Skip to main content

สุรพศ ทวีศักดิ์
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร

 
 
 
 
เย็นวันนี้ขณะที่เดินสำรวจแผงหนังสือธรรมะ (ที่มักวางอยู่ช่องเดียวกับหนังสือโหราศาสตร์) ที่สะดุดตาคือปริมาณที่มากกว่าหนังสืออื่นๆ และรูปเล่มที่มีสีสันสวยงาม แต่ผมกลับรู้สึกถึงความแห้งแล้งไร้ชีวิตชีวาของหนังสือธรรมะฮาวทูที่มักออกมาในแนวเสนอคำตอบแบบสูตรสำเร็จ ชวนให้เชื่อและปฏิบัติตามแล้วจะได้ทุกสิ่งที่ปรารถนา ซึ่งสรุปรวบยอดคือ “ความสุข” ตั้งแต่ความสุขจากการอิ่มบุญ จากบุญดลบันดาลให้ได้ลาภ ยศ สรรเสริญ ทำมาค้าขึ้น ความก้าวหน้าในการงาน ความรัก จนกระทั่งสามารถที่จะมีความสุขทุกลมหายใจ มีญาณวิเศษหยั่งรู้กรรมเก่า สวรรค์ นรก การเวียนว่ายตายเกิดในภพชาติต่างๆ อีกทั้งเสนอคำตอบสำหรับการดับทุกข์แบบ “ทางด่วน” อย่างง่ายๆ ประมาณว่า “แค่ปล่อยก็ลอยตัว” เป็นต้น
 
http://www.chansamabut.com/private_folder/ch2.gif
 
หนังสือธรรมะฮาวทูเหล่านั้นแทบไม่มีการตั้งคำถาม หรือการอภิปรายถกเถียงที่ชวนครุ่นคิดเกี่ยวกับความหมายของความเป็นมนุษย์ คุณค่าหรืออุดมคติของชีวิตและสังคมที่พึงปรารถนาเลย ผมถามตัวเองในใจว่า เป็นเพราะเสพหนังสือประเภทนี้มากไปหรือเปล่าจึงทำให้ชาวพุทธบ้านเรามักมีมุมมองค่อนข้างฉาบฉวย เช่นว่าธรรมะคือคำตอบของทุกสิ่งทุกอย่าง มีอานุภาพดลบันดาลสิ่งที่ปรารถนาได้ทุกอย่าง การใช้ชีวิตทางธรรมหมายถึงการเข้าสู่รูปแบบพิธีกรรมที่ต้องหาที่สงบๆ ห่างไกลจากกิจกรรมอย่างโลกย์ๆการมีภาพลักษณ์ของผู้ใฝ่ธรรมทำให้ตนดูสูงส่งกว่าคนอื่นๆ มองการต่อสู้ทางการเมือง การต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม เสรีภาพและความเสมอภาคว่าเป็นเรื่องทางโลก เป็นเรื่องของคนมีกิเลส มีอคติ เห็นแก่ตัว ผู้ใฝ่ธรรมจึงควรปลีกตัวออกห่าง หรือถ้าเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยก็ต้องเข้ามาอย่างผู้สอนธรรมะให้สติ ให้ปัญญา สร้างจิตสำนึกรักความสงบ รู้รักสามัคคี จงรักภักดี ต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์เป็นต้น ไม่ใช่เข้ามาเรียนรู้ มีส่วนร่วมกับคนอื่นๆ ในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่ไม่ขาวไม่ดำอย่างตายตัว แต่มีข้อจำกัด มีข้อบกพร่องทั้งความรู้เกี่ยวกับหลักการ อุดมการณ์ ความจริงที่ซับซ้อนของปัญหาขัดแย้งต่างๆ ที่อาจปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นได้จากการร่วมต่อสู้และแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกันและกัน
 
จะว่าไปแม้แต่พระและฆราวาสบางกลุ่มที่พยายามนำเสนอแนวคิดพุทธศาสนาเพื่อสังคมก็ยังเสนอออกมาในแนวฮาวทู ดังที่มักมองปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองกว่า 6 ปีมานี้ว่า เป็นเรื่องของอคติ เอาพวกมากกว่าหลักการ เห็นแก่ตัว เป็นเรื่องของความโกรธเกลียดกัน จึงเสนอว่าควรละอคติ ละความโกรธความเกลียด ความเห็นแก่ตัว เห็นแก่สีแก่พวก กลายเป็นว่ามุมมองดังกล่าวไปให้น้ำหนักกับเรื่องอคติ โกรธ เกลียด มากกว่าที่จะให้น้ำหนักกับการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยความเป็นมนุษย์ที่ถูกกดขี่จากอำนาจนอกระบบที่ตรวจสอบไม่ได้และอำนาจทุนทางการเมืองที่ซับซ้อน และแม้ประชาชนถูกปราบปรามเข่นฆ่าในนามของการปกป้องสถาบันกษัตริย์ นักเทศนาธรรมะฮาวทูทางการเมืองต่างเงียบกริบ ไม่พูดถึงเรื่องโครงสร้างอันอยุติธรรมและรุนแรงที่กดทับความเป็นมนุษย์ของประชาชนที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพ และความเสมอภาคอย่างเน้นเป็นพิเศษเหมือนที่เน้นเรื่องละโลภ โกรธ เกลียด เห็นแก่ตัว เห็นแก่สีแก่พวกเป็นต้นเลย
 
กลับจากสำรวจแผงหนังสือธรรมะ ผมลองมาค้นหาหนังสือเก่าๆ ที่บ้าน เผื่อจะมีอะไรน่าสนใจบ้าง หยิบบางเล่มมาพลิกๆ ดู บังเอิญเจอบทกวีข้างล่างนี้
งอกยอดอ่อนออก
ขึ้นไปบรรจบกับฟากฟ้า
ปลดปล่อยออก
เพื่อให้พบกับเสรีภาพ
 
นี่คือบทกวีเซนในหนังสือ"คืนฟ้าฉ่ำฝน" ของ เรียวกัน พระโง่ผู้ยิ่งใหญ่ แปลและเรียบเรียงโดย พระมหาสมภาร พรมทา (ปัจจุบันคือ ศาสตราจารย์ ดร.สมภาร พรมทา ภาควิชาปรัชญาจุฬาฯ)
 
http://www.toulo.com/books/upload_file/Big_photos/09659.jpg
 
ผมซื้อหนังสือเล่มนี้ไว้ตั้งแต่เป็นสามเณรเมื่อปี 2527 เบื้องหลังของบทกวีข้างต้นนี้มีว่า เรียวกันพระเซนชาวญี่ปุ่นผู้อาศัยอยู่อย่างสันโดษในกระท่อมเล็กๆ บนภูเขา วันหนึ่งเขาสังเกตเห็นต้นไผ่เล็กๆ ต้นหนึ่งงอกขึ้นมาภายในกระท่อม เรียวกันรู้สึกตื่นเต้นกับสิ่งที่ตนได้พบมาก เขาเฝ้าดูแลจนต้นไผ่นั้นงอกงามเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนยอดไผ่ระอยู่กับหลังคา ในที่สุดแทนที่จะตัดต้นไผ่ทิ้ง เขากลับตัดหลังคาออกเป็นช่อง เพื่อให้ต้นไผ่ซึ่งเป็นเสมือนเพื่อนรักของเขาได้งอกยอดอ่อนออก...
 
เรื่องราวของเรียวกันชวนให้เราคิดว่า "ความเป็นพุทธะ" ที่เดินทางมายาวนานกว่าสองพันปีนั้นล้วนผ่านการปะทะสังสรรค์กับบริบทแวดล้อมทางสังคมวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไป ทว่าความหมายอันแจ่มชัดของความเป็นพุทธะนั้น คือ "ความเป็นมนุษย์" ที่มีเสรีภาพ อ่อนโยน รู้ร้อนรู้หนาวกับความทุกข์ของเพื่อนร่วมโลก ดังสะท้อนผ่านบทกวีอีกบทหนึ่งของเรียวกัน ว่า
หากเสื้อคลุมของฉัน
กว้างพอที่จะโอบคลุมผืนหล้า
ฉันจะเอาคนยากไร้ทั้งโลก
มาซุกไว้รับไออุ่น
จากมันอย่างแน่นอน
 
อ่านบทกวีสองบทนี้จบลง ทำให้ผมมองเห็นความหมายของความเป็นพุทธะว่า คือ “ความกล้าหาญที่จะเผชิญความจริงอันเจ็บปวดสู่เสรีภาพ” เพราะตามทัศนะของพุทธศาสนานั้น เสรีภาพเป็นสิ่งที่มีค่าไม่ว่าจะเป็นเสรีภาพด้านในของเราแต่ละคน และเสรีภาพด้านต่างๆ ของเพื่อนร่วมโลกคนอื่นๆ เรียวกันมองเห็นค่าของเสรีภาพของเพื่อนร่วมโลกเขาจึงยอมเจ็บปวดตัดหลังคากระท่อมเพื่อให้เพื่อนรักของเขางอกงามสู่เสรี
 
เมื่อพิจารณาการแสวงหาสัจจะแบบพุทธ จะเห็นว่าความจริงอันเจ็บปวดอย่างแรกที่เราต้องเผชิญและผ่านการทดสอบคือ “ทุกขสัจจะ” หรือความจริงเกี่ยวกับความทุกข์หรือปัญหาที่แท้จริงของชีวิตและสังคม พุทธศาสนามองว่าทุกข์กับความพ้นทุกข์คือเหรียญเดียวกันแต่คนละด้าน ท่านพุทธทาสบอกว่า “เราสามารถค้นพบเพชรพลอยได้จากหัวคางคก” หมายความว่าเราอาจค้นพบความพ้นทุกข์ได้จากความทุกข์ แต่คนทั่วไปมักไม่อยากมองความจริงของความทุกข์อย่างตรงไปตรงมา เพราะมันน่าเกลียดเหมือนหัวคางคก เราจึงหนีความจริงของความทุกข์หรือปัญหาต่างๆ ไปเรื่อยๆ ทว่ายิ่งหนี การหนีก็ยิ่งกลายเป็นการสร้างมายาคติเป็นกับดักหรือหลุมพรางให้ต้องวนเวียนติดหล่มความทุกข์หรือปัญหาต่างๆ ลงลึกยิ่งขึ้นเรื่อยๆ จนไม่รู้ว่าจะเดินหน้าหรือถอยหลังอย่างไรดี ปรากฏการณ์แบบนี้เป็นไปได้ทั้งในชีวิตปัจเจกบุคคลและทางสังคม
 
ย้อนมาดูปรากฏการณ์ที่สะท้อนทุกขสัจจะทางสังคมในบ้านเรา ผมนึกถึงคำพูดของพลเอกสนธิ บุณยรัตกลิน อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหาร 19 กันยา 49 ที่ถูกพลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ถามในสภาว่า “ใครอยู่เบื้องหลังรัฐประหาร 19 กันยา” แล้วเขาตอบว่า “ความจริงบางอย่างต่อให้ตายก็พูดไม่ได้” ต่อมาได้เห็นนักวิชาการออกทีวีแสดงความเห็นทำนองว่า “ความจริงบางอย่างต้องแลกด้วยความเจ็บปวด ถามว่าถ้าเปิดเผยความจริงบางเรื่องแล้วต้องเจ็บปวด สังคมพร้อมจะรับได้หรือไม่?” คำถามนี้ทำให้ผมนึกถึงความจริงกรณีสวรรคต ร.8 ความจริงเบื้องหลังการปราบปรามนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลา ความจริงเบื้องหลังรัฐประหาร 19 กันยา และการสลายการชุมนุม ปี 53 ที่มีคนตาย 98 ศพ บาดเจ็บร่วม 2,000 คน เป็นต้น ถามว่าหากเปิดเผยความจริงเหล่านี้สังคมพร้อมที่จะเผชิญความเจ็บปวดหรือไม่
 
http://www.matichon.co.th/gallery/fullimages/2011/10/1317722884.jpg
ภาพจากนิทรรศการภาพจิตรกรรมการเมือง ณ หอสมุดปรีดี พนมยงค์
 
ผมยอมรับว่าคำถามข้างบนนี้เป็นคำถามที่ตอบยากมาก แต่ก็อดถามต่อไปไม่ได้ว่า การที่สังคมเราไม่ยอมเผชิญกับความจริงอย่างตรงไปตรงมาจะไม่เจ็บปวดยิ่งกว่าหรือ เพราะไม่ยอมเผชิญความจริงอันเจ็บปวดอย่างตรงไปตรงมาใช่หรือไม่ 80 ปี ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นประชาธิปไตย จึงเกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยการปราบปรามประชาชนที่เรียกร้องเสรีภาพและความเสมอภาคไม่จบสิ้น
 
บางทีเมื่อผมได้ยินใครต่อใครพูดว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่มีลักษณะพิเศษไม่เหมือนใครในโลก เพราะเรามีพุทธศาสนาที่สอนให้ใช้ปัญญาแสวงหาความจริงจนสิ้นสงสัยเหนือศาสนาใดๆ  และมีพระมหากษัตริย์ทรงทศพิธราชธรรมที่ปกครองแผ่นดินโดยธรรมเหนือกษัตริย์ใดๆ ในโลก แต่ผมก็อดแปลกใจไม่ได้ว่าทำไมภายใต้ลักษณะพิเศษอันดีเลิศเช่นนี้คนไทยจึงฆ่ากันเอง หรือพูดให้ตรงยิ่งขึ้นคือ ทำไมทหาร ตำรวจในรัฐไทยจึงฆ่าประชาชนในนามของความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ครั้งแล้วครั้งเล่า ภาพการล้อมปราบนักศึกษาที่ธรรมศาสตร์ การแขวนคอนักศึกษา การเผานั่งยางที่สนามหลวงนั้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใกล้ๆ กับวัดพระแก้วที่เป็นวัดศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง โดยจนบัดนี้เรายังไม่สามารถสรุปบทเรียนความรุนแรงซ้ำซากภายใต้ลักษณะพิเศษอันดีเลิศของสังคมไทยดังกล่าวได้เลย ทว่าความจริงอันเจ็บปวดภายใต้ลักษณะพิเศษนี้คือ เราเห็นเพียงคนตาย ไม่เห็นผู้ฆ่าและผู้สั่งฆ่า นี่หมายความว่าสังคมเราเป็นสังคมที่ถูกกำหนดให้เห็นความจริงเพียงด้านเดียว คือเห็นประชาชนถูกฆ่าตายเพราะเรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตย แต่ไม่เห็นผู้ฆ่าและเผด็จการที่สั่งฆ่า ถามว่ามันยุติธรรมแล้วหรือ ที่สังคมเราจะถูกบังคับให้ต้องอยู่กับความจริงอันเจ็บปวดด้านเดียวเช่นนี้ตลอดไป ด้วยข้ออ้างที่ว่าหากเปิดเผยความจริงของผู้ฆ่าและผู้สั่งฆ่าสังคมจะเจ็บปวดมากขึ้น จริงๆ แล้วสังคมจะเจ็บปวดมากขึ้น หรือคนกลุ่มน้อยบางกลุ่มจะเจ็บปวด (บ้าง) กันแน่!
 
 
 
ภายใต้ลักษณะพิเศษของสังคมไทยดังกล่าว อาการสับสนต่อความจริงทางประวัติศาสตร์ ความไม่มั่นใจในอุดมการณ์ประชาธิปไตยและอนาคตของสังคมไทยมักปรากฏให้เห็นในหลากหลายรูปแบบ ดังที่เราพบในสารคดี 2475 ที่เผยแพร่ทาง ThaiPBS  3 ตอนติดต่อกันเมื่อวันที่ 25-27 กรกฎาคมที่ผ่านมา พล็อตเรื่องและคำบรรยายของผู้ที่สมมติชื่อว่าเป็น “นางสาวสยาม” ที่ทำหน้าที่ตั้งคำถาม อธิบายเชื่อมโยงคำตอบของผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ที่ไปสัมภาษณ์อย่างพยายามเป็นกลางที่สุดนั้น กลับดูเหมือนชวนให้คนดูตั้งข้อสงสัยไปที่การปฏิวัติสยาม 2475 ว่าเป็นการ “ชิงสุกก่อนห่าม” หรือไม่ หรือชวนให้เห็นโดยนัยว่า คณะราษฎรและนักการเมืองยุคต่อๆ มาใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือหรือไม่ ซึ่งถ้ามองอย่างตรงไปตรงมาย่อมเป็นไปได้ที่จะมีนักการเมืองบางคน พรรคการเมืองบางพรรคอาจใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือแสวงหาอำนาจและผลประโยชน์ แต่ความจริงที่เราต้องยอมรับคือไม่มีกฎหมายห้ามวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบนักการเมือง พรรคการเมือง หากพวกเขาทำเช่นนั้นจริง ประชาชนก็ยังด่าได้ วิจารณ์ตรวจสอบได้ ถอดถอน หรือไม่เลือกอีกก็ได้ ทว่ากับอำมาตยาธิปไตยประชาชนไม่มีสิทธิ์ที่จะทำเช่นนั้นเลย การจงใจมองเฉพาะนักการเมืองใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือ แต่ไม่ตั้งคำถามว่าอำนาจที่ตรวจสอบไม่ได้ใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือหรือไม่ หรือแม้แต่ไม่ยอมตั้งคำถามว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เคยใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือจนเป็นเหตุให้คณะราษฎรต้องก่อการปฏิวัติหรือไม่ และฝ่ายกษัตริย์นิยมที่พยายามทำลายคณะราษฎรจนสำเร็จตั้งแต่รัฐประหารในทศวรรษ 2490 เป็นต้นมาได้ใช้ประชาชนเป็นเครื่องมืออย่างไรบ้าง การไม่ตั้งคำถามที่จำเป็นต้องถามเช่นนี้ของสื่อที่ใช้ภาษีประชาชนและเรียกตนเองว่าเป็น “ทีวีของประชาชน” ก็สะท้อนทัศนะอันมีอคติอย่างยิ่งที่พยายามครอบงำทางความคิดภายใต้ลักษณะพิเศษของสังคมไทย
 
ที่ตลกร้ายยิ่งกว่านั้นคือ บ้านเรามีปัญญาชนนักวิชาการบางกลุ่มที่ชอบเทศนาสอนชาวบ้านด้วยการอ้างธรรมะ อ้างพุทธศาสนา ศาสตร์บูรณาการต่างๆ แสดงบทเป็นผู้เชียวชาญ “ด้านใน” แต่ดูเหมือนจะไม่สนใจด้านนอก เช่น คนตาย 98 ศพ เป็นใคร คนสั่งฆ่าและคนฆ่าคือใคร ควรรับผิดชอบอย่างไร ความรุนแรงซ้ำซากนี้สะท้อนปัญหาโครงสร้างอันอยุติธรรมทางสังคมการเมืองในระดับรากฐานอย่างไร หรือสะท้อนภาวะไร้เสรีภาพและความเสมอภาคอันเป็นสาระที่แท้ของประชาธิปไตยอย่างไร แต่พวกเขาสนใจและวิจารณ์ซ้ำๆ มาตลอดจนบัดนี้ว่า พวกที่เลือกข้างเลือกสีนั้นล้วนแต่มีอคติ (ปัญหาจากด้านใน?) เอาพวกมากว่าหลักการ เห็นแก่ประโยชน์เฉพาะหน้าของตนมากกว่าความสงบสุขของบ้านเมือง ล่าสุดเสนอผ่านบทความ “กลุ่มจิตวิวัฒน์” ในมติชนว่า หากจิตสำนึกอันเป็นมิติด้านในมี “ความรู้รักสามัคคี” แล้วจะนำไปสู่การปรองดองที่เหนือกว่าการปรองดองด้วยกฎหมาย น่าแปลกที่ทัศนะทำนองนี้ชอบพูดถึงการปฏิวัติจิตสำนึกใหม่ การเห็นความจริงทั้งหมด ความรักทุกสรรพสิ่ง พูดถึงความเป็นธรรม การกระจายอำนาจ การ ปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปประเทศ แต่กลับไม่แตะเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ กองทัพ ไม่แตะปัญหากฎหมายหมิ่นฯ มาตรา 112 ทั้งที่เป็นกฎหมายที่ขัดหลักสิทธิมนุษยชนและหลักเสรีภาพ ความเสมอภาคอันเป็นหลักการพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย ตกลงนี่คือการเห็นความจริงทั้งหมดหรือจงใจ “แยกส่วน”
 
จริงๆ แล้ว เพราะเราถูกกำหนดให้เห็นเฉพาะความจริงที่ผู้มีอำนาจอยากให้เห็นใช่หรือไม่ จึงทำให้สังคมเราจมปรักอยู่กับความจริงอันเจ็บปวด ดังคำถามตามภาพข้างล่างของ “ป้าอุ๊” ภรรยา “อากง” นักโทษ ม.112 ที่ขอประกันตัวถึง 8 ครั้ง แต่ไม่ได้รับสิทธิประกันตัวจนต้องตายในคุก
 
http://a8.sphotos.ak.fbcdn.net/hphotos-ak-ash4/s480x480/482074_304601542971524_1637166095_n.jpg
 
 
คำถามและแววตาของป้าอุ๊เผยให้เห็นความคับแค้นใจเหลือประมาณของคนชั้นล่างที่ไร้อำนาจต่อรองใดๆ กับอำนาจมหึมาของชนชั้นบนสุด สำหรับผมคำถามเช่นนี้คือ “ภาษาธรรม” ที่ไม่อาจพบได้ในหนังสือธรรมะฮาวทูทั้งหลาย มันคือคำถามถึงความเท่าเทียมในความเป็นคนอันเป็นสาระที่แท้ของประชาธิปไตย ทำให้ผมเกิดคำถามตามมาอีกว่า ทำไมสังคมเราจึงกลัวที่จะเผชิญความเจ็บปวดจากการพูดความจริงทั้งด้านบวกและลบเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ แต่ไม่แคร์หรือแทบจะมองไม่เห็นความจริงอันเจ็บปวดของคนเล็กคนน้อยในสังคมที่ต้องแบกรับความอยุติธรรมอันหนักหน่วงไว้บนบ่าจนเซทรุด ในมุมมองของผม “คนอย่างอากง”ไม่ใช่แค่คนที่ร้องขอความยุติธรรมตามสิทธิแล้วไม่ได้รับ แต่คือคนที่ร้องขอชีวิตจากระบบยุติธรรมที่ใช้ ม.112 ภายใต้อุดมการณ์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ในคราบประชาธิปไตยแล้วไม่ได้รับ
 
ทำไมเรียวกันพระโง่ผู้ยิ่งใหญ่จึงตัดหลังคากระท่อมของตนเองเพื่อปลดปล่อยให้ยอดไผ่งอกงามสู่เสรีภาพ แต่ระบบยุติธรรมภายใต้ลักษณะพิเศษของสังคมไทยที่มีพุทธศาสนาและกษัตริย์ดีเลิศที่สุดในโลกกลับกักขังชายชราชาวบ้านธรรมดาคนหนึ่งที่มีโรคประจำตัว ซึ่งถูกกล่าวหาว่าทำผิดด้วย “ข้อความพียง 4 ข้อความ” จนต้องตายในคุก นี่เป็นคำถามที่ค้างคาในใจผมตลอดมา ผมมองไม่เห็นคำตอบ แต่เห็น “ทุกขสัจจะ” อย่างชัดแจ้งว่า สังคมนี้พยายามทุกวิถีทางที่จะดำรงความพิเศษของสถาบันกษัตริย์ที่ต้องอยู่เหนือเสรีภาพในการวิจารณ์ตรวจสอบของประชาชนเอาไว้ให้ได้ แม้จะก่อให้เกิดประวัติศาสตร์การปราบปรามประชาชนซ้ำๆ หรือจะวางแอกความอยุติธรรมอันหนักหน่วงไว้บนบ่าของคนเล็กคนน้อยในสังคมที่อาจเป็นเพียงผู้ตกเป็น “เหยื่อ” ที่น่าสมเพชเพียงใดก็ตาม ดังนักโทษมโนธรรมสำนึกที่ต้องคดี ม.112 ที่ถูกปฏิเสธสิทธิการประกันตัวและปฏิเสธสถานะความเป็นนักโทษการเมือง พวกเขาคือส่วนหนึ่งในคนเล็กคนน้อยอีกจำนวนมากที่ถูกแอกแห่งความอยุติธรรมกดทับอย่างสิ้นไร้อำนาจต่อรองใดๆ
 
ข้างนอกฝนเริ่มซาลงแล้ว ผมเลื่อนบานหน้าต่างห้องทำงานเปิดออก สูดกลิ่นไอฝนในคืนฟ้ามืด โลกตามเป็นจริงช่างเต็มไปด้วยความทุกข์เศร้าและความอยุติธรรมอันหน่วงหนัก นึกถึงภาพของเรียวกันวิ่งไล่จับผีเสื้อกับเด็กๆ ในตอนเย็นของบางวัน ทว่าบางวันก็นั่งดื่มเหล้าสาเกจนเมาหลับอย่างเดียวดายภายในกระท่อมบนภูเขา บทกวีของเขาปราศจากคำเทศนาที่ดูสูงส่งทรงภูมิ ทว่าเรียบง่ายและงดงาม เปี่ยมด้วยพลังแห่งการเรียนรู้ เข้าใจ และอ่อนโยนต่อเพื่อนร่วมโลกผู้ทุกข์ทน นี่คือ “จิตใจแบบพุทธะ” ในความเข้าใจของผม ในใจนึกฝันว่าสักวันหนึ่งบ้านเราอาจมีหนังสือธรรมะที่มีหัวใจเช่นนี้บ้าง มีพระและชาวพุทธที่พร้อมจะร่วมเรียนรู้ความทุกข์ยากของผองเพื่อนผู้ถูกกดขี่ในสังคมอย่างคนเสมอกัน และร่วมผสานพลังปัญญาและเมตตาธรรมเพื่อช่วยให้สังคมเราเข้มแข็งพอที่จะเผชิญความจริงอันเจ็บปวดด้วยวิถีทางสันติ เพื่อปลดปล่อยให้เราทุกคนมีเสรีภาพ
ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นคนอย่างที่เราพึงมี
 
 
หมายเหตุ:เผยแพร่ครั้งแรกใน “ปาจารยสาร” (เพิ่มภาพประกอบ 2 ภาพ)
 
 

 

บล็อกของ กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร

กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
วิจักขณ์​ พานิชกลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์พุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร 
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
วิจักขณ์ พานิชกลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร