Skip to main content

 

นายยืนยง

 

 

26_06_1


ชื่อหนังสือ : มาตุภูมิเดียวกัน

ผู้เขียน : วิน วนาดร

ประเภท : รวมเรื่องสั้น

จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรกเมื่อกันยายน 2550

 


ปี 2551 นี้รางวัลซีไรต์เป็นรอบของเรื่องสั้น สำรวจดูจากรายชื่อหนังสือที่ส่งเข้าประกวด ดูจากชื่อนักเขียนก็พอจะมองเห็นความหลากหลายชัดเจน ทั้งนักเขียนที่ส่งมากันครบทุกรุ่นวัย แนวทางของเรื่องยิ่งชวนให้เกิดบรรยากาศคึกคัก มีสีสันหากว่ามีการวิจารณ์หนังสือกันที่ส่งเข้าประกวดอย่างเป็นธรรม ไม่เลือกค่าย ไม่เลือกว่าเป็นพรรคพวกของตัว อย่างที่เขาว่ากันว่า เด็กใครก็ปั้นก็เชียร์กันตามกำลัง นั่นไม่เป็นผลดีต่อผู้อ่านนักหรอก และก็ไม่เป็นผลดีกับนักเขียนด้วยเช่นกัน เพราะศักดิ์ศรีของนักเขียนมันมีอยู่ ส่วนการประชาสัมพันธ์หนังสือก็น่าจะปล่อยให้เป็นตามธรรมชาติบ้าง

การที่หยิบเอา มาตุภูมิเดียวกันของ วิน วนาดรมากล่าวถึงในที่นี้ ไม่ได้เป็นการส่งสัญญาณหรือสัญลักษณ์พิเศษแต่อย่างใดเกี่ยวกับรางวัลซีไรต์ในปีนี้ ซีไรต์ก็เป็นเรื่องของกรรมการเขา ว่าจะหยิบจับปั้นใครให้ได้รางวัลต่อไป หากใครให้ความสนใจก็ควรหามาอ่านสนองความใส่ใจของตัวเอง หรือจะรอให้กรรมการรอบคัดเลือกสรรหามาให้อ่านตอนประกาศผลรอบสุดท้ายราว ๆ 10 เล่ม หรือไม่ก็รออีกหน่อย ถึงตอนประกาศผลรางวัล ถึงตอนนั้นก็สบายตากว่าใครเพราะได้อ่านเล่มเดียว พอถูไถไม่ให้ตกกระแส


ไม่มีใครสามารถเรียกร้องให้คนหันมาอ่านหนังสือประเภทวรรณกรรมได้หรอก ถ้าหนังสือที่พยายามเรียกร้องความเห็นใจจากผู้อ่านไม่ได้มีคุณประโยชน์มากพอกับเวลาที่ต้องสูญเสียไปกับการอ่าน แน่นอนว่าหนังสือดีมีคุณค่านั้นมีมากมาย ขณะเดียวกัน หนังสือบางเล่มก็อาจทำให้ผู้อ่านรู้สึกหงุดหงิดเสียเวลาไปเปล่า


กลับมาที่หนังสือรวมเรื่องสั้น หนังสือประเภทนี้ส่วนใหญ่เป็นเรื่องสั้นที่คัดสรรแล้ว นำมาจัดวางให้สมดุล มีหนัก มีเบา ผสมกันไป รวมเป็นเอกภาพหรือหัวใจของเล่ม เล่มหนึ่ง ๆ จะบรรจุเรื่องสั้นไว้ประมาณ 8 13 เรื่อง เป็นพ็อคเก็ตบุ๊คขนาดเหมาะมือ อ่านคืนหรือสองคืนก็จบ อ่านได้เรื่องหนึ่งนึกอยากจะวางไว้ก่อนก็ไม่หนักใจเพราะแต่ละเรื่องก็จบสมบูรณ์ในตัวมันเอง


ขณะเดียวกันหากจะพิจารณาถึงคุณค่าของหนังสือเราต้องกลับมายอมรับเสียก่อนว่า หนังสือแต่ละเล่มจะมีเรื่องสั้นชั้นดี ดีเยี่ยมจริง ๆ อยู่ไม่มากนัก บางเล่มอาจมีเด็ด ๆ อยู่เรื่องเดียว บางเล่มอาจมากกว่านั้นนิดหน่อย กับมาตุภูมิเดียวกันเองก็หนีไม่พ้นข้อหานี้ด้วย เพราะด้วยความรู้สึกส่วนตัวแล้วเล่มนี้มีเรื่องสั้นที่ดีเยี่ยมอยู่ 3 เรื่อง หากเคยรู้สึกอย่างนั้นกับหนังสือรวมเรื่องสั้นที่คุณเคยอ่าน ก็โปรดอย่าคิดว่าถูกสำนักพิมพ์หรือนักเขียนหลอกขายหนังสือเลย เพราะเรื่องจะดีหรือไม่ดี เรา (ผู้อ่าน) ไม่ได้ตัดสินคนเดียว ยังมีนักเขียน มีคณะบรรณาธิการ คอยดูแลเรื่องพวกนี้อยู่ อย่างเป็นขั้นเป็นตอน ที่ออกจะ “ซับซ้อน”พิลึกพิลั่น หรือเปล่านะ อันนี้ไม่ค่อยทราบ แต่ดู ๆ แล้วคงสาหัสพอสมควรทีเดียวล่ะ กับรวมเรื่องสั้นแต่ละเล่ม


ส่วนเหตุผลที่หยิบผลงานของวิน วนาดรมากล่าวถึงก็มีเหตุผลเดียว ที่ดูไม่ง่ายไม่ยาก นั่นก็คือ วิน

วนาดร เป็นนักเขียนที่สร้างสรรค์ผลงานจากประสบการณ์ตรง เขาเขียนจากชีวิต เลือดเนื้อ หาใช่ใช้จินตนาการวาดโลกขึ้นมาเป็นสวนอักษร ขอยกประวัติผู้เขียนมาให้อ่านกันตรงนี้


วิน วนาดร เกิดที่บ้านริมน้ำ อำเภอเมือง จ.ปัตตานี เมื่อปี พ..2488 ชีวิตวัยเด็กและวัยรุ่นผ่านประสบการณ์มาหลายด้าน หลายที่หลายทาง ครั้งหลังสุดทำงานราชการในกรมหนึ่งของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมเวลา 34 ปีเศษ ฯลฯ


แม้เหตุผลเดียวในย่อหน้าก่อนหน้านี้จะดูไม่ง่ายไม่ยาก แต่ยังดูให้ความสลักสำคัญเกี่ยวกับประสบการณ์ตรงของนักเขียนกับเรื่องของเขาเป็นการเฉพาะ ซึ่งนั่นไม่ได้หมายความว่าคนมีประสบการณ์ชีวิตมากจะเขียนหนังสือได้ดีกว่าคนอื่นเพราะงานเขียนที่ดียังมีองค์ประกอบปลีกย่อยอีกนานัปการ แต่การเป็นผู้อยู่ในเหตุการณ์จริง เช่นที่วิน วนาดรใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่เหตุการณ์จริงในเรื่องสั้นของเขา ทำให้นักเขียนได้ทำหน้าที่เป็นผู้ส่งสารที่ “สด”และ “ประณีต”กว่า ข้อนี้ผู้อ่านจะเป็นฝ่ายได้ “กลิ่น”เอง ส่วนความประณีตละเอียดลออนั้น วิน วนาดรได้แสดงออกให้เป็นที่ประจักษ์เลยทีเดียวก็ว่าได้ เพราะเขาเขียนบรรยายภาพ ทั้งทัศนียภาพของท้องถิ่น ทั้งทัศนียภาพทางความรู้สึก ความนึก ความคิดของตัวละครในเรื่องได้หมดจดงดงามแทบทุกเรื่อง ข้อนี้ถือเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของวิน วนาดร เลยทีเดียว จะยกตัวอย่างบางส่วนไว้ตรงนี้เลย จากหน้าที่ 129 จากเรื่อง กล่องสบู่ของพ่อ


ฤดูร้อนของเดือนเมษายนปีถัดมา บุรุษสองนายออกปฏิบัติงานดังเดิม ยางพาราเริ่มผลัดใบ อาทิตย์ส่องแสงเหนือทิวหมู่ไม้ นาน ๆ ครั้งลมร้อนหอบพัดใบไม้แห้งปลิดปลิวสะบัดดังเกรียวกราว ป่าดูโปร่งตลอดเส้นทางเดิม เว้นแต่ที่มีละเมาะหมู่ไม้พุ่มเป็นบางช่วงบางตอน เส้นทางเป้าหมายยังอยู่อีกยาวไกล


นาน ๆ ครั้งจึงจะพบปะผู้คนผ่านไปมา ทั้งบ้านเรือนผู้คนก็ต่างปลูกทิ้งระยะ ยามนี้จึงมีเพียงสองชีวิตที่ขี่จักรยานตามกันไป เงียบสงบเหมือนทั้งคู่พลัดหลงสู่แดนสนธยา หมู่ผีเสื้อ นกกระจิบดง ตลอดจนนกเขาป่าที่เคยโฉบบินไปมาไม่มีมาให้เห็น แม้กระทั่งสรรพสำเนียงที่เคยขับขานกล่อมไพร


ยกมาให้อ่านดู 2 ย่อหน้าที่เป็นบทบรรยายฉากธรรมชาติ ทั้งประณีตงาม และเกี่ยวโยงกับเนื้อเรื่อง ประณีตอย่างไร อ่านแล้วก็เห็นชัดเจน แต่เกี่ยวโยงกับเนื้อเรื่องอย่างไรนั่นเป็นฝีมือของวิน วนาดร ล้วน ๆดูตรงที่การบรรยายภาพของป่า ที่มีป่าโปร่ง สลับไม้พุ่ม เขาวางประโยคสุดท้ายว่า“เส้นทางเป้าหมายยังอยู่อีกยาวไกล” นั่นเป็นการทอดอารมณ์ และโน้มนำคนอ่านไปสู่เรื่องราวต่อไปพร้อมกัน


ส่วนย่อหน้าที่ 2 การเปรียบเทียบความเงียบสงบของป่า “เงียบสงบเหมือนทั้งคู่พลัดปลงสู่แดนสนธยา”ตรงนี้แสดงออกให้ผู้อ่านเห็นเป็นนัย ๆ ว่าต่อไปตัวละครจะต้องพบเจอกับอะไรที่เป็น “แดนสนธยา”และ “แม้กระทั่งสรรพสำเนียงที่เคยขับขานกล่อมไพร”เป็นการให้ภาพป่าที่เงียบผิดปกติ แต่เขาเลือกใช้คำดังกล่าวเพื่อแสดงออกถึงอารมณ์ของตัวละครที่ซับซ้อน เพราะในเรื่องเป็นความรู้สึกของเจ้าหน้าที่สหกรณ์สองนายที่เดินทางผ่านป่าที่สงบเงียบ แต่โดยไม่รู้ตัวเขาทั้งสองก็ต้องพบเจอกับเรื่องไม่คาดฝัน ทำไมผู้เขียนไม่ใช้คำดาด ๆ ว่า เดินผ่านป่าที่เงียบผิดปกติ และโดยไม่รู้ตัวเขาก็ต้องพบกับ... อะไรทำนองนี้ เป็นศิลปะ และเป็นเทคนิควิธีหรือฝีมือของวิน วนาดร ที่แสดงออกให้เห็น


แม้ที่ยกตัวอย่างข้างต้นจะเป็นการพิจารณางานเขียนที่ออกจะละเอียดและพิรี้พิไรไปสักหน่อย แต่นี่ก็เป็นขัอสังเกตเล็ก ๆ อันหนึ่งที่พอจะนำมาใช้จำแนกงานเขียนที่ดี หรือดีน้อย ออกจากกัน เพราะการเลือกใช้ภาษาในงานเขียน ถือเป็นศิลปะการประพันธ์ที่น่าเรียนรู้ไว้โดยเฉพาะกับคนที่สนใจ ไม่ว่าจะผู้อ่าน หรือผู้เขียน


สำหรับ 3 เรื่องสั้นเด่นในมาตุภูมิเดียวกันที่ได้กล่าวถึงนั้น ได้แก่

1.ก่อกองไฟ

2.กล่องสบู่ของพ่อ

3.การจากไปของนกเค้า

เรื่องสั้น 3 ก ของ วิน วนาดรใน 2 เรื่องหลังมีรางวัลพานแว่นฟ้าเขาการันตีให้ด้วย ท้ายเล่มมีบอกไว้


เรื่อง ก่อกองไฟ ดีอย่างไร ดีตรงที่หมดจด เพราะเขียนจากมุมของเด็ก ๆ ไม่ใช่เด็กธรรมดา แต่เป็นมุมมองของชายชราที่หวนคิดถึงความทรงจำในวัยเด็ก เป็นทัศนียภาพที่ยังตรึงตราอยู่ในความทรงจำของชายชรา ส่วนเนื้อหานั้นเน้นจะสะท้อนถึงสัมพันธภาพระหว่างคนในชุมชนที่ไทยพุทธ ไทยมุสลิม ไทยเชื้อสายจีนต่างดำรงอยู่ภายใต้อำนาจรัฐที่ถูกครอบครองโดยข้าราชการตำรวจเลวคนหนึ่ง เป็นภาพของคนในชุมชนหรือที่เรียกกันว่า “ชาวบ้าน”ถูกเอารัดเอาเปรียบ ขณะชาวบ้านต่างเอือมระอาในพฤติกรรมฉ้อฉลของตำรวจคนนี้แต่ก็ไม่กล้าเรียกร้องความเป็นธรรมให้ตัวเองได้ ยังมีเด็กชายคนหนึ่งที่ไม่ยอมและกล้าพอจะตอบโต้ ทวงคืนความเป็นธรรมให้กับตัวเอง


เรื่อง กล่องสบู่ของพ่อ เด่นตรงที่ดำเนินเรื่องแบบหักมุม อ่านสนุก และเกิดเรื่องไม่คาดฝันขึ้นในตอนจบ ส่วนเรื่อง การจากไปของนกเค้า มีการแทรกสัญลักษณ์ตามคติความเชื่อเข้าไปด้วย คือ การปรากฏตัวของนกเค้า ทั้ง 3 เรื่อง ล้วนเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ เป็นเรื่องราวที่เราต่างคุ้นเคยจากข่าวหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ ทั้งสิ้น แต่เนื้อในแล้ว ข่าว มีข้อจำกัดในการนำเสนอเนื้อหาในเชิงลึก เพราะข่าวทำหน้าที่ตอบคำถามว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร แต่วรรณกรรมไม่ได้ตั้งหน้าตั้งตาจะตอบคำถาม ขณะที่บางครั้งยังมีคำถามวางไว้ให้เราคิดหาคำตอบด้วย หรือบางครั้งวรรณกรรมก็พยายามทำหน้าที่ถ่ายทอดเรื่องราวให้เราได้ “เข้าใจ”ปัญหาที่แท้จริง แต่เมื่อเข้าใจแล้วจะทำอะไรได้?


3 เรื่องสั้นดังกล่าวที่ยกยอว่าเป็นเรื่องที่ดีเยี่ยมนั้น เหตุผลแรกที่ชัดเจนคือ แรงสะเทือนใจ เป็นวาบแรกของความรู้สึกเมื่อได้อ่านจนจบเรื่อง ข้อสองเป็นคะแนนของการจัดวางองค์ประกอบของเรื่องที่แนบเนียน ลื่นไหล และหนักหน่วง โดยเฉพาะเรื่องกล่องสบู่ของพ่อที่วิน วนาดรเขียนถึงสัมพันธภาพอันพิสุทธิ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน แม้ต่างฝ่ายจะมองกันเป็นศัตรู เรื่องอย่างนี้เขียนให้แนบเนียนนั้นยากยิ่ง เพราะโดยวิสัยปุถุชนย่อมถนัดที่จะมีอคติกับฝ่ายตรงข้าม แม้บางคนอาจติว่าเรื่องที่กล่าวถึงล้วนเป็นเรื่องแนวขนบหรือเพื่อชีวิต ออกจะเชยสนิท แต่ความเชยก็เป็นความงดงามได้ หากว่าเชยอย่างซื่อสัตย์และจริงใจ ไม่ใช่ดัดจริตจะเชย หรือดัดจริตจะ Post Modern ตาม ๆ เขาไปเท่านั้น


บทความนี้อาจจะดูฟุ้งซ่านไปหน่อยเพราะเขียนถึงแต่เรื่องที่ใช้ความรู้สึกเข้าไปจับทั้งสิ้น ต้องขออภัยด้วย หากว่าใช้หลักเกณฑ์ในการพิจารณาเรื่องสั้นน้อยเกินไป หวังว่าคุณผู้อ่านจะไม่เซ็งนะ (อันที่จริงอยากลองเขียนแบบสนุก ๆ บ้าง ตอนนี้กำลังศึกษา และฝึกฝนอยู่ หากมีข้อติติงอย่างไรก็ช่วยชี้แนะด้วย)


มาตุภูมิเดียวกัน ไม่ได้มีน้ำเสียงแบบฟูมฟายเรียกร้องให้ใครมาเข้าใจ หรือเห็นใจ อะไรจนมากมาย เพราะเขาเล่าเรื่องแบบชวนให้ครุ่นคิด และมองปัญหา มองโลกให้รอบด้าน มองให้เห็นความงดงาม หรือเหลี่ยมมุมในมิติอื่น จนบางครั้งก็เผลอรู้สึกไปตาม “หลวงตาทอง”ตัวละครในเรื่อง การจากไปของนกเค้า ว่าบางทีต้นเหตุแห่งปัญหามันมีความสลับซับซ้อน และเป็นปริศนา เกินกว่าจะเข้าไปตัดสิน

 


โดยภาพรวมแล้ว มาตุภูมิเดียวกัน เป็นมุมมองของคนในดินแดนสามจังหวัดชายแดนใต้ ที่พยายามบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง และยังดำรงอยู่ เป็นน้ำเสียงของความรู้สึกที่เจ็บลึก แต่เต็มไปด้วยความหวังและความรัก ขณะเดียวกัน
วิน วนาดรก็ไม่เขียนใส่ร้ายป้ายสี หรือโน้มน้าวให้เกิดความเกลียดชัง เพราะเขารู้ซึ้งดีว่าความเกลียดชังนั่นเองที่เป็นตัวการร้ายกาจ ที่สร้างปัญหาให้ลุกลาม ต่อให้รัฐบาลเก่งกาจราวกับพระเจ้าก็ไม่อาจแก้ไขอะไรได้
.

บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ                     :    เค้าขวัญวรรณกรรมผู้เขียน                         :    เขมานันทะพิมพ์ครั้งที่สอง (ฉบับปรับปรุง) ตุลาคม ๒๕๔๓     :    สำนักพิมพ์ศยาม  
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ชื่อนิตยสาร      :    ฅ คน ปีที่ ๓  ฉบับที่ ๕ (๒๔)  มีนาคม ๒๕๕๑บรรณาธิการ     :    กฤษกร  วงค์กรวุฒิเจ้าของ           :    บริษัท ทีวีบูรพา จำกัด
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ ชะตากรรมของสังคมฝากความหวังไว้กับวรรณกรรมเพื่อชีวิตเห็นจะไม่ได้เสียแล้ว  หากเมื่อความเป็นไปหรือกลไกการเคลื่อนไหวของสังคมถูกนักเขียนมองสรุปอย่างง่ายเกินไป  ดังนั้นคงไม่แปลกที่ผลงานเหล่านั้นถูกนักอ่านมองผ่านอย่างง่ายเช่นกัน  เพราะนอกจากจะเชยเร่อร่าแล้ว ยังเศร้าสลด ชวนให้หดหู่...จนเกือบสิ้นหวังไม่ว่าโลกจะเศร้าได้มากแค่ไหน ก็ไม่ได้หมายรวมว่าเราจะใช้ชีวิตอยู่แต่กับโลกแห่งความเศร้าใช่หรือไม่? เพราะบ่อยครั้งเราพบว่าความเศร้าก็ไม่ใช่ความทุกข์ที่ไร้แสงสว่าง  ความคาดหวังดังกล่าวจุดประกายขึ้นต่อฉัน เมื่อตั้งใจจะอ่านรวมเรื่องสั้น โลกใบเก่ายังเศร้าเหมือนเดิม ของ…
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ       :    รายงานจากหมู่บ้าน       ประเภท         :    กวีนิพนธ์     ผู้เขียน         :    กานติ ณ ศรัทธา    จัดพิมพ์โดย     :    สำนักพิมพ์ใบไม้ผลิพิมพ์ครั้งแรก      :    มีนาคม  พ.ศ. ๒๕๕๐เขียนบทวิจารณ์     :    นายยืนยง
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ      :    ลิกอร์ พวกเขาเปลี่ยนไปประเภท    :    เรื่องสั้น    ผู้เขียน    :    จำลอง  ฝั่งชลจิตรจัดพิมพ์โดย    :    แพรวสำนักพิมพ์พิมพ์ครั้งแรก    :    มีนาคม  ๒๕๔๘    
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : ช่อการะเกด ๔๒ ( ตุลาคม – ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๐ ) ประเภท : นิตยสารเรื่องสั้นและวรรณกรรมรายสามเดือน บรรณาธิการ : สุชาติ สวัสดิ์ศรี จัดพิมพ์โดย : พิมพ์บูรพา สาเหตุที่วรรณกรรมแนวเพื่อชีวิตยังคงมีลมหายใจอยู่ในหน้าหนังสือ มีหลายเหตุผลด้วยกัน เริ่มตั้งแต่ตัวนักเขียนเองที่อาจมีรสนิยม ความรู้สึกฝังใจต่อวรรณกรรมแนวนี้ว่าทรงพลังสามารถขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลง แก้ปัญหาสังคมได้ ในที่นี้ขอกล่าวถึงเหตุผลนี้เพียงประการเดียวก่อน คำว่า แนวเพื่อชีวิต ไม่ใช่ของเชยแน่หากเราได้อ่านเพื่อชีวิตน้ำดี ซึ่งเห็นว่าเรื่องนั้นต้องมีน้ำเสียงของความรับผิดชอบสังคมและตัวเองอย่างจริงใจของนักเขียน…
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ชื่อหนังสือ      :    เถ้าถ่านแห่งวารวัน    The Remains of the Day ประเภท            :    วรรณกรรมแปลจัดพิมพ์โดย    :    แพรวสำนักพิมพ์พิมพ์ครั้งที่ ๑    :    กุมภาพันธ์   ๒๕๔๙ผู้เขียน            :    คาสึโอะ  อิชิงุโระ ผู้แปล            :    นาลันทา  คุปต์
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ ชื่อหนังสือ      :    คลื่นทะเลใต้ประเภท    :    เรื่องสั้น    จัดพิมพ์โดย    :    สำนักพิมพ์นาครพิมพ์ครั้งแรก    :    ตุลาคม  พ.ศ. ๒๕๔๘  ผู้เขียน    :    กนกพงศ์  สงสมพันธุ์, จำลอง ฝั่งชลจิตร, ไพฑูรย์ ธัญญา, ประมวล มณีโรจน์, ขจรฤทธิ์ รักษา, ภิญโญ ศรีจำลอง, พนม นันทพฤกษ์, อัตถากร บำรุง เรื่องสั้นแนวเพื่อชีวิตในเล่ม คลื่นทะเลใต้เล่มนี้  ทุกเรื่องล้วนมีความต่าง…
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ชื่อหนังสือ : คลื่นทะเลใต้ประเภท : เรื่องสั้น    จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์นาครพิมพ์ครั้งแรก : ตุลาคม  พ.ศ. ๒๕๔๘  ผู้เขียน : กนกพงศ์  สงสมพันธุ์, จำลอง ฝั่งชลจิตร, ไพฑูรย์ ธัญญา, ประมวล มณีโรจน์, ขจรฤทธิ์ รักษา, ภิญโญ ศรีจำลอง, พนม นันทพฤกษ์, อัตถากร บำรุงวรรณกรรมประเภทเรื่องสั้นมีความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการตลอดเวลาถึงปัจจุบัน ในยุคหนึ่งเรื่องสั้นเคยเป็นวรรณกรรมที่สะท้อนสภาวะปัญหาสังคม สะท้อนภาพชนชั้นที่ถูกกดขี่ เอารัดเอาเปรียบ และยุคนั้นเราเคยรู้สึกว่าเรื่องสั้นเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถปฏิวัติเปลี่ยนแปลงสังคมได้…
สวนหนังสือ
‘พิณประภา ขันธวุธ’ ชื่อหนังสือ : ฉลามผู้แต่ง: ณัฐสวาสดิ์ หมั้นทรัพย์สำนักพิมพ์ : ระหว่างบรรทัดข้อดีของการอ่านิยายสักเรื่องคือได้เห็นตอนจบของเรื่องราวเหล่านั้นไม่จำเป็นเลย...ไม่จำเป็น...ที่จะต้องเดินย่ำไปรอยเดียวกับตัวละครเล่านั้นในขณะที่สังคมไทยกำลังเคลื่อนเข้าสู่ความเป็น “วัตถุนิยม” ที่เรียกว่า เป็นวัฒนธรรมอุปโภคบริโภค อย่างเต็มรูปแบบ ลัทธิสุขนิยม (hedonism) ก็เข้ามาแทบจะแยกไม่ออก ทำให้ความเป็น ปัจเจกบุคคล ชัดเจนขึ้นทุกขณะ ทั้งสามสิ่งที่เอ่ยไปนั้นคน สังคมไทยกำลัง โดดเดี่ยว เราเปิดเผยความโดดเดี่ยวนั้นด้วยรูปแบบของ ภาษาและถ้อยคำสำนวนที่สะท้อนโลกทัศน์ของความเป็นปัจเจกนิยมได้แก่ เอาตัวรอด…
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’  ชื่อหนังสือ      :    วิมานมายา  The house of the sleeping beautiesประเภท         :    วรรณกรรมแปลจัดพิมพ์โดย    :    สำนักพิมพ์ดอกหญ้าพิมพ์ครั้งที่ ๑   :    มิถุนายน ๒๕๓๐ผู้เขียน          :    ยาสึนาริ คาวาบาตะ ผู้แปล           :    วันเพ็ญ บงกชสถิตย์   
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ ชื่อหนังสือประเภทจัดพิมพ์โดยผู้ประพันธ์ผู้แปล:::::เปโดร  ปาราโม ( PEDRO  PARAMO )วรรณกรรมแปลสำนักพิมพ์โพเอม่าฮวน รุลโฟราอูล  การวิจารณ์วรรณกรรมนั้น บ่อยครั้งมักพบว่าบทวิจารณ์ไม่ได้ช่วยให้ผู้ที่ยังไม่ได้อ่านหรืออ่านวรรณกรรมเล่มนั้นแล้วได้เข้าใจถึงแก่นสาร สาระของเรื่องลึกซึ้งขึ้น แต่สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่บทวิจารณ์ต้องมีคือ การชี้ให้เห็นหรือตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับจุดเด่นสำคัญที่ไม่อาจละเลยได้ของวรรณกรรมเล่มนั้น วรรณกรรมที่ดีย่อมถ่ายทอดผ่านมุมมองอันละเอียดอ่อน ด้วยอารมณ์ประณีตของผู้ประพันธ์…