Skip to main content


ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร

หากมองแบบผิวเผินแล้ว เราอาจจะรู้สึกว่า การรักษาศีล 5 นั้นตรงไปตรงมาและง่ายแสนง่าย ศีลหรือที่เรียกในไตรปิฎกว่าสิกขาบท 5 นับเป็นเบสิคศีลของ “คนดี” แบบไทยๆที่จะก้าวต่อไปสู่ความซับซ้อนอย่างศีล 8, ศีล 10 ไปจนถึง ศีล 227 ตามกำลังบารมีและกาลเทศะ  สำหรับผู้เขียนแล้ว มีศีลอยู่ข้อหนึ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษ นั่นคือ มุสาวาทเวรมณีฯ อันหมายถึง ข้อห้ามการโกหก เนื่องมาจากการโกหก ความลวง และสิ่งที่เป็นมายานั้น วางอยู่ในระนาบที่สนิทแนบกับสิ่งที่เรียกว่า “ความจริง”  “ข้อเท็จจริง” เพียงแต่ว่าเป็นด้านที่ดูเหมือนว่าอยู่ตรงข้ามกันอย่างขาว ดำ

การหลีกเลี่ยงพูดโกหกนั้นอาจคิดว่า ทำได้ไม่ลำบากลำบนนัก เพียงแค่การกล่าว “ความจริง” อย่างตรงไปตรงมาแล้ว การละเมิดศีลข้อนี้ก็ปิดประตูบาปอบายได้เลย เพียงแค่เอ่ยปากหรือไม่เท่านั้น เราก็สามารถกำหนดความดี ความชั่วได้ด้วยปลายลิ้นของเราเอง แต่ในชีวิตจริงอาจไม่ง่ายเช่นนั้น เนื่องจากว่า ชีวิตมนุษย์เราต้องสัมพันธ์กับคนจำนวนมาก และมีความแตกต่างกันทั้งในด้านไลฟ์สไตล์ อุดมคติ อุดมการณ์ สารพัดความขัดแย้งจากเบาไปถึงหนักล้วนมีอยู่เสมอ ในบางครั้ง “การโกหก” ได้กลายเป็นเครื่องมือทางสังคมที่จะบรรเทาและผ่อนคลายความตึงเครียดและความขัดแย้งได้อย่างไม่น่าเชื่อ พอๆกับเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ นั่นคือ “การนินทา”  การโกหกจึงมีมิติทางสังคมวัฒนธรรมที่สัมพันธ์กันอยู่และเป็นระบบหนึ่งที่ผู้สอนพุทธศาสนาทั้งเข้าใจ ไม่เข้าใจและพยายามจะละเลยบทบาทของมันอย่างน่าเสียดาย

คำสอนเรื่องโกหก : จากสิกขาบท 5 หรือศีล 5 ในไตรปิฎก
จากการค้นคว้าในไตรปิฎกออนไลน์ที่แปลเป็นภาษาไทยอีกทอดหนึ่ง ได้ให้ความหมาย “มุสาวาท” ในวินัยปิฎกส่วนที่เป็น มุสาวาทวรรค ในวรรคนี้มีอยู่ 3 ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพูดนั่นคือการพูดเท็จใน “มุสาวาทสิกขาบท” [1]  การพูดเสียดสีใน “โอมสวาทสิกขาบท” [2]  และการพูดส่อเสียด ใน “เปสุญญสิกขาบท” [3]   เมื่อเป็นวินัยปิฎกจึงเห็นได้ว่าเป็นส่วนของต้นบัญญัติของกฎข้อห้ามต่างๆ หรือกล่าวได้ว่าส่วนนี้คือ ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของการตั้งกฎนั่นเอง ในส่วนของการพูดเท็จนั้น ที่มาของเรื่องก็คือ พระหัตกะศากยบุตรได้ไปถกเถียงเพื่อเอาชนะกับนักบวชลัทธิอื่น (ที่เรียกว่า เดียรถีย์) โดยอาศัยการกล่าวเท็จกลบเกลื่อนทั้งที่ตัวเองรู้อยู่แก่ใจ เดี๋ยวรับ เดี๋ยวปฏิเสธ ซึ่งเหตุนั้นทำให้ถูกคนตำหนิติเตียน พอพุทธะทราบเรื่องก็ได้ติเตียนว่า

“การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว, โดยที่แท้การกระทำของเธอนั่น เป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว” 

จากนั้นก็ได้บัญญัติความผิดว่า ใครละเมิดให้ต้องอาบัติระดับปาจิตตีย์

การนิยามศีล 5 หรือ สิกขาบท 5 นั้นพบว่าอยู่ในส่วนของพระสุตตันตปิฎก ทำให้เห็นว่าการมุสาวาทเป็นการจำกัดอยู่เพียง “งดเว้นจากการพูดเท็จ” [4] ไม่ว่าจากการนิยามใน ทสุตตรสูตร ที่แบ่งธรรมเป็นหมวดหมู่ หรือในสิ่งที่เรียกว่า ธรรม 5 ประการ (ซึ่งถือกันว่าอีกชื่อหนึ่งของ ศีล 5) ก็เน้นเรื่องวาจาก็เป็น “งดเว้นจากการพูดเท็จ” เช่นเดียวกัน การค้นคว้าในระยะเวลาอันสั้นในไตรปิฎกออนไลน์ ยังไม่พบว่า สิกขาบท 5 ระบุนิยามอะไรที่พิสดารกว่านี้ อย่างไรก็ตามบริบทของตัวธรรมบทนี้เป็นการแยกถ้อยคำ ออกมาอธิบาย โดยไม่ให้แบ็คกราวน์ชัดเจนว่าเป็นการบรรยายให้ใครฟัง

ในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ก็ยังนิยาม “มุสาวาทา เวรมณี” ว่า “เว้นจากการพูดเท็จ โกหก หลอกลวง” (to abstain from false speech) [5]

อย่างไรก็ตามเราพบ ธรรมบทที่เกี่ยวข้องกับวาจาที่ถือว่าเป็นโทษอื่นๆ โดยเฉพาะเมื่อเราดูจากคำว่า “วจีทุจริต” ในบริบทที่พุทธะพูดคุยกับพระเจ้าอชาตศัตรู ก่อนหน้านั้นได้ยกธรรมบทต่างๆ มาก่อนแล้ว โดยเฉพาะการพูดเปรียบเทียบกับเจ้าลัทธิสำนักต่างๆ จนกระทั่งยก “จุลศีล” ซึ่งเป็นศีลของพระภิกษุ ซึ่งได้ปรากฏว่ามีส่วนที่เกี่ยวกับการพูดดังนี้ [6]

4. เธอละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ พูดแต่คำจริง ดำรงคำสัตย์ มีถ้อยคำเป็นหลักฐาน ควรเชื่อได้ ไม่พูดลวงโลก แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอ ประการหนึ่ง.
5. เธอละคำส่อเสียด เว้นขาดจากคำส่อเสียด ฟังจากข้างนี้แล้วไม่ไปบอกข้างโน้น เพื่อให้คนหมู่นี้แตกร้าวกัน หรือฟังจากข้างโน้นแล้วไม่มาบอกข้างนี้ เพื่อให้คนหมู่โน้นแตกร้าวกัน สมานคนที่แตกร้าวกันแล้วบ้าง ส่งเสริมคนที่พร้อมเพรียงกันแล้วบ้าง ชอบคนผู้พร้อมเพรียงกัน เพลิดเพลินในคนผู้พร้อมเพรียงกัน กล่าวแต่คำที่ทำให้คนพร้อมเพรียงกัน แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.
6. เธอละคำหยาบ เว้นขาดจากคำหยาบ กล่าวแต่คำที่ไม่มีโทษ เพราะหู ชวนให้รักจับใจ เป็นของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่ พอใจ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.
7. เธอละคำเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อ พูดถูกกาล พูดแต่คำที่เป็นจริง พูดอิงอรรถ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดแต่คำมีหลักฐาน มีที่อ้าง มีที่กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์โดยกาลอันควร แม้ข้อนี้เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.


จะเห็นได้ว่า วาจาไม่พึงประสงค์ของพระภิกษุไม่ได้มีแค่การกล่าวเท็จ แต่เป็นคำพูดที่สร้างความไม่งามของเหล่าสงฆ์ ยังไม่นับว่าข้อห้ามบางประการเป็นประสบการณ์ตรงที่พุทธะและเหล่าสังฆะเผชิญมาตลอดในสังคมที่เต็มไปด้วยพระร้อยพ่อพันแม่ (และหลายกรณีพระที่ละเมิดจุลศีลนี้ ก็ได้รับการยกเว้นโดยอ้างว่าเป็น “วาสนาเก่า” ที่ติดมาตั้งแต่ชาติที่แล้ว) 

ในความเห็นผู้เขียนแล้ว ความละเอียดอ่อนของข้อห้ามเรื่องการพูดนอกจากการพูดเท็จที่ครอบไปถึง การพูดส่อเสียด พูดคำหยาบ และพูดเพ้อเจ้อ นั้นเป็นศีลของพระภิกษุที่วางไว้เป็นกรอบการปฏิบัติเพื่อรักษาภาพลักษณ์ขององค์กรพุทธที่เพิ่งสถาปนาขึ้นให้มีความเคารพน่าเลื่อมใส ดังนั้นศีล 5สำหรับปุถุชนแล้ว การนิยาม “มุสาวาท” นั้นน่าจะยุติอยู่ที่การพูดเท็จน่าจะเป็นเรื่องที่เป็นไปได้จริงกับชีวิตธรรมดาที่มนุษย์ที่กิน ขี้ ปี้ นอน ในชีวิตประจำวัน การตีความไกลเกินไป ยิ่งทำให้ชาวบ้านร้านตลาดผู้มีชีวิตยุ่งเหยิงกับโลกย์ๆ ห่างไกลกับการเข้าถึงธรรมที่เราอ้างว่าเป็นสากล หรือเราต้องการธรรมเพื่อเป็นกฎหมายให้สยบยอมกับอำนาจทางโลกย์ ซึ่งผู้เขียนไม่อาจเห็นเช่นนั้นได้

ดังนั้น ในบทความนี้ เราจะถกเถียงและจำกัดกรอบกันอยู่เพียง มุสาวาท คือ การโกหกและพูดเท็จเท่านั้น

การโกหกในชีวิตประจำวัน
ในหมู่ชนชั้นกลางไทยที่เป็นพุทธศาสนิกชนแล้ว ภายในศีลทั้ง 5 ข้อนี้ พวกเขาสุ่มเสี่ยงอย่างมากที่จะละเมิดศีลข้อนี้เป็นที่สุด เนื่องจากการป้องกันตัวเองจากการฆ่าสัตว์, ลักทรัพย์, ดื่มสุรา และการประพฤติผิดทางกาม ยังถือว่าหลีกเลี่ยงได้ง่ายกว่าและค่อนข้างเมกเซนส์ในชีวิตประจำวันแต่อาจต้องอาศัยความอดทนมากกว่าปกติบ้างที่จะไม่ตบยุง, โหลดบิท, ดริ๊งเบาๆหลังเลิกงาน แต่การโกหกนั้น ผู้เขียนคิดว่ามันเป็นปัญหาใหญ่

เพราะว่าโลกของพวกเขาเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นในชีวิตธุรกิจ ชีวิตพนักงานประจำ พวกเขาจำเป็นต้องเผชิญกับโจทย์ชีวิตอยู่เสมอๆ แล้ว “คำโกหก” นั้นเป็นเครื่องมือที่เขาใช้มันเพื่อทะลุทะลวงทางตัน หรือกระทั่งใช้สำหรับอำนวยความสะดวกอยู่เสมอ คำถามแนวสารภาพบาปและหาทางล้างบาป เกี่ยวกับ การโกหก จึงเป็นคำถามคลาสสิคที่นักปฏิบัติธรรมชนชั้นกลางเหล่านี้จะมีต่อสำนักธรรมที่ตนเข้ารีตอยู่เสมอ

แนวทางที่น่าสนใจของการตอบคำถามเรื่องโกหกอยู่ 2 แบบ นั่นคือ การนิยามการโกหกที่ตายตัว กับ การนิยามการโกหกที่ลื่นไหลและประนีประนอมกับสถานการณ์ชีวิตจริง อย่างไรก็ตามต้องขอออกตัวก่อนว่า ด้วยระยะเวลาที่จำกัดในการค้นคว้า อาจเป็นเพียงการหยิบคำตอบของพระบางรูปในบางสถานการณ์มาเท่านั้น เราอาจพบว่าในสถานการณ์เฉพาะอื่นๆ พระรูปนั้นอาจพูดต่างกันไปได้ ในที่นี้ได้นำคำตอบของพระสี่รูป นั่นคือ พระภาวนาวิริยคุณ (เผด็จ ทัตตชีโว) แห่งวัดพระธรรมกาย, พระไพศาล วิสาโล, พระมหาวุฒิชัย (ว.วชิรเมธี), พระมหา ดร.สมชาย ฐานวุฑโฒ แห่งวัดพระธรรมกาย และพระมิตซูโอะ คเวสโก พระชาวญี่ปุ่นแห่งวัดป่าสุนันทวนาราม กาญจนบุรี  อย่างไรการวิเคระห์นี้ไม่ได้หมายถึงว่า พระแต่ละรูปเป็นอย่างไร แต่มันเป็นเพียงการแบ่งแนวทางของคำตอบเท่านั้น นอกจากนี้ตามคำถามและคำตอบเหล่านี้ มันสะท้อนให้เห็นการดำรงอยู่ของอาการหวาดกลัวของชนชั้นกลางต่อการละเมิดศีล ในขณะที่ต้องการให้พื้นที่ของปัจเจกชนที่มีชีวิตซับซ้อนให้ดำรงอยู่ในภาวะศีลไม่ด่างพร้อยไปด้วย 

คำตอบจากแนวทางที่ไม่ประนีประนอม
พบว่าสำหรับแนวทางที่ไม่ประนีประนอม พระภิกษุจะไม่เห็นว่าการโกหกเป็นสิ่งที่ดีงามในตัวมันเองและไม่มีข้อยกเว้นจากกาละเทศะใดๆทั้งสิ้น การโกหกถือเป็นการทำลายความบริสุทธิ์ของศีล และการกระทำเพียงเล็กน้อยจะนำไปสู่การสั่งสมความเลวร้ายจากการโกหกที่ใหญ่กว่าได้

กรณีของพระภาวนาวิริยคุณ (เผด็จ ทัตตชีโว) [7]  แห่งวัดพระธรรมกาย ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการโกหกในรายการโทรทัศน์ “หลวงพ่อตอบปัญหา” ของสถานี DMC TV ว่า “คำที่ไม่เป็นจริง ห้ามพูดเด็ดขาด...โกหกก็คือโกหก มันผิดนะ” และเห็นว่าข้ออ้างที่ว่า โกหกเพื่อให้คนอื่นสบายใจนั้นฟังไม่ขึ้น “โกหกก็คือโกหก มันผิดนะ” ยิ่งกรณีที่พ่อบ้านจอมเจ้าชู้ที่อ้างว่า โกหกเฉพาะเมียเพื่อความสบายใจนั้นยิ่งเป็น “บาป” ที่น่าสนใจก็คือการอธิบายที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันว่า การโกหกเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้านั้นเกิดจากการขาดการจัดการชีวิตได้อย่างรอบคอบมากพอ

ขณะที่พระไพศาล วิสาโล  [8] พระที่ได้ชื่อว่าเป็นพระที่เปิดใจกว้างกับสังคมสมัยใหม่อย่างมากให้สัมภาษณ์ลงหนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก ให้คำตอบว่า “การพูดโกหกนั้น แม้จะมีเจตนาดี ถ้าตั้งใจโกหก ก็ถือว่าผิดศีลทั้งนั้น แต่ก็ยังมีส่วนดีตรงที่มีเจตนาดี ต้องมองแยกเป็นส่วนๆ จะให้ดีก็ควรมีทั้งเจตนาดีและพูดความจริง” นอกจากนั้นยังเห็นว่าการโกหก แม้จะด้วยเจตนาดีแก่จะทำให้ติดนิสัย ซึ่งจะทำให้แก้ไขได้ยาก ในอีกด้านพระไพศาลก็เน้นให้มีการฝึกทักษะการพูดความจริงโดยไม่มีผลร้ายต่อผู้ฟังที่เรียกว่าเป็น “ทักษะสังคม” 

คำตอบจากแนวทางที่ประนีประนอม
ในแนวทางนี้พบว่าเกิดการประนีประนอมเนื่องจากว่า ผู้ถามหรือลูกศิษย์ส่วนใหญ่เป็นคนในเมืองที่ต้องเจอกับปัญหาชีวิตประจำวันที่ซับซ้อนมากขึ้น พระผู้ตอบพยายามจะทำความเข้าใจกับโลกแบบนี้ แต่ก็ยังมีเฉดของมัน พระบางท่านอาจจะประนีประนอมไปด้วยในบางกรณี แต่บางกรณีกลับยืนกราน

การโกหกในความเห็นของพระมหา ดร.สมชาย ฐานวุฑโฒ [9] แห่งวัดธรรมกาย จัดอยู่ในแนวทางประนีประนอม พระรูปนี้พยายามเข้าใจการโกหกในเงื่อนไขของสังคมสมัยใหม่ นั่นก็คือการอธิบายถึงข้อยกเว้นที่จะผิดศีลมุสาฯอย่างเข้าใจถึงประสบการณ์ฆราวาส เช่น การพูดให้กำลังใจกับผู้ป่วยของหมอ อย่างไรก็ตามมีข้อแนะนำว่า บางครั้งการบอกความจริงอาจจะดีกับคนไข้มากกว่า แต่ต้องบอกอย่างมีศิลปะ ที่น่าสนใจก็คือ อาการเกรงกลัวบาปจากการโกหก หลายครั้งเราจะเห็นว่า คำถามที่ถูกยกขึ้นมา ดูเป็นความกังวลที่เกินเหตุนั่นว่าจะเป็นการโกหกหรือไม่ นั่นคือ การพูดตามมารยาทแบบไทยที่ต้องยกยอกัน (ซึ่งแน่นอนว่าไม่เป็นความจริง) หรือกระทั่งการหวาดกลัวกับการผิดสัญญา การให้คำสัญญาแล้วทำไม่ได้ ก็ถือว่าเป็นการโกหกด้วย แต่จะยกเว้นแต่ว่ามีเหตุสุดวิสัย เช่น ให้สัญญาว่าจะส่งของแล้วเกิดเหตุแผ่นดินไหวเสียก่อนทำให้ไม่สามารถส่งของได้ 

นอกจากนั้นยังคำถามที่ผู้เขียนเห็นว่ากระแทกไปที่วัดธรรมกายอย่างไม่ได้ตั้งใจก็คือคำถามว่า การสร้างภาพลักษณ์ที่ทำให้ตัวเองดูดี ทั้งที่ความจริงมิได้เป็นอย่างนั้นถือว่าโกหกหรือไม่ ก็มีคำตอบที่ให้ทางออกไว้ว่า นั่นถือเป็นสิทธิของเขาและเป็นเรื่องของรสนิยมส่วนบุคคล ในทางกลับกันกลับเตือนผู้ถามด้วยว่า อย่าดูที่เปลือกนอกแต่เพียงอย่างเดียว 

อย่างไรก็ตาม ผลกรรมของการโกหกได้มีการบรรยายไว้หลายรูปแบบ ตั้งแต่การอธิบายด้วยการวินิจฉัยที่ดูเป็นแพทย์สมัยใหม่นั่นคือโยงเข้ากับโรคอัลไซเมอร์ นั่นคือ การโกหกมันทำให้เกิดภาพซ้อนและทำให้เจ้าตัวเองสับสนว่าอันไหนจริงหรือโกหก ทำให้ขี้หลงขี้ลืมพอสับสนหนักๆ จำไม่ไหว ก็จะกลายเป็นอัลไซเมอร์ ในอีกด้านก็คือนำนรกมาขู่ บอกว่า พวกโกหกจะมีนรกขุมมุสาวทะโดยเฉพาะ ในที่นี้โทษดังกล่าวยังควบคุมพฤติกรรมไปถึงการพูดส่อเสียด ยุให้แตกแยกกัน การพูดคำหยาบรวมถึงการพูดเพ้อเจ้ออีกด้วย และจะเห็นได้ว่านี่เป็นการจงใจเข้าไปควบคุมพฤติกรรมการพูด หนึ่งในการประพฤติดี 3 มาตรฐานนั่นคือ กาย วาจา ใจ

ระบบการให้โทษได้แสดงให้เห็นว่า ผลกรรมและบาปเกี่ยวกับการโกหกนั้นก็มีลำดับขึ้นอยู่อยู่ นั่นคือ หากตั้งใจอย่างแรงกล้าก็ถือว่าบาปมาก การโกหกต่อบุคคลผู้มีคุณธรรมสูงก็จะยิ่งบาปมากเช่น ภิกษุผู้ทรงศีลหรือพ่อแม่ เป็นต้น จารีตคำสอนแบบวัดพระธรรมกายมักจะใช้นรกมาขู่และสวรรค์มาล่อก็ยังเป็นพื้นฐานความคิดสำคัญที่ซ้อนอยู่ด้วย

ส่วน พระมหาวุฒิชัย (ว.วชิรเมธี) [10] ได้ให้ความเห็นต่อการโกหกผ่าน รายการมองต่าง อย่างมีธรรม ในตอนที่ชื่อว่า “โกหกด้วยเจตนาดี ก็เป็นบาป” ว่า การที่จะกำหนดว่า เงื่อนไขที่จะทำให้การโกหกนั้นสมบูรณ์ จะต้องผ่านกรอบการพิจารณาองค์ประกอบ 5 ประเด็นนั่นคือ หนึ่ง เรื่องนั้นเป็นเรื่องเท็จ, สอง เราตั้งใจจะกล่าวให้เห็นว่าเป็นเรื่องจริง, สาม เราเปล่งวาจากล่าวออกมา, สี่ มีคนเชื่อตามที่เรากล่าววาจานั้นและห้า มีผู้เสียหาย ถ้าครบถ้วนก็ถือได้ว่า การโกหกนั้นบาปโดยสมบูรณ์ อย่างไรก็ตามการโกหกเพื่อต้องการให้ผู้อื่นสบายใจนั้นไม่ได้เข้าเกณฑ์ทั้ง 5 ดังนั้นหากนับเป็นบาปก็ถือว่าน้อยมาก เพราะว่าไม่มีเจตนาจะทำร้ายใครให้เสียหาย สอดคล้องกับชีวิตคนสมัยใหม่ที่มักมีข้ออ้างในการโกหกว่าเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการจัดความสัมพันธ์ทางสังคม

สำหรับพระมิตซูโอะ คเวสโก [11] ได้ตอบคำถามของลูกศิษย์ฆราวาส ด้วยความที่มีลูกศิษย์ที่เป็นชนชั้นกลางอยู่มากจึงทำให้คำตอบเอื้อให้แก่ผู้ฟังเห็นคล้อยถึงเจตนาเป็นหลัก ดังนั้นการพูด “ไม่เป็นจริง” แต่ไม่มีเจตนาอกุศล ไม่ถือว่าโกหก เช่น หากเราไม่สบายแต่กลัวแม่เป็นห่วงก็ตอบไปว่าไม่เป็นอะไร นั้นถือว่าเป็นเจตนาดี หรือการที่เราอยู่ในหน่วยงานราชการหรือบริษัท จำเป็นต้องรักษาความลับขององค์กร เมื่อถูกถามและเค้นเอาคำตอบจากเรา เราก็สามารถหลีกเลี่ยงได้ด้วยอุบายต่างๆ หลักการสำคัญก็คือ “หัวใจของศีลอยู่ที่การไม่เบียดเบียนเรา ไม่เบียดเบียนเขา” และนั่นก็เป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงการยอมให้การโกหกเป็นเครื่องมือทางสังคมแบบหนึ่ง 

นี่คือ การโกหกที่นิยามผ่านไตรปิฎกและการตีความในสังคมร่วมสมัยผ่านพระภิกษุมีชื่อ น่าจะทำให้เราเห็นภาพร่างเกี่ยวกับการให้ความหมายของการโกหกในเทอมของพุทธศาสนาได้ชัดเจนมากขึ้น และจะเห็นว่าการโกหกนั้นไม่ได้เป็นนิยามที่ตายตัว และปรับสภาพไปตามสังคม จากเดิมในพุทธกาลที่พุทธสาวกนำมาใช้แล้วถูกติเตียนเนื่องจากว่าไม่ดีไม่งาม ทำลายความน่าเชื่อถือขององค์กร ขณะที่ในยุคหลังๆ การโกหกที่ผูกอยู่กับศีลที่ถูกทำให้ศักดิ์สิทธิ์มากขึ้นเรื่อย ก็เบียดขับการโกหกและคนโกหกให้กลายเป็นหนึ่งในความหยาบช้าชั่วร้ายมากขึ้น แต่ในทางกลับกันในสังคมสมัยใหม่ที่พุทธศาสนาเริ่มเป็นส่วนหนึ่งของตลาดทางจิตวิญญาณก็พบว่า เริ่มมีการปรับตัวยอมรับการโกหกให้มีพื้นที่ทางสังคมอีกครั้ง

ในครั้งหน้า(อีกประมาณ 3-4 สัปดาห์)  ผู้เขียน จะมาชวนคุยกันต่อในประเด็นของ ภาพลักษณ์การโกหกของนักการเมือง ที่มักถูกเปรียบเทียบกันเป็นฝั่งสุดขั้วตรงข้ามกับผู้ทรงศีล รวมไปถึงการโกหกโดยสุจริต ความลวงโดยไม่รู้ อันเนื่องมาจากการไม่แยกแยะเรื่อง ความรอบรู้ทุกสรรพสิ่งทางโลกย์และทางธรรม จึงทำให้เมืองไทยมีแนวโน้มที่จะมอบโอนอำนาจให้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากขึ้นไปทุกที.


การอ้างอิง
[1] "ปาจิตตีย์ วรรคที่ 1 1. มุสาวาทวรรค สิกขาบทที่ 1เรื่องพระหัตถกะศากยบุตร". พระไตรปิฎก เล่มที่ 2  พระวินัยปิฎก เล่มที่ 2 มหาวิภังค์ ภาค 2, น.191-203 อ้างใน http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=2&A=4576&Z=4905&pagebreak=0 (27 กรกฎาคม 2546)

[2] "ปาจิตตีย์ วรรคที่ 1 1. มุสาวาทวรรค สิกขาบทที่ 2 เรื่องพระฉัพพัคคีย์". พระไตรปิฎก เล่มที่ 2  พระวินัยปิฎก เล่มที่ 2 มหาวิภังค์ ภาค 2, น.204-208 อ้างใน http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=2&A=4906&Z=5021&pagebreak=0 (27 กรกฎาคม 2546)

[3] "ปาจิตตีย์ วรรคที่ 1 1. มุสาวาทวรรค สิกขาบทที่ 3 เรื่องพระฉัพพัคคีย์". พระไตรปิฎก เล่มที่ 2  พระวินัยปิฎก เล่มที่ 2 มหาวิภังค์ ภาค 2, น.275-277 อ้างใน http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=2&A=6722&Z=6771&pagebreak=0 (27 กรกฎาคม 2546)

[4] พระไตรปิฎก เล่มที่ 11  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 3 ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค, น.226 อ้างอิงจากhttp://84000.org/tipitaka/read/?11/286/247 (30 มกราคม 2549) และ พระไตรปิฎก เล่มที่ 22  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต, น.288-289 อ้างอิงจาก http://84000.org/tipitaka/read/?22/264/307 (30 มกราคม 2549)

[5] พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต). "พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม". http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=%C8%D5%C5_5  (4 มกราคม 2548)

[6] "สามัญญผลสูตร" ใน พระไตรปิฎก เล่มที่ 9  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 1 ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=9&A=1072&Z=1919 ( 27  กรกฎาคม  2546 )

[7] DMC TV.หลวงพ่อตอบปัญหา.  "คนที่ชอบโกหกเพื่อให้คนอื่นสบายใจนั้นบาปหรือไม่"http://www.dmc.tv/pages/good_QA/%E0%B9%82%E0%B8%81%E0%B8%AB%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%AA%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%83%E0%B8%88-%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%9E%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%AB%E0%B8%B2.html (28 กรกฎาคม 2554)

[8] คม ชัด ลึก. "โกหกเพื่อไม่ให้ลำบากใจจะผิดศีลไหม: ปุจฉา -วิสัชนา กับพระไพศาล วิสาโล"http://www.komchadluek.net/detail/20120505/129543/%E0%B9%82%E0%B8%81%E0%B8%AB%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%A5%E0%B8%B3%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B9%83%E0%B8%88%E0%B8%88%E0%B8%B0%E0%B8%9C%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%A8%E0%B8%B5%E0%B8%A5%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0%B8%A1.html  (18 กรกฎาคม 2555)

[9] พระมหา ดร.สมชาย ฐานวุฑโฒ. "โกหกแบบไหนถึงจะไม่ผิด" ใน DMC TV. http://www.dmc.tv/pages/%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%84%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%A7/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%82%E0%B8%81%E0%B8%AB%E0%B8%81-%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%84%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%A7.html (12 มิถุนายน 2555)

[10] True ปลูกปัญญา. “รายการมองต่าง อย่างมีธรรม : โกหกด้วยเจตนาดี ก็เป็นบาป”. http://www.trueplookpanya.com/true/ethic_detail.php?cms_id=8744 (23 กันยายน 2554)

[11] เป็นหนังสือที่ถูกนำมาพิมพ์เผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ต พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก. ปัญหา 108 (2)  http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=564&postdays=0&postorder=asc&start=20&sid=b0a9dbae0732bee706b6c5632737cf39 (23 กรกฎาคม 2549)

 

บล็อกของ กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร

กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภาพจาก http://www.tilopahouse.com/node/396 เรจินัลด์ เรย์ เขียน วิจักขณ์ พานิช แปล กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
หากเราจะมองอย่างกว้างๆ แล้ว ท้าวสักกะ พระอรหันต์ หรือ แม้แต่พระพุทธเจ้า ที่ต้องแสดงฤทธิ์บางอย่างเพื่อช่วยคน จะต่างอะไรกับซุปเปอร์ฮีโร่อย่าง ซูเปอร์แมน แบทแมน สไปเดอร์แมน ในหนังและการ์ตูนทั้งหลาย ที่จะเข้ามาช่วยคนด้วยพลังพิเศษ ทำให้กระบวนการของเหตุปัจจัยมีน้ำหนักน้อยลงไป 
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ พุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ผู้เขียนจะกล่าวถึง “มโนทัศน์เรื่องอำนาจในสังคมไทยที่มีรากฐานจากคัมภีร์พุทธศาสนา” ทั้งนี้เพื่อจะชี้ให้เห็นบทบาทด้านตรงกันข้ามกับบทบาทที่ได้กล่าวไปแล้วในบทความตอนที่ (1) ที่ว่า พุทธศาสนา (สถาบันสงฆ์) แม้จะให้ความสำคัญกับการสร้าง “คนดี” ตามอุดมคติของชาวพุทธ แต่บทบาทดังกล่าวก็ไม่ได้สอดรับกับการสร้างพลเมืองตามแนวคิดในสังคมประชาธิปไตย 
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์ กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ชาญณรงค์ บุญหนุน กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร บทความ “พุทธศาสนากับประชาธิปไตยในสังคมไทย” นี้จะนำเสนอเป็นสามตอนด้วยกัน ทั้งนี้ก็เพื่อจะชวนผู้อ่านไปร่วมพิจารณาว่า พุทธศาสนามีบทบาทในการสร้างสังคมประชาธิปไตยในสังคมไทยหรือไม่ อย่างไร และปัญหาอยู่ตรงไหน
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ พุทธศาสน์ของราษฎร  
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์ กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร    
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
 
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ชาญณรงค์ บุญหนุน  กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร