Skip to main content

นายยืนยง

 

เมื่อวานนี้เอง ฉันเพิ่งถามตัวเองอย่างจริงจัง แบบไม่อิงค่านิยมใด ๆ ถามออกมาจากตัวของความรู้สึกอันแท้จริง ณ เวลานี้ว่า ทำไมฉันชอบอ่านวรรณกรรมมากที่สุดในบรรดาหนังสือทั้งหลาย

คุณเคยถามตัวเองด้วยคำถามเดียวกันนี้หรือเปล่า

 

 

 


ใช่ เมื่อวานฉันเพิ่งอ่าน “บันทึกนกไขลาน” (The Wind-up Bird Chronicle) ผลงานของ ฮารูกิ มูราคามิ ที่ นพดล เวชสวัสดิ์ แปลเอาไว้ นี่เป็นครั้งแรกที่ได้เชยชมรสชาติวรรณกรรมของมูราคามิ ปรมาจารย์แห่งปัจเจกภาพ อย่างที่เสียงในสังคมวรรณกรรมกล่าวขานกันมานาน ฉันเคยอยาก ๆ เซ็ง ๆ กับความต้องการที่จะอ่านมูราคามิอยู่นาน จนกระทั่งในวันที่แดดลมของฤดูมรสุมกระหน่ำเข้าใส่ฉันอย่างไม่ยั้ง


เพราะ “บันทึกนกไขลาน” แท้ทีเดียวที่ทำให้ฉันค้นพบคำถามและคำตอบข้อนั้น


หนังสือวรรณกรรมมีมูลค่าหรือคุณค่าอย่างไรหรือ ฉันจึงติดใจมักนัก

หลายคนบอกว่า อ่านวรรณกรรมแล้วนอกจากจะไม่เมคมันนี่แล้ว ยังต้องจ่ายค่าเสียเวลาในการอ่านซะอีก ผิดกับหนังสือแนวพัฒนาตนเองหรือฮาวทู ซึ่งแนะนำวิธีเมคมันนี่ หรือแนวเศรษฐศาสตร์ที่เสี้ยมสอนให้เราเนรมิตทุกสิ่งทุกอย่างให้เป็นความมั่งคั่งได้


ไม่ใช่เพราะความจงรักภักดีหรอก บางทีฉันก็สนุกกับการอ่านหนังสือทำนายดวง ตื่นเต้นไปกับตำราเศรษฐศาสตร์ หรือฮาวทูนิรมิตแบบคิดบวก หรือไม่ก็กระสันเสียวไปกับหนังสืออย่างว่า แต่ท้ายที่สุดในยามที่หัวตื้อ อารมณ์เฉื่อยชา ไม่ตอบสนองกับแรงกระตุ้นทั้งหลายแหล่ ฉันจะโหยหาเจ้าวรรณกรรม เลือกไอ้ที่ถูกชะตามาสักเล่มนึง แล้วดำดิ่งไปกับมัน จมอยู่กับมันสักห้วงเวลาหนึ่ง แค่นี้ฉันก็แทบสำลักความรื่นรมย์แล้ว


วันนี้ฉันจริงจังกับคำตอบของตัวเองเอามาก มากเสียจนอยากประกาศออกมาว่า

มีแต่วรรณกรรมเท่านั้นที่พิทักษ์รักษาตัวตนของเราเอาไว้ หนังสืออย่างอื่นเป็นได้อย่างมากที่สุดก็แค่ความบันเทิงเริงรมย์ แต่ฉันก็ขลาดกลัวเกินกว่าจะประกาศโต้ง ๆ อย่างนั้น จึงทดลองเขียนคำตอบอย่างเป็นเหตุผลเป็นผลของการชอบวรรณกรรมออกมาเป็นข้อ

ใครเห็นว่าข้อไหนน่าจะใช่ก็เลือกดูตามใจนะ หรือถ้าดูแล้วไม่มีข้อถูก ก็เติมคำตอบได้เองเลย


เพราะชอบในคุณค่าของวรรณกรรมที่มีต่อจิตใจ ดังนั้นตัวเลือกต่อไปนี้จึงเป็นเพียงการแสดงให้เห็นคุณค่าของวรรณกรรมที่มีต่อ “ตัวเรา” (เชิงปัจเจกบุคคล)


ข้อแรก แน่นอนที่สุด คุณค่าของวรรณกรรมจะเกิดมรรคผลต่อจิตใจได้ก็ต่อเมื่อมันถูกอ่านโดยผู้อ่าน นั่นคือก่อให้เกิดการเดินทางของ “สาร” ถ้าหนังสือไม่ถูกอ่าน คุณค่าของมันจะมีแต่ในทางรูปธรรม คือเป็นรูปทรงสามมิติ กินพื้นที่และมีมวล อันสัมพันธ์กับแรงดึงดูดของโลก ไม่ต่างจากวัตถุทั่วไป แต่เมื่อใดก็ตามที่ “สาร” เดินทางไปสู่ “ผู้รับสาร” แล้ว พยางค์แรกที่ผู้รับสารออกเสียงได้คือ แรงกระทบใจ

ทางญาณวิทยาอธิบายไว้ว่า เรื่องราวในนวนิยาย หรือเรื่องแต่ง ก่อเป็นมโนภาพ (idea) ทั้งเชิงเดี่ยว (simple idea) และเชิงซ้อน (complex idea)


แรงกระทบใจหรือความสะเทือนใจเกิดขึ้นได้อย่างไร

ทั้งที่เราต่างก็ตระหนักได้ว่า มันคือเรื่องแต่ง ไม่ใช่เรื่องจริง หรือว่าเราเสแสร้งสะเทือนใจไปกับชะตากรรมของตัวละครเท่านั้นเอง มีหลายทฤษฎีที่ตั้งสมมุติฐานกับความรู้สึกร่วมของผู้อ่านที่มีต่อเรื่องแต่ง


มาถึงตรงนี้ ฉันเริ่มอธิบายกับตัวเองได้ยากว่า เราเสแสร้งสะเทือนใจหรือแท้แล้วเรารู้สึกไปกับมันจริง ๆ และให้บังเอิญเหลือเกิน ฉันได้ไปอ่านเจอบทความที่น่าสนใจจาก www.midnightuniv.org ที่อธิบายเกี่ยวกับความรู้สึกร่วมของผู้รับสารที่มีต่อเรื่องแต่ง ในบทความเรื่อง ภาพยนตร์แนวสยองขวัญ : มุมมองผ่านทฤษฎีจิตวิเคราะห์ และเรื่อง คำตอบจิตวิทยา : ทำไมเราจึงรู้สึกกลัวเมื่อชมภาพยนตร์สยองขวัญ โดยผู้วิจัยนาม วิสิฐ อรุณรัตนานนท์ ซึ่งมีการยกเอาหลายทฤษฎีมาอธิบายไว้อย่างน่าสนใจ ขณะเดียวกันก็สามารถนำมาอธิบายในอารมณ์ของการอ่านวรรณกรรมได้ด้วย ขอคัดลอกมาให้อ่านกันบางส่วน


โดยปกติมนุษย์เรามักถูกทำให้มีอารมณ์คล้อยตามไปกับบุคลิกและสถานการณ์ของบุคคลอื่น ๆ เราเสียใจกับคนเคราะห์ร้าย ขุ่นเคืองกับความอยุติธรรม ปฏิกิริยาของเราที่มีต่อตัวละครก็เป็นไปในลักษณะเดียวกันนี้ด้วย ... ตัวละครและเหตุการณ์ในเรื่องได้โน้มน้าวความสนใจให้จดจ่ออยู่กับบุคลิกและสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นและหลงลืมความเป็นจริงรอบตัวไป

Noel Carroll ต้องการชี้คือ อารมณ์ของเราที่เกิดขึ้นอย่างตอบสนองกับสิ่งที่เรารับรู้นั้น ไม่จำเป็นต้องเกิดจากการอาศัยความเชื่อถือความเป็นจริงของเนื้อหา เรื่องราวเป็นปัจจัยหลัก หากแต่อารมณ์ของผู้ชมที่เกิดขึ้นตอบโต้กับภาพยนตร์นั้น ถูกสร้างโดยกระบวนการโน้มน้าวทางอารมณ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยวิธีการทางศิลปะ ซึ่งวิธีการบรรยายและโน้มน้าวสภาพอารมณ์นั้นไม่เกี่ยวข้องกับความเชื่อในความเป็นจริงของเนื้อหาเรื่องราวเหล่านั้น (คล้าย ๆ กับการพูดถึงกองอุนจิขณะที่เรากำลังกินข้าวกันอยู่ เราจะเกิดอาการสะอิดสะเอียนขึ้นมาได้ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่าขณะนี้ไม่มีกองอุนจิใด ๆ ทั้งสิ้น)


สรุปว่าเรื่องแต่งอย่างวรรณกรรมก่อให้เกิดความสะเทือนใจลึกซึ้งได้ ขณะเดียวกับสิ่งที่เชื่อมระหว่างวรรณกรรมกับผู้อ่านนั้น ก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของผู้อ่าน (Impression) และผัสสะที่ถูกกระตุ้นโดยวรรณกรรม


แวบหนึ่ง ฉันนึกถึงนักเขียนที่ฉันชิงชังผลงานของเขา เกลียดชนิดไม่อยากแตะต้องหนังสือเล่มนั้นอีก แต่ในขณะเดียวกัน ผลงานเล่มนั้นกลับเป็นวรรณกรรมที่เข้าขั้นน่ายกย่องในรสนิยมของฉันด้วย นักเขียนคนนั้นคือ แดนอรัญ แสงทอง จะเป็นใครไปไม่ได้ และแน่นอนไอ้ตัวการนั่นคือ เงาสีขาว

นวนิยายของอาชญากรเล่มนั้นเอง


ภาพปะติดปะต่อจากแดนอรัญ แสงทอง ทำให้ฉันอนุมานได้ถึงทัศนคติที่เขามีต่อหนังสือดีว่า

หนังสือจะดีมีคุณค่าขึ้นมาได้ก็เพราะผู้อ่าน ไม่ว่าเราจะอ่านหนังสืออะไร ถ้าเราเกิด “ค้นพบ” จุดไคลแมกซ์ของมันก็เท่ากับว่า เราได้ค้นพบคุณค่าของหนังสือนั่นเอง


เช่นเดียวกับวรรณกรรม

สรุปว่า คำตอบที่เป็นตัวเลือกแรกที่ฉันขอเสนอคือ วรรณกรรมทำให้ค้นพบคำตอบในข้อสงสัย ขณะที่มันตอบเรา มันก็ได้ถามเราต่อด้วย อีกทั้งมันยังกระตุ้นให้เรากระหายที่จะแสวงหาคำตอบต่อไป ซึ่งแสดงให้เราตระหนักถึงคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ โดยไม่ต้องพึ่งอิงบริบทอื่นใดของสังคมมากนัก

นับว่าวรรณกรรมเป็นปุจฉา-วิสัชนาแห่งชีวิต

ใครว่าตัวเลือกนี้น่าจะใช่บ้าง...


ต่อด้วยข้อที่สอง นี่อาจเป็นเพียง “การเล่นกายกรรมทางความคิดและภาษา” (สำนวนของอ.เจตนา นาควัชระ) ก็เป็นได้ เพราะวรรณกรรมได้ตอบสนองความต้องการที่จะแสวงหาความหมาย หรือนิยามของชีวิต


คงเคยได้ยินใครเปรยว่า ชอบนิยายเรื่องนี้เพราะมันเหมือนพูดแทนใจของเรา

ความรู้สึกเช่นนี้ประกอบขึ้นได้อย่างไร อันนี้ก็เกี่ยวข้องกับทฤษฎีทางจิตวิเคราะห์ที่ยกบางส่วนจากผลงานวิจัยข้างต้นมาให้อ่าน แต่จุดสำคัญของข้อนี้อยู่ตรงที่ “ภาษาของวรรณกรรม”


ภาษาตามความหมายในนิรุกติศาสตร์ คือ วิธีที่มนุษย์แสดงความในใจ เพื่อให้ผู้ที่ตนต้องการให้รู้ได้รู้

กล่าวได้ว่า วรรณกรรมคือกระบวนการไขความสัญลักษณ์ทางภาษา ที่ก่อให้เกิดมโนภาพที่ซ้อนซับอยู่ในใจผู้อ่าน ก่อเป็นความผูกพันในตัวละครและเรื่องราวเหล่านั้น คุณค่าของวรรณกรรมจึงอยู่ตรงที่การตีความผ่านสัญลักษณ์ทางภาษานี่เอง


ตัวเลือกของฉันมีแค่นี้เอง หากใครเห็นว่า “ยังไม่ใช่” ขอได้ “ชี้แนะ” ด้วย


ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ฉันสารภาพว่าได้รับแรงบันดาลใจอย่างมหาศาลจากนวนิยายเรื่อง บันทึกนกไขลาน นวนิยายขนาดหนาปึ้กเล่มนี้เอง มันเป็นดั่งมหากาพย์ของปัจเจกภาพ น่าทึ่งตรงที่ชีวิตของคนที่เลือกจะตกงานคนหนึ่ง ได้เกี่ยวโยงไปถึงภูมิภาคแห่งประวัติศาสตร์ ความเป็นชาติอันเก่าแก่


นอกจากนี้ “บันทึกนกไขลาน” ยังทำให้ฉันมองเห็นความสร้างสรรค์ได้ชัดเจนขึ้น เพราะมันได้กระตุ้นให้คิดไปได้ว่า ในร่างกายของมนุษย์เรานี้ ส่วนที่ดึกดำบรรพ์ที่สุดซึ่งยังคงดำรงอยู่มาจนถึงวินาทีที่เราหายใจอยู่นี้ อาจจะเป็นส่วนเล็กย่อยที่สุดในร่างกายของเรา คือ ดีเอ็นเอ ก็เป็นได้


ส่งท้ายนิดหนึ่งกับ “บันทึกนกไขลาน” ใครอ่านแล้วบ้าง

สำหรับฉัน นอกจากเราจะได้พบกับเรื่องราวอันเปี่ยมด้วยแรงดึงดูดแล้ว มันยังเป็นงานมหกรรมแห่งทฤษฎีบทที่รวบรวมเอาบรรดาข้อกังขาในแต่ทฤษฎีมาแสดงให้เห็นถึง “ช่องว่าง” ระหว่างกัน เห็นพื้นที่ทับซ้อนระหว่างกัน ไล่ตั้งแต่ลัทธิญาณนิยม (Mysticism) อันเป็นลัทธิที่เกิดขึ้นพร้อมกับการถือกำเนิดของมนุษย์ ลัทธิดึกดำบรรพ์ที่เชื่อถือปรากฎการณ์นอกเหนือธรรมชาติ มนุษย์ติดต่อกับวิญญาณได้ มาจนถึงลัทธิปัจเจกนิยม (Individualism) รวมทั้งตรรกะนิยมและอตรรกนิยม สารพัดสารพันจะเอ่ยอ้างถึงลัทธิบรรดามี และแท้จริงแล้ว

ยังกล่าวถึงความแปลกแยกอันสะท้อนถึงจิตวิญญาณของปัจเจกภาพ ก็เป็นดั่งแอ่งเล็ก ๆ ที่วางตัวเองอยู่บนผืนดินอันไพศาลของโลกมนุษย์


ฉันถือว่า บันทึกนกไขลาน เป็นสุ้มเสียงแห่งยุคสมัยที่แท้จริงอย่างยิ่ง เนื่องจากมันได้สำรวจตรวจสอบไปถึง “ความตาย” “การเกิดและการเกิดใหม่” ปรากฎการณ์ของการคลี่ทับของโลกภายในจิตใต้สำนึกกับโลกของจิตสำนึก เสมือนหนึ่งเป็นการทำลายกำแพงของ “สติ” กับ “ไร้สติ” ทลายกำแพงซึ่งปกป้องปัจเจกชนเอาไว้ในอุดมคติออกมาสู่โลกที่อยู่นอกเหนือเหตุและผล


ใครก็ตามที่ได้ลิ้มรสวรรณกรรมเรื่องนี้ ย่อมหนีไม่พ้นความกระหายแห่งชีวิต อย่างที่อีวาน ปัญญาชนหนุ่มวัยสามสิบในเรื่องพี่น้องคารามาซอฟ เคยคิดจะขว้างจอกแห่งชีวิตทิ้งไปอย่างไม่นึกเสียดายเลย แต่ถ้า อีวานมีชีวิตอยู่และทันได้อ่านบันทึกนกไขลานแห่งศตวรรษนี้ เขาอาจไม่อยากทำเช่นนั้นก็เป็นได้.

บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ                     :    เค้าขวัญวรรณกรรมผู้เขียน                         :    เขมานันทะพิมพ์ครั้งที่สอง (ฉบับปรับปรุง) ตุลาคม ๒๕๔๓     :    สำนักพิมพ์ศยาม  
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ชื่อนิตยสาร      :    ฅ คน ปีที่ ๓  ฉบับที่ ๕ (๒๔)  มีนาคม ๒๕๕๑บรรณาธิการ     :    กฤษกร  วงค์กรวุฒิเจ้าของ           :    บริษัท ทีวีบูรพา จำกัด
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ ชะตากรรมของสังคมฝากความหวังไว้กับวรรณกรรมเพื่อชีวิตเห็นจะไม่ได้เสียแล้ว  หากเมื่อความเป็นไปหรือกลไกการเคลื่อนไหวของสังคมถูกนักเขียนมองสรุปอย่างง่ายเกินไป  ดังนั้นคงไม่แปลกที่ผลงานเหล่านั้นถูกนักอ่านมองผ่านอย่างง่ายเช่นกัน  เพราะนอกจากจะเชยเร่อร่าแล้ว ยังเศร้าสลด ชวนให้หดหู่...จนเกือบสิ้นหวังไม่ว่าโลกจะเศร้าได้มากแค่ไหน ก็ไม่ได้หมายรวมว่าเราจะใช้ชีวิตอยู่แต่กับโลกแห่งความเศร้าใช่หรือไม่? เพราะบ่อยครั้งเราพบว่าความเศร้าก็ไม่ใช่ความทุกข์ที่ไร้แสงสว่าง  ความคาดหวังดังกล่าวจุดประกายขึ้นต่อฉัน เมื่อตั้งใจจะอ่านรวมเรื่องสั้น โลกใบเก่ายังเศร้าเหมือนเดิม ของ…
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ       :    รายงานจากหมู่บ้าน       ประเภท         :    กวีนิพนธ์     ผู้เขียน         :    กานติ ณ ศรัทธา    จัดพิมพ์โดย     :    สำนักพิมพ์ใบไม้ผลิพิมพ์ครั้งแรก      :    มีนาคม  พ.ศ. ๒๕๕๐เขียนบทวิจารณ์     :    นายยืนยง
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ      :    ลิกอร์ พวกเขาเปลี่ยนไปประเภท    :    เรื่องสั้น    ผู้เขียน    :    จำลอง  ฝั่งชลจิตรจัดพิมพ์โดย    :    แพรวสำนักพิมพ์พิมพ์ครั้งแรก    :    มีนาคม  ๒๕๔๘    
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : ช่อการะเกด ๔๒ ( ตุลาคม – ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๐ ) ประเภท : นิตยสารเรื่องสั้นและวรรณกรรมรายสามเดือน บรรณาธิการ : สุชาติ สวัสดิ์ศรี จัดพิมพ์โดย : พิมพ์บูรพา สาเหตุที่วรรณกรรมแนวเพื่อชีวิตยังคงมีลมหายใจอยู่ในหน้าหนังสือ มีหลายเหตุผลด้วยกัน เริ่มตั้งแต่ตัวนักเขียนเองที่อาจมีรสนิยม ความรู้สึกฝังใจต่อวรรณกรรมแนวนี้ว่าทรงพลังสามารถขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลง แก้ปัญหาสังคมได้ ในที่นี้ขอกล่าวถึงเหตุผลนี้เพียงประการเดียวก่อน คำว่า แนวเพื่อชีวิต ไม่ใช่ของเชยแน่หากเราได้อ่านเพื่อชีวิตน้ำดี ซึ่งเห็นว่าเรื่องนั้นต้องมีน้ำเสียงของความรับผิดชอบสังคมและตัวเองอย่างจริงใจของนักเขียน…
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ชื่อหนังสือ      :    เถ้าถ่านแห่งวารวัน    The Remains of the Day ประเภท            :    วรรณกรรมแปลจัดพิมพ์โดย    :    แพรวสำนักพิมพ์พิมพ์ครั้งที่ ๑    :    กุมภาพันธ์   ๒๕๔๙ผู้เขียน            :    คาสึโอะ  อิชิงุโระ ผู้แปล            :    นาลันทา  คุปต์
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ ชื่อหนังสือ      :    คลื่นทะเลใต้ประเภท    :    เรื่องสั้น    จัดพิมพ์โดย    :    สำนักพิมพ์นาครพิมพ์ครั้งแรก    :    ตุลาคม  พ.ศ. ๒๕๔๘  ผู้เขียน    :    กนกพงศ์  สงสมพันธุ์, จำลอง ฝั่งชลจิตร, ไพฑูรย์ ธัญญา, ประมวล มณีโรจน์, ขจรฤทธิ์ รักษา, ภิญโญ ศรีจำลอง, พนม นันทพฤกษ์, อัตถากร บำรุง เรื่องสั้นแนวเพื่อชีวิตในเล่ม คลื่นทะเลใต้เล่มนี้  ทุกเรื่องล้วนมีความต่าง…
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ชื่อหนังสือ : คลื่นทะเลใต้ประเภท : เรื่องสั้น    จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์นาครพิมพ์ครั้งแรก : ตุลาคม  พ.ศ. ๒๕๔๘  ผู้เขียน : กนกพงศ์  สงสมพันธุ์, จำลอง ฝั่งชลจิตร, ไพฑูรย์ ธัญญา, ประมวล มณีโรจน์, ขจรฤทธิ์ รักษา, ภิญโญ ศรีจำลอง, พนม นันทพฤกษ์, อัตถากร บำรุงวรรณกรรมประเภทเรื่องสั้นมีความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการตลอดเวลาถึงปัจจุบัน ในยุคหนึ่งเรื่องสั้นเคยเป็นวรรณกรรมที่สะท้อนสภาวะปัญหาสังคม สะท้อนภาพชนชั้นที่ถูกกดขี่ เอารัดเอาเปรียบ และยุคนั้นเราเคยรู้สึกว่าเรื่องสั้นเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถปฏิวัติเปลี่ยนแปลงสังคมได้…
สวนหนังสือ
‘พิณประภา ขันธวุธ’ ชื่อหนังสือ : ฉลามผู้แต่ง: ณัฐสวาสดิ์ หมั้นทรัพย์สำนักพิมพ์ : ระหว่างบรรทัดข้อดีของการอ่านิยายสักเรื่องคือได้เห็นตอนจบของเรื่องราวเหล่านั้นไม่จำเป็นเลย...ไม่จำเป็น...ที่จะต้องเดินย่ำไปรอยเดียวกับตัวละครเล่านั้นในขณะที่สังคมไทยกำลังเคลื่อนเข้าสู่ความเป็น “วัตถุนิยม” ที่เรียกว่า เป็นวัฒนธรรมอุปโภคบริโภค อย่างเต็มรูปแบบ ลัทธิสุขนิยม (hedonism) ก็เข้ามาแทบจะแยกไม่ออก ทำให้ความเป็น ปัจเจกบุคคล ชัดเจนขึ้นทุกขณะ ทั้งสามสิ่งที่เอ่ยไปนั้นคน สังคมไทยกำลัง โดดเดี่ยว เราเปิดเผยความโดดเดี่ยวนั้นด้วยรูปแบบของ ภาษาและถ้อยคำสำนวนที่สะท้อนโลกทัศน์ของความเป็นปัจเจกนิยมได้แก่ เอาตัวรอด…
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’  ชื่อหนังสือ      :    วิมานมายา  The house of the sleeping beautiesประเภท         :    วรรณกรรมแปลจัดพิมพ์โดย    :    สำนักพิมพ์ดอกหญ้าพิมพ์ครั้งที่ ๑   :    มิถุนายน ๒๕๓๐ผู้เขียน          :    ยาสึนาริ คาวาบาตะ ผู้แปล           :    วันเพ็ญ บงกชสถิตย์   
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ ชื่อหนังสือประเภทจัดพิมพ์โดยผู้ประพันธ์ผู้แปล:::::เปโดร  ปาราโม ( PEDRO  PARAMO )วรรณกรรมแปลสำนักพิมพ์โพเอม่าฮวน รุลโฟราอูล  การวิจารณ์วรรณกรรมนั้น บ่อยครั้งมักพบว่าบทวิจารณ์ไม่ได้ช่วยให้ผู้ที่ยังไม่ได้อ่านหรืออ่านวรรณกรรมเล่มนั้นแล้วได้เข้าใจถึงแก่นสาร สาระของเรื่องลึกซึ้งขึ้น แต่สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่บทวิจารณ์ต้องมีคือ การชี้ให้เห็นหรือตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับจุดเด่นสำคัญที่ไม่อาจละเลยได้ของวรรณกรรมเล่มนั้น วรรณกรรมที่ดีย่อมถ่ายทอดผ่านมุมมองอันละเอียดอ่อน ด้วยอารมณ์ประณีตของผู้ประพันธ์…