Skip to main content


ชาญณรงค์ บุญหนุน 
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร

บทความนี้อาจถือได้ว่าเป็นส่วนขยายของบทความเรื่อง “คำโกหก-ความจริง ในฐานะแอกและภารกิจทางศีลธรรมไทย (จบ)” โดย ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ [1] ที่ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการโกหกและการพูดความจริงในสังคมไทยไว้ว่า การโกหกดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่เราพบเห็นได้เสมอในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะในแวดวงประวัติศาสตร์ การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ความรักและในมิติของศาสนา ความตอนหนึ่งในบทความกล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า การอ้างหรือการโจมตีเรื่องโกหกสีขาว (White lei) ทั้งจากฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านเอง ทำให้เราเห็นได้ชัดถึงท่าทีการจัดการกับความจริงและระบบทางศีลธรรม 2 ชุด ซึ่งแน่นอนว่า ภาพลักษณ์ของผู้ผดุงคุณธรรมนั้นมีภาษีที่ได้เปรียบกว่ารัฐนาวาที่มีเงาของคนไร้คุณธรรมอย่างทักษิณครอบงำอยู่แล้ว จึงไม่เป็นเรื่องยากนักที่กระแสสังคมของชนชั้นกลางที่กุมสื่อมวลชนอยู่จะสามารถผลักดันให้กลุ่มการเมืองที่ได้รับชัยชนะจากทั่วประเทศนี้ ประสบภาวะบกพร่องทางคุณธรรมอย่างรุนแรง และสร้างภาพต่อเนื่องว่า “ความเลวร้ายเช่นนี้รังแต่จะมีผลให้บ้านเมืองซิบหาย” อย่างไรก็ตาม ขณะสื่อกระแสหลักทำงานขุดคุ้ยโจมตี เปิดโปงคนในกลุ่มการเมืองอย่างเข้มข้น “พวกเขากลับละเลย ไม่พูดถึงคนจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถใช้มาตรฐานเดียวกันนี้ได้กับเหล่า "คนดี” “ผู้ทรงศีล” ที่เข้ามามีบทบาทล่วงล้ำในพื้นที่สาธารณะทางโลกย์มากขึ้นเรื่อย ๆ


ภิญญพันธุ์ สันนิษฐานว่าที่เป็นเช่นนี้ “อาจเป็นเพราะพวกเขาเชื่อว่า “คนดี” “ผู้ทรงศีล” นั้นมีเจตนาอันบริสุทธิ์ยิ่ง ไม่ควรแก่การตั้งคำถาม หรืออีกด้านก็คือ ความหวาดกลัวต่อการละเมิด “ประติมากรรมความดี” เหล่านั้นเอง ไม่ว่าจะกลัวบาปกรรมที่ล่วงล้ำก้ำเกินคนดี หรือกลัวต่อบทลงโทษทัณฑ์ทางโลกหรือแม้แต่การกลัวการขาดแคลนแหล่งกองทุนคนดี ดังนั้น คนดี ผู้ทรงศีลเหล่านี้ แม้จะพูดโกหก พูดไม่ตรงกับความจริงแล้ว กลับถือว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย สามารถมีเหตุผลมาแก้ต่างได้เรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าใจผิด หรือเป็นอุบายในการสอนธรรมะ มีจุดมุ่งหมายหรือเจตนาที่ดี ทั้งที่เราไม่อาจตรวจสอบได้ด้วยซ้ำว่า “เจตนาดี” ที่ว่านั้นมีที่มาจากอะไร เชื่อได้แค่ไหน” บทความดังกล่าวนี้ชี้ว่า “ปัญหาใหญ่ของสังคมไทยคือ การไม่รู้จักแยกแยะระหว่างอำนาจศีลธรรมศาสนาที่มีหัวใจอยู่ที่พุทธศาสนาแบบเถรวาท กับการบริหารการปกครองบ้านเมืองแบบโลกย์ที่ไม่สังกัดศาสนาใด ๆ โดยที่แบบแรกนั้นจะได้รับสิทธิที่จะไม่ถูกวิจารณ์จากสังคมกระแสหลัก ในขณะที่อำนาจด้านหลังที่เกิดขึ้นจากรากฐานเสียงของประชาชนนั้นที่อาจมีส่วนหนึ่งที่ไม่สังกัดศาสนาเดียวกับแบบแรก แต่ได้ถูกดิสเครดิตด้วยอคติทางศาสนา” 

ประเด็นที่จะนำเสนอในที่นี้ไม่ได้จะมาโต้แย้งความเห็นในบทความดังกล่าว แต่จะพาย้อนกลับไปไตร่ตรองเรื่องที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นการ “โกหกสีขาว” (White lie) ผ่านเรื่องเล่าของพุทธศาสนาที่ปรากฎในคัมภีร์โดยเฉพาะอรรถกถาธรรมบทที่รจนาโดยพระพุทธโฆษาจารย์เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 10 ซึ่งใครก็ตามที่เล่าเรียนบาลีจนเป็นเปรียญธรรม 3 ประโยคย่อมจะผ่านหูผ่านตาจนถึงขั้นประทับใจในเรื่องเล่าเหล่านี้อยู่บ้าง ที่จะกล่าวถึงในที่นี้มี 2 เรื่องด้วยกันคือ เรื่อง “พระนันทเถระ” ซึ่งเป็นพุทธอนุชา และเรื่อง “เพชรฆาตเคราแดง” ทั้งสองเรื่องนี้อาศัยแหล่งข้อมูลเดียวกันคือจากอรรถกถาธรรมบท

เรื่องของพระนันทเถระ


เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จกลับกรุงบิลพัสดุ์ครั้งแรกหลังจากตรัสรู้ 5 ปี พระองค์ทรงมีพุทธกิจหลายอย่างด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือ พาเจ้าชายนันทะ (พระอนุชา) ออกบวชในวันวิวาหมงคลกับนางชนบทกัลยาณี นันทะไม่ได้ปรารถนาจะออกบวช แต่ด้วยความเกรงพระทัยพระพุทธเจ้าก็เลยตกปากรับคำ ทั้งที่ใจยังหวนระลึกถึงนางชนบทกัลยาณีอยู่เสมอ วันที่นันทะอุ้มบาตรตามเสด็จพระพุทธเจ้าออกจากวัง นางชนบทกัลยาณีได้เรียกร้องวอนขอให้นันทะรีบกลับเข้าวังโดยเร็ว พระนันทะไม่มีวันลืมเหตุการณ์ดังกล่าว หวังใจตลอดเวลาว่าจะกลับไปหานาง ดังนั้นจึงไม่สนใจจะปฏิบัติธรรมประพฤติพรหมจรรย์ เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบ และรู้ว่าพระนันทะคิดถึงนางชนบทกัลยาณีอยู่ตลอดเวลา จึงทรงจับมือพระนันทะพาขึ้นไปยังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อชมความงามของเทพอัปสรสวรรค์ 

เมื่อพระนันทะได้ทัศนาเทพนารีผู้มีเท้างามดั่งเท้านกพิราบ (สีชมพู) ก็เกิดความลุ่มลงในเทพอัปสรรค์เหล่านั้นจนลืมนางชนบทกัลยาณีสิ้น พระพุทธเจ้าตรัสถามว่านันทะมีความเห็นอย่างไร พระนันทะก็ตอบว่านางอัปสรสวรรค์งดงามกว่านางชนบทกัลยาณีอย่างเทียบไม่ติด พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า “นันทะ จงยินดีเถิด จงยินดีเถิด เรารับประกันว่าเธอจะได้ครอบครองนางอัปสรทั้ง 500 นางผู้มีเท้างามดังเท้านกพิราบ” พระนันทะจึงทูลว่า “ถ้าหากพระองค์จะทรงรับประกันว่าข้าพระองค์จะได้ครอบครองนางอัปสรผู้มีเท้างามดังเท้านกพิราบทั้ง 500 นาง ข้าพระองค์ก็ยินดีจะประพฤติพรหมจรรย์ตลอดไป” [2] 

เมื่อพระนันทะรับคำเช่นนั้นแล้วก็ตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์ตามคำขอของพระพุทธเจ้า เมื่อภิกษุทั้งหลายรับทราบเหตุที่ท่านประพฤติพรหมจรรย์ก็เยาะเย้ยว่า พระนันทะนั้นไม่ต่างอะไรกับคนรับจ้าง ที่ประพฤติพรหมจรรย์เพียงเพื่อจะได้ของตอบแทนเป็นนางอัปสรสวรรค์ นานเข้าพระนันทะเกิดความละอายใจจึงได้ขยันและตั้งใจมากขึ้นจนท้ายที่สุดได้บรรลุอรหันต์

ในอรรถกถาธรรมบท มีเหตุการณ์ต่อเนื่องน่าสนใจที่ควรนำมาพิจารณาประกอบด้วย กล่าวคือ อยู่มาวันหนึ่ง หลังจากพระนันทะบรรลุอรหันต์แล้ว ภิกษุทั้งหลายได้นั่งประชุมกันในธรรมสภาแล้วกล่าวยกย่องพระพุทธเจ้าว่า “พระพุทธเจ้าทั้งหลายนั้นได้ชื่อว่าเป็นผู้มีอัจฉริยภาพยิ่งนัก พระนันทะที่ต้องการจะลาสิกขาออกไปเนื่องจากนางชนบทกัลยาณี พระพุทธเจ้ายังทรงสามารถแนะนำสั่งสอนจนบรรลุอรหันต์” เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงและทรงสดับคำสนทนานั้น ก็ตรัสว่า ไม่ใช่แค่ปัจจุบันเท่านั้นที่พระองค์ทรงทำเช่นนี้ แม้ในอดีตก็ได้ทรงแนะนำนันทะเช่นเดียวกัน จากนั้นจึงตรัสเล่าถึงอดีตชาติของพระนันทะในคราวที่เกิดเป็นลาตัวผู้ ขณะที่พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพ่อค้าเมืองสาวัตถี พ่อค้าไปค้าขายยังเมืองต่างๆ โดยอาศัยลาตัวผู้ซึ่งมีความแข็งแรงอดทนนี้ช่วยบรรทุกสินค้าไปกลับ

แต่วันหนึ่ง พ่อค้าไปค้าขายที่เมืองตักกสิลาพร้อมลาตัวเดิม เจ้าลาได้พบรักกับลาตัวเมียเลยปฏิเสธที่จะกลับไปสาวัตถีพร้อมกับพ่อค้า ไม่ว่าพ่อค้าจะข่มขู่ด้วยวิธีใด ๆ ก็ไม่ยอม พ่อค้าสังเกตพบว่าที่แท้ลาผู้ตัวนี้เกิดลุ่มหลงลาตัวเมียตัวหนึ่ง จึงหลอกล่อว่า ถ้าลายอมบรรทุกของกลับไปสาวัตถีจะหาลาตัวเมียที่สวยงามกว่ามาให้ เจ้าลาได้ฟังก็ดีใจยอมทำตาม แต่เมื่อถึงสาวัตถีพ่อค้าก็ไม่ได้นำลาตัวเมียมาให้สักที เจ้าลาจึงทวงสัญญา แต่พ่อค้ากลับบอกว่า เราจะนำลาตัวเมียมาให้ท่านแน่นอน แต่มีข้อแม้ว่าเราจะให้อาหารแก่ท่านเพียงตัวเดียวเท่านั้น ส่วนภาระเลี้ยงดูลาตัวเมียและลูกที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนั้นเป็นภาระของท่าน เราจะไม่รับผิดชอบใด ๆ สุดท้ายเจ้าลาก็หมดอาลัยต่อการจะได้ลาตัวเมียมาอยู่ด้วย ตามคำบรรยายของอรรถกถาจารย์ พระพุทธเจ้าทรงประมวลสรุปเรื่องนี้ว่า ลาผู้คือนันทะ ลาตัวเมียคือนางชนบทกัลยาณี พ่อค้าคือตัวพระองค์เอง[3] 

เรื่องพระสารีบุตรกับเพชรฆาตโจรเคราแดง

เพชรฆาตโจรเคราแดงเดิมเป็นโจรในชุมโจรแห่งหนึ่งมีสมาชิกทั้งหมด 500 คน หลังจากชาวเมืองร่วมมือกับทางการทลายแหล่งโจรแล้วจับตัวมาได้ทั้งหมด 500 คน ก็ได้รับอาสาประหารชีวิตพี่น้องชาวโจรทั้งหลายของตนเพื่อที่จะรักษาชีวิตรอดและได้รับการยอมรับให้มีชีวิตปกติในชุมชน ต่อมาเขาได้รับแต่งตั้งจากชาวเมืองให้เป็นเพชรฆาตประหารชีวิตพวกโจรที่ทางการจับได้ เนื่องจากเขาเป็นคนหนุ่มที่มีพละกำลังแข็งแรงสามารถลงมือเพียงครั้งเดียวโดยไม่ทำให้นักโทษทรมาน เขาทำงานจนแก่ชราเมื่อไม่แข็งแรงพอที่จะประหารชีวิตคนโดยไม่ทำให้ทรมานจึงเกษียณ ในวันนั้นเองก็ตั้งใจจะเลี้ยงฉลองให้แก่ชีวิตที่เป็นอิสระในวัยชราของตน เมื่ออาบน้ำที่ท่าน้ำ สวมเสื้อผ้าใหม่ ประดับดอกไม้ ทาตัวด้วยของหอม แล้วเตรียมรับประทานอาหารที่มีผู้จัดเตรียมไว้ให้ ก็แลไปเห็นพระสารีบุตรเถระยืนอุ้มบาตรอยู่หน้าบ้านพอดี ด้วยความที่เห็นว่าตนเองไม่เคยได้ทำบุญมาเลยตลอดชีวิต จึงนิมนต์พระสารีบุตรเข้าไปฉันภัตตาหารภายในบ้าน ส่วนตัวเองก็รับประทานอาหารไปด้วย

เมื่อพระเถระฉันเสร็จเรียบร้อยแล้วก็กล่าวอนุโมทนาและแสดงธรรม แต่อดีตเพชรฆาตไม่สามารถปล่อยใจให้ติดตามกระแสธรรมได้ พระสารีบุตรเห็นดังนั้นจึงถามว่า เหตุใด ท่านจึงไม่สามารถสงบสำรวมใจให้ติดตามธรรมที่แสดงได้ เขากล่าวว่าที่ไม่สามารถทำจิตให้สงบฟังธรรมได้เนื่องจากหวนระลึกถึงกรรมหยาบช้าที่กระทำมาตลอด 55 ปี ตนเป็นเพชรฆาตที่ประหารคนมามากมายมหาศาล ฟังธรรมไปก็ระลึกถึงเรื่องนี้ไปไม่สามารถจะสงบใจได้เลย พระอรรถกถาจารย์เขียนไว้ว่า “พระเถระคิดว่า “เราจักลวงบุรุษนี้” จึงพูดว่า “ท่านได้ทำ (ฆ่าคน) ตามใจของตน หรือทำเพราะถูกผู้อื่นขอให้ทำเล่า” อดีตเพชรฆาตตอบว่า “ผมทำตามคำสั่งของพระราชา” พระสารีบุตรกล่าวต่อว่า “อุบาสก เมื่อเป็นเช่นนั้น อกุศลธรรมจะมีแก่ท่านได้อย่างไร” พระอรรถกถาพรรณนาต่อไปว่า “อุบาสกเป็นคนธาตุทึบ (น่าจะหมายถึงเป็นคนซื่อ-ผู้เขียน) เมื่อได้ยินพระสารีบุตรเถระกล่าวเช่นนั้นแล้วก็เข้าใจว่า “อกุศลไม่มีแก่เรา” จึงกล่าวว่า “ท่านผู้เจริญ ถ้าเช่นนั้น ก็ขอเชิญท่านแสดงธรรมเถิด” เมื่อพระเถระแสดงธรรม อดีตเพชรฆาตโจรเคราแดงผู้มีใจสงบก็สามารถบรรลุโสดาปัตติมรรค แล้วพระสารีบุตรเถระก็ลุกจากไป [4]

เมื่อเทียบเรื่องพระนันทะกรณีพระพุทธเจ้ารับประกันว่าท่านจะได้ครอบครองธิดาสวรรค์ 500 นางนั้น ดูเหมือนพระพุทธเจ้าไม่ได้ “ลวง” พระนันทะ เพราะหากพระนันทะไม่บรรลุอรหันต์เสียก่อนก็ย่อมจะได้ตายไปเกิดในสรวงสวรรค์อย่างแน่นอน ผิดกับกรณีของพระสารีบุตรที่พระอรรถกถาจารย์ใช้คำว่า “ลวง” (วญฺจามิ) อดีตเพชรฆาตเคราแดงเพื่อให้เขาเชื่อว่า “สิ่งที่ทำมาตลอดชีวิตนั้นไม่ได้เป็นอกุศลกรรม” ความรู้สึกที่เราได้จากการอ่านเรื่องพระสารีบุตรกับเพชรฆาตโจรเคราแดง ก็น่าจะเห็นได้ว่าพระสารีบุตรจงใจทำให้อดีตเพชรฆาตเข้าใจผิด แต่ทั้งนี้ด้วยความปรารถนาดีที่จะให้เขาได้มีจิตใจสงบเข้าใจธรรม และเรื่องก็เป็นดังนั้น คือเพชรฆาตเคราแดงได้บรรลุโสดาปัตติมรรค เช่นเดียวกับพระนันทะได้บรรลุอรหันต์ ซึ่งเมื่อคำนวนผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการกระทำทั้งสองกรณีแล้วจะเห็นว่า การลวงเกิดขึ้นด้วยเจตนาที่หวังผลดีทั้งคู่ เมื่อเราอ่านเรื่องเล่านี้เสร็จสิ้นแล้ว ดูเหมือนเราจะไม่ติดใจต่อการกระทำของพระพุทธเจ้าและพระสารีบุตรเถระ เพราะเรื่องเล่าได้ทำให้เราเห็นว่า การลวงมีความจำเป็นในขณะที่เผชิญกับสถานการณ์ดังกล่าว นอกจากนั้นเรื่องยังบอกด้วยว่าคนทั้งสองได้ประสบผลประโยชน์ที่ล้ำเลิศกว่าการไม่ลวง อุบายนี้จึงเป็นสิ่งที่ชาวพุทธทั่วไปยอมรับได้และไม่เคยตั้งคำถาม

หากเทียบกับศีล 5 ข้อมุสาวาท (การกล่าวเท็จ) สิ่งที่แตกต่างกันระหว่างการกล่าวเท็จกับการลวงสองกรณีนี้คือ ในการมุสาวาท ผู้กล่าวมุสาวาทจงใจกล่าวเท็จหรือบิดเบือนความจริงเพื่อผลประโยชน์ของตนเองเป็นที่ตั้ง ขณะเดียวกัน การกระทำดังกล่าวจะเข้าเงื่อนไขการมุสาวาทโดยสมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่อผู้ฟังหลงเชื่อและเสียผลประโยชน์จากการเข้าใจผิดนั้น มุสาวาทเป็นความผิดเพราะเกิดจากเจตนาอันเห็นแก่ตัวของผู้กระทำและมีผลเสียหายเกิดขึ้นแก่ผู้อื่น เกณฑ์ตัดสินในเรื่องนี้จึงอยู่ที่เจตนา (ที่มา) และผลกระทบที่จะเกิดขึ้น (จุดมุ่งหมายหรือผลที่ตามมา) คือตัดสินทั้งจากเจตนาไม่ดีและผลเสียหายที่ตามมาจากการกระทำนั้น ๆ   ข้อนี้จึงเป็นความแตกต่างระหว่างสิ่งที่พระพุทธเจ้ากระทำต่อพระนันทะและที่พระสารีบุตรกระทำต่อเพชรฆาตเคราแดง คือมีเจตนาดีต่อคู่กรณีและผลที่ตามมาหลังจากนั้นอันเป็นประโยชน์โดยตรงแก่พระนันทะและเพชรฆาตเคราแดง น่าสนใจว่าการที่ชาวพุทธยอมรับเรื่องนี้ได้เพราะตัวเรื่องเล่าเองบอกให้รู้ว่าอะไรเกิดขึ้นหลังจากนั้น หรือเพราะเชื่อในเจตนาดีเพียงอย่างเดียวของบุคคลอย่างพระพุทธเจ้าและพระสารีบุตร ถ้าหากเรื่องไม่ได้บอกไว้ว่าเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้น ชาวพุทธยังจะไม่สงสัยต่อกรณีพระนันทะและเพชรฆาตเคราแดงหรือไม่  

การยอมรับ “สิทธิอำนาจเหนือการวิจารณ์” ในกรณีที่ปรากฎตำนานนี้ ส่วนหนึ่งน่าจะสืบเนื่องจากเรื่องเล่าได้เฉลยให้เราทราบอย่างหมดเปลือกถึงผลที่เกิดขึ้น ซึ่งต่างจากสถานการณ์จริงของโลกปัจจุบัน อย่างกรณีนายกิติรัตน์ ณ ระนอง ที่เราไม่อาจจะรู้ได้ว่า จริง ๆ แล้ว การโกหกสีขาวมีผลแท้จริงอย่างไรบ้าง ฝ่ายตรงข้ามก็ได้แต่เชื่อและประโคมว่าการโกหกจะทำให้สถานการณ์บ้านเมืองซิบหาย เราจำนวนมากก็ได้แต่เต้นตามสื่อมวลชน อย่างไรก็ตาม กรณีของพระพุทธเจ้าและพระสารีบุตรนี้ ผมคิดว่าแม้เรื่องเล่าไม่ได้บอกว่าเกิดอะไรขึ้นกับพระนันทะและเพชรฆาตเคราแดง แต่ชาวพุทธก็ยังจะยอมรับการกระทำดังกล่าวโดยไม่วิพากษ์วิจารณ์อยู่นั่นเอง เพราะเชื่อว่า “พระพุทธเจ้า” และ “พระสารีบุตรเถระ” เป็นพระอรหันต์ ย่อมมีจิตใจที่บริสุทธิ์ผุดผ่องเปี่ยมไปด้วยเมตตาธรรมเป็นพื้นฐาน  

มองจากผู้กระทำการ “สิทธิอำนาจเหนือการวิจารณ์” นั้นมาจากพื้นฐานทางศีลธรรมคุณธรรมที่ได้รับการฝึกฝนอบรม โดยพื้นฐานทางวัฒนธรรมของชาวตะวันออก (จีนและอินเดีย) ความรู้ จริยธรรมและคุณธรรมที่บรรลุ (จนสิ้นกิเลสนั้น) คือสิทธิอำนาจสูงสุด พราหมณ์ในอินเดียโบราณได้รับสิทธิเหนือผู้อื่นเนื่องจากเชื่อกันว่าพราหมณ์คือผู้เข้าถึงความจริง (พระเป็นเจ้า) รู้ว่าสิ่งใดถูกต้องและสิ่งใดไม่ถูกต้องและเป็นผู้เที่ยงธรรม จะว่าไปแล้ว ข้อสมมติฐานเกี่ยวกับตัวบุคคล (ซึ่งอาจจะไม่ได้เป็นความจริงก็ได้) หรือความเชื่อมั่นในตัวบุคคลทั้งในเรื่องอำนาจการหยั่งรู้และความสมบูรณ์พร้อมทางจริยธรรมคุณธรรม จะมีอิทธิพลอย่างมากต่อการที่พวกเขาเหล่านั้นจะไม่ถูกวิพากษ์วิจารณ์หรือไม่ เมื่อเราเชื่อว่าพระพุทธเจ้าและพระสารีบุตรเป็นบุคคลเหนือโลก (ทั้งที่เราไม่ได้รู้จริง ๆ ว่าเป็นอย่างไร) เราก็เชื่อต่อไปด้วยว่า พระพุทธเจ้าและพระสารีบุตรจะไม่ทำอะไรที่น่าตำหนิติเตียนหรือทำสิ่งที่ก่อให้เกิดข้อบกพร่องทางศีลธรรม 

ผู้เขียนคิดว่า ยังมีเงื่อนไขอื่นอีกที่ทำให้การวิพากษ์วิจารณ์ทางศีลธรรมไม่เกิดขึ้นกับบุคคลหรือเหตุการณ์บางอย่าง ลองย้อนกลับไปดูเรื่อง “พ่อค้ากับลา” ซึ่งจะเห็นว่าเรื่องเล่าได้เล่าไว้อย่างชัดเจนว่าพ่อค้าได้ล่อลวงลาเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง (ซึ่งไม่น่าเป็นจะเป็นการกระทำของพระโพธิสัตว์) พ่อค้าจงใจที่จะไม่ทำตามสัญญาที่ให้ไว้แก่ลาและใช้เล่ห์เพื่อที่จะทำให้ลาหมดอาลัยตายอยากต่อการมีคู่ น่าสนใจว่าชาวพุทธจะมีท่าทีหรือตั้งข้อสงสัยต่อข้อบกพร่องทางศีลธรรมกรณีนี้อย่างไร หากไม่มีประมวลท้ายสรุปเรื่องว่า พ่อค้าผู้ซึ่งใช้เล่ห์ลวงลาผู้ตัวนั้นคือพระโพธิสัตว์  การประมวลสรุปว่าพ่อค้าคือพระพุทธเจ้านั้นได้ปิดกั้นแรงบันดาลใจที่จะวิพากษ์วิจารณ์ และอาจแม้กระทั่งความสามารถที่จะคิดจินตนาการไปถึงข้อบกพร่องทางศีลธรรมดังกล่าวของพ่อค้า น่าสนใจยิ่งว่า “หาเรื่องราวในเรื่องเล่า” ไม่ได้ผูกโยงกับผู้มีสิทธิอำนาจทางศาสนาอย่างพระพุทธเจ้า การกระทำดังกล่าวจะก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์บ้างหรือไม่อย่างไร เรื่องของพ่อค้ากับลา หากเกิดขึ้นในบริบทอื่น เราจะมีท่าทีต่อเรื่องนี้อย่างไร ก็น่าคิด

กล่าวได้หรือไม่ว่า สิทธิอำนาจเหนือการวิพากษ์วิจารณ์นั้นนอกเหนือจากสัมพันธ์กับความเชื่อหรือสมมติฐานที่เรามีเกี่ยวกับบุคคล (การเป็นผู้รู้และเข้าถึงความจริงแท้) แล้ว อาจสัมพันธ์กับอำนาจศูนย์กลางของสังคมหรือการเป็นผู้ปกครองสูงสุดของรัฐด้วย ยิ่งเมื่อศูนย์กลางอำนาจทางสังคมได้รับการยกย่องว่าล้ำเลิศด้วยคุณธรรมและความรู้แล้ว สิทธิอำนาจนั้นจะยิ่งเพิ่มพูนมากขึ้นโดยไม่มีข้อสงสัย 

จะว่าไปแล้ว เรื่องราวของพระพุทธเจ้าและพระสารีบุตรเถระให้นัยสำคัญเกี่ยวกับที่มาของสิทธิอำนาจเหนือการวิจารณ์อีกประการหนึ่งก็คือ เมื่อพิสูจน์หรือแสดงออกได้อย่างแจ่มชัดว่า สิ่งที่กระทำนั้นได้กระทำออกมาจากเจตนาอันเปี่ยมด้วยกรุณา ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาทั่วไปที่ว่า การกระทำใด ๆ ที่แม้จะไม่ตรงกับความจริงเสียทีเดียว หรือหากแม้นมีการเปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อยในทางที่จะช่วยให้เกิดความดีงามขึ้นแก่ผู้คนทั่วไปนั้น การกระทำนั้นก็ย่อมได้รับการยกย่องสรรเสริญ การจัดการให้มีข้อแตกต่างออกไปจากเดิมเพียงบางส่วนนั้น เมื่อนับเนื่องใน “มหากรุณา” แล้วก็จะถือว่านั่นเป็น “กุสโลบายอันยอดเยี่ยม” การกระทำของพระพุทธเจ้าและพระสารีบุตรนั้นย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำที่เปี่ยมด้วยปัญญาและกรุณา ข้อนี้อาจเทียบได้กับพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก ซึ่งใน “พระราชปรารภ” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนอกจากได้แสดงให้เห็น “พระมหากรุณา” แล้วยังแสดงให้เห็น “พระราชกุศโลบาย” ในการสั่งสอนราษฎรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอีกด้วย 

“พระราชปรารภ” ในพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก [5] ปรากฏดังนี้

“เมื่อพ.ศ.2520 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสดับพระธรรมเทศนาของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน ธมฺมสาโร มหาเถร) วัดราชผาติการาม เรื่องพระมหาชนกเสด็จทอดพระเนตรพระราชอุทยาน ในกรุงมิถิลา เรื่องมีใจความว่า ที่ทางเข้าสวนหลวงมีต้นมะม่วงสองต้น ต้นหนึ่งมีผล อีกต้นหนึ่งไม่มีผล ทรงลิ้มรสมะม่วงอันโอชา แล้วเสด็จเยี่ยมอุทยาน เมื่อเสด็จกลับออกจากสวนหลวง ทอดพระเนตรเห็นต้นมะม่วงที่มีผลรสดี ถูกข้าราชบริพารดึงทึ้งจนโค่นลง ส่วนต้นที่ไม่มีลูกก็ยังคงตั้งอยู่ตระหง่าน แสดงว่าสิ่งใดดี มีคุณภาพ จะเป็นเป้าหมายของการยื้อแย่งและจะเป็นอันตรายในท่ามกลางผู้ที่ขาดปัญญา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัย จึงทรงค้นเรื่องพระมหาชนกในพระไตรปิฎก (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่มทื่ 4 ภาคที่ 2) และทรงแปลเป็นภาษาอังกฤษตรงจากมหาชนกชาดก ตั้งแต่ต้นเรื่อง โดยทรงดัดแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น

พระมหาชนกบำเพ็ญวิริยบารมีที่ไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ จนกระทั่งได้ทรงครองราชสมบัติและนำความเจริญมั่งคั่งแก่กรุงมิถิลาด้วยพระปรีชาสามารถ

มาถึงตอนเรื่องต้นมะม่วง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า การที่พระมหาชนกจะเสด็จออกทรงแสวงโมกขธรรม ยังไม่ถึงวาระเวลาอันสมควร เพราะว่าได้ทรงสร้างความเจริญแก่มิถิลายังไม่ครบถ้วน กล่าวคือข้าราชบริพาร “นับแต่อุปราชจนถึงคนรักษาช้างคนรักษาม้า และนับแต่คนรักษาม้าจนถึงอุปราช และโดยเฉพาะเหล่าอมาตย์ ล้วนจาริกในโมหภูมิทั้งนั้น ไม่มีความรู้ทั้งทางวิทยาการทั้งทางปัญญา ยังไม่เห็นความสำคัญของผลประโยชน์แท้แม้ของตนเอง จึงต้องตั้งสถานอบรมสั่งสอนให้เบ็ดเสร็จ” อนึ่ง พระมหาชนกยังต้องทรงปรารภเรื่องการอนุบาลต้นมะม่วงตามวิธีสมัยใหม่ เก้าวิธีอีกด้วย

ด้วยประการเช่นนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงดัดแปลงเนื้อเรื่องในมหาชนกชาดกให้เหมาะสมกับสังคมปัจจุบัน โดยที่พระราชดำริว่า พระมหาชนกจะบรรลุโมกขธรรมได้ง่ายกว่า หากได้ประกอบพระราชกรณียกิจในโลกให้ครบถ้วนก่อน [6]


พระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น ทรงระบุไว้ชัดเจนว่าทรงนำมาจากพระไตรปิฎกโดยตรง หากเราไปสืบค้นพระไตรปิฎก (ขุททกนิกาย ชาดก) ก็จะเป็นเช่นนั้น นอกจากนี้ รายละเอียดที่ปรากฎในงานพระราชนิพนธ์ดังกล่าวยังตรงกับเรื่องราวที่เขียนไว้ในอรรถกถามหานิบาตเรื่องพระมหาชนกชาดกด้วย ข้อแตกต่างประการสำคัญก็ปรากฏในพระราชปรารภนั้นแล้ว คือในอรรถกถามหานิบาต พระมหาชนกเมื่อทรงทราบว่าต้นมะม่วงถูกโค่นเพราะว่าเป็นต้นที่มีผลเลิศรส ก็เกิดความสังเวชและทรงดำริว่า “ต้นนี้มีวรรณะสดเขียวตั้งอยู่แล้ว เพราะไม่มีผล แต่ต้นนี้ถูกหักโค่นลง เพราะมีผล แม้ราชสมบัตินี้ก็เช่นกับต้นไม้มีผล บรรพชาเช่นกับต้นไม้ผลหามิได้ ภัยย่อมมีแก่ผู้มีความกังวล ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีความกังวล ก็เราจักไม่เป็นเหมือนต้นไม้มีผล จักเป็นเหมือนต้นไม้หาผลมิได้ เราจักสละราชสมบัติออกบวช” [7] จากนั้นก็อธิษฐานจิต ตั้งมั่นบำเพ็ญสมณธรรม ไม่พัวพันในกามทั้งหลายในท่ามกลางปราสาทนั่นเองเป็นเวลาถึงสี่เดือน ก่อนจะออกบวชในท้ายที่สุด โดยไม่นำพาต่อการร้องขอของพระมเหสีเพื่อให้อยู่ครองราชย์ต่อไปเพื่อประโยชน์แก่บ้านเมืองและประชาชน [8]

แต่ “พระราชปรารภ” ในพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนกได้ชี้ให้เห็นแนวคิดสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการดัดแปลงเรื่องตอนท้ายของชาดก กล่าวคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า “พระมหาชนกจะบรรลุโมกขธรรมได้ง่ายกว่า หากได้ประกอบพระราชกรณียกิจในโลกให้ครบถ้วนก่อน” เนื่องจากการเสด็จออกบวชแสวงโมกขธรรม  “ยังไม่ถึงวาระเวลาอันสมควร เพราะว่าได้ทรงสร้างความเจริญแก่มิถิลายังไม่ครบถ้วน กล่าวคือข้าราชบริพาร “นับแต่อุปราชจนถึงคนรักษาช้างคนรักษาม้า และนับแต่คนรักษาม้าจนถึงอุปราช และโดยเฉพาะเหล่าอมาตย์ ล้วนจาริกในโมหภูมิทั้งนั้น ไม่มีความรู้ทั้งทางวิทยาการทั้งทางปัญญา ยังไม่เห็นความสำคัญของผลประโยชน์แท้แม้ของตนเอง จึงต้องตั้งสถานอบรมสั่งสอนให้เบ็ดเสร็จ”  ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงปรับปรุงเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระมหาชนกให้ทันสมัยเหมาะสมกับสังคมปัจจุบันดังที่ปรากฏ  

เราจึงได้เห็นพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนกที่แสดงถึง “พระอัจฉริยภาพ” และ “พระมหากรุณา” ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และแน่นอนว่าย่อมจะไม่มีใครสงสัยในพระอัจฉริยภาพและพระมหากรุณาของพระองค์

เหตุผลสำคัญที่นำเรื่องนี้มากล่าวถึงในบทความนี้ ผู้เขียนต้องการแสดงให้เห็นนัยยะอันเป็นส่วนขยายของบทความเรื่อง “คำโกหก-ความจริง ในฐานะแอกและภารกิจทางศีลธรรมไทย (จบ)” เกี่ยวกับแง่มุมการวิพากษ์วิจารณ์เชิงศีลธรรมในสังคมไทยว่า เรื่องราวต่าง ๆ ในสังคมไทยเรา ทั้งในมิติศาสนา มิติทางสังคม การเมืองการปกครองนั้น ล้วนมีสิ่งที่จะต้องนำมาพิจารณาไตร่ตรองให้ละเอียดลึกซึ้งลงไป โดยเฉพาะใครก็ตามที่ให้ความสำคัญต่อประเด็นการเมืองกับศีลธรรมหรือเรื่อง “โกหกสีขาว” (White lie) กับปัญหาทางศีลธรรมนั้น ควรจะขยายมุมมองการถกเถียงให้กว้างขึ้นเพราะยังมีเรื่องอีกมากมายที่ซับซ้อนและชวนให้ถกเถียงทำความเข้าใจกันต่อไป

การอ้างอิง

[1] ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ “คำโกหก-ความจริง ในฐานะแอกและภารกิจทางศีลธรรมไทย (จบ)” http://blogazine.in.th/blogs/buddhistcitizen/post/3564 ออนไลน์ 2 ก.ย.2555

[2] มหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์, พระสูตรและอรรถกถา แปล เล่ม 40. พิมพ์ครั้งที่ 4.กรุงเทพฯ : มหามกุฎราชวิทยาลัย, 2543 หน้า 155-161.

[3] เรื่องเดียวกัน, หน้า 165-169.

[4] มหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์, พระสูตรและอรรถกถา แปล เล่ม 41. พิมพ์ครั้งที่ 4.กรุงเทพฯ : มหามกุฎราชวิทยาลัย, 2543 หน้า 418-422.

[5] พระราชปรารภที่กล่าวถึงในที่นี้เป็นพระราชปรารภในการพิมพ์ครั้งแรก ซึ่งได้นำมาตีพิมพ์ไว้ใน “พระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก ฉบับการ์ตูน” โปรดดู พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่องพระมหาชนก ฉบับการ์ตูน. พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ : บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2542. หน้า (5)-(6)

[6] เรื่องเดียวกัน, หน้า (5)

[7] มหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์, พระสูตรและอรรถกถา แปล เล่ม 63. พิมพ์ครั้งที่ 4.กรุงเทพฯ : มหามกุฎราชวิทยาลัย, 2543 หน้า 115-116.

 [8] เรื่องเดียวกัน, 117-133

 

บล็อกของ กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร

กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
วิจักขณ์​ พานิชกลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์พุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร 
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
วิจักขณ์ พานิชกลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร