Skip to main content

สุรพศ ทวีศักดิ์

กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
 
 
  
ในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองกว่า 6 ปีมานี้ เห็นได้ชัดว่าหลายสิ่งหลายอย่าง “ถูกทำให้เบี่ยงเบน” ไป บางคนบอกว่าความขัดแย้งไม่รู้จบเพราะสังคมแบ่งเป็นสีเหลือง สีแดง แต่หากมองอีกแง่หนึ่งถึงสังคมจะแบ่งเป็นกี่สี หาก “สถาบันหลัก” ของสังคมไม่ถูกทำให้เบี่ยงเบนไป ยังสามารถดำรงความน่าเชื่อถือเอาไว้ได้ ความขัดแย้งก็อาจไม่ร้าวลึกถึงเพียงนี้ เช่น สถาบันองคมนตรี โดยเฉพาะถ้าประธานองคมนตรีที่ยกย่องกันว่าเป็น “เสาหลักทางจริยธรรม” มีความซื่อสัตย์ต่อรัฐธรรมนูญ เมื่อรัฐธรรมนูญห้ามยุ่งการเมืองก็ไม่ยุ่งจริงๆ (เป็นต้น) ปัญหาก็จะไม่บานปลายมากขนาดนี้
 
ส่วนสถาบันอื่นๆ เช่น กองทัพ ตุลาการ พรรคการเมือง สื่อ นักวิชาการ ฯลฯ ถ้ามองจากจุดยืนอุดมการณ์ประชาธิปไตย ทุกสถาบันล้วนถูกตั้งคำถามถึง “บทบาทที่ควรจะเป็น” หรือกระทั่ง “ความล้มละลาย” ในการทำหน้าที่บนอุดมการณ์ประชาธิปไตยเลยด้วยซ้ำ
 
ในท่ามกลางการถูกทำให้เบี่ยงเบนของแทบทุกสิ่งทุกอย่างนั้น คำพูดของพุทธทาสที่ว่า “ประชาธิปไตยไม่ใช่ประชาชนเป็นใหญ่ แต่ประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่…” ก็ถูกทำให้เบี่ยงเบนไปเช่นกัน โดยฝ่ายหนึ่งนำมาอ้างซ้ำๆ เพื่อสนับสนุนการต่อสู้ทางการเมืองของฝ่ายตนเอง และอีกฝ่ายก็นำมาโจมตี ราวกับว่าพุทธทาสสนับสนุนประชาธิปไตยในความหมายของฝ่ายหนึ่ง และปฏิเสธประชาธิปไตยในความหมายของอีกฝ่าย
 
แท้จริงแล้ว การจะสรุปว่า พุทธทาสสนับสนุนประชาธิปไตยแบบที่พันธมิตรเรียกร้อง (ประชาธิปไตยแบบรักษา/เพิ่มพระราชอำนาจ ยอมรับรัฐประหารด้วยข้ออ้างปกป้องสถาบันกษัตริย์) หรือปฏิเสธประชาธิปไตยแบบที่เสื้อแดงเรียกร้อง (ประชาธิปไตยแบบลดพระราชอำนาจให้เหมือนอังกฤษหรือญี่ปุ่น ปฏิเสธ/ยุติรัฐประหารอย่างถาวร) นั้น ไม่อาจสรุปได้เพียงจากการอ้างคำพูดบางประโยคเท่านั้น จำเป็นต้องวิเคราะห์ความคิดทางการเมืองของพุทธทาสทั้งระบบ ซึ่งผมอยากชวนวิเคราะห์ในประเด็นหลักๆ (โดยย่อ) ต่อไปนี้
 
บริบทและหลักการเสนอความคิดทางการเมือง
 
ความคิดทางการเมืองของพุทธทาสที่เป็นระบบที่สุดปรากฏในหนังสือชุดธรรมโฆษของพุทธทาส เรื่อง “ธรรมะกับการเมือง” (และที่นำมาตีพิมพ์ใน “สรรนิพนธ์พุทธทาส” เป็นต้น) เป็นหนังสือรวบรวมการบรรยายประจำวันเสาร์ ระหว่างวันที่ 3 กรกฎาคม–กันยายน 2519 ภาคอาสาฬหบูชา รวม 11 ครั้ง บริบทของการบรรยายจึงอยู่ในสถานการณ์ต่อสู้ถกเถียงเกี่ยวกับแนวคิดทางการเมืองแบบประชาธิปไตย และสังคมนิยม ของนักศึกษา ปัญญาชน ณ เวลานั้น ก่อนที่จะนำไปสู่เหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ไม่นานนัก
 
ในบริบทการถกเถียงและการต่อสู้ทางการเมืองดังกล่าว พุทธทาสได้วางหลักในการในการเสนอความคิดทางการเมืองของท่านเองว่า ต้องมีอิสระ มีความเป็นตัวของตัวเองให้มากที่สุด ซึ่งท่านเรียกว่าต้องมี “อิสรภาพตามความเหมาะสม” ใน 4 ด้าน คือ[1]
 
1. อิสรภาพในการรวบรวม เราจะมีอิสรภาพในการรวบรวมมาวินิจฉัย คือจะไม่รวบรวมแต่เฉพาะของที่มนุษย์เขาพูดๆ กันไว้ เราจะรวบรวมเอามาแม้จากของพระเจ้า ของธรรมชาติอันเร้นลับ รวบรวมเอาสติปัญญาของพระเจ้า ของธรรมชาติอันเร้นลับมากองเข้าเป็นเดิมพัน...
 
2. อิสรภาพในการวินิจฉัย เราจะเป็นคนเชื่อตัวเอง นับถือตัวเอง เอาตัวเองเป็นหลัก...เราจะมีความเป็นอิสระแก่ตัวเองทำการวินิจฉัย แม้จะตีความใดๆ ก็ตีอย่างเป็นอิสระเพื่อการวินิจฉัย
 
3. อิสรภาพในการเลือก เมื่อเราวินิจฉัยมันไปทุกแง่ทุกมุมแล้ว เราจะเลือกเอาอะไร แง่มุมไหน เราก็จะต้องเป็นอิสระเหมือนกัน (เช่นเมื่อวินิจฉัยความหมายของการเมือง,ประชาธิปไตย,สังคมนิยม เป็นต้นทุกแง่ทุกมุมแล้ว ก็ต้องมีอิสรภาพที่จะเลือกความหมาย หรือแง่มุมที่เหมาะกับสังคมของตัวเอง)
 
4. อิสรภาพในการปฏิบัติ เราต้องมีอิสรภาพในการปฏิบัติเท่าที่เราได้เลือก…ไม่จำเป็นที่จะต้องเอาตามที่เขาเขียนให้เราเรียน
 
โดยหลักอิสรภาพตามความเหมาะสมนี้ พุทธทาสได้วิจารณ์สภาวการณ์ทางการเมืองโดยรวมในขณะนั้น นำแนวคิดทางการเมืองต่างๆ มาวิเคราะห์ และเสนอนิยามความหมายของการเมืองของตนเอง พร้อมกับเสนอแนวคิดทางการเมืองที่อ้างอิงหลักการของพุทธศาสนา
 
ข้อวิจารณ์เสรีประชาธิปไตย/สังคมนิยม
 
พุทธทาสมองว่า คนไทยไม่มีอิสรภาพทั้ง 4 ด้านนั้น จึงไม่เป็นตัวของตัวเองในทางความคิด ทำให้รับเอาความคิดทางการเมืองแบบตะวันตกมาใช้กับสังคมตนเองอย่าง “ผิดฝาผิดตัว” ทั้งที่ประชาธิปไตยและสังคมนิยมที่รับจากเขามาก็มีปัญหาอยู่มาก ดังที่ท่านวิจารณ์ อาทิเช่น
 
ประชาธิปไตยที่ว่าเพื่อประชาชน โดยประชาชน ของประชาชนนั่นแหละ ประชาธิปไตยแห่งความเห็นแก่ตัว เพราะประชาชนนั้นมันเห็นแก่ตัว แล้วประชาธิปไตยก็เป็นประชาธิปไตยของผู้เห็นแก่ตัว ราษฎรที่เลือกผู้แทนก็เห็นแก่ตัว...แล้วผู้สมัครมาเป็นผู้แทนมันก็เห็นแก่ตัว ...เมื่อผู้แทนเห็นแก่ตัวไปตั้งสภาก็เป็นสภาแห่งความเห็นแก่ตัว...ถ้าสภาเห็นแก่ตัวตั้งรัฐบาลขึ้นมาก็เป็นรัฐบาลเห็นแก่ตัว[2] 
 
และว่า “เสรีนิยมประชาธิปไตยที่เราได้จากฝรั่งมานี้ มันเป็นเรื่องโมหะ มันยังไม่ถูกฝาถูกตัวบ้าง แล้วโดยที่เนื้อแท้มันไม่ถูกต้องด้วย ถ้าหากประชาธิปไตยหมายความว่าใครทำอะไรได้ตามชอบใจ” [3]
 
หรือ “...เสรีประชาธิปไตยในโลกนี้มันเปิดโอกาสให้กอบโกยได้ง่าย เปิดโอกาสทุกอย่าง ใครจะเลวจะดี จะกอบโกย จะเอาเปรียบอย่างไรก็ทำได้...” [4]
 
และ “ถ้ามันมีนายทุนมันก็เป็นประชาธิปไตยไม่ได้ ไม่มีสมภาพ ไม่มีเสรีภาพในประชาธิปไตยชนิดนั้น ภราดรภาพก็ไม่ต้องพูดถึง...”[5]
 
นอกจากนี้พุทธทาสยังวิจารณ์สังคมนิยมว่า  “สังคมนิยมที่ไม่เผด็จการเรียกว่าสังคมนิยมเฉยๆ นี่เพียงแต่เอือมระอาประชาธิปไตยมาเท่านั้น มันยังไม่รู้จะไปทิศทางไหน มันยังสะลึมสะลือ เสรีภาพสะลึมสะลือ ภราดรภาพสะลึมสะลือ...” [6]
 
และว่า “...สังคมนิยมที่เผด็จการสุดเหวี่ยงมันก็ยังมีหลายแง่ เพราะว่ามันเกิดมาจากไฟอาฆาตของชนกรรมาชีพที่มันถูกทรมานมานาน พอหลุดออกมาได้มันก็บ้าเลือด มันไม่ประกอบไปด้วยธรรม มันเสียเสรีภาพ...[7]
 
หากพิจารณาคำวิจารณ์โดยรวมๆ แล้ว จะเห็นว่า พุทธทาสนำเอาฐานคิดเรื่องความไม่มี “ตัวกู ของกู” หรือ “ความไม่เห็นแก่ตัว” ตามหลักคำสอนของพุทธศาสนาที่ท่านเน้นย้ำเสมอๆ มาเป็นจุดยืนในการวิจารณ์สภาพการณ์และแนวคิดทางการเมืองในบริบทปี 2519 มองจากฐานคิดนี้ความเห็นแก่ตัวคือสาเหตุมูลฐานของทุกข์ในชีวิตและทุกข์ทางสังคม ฉะนั้น การเมืองที่จะแก้ปัญหาได้จริง จึงต้องเป็นการเมืองที่เห็นแก่ส่วนรวม นี่จึงเป็นที่มาของการนิยาม “ประชาธิปไตยคือประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่”
 
ความคิดหลักอีกอย่างที่ท่านนำมาใช้คือท่านยืนยันว่า เสรีภาพในทางพุทธศาสนาหมายถึงเสรีภาพจากกิเลสหรือ “วิมุติ” หมายความว่า ปัจเจกบุคคลสามารถปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุเสรีภาพเช่นนี้ได้ และถ้านำหลักเสรีภาพนี้มาประยุกต์ใช้ในทางสังคมการเมือง ก็ต้องมีขอบเขตว่าไม่ใช้เสรีภาพตามกิเลส ตามความเห็นแก่ตัวไปในทางละเมิดประโยชน์ของประชาชน
 
นอกจากนี้ยังใช้จุดยืนตามกฎธรรมชาติที่ท่านเรียกว่า “กฎอิทัปปัจจยตา” ซึ่งเป็นกฎที่มีเนื้อหาว่า “สรรพสิ่งดำรงอยู่อย่างอิงอาศัยกันและกัน” และหลักการอยู่ร่วมกันบนพื้นฐานของมโนสำนึกที่ว่า “สัตว์ทั้งหลายล้วนเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกันทั้งสิ้น” ทำให้ท่านสรุปว่า กฎธรรมชาติและสำนึกในความเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ทางพุทธศาสนากำหนดและมุ่งหมายให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างพึ่งพาอาศัย และเอื้ออาทรต่อกัน การจัดระบบการเมืองที่จะแก้ปัญหาการอยู่ร่วมกันของคนหมู่มากได้ จึงจำเป็นต้องจัดให้สอดคล้องกับกฎแห่งการอิงอาศัยกันและสำนึกความเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ดังกล่าวนี้ สังคมหรือโลกจึงจะอยู่รอด หรือมีสันติภาพได้โดยไม่ต้องใช้อาชญา
 
ฉะนั้น เมื่อใช้จุดยืนความไม่มีตัวกู ของกู หรือความไม่เห็นแก่ตัว เสรีภาพ กฎแห่งการอิงอาศัยกัน และสำนึกในความเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ (เป็นต้น) มาเป็นฐานคิดในการมองปรากฏการณ์และแนวคิดทางการเมือง ณ เวลานั้น พุทธทาสจึงมองเห็นแต่ภาพที่ตรงกันข้ามกับจุดยืนของท่าน
 
ข้อเสนอ “ธัมมิกสังคมนิยมประชาธิปไตย” หรือ “ธัมมิกสังคมนิยม”
 
ด้วยหลักการ “อิสรภาพตามความเหมาะสม” ใน 4 ด้าน ดังกล่าวแล้ว พุทธทาสยืนยันความเป็นอิสระหรือเป็นตัวของตัวเองจากความคิดทางการเมืองแบบตะวันตก แล้วนิยามความหมายของการเมืองขึ้นมาเองว่า “สิ่งที่เรียกว่าการเมืองนั้นคือ ระบบการจัดหรือการกระทำเพื่อคนจำนวนมากจะอยู่กันโดยปราศจากปัญหา โดยไม่ต้องใช้อาชญา ...คือไม่ต้องใช้อาวุธ ไม่ต้องใช้การกระทำที่เรียกว่าหิงสา หรือการฆ่ากัน เป็นต้น” [8]
 
เมื่อใช้นิยามการเมืองดังกล่าวมามองประชาธิปไตย พุทธทาสเห็นว่า
 
ประชาธิปไตยนั้นพอจะเรียกว่าเป็นอุดมคติทางการเมือง แต่ฟังดูแล้วมันเป็นสิ่งที่หลับตาพูด จะให้ประชาชนเป็นใหญ่นี้ มันไม่มีใครจัดได้ ที่จัดกันอยู่ทุกวันนี้มันไม่ใช่ประชาชนเป็นใหญ่ มันมีอำนาจมีอะไรที่กอบโกยเอามาเป็นของบุคคลบางคนหรือเป็นของพรรคบางพรรค แล้วก็ใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ของพรรคมากกว่าที่จะเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ฉะนั้น เราเลิกคำว่าประชาชนเป็นใหญ่เสียดีกว่า แต่มีคำเข้ามาแทนว่า ประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่ จัดระบบการเมืองแบบไหนรูปไหนก็ตามใจคุณเถอะ ขอแต่ให้ประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่[9]
 
จะเห็นว่าพุทธทาสมองว่าประชาธิปไตยในความหมายว่า “ประชาชนเป็นใหญ่” นั้น เป็นระบบการเมืองที่สร้างปัญหามากกว่าแก้ปัญหา ฉะนั้น ท่านจึงนิยามใหม่ว่า “ประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่” ซึ่งไม่ใช่ปฏิเสธประชาธิปไตยโดยสิ้นเชิง เพราะท่านยังบอกว่า “…จัดระบบการเมืองแบบไหนรูปไหนก็ตามใจคุณเถอะ ขอแต่ให้ประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่”แต่ถ้าจะเป็นประชาธิปไตยท่านก็เสนอว่า
 
เราต้องมีประชาธิปไตยที่ประกอบไปด้วยธรรม เรียกว่าธัมมิกประชาธิปไตย นี้เกี่ยวกับการปกครอง ธัมมิกสังคมนิยมนั้นมันเกี่ยวกับเศรษฐกิจ ถ้าธัมมิกประชาธิปไตยมันเกี่ยวกับการปกครอง เอาธรรมะเป็นใหญ่ เอาความถูกต้องเป็นใหญ่ ไม่ใช่ประชาธิปไตยของคนที่เห็นแก่ตัว...ฉะนั้น ประชาธิปไตยต้องจำกัดความให้ดีๆ ว่าต้องของประชาชนที่มีศีลธรรม เลยต้องใช้คำว่า ธัมมิกประชาธิปไตย มีธรรมะเป็นหลัก มีความถูกต้องเป็นหลัก อย่าเห็นแก่ตัว เห็นแก่ธรรมะแล้วก็อย่าเห็นแก่ตัว[10]  
 
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนพุทธทาสจะคล้อยไปทาง “สังคมนิยมประชาธิปไตย” ดังที่ท่านเสนอว่า
 
ประชาธิปไตยต้องแคบเข้ามาเป็นอย่างที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยชนิดสังคมนิยม” ถ้าสังคมนิยมมันยังกว้างอยู่ก็ต้องแคบเข้ามา จนเป็นสังคมนิยมชนิดที่ประกอบอยู่ด้วยธรรมะ...ธรรมชาติแท้ๆ มันต้องการให้เห็นแก่สังคม ไม่ใช่ให้เห็นแก่ตัวเอง เพราะฉะนั้น หลักอันนี้เปลี่ยนไม่ได้ต้องเห็นแก่สังคม เมื่อเห็นแก่สังคมแล้วมันก็ไม่มีทางจะกอบโกย คือจะไม่เอาส่วนเกิน จะเอาแต่ส่วนที่จำเป็น ส่วนที่เหลือที่เป็นส่วนเกินนั้นก็ยกให้ผู้อื่น นี้เป็นเจตนารมณ์หรือใจความสำคัญในพุทธศาสนา[11]
 
สังเกตว่า พุทธทาสใช้ “ธรรมเป็นใหญ่” กับ “ประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่” แทนกันได้ เพราะถ้าถือธรรมเป็นใหญ่ก็หมายถึงยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่ ตรงกันข้ามกับ “ธรรม” ก็คือ “ความเห็นแก่ตัว” เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว และละเมิดประโยชน์ของประชาชน ฉะนั้น เราอาจตีความได้ว่าข้อเสนอ “ธรรมเป็นใหญ่” หรือ “ประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่” ก็คือข้อเสนอ “ขอบเขต” ของการใช้อำนาจรัฐนั่นเอง หากเป็นรัฐประชาธิปไตยที่อำนาจเป็นของประชาชน เสียงข้างมากจะใช้อำนาจละเมิดธรรมหรือประโยชน์ของประชาชนไม่ได้
 
หมายความว่า ถ้าประชาชนเป็นใหญ่พุทธทาสมองว่ามันไม่มีหลักประกันอะไร ถ้าประชาชนเห็นแก่ตัวและใช้อำนาจตามความเห็นแก่ตัวก็เกิดปัญหา แต่ถ้ายึดประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่หรือธรรมเป็นใหญ่ก็จะมีหลักประกันว่า ใครๆ จะใช้อำนาจไปตามความเห็นแก่ตัวเพื่อละเมิดประโยชน์ของประชาชนไม่ได้
 
นิยามที่ว่า “ประชาธิปไตยคือประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่” นั้น พุทธทาสเทียบเคียงกับ “สังฆาธิปไตย-ประโยชน์ของสงฆ์เป็นใหญ่” หมายถึงสงฆ์ที่เป็นส่วนรวม ไม่ใช่ภิกษุแต่ละรูป ในระบบสังคมสงฆ์ต้องถือประโยชน์ของสงฆ์เป็นใหญ่ ประโยชน์ของสงฆ์คือ “ธรรมวินัย” ที่วางระบบความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ และสิทธิในการศึกษาปฏิบัติตามธรรมวินัยเพื่อบรรลุเสรีภาพจากกิเลส ฉะนั้น การกระทำหรือการศึกษา ปฏิบัติ และเผยแผ่ธรรมของพระภิกษุแต่ละรูปจะต้องยึดประโยชน์ของสงฆ์เป็นใหญ่ คือการรักษา “ระบบ” หรือ “ธรรมวินัย” ให้มั่นคง การละเมิดธรรมวินัยก็คือการละเมิดประโยชน์ของสงฆ์หรือส่วนรวม
 
โดยนัยนี้ เมื่อพุทธทาสนิยามประชาธิปไตยว่า “ประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่” จึงไม่ใช่ประโยชน์ของประชาชนคนใดคนคนหนึ่งโดยเฉพาะ แต่หมายถึงประโยชน์ของประชาชนทั้งหมด หรือ “ประโยชน์ส่วนรวม” ดังนั้น การใช้อำนาจของประชาชน หรือผู้ปกครองจะใช้อย่างเห็นแก่ตัว ตามกิเลส หรือไม่มีศีลธรรม (ในความหมายที่เป็นการละเมิด “ธรรม” หรือ “ประโยชน์ของประชาชน”) ไม่ได้
 
ฉะนั้น แนวคิดทางการเมืองของพุทธทาสบนจุดยืนความไม่มีตัวกู ของกู หรือความไม่เห็นแก่ตัว เสรีภาพ กฎแห่งการอิงอาศัยกัน และสำนึกในความเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ (เป็นต้น) จึงเป็นแนวคิดที่คล้อยไปทาง “สังคมนิยมประชาธิปไตย” ซึ่งท่านกำหนดชื่อเฉพาะว่า “ธัมมิกสังคมนิยมประชาธิปไตย” หรือเรียกสั้นๆ ว่า “ธัมมิกสังคมนิยม” คือระบบสังคมการเมืองที่ยึดธรรมหรือประโยชน์ของประชาชนเป็นขอบเขตของการใช้อำนาจ ยอมรับเสรีภาพในการแสดงออก การวิจารณ์ตรวจสอบ แต่ปฏิเสธเสรีภาพตามกิเลส (ในความหมายอย่างกว้าง คือใช้ความเห็นแก่ตัวละเมิดประโยชน์ของส่วนรวม) และยืนยันความเป็นธรรมหรือความเสมอภาคทางเศรษฐกิจบนหลักการสังคมนิยม คือครอบครองทรัพย์สินตามความจำเป็น ส่วนเกินยกให้ผู้อื่นหรือสังคม
 
วิจารณ์
 
คำวิจารณ์ประชาธิปไตยของพุทธทาสค่อนข้างคลุมเครือ ไม่ชัดเจนว่ากำลังวิจารณ์ “หลักการ” ประชาธิปไตยหรือวิจารณ์พฤติกรรมของคน (ประชาชน นักการเมือง ฯลฯ) ในสังคมประชาธิปไตยกันแน่ หรือวิจารณ์แบบ “เหมารวม” เพราะไม่เห็นท่านหยิบยกหลักการประชาธิปไตยมาวิเคราะห์ให้เห็นปัญหาชัดๆ เช่น ที่วิจารณ์ว่า “เสรีนิยมประชาธิปไตยที่เราได้จากฝรั่งมานี้ มันเป็นเรื่องโมหะ มันยังไม่ถูกฝาถูกตัวบ้าง แล้วโดยที่เนื้อแท้มันไม่ถูกต้องด้วย ถ้าหากประชาธิปไตยหมายความว่าใครทำอะไรได้ตามชอบใจ” (คำวิจารณ์ที่พบมากมายก็ออกในแนวนี้แทบทั้งสิ้น) ซึ่งเมื่อว่าโดย “เนื้อแท้” หรือในทาง “หลักการ” แล้ว ไม่มี “ประชาธิปไตยที่ใครทำอะไรได้ตามใจชอบ” อยู่จริง เพราะประชาธิปไตยในโลกสมัยใหม่ที่เรียกว่าเสรีนิยมประชาธิปไตยนั้น ถามว่าอำนาจเป็นของใคร คำตอบคือของประชาชน และประชาชนใช้อำนาจนั้นโดยยึดกติกาเสียงข้างมาก แต่ขอบเขตของการใช้อำนาจของเสียงข้างมากนั้น เสรีนิยมก็กำหนดไว้ชัดเจนว่า จะละเมิดหลักสิทธิ เสรีภาพไม่ได้ ฉะนั้น เสียงส่วนใหญ่จึงต้องเคารพสิทธิ เสรีภาพของเสียงส่วนน้อย เป็นต้น
 
ส่วนคำว่า “ธรรมะ” พุทธทาสก็ใช้ในความหมายกว้างมาก กินความครอบคลุมถึงธรรมชาติ กฎธรรมชาติ การปฏิบัติตามกฎธรรมชาติ ผลที่เกิดจากการปฏิบัติตามกฎธรรมชาติ รวมทั้งธรรมะในชื่ออื่นๆ เช่น ศีลธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม การปกครอง เศรษฐกิจ สงคราม ฯลฯ[12] นิยามที่กว้างครอบจักรวาลเช่นนี้ ทำให้ความคิดของท่านคลุมเครือ สามารถถูกตีความและหยิบไปใช้ประโยชน์ได้ในทุกฝ่ายแม้จะยึดถืออุดมการณ์ทางการเมืองที่ขัดแย้งกัน
 
แต่เราอาจทำความเข้าใจความคิดของท่านได้ชัดเจนขึ้น ถ้าพิจารณาจากที่ท่านได้จัดธรรมที่พึงประสงค์ (ธรรมฝ่ายกุศล) ไว้กว้างๆ ว่าคือสิ่งที่ส่งเสริมประโยชน์ของประชาชนเช่นสันติภาพ เสรีภาพ (ซึ่งรวมทั้งเสรีภาพจากกิเลส) ภราดรภาพเป็นต้น
 
ถ้าเป็นเช่นนี้ก็หมายความว่า (โดยนิยามของธรรมแบบกว้างและการจัดธรรมที่พึงประสงค์ไว้กว้างๆ) หลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย หรือหลักการกำหนด “ขอบเขต” ของการใช้อำนาจในสังคมประชาธิปไตย คือสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ก็ต้องเป็นธรรมะที่พึงประสงค์ด้วย เท่ากับว่า ประชาธิปไตยก็มีหลักการที่ถูกต้อง หรือมีธรรมะ มีศีลธรรมในตัวของมันเองอยู่แล้ว ธรรมะในพุทธศาสนาจะมีค่าต่อความเป็นประชาธิปไตยก็ต่อเมื่อธรรมะนั้นๆ ส่งเสริมการปฏิบัติตามหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยดังกล่าวเท่านั้น
 
แต่ดูเหมือนพุทธทาสจะเห็นว่า หลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยดังกล่าว เป็นอุดมคติที่ไม่อาจเป็นจริงได้  ถ้าสังคมไม่วางระบบ (เช่นการศึกษา) ที่ส่งเสริมให้ประชาชนฝึกฝนตนเองตามหลักเสรีภาพจากกิเลสของพุทธศาสนา ที่เน้นการจำกัดหรือควบคุมการใช้เสรีภาพตามกิเลสหรือตามความเห็นแก่ตัว ซึ่งท่านเชื่อว่า เป็นหลักประกันการไม่ละเมิดประโยชน์ของส่วนรวมได้ดีกว่า ขณะที่หลักการอิงอาศัยกันและกันตามกฎอิทัปปัจจยตาเป็นกฎธรรมชาติที่เฉียบขาดว่า สันติภาพที่แท้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อการจัดระบบการเมืองไม่ละเมิดหรือสวนทางกฎการอิงอาศัยกันนี้ และหลักสำนึกความเป็นเพื่อนร่วมทุกข์จะทำให้ประชาชนใช้เสรีภาพอย่างไม่ละเมิดประโยชน์ส่วนรวม มีสำนึกเพื่อส่วนรวม ยอมรับความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ      
  
ฉะนั้น พุทธทาสจึงเรียกความคิดทางการเมืองของตนเองในชื่อใหม่ว่า “ธัมมิกสังคมนิยมประชาธิปไตย” หรือเรียกสั้นๆ ว่า “ธัมมิกสังคมนิยม” อันเป็นความคิดที่มีลักษณะเฉพาะตัวคือการอ้างอิงธรรมะ/ประโยชน์ของประชาชนเป็นขอบเขตของการใช้อำนาจ จำกัดเสรีภาพตามกิเลส ตามความเห็นแก่ตัว (ในความหมายที่เป็น “ปฏิปักษ์” กับการเห็นแก่ส่วนรวม) แต่มีเสรีภาพทางความคิดเห็น การพูด การวิจารณ์ตรวจสอบ และเน้นความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ (เอาเท่าที่จำเป็น ส่วนเกินเป็นของส่วนรวม)
 
เราจึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่า โดยสาระสำคัญแล้ว “ความคิดเชิงอุดมคติ” เช่นนี้ ไม่มีทางสนับสนุนระบบการเมืองที่เป็นอยู่จริง คือ “ประชาธิปไตยแบบรักษา/เพิ่มพระราชอำนาจ” ที่พันธมิตรเรียกร้องดังที่พยายามกล่าวอ้างกันอย่างแน่นอน!
 
 
ปล. ผมเห็นว่า พุทธทาสจะสนับสนุนประชาธิปไตยแบบปัจจุบันหรือไม่นั้น ก็ไม่กระทบต่อคุณค่าของความคิดทางการเมืองของท่าน หรือ “ความเป็นพุทธทาส” ในแง่อื่นๆ ที่มีประโยชน์ต่อพุทธศาสนาและสังคมไทยแต่อย่างใด (เช่น คาร์ล มาร์กซ์ ก็ไม่สนับสนุนเสรีนิยมประชาธิปไตย แต่ความคิดของเขาก็ยังมีคุณค่าควรแก่การนำมาถกเถียงแลกเปลี่ยนเพื่อความก้าวหน้าทางปัญญาอยู่นั่นเอง) แม้ปราชญ์ที่สำคัญของโลกคนอื่นๆ ก็มีหลายคนที่ไม่ได้สนับสนุนประชาธิปไตย โปรดดู สุรพศ ทวีศักดิ์.พุทธทาส (ไม่)สนับสนุนประชาธิปไตย (?) http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1341069961&grpid=&catid=02&s...(4/7/2555)
 
 
อ้างอิง


[1] พุทธทาสภิกขุ.ธรรมะกับการเมือง.ธรรมทานมูลนิธิ, หน้า 109 -115
[2] พุทธทาส.สรรนิพนธ์พุทธทาส ว่าด้วยวิถีประชาธิปไตยและหัวใจเศรษฐกิจพอเพียง.กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ 2550 หน้า 58
[3] เพิ่งอ้าง หน้า 124
[4] เพิ่งอ้าง หน้า 26
[5] เพิ่งอ้าง หน้า 82
[6] เพิ่งอ้าง หน้า 83
[7] เพิ่งอ้าง หน้าเดียวกัน
[8] เพิ่งอ้าง หน้า 6
[9] เพิ่งอ้าง หน้า 275
[10] เพิ่งอ้าง หน้า 287
[11] เพิ่งอ้าง หน้า 26
[12] ดู พุทธทาสภิกขุ.ธรรมะกับการเมือง.อ้างแล้ว, หน้า 15 -53

บล็อกของ กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร

กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
วิจักขณ์​ พานิชกลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์พุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร 
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
วิจักขณ์ พานิชกลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร