Skip to main content

 

 
 พระถนอมสิงห์ สุโกสโล
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
 
 

ไม่ว่าในอดีตของพระพุทธศาสนาจะย้อนไปนานเท่าไร หลังจากที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ไม่นานพระพุทธศาสนาก็อยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของตระกูลกษัตริย์มาโดยตลอด ในช่วงแรกที่พระพุทธเจ้ายังมีชีวิตอยู่นั้นก็พอเข้าใจได้ เพราะพระองค์เป็นคนในวรรณะกษัตริย์มาก่อน มีญาติพี่น้องเป็นกษัตริย์ มีคนรู้จักเป็นกษัตริย์ต่างเมือง ว่าง่ายๆ คือ คอนเน็คชั่นส่วนใหญ่เป็นคนในวรรณะนี้  เหมือนสมัยนี้ที่พอดารามาบวชก็สามารถดึงดาราที่เป็นเพื่อนๆกันเข้าวัดได้บ้าง หรือเป็นนักการเมืองมาบวชก็จะดึงผู้ที่สนใจในการเมืองแบบเขาให้เข้าไปศรัทธาได้ ศิลปินมาบวชวัดก็มีแต่ศิลปินไปดูงานฝึกงานแบบนี้ เป็นต้น ตราบจนพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานการจัดการงานศพ การแบ่งอัฐิ จนไปถึงการทำสังคายนาก็ล้วนแล้วแต่กระทำโดยฝ่ายบ้านเมืองคือกษัตริย์ทั้งสิ้น

อาจจะมีบ้างที่พระในสมัยก่อนๆ มีความเห็นไม่ลงรอยกัน และแยกออกเป็นนิกายต่างๆ จนกระทั่งถึงช่วงเวลาแห่งพระเจ้าอโศกมหาราช ผู้ที่ในคัมภีร์จารึกไว้ว่าช่วงต้นรัชกาลของพระองค์นั้น พระองค์ทรงโหดเหี้ยมจนถึงขนาดฆ่าพี่น้องเพื่อแย่งชิงบัลลังก์ ยกทัพไปถล่มแคว้นอื่นไปเมืองไหนก็แทบจะฆ่าล้างเมือง จนภายหลังพบกับสามเณรนิโครธด้วยความสงบของสามเณรจึงทำให้พระองค์กลับตัวได้ไม่ยกทัพไปถล่มเมืองไหนอีกและกลายเป็นพระมหากษัตริย์ผู้มีชื่อเสียงเรื่องการเผยแผ่คำสอนของพระพุทธศาสนาไป

แต่หากว่าเราจะลองสมมติเหตุการณ์อย่างคนไม่เชื่ออะไรง่ายๆดูบ้างก็อาจจะอนุมานได้ว่า หากช่วงนั้นพระเจ้าอโศกมหาราชแม้จะเรืองอำนาจจริงแต่อาจจะทรงอยู่ไม่สุขเพราะเสียงจากราษฎรที่ว่าพระองค์ทรงอำมหิตจนถูกเรียกเป็น “จันฑาโศกราช” หรือ พระเจ้าอโศกผู้โหดร้าย จนพระองค์จำเป็นต้องเปลี่ยนพฤติกรรมให้ประชาชนยอมรับบ้าง แต่จะเป็นพราหมณ์ต่อก็จะไม่มีอำนาจที่จะตัดสินใจในการปกครองอย่างเต็มที่จึงต้องเปลี่ยนมานับถือพุทธและประกาศความเป็นอิสรภาพในการตัดสินของตัวเองออกจากพราหมณ์ เมื่อมาเข้าพุทธใหม่พระองค์อาจจะทรงต้องการจะควบคุมพุทธให้อยู่ในกำมืออย่างเด็ดขาดจึงจับพระภิกษุที่ไม่เห็นด้วยกับพระองค์มาประหารตัดคอเสียบประจานเป็นจำนวนมากพร้อมกับประกาศว่าพระพวกนั้นเป็นเดียรถีย์ปลอมบวช

จากนั้นจึงเริ่มการแผ่ขยายอำนาจไปทุกหย่อมหญ้าในราชธานีของพระองค์เองด้วยการตั้งเสาอโศกลงบนแผ่นดินที่ต้องการให้ประชาชนรู้ว่าสถานที่นี้เป็นของใคร และเนื่องจากที่พระองค์ได้ทรงฆ่าคนไปมากมายฆ่าพระไปก็มากมายจึงทำให้ทั้งเมืองเล็กๆใกล้เคียงก็ไม่อยากจะสู้ด้วย ยินยอมเจริญสัมพันธไมตรีแต่โดยดี และทุกที่ๆ เสาอโศกไปถึงอาจทำให้ทั้งประชาชนและนักบวชเกรงกลัวจากที่พระองค์เคยตัดหัวพระที่ไม่เห็นด้วยเสียบประจานไปแล้ว จนไม่กล้าลุกขึ้นมาต่อต้านอำนาจของพระองค์แต่อย่างใดตราบจนสิ้นรัชกาล และรัชกาลต่อมาก็อาจจะพอได้อานิสงส์นี้อยู่จน 47 ปี จนอำมาตย์ลุกขึ้นมาล้างพระราชาองค์ต่อไปเป็นอันจบราชวงศ์โมริยะ

โมเดลนี้อาจจะไม่ได้มีแต่ช่วงของพระเจ้าอโศกก็เป็นได้ เช่น ในปัจจุบันก็อาจจะเห็นได้จากที่ศรีลังกา ที่รัฐบาลศรีลังกาเรียกทหารว่ากองทัพธรรม โดยมีสโลแกนว่า “พึงสละชีวิตเพื่อรักษาธรรม” ซึ่งเป็นการนำพุทธพจน์ไปแปลงสาร จากนั้นก็นำกองทัพธรรมนี้บุกไปฆ่าชาวทมิฬที่ส่วนใหญ่เป็นมุสลิมในประเทศ เมื่อยึดถิ่นทมิฬได้ตรงจุดไหนก็ไปตั้งศาลาที่พระพุทธรูปไว้ตรงนั้น ก็เป็นเหตุการณ์ที่ให้ความรู้สึกคล้ายการนำเสาอโศกไปตั้งเพียงแต่ภาพเสียงในศรีลังกาชัดกว่าสมัยพระเจ้าอโศกเยอะ ส่วนในประเทศไทยจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นมาบ้างในยุคสมัยของใครนั้นก็ต้องไปพิจารณากันเอา

จากเดิมที่พระภิกษุเคยไม่อยู่ภายใต้การปกครองของกษัตริย์ก็น่าจะถูกปรับมาให้รับใช้(โดยจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม)กษัตริย์มาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกนั่นเอง จากนั้นมาในศรีลังกาก็มีการนำระบบเจ้าขุนมูลนายเข้ามาสู่สังคมสงฆ์ด้วยการริเริ่มระบบสมณศักดิ์ขึ้นมา ซึ่งระบบนี้เองที่ปรับทัศนคติของพระสงฆ์จากความจำยอมที่ต้องอยู่ในอำนาจกลายมาเป็นขวนขวายแย่งชิงเพื่อที่จะอยู่ในอำนาจ เพราะการอยู่ในอำนาจนั้นนำมาซึ่งอำนาจ(ลวงๆ) ที่สามารถนำพาความร่ำรวยทางวัตถุมาสู่พระเณรส่วนใหญ่ที่มีพื้นฐานมาจากเด็กบ้านนอกที่ไม่มีโอกาสในการศึกษาเท่ากับเด็กที่มีฐานะดีกว่าซึ่งโดยสถานะและภาวะจำยอมที่ทำให้ต้องบวช สร้างความรู้สึกว่าต้อง "เหนือกว่า" คนอื่นๆ เพื่อลบปมด้อยของตัวเองอยากให้สังคมยอมรับ ทำให้เกิดค่านิยมที่พระอยากให้ฆราวาสยอมรับ จึงมีความพยายามเทียบวุฒิทางธรรมเข้ากับทางโลกอยู่ตลอดเวลา

จนล่าสุดมีความพยายามเทียบหลักเปรียญธรรม 9 ประโยคให้เท่ากับปริญญาเอก มหาวิทยาลัยสงฆ์ก็ต้องเปิดสาขาที่เหมาะกับฆราวาสมากกว่าอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะมหาวิทยาลัยสงฆ์ก็ดำเนินงานบนพื้นฐานของการมีกิเลสเป็นแรงขับเหมือนกัน ทั้งตำแหน่งทางวิชาการที่เหมือนกับทางโลก เพื่อที่จะได้รับการยอมรับจากทั่วโลก หลักสูตรรายวิชาที่ถูกออกแบบมาให้เรียนก็ล้วนแล้วแต่เป็นการเรียนที่สนับสนุนให้ไปดำเนินชีวิตในเส้นทางของฆราวาสเสียส่วนใหญ่ เลยยิ่งทำให้คำนำหน้าชื่อมีความหมายมากยิ่งขึ้น ทั้งการเป็นพระมหา ดร. ศ. เจ้าคุณชั้นนั้นชั้นนี้ ซึ่งกว่าจะเป็นได้ก็ไม่ใช่ง่ายๆ ต้องทำเรื่องขอสมณศักดิ์ถ่ายรูปผลงานส่งไปให้พระสังฆาธิการที่ดูแลพิจารณาต่อไป

บางครั้งกว่าพิจารณาได้ก็ต้องมีธนบัตรฉบับละพันหลายใบไปสะกิด แม้กระทั่งการเป็นพระครูฐานานุกรมก็มิใช่ว่าจะได้กันมาราคาถูกๆ มีหลักหมื่นขึ้นแสนอยู่เหมือนกัน ทำให้พระราชาคณะเหล่านี้ยินดีที่จะเป็นเครื่องมือให้แก่ผู้ที่มีอำนาจ เพราะถ้าไปขวางผู้ที่มีอำนาจทั้งหลายยศก็ไม่ได้ขึ้นงานก็ไม่ราบรื่น จะมีก็เพียงไม่กี่รูปที่ก้าวข้ามลาภยศสรรเสริญเหล่านี้ไปได้ โดยเฉพาะพื้นฐานของการเป็นเด็กที่เคยด้อยโอกาสมาก่อนเมื่อเข้ามาในระบบวัดก็ถูกสอนสั่งให้รับฟังแต่คำสั่งมาตั้งแต่เป็นเณร จวบจนเป็นพระก็ต้องฟังคำสั่งเจ้าอาวาสมาโดยตลอดถ้าขัดขืนก็เติบโตยาก เมื่อเข้ามาอยู่ในอำนาจก็พร้อมที่จะรับใช้กลุ่มผู้ที่มีอำนาจต่อรองมากกว่า เช่น กลุ่มนายทุนที่เอาเงินมาให้วัดทีละมากๆ

เจ้าอาวาส และลูกวัดมีหรือที่จะกล้าปฏิเสธคำขอร้องจากนายทุน จนในที่สุดก็กลายเป็นต้องรับใช้นายทุนเหล่านั้นไปโดยปริยายไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ส่วนบรรดาพระหนุ่มเณรน้อยในสังกัดก็จำเป็นต้องกตัญญูด้วยการฟังคำสั่งอย่างเคร่งครัด ไม่ได้คิดเลยว่าการกตัญญูต่อเจ้าอาวาสนั้นคือการอกตัญญูต่อพระพุทธศาสนา ดังที่เคยถามพระที่มีความสามารถรูปหนึ่งของสำนักวัดพระธรรมกายว่า ทำไมคนที่มีความรู้ดีเฉลียวฉลาดเช่นท่านจึงมาอยู่กับลัทธินี้ได้ น่าแปลกที่ท่านไม่ได้ตอบแบบชมเชยวิชาธรรมกายว่าทำให้ท่านสงบหรืออย่างไร แต่ท่านกลับตอบว่าเป็นเพราะครอบครัวพามาที่นี่ตั้งแต่เด็ก เติบโตมาในนี้จึงต้องแทนคุณที่นี่ต่อไป

เช่นเดียวกับพระบางรูปในมหาเถรสมาคมที่รับเงินอุดหนุนจากลัทธิดังๆบางลัทธิ และอีกหลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ วัดใหญ่ได้ทุนมาก็เอาไปสนับสนุนวัดเล็ก วัดเล็กก็เอาไปสนับสนุนพระเณร จนในที่สุดเมื่อทุนสะพัดไปตามวัดต่างๆ ระบบสมณศักดิ์ก็เลยลอยเข้าไปพร้อมๆกับระบบทุน เป็นเหตุทำให้เวลาเกิดอธิกรณ์อะไรขึ้น คณะสงฆ์คือมหาเถรสมาคมก็จะไม่กล้าไปจัดการกับอธิกรณ์นั้น ประมาณว่าไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่ รับทรัพย์รับอำนาจต่อๆ กันมาตามสาย ถ้าโวยวายก็จะฉิบหายกันไปหมด จึงต้องเงียบไว้อมเงินกับอำนาจไว้ในปากต่อไป

ฉะนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจหากมีเรื่องราวที่เป็นปัญหาเกิดขึ้นกับลัทธิดังๆ บางลัทธิแล้วไม่มีพระในนามตัวแทนของมหาเถรสมาคมออกมาให้ความเห็นใดๆ เข้าวัดไปแล้วจะเห็นพระที่ออกมาปกป้องนักการเมืองบางพรรคอย่างออกหน้าออกตา ปกป้องเจ้าอาวาสที่ไร้ศีลธรรมจรรยาอย่างออกหน้าออกตา และยอมเป็นข้ารับใช้ตามคำสั่งของข้าราชการอย่างเคร่งครัด แม้แต่ตอบอย่างกลางๆ ว่า “เขาทำดีมาตั้งเยอะ ทำไมไปเห็นแต่ของไม่ดีเล่า” เป็นต้น ทั้งหมดนั้นเป็นเพราะท่านมีพื้นฐานทางสังคมมาแบบนี้ อีกเหตุปัจจัยหนึ่งก็คือท่าน “รับ” ไปเยอะแล้วนั่นเองแถมยังรู้ไม่ทันเรื่องโครงสร้างอันอยุติธรรมของสังคมอีกด้วย

ทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าระบบสงฆ์ไทยในปัจจุบันนี้ เป็นระบบที่แทบจะรียกได้ว่าสวนทางกับสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนเลยทีเดียว เด็กที่เข้ามาบวชเป็นสามเณรตั้งแต่ 10-11 ขวบ อยู่เป็น 10-20 ปีเป็นอย่างน้อย แทนที่จะก้าวต่อไปเป็นพระภิกษุที่อยู่ได้อย่างสมถะกลับกลายเป็นอยู่อย่างตะกละ กลายเป็นคนที่งกเงินจนถึงกับทำร้ายกัน(แย่งกันไปกิจนิมนต์)ลงข่าวหลายครั้ง(เรื่องลงข่าวอาจจะไม่กี่ครั้ง แต่แย่งกิจนิมนต์นี่เป็นทั่วประเทศ)

หากระบบสงฆ์ยังเป็นแบบนี้ต่อไปแล้วเราจะหวังได้อย่างไรว่าพุทธศาสน์จะมีวันเป็นของราษฎร เพราะระบบการบริหารงานของพระพุทธศาสนาในประเทศไทย เป็นระบบที่เอื้อให้แก่ผู้มีเงินมีอำนาจเท่านั้น ชาวบ้านนอกคอกนาตาดำๆ ที่อยู่ในชุมชนกลายเป็นอุปกรณ์สำหรับหาทุนเข้าวัด จัดสร้างนั่นสร้างนี่ไปเรื่อยๆอย่างไม่มีวันจบสิ้น(เพราะเจ้าอาวาสไม่รู้จะหาค่าน้ำค่าไฟอย่างไร ก็ระดมทุนสร้างมันต่อไป)และยังต้องส่งส่วยไปที่ผู้บังคับบัญชาอีก น้อยนักจะมีวัดที่ทำเพื่อประชาชนจริงๆ

ฉะนั้นตราบใดที่ระบบสมณศักดิ์นี้ยังอยู่ พระสงฆ์ก็จะยังเป็นเครื่องมือของผู้ที่มีอำนาจ เช่น หน่วยงานของรัฐต่างๆ ต่อไปเรื่อยๆ การจะทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาจริงๆก็ทำไม่ได้ ต้องบิดเบือนคำสอนไปให้เข้ากับนโยบายของทางรัฐอยู่ตลอดเวลา กลายเป็นฝ่ายรัฐก็อาศัยศาสนาเป็นกระบอกเสียง ฝ่ายศาสนาก็อาศัยรัฐในการเข้าสู่อำนาจ อย่างขาดกันไม่ได้ แล้วผู้ที่ซวยอย่างไม่มีวันรู้ตัวก็คือ ชาวบ้านทั้งหลายที่ถูกเรี่ยไรให้มาบริจาคสร้างนั่นสร้างนี่ จัดงานนั้นงานนี้อยู่ตลอดเวลา

หากเรามองว่าปีนี้เป็นปีที่ครบรอบ 2600 ปีแห่งการตรัสรู้ หากเรารักพระพุทธเจ้าจริง แทนที่จะจัดงานเฉลิมฉลองเสียใหญ่โตเอาเงินไปทุ่มเป็นพันๆล้าน ควรจะทำการปรับปรุงระบบต่างๆ ให้เข้ากับยุคสมัยก่อนดีไหม

อาจจะลองดูตัวอย่างจากลาวก่อนก็ได้ เพราะลาวเป็นประเทศที่ไม่มีสมณศักดิ์แต่ก็ยังมีการยกย่องพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบอยู่ และถ้าเป็นไปได้ควรปรับปรุงระบบการโอนเทียบเกรดวิชาความรู้ใดๆ ระหว่างทางโลกกับทางธรรมเสียด้วย ซึ่งตรงนี้อาจจะลองดูตัวอย่างจากพม่า ที่สนับสนุนการศึกษาของพระสงฆ์จนถึงระดับปริญญาเอกในทางศาสนา แต่ไม่สามารถใช้ใบปริญญาเหล่านั้นเข้าสมัครงานได้

ส่วนในเรื่องของการปกครองคณะสงฆ์ ควรจะลองประยุกต์ระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยไร้พรรคที่ท่านซัมดอง รินโปเช อดีตนายกรัฐมนตรี ธิเบตเคยใช้ก็ดูจะน่าสนใจมิใช่น้อยเพื่อให้ตัวสถาบันมีอิสระและพร้อมต่อการตรวจสอบมากขึ้น

เพราะบัดนี้ 2600 ปีผ่านไป พุทธไทยแทบจะเหลือเพียงแค่ทำเหรียญขาย กับจัดงานสร้างภาพหาเงินเข้าองค์กรเท่านั้นเสียแล้ว

            

 

บล็อกของ กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร

กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
วิจักขณ์​ พานิชกลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์พุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร 
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
วิจักขณ์ พานิชกลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร