Skip to main content

นายยืนยง

ชื่อหนังสือ : ลับแล, แก่งคอย

ผู้แต่ง : อุทิศ เหมะมูล

ประเภท : นวนิยาย

จัดพิมพ์โดย : แพรวสำนักพิมพ์ พิมพ์ครั้งแรก 2552


แม้นจะพยายามทำตัวเป็นคนหัวสมัยใหม่เพียงไร ฉันก็ยังไม่อาจสลัดพื้นฐานความคิดอย่างอนุรักษ์นิยมอยู่ เหมือนอยากจะหนีแต่ก็ไปไม่พ้นสักที

 

เช่นเดียวกันการ แสดงทัศนะเกี่ยวกับวรรณกรรมที่ผ่านมาโดยเฉพาะกับ นวนิยายเรื่อง ประเทศใต้ ที่ฉันตั้งใจ "ลบ" ตัวผู้แต่งหรือนักเขียนออกไปจาก "ตัวบท" วรรณกรรมเสีย เน้นความสำคัญถึงโครงสร้างของตัวบท รวมทั้งภาษาที่มีธรรมชาติเป็นอย่าง "สัญนิยม" (convention) ระหว่างผู้แต่งกับผู้อ่าน เรา "เข้าใจ" กันตามสัญญะที่ปรากฎขึ้นจากตัวบท

 

แต่ยิ่งต้องการ "ลบ" ผู้แต่งออกไปมากเพียงไร มันกลับยิ่งหลอกหลอน คอยตอกซ้ำย้ำเตือน คอยชำแรกลงมาเป็นระยะ อย่างไม่รู้จุดหมายปลายเหตุ เช่นเดียวกับ "การเมือง" ที่ยิ่งอยาก "ตัด" ศักดินาออกไปจากใจมากเท่าไร ก็เหมือนดึงดูดความรู้สึกอย่างชนชั้นศักดินาอันไม่เสมอภาคกลับเข้าหาตัวมากเท่านั้น

 

ทั้งที่ประเทศใต้ เป็นนวนิยายที่เขียนได้ดีมาก ๆ เรื่องหนึ่ง และฉันไม่ได้มีอคติแต่อย่างใดกับ ชาคริต โภชะเรือง ผู้แต่งเรื่องนี้ แต่ฉันกลับเขียนถึงประเทศใต้ อย่างร้าย ๆ อย่างหมิ่นแคลน ออกมาได้อย่างหน้าตาเฉย

 

สารภาพว่า ฉันไม่อยากเห็นวรรณกรรมชั้นดีอย่างประเทศใต้ ถูกทำให้หลงเลือนไปในทะแลแห่งข่าวสาร โดยเฉพาะกับกระแสด้านชาของรางวัลซ๊ไรต์ และโดยเฉพาะในตลาดหนังสือบ้านเรา เรียกว่าฉันอยาก "ป่วน" สร้างกระแสเล็ก ๆ สักครั้ง และจะป่วนอย่างไรได้ หากไม่ "พูดกัน" ในแง่ร้ายเข้าว่า

 

สุดท้าย ก็เพียงแค่ความหลงผิด เพราะวรรณกรรมไทยยังคงสงวนตัวอยู่เฉพาะกลุ่มผู้สนใจวรรณกรรมอัน "เงียบอย่างมีเงื่อนงำ" ตลอดมา

 

อีกข้อหนึ่งสำหรับเหตุผลที่ต้องให้ร้ายประเทศใต้ คือ ความคาดหวังเดิม ๆ ที่มีต่อนักเขียน ไม่เฉพาะชาคริต แต่เป็นนักเขียนไทย โดยเฉพาะในกรอบของวรรณกรรมสายที่ขนานนามตัวเองว่าสร้างสรรค์


แน่นอนที่นักเขียนย่อมทำงานเขียนของตนต่อเนื่องไป ถ้าไม่ -เผลอ- ตายไปเสียก่อน ขณะเดียวกัน นักเขียนก็ย่อมมีอุดมคติในการที่จะพัฒนาผลงานให้ก้าวล้ำไปข้างหน้า ฉันเชื่อ ไม่มีนักเขียนคนไหนอยากสตั๊ฟตัวเองไว้กับผลงานเล่มเดียว ชาคริตก็เช่นเดียวกัน

 

ฉะนั้น การชี้ - โยง ให้เห็นข้อไม่ดีต่าง ๆ ในผลงานอันมีคุณภาพของเขาจึงมาจากความคาดหมายเหล่านี้ และโดยเฉพาะกับการที่วรรณกรรมไทยหลายต่อหลายนัก ยังคงมุ่งมั่นทำงานเขียน สร้างวรรณกรรมที่ยึดอิงอยู่กับบริบทอื่น ๆ ของสังคม เช่น อิงสถานการณ์ หรืออิงการเมือง อิงกระแสธรรมะ ซึ่งถือว่ายังไม่ตระหนักในอำนาจของภาษาวรรณกรรมอย่างแท้จริง ที่สามารถก่อร่างสร้างตัวผ่านสัญนิยมทั้งหลาย เป็นวรรณกรรมที่ทรงคุณค่าได้ด้วยตัวเอง หรือหากจะมีบริบทจากภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ก็เป็นไปตามกระบวนการสื่อสารเท่านั้น หากใช่การจงใจใส่บริบทจากภายนอกให้เข้ามาสิงสู่อยู่ในวรรณกรรมแต่อย่างใด

 

ไม่ใช่ว่ายิ่งสถานการณ์ความรุนแรงภาคใต้ทวีความเข้มข้นขึ้นมากเพียงไร บรรดานักเขียนก็พากันเฮโลหยิบจับเอา "ข้อเท็จจริง" มาแปรรูปเป็นเรื่องแต่งอย่างวรรณกรรมจนหมดทุกหน่วยข้อเท็จจริงเหล่านั้น โปรดอย่าลืมว่า การนำเสนอข้อเท็จจริงหาใช่มีเฉพาะงานวรรณกรรมเท่านั้น ยังมีงานเขียนประเภทอื่นที่สามารถรองรับความศักดิ์สิทธิ์ของ "ข้อเท็จจริง" อยู่ เช่น งานสารคดี ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าไม่ควรเขียนวรรณกรรมที่อิงกระแสบริบทภายนอกแต่อย่างใด

และที่น่าห่วงไปพร้อมกับน่ากราบไหว้บูชาคือ การนำเอาพุทธธรรม พุทธปรัชญา หรือพุทธพจน์มาตีความ มาดัดแปลงแปรรูปให้เป็นวรรณกรรม อย่างที่นิยมกันในขณะนี้

 

ฉันไม่เข้าใจว่า วรรณกรรมยังมีคุณค่าในตัวเองไม่ได้เชียวหรือ หรือวรรณกรรมต้อง "เกี่ยว" เอาคุณค่าในบริบทอื่น ๆ ที่ต่างก็มีคุณค่าอยู่ในตัวแล้วโดยไม่ต้อง "พึ่ง" วรรณกรรม มาแปรรูปเป็นรสชาติใหม่ แม้นว่าถึงที่สุดแล้ว มนุษย์ย่อมโหยหาศาสนาอย่างที่ฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี้ เคยสารภาพไว้เมื่อศตวรรษที่แล้ว แม้นว่าเราจะโหยหาศาสนาเพียงใด ฉันก็ไม่อยาก "เสพธรรมะ" ผ่านการ "เสพวรรณกรรม"

ไม่อยากเห็นนักเขียนตั้งธงหรือปักหมุดไว้ทีศาสนาข้อเดียว หรือปรัชญาข้อเดียว ยกตัวอย่างความมุ่งมาดปรารถนาของ ฟ้า พูลวรลักษณ์ ที่เขาได้เขียนอธิบาย "โลก" อธิบายสรรพสิ่งในห้วงเอกภพออกมาในรูปแบบของนวนิยายอันอุดมไปด้วยภูมิปัญญาล้ำลึกใน โรงเรียนที่เงียบที่สุดในโลกทั้งเล่ม 1 และ 2 ที่ฉันไม่สามารถอ่านให้จบลงไปโดยไม่ปวารนาตัวเป็นศิษย์ของอาจารย์ฟ้านักเทศนาได้เลย แม้ฟ้าจะเป็นศาสดา ฉันก็อาจจะทำใจได้ยาก

 

ฉะนั้น ฉันจึงไม่อยากโยงต่อไปถึงชาคริต และประเทศใต้ของเขาว่า ทำไมสุธนต้องเข้าร่วมขบวน "ธรรมยาตรา" ด้วย และทำไม "ธรรมยาตรา" จึงทำหน้าที่ดั่งเอกบุรุษอย่างเสมอต้นเสมอปลาย

 

เอาล่ะ เราคงต้องคาดหวังถึงผลงานในอนาคตของนักเขียนไทยกันต่อไป

 

ขณะที่บรรดาวรรณกรรมคาดหวังกันอย่างแข็งขันราวกับเห็นพ้องต้องกันว่าพุทธธรรมเท่านั้นที่จะเยียวยาความเจ็บปวดของมนุษยชาติได้ ยังมีนวนิยายเรื่องหนึ่ง ที่ก้าวขึ้นมาด้วยวิสัยของคนหนุ่ม เป็นนวนิยายที่อิงบริบทอันทรงอรรถประโยชน์และทรงอิทธิพลในสังคมน้อยมาก แต่กลับอุดมไปด้วยพลังของตัวบทเอง อย่างนวนิยายเรื่องยาว ลับแล, แก่งคอย ผลงานของอุทิศ เหมะมูล ที่ถือเป็นนวนิยายที่เขียนด้วยภาษาซึ่งดึงดูดเราให้ก้าวพ้นพรมแดนของ "เรื่องแต่ง" ได้อย่างง่ายดายราวกะพริบตา

 

ลับแล,แก่งคอย อันอุดมด้วยสัญลักษณ์ต่าง ๆ นานา อุดมด้วยบาดแผลเรื้อรัง ความฝังใจ ที่สามารถเกิดขึ้นกับมนุษย์อย่างเรา ๆ ได้ทุกรูปนาม เป็นบาดแผลที่ต้องการเยียวยาอย่างทันท่วงที แต่มันเหมือนไม่มีวันปลอดเชื้อร้ายแห่งความทุกข์ที่คอยคุกคามอยู่ทุกขณะจิต

 

เรื่องมีอยู่ว่า... เรื่องเล่าถึง เหตุการณ์ในชีวิตจากวัยเด็กสู่วัยผู้ใหญ่ มาถึงสุดท้ายของความตาย ส่งทอดเป็นจิตวิญญาณอันทุพลภาพสู่คนรุ่นลูกหลาน เพื่อค้นแสวงถึงความหมายอันแท้จริงของ "กาลเวลา" ที่ผ่านพ้นไป

 

ในนามของความเปลี่ยนแปลงอันกลับกลอกสิ้นดี

ฉันไม่เห็นด้วยแม้แต่น้อยที่ผู้แต่งเรื่องนี้ หยิบฉวยเอาวาทะของนักเขียนผู้ทรงอิทธิพลของโลกมาใช้เป็นบทนำเล็ก ๆ ในแต่ละภาคทั้ง 5 ภาคของนวนิยายเรื่องนี้ แม้นว่ามันจะเป็นความลงตัวมากมายเพียงไรก็ตาม หรือมันจะสื่อสารถึงนัยยะอื่นอันสลักสำคัญยิ่งต่อนวนิยายมากเพียงไร มันก็ไม่มีความจำเป็นใด ๆ ทั้งสิ้น

 

ขณะที่กาลเวลาหายใจของมันอยู่อย่างสม่ำเสมอนั้น มันได้กะเกณฑ์ ได้ฉีกทึ้ง ได้ชำแรกเอาความรู้สึก นึก คิด และจิตวิญญาณของเราอย่างหน้าตาเฉย ลับแล,แก่งคอยเองได้ทำหน้าที่เป็นสถานพำนักที่รอคอยการค้นพบ รอคอย..ขณะที่เร่งเร้าผู้อ่านอย่างเราทุกขณะ จนบางครั้ง มันดูเหมือนนวนิยายสืบสวนสอบสวน ที่ตัวฆาตกรคือ "ข้อเท็จจริง" ในนามของ "ความเป็นจริง" ที่จะไขรหัสสัญญะต่าง ๆ ซึ่งแขวนรอการค้นหาตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง เริ่มตั้งแต่

 

-ลับแล ชื่อเมืองอันเป็นต้นสกุลของผม มาถึงความทับซ้อนของตัวละครระหว่างลับแล (น้องชาย) กับแก่งคอย (พี่ชาย) การที่ลับแล "โยน" บุคลิกด้านร้ายที่มีอยู่ในตัวให้เป็นตัวตนของอีกคนคือ แก่งคอย กระทั่งแขนข้างที่บิดงอผิดรูปของลับแล

 

ลับแล,แก่งคอย บอกเล่าเรื่องราวของสัญชาตญาณแห่งความเป็นมนุษย์ ความหยั่งรู้ และภูมิปัญญาอันหมิ่นเหม่ และหากว่ามันจะเป็นนวนิยายเชิงอัตชีวประวัติ ของผู้แต่ง อุทิศ เหมะมูล ฉันจะไม่ถามต่อเลยว่า แล้วชีวิตของนายอุทิศ เหมะมูลและโคตรเหง้าบรรพบุรุษเขาจะมีฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์อะไรที่จะทำให้นวนิยายเรื่องนี้สลักสำคัญหรือทรงคุณค่าขึ้นมาได้ ก็แค่ประวัติคนธรรมดา ๆ ไม่ได้เป็นบุคคลผู้ทำคุณูปการแก่ประเทศชาติบ้านเมืองสักหน่อย เพราะนั่นไม่ใช่คำถามที่ควรถามกับนวนิยายเรื่องนี้

 

เพราะมันไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาจากทัศนะคติที่เชิดชูวีรบุรุษ หากแต่มันได้บอกกล่าวแก่เรา ตั้งถามร่วมกับเราอย่างองอาง และอย่างกล้า ๆ กลัว ๆ อยู่บ้างว่า ชีวิตนั้นแท้แล้วเป็นไปได้ถึงเพียงนี้ หรือเพียงไหน แท้จริงแล้วอะไรทำให้เราเจ็บปวด อะไรเปลี่ยนแปลงเรา อะไรให้กำเนิดเรา และอะไรได้พรากเราไปจากชีวิตที่แท้ของเรา

 

ข้อสุดท้าย มันได้บอกแก่เราอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า ชีวิต เป็นมากกว่า ภูมิปัญญา ที่เราจะกล่าวขานถึงความสำคัญของมัน

 

ชีวิตไม่ได้ประกอบขึ้นจากความทรงจำ และร่องรอยต่าง ๆ ที่ปรากฎเท่านั้น หากแต่มันดำเนินของมันมาแต่บรรพกาล ทั้งที่ปรากฎและไม่เคยปรากฎ ทั้งที่หลงลืมไปแล้ว และได้เลือกจดจำทั้งที่มันไม่ใช่ความจริง และทั้งที่มันถูกบิดเบือนครั้งแล้วครั้งเล่า

 

มันได้ฝังอยู่ใน "สภาพ" ของจิตวิญญาณอันฟุ้งกระจาย และไร้พันธะต่อกายภาพ หากเมื่อ "ภูมิประเทศ" แห่งสภาพจิต ถูกกดดัน ถูกไถ่ถามอย่างจะตั้งคำถาม ถึงความมีอยู่ของมัน เมื่อนั้นเอง บรรดาความเจ็บปวดรวดร้าวทั้งหลายทั้งปวงที่บิดผันอยู่เป็นบาดแผลแห่งการจองจำอันมีลมหายใจ ก็พร้อมย่างกรายออกมาเรียกร้องการชำระล้างความผิดบาปทั้งมวล ชำระล้างความจริงเท็จทั้งมวล เพื่อให้ปรากฎซึ่งความจริง มันจะคงอยู่ และเป็นเช่นนั้น

 

เหมือนกับที่ลับแลต้องยอมจำนนในขณะที่ตัวเขาเป็นดั่งสัญชาตญาณแห่งความเจ็บปวดทุรนทุรายอันฝังลึก พร้อมจะล้างแค้นหรือล้างบาปก็ได้ เขาเลือกจะล้างแค้น บิดเบือนความจริง เปลี่ยนความทรงจำแง่ร้ายเป็นภาพลวงตา เพื่อสถาปนาความจริงอันเป็นเท็จขึ้นมาตอบสนองสัญชาติญาณแห่งความเจ็บปวดนั้น

 

สุดท้าย ลับแล ต้องยอมจำนนต่อความจริง ต่อความผิดหวังครั้งใหญ่หลวงต่อหน้าหลวงพ่อ ในการชำระล้างที่ "แม่" ซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิดในครั้งเขาเป็นทารก และในครั้งนี้ แม่ก็ยังเป็นผู้ให้กำเนิดชีวิตใหม่ภายใต้บทบัญญัติแห่งความจริง ละทิ้งความคุลมเครืออันหลอนลวงในอดีต เช่นเดียวกับที่แม่เป็นผู้บิดแขนข้างหนึ่งของเขาจนคดงอผิดรูปมาถึงทุกวันนี้

 

ลับแล,แก่งคอย มีลมหายใจขึ้นมาได้ก็ด้วย "มายาคติ" ทั้งหลายที่พยายามป้องปากพูดความจริง

 

ฉันคงเขียนถึงลับแล,แก่งคอย ไม่ได้มากไปกว่านี้ และไม่พยายามยึดเหนี่ยวโครงสร้างอันซับซ้อนดุจเดียวกับร่างแหแห่งชะตากรรมสามัญออกมาติติง หรือชื่นชมได้ บางทีสัญชาตญาณแห่งความเจ็บปวดชนิดเดียวกับที่มันเคยสถิตอยู่กับลับแล ได้เคลื่อนที่มาถึงและได้ดำรงอยู่ใน "ฉัน" เฉกเช่นเดียวกัน.

 

 

 

บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ                     :    เค้าขวัญวรรณกรรมผู้เขียน                         :    เขมานันทะพิมพ์ครั้งที่สอง (ฉบับปรับปรุง) ตุลาคม ๒๕๔๓     :    สำนักพิมพ์ศยาม  
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ชื่อนิตยสาร      :    ฅ คน ปีที่ ๓  ฉบับที่ ๕ (๒๔)  มีนาคม ๒๕๕๑บรรณาธิการ     :    กฤษกร  วงค์กรวุฒิเจ้าของ           :    บริษัท ทีวีบูรพา จำกัด
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ ชะตากรรมของสังคมฝากความหวังไว้กับวรรณกรรมเพื่อชีวิตเห็นจะไม่ได้เสียแล้ว  หากเมื่อความเป็นไปหรือกลไกการเคลื่อนไหวของสังคมถูกนักเขียนมองสรุปอย่างง่ายเกินไป  ดังนั้นคงไม่แปลกที่ผลงานเหล่านั้นถูกนักอ่านมองผ่านอย่างง่ายเช่นกัน  เพราะนอกจากจะเชยเร่อร่าแล้ว ยังเศร้าสลด ชวนให้หดหู่...จนเกือบสิ้นหวังไม่ว่าโลกจะเศร้าได้มากแค่ไหน ก็ไม่ได้หมายรวมว่าเราจะใช้ชีวิตอยู่แต่กับโลกแห่งความเศร้าใช่หรือไม่? เพราะบ่อยครั้งเราพบว่าความเศร้าก็ไม่ใช่ความทุกข์ที่ไร้แสงสว่าง  ความคาดหวังดังกล่าวจุดประกายขึ้นต่อฉัน เมื่อตั้งใจจะอ่านรวมเรื่องสั้น โลกใบเก่ายังเศร้าเหมือนเดิม ของ…
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ       :    รายงานจากหมู่บ้าน       ประเภท         :    กวีนิพนธ์     ผู้เขียน         :    กานติ ณ ศรัทธา    จัดพิมพ์โดย     :    สำนักพิมพ์ใบไม้ผลิพิมพ์ครั้งแรก      :    มีนาคม  พ.ศ. ๒๕๕๐เขียนบทวิจารณ์     :    นายยืนยง
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ      :    ลิกอร์ พวกเขาเปลี่ยนไปประเภท    :    เรื่องสั้น    ผู้เขียน    :    จำลอง  ฝั่งชลจิตรจัดพิมพ์โดย    :    แพรวสำนักพิมพ์พิมพ์ครั้งแรก    :    มีนาคม  ๒๕๔๘    
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : ช่อการะเกด ๔๒ ( ตุลาคม – ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๐ ) ประเภท : นิตยสารเรื่องสั้นและวรรณกรรมรายสามเดือน บรรณาธิการ : สุชาติ สวัสดิ์ศรี จัดพิมพ์โดย : พิมพ์บูรพา สาเหตุที่วรรณกรรมแนวเพื่อชีวิตยังคงมีลมหายใจอยู่ในหน้าหนังสือ มีหลายเหตุผลด้วยกัน เริ่มตั้งแต่ตัวนักเขียนเองที่อาจมีรสนิยม ความรู้สึกฝังใจต่อวรรณกรรมแนวนี้ว่าทรงพลังสามารถขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลง แก้ปัญหาสังคมได้ ในที่นี้ขอกล่าวถึงเหตุผลนี้เพียงประการเดียวก่อน คำว่า แนวเพื่อชีวิต ไม่ใช่ของเชยแน่หากเราได้อ่านเพื่อชีวิตน้ำดี ซึ่งเห็นว่าเรื่องนั้นต้องมีน้ำเสียงของความรับผิดชอบสังคมและตัวเองอย่างจริงใจของนักเขียน…
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ชื่อหนังสือ      :    เถ้าถ่านแห่งวารวัน    The Remains of the Day ประเภท            :    วรรณกรรมแปลจัดพิมพ์โดย    :    แพรวสำนักพิมพ์พิมพ์ครั้งที่ ๑    :    กุมภาพันธ์   ๒๕๔๙ผู้เขียน            :    คาสึโอะ  อิชิงุโระ ผู้แปล            :    นาลันทา  คุปต์
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ ชื่อหนังสือ      :    คลื่นทะเลใต้ประเภท    :    เรื่องสั้น    จัดพิมพ์โดย    :    สำนักพิมพ์นาครพิมพ์ครั้งแรก    :    ตุลาคม  พ.ศ. ๒๕๔๘  ผู้เขียน    :    กนกพงศ์  สงสมพันธุ์, จำลอง ฝั่งชลจิตร, ไพฑูรย์ ธัญญา, ประมวล มณีโรจน์, ขจรฤทธิ์ รักษา, ภิญโญ ศรีจำลอง, พนม นันทพฤกษ์, อัตถากร บำรุง เรื่องสั้นแนวเพื่อชีวิตในเล่ม คลื่นทะเลใต้เล่มนี้  ทุกเรื่องล้วนมีความต่าง…
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ชื่อหนังสือ : คลื่นทะเลใต้ประเภท : เรื่องสั้น    จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์นาครพิมพ์ครั้งแรก : ตุลาคม  พ.ศ. ๒๕๔๘  ผู้เขียน : กนกพงศ์  สงสมพันธุ์, จำลอง ฝั่งชลจิตร, ไพฑูรย์ ธัญญา, ประมวล มณีโรจน์, ขจรฤทธิ์ รักษา, ภิญโญ ศรีจำลอง, พนม นันทพฤกษ์, อัตถากร บำรุงวรรณกรรมประเภทเรื่องสั้นมีความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการตลอดเวลาถึงปัจจุบัน ในยุคหนึ่งเรื่องสั้นเคยเป็นวรรณกรรมที่สะท้อนสภาวะปัญหาสังคม สะท้อนภาพชนชั้นที่ถูกกดขี่ เอารัดเอาเปรียบ และยุคนั้นเราเคยรู้สึกว่าเรื่องสั้นเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถปฏิวัติเปลี่ยนแปลงสังคมได้…
สวนหนังสือ
‘พิณประภา ขันธวุธ’ ชื่อหนังสือ : ฉลามผู้แต่ง: ณัฐสวาสดิ์ หมั้นทรัพย์สำนักพิมพ์ : ระหว่างบรรทัดข้อดีของการอ่านิยายสักเรื่องคือได้เห็นตอนจบของเรื่องราวเหล่านั้นไม่จำเป็นเลย...ไม่จำเป็น...ที่จะต้องเดินย่ำไปรอยเดียวกับตัวละครเล่านั้นในขณะที่สังคมไทยกำลังเคลื่อนเข้าสู่ความเป็น “วัตถุนิยม” ที่เรียกว่า เป็นวัฒนธรรมอุปโภคบริโภค อย่างเต็มรูปแบบ ลัทธิสุขนิยม (hedonism) ก็เข้ามาแทบจะแยกไม่ออก ทำให้ความเป็น ปัจเจกบุคคล ชัดเจนขึ้นทุกขณะ ทั้งสามสิ่งที่เอ่ยไปนั้นคน สังคมไทยกำลัง โดดเดี่ยว เราเปิดเผยความโดดเดี่ยวนั้นด้วยรูปแบบของ ภาษาและถ้อยคำสำนวนที่สะท้อนโลกทัศน์ของความเป็นปัจเจกนิยมได้แก่ เอาตัวรอด…
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’  ชื่อหนังสือ      :    วิมานมายา  The house of the sleeping beautiesประเภท         :    วรรณกรรมแปลจัดพิมพ์โดย    :    สำนักพิมพ์ดอกหญ้าพิมพ์ครั้งที่ ๑   :    มิถุนายน ๒๕๓๐ผู้เขียน          :    ยาสึนาริ คาวาบาตะ ผู้แปล           :    วันเพ็ญ บงกชสถิตย์   
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ ชื่อหนังสือประเภทจัดพิมพ์โดยผู้ประพันธ์ผู้แปล:::::เปโดร  ปาราโม ( PEDRO  PARAMO )วรรณกรรมแปลสำนักพิมพ์โพเอม่าฮวน รุลโฟราอูล  การวิจารณ์วรรณกรรมนั้น บ่อยครั้งมักพบว่าบทวิจารณ์ไม่ได้ช่วยให้ผู้ที่ยังไม่ได้อ่านหรืออ่านวรรณกรรมเล่มนั้นแล้วได้เข้าใจถึงแก่นสาร สาระของเรื่องลึกซึ้งขึ้น แต่สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่บทวิจารณ์ต้องมีคือ การชี้ให้เห็นหรือตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับจุดเด่นสำคัญที่ไม่อาจละเลยได้ของวรรณกรรมเล่มนั้น วรรณกรรมที่ดีย่อมถ่ายทอดผ่านมุมมองอันละเอียดอ่อน ด้วยอารมณ์ประณีตของผู้ประพันธ์…