นายยืนยง
ชื่อหนังสือ : ลิงหลอกเจ้า ลอกคราบวัตถุนิยมทางศาสนา
ผู้เขียน : เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช
ผู้แปล : วีระ สมบูรณ์ และ พจนา จันทรสันติ
จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง
พิมพ์ครั้งแรก : ตุลาคม พ.ศ.2528
เวลานี้เราต้องยอมรับเสียแล้วละว่า หนังสือธรรมะ เป็นหนังสือแนวสาระที่ติดอันดับขายดิบขายดี และมีทีท่าว่าจะคงกระแสความแรงอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
เดี๋ยวนี้ ฉันเจอใครเข้า เขามักสนทนาประสาสะแบบปนธรรมะนิด ๆ มีบางคนเข้าขั้นหน่อย ก็เทศน์ได้ทุกสถานการณ์ อย่างนี้ก็มี ไม่แน่ว่าถ้าคนนิยมอ่านหนังสือธรรมะกันหนาตาเข้า สังคมไทยอาจแปรสภาพเป็นสังคมแห่งนักบวชนอกเครื่องแบบก็เป็นได้ และการตรัสรู้อาจเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิตติดอันดับหนึ่ง มาแรงแซงโค้งบรรดาทรัพย์สินเงินทองหรือแม้กระทั่งชื่อเสียง ถ้าเป็นอย่างนั้น ยุคพระศรีอาริย์คงใกล้ถึงอยู่รอมร่อ
หากใครปรารถนาจะตรัสรู้ถึงขั้นเข้ากระแสเลือด ฉันขอแนะนำหนังสือเล่มหนึ่งที่บรรยายถึงแนวทางสู่
การตรัสรู้ เป็นหนังสือเก่าแก่ที่ขาดตลาดไปนานมากแล้ว สมควรที่สำนักพิมพ์จะรื้อฟื้นพิมพ์ซ้ำใหม่อย่างยิ่ง ไม่ใช่ด้วยเหตุผลของกระแสการตลาด แต่เป็นเหตุผลของคุณค่าที่แท้จริงของตัวมันเอง หนังสือเล่มดังกล่าวคือ ลิงหลอกเจ้า ลอกคราบวัตถุนิยมทางศาสนา นั่นเอง ผู้อ่านบางท่านจะคุ้นชื่ออยู่บ้าง
ขอนำประวัติผู้เขียนมาเปิดพิธีเสียก่อน
เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช ได้ก่อตั้งชุมชนชาวพุทธผู้ภาวนาขึ้นหลายแห่งในอเมริกาเหนือ ชุมชนที่ใหญ่ที่สุดคือ กรรม ซอง ใน บุลเดอร์ โคโลราโด และการเม โนหลิง ในบาร์เนต เวอร์มอนต์ ท่านยังเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันนโรปะ อันเป็นสถานศึกษา ซึ่งนักศึกษาอาจค้นคว้าภูมิปัญญาแบบพุทธควบคู่ไปกับภูมิปัญญาของตะวันตก ท่านยังเป็นกัลยาณมิตรและเป็นครูวิปัสสนาของนักศึกษาจำนวนมาก
เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช ในฐานะที่ท่านถูกนับเนื่องเป็นปางอวตารชาติที่สิบเอ็ดของตรุงปะ ตุลกุ จึงได้รับการอบรมบ่มเพาะอย่างเข้มงวดเพื่อให้สืบทอดเป็นเจ้าอาวาสเซอร์มังในธิเบตตะวันออก กระทั่งได้รับการอภิเษกให้สืบทอดเป็นธรรมทายาทของมิลาเรปะและปัทมสัมภาวะ
ตรุงปะต้องอพยพลี้ภัยออกจากแผ่นดินถิ่นเกิดเมื่อครั้งที่จีนคอมมิวนิสต์ได้เข้ายึดครองธิเบตเมื่อปี 1959 หลังจากได้ไปพำนักในอินเดีย 3 ปี ก็เดินทางไปอังกฤษเพื่อศึกษาศาสนาเปรียบเทียบที่อ๊อกซ์ฟอร์ด สี่ปีหลังจากนั้นจึงก่อตั้งศูนย์ศึกษาพุทธศาสนาแบบธิเบตและภาวนาขึ้นในโลกตะวันตก ถือเป็นแห่งแรก นั่นคือ สัมเย หลิง ในสกอตแลนด์
ท่านเขียนหนังสือไว้หลายเล่ม เป็นอัตชีวประวัติเล่มหนึ่งชื่อว่า Born in Tibet นอกจากนั้นมีงานทางด้านพุทธธรรมหลายเล่ม เช่น มุทรา , Cutting Through Spiritual Materialism ก็คือ ลิงหลอกเจ้าเล่มนี้ ,
Meditation in Action , The Myth of Freedom , Joumey Without Goals , และ Mandala : The Sacred Path of the Warrier.
ลิงหลอกเจ้า สภาพน่าสงสารแทบขาดใจของฉันเล่มนี้ ได้มาจากเพื่อนที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ตอนที่เขาเก็บข้าวของเพื่อเดินทางไปเรียนต่อปริญญาเอกที่ประเทศอังกฤษ หนังสือเล่มนี้ถือเป็นสมบัติ เขาว่าและมันน่าสนใจมาก ๆ ก็แน่ละสิ ในเมื่อเขาคลั่งไคล้มหายานปานนั้น แต่ฉัน ในฐานะผู้รับมรดกอันเก่าแก่และทรงภูมิกลับไม่ได้ปฏิบัติการใด ๆ ให้เกิดมรรคผลอันใดเลย อย่าว่าแต่เปิดประตูสู่แนวทางแห่งมรรคหรือการตรัสรู้เลย เอาแค่อ่านให้จบ ให้รู้เรื่องหมดจด ให้ซึมซ่านในอณูชีวิต ยังไม่อาจเอื้อม อย่างนี้เขาเรียกว่า “เสียของ” ใช่หรือเปล่า (ขอโทษนะ ’จารย์ หนังสือน่ะวิเศษสุด ฉันมันโง่เอง)
ลิงหลอกเจ้า เล่มนี้ เป็นหนังสือที่อ่านไม่จบ อะ ๆ อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่า มาอีกและ พวกอมปรัชญามาพูด โฮะ ๆ หาใช่ไม่ แต่หมายความตามนั้นจริงทุกประการ คือ อ่านจบไปบทหนึ่งแล้ว พอกลับมาอ่านซ้ำเพื่อหาประโยคเด็ด ๆ กลับรู้สึกฉงนฉงาย เอ๊ะ นี่เราอ่านจบบทนี้แล้วเหรอ? ทำไมเหมือนยังไม่ได้อ่านเลย
เป็นที่ งง มาก พอลองกลับไปอ่านอื่นที่อ่านจบไปแล้ว หรือแม้กระทั่งคำนำ ก็ปรากฏรูปการณ์เดิม ???
เมื่อเป็นเช่นนั้น ฉันไม่ควรจะบรรยายใด ๆ เลยแม้สักประโยคเดียวใช่ไหม แต่ก็หักห้ามใจไม่ได้ ในเมื่อปรารถนาให้ท่านผู้อ่านทั้งหลายได้ลิ้มลองอ่าน ลิงหลอกเจ้า ดูสักที อย่างน้อยก็เพื่อเปรียบเทียบหนังสือธรรมะในตลาดทุกวันนี้กับเมื่อหลายปีก่อน แตกต่างกันอย่างไรบ้าง แล้ววัตถุนิยมทางศาสนาคืออะไร ทำไมจึงต้องลอกคราบกันด้วย ท่านผู้อ่านจะได้อ่านกันเปรมเลยทีเดียวเชียว รับประกันได้
ขึ้นชื่อว่านักบวชสายธิเบตแล้ว เราย่อมเข้าใจตรงกันว่าเป็นพุทธมหายาน
ท่านว่า มหายาน คือ ยานอันกว้างใหญ่ เป็นมโนคติที่เห็นว่า ชีวิตนั้นร่ำรวยมาแต่กำเนิด ยิ่งกว่าจะเห็นชีวิตเป็นการดิ้นรนสู่ความรุ่มรวย หากขาดความมั่นใจดังกล่าวนี้แล้ว การทำสมาธิภาวนาจะให้ผลในทางปฏิบัติไม่ได้เลย
มันช่างตรงข้ามโดยสิ้นเชิงกับทัศนคติของฉัน นี่หรือเปล่าหนอที่ทำให้ฉันอ่านลิงหลอกเจ้าแบบเสียของไปเปล่า อีกข้อหนึ่งที่ทำเอากล้า ๆ กลัว ๆ ไปด้วยคือคำบอกกล่าวที่มีลักษณะกล่าวเตือนของท่านเชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช
มีคำกล่าวกันอยู่ว่า “ไม่เริ่มต้นเสียจะดีกว่า หากเริ่มต้นแล้วรีบทำให้เสร็จดีกว่า” ดังนั้นคุณไม่ควรก้าวเข้าสู่มรรควิถีทางศาสนธรรม นอกเสียจากว่าคุณจะต้องก้าว ครั้นเมื่อคุณก้าวหน้าสู่มรรคานั้นแล้ว เมื่อคุณได้กระทำเช่นนั้นจริง ๆ แล้ว คุณถอยกลับไม่ได้ หนทางหนีนั้นไม่มีดอก”
ฉะนั้น ฉันจึงตัดสินใจได้ทันทีว่า อย่าอาจหาญก้าวสู่มรรควิถีแบบไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะเผลอเดินนวยนาดไปปลีกวิเวกปฏิบัติธรรมตามกระแสสังคม แต่นี่ย่อมไม่ใช่บทสรุป
ครั้นแล้วมาดูเนื้อหากันหน่อยเป็นไร
โดยเนื้อหาที่ฉันเกริ่นไว้ว่าเป็นตำราแห่งการตรัสรู้นั้น ประกอบไปด้วยบทบรรยายที่ชัดถ้อยชัดคำ ขณะเดียวกันก็อุดมด้วยความยอกย้อนอยู่ในความชัดเจนนั้น คล้ายกับคำสอนอย่างเซนในบางประการ ท้ายบทบรรยายจะมีคำถามของนักศึกษา และคำตอบของตรุงปะ เป็นการอธิบายเพิ่มและคลี่คลายความขัดข้องใจไปในตัว ใครเคยอ่านหนังสือของกฤษณะมูรติย่อมคุ้นเคยรูปแบบเช่นนี้อยู่บ้าง
บทบรรยายเหล่านั้นประกอบด้วย บทวัตถุนิยมทางศาสนา การยอมจำนน คุรุ อภิเษก การหลอกตัวเอง อารมณ์ขัน เรื่อยมาจนถึงบทที่ฉันตื้นตันเป็นพิเศษ แม้จะไม่ค่อยเข้าใจแต่ก็ตื้นตันได้ไม่ใช่หรือ นั่นคือ
บทพัฒนาการแห่งอัตตา
อัตตา ก็คือ ผู้เฝ้าดูตัวเรา
ฉันเพิ่งตระหนักได้ว่า แท้จริงแล้ว คนที่เรารักมากที่สุดหาใช่ใครที่ไหนไม่ แต่เป็นเจ้าอัตตาที่เฝ้าดูตัวเราอยู่ทุกเวลานานทีนั่นเอง
อย่างในหน้า 157 ที่บรรยายเกี่ยวกับ อัตตา ว่า
โดยทั่วไปลัทธิศาสนาทั้งหลายจะต้องเอ่ยถึงสาระข้อนี้ โดยเรียกชื่อต่าง ๆ กันออกไป อาลัยวิญญาณบ้างบาปดั้งเดิมบ้าง ความวิบัติของมนุษย์บ้าง พื้นฐานอัตตาบ้าง ส่วนมากมักเอ่ยถึงไว้อย่างเสียหาย
แต่ข้าพเจ้าหาได้คิดว่า มันจะน่าตระหนกหรือน่าหวาดหวั่นถึงเพียงนั้นไม่ เราไม่ต้องละลายในสิ่งที่เราเป็น ในฐานะที่มีชีวิตจิตใจ เราล้วนมีพื้นเพที่วิเศษยิ่งอยู่แล้ว พื้นเพนี้ไม่จำเป็นต้องสะอาด สว่างหรือสงบทีเดียวนัก กระนั้นก็ดี เราล้วนมีผืนดินอันอุดมพอจะหว่านเพาะได้ จะปลูกอะไรก็ได้ในนั้น ฉะนั้นในประเด็นนี้ เราจึงไม่ได้ประณามหรือพยายามกำจัดอัตตาของเรา เราเพียงแต่รับรู้มัน โดยแลเห็นมันอย่างที่มันเป็น ฯลฯ
จากย่อหน้าเกี่ยวกับอัตตานี้ ท่านได้บรรยายให้ประจักษ์ชัดว่า อัตตามีพัฒนาการอย่างไร ซึ่งเป็นการประชุมกันของเหตุปัจจัยต่าง ๆ คติพุทธเรียกว่า ขันธ์ห้า และได้อุปมาอุปไมยพัฒนาการนี้ประหนึ่ง ลิงแสนลุกลนตัวหนึ่ง ที่ถูกขังอยู่ในเรือนร้าง มีหน้าต่างห้าบาน ซึ่งในแทนอายตนะทั้งห้า ไม่แน่ว่าชื่อหนังสืออาจจะมาจาก เจ้าลิงตัวนี้ก็ได้ อันนี้เดาเอาเองนะ แต่ที่แน่นอนที่สุด เจ้าลิงลุกลนตัวนั้นก็คือตัวเรานั่นเอง ลองอ่านดูเล็กน้อยนะ
เจ้าลิงที่แสนลุกลนตัวนี้ มักคอยโผล่หัวออกนอกหน้าต่างแต่ละบาน กระโดดขึ้น กระโดดลง อย่างไม่ยอมพัก ลิงตัวนี้ถูกกักไว้ในเรือนร้าง เป็นเรือนที่มีรูปทรง ยิ่งกว่าจะเป็นป่าดงดิบที่ลิงจะกระโดดโหนห้อยได้ หรือแทนที่จะเป็นต้นไม้ใหญ่ที่มันจะได้ยินเสียดสี สิ่งทั้งหลายเหล่านี้กลับมีรูปทรงขึ้นมา ป่าดงดิบกลายเป็นเรือนที่มีรูปทรงของเจ้าลิงตัวนี้กลับกลายเป็นที่คุมขังของมัน แทนที่มันจะโหนห้อยอยู่ตามต้นไม้ มันกลับถูกโลกที่มีรูปทรงสร้างกำแพงล้อมเอาไว้ ดั่งว่าน้ำตกที่เคยไหลหล่น แลดูงดงามตระการตา กลับแข็งตัวไปเสีย เรือนที่แข็งตัวนี้ประกอบด้วย สีสันและพลังงานที่แข็งตัว หยุดนิ่งอย่างสิ้นเชิง นี่ดูเหมือนจะเป็นจุดที่กาลเวลาเริ่มปรากฏเป็นอดีต อนาคตและปัจจุบัน อาการไหลรี่ของสรรพสิ่ง กลายเป็นกาลเวลาที่มีรูปทรงจับต้องได้ เป็นการคิดค้นให้กาลเวลาเป็นตัวเป็นตนขึ้นมา
ถึงแม้ฉันจะยังเป็นงงอยู่ และลิงหลอกเจ้าก็ยังเฝ้าหลอกหลอนความมืดทึบในสติปัญญาของฉันอยู่ร่ำไป แต่หลายสูตรหรือบทบรรยายที่พอจะจับความได้นั้น สามารถเชื่อมโยงกับหลักวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะกฎฟิสิกส์สมัยใหม่อยู่มากทีเดียว มีหนังสือที่กล่าวถึงเรื่องของ “เวลา” อยู่หลายเล่ม อย่าง จักรวาลในเปลือกนัท ผลงานของสตีเฟ่น ฮอว์คิง ที่ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล แปลไว้ ท่านผู้อ่านที่ไม่ติดโรคงงอย่างฉัน น่าหามาอ่านควบคู่ไปกับลิงหลอกเจ้าเล่มนี้เป็นอย่างยิ่ง.
บล็อกของ สวนหนังสือ
สวนหนังสือ
‘ นายยืนยง ’ ชื่อหนังสือประเภทจัดพิมพ์โดยพิมพ์ครั้งที่ ๑ผู้เขียน ผู้แปล : ::::::เดวิด หนีสุดชีวิต ( I am David )วรรณกรรมแปล / นวนิยายเดนมาร์ก สำนักพิมพ์ นานมีบุ๊คส์ทีนกันยายน พ.ศ.๒๕๔๙Anne Holmอัจฉรัตน์ ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตของโลกในสภาวะต่าง ๆ ทั้งเศรษฐกิจและธรรมชาติ มนุษยชาติต่างผ่านพ้นมาแล้วซึ่งวิกฤตนานัปการ แม้แต่ในนามของสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่ผงฝุ่นแห่งความทรงจำเลวร้ายทั้งมวล เหมือนได้ล่องลอยไปตกตะกอนอยู่ภายในใจผู้คน ครอบคลุมแทบทุกแนวเส้นละติจูด แม้นเวลาจะผ่านมาเนิ่นนานเพียงไร แต่ตะกอนนั้นกลับยังคงอยู่ โดยเฉพาะในงานวรรณกรรม เดวิด…
สวนหนังสือ
โดย ‘นายยืนยง’ ชื่อหนังสือ : ภาพเหมือน ( The Portrait ) ประเภท : วรรณกรรมแปล จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ คมบาง พิมพ์ครั้งที่ ๑ : ตุลาคม ๒๕๔๔ ผู้เขียน : นิโคไล โกโกล ผู้แปล : ดลสิทธิ์ บางคมบาง จากต้นฉบับภาษาอังกฤษของ CHRISTOPHER ENGLISH …
สวนหนังสือ
โดย ‘นายยืนยง’ชื่อหนังสือ : ไตร่ตรองมองหลักประเภท : บทความพุทธปรัชญา จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ศยามพิมพ์ครั้งที่ ๒ : กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๓ : แก้ไขปรับปรุงผู้เขียน : เขมานันทะบรรณาธิการ : นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว ในกระแสนิยมปัจจุบัน แม้พุทธศาสนาจะอยู่ในรูปสภาพที่เป็นกิจการค้าความเชื่อมากมายเพียงไร และคงไม่ต้องกล่าวถึงว่าจะมีตรายี่ห้อใดบ้าง …
สวนหนังสือ
โดย นายยืนยงเรื่อง สายรุ้ง รุ่งเยือน สำนักพิมพ์ เคล็ดไทยผู้แต่ง ณรงค์ยุทธ โคตรคำ ประเภท กวีนิพนธ์ฟ้าครึ้มอยู่อย่างนี้สักสองสามวันได้ เมฆขมุกขมัวเกาะกันเคว้งคว้าง พากันลอยล่องไปตามแรงลม …ลมเย็นต้องผิวเนื้อสัมผัส รู้สึกได้ถึงลมหนาวอันสะท้านใจ โอหนอ... ลมหนาวแรกของปลายมิถุนายน โอหนอ... กวีนิพนธ์ถ้าเอ่ยชื่อ ณรงค์ยุทธ โคตรคำ กับลมหนาวแสนประหลาดของเดือนมิถุนายน ชื่อนี้คงไม่คุ้นหู ไม่ว่าในกลุ่มแขนงใด ๆ แต่การที่หนังสือกวีนิพนธ์ ชื่อ สายรุ้ง รุ่งเยือน มีประโยคเปิดหน้าปกว่า รวมบทกวีคัดสรรเล่มแรกของ ณรงค์ยุทธ โคตรคำ นั้น …