Skip to main content

ชาญณรงค์  บุญหนุน 
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร

ขณะที่ผู้คนจำนวนมากทั้งระดับชาวบ้าน นักศึกษา นักวิชาการ และสื่อมวลชนให้ความสนใจกับวันครบรอบ 80 ปี 24 มิถุนายน  2475 อันเคยถือว่าเป็น “วันชาติ” ของสยามกันอย่างคึกคักเข้มข้นที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นกวีรัตนโกสินทร์ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ และได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจากกวีรุ่นใหม่ว่ามีทัศนะที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเนื่องจากแสดงทัศนะที่โน้มเอียงไปทางเข้าข้างรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ก็ไม่ยอมตกขบวนเช่นกัน  



เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ และผลงานอมตะในฐานะกวีรัตนโกสินทร์ “เพียงความเคลื่อนไหว”

ในบทความ “แปดสิบปี 24 มิถุนา” ที่ลงพิมพ์ใน มติชนสุดสัปดาห์ เนาวรัตน์  พงษ์ไพบูลย์ [1] ได้เขียนวิพากษ์กระบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยไทยในปัจจุบันว่า เปรียบเสมือน “เส้นผมบังภูเขา” เนาวรัตน์เกริ่นไว้ในบรรทัดแรกว่า “หากจะเปรียบประชาธิปไตยเป็นภูเขา การเลือกตั้งก็เป็นเส้นผม”  ในบทความนี้ต้องการบอกว่า การให้ความสำคัญกับการเลือกตั้ง ส.ส. ของประชาชนมากเกินไปนั้นไม่ต่างอะไรกับเส้นผมที่บังภูเขา “การเลือกตั้งจึงกลายเป็นเสมือนหลักการหัวใจของประชาธิปไตยไปโดยปริยาย ทั้งที่แท้จริงแล้ว ไม่ใช่เลย การเลือกตั้งเป็นแค่กระบวนการหนึ่งของวิธีการเพื่อประชาธิปไตย การแสดงคามคิดเห็นตลอดจนการมีส่วนร่วมในสิทธิเสรีตามกฎหมายก็เป็นกระบวนการของกระบวนการเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งยังมีอีกหลายวิธี นอกจากการเลือกตั้งเพียงเท่านั้น” 

แล้วอะไรเล่าคือหัวใจของประชาธิปไตยที่แท้ คำตอบของกวีเนาวรัตน์ผู้ซึ่งมีภาพแห่งธรรมติดตัวมายาวนานเพราะสมานทานธรรมะของพุทธทาสภิกขุก็คือ

“หลักการหัวใจของประชาธิปไตยที่แท้นั้นก็เป็นดังที่ท่านอาจารย์พุทธทาสกล่าวไว้คือ “ประโยชน์ของประชาชนเป็นส่วนใหญ่” ท่านขยายความอีกว่า ถ้าเอาแค่ประชาชนเป็นใหญ่ตามศัพท์ประชาธิปไตย (ประชา+อธิปไตย) แล้ว ประชาชนส่วนใหญ่เป็นโจร บ้านเมืองก็จะฉิบหายเท่านั้น” 

ข้อความที่ยกมานี้มีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อลดทอนความสำคัญของกระบวนการประชาธิปไตยที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมผ่านการตัดสินใจในการเลือกตั้งผู้แทนเข้าสู่สภาและเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ คำพูดที่ว่า “ภูเขาบังประชาธิปไตย” นี้ดูเหมือนจะล้อกับหนังสือธรรมชื่อ “ภูเขาบังวิถีพุทธธรรม” ของพุทธทาสภิกขุ และสิ่งที่เสนอในบทความก็ดูสมเหตุผลมากทีเดียว โดยเฉพาะกรณีที่บอกว่า “ถ้าประชาชนส่วนใหญ่เป็นโจร บ้านเมืองก็ฉิบหายเท่านั้น” 

ท่าทีต่อระบอบประชาธิปไตยทำนองนี้มีคนวิจารณ์ไว้ตั้งแต่การเสนอความเห็นของพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) เมื่อหลายปีก่อนแล้วว่าขัดแย้งกับแนวคิดพื้นฐานที่รองรับระบอบประชาธิปไตย กล่าวคือกระบวนการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยนั้นวางอยู่บนความเคารพในสิทธิ เสรีภาพ และความเท่าเทียมกันของประชาชน ซึ่งแสดงออกผ่านการใช้สิทธิเลือกตั้ง การเลือกตั้งจึงเป็นการให้โอกาสแก่ทุกคนได้ใช้สิทธิและเสรีภาพอย่างเท่าเทียมกัน  ไม่ว่าการเลือกนี้จะเป็นการสนองเจตนารมณ์ของตนเองหรือไม่ก็ตาม  การได้เลือกก็คือการที่พลเมืองทุกคนมีโอกาสกำหนดชะตากรรมของตนเอง ทุกคนจะเท่าเทียมกันในกรณีนี้ เพราะไม่ว่าคุณเป็นใครก็ตามคุณจะมีสิทธิเป็นได้แค่ 1 เสียงเหมือนกับคนอื่น ๆ แน่นอนว่า ในความเป็นจริง อาจมีการซื้อเสียงโดยผู้สมัคร ส.ส. กระนั้น ประชาชนผู้เลือกก็ได้ตัดสินใจด้วยตนเองแล้วว่าเขาควรจะเลือกใครก็ตามที่เขาเห็นว่าควรเลือก 

แต่ท่าทีต่อเพื่อมนุษย์ที่ปรากฏในคำของกวีผู้ทรงธรรมแห่งรัตน์โกสินทร์และถือเป็นเสมือนบทสวดมนตร์อันศักดิ์สิทธิ์นี้ นอกจากแสดงออกถึงท่าทีการมองคนในแง่ร้าย คือตัดสินในเชิงจริยธรรมไว้ก่อนแล้วว่า คนส่วนใหญ่อาจเป็น “โจร” มากกว่าเป็น “พระ” แล้ว ยังมองและให้คุณค่าแก่มนุษย์อย่างไม่เท่าเทียมกันด้วย ควรกล่าวด้วยว่า การมองว่า “คนส่วนใหญ่อาจเป็นโจรมากกว่าเป็นพระ” นี้ น่าจะมาความประทับใจในบทสนทนาระหว่างพระอัครสาวกสารีบุตรและพระโมคคัลลานเถระกับสัญชัยปริพพาชก เจ้าสำนักความคิดหนึ่งในสมัยพุทธกาลด้วย เมื่ออุปติสสะมาณพ (พระสารีบุตร) ชักชวนอาจารย์สัญชัยเข้าบวชในสำนักพระพุทธโคดม อาจารย์ได้ถามว่า ในโลกนี้มีคนโง่ หรือคนฉลาดมากกว่ากัน ผู้เป็นศิษย์ตอบว่า คนโง่มากกว่า คนฉลาดนั้นมีน้อย อาจารย์จึงว่า “เรายอมเป็นคนโง่ดีกว่าในกรณีเช่นนี้” ข้ออ้างทำนองนี้ดูเหมือนจะถูกบรรดาพระสงฆ์และนักคิดชาวพุทธจำนวนมากนำมาเป็นข้ออ้างสำคัญในการวิพากษ์วิจารณ์ระบอบประชาธิปไตยอยู่เสมอ แต่หาได้ตระหนักไม่ว่าการนำวาทกรรมในบริบทหนึ่งมาใช้ในอีกบริบทหนึ่งนั้นเข้าลักษณะการด่วนตัดสินจริยธรรมหรือการด่วนสรุป

การตัดสินคุณค่าผู้อื่นไว้ล่วงหน้าเช่นนี้ได้ปรากฏในบทความของเนาวรัตน์เช่นกัน ดังที่แสดงความคิดไว้ว่า เส้นทางประชาธิปไตยไทยตลอดแปดสิบปีที่ผ่านมานั้นขรุขระ ไม่ราบรื่น  เพราะคนที่เกี่ยวข้อง “มีทัศนะคับแคบ เห็นแก่ประโยชน์ตนเป็นใหญ่ จึงช่วงชิงความเป็นใหญ่เพื่อประโยชน์ตน . . . ใช้อำนาจเป็นธรรม โดยถือเอา “อัตตา” หรือ “ทิฐิมานะ “เป็นหลักเข้าหักหาญ ประชาธิปไตยจึงถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุผลประโยชน์สุขส่วนตนมากกว่าที่จะใช้เป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุผลประโยชน์สุขของส่วนรวม “ประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่” จึงกลายเป็นวาทะเพื่อเอาคะแนนเสียงเท่านั้น”

ความไม่เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยดังกล่าวนี้มาจากสมมติฐานอย่างน้อยสองประการคือ หนึ่ง ผู้ที่เข้าสู่อำนาจทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็น ส.ส. หรือรัฐบาลอันเนื่องมาจากการเลือกตั้งล้วนแต่เป็นพวกที่มุ่งผลประโยชน์ของตนเป็นใหญ่ สอง ประชาชนที่เลือกคนเหล่านี้ไม่มีความเป็นอิสระในการเลือก คือถูกชักชวนให้หลงเชื่อนักการเมืองโดยรู้ไม่เท่าทันว่าการอ้างประโยชน์เพื่อคนส่วนใหญ่ของนักการเมืองนั้นโดยแท้จริงแล้วอ้างเพื่อประโยชน์ส่วนตนทั้งสิ้น นี่คือการไม่เชื่อในความสามารถกำหนดตนเองหรืออัตตาณัติ (Autonomy) ของประชาชน  

จิตสำนึกแบบทำนองนี้ เกือบจะเรียกได้ว่าเป็นสำนึกโดยทั่วไปของชาวพุทธปัญญาชนของไทย และเป็นความคิดที่ฝังแน่นที่สุดในวัฒนธรรมชาวพุทธไทยโดยทั่วไป  ความคิดเช่นนี้ดูเหมือนจะมาจากอิทธิพลของพุทธทาสภิกขุ และพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) สมัยเมื่อยังมีสมณศักดิ์ที่พระเทพเวที (หรืออาจจะก่อนหน้านี้ก็ยังไม่แน่ใจนัก)

การที่จะมองเห็นข้อบกพร่องของประชาธิปไตยนั้นเป็นเรื่องปกติธรรมดา เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตทางการเมืองของประชาชน ไม่ว่าจะนักการเมือง กลุ่มการเมืองหรือประชาชนทั่วไป การเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองของคนเหล่านั้นล้วนส่อให้เห็นถึงสำนึกหรือความคิดที่คำนึงถึงผลประโยชน์เพื่อตนหรือเพื่อกลุ่มของตนทั้งสิ้น 

อันที่จริง การมีระบอบประชาธิปไตยก็เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนได้ใช้เสรีภาพอย่างเท่าเทียมกันในการเรียกร้องสิทธิที่จะได้รับการตอบสนองปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต หรือแม้กระทั่งสิทธิที่จะเลือกมีชีวิตที่ดีในแบบที่ตนเองปรารถนาโดยไม่ละเมิดผู้อื่นอยู่แล้ว การเรียกร้องผลประโยชน์ที่ตนจะพึงได้นั้นเป็น “สิทธิ” ที่ระบอบประชาธิปไตยอนุญาต การเรียกร้องตามสิทธิที่ตนเองจะได้อันถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาในสังคมเสรีนิยมนี้ กลายเป็นของแปลกก็เฉพาะเมื่อนำโลกทัศน์แห่งธรรม (ตามหลักการของพุทธศาสนา หรือศาสนาใด ๆ ก็ตาม) ที่เชิดชูความบริสุทธิ์สะอาดแห่งจิตใจเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิตมนุษย์ (โลกุตรธรรม) มาประเมินตัดสิน  
เมื่อมองจากสายตาของธรรม หรือสายตาของเหล่าผู้ยึดมั่นโลกุตรธรรม การกระทำการใด ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการ (ตัณหา) ของตัวเอง ล้วนจะต้องถูกมองหรือถูกตีความไปในทางที่เป็นความชั่ว เป็นปฏิปักษ์ต่อศีลธรรมหรือธรรมอันบริสุทธิ์สะอาดเสมอ  ด้วยการนำทัศนะทางโลกุตรธรรมมาครอบชีวิตโลกียธรรมของมนุษย์ธรรมดาสามัญ การหยามประณามวิธีการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยจึงปรากฏให้เห็นเสมอมา

ตัวอย่างเช่น ท่านพุทธทาสภิกขุ มองว่าระบอบประชาธิปไตยนั้นมันเหมาะสำหรับคนที่มีธรรมะ เนื่องจากว่าโดยปกติแล้ว มนุษย์จะเข้ามาสัมพันธ์กันโดยมีแรงผลักดันจากผลประโยชน์เป็นพื้นฐาน ผลประโยชน์ทำให้มนุษย์มีความจำเป็นที่ต้องสัมพันธ์กัน โดยเหตุนี้ การเมืองอันเคยมีความหมายที่สอดคล้องกับระบบธรรม คือเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ อยู่ภายใต้กฎธรรมชาติ  เป็นระบบการจัดการหรือการกระทำเพื่อคนจำนวนมากจะอยู่กันโดยปราศจากปัญหา ก็จะกลายเป็นการเมืองที่มีปัญหาขึ้นมา[2] 

“เพราะความสัมพันธ์กันเข้ามาหลายชาติ หลายพวก หลายหมู่เหล่า มันก็ย่อมเปิดโอกาสที่พวกใดพวกหนึ่งจะเอาเปรียบคนอื่นได้มากขึ้น ฉะนั้น มันจึงมีการเอาเปรียบที่มากขึ้นหรือเรียกว่าการขยายตัวของระบบการเมืองที่ไม่เป็นธรรม ดังนั้นการเมืองที่มันสกปรกน้อย มันก็เลยสกปรกมาก และขยายตัวเป็นระบบสกปรกมากขึ้น ความปราศจากธรรมของการเมืองตั้งต้นจากการขยายตัวของกิเลส ในเมื่อประโยชน์บังคับให้มนุษย์สัมพันธ์กันจนเกิดโอกาสจะเอาเปรียบกัน แล้วมันก็ตั้งต้นได้ แม้จากภายในครอบครัว แล้วก็เพื่อนบ้าน แล้วก็บ้านเมือง แล้วก็ประเทศชาติ”[3] 

แม้พุทธทาสภิกขุไม่ค่อยแน่ใจนักว่าประชาธิปไตยตามชาติตะวันตกนั้นหมายความว่าอะไร แต่ท่านก็ได้วิจารณ์ประชาธิปไตยโดยอิงความหมายตามที่แปลเป็นภาษาไทยแล้วว่า ถ้าประชาธิปไตย หมายถึง  “มีประชาชนเป็นใหญ่ หรือเป็นผู้ใช้อำนาจ”  มันก็จะมีปัญหาว่า การใช้อำนาจของคนส่วนใหญ่หรือประชาชนนั้น “มันถูกธรรมะหรือไม่ถูกธรรมะ ถ้าแต่ละคนมันไม่มีธรรมะ มันก็ใช้อำนาจเป็นอธรรมะ มันก็ถึงความวินาศกันตรงนี้เอง เพราะประชาธิปไตยนั่นแหละ” เพราะ “ประชาธิปไตยนี้ ถ้ากล่าวตามความเป็นจริงแล้วมันเหมาะสำหรับคนที่มีธรรมะ พอไม่มีธรรมะ ประชาธิปไตยนี้ก็เป็นเครื่องทำลายโลก ฉะนั้น อยากจะถือว่ามันเลวร้ายที่สุด”[4] 

ตามแนวคิดของพุทธทาสภิกขุ ระบอบประชาธิปไตยที่เป็นอยู่นั้นไม่ได้เป็นประชาธิปไตยที่ดี “โลกนี้มีแต่ประชาธิปไตยกอบโกย ไม่มีประชาธิปไตยที่มีเมตตากรุณา”  ประชาธิปไตยอาจเป็นที่ดีได้หากมีพื้นฐานจากธรรมะ เช่น มีพื้นฐานมาจากความเมตตากรุณา พุทธทาสภิกขุมองประชาธิปไตยว่าไม่ใช่คำตอบสำหรับปกครองประเทศ เพราะยากจะควบคุมให้มันถูกต้องชอบธรรมได้ ท่านเสนอทางเลือกที่ท่านเชื่อว่าดีกว่าประชาธิปไตยคือระบอบเผด็จการ (โดยธรรม) หรือ ธัมมิกสังคมนิยม เพราะหากผู้ปกครองมีธรรมะเป็นที่ตั้งในการบริหารประเทศแล้วก็มีทางที่จะก่อให้เกิดผลประโยชน์สุขแก่คนส่วนใหญ่มากกว่า 


หนังสือธรรมกับการเมือง ผลงานบางส่วนของพุทธทาสภิกขุ  

การมองว่าระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุดยังปรากฏในข้อเสนอของพระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ซึ่งปัจจุบันดำรงสมณศักดิ์ที่พระพรหมคุณาภรณ์อีกด้วย ในธรรมกถาเรื่อง “พระพุทธศาสนากับสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง”   ที่ตีพิมพ์ในหนังสือชื่อ “พระพุทธศาสนากับสังคมไทย” พระเทพเทวีได้วินิจฉัยว่า ระบอบประชาธิปไตยที่คนสมัยปัจจุบันยึดถือกันนั้นตรงกับระบอบสามัคคีธรรมในสมัยพุทธกาล ซึ่งเป็นระบอบปกครองที่ใช้ในแคว้นวัชชีและการปกครองคณะสงฆ์ของพระพุทธเจ้า ระบอบดังกล่าวนี้เน้นความสามัคคี ความเป็นระเบียบวินัย ระบบนี้จะมั่นคงได้ก็เพราะอาศัยความไม่เห็นแก่อามิส แต่เห็นแก่ธรรม เห็นแก่ความถูกต้องดีงามและเป็นประโยชน์สุขแก่ส่วนรวม[5]  อย่างไรก็ตาม เมื่อแปลความหมายประชาธิปไตยให้เป็นไปตามแนวคิดที่ว่าประชาชนเป็นใหญ่แล้วมันก็อาจจะไปเข้ากับสิ่งที่พุทธศาสนาเรียกว่า “โลกาธิปไตย” คือการยึดถือความนิยมของชาวโลกเป็นใหญ่ หวั่นไหวไปตามเสียงสรรเสริญนินทา  โลกาธิปไตยนั้นมีลักษณะสำคัญคือการทำตามเสียงส่วนใหญ่หรือค่านิยมของคนส่วนใหญ่ แง่ดีของมันคือการคำนึงถึงเสียงคนจำนวนมาก และสามารถควบคุมได้ด้วยเสียงของคนส่วนใหญ่ แต่ในทางร้ายก็คือ การคำนึงเสียงของคนส่วนใหญ่อาจทำให้ละทิ้งหลักการที่เป็นความถูกต้องเพราะกลัวเสียความนิยมของหมู่ชน ดังนั้น

“ประชาธิปไตยที่ดีย่อมไม่ต้องการโลกาธิปไตยแน่ แต่ต้องการธรรมาธิปไตย คือต้องการให้คนที่ออกเสียงทุกคนยึดถือธรรม ใช้ปัญญาและพูด (ให้เสียง) ออกมาจากใจจริง พูดสั้น ๆ ว่าประชาธิปไตยที่ดีเกิดจากธรรมาธิปไตย และประชาธิปไตยช่วยให้ได้ธรรมาธิปไตยหรือประชาธิปไตยที่ดีเป็นของคนมีธรรมาธิปไตย จะได้ประชาธิปไตยที่ดี คนต้องมีธรรมาธิปไตย”[6] 

ปัญหาก็คือจะทำอย่างไรให้ประชาธิปไตยเป็นธรรมาธิปไตย พระเทพเวทีเสนอว่า การจะเปลี่ยนประชาธิปไตยให้เป็นประชาธิปไตยก็ด้วยการรู้ว่าอะไรคือธรรม  “ความรู้จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยปัญญา จะให้มีปัญญาก็ต้องให้มีการศึกษา ฉะนั้นจะต้องเริ่มตั้งแต่ให้การศึกษา เพื่อจะให้คนมีปัญญาเกิดขึ้นจะได้รู้จักเลือก รู้จักวินิจฉัยว่าอะไรดี อะไรชั่ว อะไรเป็นประโยชน์สุขต่อส่วนรวม มีปัญญามากขึ้นเขาก็รู้จักแยกแยะมากขึ้น เรียกว่ารู้ทางเลือกมาขึ้น”[7] 


พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์  ปยุตฺโต) และหนังสือระดับมาสเตอร์พีช “พุทธธรรม” ของท่าน

น่าสังเกตว่าสิ่งที่เหมือนกันอย่างหนึ่งในแนวคิดที่นำเสนอโดยกวีธรรม เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์หรือพระนักปราชญ์ทางพุทธศาสนาที่กล่าวมาก็คือ การให้ความสนใจต่อเป้าหมายทางสังคมที่ระบอบประชาธิปไตยมุ่งหวังว่าจะไปให้ถึงคือ การที่ทุกคนในสังคมได้รับประโยชน์อย่างเสมอหน้ากัน (ประโยชน์สุขของคนส่วนใหญ่) แต่ดูเหมือนว่ากระบวนการทางประชาธิปไตยที่ให้ความสำคัญกับการเลือกของคนส่วนใหญ่จะเข้ากันไม่ได้กับสมมติฐานที่ว่ามนุษย์ส่วนใหญ่เห็นแก่ตัว (หรือไม่ก็สมมติฐานที่ว่า คนฉลาดคือคนส่วนน้อยของสังคม) ซึ่งเป็นข้ออ้างที่ชาวพุทธทั่วไปยอมรับเนื่องจากอิทธิพลของเรื่องเล่าในตำนานพุทธประวัติ ท่านเหล่านั้นเชื่อว่าการที่ระบอบประชาธิปไตยอนุญาตให้คนส่วนใหญ่มีอำนาจปกครองนั้นจะนำไปสู่ความล่มจมของสังคม  เพราะคนส่วนใหญ่ทั้งเห็นแก่ตัวทั้งไม่ฉลาดรู้อรรถรู้ธรรม ไม่รู้จักความถูกต้องดีงาม เพราะยังไม่ได้รับการศึกษาที่ดีพอ 

แต่สิ่งที่ท่านเหล่านั้นไม่ตระหนักคือ ประชาธิปไตยให้ความสำคัญกับกระบวนการอันเป็นจุดเริ่มต้นของมันด้วย กล่าวคือการเริ่มต้นจากการลบคุณค่าทางศีลธรรมอื่น ๆ ออกทั้งหมด เหลือไว้แต่มนุษย์ในฐานะที่เกิดมามีชีวิต มีอารมณ์ความรู้สึก มีรสนิยมที่แตกต่างกัน มีเป้าหมายชีวิตแตกต่างกัน และตระหนักว่าแต่ละคนมีค่าในตัวเอง คือมีสิทธิในชีวิตและทรัพย์สินของตัวเอง มีเสรีภาพที่จะเลือกดำเนินชีวิตตามที่ตนเองปรารถนา การให้แต่ละคนมีเพียงหนึ่งเสียงในการเลือกตั้งก็มาจากรากฐานอันนี้ เมื่อลบคุณค่าทางศีลธรรมหรือคุณค่าอื่น ๆ ออกไป เหลือไว้แต่คุณธรรมแบบโลกย์ ๆ คือ การเคารพในสิทธิของผู้อื่น เสรีภาพ และการให้ความเสมอภาค มนุษย์แต่ละคนจะมีเท่ากัน และเขาจะมีเพิ่มขึ้นในเชิงปริมาณเมื่อความต้องการของเขาไปรวมเข้ากับความต้องการของคนอื่น ๆ ซึ่งมีคนละหนึ่งเลียงเท่ากัน  ประชาธิปไตยจึงเป็นระบอบที่ให้ความสำคัญกับเสียงของมนุษย์ทุกคนไม่ว่าเขาจะเป็นใครก็ตาม ต่างจากมุมมองที่ให้ความสำคัญอย่างสูงสุดต่อคุณค่าทางจริยธรรมศาสนา ที่ความเป็นธรรมดาสามัญไม่เพียงพอที่จะถูกนับ หากต้องมีสิ่งอื่นเพิ่มเข้ามาด้วยโดยเฉพาะคุณธรรมจริยธรรมที่ศาสนายอมรับ เมื่อพิจารณาในแง่นี้ ดูเหมือนว่า โดยพื้นฐานความคิด ชาวพุทธ (ปัญญาชน ?) มีแนวโน้มจะเข้าข้างเผด็จการ โดยเฉพาะผู้ที่ปรารถนาจะครอบสังคมไว้ด้วยระบบศีลธรรมบางประการที่มาจากพุทธศาสนา

หากถือตามมาตรฐานทางศีลธรรม (โลกุตรธรรม) ทางพุทธศาสนา ความเป็นธรรมดาสามัญมนุษย์ที่ยังมีความโลภ โกรธ หลง จะเป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์เพราะมันคือรากเหง้าของอกุศล จึงไม่แปลกที่ผู้เชิดชูศาสนธรรมจะเห็นที่ว่าประชาธิปไตยที่ปล่อยให้คนไร้การศึกษา “เลือก” ผู้แทนตามใจของตนเองหรือตามความรู้สึกของตนเองเป็นสิ่งที่ไม่น่ายอมรับ ปฏิเสธไม่ได้ว่า พระนักคิดหรือนักปราชญ์แต่ละท่านย่อมมีความหวังดีต่อสังคม ต่อประเทศเช่นเดียวกับเรา แต่ในฐานะผู้ได้รับอิทธิพลจากคำสอนทางศาสนา ท่านย่อมให้คุณค่าแก่สิ่งซึ่งต้องด้วยศีลธรรมทางศาสนาเป็นอันดับแรก ด้วยเชื่อว่าศีลธรรมจะเป็นเครื่องนำทางชีวิตและสังคมไปสู่สันติสุข ออกนอกธรรมแล้วสันติสุขย่อมมีไม่ได้ 

การนำมาตรฐานทางศีลธรรมศาสนาที่ยึดถือเอาความบริสุทธิ์ผุดผ่องในจิตใจเป็นสำคัญสูงสุด ไปตัดสินระบอบประชาธิปไตยซึ่งให้ความสำคัญกับความเป็นธรรมสามัญมนุษย์ ก็ย่อมจะนำไปสู่ข้อสรุปที่ทำลายความชอบธรรมของระบอบประชาธิปไตยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็พึงตระหนักว่าระบอบประชาธิปไตยนั้นมีตรรกะที่สมเหตุสมผลในตัวมันเอง เพียงแต่ข้อวิจารณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะของเนาวรัตน์  พงษ์ไพบูลย์ พุทธทาสภิกขุ และพระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ได้วางอยู่บนฐานแห่งการตระหนักถึงตรรกะอันเป็นรากฐานที่แท้จริงของประชาธิปไตยหรือไม่เพียงใด 

บางทีที่บอกว่า “เส้นผมบังภูเขาประชาธิปไตย” นั้นอาจไม่ใช่ หากแต่เป็น “แว่นสี” ที่สวมไว้ต่างหากที่ไปเบี่ยงเบนสายตาม ทำให้มองไม่เห็นความชอบธรรมของวิถีของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย
................................................................
การอ้างอิง

[1] เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ “แปดสิบปี 24 มิถุนา” ใน มติชนสุดสัปดาห์ ปีที่ 32 ฉบับที่ 1662 ประจำวันที่ 22-28 มิถุนายน 2555 หน้า 59
[2] อ้างใน วีระ สมบูรณ์, ธรรมกับการเมืองของพุทธทาสภิกขุ. กรุงเทพฯ : ประพันธ์สาส์น, 2550 หน้า 40
[3] เพิ่งอ้าง, หน้า 58-59
[4] เพิ่งอ้าง, หน้า 63
[5] พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต), พุทธศาสนากับสังคมไทย. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2532. หน้า 33 (การเน้นเป็นของผู้เขียน)
[6] เพิ่งอ้าง, หน้า 45
[7] เพิ่งอ้าง, หน้า 50

บล็อกของ กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร

กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
วิจักขณ์​ พานิชกลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์พุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร 
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
วิจักขณ์ พานิชกลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร