Skip to main content
นายยืนยง



ชื่อหนังสือ  : ความมั่งคั่งปฏิวัติ Revolutionary Wealth
ผู้เขียน  : Alvin Toffler, Heidi Toffler
ผู้แปล  : สฤณี  อาชวานันทกุล
จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์มติชน   พิมพ์ครั้งที่ 2  มกราคม  2552

\\/--break--\>

สารภาพว่า ฉันเคยเกลียดทุนนิยมเข้าไส้ เคยปฏิเสธทุกอย่างที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของทุนนิยม อย่างเมื่อก่อนที่ใคร  ๆ บางคนพากันปฏิเสธโทรศัพท์มือถือ ต่อต้านระบบอินเตอร์เน็ต  ต่อต้านการเล่นหุ้นเพื่อเกร็งกำไร และอีกสารพัด โดยอธิบายเหตุผลของความเกลียดว่า  มันเป็นรูปแบบของระบบทุนนิยมที่จะทำลายความเป็นมนุษย์ของเรา ใครเคยเป็นอย่างฉัน หรือเอาแค่คล้าย ๆ คงพอรู้ว่า ความเกลียดไม่ได้ช่วยอะไรเลย และการทำเป็นไม่รับรู้ในการมีอยู่ของระบบทุนนิยม ก็ไม่ได้ช่วยอะไรเลยเช่นเดียวกัน 

แท้จริงแล้วระบบทุนนิยมเป็นเช่นไรหนอ ฉันขอยกบางส่วนของคำจำกัดความ จากหนังสือ รายงานลูกาโน การอนุรักษ์ระบบทุนนิยมในศตวรรษที่ 21 เขียนโดยซูซาน ยอร์จ คุณภัควดี วีระภาสพงษ์ เป็นผู้แปล ภายใต้การจัดพิมพ์ของโครงการจัดพิมพ์คบไฟ (พิมพ์ครั้งแรก กรกฎาคม 2545) มาให้อ่านกันตรงนี้ 

ระบบทุนนิยม (ในที่นี้ขอใช้ชื่อทางวิทยาศาสตร์ของมัน) ไม่ใช่สภาวะตามธรรมชาติของมนุษย์ แต่เป็นผลผลิตของการสั่งสมทางภูมิปัญญาของมนุษย์ เป็นสิ่งประดิษฐ์ทางสังคมและกล่าวได้ว่า น่าจะเป็นการประดิษฐ์คิดค้นของคนหมู่มากที่ฉลาดปราดเปรื่องที่สุดในประวัติศาสตร์

รายงานลูกาโน  เล่มนี้ ก็นับเป็นหนังสือที่น่าอ่านมากที่สุดอีกเล่มหนึ่ง  ในฐานะที่เรายังดั้นด้นอยู่ในระบบทุนนิยมทั้งที่สามานย์และไม่อยากสามานย์ 

ฉะนั้นฉันควรหันมามองมันอย่างเต็มตาสักที ค่อย ๆ ทำความรู้จักกันตามมารยาททั้งที่เคยเสียมารยาทกับมันมาก่อน และแล้วหนังสือแนวเศรษฐศาสตร์เล่มหนาปึ้กที่เพิ่งอ่านจบไป  ก็ได้นำพาความคิดของคนหัวอนุรักษ์นิยมต่อต้านทุนนิยมอย่างฉันรู้ว่า โดยระบบทุนนิยมนั้นไม่ได้น่ารังเกียจเลย หากเรารู้จักใช้มันอย่างสร้างสรรค์ และรู้เท่าทัน ที่สำคัญมันจะนำพาเราไปสู่ทุนนิยมในฝันได้ (คุณฝันไว้ว่าอย่างไรล่ะ

หนังสือเล่มนั้นคือ ความมั่งคั่งปฏิวัติ 

ดูจากชื่อหนังสือแล้ว  มี 2 คำที่ขัดแย้งกันทางความรู้สึก คือ คำว่า ความมั่งคั่ง และ ปฏิวัติ แต่มาดูอีกที มันเข้าขั้นเป็นหนทางแห่งความฝันร่วมกันของมนุษยชาติเลยทีเดียว แน่นอนว่าถ้าความมั่งคั่งเป็นผู้ปฏิวัติ ความยากจนข้นแค้นย่อมปลาสนาการไปได้กระมัง ไม่แน่ว่าโศกนาฏกรรมแห่งความยากจนจะกลายเป็นเพียงตำนานที่ใช้เล่าขานในยามที่เราหวนนึกถึงอดีตก็เป็นได้

แต่...เพียง 2 คำนี้เท่านั้นหรือ ที่จะเป็นดั่งพระเจ้าองค์ใหม่อันเป็นสากล 

ก่อนอื่น  เราจะปล่อยสัมพันธภาพระหว่างถ้อยคำ 2 คำนี้ไว้เฉย ๆ ไม่นำมาตีความร่วมกัน หากแต่จะให้ความสำคัญในเรื่องของความหมายที่แท้จริง ซึ่งผู้เขียนได้อธิบายไว้อย่างกว้าง ๆ แต่รัดกุม ดังนี้ 

ความมั่งคั่งมีชื่อเสียงทางฉาวโฉ่ตลอดมา  บริโภคนิยมเป็นคำสาป นักสิ่งแวดล้อมเรียกร้องให้คนอยู่อย่างเรียบง่าย แต่นั่นเป็นชื่อเสียงในด้านลบ  

ทอฟเลอร์  ผู้เขียนอธิบายว่า อย่างไรก็ตาม เราควรตั้งสมมุติฐานไว้ก่อนว่า จำเลยคือความมั่งคั่งนั้นเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ในความเป็นจริง มันเป็นกลาง 

กาเบรียล  เซค นักเขียนเม็กซิกัน  เคยกล่าวว่า เหนือสิ่งอื่นใด  ความมั่งคั่งคือการสะสมความเป็นไปได้ 

เราอาจนิยามความมั่งคั่งว่าหมายถึง สมบัติอะไรก็ตาม ไม่ว่าเราแบ่งให้คนอื่นใช้หรือไม่แบ่ง, มีสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า “อรรถประโยชน์” มันส่งมอบความอยู่ดีมีสุขหรือไม่เราก็สามารถแลกมันกับความมั่งคั่งในรูปแบบอื่น... 

พูดง่าย ๆ ระบบความมั่งคั่งในที่นี้หมายถึง  สิ่งต่าง ๆ นอกเหนือจากเงินที่มนุษย์ให้คุณค่าไว้แล้วนั่นเอง
ขณะที่คำว่าปฏิวัติ ทอฟเลอร์เขียนไว้ว่า
 

การปฏิวัติ  คือ การเปลี่ยนชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ 
และการปฏิวัติมี 2 หน้าเสมอ วันนี้ก็เหมือนกัน หน้าหนึ่งคือหน้าโกรธแห่งความล่มสลายของเก่า ๆ ฉีกแยกออกจากกันและพังทลายลงมา หน้าที่สองคือหน้ายิ้มแห่งการผสานใหม่ เมื่อทั้งของเก่าและของใหม่เสียบปลั๊กเข้าด้วยกันด้วยวิธีใหม่ ๆ  
วันนี้  ความมั่งคั่งไม่เพียงปฏิวัติไปแล้ว  แต่กำลังจะถูกปฏิวัติไปมากขึ้นเรื่อย  ๆ นี่ไม่ใช่เรื่องของเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว ด้วยมันเป็นเรื่องของการปฏิวัติของจิตใจ 

เชื่อไหมว่าหนังสือเล่มนี้ สองสามีภรรยาผู้แต่งใช้เวลาเขียนและรวบรวมข้อมูลนานถึง 12 ปี แน่นอนว่าข้อมูลหรือแนวคิดบางอย่างอาจล้าหลังไปบ้าง แต่หัวใจของหนังสือเล่มนี้ยังคงถ่ายทอดแนวคิดสร้างสรรค์ได้อย่างไม่หยุดนิ่ง 

แท้จริงแล้วการปฏิวัติครั้งนี้ได้เริ่มต้นตั้งแต่มนุษย์สามารถผลิตส่วนเกินทางเศรษฐกิจได้เป็นครั้งแรก ส่วนเกินเหล่านี้ถูกนำมาเสียภาษี สร้างวัดโบสถ์ สร้างวังและสร้างศิลปิน นี่นับเป็นคลื่นลูกแรกของความมั่งคั่ง  ที่เกิดขึ้นยุคเกษตรกรรม ทอฟเลอร์ได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษเช่นเดียวกับนักเศรษฐศาสตร์ทั่วไปในเรื่องของปัจจัยความมั่งคั่ง อันได้แก่ เวลา สถานที่ และความรู้ 

ขณะที่เราเริ่มสับสนในธรรมชาติของเวลา ที่นักฟิสิกส์ได้ค้นพบทฤษฎีใหม่ ๆ เกี่ยวกับกำเนิดของเอกภพ ซึ่งสั่นคลอนแนวคิดของเวลาที่เราเคยเชื่อ น่าสังเกตว่ากระบวนการของความรู้เริ่มมีอายุขัย คือเมื่อวันหนึ่งมันเคยเป็นความจริง แต่ในอีกวันหนึ่งมันกลับยอกย้อนอยู่ในตัวเอง ชวนให้ฉงนฉงาย เช่นเดียวกับข้อเท็จจริงที่มีอายุสั้นลงทุกขณะเมื่อเทคโนโลยีหรือการปฏิวัติข้อมูลข่าวสารถือกำเนิดขึ้น 

ความน่าสนใจของการปฏิวัติอยู่ตรงไหน หลายคนให้ข้อสังเกตว่า การปฏิวัติจะส่งผลต่อสภาพจิตใจของปัจเจกบุคคลและสังคมในขณะที่เกิดการปะทะกันระหว่างคนในคลื่นลูกเก่ากับคลื่นลูกใหม่ ที่ต่างก็อาศัยปัจจัยเดียวกันในการสร้างความมั่งคั่งในยุคสมัยของตัวเอง ยกตัวอย่าง คลื่นลูกที่สอง ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่ได้ใช้เวลา สถานที่ และความรู้ เช่นเดียวกันคลื่นลูกที่สาม  

ระหว่างคลื่นลูกที่หนึ่งซึ่งใช้แรงงานคนเป็นหลักในการผลิต เมื่อเปลี่ยนจากแรงงานคนมาเป็นเครื่องจักรในการผลิต สภาพความคิดจิตใจของคนซึ่งถูกเครื่องจักรมาทดแทนนั้นเป็นเช่นไร วิถีชีวิตซึ่งเปลี่ยนแปลงไปเป็นเช่นไร จึงเกิดความคิดที่จะพัฒนาศักยภาพของคนให้เป็นได้มากกว่าเครื่องจักร เพื่อนำพาตัวเองไปข้างหน้า สู่คลื่นลูกที่สาม อันเป็นการนำปัจจัยเรื่องเวลา สถานที่และความรู้มาสร้างระบบความมั่งคั่งขึ้นใหม่ ในนามของเทคโนโลยี 

ทุกวันนี้ เราจากที่เคยอยู่ในฐานะผู้บริโภคหรือผู้ผลิตอย่างใดอย่างหนึ่ง  แต่การปฏิวัติความมั่งคั่งได้ขยายขอบเขตแห่งความเป็นไปได้ส่งมอบมาสู่เราด้วยอิทธิพลของการโฆษณาแบบตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง ยกตัวอย่างง่าย ๆ เรื่องบัตร ATM ที่เมื่อก่อนมันได้มาขยายขอบเขตธุรกรรมการเงินให้เกิดขึ้นได้แม้ในช่วงเวลาที่ธนาคารปิดทำการ เราได้รับความสะดวกสบาย รวดเร็ว ไม่ต้องยืนรอพนักงานธนาคารทำหน้าที่รับฝาก-ถอนเงินเหมือนในอดีต โดยที่เราต้องเสียค่าธรรมเนียมแรกเข้าและค่าธรรมเนียมรายปี เพื่อทำหน้าที่เสมือนลูกจ้างของธนาคาร (เทเลอร์) มีหน้าที่รับฝาก-ถอนเงินเอง ความผิดพลาดอันเกิดขึ้นแก่เราก็ย่อมตกเป็นภาระของเราด้วย หรืออย่างในซุปเปอร์มาร์เก็ตที่ให้เราเลือกหยิบสินค้าได้เองตามสะดวก สามารถเช็คราคาขายสินค้าได้เองอย่างที่เราคุ้นเคยกับมันไปแล้ว  

ในสองกรณีที่ยกตัวอย่างนี้ ถือเป็นการย้ายงานไปยังผู้บริโภค โดยให้ลูกค้าเกิดมายาคติว่ากำลังประหยัดอยู่ ขณะที่บริษัทก็สามารถลดต้นทุนค่าจ้างแรงงานไปได้ เราเรียกกระบวนการนี้ว่าแปลงผู้บริโภคให้เป็นผู้ผลิต-บริโภคได้ด้วย หรือแม้แต่กรณีที่ผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าประเภททุน เช่น เครื่องมือช่าง เครื่องมือตรวจระดับน้ำตาลในเลือด เครื่องคอมพิวเตอร์ พริ้นเตอร์ กล้อง VDO ซึ่งอำนวยความสะดวกให้เราอย่างที่เรียกว่า ทำเองได้ง่าย สะดวก ประหยัด ซึ่งทางการตลาดเรียกว่าตลาดพึ่งพาตัวเอง  

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งในการยกตัวอย่าง ที่ทำให้เราได้รู้แจ้งชัดถึงกลไกของการตลาด ที่ผู้ผลิต-บริโภคอย่างเราอาจยังไม่ทันรู้สึก เพราะแม้แต่พนักงานกินเงินเดือนก็สมควรที่จะออกมาเรียกร้องขอรับค่าจ้างในอัตรานาทีต่อนาที จากที่เคยรับค่าจ้างรายเดือนหลังจากทำงานมาหนึ่งเดือนเต็ม (ทำงานก่อนรับเงินทีหลัง) ซึ่งหากเรามีเทคโนโลยีอย่างที่เราใช้ทุกวันนี้ การคำนวณอัตราค่าจ้างเป็นนาทีหรือวินาทีย่อมไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร หากไม่เช่นนั้น เราต้องถือได้ว่าเป็นเจ้าหนี้ของนายจ้าง โดยที่นายจ้างได้กู้ยืมเงินเดือนของเราแบบไร้ดอกเบี้ย เป็นระยะเวลาหนึ่งเดือนในช่วงที่เราทำงานและยังไม่ได้รับเงินเดือน 

โดยภาพรวมแล้วทอฟเลอร์เห็นว่า การปฏิวัติครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากภาครัฐ เอกชนเป็นสำคัญ หากแต่เกิดจากความเคลื่อนไหวทางความคิดอยู่ตลอดเวลาของปัจเจกชนเป็นสำคัญ หากปัจเจกชนสามารถแปรปัจจัยพื้นฐาน (เวลา สถานที่และความรู้) ให้เป็นความมั่งคั่งได้ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของผู้ประกอบการเพื่อสังคม หรือเพื่ออนุรักษ์โลกอย่างใด ๆ ย่อมสร้างความมั่งคั่งให้เกิดขึ้นได้ เพราะระเบิดเวลาของการเป็นผู้ผลิต-บริโภคอย่างทุกวันนี้ใกล้มาถึงจุดจบแล้ว  

ถึงตอนนั้นพลังสำคัญที่จะสร้างสรรค์ระบบทุนนิยมก็คือปัจเจกชน หาใช่บริษัทใหญ่ ๆ อย่างเช่นทุกวันนี้ และในนามของปัจเจกชนที่ผนึกกำลังต่อต้านการเอารัดเอาเปรียบของทุนใหญ่ ก็จะสามารถใช้เครื่องมือที่เคยทิ่มแทงเราตลอดมา นำมาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์ เช่นเดียวกับที่เอ็นจีโอที่ต่อต้านการใช้เทคโนโลยีแบบไม่ลืมหูลืมตา ก็ใช้เทคโนโลยีนั้นเพื่อประชาสัมพันธ์แนวคิด เพื่อระดมทุนและระดมพลังเพื่อบรรลุถึงเป้าหมายของตัวเอง  

ฝากทิ้งท้ายสำหรับผู้สนใจ  ยังมีหนังสืออีกเล่มหนึ่ง ที่ฉันยังไม่ได้อ่าน ซึ่งคุณสฤณี  อาชวานันทกุล ผู้แปลความมั่งคั่งปฏิวัติเล่มนี้ได้แปลไว้ คือ พลังของคนหัวรั้น The Power Of  Unreasonable People ทั้งนี้

ผู้แปลเองได้แสดงความหวังไว้ว่า  เมื่อเราปลูกฝังสำนึกทางสังคมได้สูงเพียงพอ  การดำเนินชีวิตของนักธุรกิจและนักคิดในระบอบทุนนิยมที่มีสำนึกทางสังคมสูงเป็นความหวังที่ไม่ไกลเกินเอื้อม

 

 

บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
นายยืนยง ถ้าเปรียบสวนหนังสือเหมือนผืนดินแห่งหนึ่งแล้วล่ะก็ ผู้เขียนเองก็ได้แสดงความคิดเห็นต่อหนังสือ จากการอ่านผลงานทางวรรณกรรมของบรรดานักประพันธ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะรูปแบบเรื่องสั้น นวนิยาย หรือกระทั่งกวีนิพนธ์บางเล่ม ข้อเขียนที่มีต่อหนังสือบางเล่มหรือเรื่องบางเรื่อง อาจแบ่งเป็นผลรับตามสูตรคณิตศาสตร์ได้ไม่ชัดเจน ใช้หลักต้องใจต้องอารมณ์และความนึกหวังเป็นหลักก็ว่าได้
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ : จักรวาลผลัดใบ การเกิดใหม่ของจิตสำนึก ผู้เขียน : กลุ่มจิตวิวัฒน์ ประเภท : ความเรียง พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ.2549 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์มติชน  
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ           :           ชะบน ผู้เขียน               :           ธีระยุทธ  ดาวจันทึก ประเภท              :           นวนิยาย   พิมพ์ครั้งที่ 1 เมษายน 2537 จัดพิมพ์โดย        :    …
สวนหนังสือ
นายยืนยง  ชื่อหนังสือ : มนุษย์หมาป่า ผู้แต่ง : เจน ไรซ์ ผู้แปล : แดนอรัญ แสงทอง จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์หนึ่ง พิมพ์ครั้งแรก : สิงหาคม 2552
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ : บันทึกนกไขลาน (The Wind-up Bird Chronicle) ผู้เขียน : ฮารูกิ มูราคามิ (Haruki Murakami) ผู้แปล : นพดล เวชสวัสดิ์ พิมพ์ครั้งที่ 1 : กันยายน 2549 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์แม่ไก่ขยัน   “หนูอยาก...อยากจะได้มีดผ่าตัดสักเล่ม หนูจะกรีดผ่า ชะโงกหน้าเข้าไปมองข้างใน ไม่ใช่ผ่าศพคนนะ... แค่ก้อนเนื้อแห่งความตาย หนูแน่ใจว่าจะต้องมีอะไรสักอย่างซ่อนอยู่ในนั้น ก้อนกลมเหนียวหยุ่นเหมือนลูกซอฟต์บอล แก่นกลางแข็งเป็นเส้นประสาทพันขดแน่น หนูอยากหยิบออกมาจากร่างคนตาย เอาก้อนนั้นมาผ่าดู อยากรู้ว่าเป็นอะไรกันแน่... (ภาคหนึ่ง, หน้า 36)
สวนหนังสือ
นายยืนยง  เมื่อวานนี้เอง ฉันเพิ่งถามตัวเองอย่างจริงจัง แบบไม่อิงค่านิยมใด ๆ ถามออกมาจากตัวของความรู้สึกอันแท้จริง ณ เวลานี้ว่า ทำไมฉันชอบอ่านวรรณกรรมมากที่สุดในบรรดาหนังสือทั้งหลาย คุณเคยถามตัวเองด้วยคำถามเดียวกันนี้หรือเปล่า
สวนหนังสือ
นายยืนยง ฉันวาดหวังสวยหรูไว้กับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงบนผืนดินห้าไร่เศษ ที่ดินผืนสวยซึ่งพรั่งพร้อมไปด้วยปัจจัยแห่งกสิกรรม มีไม้ใหญ่ให้ร่มเงา มีบ่อน้ำขนาดใหญ่สองบ่อ และกระท่อมน้อยบนเนินเตี้ย ๆ รายล้อมไปด้วยทุ่งข้าวเขียวขจี แต่ระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน มายาแห่งหวังก็พังทลายลงต่อหน้าต่อตา ฉันจำเก็บข่มความขมขื่นไว้กับชีวิตใหม่ ในที่พำนักใหม่ ซึ่งไม่ใช่ผืนดินแห่งนี้
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ  : ความมั่งคั่งปฏิวัติ Revolutionary Wealth ผู้เขียน  : Alvin Toffler, Heidi Toffler ผู้แปล  : สฤณี  อาชวานันทกุล จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์มติชน   พิมพ์ครั้งที่ 2  มกราคม  2552
สวนหนังสือ
  และแล้วรางวัลซีไรต์ปี 2552 รอบของนวนิยายก็ประกาศผลแล้ว ปรากฏเป็นผลงานนวนิยายเรื่อง ลับแลแก่งคอย ของอุทิศ เหมะมูล โดยแพรวสำนักพิมพ์เป็นผู้จัดพิมพ์ (ประกาศผลเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2552 ที่ผ่านมา)ใครเชียร์เล่มนี้ก็ได้ไชโยกัน ฉันเองก็มีเล่มนี้เป็นหนึ่งในหลายเล่มด้วย รู้สึกสะใจลึก ๆ ที่อุทิศได้ซีไรต์ เนื่องจากเคยเชื่อว่า งานดี ๆ อย่างที่ใจเราคิดมักพลาดซีไรต์เป็นเนืองนิตย์ ผิดกับคราวนี้ที่งานดี ๆ ของนักเขียน "อย่างอุทิศ" ได้รางวัล
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ           :           นัยน์ตาของโคเสี่ยงทาย ผู้แต่ง                 :           วิสุทธิ์ ขาวเนียม ประเภท              :           กวีนิพนธ์รางวัลนายอินทร์อะวอร์ดครั้งที่ 10 จัดพิมพ์โดย        : …
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ : ลับแล, แก่งคอยผู้แต่ง : อุทิศ เหมะมูลประเภท : นวนิยายจัดพิมพ์โดย : แพรวสำนักพิมพ์ พิมพ์ครั้งแรก 2552
สวนหนังสือ
  นายยืนยงชื่อหนังสือ : ประเทศใต้ผู้เขียน : ชาคริต โภชะเรืองประเภท : นวนิยาย พิมพ์ครั้งที่ 1 มีนาคม 2552จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ก๊วนปาร์ตี้ ข้อเด่นอย่างแรกที่เห็นได้ชัดจากนวนิยายเรื่องประเทศใต้ หนึ่งในผลงานที่เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ปีนี้ คือ วิธีการดำเนินเรื่องที่กระโดดข้าม สลับกลับไปมา อย่างไม่อาจระบุว่าใช้รูปแบบความสัมพันธ์ใด ๆ ตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง หรืออย่างที่สกุล บุณยทัต เรียกในบทวิจารณ์ว่า "ไร้ระเบียบ" แต่อย่าลืมว่านวนิยายเรื่องนี้ได้เริ่มต้นที่ "ชื่อ" ของนวนิยาย ซึ่งในบทนำได้บอกไว้ว่า "ผม" ได้รับต้นฉบับนวนิยายเรื่องหนึ่งจาก "เขา" ในฐานะที่เป็นคนรู้จักกัน มันมีชื่อเรื่องว่า…