ใจความของนวนิยายเรื่องนี้ทีเดียว
ลักษณะเฉพาะของงานเขียนประเภทนวนิยายคือโครงเรื่องที่ซับซ้อน มีโครงเรื่องหลัก โครงเรื่องย่อยผูกร้อยและเชื่อมโยงเข้าสู่เอกภาพของโครงเรื่องหลัก เปรียบได้กับการสร้างบ้านหลังใหญ่โดยมีนักเขียนเป็นวิศวกร และกับเล่มนี้ประภัสสร ได้ออกแบบฉากหน้าเป็นโรงเรียนบ้านก้านมะยม โรงเรียนเล็ก ๆ ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นโรงเรียนทางเลือก ที่นักเรียนจะแต่งกายตามสบายและเรียนรู้อย่างมีความสุข สนุกสนาน มุ่งเน้นให้นักเรียนเป็นคนดีของสังคมในแนวทางที่ตัวเองรักและถนัด ต่างจากโรงเรียนอีกมากมายในสังคมที่เน้นหนักด้านความรู้วิชาการ การสอบแข่งขันเอาเป็นเอาตาย ซึ่งส่งผลให้สัมพันธภาพระหว่างนักเรียนเคร่งเครียดขึ้น
โรงเรียนบ้านก้านมะยมถือกำเนิดพร้อมกับความผิดหวังในคนรักของหญิงสาวจากกรุงเทพ ที่เดินทางผ่านมายังชุมชนลุ่มแม่น้ำแห่งนี้ แต่เมื่อเห็นว่าย่านตำบลท่าตลาดแห่งนี้ไม่มีโรงเรียน เธอจึงเช่าเรือนไม้จากคุณนายล้อมเพชรเพื่อใช้เป็นห้องเรียน เธอคนนั้นคือครูสายสร้อย
เรื่องดำเนินไปกระทั่งครูสาวล่วงเข้าสู่วัยชรา มีลูกศิษย์หลายต่อหลายรุ่น จากพ่อแม่ถึงรุ่นลูก ซึ่งล้วนอยู่ในตำบลท่าตลาดและใกล้เคียง กระทั่งคุณนายล้อมเพชรเร่งมาทวงบ้านซึ่งเป็นโรงเรียนบ้านก้านมะยมกลับคืน อันเป็นเหตุให้ตัวละครในเรื่องต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อให้ครูและโรงเรียนอยู่เป็นที่พึ่งของชาวบ้านท่าตลาดดังเดิม
นี้เป็นโครงเรื่องหลักที่ผู้เขียนวางไว้ แต่ยังมีจุดชวนสนใจอื่นอยู่ที่โครงเรื่องย่อยที่ผูกร้อยกันเข้ามา จากตัวละครที่ผู้เขียนได้ปูพื้นหลัง วาดความเป็นมาเป็นไปไว้อย่างมีชีวิตชีวา
ความน่าสนใจนั้นเกิดจากตัวละครนั่นเอง ผู้เขียนได้ถ่ายทอดทัศนะคติที่มีต่อผู้คน สังคม ต่อวิกฤตการณ์ หรือเรื่องที่กำลังก่อตัวเป็นวิกฤตการณ์ที่สำคัญต่าง ๆ เช่นระบบการศึกษา การล่มสลายของสังคมชนบท เพื่อเสนอแนวทางคลี่คลายปัญหา เพื่อจรรโลงสังคมให้ดีงาม โดยผูกปมความขัดแย้งไว้ ๒ ขั้ว เป็นระยะ ๆ ยกตัวอย่างเช่น คู่ระหว่างหมอพิพัฒน์กับสุนิสา คู่สามีภรรยา
หมอพิพัฒน์ นายแพทย์หนุ่มจากกรุงเทพผู้อุทิศตัวให้สังคมด้อยโอกาสเช่นบ้านท่าตลาด
สุนิสา หญิงสาวผู้มีอันจะกินจากกรุงเทพ ติดตามสามีมาอยู่ที่บ้านพักโรงพยาบาล ทั้งคู่คิดเห็นไม่ตรงกันเรื่องที่หมอพิพัฒน์อยากให้ติ๊ดตี่ ลูกสาววัยห้าขวบเข้าเรียนที่โรงเรียนบ้านก้านมะยม
ตลอดเวลา สุนิสาไม่เห็นด้วยกับการที่สามีจะมาใช้ชีวิตที่นี่ เธอเป็นห่วงอนาคตลูกสาว แต่พิพัฒน์สามีก็มีวิธีการเข้าคลี่คลายปัญหา ที่น่าสนใจคือวิธีการดังกล่าวนั้น
วิธีการของหมอพิพัฒน์ก็คือวิธีการของประภัสสรที่นำเสนอผ่านตัวละครที่เขาสร้างขึ้น เป็นวิธีที่ไม่ใช้การโน้มน้าวหรือบังคับขู่เข็ญ หากแต่พยายามดึงเอาศักยภาพภายใจของภรรยาสาวออกมา เพื่อให้เธอตระหนักในคุณค่าของตัวเอง แล้วเธอก็จะเป็นส่วนหนึ่งในกลไกที่พร้อมช่วยจรรโลงสร้างสรรค์สังคมต่อไป ระหว่างความขัดแย้งของคู่สามีภรรยา ผู้เขียนสร้างให้ ติ๊ดตี่ (ลูกสาว) เป็นตัวกลางคอยเชื่อม ซึ่ง ติ๊ดตี่ เป็นตัวแทนของความดีงาม บริสุทธิ์
เราจะสังเกตเห็นได้ตลอดเวลาขณะที่พ่อแม่ “หารือ” กันในปัญหาขัดแย้งต่าง ๆ ด้วยน้ำเสียงที่ฟังดูเหมือนทะเลาะกันในสายตาของเด็กอย่างติ๊ดตี่ ยกตัวอย่างในตอนที่ สามพ่อแม่ลูก กำลังตัดสินใจว่าติ๊ดตี่จะเข้าเรียนที่โรงเรียนบ้านก้านมะยมดีหรือไม่ ( หน้า ๓๒ )
“พูดจริง ๆ นะคะ” หญิงสาวเน้นเสียง “ถ้าไม่มีโรงเรียนที่ดีกว่านี้ ฉันสอนติ๊ดตี่อยู่กับบ้านก็ได้”
“ผมไม่เห็นว่าที่นี่มันจะเลวร้ายอะไรเลย” คุณหมอพูดอย่างใจเย็น “อย่างน้อยที่สุดก็น่าจะให้ลูกได้ใช้ชีวิตอย่างเด็กคนอื่น ๆ เขาเป็นกัน”
“ คุณเป็นหมอบ้านนอกยังไม่พอหรือคะ” สุนิสามีสีหน้าเคร่งเครียดขึ้น “ทำไมต้องให้ลูกเป็นเด็กบ้านนอกไปด้วย”
“ไม่ดีหรือ” นายแพทย์หนุ่มหัวเราะเบา ๆ “คุณก็จะได้เป็นคุณนายบ้านนอกอีกคนไง”
“คุณพ่อ – คุณแม่ ดีกันเถอะค่ะ” ติ๊ดตี่ดึงมือบิดามารดามาหากัน
ตลอดเวลาที่สองคู่ขัดแย้งมีความเห็นไม่ตรงกัน หมอพิพัฒน์ฝ่ายสามีก็จะใช้เหตุผลและอารมณ์ขันเข้าคลี่คลายสถานการณ์ ซึ่งก็ได้ผลดีทุกครั้ง ขณะเดียวกันติ๊ดตี่ ลูกสาวก็จะเป็นฝ่ายกลาง ไม่เข้าข้างพ่อหรือแม่ หรือในอีกตัวอย่างหนึ่ง ( หน้า ๑๕๐ ) ในตอนที่ติ๊ดตี่กับเพื่อน ๆ พากันหาที่ซ่อนตัวจากเข็มฉีดวัคซีนของหมอพิพัฒน์ แม้เมื่อทุกคนกลับมาอย่างปลอดภัยแล้ว ไม่วายสุนิสาผู้เป็นแม่ยังอดตัดพ้อกับสามีไม่ได้
“คุณพูดเหมือนไม่ห่วงติ๊ดตี่เลย”
“ห่วงซิ ทำไมผมจะไม่ห่วงลูก ” เขามองดูหล่อน “แต่ผมไม่เอาลูกมาเป็นห่วงคล้องคอตัวเองและไม่เอาตัวเองไปเป็นห่วงคล้องคอลูกต่างหาก โรงเรียนบ้านก้านมะยมไม่มีทางที่จะเหมือนกับโรงเรียนในกรุงเทพฯ ...เด็ก ๆ ที่บ้านก้านมะยมด้อยโอกาสที่ไม่ได้เกิดในกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ ๆ ซึ่งมีความเจริญทางวัตถุ แต่ผมก็เชื่อว่าพวกแกมีจิตใจที่บริสุทธิ์และดีงามไม่แพ้เด็ก ๆ ที่อื่น”
คำพูดของหมอล้วนแสดงออกถึงเจตคติของผู้เขียนที่ยังเชื่อมั่นในความดีงามของมนุษย์ และมองโลกในด้านที่เป็นจริง วิธีการแก้ไขปัญหาโดยไม่แบ่งฝักฝ่ายหรือโน้มน้าวให้อีกฝ่ายเป็นพวกเดียวกับตนนั้น เป็นวิธีที่ถูกนำเสนอมาตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง ซึ่งปรากฏให้เห็นและใช้ได้ผล ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภายในครอบครัว ปัญหาทะเลาะวิวาท ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสังคมมากมายนัก (ยกตัวอย่าง ตอนที่ ๖ ) เมื่อเกิดกรณีชกต่อยระหว่างเด็กชายโก๊ะ กับเด็กชาย นงค์ จนเป็นเหตุให้นายแกวกับนายนวลพ่อของเด็กชายทั้งสองต้องเป็นมวยคู่เอกแทนคู่ลูกชาย ผู้แจ้งเหตุร้ายนี้กลับไม่ขอความช่วยเหลือที่สถานีตำรวจ แต่หันมาพึ่งหมอพิพัฒน์ ด้วยประสบการณ์หมอจึงพามาตัดสินกันที่โรงเรียน เมื่อหมอรู้ว่าทั้ง ๕ ตัวการล้วนเป็นลูกศิษย์ครูสายสร้อยแห่งบ้านก้านมะยม
เมื่อฟังความจากทุกฝ่ายแล้ว ครูจึงสรุปว่า
“ถ้าคิดกันอย่างนี้ก็เป็นปัญหาโลกแตก แล้วลงท้ายก็หาทางจบไม่ได้ – ใครจะเป็นคนเริ่มต้นไม่สำคัญเท่ากับว่าใครจะเป็นคนที่ทำให้เรื่องยุติลงได้ต่างหาก – บางครั้งการยอมแพ้ ยอมเป็นฝ่ายเลิกราก็คือการเป็นผู้ชนะที่แท้จริง เป็นอย่างที่พูดกันว่า ‘ แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร ‘ นั่นแหละ”
หากครูตัดสินลงไปว่าฝ่ายใดถูกฝ่ายใดผิด ให้เกิดมีแพ้มีชนะ ปัญหาที่ตามมาคือ ความบาดหมางใจกัน และอยากแก้มือคืน ไม่บังเกิดสันติสุขที่แท้จริงได้
ขณะที่ปัญหาในส่วนย่อยถูกนำมากล่าวในเรื่องอย่างค่อยเป็นค่อยไปนั้น ปัญหาข้อหนึ่งที่ถูกกล่าวถึง คือเรื่องของการเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยภายนอก เช่นความก้าวเข้ามาของความเจริญด้านวัตถุ ที่คืบคลานเข้ามาถึงวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม
ชุมชนแห่งนี้เป็นหมู่บ้านริมน้ำ ผู้คนส่วนใหญ่ใช้ชีวิตเรียบง่าย มีเรือ จักรยานเป็นพาหนะของชาวบ้าน นอกจากหมอพิพัฒน์คนเดียวที่มีปิคอัพเก่าปุเรง ตัวละครที่เป็นตัวแทนของค่านิยมเก่าแบบอนุรักษ์นิยมซึ่งเห็นได้ชัด คือ นายแกว พ่อของเด็กชายโก๊ะ มีอาชีพขับเรือยนต์ ซึ่งกำลังถูกคุกคามจากเรือหางยาวที่กำลังอยู่ในความนิยมของผู้สัญจรขณะนั้น
ความขัดแย้งเล็ก ๆ ที่ชัดเจนนี้ ปรากฎอยู่ในตอนที่ครูสายสร้อยมาตามให้โก๊ะไปโรงเรียนเมื่ออายุถึงเกณฑ์ ขณะที่สองพ่อลูกไม่เห็นด้วย
โดยฝ่ายพ่อพูดว่า “ลูกฉัน ฉันมีปัญญาเลี้ยงมันได้”
“ใจคอพ่อจะขับเรือเลี้ยงมันไปจนแก่เลยอย่างนั้นหรือ ตะก่อนเรือเมล์ขึ้นล่องมีตั้งหลายลำ แต่ตอนนี้เรือหางก็เข้ามาแย่งคนไปเสียตั้งเยอะ ฯลฯ” “ช่างหัวมัน” พ่อชักจะหัวเสีย “ใครอยากลงเรือหางก็ช่างมัน อีกหน่อยพอล่มบ่อยเข้าก็จะรู้สึกกันเอง – อีกอย่างฉันไม่มีทางจะส่งลูกไปเข้าโรงเรียนที่อำเภอแน่นอน” แต่เมื่อรู้ว่าครูสายสร้อยเป็นคนมาตามโก๊ะไปเข้าเรียน พ่อจึงยอมอ่อนข้อให้
ปัญหาเรื่องส่งลูกเข้าเรียนนั้นถูกคลี่คลายด้วยตัวละครที่เปรียบเสมือนที่พึ่งทางใจของชุมชน (ครูสายสร้อย) ไปแล้ว แต่ปัญหาเรื่องความเจริญทางวัตถุนั้น ผู้เขียนกำหนดให้เรือยนต์ของนายแกวถูกเรือแจวคูขัดแย้งชนจนล่มกลางแม่น้ำ ตรงนี้แสดงให้เห็นถึงทัศนคติของผู้เขียนว่าเรื่องบางเรื่องหากยังแข็งขืนต่อต้าน ฝ่ายที่เจ็บปวดก็คือ ฝ่ายที่ไม่รู้จักอ่อนข้อยอมรับในด้านดีของฝ่ายตรงข้าม เปรียบดั่งไม้ใหญ่กับต้นหญ้ายามพายุกระหน่ำพัด...
สรุปได้ว่า วิธีการคลี่คลายปัญหาต่อกรณีคู่ขัดแย้งให้เกิดสันติสุขในสังคมที่ประภัสสรนำเสนอในนวนิยายเรื่องนี้ เป็นวิธีการที่เป็นธรรม คือ เมื่อมี ๒ ฝ่าย ก็ทำให้ทั้ง ๒ ฝ่ายนั้นยอมรับในส่วนผิดของตัว และยอมรับในส่วนถูกของฝ่ายตรงข้าม หรือ “ยอมรับในความเป็นอื่น”
แต่กับปัญหาที่ใหญ่กว่า หรือที่เรียกว่าเป็นปัญหาของสังคมคนหมู่มากเล่า เขากล่าวไว้อย่างไร?
ผู้เขียนสร้างตัวละครให้เกี่ยวโยง ผูกพันกันมานมนาน ทุกคนล้วนมีส่วนสัมพันธ์กับโรงเรียนบ้านก้านมะยม ครั้นเมื่อมีปัญหาทุกคนก็ร่วมมือกัน เริ่มตั้งแต่หมอพิพัฒน์กับสุนิสา เป็นตัวตั้งตัวตี ทั้งที่เป็นคนมาจากที่อื่น นายแกว นายนวล นายสังข์ ลูกศิษย์รุ่นใหญ่ ลูกศิษย์รุ่นเล็ก ชาวบ้านร้านตลาดต่างร่วมใจกันลงขันด้วยแรงกายแรงใจเต็มกำลังความสามารถ
พลังของชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงและโดยอ้อมจากปัญหาโรงเรียนบ้านก้านมะยมต้องปิดตัวลงกระทันหัน บวกกับการเข้าเจรจาของหมอพิพัฒน์และภรรยา แม้คุณนายล้อมเพชรจะใจแข็งไม่ยอม หนำซ้ำยังจงใจโก่งราคาค่าเช่าอย่างไร ปัญหาก็คลี่คลายลงไปได้ แม้จะเพียงเปราะหนึ่งเท่านั้น เพราะผู้เขียนได้วางจุดหักเหสำคัญไว้ตรงที่ผู้มีอำนาจโดยตรง มีสิทธิ์เด็ดขาดในการเข้าแก้ไขปัญหาใหญ่โตของชุมชน ซึ่งบุคคลนั้นก็คือหลานของคุณนายล้อมเพชร
สุดท้ายเรื่องก็จบลงด้วยดีเมื่อปมขัดแย้งคลายตัวลงจนเกือบจะเรียกได้ว่าถึงที่สุด ด้วยการยอมเสียสละประโยชน์ส่วนตนของสองพี่น้อง โทนี่กับจูเลีย ผู้มาจากกรุงเทพฯ เพื่อทวงสิทธิ์ในกองมรดกส่วนของพ่อจากคุณนายล้อมเพชร ผู้เป็นป้าแท้ ๆ
ทีแรก ๒ ฝ่าย (หลาน – ป้า) แสดงปฏิกิริยาชัดเจนในการเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน เพื่อก้าวเข้าสู่เป้าหมายของตัวเอง ฝ่ายหนึ่งจะเอาให้ได้ ส่วนอีกฝ่ายหวงแหนไว้สุดกำลัง แต่ปัญหาใหญ่ที่ถูกแก้ไขได้เป็นเปราะสุดท้ายโดยสองคนพี่น้องจากกรุงเทพนั้น แม้จะไม่มีน้ำหนักและรายละเอียดของตัวละครในเชิงลึกมากนัก แต่ก็ทำให้คิดต่อไปได้ว่า การที่สองพี่น้องยอมเป็นฝ่ายเลิกทวงมรดกจากป้า เพื่อให้โรงเรียนบ้านก้านมะยมเปิดทำการสอนดังเดิมนั้น เป็นการแก้ปัญหาจากฝ่ายที่มีอำนาจโดยตรง ซึ่งสรุปได้ว่า ฝ่ายที่ร่วมแก้ปัญหาคือ ๑. คนที่มีอำนาจต่อรองโดยตรง ๒. คนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง – อ้อม ย่อมต้องอาศัย ๒ ฝ่ายเข้าร่วมมือกัน
หากฝ่ายที่มีอำนาจต่อรองสูดสุด (ที่มีอำนาจเหนือกลุ่มคนที่ได้ผลกระทบโดยตรง) ไม่เห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตนเป็นสำคัญ หากแต่เห็นแก่มรรคผลของสังคมโดยรวม ปัญหาจะคลี่คลายลงได้ด้วยสันติ ประโยชน์สุขย่อมบังเกิดแก่สังคม และแน่นอนว่าทุกปัญหาย่อมมีแนวทางคลี่คลายได้ถ้ากล้าหาญและร่วมมือกันด้วยความจริงใจ.