Skip to main content

‘นายยืนยง’

 

20080117 ภาพปกหนังสือ วิมานมายา

 

ชื่อหนังสือ      :    วิมานมายา  The house of the sleeping beauties
ประเภท         :    วรรณกรรมแปล
จัดพิมพ์โดย    :    สำนักพิมพ์ดอกหญ้า
พิมพ์ครั้งที่ ๑   :    มิถุนายน ๒๕๓๐
ผู้เขียน          :    ยาสึนาริ คาวาบาตะ
ผู้แปล           :    วันเพ็ญ บงกชสถิตย์   

 

การนอนหลับและการฝันเป็นกิจกรรมตามปกติของมนุษย์ บางครั้งฝันร้ายทำให้เราหวาดผวาไปหลายวัน บางภาพฝันก็เวียนซ้ำหลอกหลอนอย่างยากจะสลัดให้ลืม แต่บางภาพฝันก็ผ่านวาบไร้ร่องรอยในความรู้สึก

Sigmund Freud ได้ศึกษาด้านวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการนอนหลับและความฝัน เขารู้สึกว่า โดยทั่วไปแล้ว ในความฝันมีเนื้อหาที่แอบแฝงเกี่ยวพันกับความปรารถนาซึ่งไม่อาจยอมรับได้ ซึ่งจะสร้างความปวดร้าวหรือทุกข์ใจ ขณะในงานวรรณกรรมหลายเรื่องได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเนื้อหาของความฝันเช่นกัน  ยกตัวอย่างเช่น ในนวนิยายเรื่อง สมัญญาแห่งดอกกุหลาบบทประพันธ์ของ อุมแบร์โต เอโก ที่ตัวเอกเอดโซสามารถถอดรหัสเพื่อหาทางเข้าไปยังหออาลักษณ์ได้จากความฝันอันแสนแปลกพิสดารของเขาเอง แม้กระทั่งภาพความฝันของ Kakule นักเคมีชาวเยอรมัน ซึ่งกำลังครุ่นคิดถึงโครงสร้างต่างๆ ของน้ำมันเบนซินซึ่งดูเหมือนจะไม่ประสบความสำเร็จเอาเลย แต่ในความฝันของเขามันได้เสนอแนะถึงโครงสร้างวงแหวนอันหนึ่งที่เสนอทางออก หรือการแก้ปัญหาที่ถูกต้องให้กับเขาและแม้กระทั่งในตำราทำนายฝันที่เราคุ้นเคยกันดี

ในที่นี้ขอกล่าวถึง วิมานมายาวรรณกรรมเล่มกะทัดรัดบทประพันธ์ของ ยาสึนาริ คาวาบาตะ ที่ วันเพ็ญ บงกชสถิตย์ ได้ถ่ายทอดเป็นภาษาไทยอย่างเต็มอรรถรสโดยคงเค้าลีลาอย่างวรรณกรรมสัญชาติญี่ปุ่นไว้อย่างชัดเจน

วิมานมายา ประพันธ์ขึ้นในปี ค.ศ. ๑๙๖๐ –๑๙๖๑ ซึ่งเป็นช่วงที่สังคมญี่ปุ่นกำลังประสบกับปัญหามากมาย เช่นการต่อต้านการต่อสนธิสัญญาร่วมกันป้องกันระหว่างญี่ปุ่นกับอเมริกา (Ampo Toso) ที่มีการต่อต้านกันทั่วประเทศ ฝ่ายขวาจัดได้ขู่สังหารฟูกาซาว่าชิชิโร่ที่ได้ประพันธ์เรื่องที่หมิ่นสถาบันจักรพรรดินายกรัฐมนตรีถูกทำร้ายร่างกาย อาซานุมะเลขาธิการพรรคสังคมนิยมถูกวัยรุ่นขวาจัดลอบสังหารตอนปราศรัยที่สวนฮิบิย่า เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นเหตุการณ์ร้ายคุกคามเสถียรภาพของสังคมญี่ปุ่น งานประพันธ์ของคาวาบาตะชิ้นนี้จึงเป็นการแสวงหาความกลมกลืนของคนกับสังคมในโลกวรรณกรรม ที่ทั้งคนและฉากนั้นผิดจากสังคมธรรมดา (คัดมาจาก คำนำ)  

วิมานมายาเป็นเรื่องราวประสบการณ์แปลกของชายชราวัย ๖๗ นาม เองุชิ ผู้หมดสมรรถภาพทางเพศแล้วเขาได้เข้าไปใช้บริการบ้านนางนิทรา ได้นอนหลับเคียงข้างสาวน้อยพรหมจาริณีที่เปลือยกายและหลับสนิท โดยเล่าเรื่องผ่านกระแสความรู้สึกนึกคิดของเฒ่าเองุชิ ที่ถูกกระตุ้นโดยบุคลิกภาพเฉพาะของนางนิทราจำนวน ๖ คนใน ๕ ค่ำคืน

เด็กสาวพรหมจาริณีแต่ละนางล้วนถูกทำให้หลับสนิทราวกับจะไม่มีวันตื่นอีกแล้ว เรือนร่างอันงดงามเหล่านั้นล้วนปลุกเร้าให้เฒ่าเองุชิได้ย้อนกลับไปเป็นคนหนุ่มอีกครั้ง ด้วยความนึกคิดถึงเรื่องราวในอดีตรูปการณ์นี้เองที่เป็นความขัดแย้งสำคัญของเรื่อง โดยสองขั้วระหว่างเพศชายหญิงและสองขั้วระหว่างวัยสาวกับวัยชรา ขณะที่ฝ่ายชายชราได้มองเห็นตัวเองจากสาววัยแรกรุ่น เรือนร่างเด็กสาวนิทราก็เป็นฝ่ายคอยตอกย้ำกระตุ้นให้ชายชราตระหนักในความรัดทด หดหู่และความตายสิ่งนี้กระมังที่ให้หญิงสาวผู้หลับใหลกลับมีชีวิตขึ้นมา

แต่ละค่ำคืนเฒ่าเองุชิได้นอนหลับเคียงข้างนางนิทรา เรื่องราวต่างๆค่อยรินออกมาจากความทรงจำในวัยหนุ่มกระทั่งเขาหลับไปความฝันจึงเข้ามามีบทบาทในเรื่อง

หลักใหญ่ใจความของเรื่องดำเนินอยู่ในรูปแบบของการพรรณนาถึงสภาวะของจิตวิญญาณอันโดดเดี่ยว โหยหาของชายชราเป็นสภาวะที่เกือบจะเรียกได้ว่าฟุ้งฝันเพ้อเจ้อแต่ในความเบาหวิวเลื่อนลอยนั้นล้วนเป็นเรื่องที่น่าครุ่นคิดยิ่ง

จากวรรณกรรมเล่มนี้ เราจะสะดุดใจกับการเปรียบเปรยที่เต็มไปด้วยนัยยะทางปรัชญาจะได้เห็นพฤติกรรมของเฒ่าเองุชิ ที่แปรไปตามบุคลิกจำเพาะของสาวนิทราแต่ละนางในที่นี้ อยากกล่าวเกี่ยวกับความฝันแม้จะไม่ได้หัวใจของเรื่องแต่เราก็ไม่อาจละเลย

ประสบการณ์ครั้งแรกของเฒ่าเองุชินั้น เขาได้กลิ่นน้ำนมจากกลิ่นกายของนางนิทรา ทำให้หวนระลึกถึงชู้รักที่เป็นเกอิชานางรู้ว่าเขาแต่งงานและมีลูกแล้ว และนางขยะแขยงกลิ่นน้ำนมที่เป็นกลิ่นประจำตัวของทารกซึ่งติดตัวเขามา เมื่อได้พบกันเมื่อหลับตาลงเขาคิดถึงวันคืนที่เขาหนีไปเกียวโตพร้อมเด็กสาวที่มีรอยเลือดตรงทรวงอก แต่เขาก็ไม่ได้แต่งงานกับเธอจากนั้นก็หลับลงอย่างง่ายดายด้วยยานอนหลับที่หญิงเจ้าของบ้านจัดไว้ให้เขาฝันไปว่า (หน้า ๔๔)

ตนอยู่ในอ้อมอกของผู้หญิงที่มีสี่ขา ขาทั้งสี่นั้นกระหวัดเกี่ยวเขาไว้ หล่อนมีแขนด้วย แม้ว่าเขาจะ   อยู่ในสภาพครึ่งหลับครึ่งตื่นเขาก็รู้สึกว่าการมีสี่ขาค่อนข้างเป็นเรื่องประหลาดแต่ไม่น่าขยะแขยง    ขาทั้งสี่นั้นเย้ายวนอารมณ์มากกว่าขาสองขาและความรู้สึกนั้นยังคงติดตรึงอยู่ในใจ ...


ลองคิดดูเล่น ๆ ว่าเรื่องราวจากกระแสสำนึกของเฒ่าเองุชิที่ลื่นไหลออกมาจากความทรงจำ จากการถูกกระตุ้นด้วยเรือนร่างของนางนิทรานั้นล้วนเป็นเรื่องราวที่ไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ทั้งการหนีไปพร้อมเด็กสาวทั้งพฤติกรรมชู้สาวกับเกอิชาล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เขาฝันประหลาดดังกล่าว

ตามความคิดของ Freud  สัญลักษณ์ของความฝันส่วนใหญ่แล้วมีความหมายไปทางด้านเซ็กซ์ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าความฝันดังกล่าวของเฒ่าเองุชิที่ว่าหญิงที่มี ๔ ขานั้นไม่น่าขยะแขยงทั้งยังน่าเย้ายวนมากกว่า ๒ ขาได้ถูกบีบอัดรวมตัวมาจากความคิดรู้สึกผิดจากประสบการณ์ทางเพศในวัยหนุ่ม ขณะเดียวกันเขารู้สึกสุขสำราญใจกับการได้ประพฤติเชิงชู้สาวแบบนั้นความฝันจึงออกมาในรูปปฏิเสธ ดังนั้นความรู้สึกในความฝันหญิงที่มี๔ขาจึงไม่น่าเกลียดและยิ่งเย้ายวน

อีกภาพความฝันหนึ่งที่เกิดขึ้นในคืนเดียวกัน (หน้า ๔๕)

ลูกสาวคนหนึ่งของเขาให้กำเนิดบุตรพิการที่โรงพยาบาล เมื่อตื่นขึ้นมาผู้ชราก็ลืมไปแล้วถึงความ    พิการนั้นว่าเป็นความพิการชนิดใด บางทีเขาอาจจะไม่ต้องการจำมันก็ได้เพราะไม่น่าดู เด็กถูก    แยกจากแม่ทันที แกอยู่หลังม่านสีขาวในห้องผู้เป็นมารดา หล่อนจับเด็กสับเป็นชิ้น ๆ และเตรียม    ที่จะโยนแกทิ้งไป หมอในชุดขาวซึ่งเป็นเพื่อของเองุชิยืนอยู่ข้างหล่อน ตัวเองุชิเองก็ยืนอยู่ข้าง    หล่อนเช่นกัน ... ฯลฯ


จากภาพความฝันชุดนี้  การที่เขายืนอยู่ข้างลูกสาวขณะหล่อนสับทารกพิการเป็นชิ้น ๆ นั้นน่าจะเกี่ยวโยงกับกลิ่นน้ำนม ที่ได้จากกลิ่นกายของนางนิทราที่นอนอยู่เคียงข้างเขา กลิ่นน้ำนมและทารกนั้นเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ผุดผ่องไร้มลทิน และความบริสุทธิ์ดังกล่าวกระมังที่เขาไม่อาจยอมรับได้ จากหน้า ๕๙ พรหมจารีย์ของเด็กสาวเป็นเสมือนความอัปลักษณ์ของชายชรามากกว่า ดังนั้นในความฝันเขาจึงยืนอยู่ข้างลูกสาว

Freud ยืนยันว่าความฝันต่าง ๆ เป็นรูปการอันหนึ่งของการทำให้ความปรารถนาที่ถูกกดข่มได้บรรลุผล หรือมีช่องทางการแสดงออกถ้าความปรารถนานั้นไม่ได้รับความพึงใจในยามกลางวันตามปกติ จิตใจก็จะปฏิบัติการหรือแสดงปฏิกิริยาของมันด้วยการกระตุ้นภายในโดยการแปรเปลี่ยนไปสู่สภาพเพ้อฝัน (visual fantasy) ซึ่งยอมให้ผู้ฝันพึงพอใจกับความปรารถนาอันนั้น ผลลัพธ์ของความฝันเหล่านั้นก็คือทำให้การนอนหลับในยามค่ำคืนเป็นไปอย่างสงบ ดังนั้นเมื่อเองุชิได้แสดงปฏิกิริยาในความฝันแล้วเขาจึงหลับใหลไปอย่างรวดเร็ว

นอกจากเนื้อหาจากความฝันแล้ว วิมานมายายังเต็มไปด้วยลักษณะพิเศษอีกหลายประการซึ่งล้วนน่าศึกษายิ่งเป็นวรรณกรรมแปลอีกเล่มที่นักอ่านไม่ควรละเลย

นอกจากนี้วรรณกรรมอีกหลายเรื่องที่ใช้ความฝันเป็นกลไกอธิบายสภาวะบางด้านมนุษย์ เนื่องจากในโลกของการตื่นนั้นอาจชัดแจ้งเกินไปที่จะถ่ายทอดหากโลกของความตื่นมีมิติให้ค้นหาแล้วโลกของความฝันย่อมมีสิ่งท้าทายรออยู่เช่นกัน.

ข้อมูลอ้างอิง  :  บทความเรื่อง การนอนหลับและการฝัน การศึกษาทางวิทยาศาสตร์และจิตวิทยาเรียบเรียงโดยอาจารย์ สมเกียรติ ตั้งนโม , มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน


บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
 ‘ นายยืนยง ’ ชื่อหนังสือประเภทจัดพิมพ์โดยพิมพ์ครั้งที่ ๑ผู้เขียน ผู้แปล  : ::::::เดวิด หนีสุดชีวิต   ( I am David )วรรณกรรมแปล   /  นวนิยายเดนมาร์ก สำนักพิมพ์ นานมีบุ๊คส์ทีนกันยายน   พ.ศ.๒๕๔๙Anne Holmอัจฉรัตน์  ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตของโลกในสภาวะต่าง ๆ ทั้งเศรษฐกิจและธรรมชาติ มนุษยชาติต่างผ่านพ้นมาแล้วซึ่งวิกฤตนานัปการ แม้แต่ในนามของสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่ผงฝุ่นแห่งความทรงจำเลวร้ายทั้งมวล เหมือนได้ล่องลอยไปตกตะกอนอยู่ภายในใจผู้คน ครอบคลุมแทบทุกแนวเส้นละติจูด แม้นเวลาจะผ่านมาเนิ่นนานเพียงไร แต่ตะกอนนั้นกลับยังคงอยู่ โดยเฉพาะในงานวรรณกรรม เดวิด…
สวนหนังสือ
โดย ‘นายยืนยง’ ชื่อหนังสือ      :    ภาพเหมือน  ( The Portrait ) ประเภท    :        วรรณกรรมแปล จัดพิมพ์โดย    :    สำนักพิมพ์ คมบาง พิมพ์ครั้งที่ ๑    :    ตุลาคม ๒๕๔๔ ผู้เขียน        :    นิโคไล  โกโกล ผู้แปล        :    ดลสิทธิ์  บางคมบาง    จากต้นฉบับภาษาอังกฤษของ  CHRISTOPHER  ENGLISH …
สวนหนังสือ
โดย ‘นายยืนยง’ชื่อหนังสือ :    ไตร่ตรองมองหลักประเภท :                บทความพุทธปรัชญา     จัดพิมพ์โดย :    สำนักพิมพ์ศยามพิมพ์ครั้งที่ ๒ :    กันยายน  พ.ศ. ๒๕๔๓  :  แก้ไขปรับปรุงผู้เขียน :    เขมานันทะบรรณาธิการ :    นิพัทธ์พร  เพ็งแก้ว ในกระแสนิยมปัจจุบัน  แม้พุทธศาสนาจะอยู่ในรูปสภาพที่เป็นกิจการค้าความเชื่อมากมายเพียงไร  และคงไม่ต้องกล่าวถึงว่าจะมีตรายี่ห้อใดบ้าง …
สวนหนังสือ
โดย นายยืนยงเรื่อง สายรุ้ง รุ่งเยือน    สำนักพิมพ์  เคล็ดไทยผู้แต่ง ณรงค์ยุทธ  โคตรคำ ประเภท กวีนิพนธ์ฟ้าครึ้มอยู่อย่างนี้สักสองสามวันได้ เมฆขมุกขมัวเกาะกันเคว้งคว้าง พากันลอยล่องไปตามแรงลม   …ลมเย็นต้องผิวเนื้อสัมผัส รู้สึกได้ถึงลมหนาวอันสะท้านใจ  โอหนอ... ลมหนาวแรกของปลายมิถุนายน  โอหนอ... กวีนิพนธ์ถ้าเอ่ยชื่อ ณรงค์ยุทธ โคตรคำ กับลมหนาวแสนประหลาดของเดือนมิถุนายน  ชื่อนี้คงไม่คุ้นหู ไม่ว่าในกลุ่มแขนงใด ๆ แต่การที่หนังสือกวีนิพนธ์ ชื่อ สายรุ้ง รุ่งเยือน มีประโยคเปิดหน้าปกว่า  รวมบทกวีคัดสรรเล่มแรกของ ณรงค์ยุทธ โคตรคำ นั้น …