นายยืนยง
ชื่อหนังสือ : นกชีวิต
ประเภท : กวีนิพนธ์
จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ในดวงใจ พิมพ์ครั้งแรกเมื่อมีนาคม 2550
ผู้เขียน : เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์
เคยสังเกตไหมว่าบางครั้งบทกวีก็สนทนากันเอง ระหว่างบทกวีกับบทกวี ราวกับกวีสนทนากับกวีด้วยกัน ซึ่งนั่นหาได้สำคัญไม่ เพราะความรู้สึกเหล่านั้นไม่ได้หมายถึงการแบ่งแยกระหว่างผู้สร้างสรรค์ (กวี) กับผู้เสพอย่างเรา ๆ แต่หมายถึงบรรยากาศแห่งการดื่มด่ำกวีนิพนธ์ เป็นการสื่อสารจากใจสู่ใจ
กระนั้นก็ตาม ยังมีบางทัศนคติที่พยายามจะแบ่งแยกกวีนิพนธ์ออกเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ เป็นกวีฉันทลักษณ์ เป็นกวีไร้ฉันทลักษณ์ อย่างไรก็ตามจะเป็นที่น่าชื่นชมยินดียิ่ง หากการนั้นเป็นไปเพื่อศึกษาอย่างถ่องแท้ หาใช่เพื่อเป็นการกีดกัน กั้นแบ่ง
คราวที่แล้วได้กล่าวถึงกวีนิพนธ์ในดวงใจไปแล้ว แม้เป็นงานกวีนิพนธ์ที่มีอายุยาวนานแต่ปฏิเสธความสดใหม่ไม่ได้ ยังคงร่วมสมัยอยู่ และเปี่ยมด้วยอรรถรสวรรณศิลป์ คราวนี้จึงอยากกล่าวถึงกวีนิพนธ์ที่ใหม่กว่า คือหนังสือวางแผงได้ไม่นานนัก เป็นผลงานของกวีซีไรต์ เจ้าของผลงาน แม่น้ำรำลึก เขาคือ
เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ กับผลงานกวีไร้ฉันทลักษณ์ชื่อเล่มว่า นกชีวิต
นกชีวิต นั้น ประกอบด้วย ชีวิต ต้องกล่าวโดยบริสุทธิ์ใจว่า ไม่ใช่ถ้อยคำยียวนแต่อย่างใด เพราะถ้อยคำของเรวัตร์นั้น สืบสายมาจากน้ำเนื้อแห่งชีวิตอันที่จะอ่านอย่างทนุถนอมอารมณ์ตัวเอง หากแต่ชีวิตนั้น เป็นชีวิตในแบบอย่างดังมนุษย์ผู้ปรารถนาจะดำรงอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมดังที่ คนสวน ดำรงอยู่ อยู่ในสวนฤดูกาล อยู่กับเพื่อนชีวิตหลายประเภท ไม่ว่าจะ เจ้านกกระจิบ แมวหนุ่ม ไส้เดือน แม่ไทรสาว หรือ แสงแดดสายลม สายฝน และหยาดน้ำค้าง ซึ่งต่างร่วมดำรงอยู่อย่างกลมกลืน เป็นดุลยภาพอันแสนรื่นรมย์ในสวนแห่งนั้น
ผู้อ่านสามารถจะเลือกสรรได้จากงานกวีของเขา โดยที่ขณะเดียวกัน อารมณ์ของเราจะค่อย ๆ หลอมรวมเป็นความสงบ อ่อนโยนด้วยภาษาอันสะอาดหมดจด เรียบง่าย ตรึงประทับในใจ เป็นเนื้อเดียวกับน้ำเสียงของการเล่า เป็นภาพสะท้อนของทัศนะคติอันสุขุม สงบเย็น ไม่มุ่งจะประทุษร้ายอารมณ์ผู้คน สังคมอย่างดุดัน เป็นบรรยากาศอย่างกลิ่น - สัมผัสน้ำค้างบนปลายหญ้า ระหว่างสายลมของวันคืนที่ผัดผ่านอย่างละมุนอ่อนหวาน รวมเป็นน้ำเนื้อแห่งกวีนิพนธ์นั่นทีเดียว
เหตุใดเราจึงยกย่องกวีนิพนธ์ หรืองานวรรณกรรมบางเรื่องว่ามีความดีเลิศ
เหตุผลคือ ความประณีตละเอียดอ่อนของอารมณ์ เนื้อหา ประณีตพิถีพิถันในการเลือกใช้คำเพื่อสื่อสารแสดงออกถึงอารมณ์ที่ผู้แต่งต้องการบอกเล่าถึงผู้อ่าน เพื่อดำเนินไปสู่พลังขับเคลื่อนบางอย่าง นั่นคือความสะเทือนใจ
เหตุผลข้างต้นนั้นได้แสดงออกอย่างชัดเจนว่า นกชีวิต เป็นกวีนิพนธ์ที่ประณีตยิ่ง โดยเฉพาะกับอารมณ์ด้านลึกของมนุษย์ ขอยกตัวอย่างบทแรกในหน้า 19 ดังนี้
เมื่อเราลงมือปลูกต้นไม้
เราได้ปลูกดวงใจไปพร้อมกัน
ก่อนค่อย ๆ กลบฝังความลับบางประการเอาไว้
ฝากดวงใจฤดูกาลให้ช่วยคุ้มครองดูแล
เปลวแดดคือพ่อ สายฝนคือแม่
และฤดูหนาวนั้นคือศาสนา
ความลับจะเติบโตพร้อมให้ดอกผลอันหอมหวาน
เฉกเช่นวันวัยของผู้ปลูกฝัง
ดอกผลกลายเป็นผึ้ง เป็นผีเสื้อ เป็นสกุณา
เป็นด้านสวยงามในหัวใจอัปลักษณ์ของมนุษย์
ยิ่งผ่านเดือนปีก็ยิ่งเข้าใจชีวิตและโลกมากขึ้น
เป็นร่มเงาอ่อนโยนสมถะ
แต่ทว่าหัวใจของความลับยังคงดำรงอยู่
จนกว่ามนุษย์
จะสามารถเข้าใจภาษาของสกุณานั่นกระมัง
แต่บางครั้ง, การได้โอบกอดไม้ต้นนั้น
แล้วแนบใบหูลงไปยังดวงใจของเธอ
ความลับก็อาจไม่เป็นความลับอีกต่อไป
แล้วพลันตระหนักได้ว่า
ชีวิตคือการปลูกไม้เพียงต้นเดียว
เพื่อหยั่งรากลงเสาะค้น
ความลับบางประการของชีวิต
เพียงบทแรกเราจะได้เห็นถึงกลวิธีการใช้โวหารอย่างที่เคยคุ้นในชื่อที่เรียกว่า บุคลาธิษฐาน
คือสมมุติให้สิ่งใดมีชีวิตเช่นเดียวกับมนุษย์ มีอารมณ์ ความคิด บทนี้เรวัตร์สร้างให้ต้นไม้มีชีวิตขึ้นมา เป็นชีวิตที่มีมิติ มีปริศนา เป็นสัมพันธภาพระหว่างผู้ปลูกกับต้นไม้ของเขา บทนี้มีนัยยะที่ทำให้คิดไปได้ว่า ต้นไม้นี้ของเรวัตร์ อาจจะหมายถึงบทกวีที่เขาเขียน เป็นบทกวีที่กวีเขียนถึงบทกวีของตัวเอง และเขียนถึงสายใยระหว่างบทกวีกับตัวกวีเองด้วย แม้ใช้เพียงถ้อยคำเรียบง่าย แต่บทนี้กลับให้ความรู้สึก “มาก” ไม่แน่ใจนักว่าใครจะรู้สึกเช่นเดียวกัน หรือเราจะเพ้อไปเองก็ไม่รู้
นกชีวิต เล่มนี้ นอกจากเขียนถึงสิ่งมีชีวิตรอบตัวที่ต่างดำรงอยู่ภายในสวนแล้ว กวีอย่างเรวัตร์ก็ได้เขียนถึงกวีเอาไว้ด้วย เห็นไหมล่ะว่า กวีเองก็อยากสนทนากับกวีเช่นเดียวกัน ต่างแต่ว่าใครจะพูดมาก พูดน้อย
ยกตัวอย่างในบทที่ 25 หน้า 67
เด็กหนุ่มพูดถึงความมั่นคงของชีวิตและการงาน
ในขณะหัวใจโหยหาวิถีทางของกวีนิพนธ์
สับสนอยู่บนทางแพร่งแห่งการเลือก
ระหว่างผิวเปลือกกับแก่นแกน
คนสวนเหมือนพูดกับตนเอง-
¡® หากบทกวีแตกผลิอยู่ข้างในตัวเรา
แล้วมีเหตุผลสามานย์อันใดกันเล่า
ที่เราจะไม่ถนอมรักและหล่อเลี้ยงมันไว้
เพื่อที่วันหนึ่ง
มันจะเติบงาม หยั่งราก หยัดต้น แตกกิ่งก้าน
แล้วให้ดอกผลหวานหอมแก่ชีวิต –
ชีวิตอันเปราะบาง ’
เนื้อหาที่แสดงออกถึงอุดมคติของกวีในบทนี้ ใช้ถ้อยคำไม่มาก แต่ให้ภาพอย่างมีชีวิตชีวา
หากบทกวีแตกผลิอยู่ข้างในตัวเรา มันก็จะค่อย ๆ เติบงาม และแน่นอนหากเราดูแลรักษา ถนอมรักไว้
ดอกผลอันหอมหวานจะเป็นความงามแก่ชีวิต เรวัตร์สื่อถึงภาพสามัญที่หนักแน่นของกวีคนหนึ่งได้อย่างมีพลัง โดยไม่จำเป็นต้องใช้ อหังการ์ แต่อย่างใด เพียงแต่เลือกใช้มุมมองที่มีคุณค่าในตัวเองมากพอ นี่ถือเป็นลักษณะพิเศษจำเพาะอย่างหนึ่งของเรวัตร์ ที่ทำให้กวีนิพนธ์ของเขามีทำนองเนิบช้าแต่คงน้ำหนักและงดงามลึกซึ้ง
นกชีวิต บอกเล่าเรื่องราวเป็นบทกวี ผ่านชีวิตประจำวันของคนสวน เป็นวิธีการเล่าเรื่องราวผ่านกระแสสำนึกของคนสวนเอง ซึ่งสำคัญว่า กลวิธีนี้เองที่ถูกนำมาใช้เพื่อพรรณนาถึงชีวิตตลอดเรื่อง โดยทุกบทตอน จะใช้อารมณ์สัมผัส เพื่อเชื่อมโยงผู้อ่านเข้ากับผู้เขียน และนำพาไปสู่โลกของคนสวน
จุดนี้ คือเสน่ห์ของ นกชีวิต ที่ผูกสัมพันธ์ให้ผู้ส่งสาร และผู้รับสาร เสพสัมผัสอรรถรสไปพร้อมกัน เพื่อให้มองเห็นดุลยภาพแห่งชีวิตดุจเดียวกัน โดยเริ่มจากภาพภายนอกที่คนสวนสัมผัสรู้สึก ซึ่งสะท้อนไปถึงเรื่องราวในอดีต ถึงเรื่องในวัยเยาว์ ไปถึงบุคคลต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาในสวน และไปถึงโลกที่ดำเนินอยู่ภายนอกสวนแห่งนี้ สัมผัสรู้สึกที่ถูกนำมาใช้กระตุ้นจิตสำนึกเหล่านั้น ได้แก่อายตนะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
เชื่อว่าใครที่เคยเหน็ดเหนื่อยกับการอ่านกวีนิพนธ์ ใครที่ว่าอ่านยาก หรือเข้าไม่ถึง หากได้พบกับนกชีวิตเล่มนี้ กวีนิพนธ์ในดวงใจของคุณจะงดงามขึ้น ดังที่เรวัตร์ว่า กวีนิพนธ์อาจกำลังแตกผลิอยู่ข้างในคุณก็ได้.