สุรพศ ทวีศักดิ์
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
เมื่อวันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคมที่ผ่านมา ผมได้ฟังอาจารย์
ประเด็นที่อาจารย์สุลักษณ์พูดโดยสรุปคือ คำว่า “เผด็จการโดยธรรม” เท่าที่ทราบผู้ที่ใช้คำนี้เป็นคนแรกในบ้านเราน่าจะเป็นท่านพุทธทาส แล้วก็ยกตัวอย่างว่า “ราชาปราชญ์” (philosopher king) ตามความคิดของเพลโตก็คือเผด็จการโดยธรรมในความหมายว่า อำนาจตัดสินใจเด็ดขาดอยู่ที่ผู้ปกครองที่เป็นนักปราชญ์ผู้มีปัญญารู้ความจริง ความดี ความงาม และรัฐที่ดี การมีชีวิตที่ดีของราษฎรควรอยู่บนหลักความยุติธรรมอะไร การใช้อำนาจเผด็จการนั้นต้องโดยธรรม คือโดย republic เพื่อประโยชนของสาธารณะหรือส่วนรวม
แต่นักปรัชญาที่อธิบายข้อดีข้อเสียของการปกครองแต่ละรูปแบบให้ชัดขึ้นคือ อริสโตเติล เขาแบ่งการปกครองเป็นสามรูปแบบ คือ monarchy รูปแบบนี้ดีที่สุดหากผู้ปกครองเป็นราชาผู้เผด็จการโดยธรรม แต่จะเลวที่สุดหากผู้ปกครองเป็นทรราช (tyranny) รูปแบบที่สองคือ aristocracy ปกครองโดยคณะบุคคลที่เป็นชนชั้นผู้ดีที่มีคุณธรรม รูปแบบนี้ดีปานกลาง แต่ถ้าเลวก็เลวปานกลางเมื่อคณะบุคคลคือคนรวยไร้คุณธรรมเห็นแก่ผลประโยชน์ของพวกตนเป็นผู้ปกครอง (oligarchy) รูปแบบที่สามคือ democracy ปกครองโดยประชาชน ดีน้อยที่สุด แต่ถ้าเลวก็เลวน้อยที่สุดเช่นกัน
ในทางตะวันออก มีตัวอย่างเผด็จการโดยธรรม เช่น ตามหลักปรัชญาฮินดูที่ปรากฏในภควัตคีตา ถือว่ากษัตริย์มีหน้าที่เป็นนักรบต้องใช้อำนาจเด็ดขาดเพื่อปกป้องธรรม แม้จะต้องทำสงครามหรือโดยการฆ่าก็ตาม ในจีนก็ถือว่าผู้ปกครองต้องมีคุณธรรม เช่นในหลักการปกครองของขงจื้อ ระบบการสอบจอหงวนก็คือระบบคัดเลือกคนที่มีความรู้ในเรื่องคุณธรรมขนบประเพณีการปกครองมารับใช้ราชสำนักให้ใช้อำนาจปกครองโดยธรรม หรือในเรื่องสามก๊กก็มีหลักให้ผู้ปกครองฝึกตนเองว่า “เมื่อจิตสงบแล้วจะเกิดปัญญา ไม่ยึดติดลาภยศแล้วจะมองเห็นการณ์ไกล”
ส่วนในพุทธศาสนานั้นอาจตีความได้ว่า ธรรมราชาคือเผด็จการโดยธรรม อาจารย์สุลักษณ์กล่าวว่า “เผด็จการโดยธรรมราชานี่เป็นไปได้” (คงจะหมายถึงเป็นไปได้ในทางทฤษฎี ไม่ใช่เป็นไปได้ที่จะเอามาใช้ในยุคปัจจุบัน) และวิเคราะห์ให้เห็นข้อดีข้อเสียของเผด็จการโดยธรรมแต่ละแบบทั้งในเชิงความคิด และยกตัวอย่างประกอบหลายแง่มุม ในช่วงแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ผมแสดงความเห็นต่างว่า “เผด็จการโดยธรรมราชาเป็นไปไม่ได้ในทางทฤษฎี” โดยอธิบายและยกตัวอย่างไปสั้นๆ
แต่ผมคิดว่ามีประเด็นที่น่าจะนำมาอธิยายต่อ ไม่ใช่เพื่อโต้แย้งอาจารย์สุลักษณ์ (เดี๋ยวตกนรก ฮา) แต่ต้องการโต้แย้งทฤษฎีเผด็จการโดยธรรมราชาว่า เป็นทฤษฎีมีปัญหา “ความขัดแย้งภายในตัวเอง” (Self-contradiction) ที่แก้ไม่ตก ผมขอเสนอข้อโต้แย้งหลักๆ สองข้อคือ ข้อโต้แย้งเรื่องปัญหาทางญาณวิทยาภายในตัวทฤษฎี และข้อโต้แย้งเรื่องพุทธะไม่ได้เสนอทฤษฎีเผด็จการโดยธรรมราชา
1. ข้อโต้แย้งเรื่องปัญหาทางญาณวิทยา (epistemology) คือ ปัญหาว่าเรารู้ความจริงได้อย่างไร หมายความว่า ถ้าเรายืนยันสิ่งใดสิ่งหนึ่งว่ามันจริง เรามีข้อพิสูจน์ หรือมีเหตุผลสนับสนุน (justification) อย่างไรว่ามันจริง ปัญหาทางญาณวิทยาของทฤษฎีเผด็จการโดยธรรมราชา คือ 1) ไม่สามารถมีข้อพิสูจน์หรือเหตุผลสนับสนุนเพียงพอว่าประโยชน์สุขของประชาชนที่ตัดสินหรือกำหนดขึ้นมาด้วยปัญญาของธรรมราชาผู้เผด็จการนั้น จะตรงกับประโยชน์สุขที่ประชาชนต้องการจริงๆ 2) ไม่สามารถมีข้อพิสูจน์หรือเหตุผลสนับสนุนว่า ประชาชนจะรู้ได้อย่างไรว่าธรรมราชาผู้เผด็จการมีคุณธรรม เช่น ทศพิธราชธรรม หรือจักรวรรดิวัตรตามที่โปรโมทจริง ดังจะอภิปรายต่อไปนี้
ทฤษฎีเผด็จการโดยธรรมราชามีสมมติฐานว่า ราชาผู้เผด็จการโดยธรรมมีคุณธรรมที่สำคัญ คือทศพิธราชธรรมและจักรวรรดิวัตร[i] สาระสำคัญของคุณธรรมที่ว่านี้คือการกำหนดคุณสมบัติของผู้ปกครองที่ดี อาจแยกได้สองด้านหลักๆ คือผู้ปกครองที่ดีต้อง 1) มีปัญญารู้ว่าอะไรคือประโยชน์สุขของราษฎร์ และ 2) มีความสามารถทางการปกครองเพื่อให้ราษฎรได้รับประโยชน์สุขนั้นอย่างทั่วถึง เป็นธรรม ด้วยความเสียสละไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว เป็นต้น
ปัญหาทางญาณวิทยาในข้อ 1) คือ การไม่สามารถจะมีข้อพิสูจน์ หรือเหตุผลสนับสนุนได้ว่าประโยชน์สุขของราษฎรที่ได้มาจากปัญญาของราชาผู้เผด็จการโดยธรรมนั้น ตรงกับประโยชน์สุขที่ราษฎรต้องการจริงๆ อย่างไร หมายความว่า ต่อให้ราชาผู้เผด็จการโดยธรรมสามารถฝึกตนอย่างดีเยี่ยมตามหลักที่ว่า “เมื่อจิตสงบแล้วจะเกิดปัญญา ไม่ยึดติดลาภยศแล้วจะมองเห็นการณ์ไกล” หรือมีการศึกษาดี มีอัจฉริยภาพทุกด้าน แต่ภายใต้โครงสร้างการปกครองที่เป็นเผด็จการ อำนาจการนิยามประโยชน์สุขของราษฎรเป็นอำนาจของราชาเพียงผู้เดียวเท่านั้น ราษฎรไม่มีเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับนิยามประโยชน์สุขที่ถูกกำหนดให้มาโดยราชาผู้เผด็จการ ไม่มีอำนาจเสนอความต้องการ ต่อรองผลประโยชน์ว่ากลุ่มไหนต้องการอะไร แค่ไหน อย่างไร ภายใต้กติกาอะไร เป็นต้น
ฉะนั้น ถึงแม้ราชาผู้เผด็จการโดยธรรมจะมีปัญญาสูงส่งเพียงใด แต่เขาจะรู้ได้อย่างไรว่าประโยชน์สุขของราษฎรที่นิยาม หรือกำหนดขึ้นมาด้วยปัญญาอันสูงส่งของเขานั้นจะตรงกับประโยชน์สุขที่ราษฎรต้องการจริงๆ ในเมื่อสิงที่เรียกว่าประโยชน์สุขของราษฎรที่ราชาผู้เผด็จการโดยธรรมหยิบยื่นให้แก่ราษฎรนั้นสะท้อนออกมาจากความเข้าใจของตนเองฝ่ายเดียว ไม่ได้สะท้อนออกมาจากความต้องการของราษฎรเอง
ปัญหาทางญาณวิทยาในข้อ 2) คือ การไม่สามารถมีข้อพิสูจน์หรือเหตุผลสนับสนุนได้ว่า ภายใต้โครงสร้างการปกครองแบบเผด็จการ ราษฎรจะรู้ได้อย่างไรว่า ธรรมราชาผู้เผด็จการปฏิบัติตามหลักธรรมจรรยาของราชาผู้เผด็จการโดยธรรมจริง เพราะราษฎรไม่มีเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ
อันที่จริงแล้ว ไม่ต้องพูดถึง “ระบอบเผด็จการโดยธรรมราชา” อย่างที่อ้างถึงในทางทฤษฎีเลย แม้แต่ภายใต้ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแบบไทย” ก็มีปัญหาแบบเดียวกันนี้
ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือนิยายเรื่อง “ข้างหลังภาพ” ที่แชร์กันมากในเฟซบุ๊กต่อไปนี้
ที่มาของภาพนี้น่าจะมาจากที่อาจารย์
ภาพกิจกรรม “1 ภาพ 1 พระราชกรณียกิจ ย้ำเตือนธรรมศาสตร์”
จาก เพจในเฟซบุ๊คของ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีดี
แต่ผมคิดว่าอาจารย์สมศักดิ์เห็นแล้วคงส่ายหน้า (หรือนั่งหัวเราะหึหึอยู่กับสุนัขแก่อัลไซเมอร์คู่ทุกข์คู่ยาก) เพราะสิ่งที่อีกฝ่ายนำมาแสดงเป็นเพียงข้อมูลจากการประชาสัมพันธ์ด้านเดียว ในทางญาณวิทยาจึงไม่ใช่สิ่งที่สามารถถือเป็นข้อพิสูจน์หรือเหตุผลสนับสนุนว่าคุณ “รู้” จริงๆ ว่า “สมมติฐานที่คุณยืนยันนั้นจริง”
เราจะเข้าใจ “เสียงหัวเราะ” ของอาจารย์สมศักดิ์และมีอารมณ์ขันตาม ถ้าเราเคยอ่าน On Liberty ของมิลล์ (John Stuart Mill) สรุปสาระสั้นๆ คือ “เสรีภาพคือเงื่อนไขจำเป็นของการรู้ความจริง” หมายความว่า เราต้องมีเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ หรือเสนอข้อมูล ข้อเท็จจริง เหตุผลที่ตรงข้ามกันได้จึงจะสามารถเปรียบเทียบ และประเมินตัดสินได้ถูกต้องเที่ยงตรงว่า ข้อสมมติฐานหรือข้อยืนยันเรื่องใดเรื่องหนึ่งจริงหรือเท็จ แต่ข้อมูลเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจหรือโครงการต่างๆ ตามป้ายที่นำมาโชว์นั้นเป็นการประชาสัมพันธ์ด้านเดียวที่เราไม่มีเสรีภาพที่จะวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ หรือแสดงข้อมูลตรงกันข้ามเพื่อเปรียบเทียบหักล้างได้เลย ฉะนั้น หากซื่อสัตย์ต่อตัวเองเราก็ต้องบอกว่าเราไม่ “รู้” ว่าเป็นประโยชน์ต่อประชาชน (มีประสิทธิภาพ คุ้มกับงบประมาณที่มาจากภาษีประชาชน งบประมาณไม่รั่วไหลฯลฯ) จริงหรือไม่ เพราะเราเองก็ไม่เคยตรวจสอบเลย เราได้แต่ “เชื่อ” ตามข้อมูลด้านเดียวเท่านั้นเอง
ฉะนั้น ข้อสงสัยของอาจารย์สมศักดิ์ จึงเป็นข้อสงสัยที่มีหลักวิชาการรองรับคือหลักญาณวิทยาดังกล่าวแล้ว และจากข้อสงสัยนี้อาจารย์สมศักดิ์ก็เรียกร้อง “เสรีภาพ” ในการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบแก่ประชาชนทุกคน ซึ่งเป็นการเรียกร้องบนพื้นฐานของ “หลักการประชาธิปไตย” ในสังคมที่เราบอกตนเองว่า “ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย”
หากชนชั้นกลางที่มีการศึกษาดีเหล่านั้นจะตอบให้อาจารย์สมศักดิ์หายขำ ก็ต้องตอบให้ “ตรงประเด็น” คือ ต้องไปโต้แย้งว่าหลักญาณวิทยาที่อาจารย์สมศักดิ์ใช้ถามผิดอย่างไร และข้อเรียกร้องเสรีภาพในการวิจารณ์ตรวจสอบบนหลักการสากลของสังคมประชาธิปไตยผิดอย่างไร
แต่น่าเสียดายครับที่ความไม่เข้าใจ “ความหมาย” ที่แท้จริงของคำถาม และไม่เข้าใจ “จุดยืนบนหลักการประชาธิปไตย” ในการตั้งคำถามซึ่งที่จริงแล้วพลเมืองที่เคารพ “ความเป็นคน” ที่มีเหตุผลและเสรีภาพของตนเองควรตั้งคำถามอย่างยิ่ง จึงทำให้เกิดปฏิกิริยาระอุด้วยอารมณ์ ดังภาพข้างล่าง
เฮ้อ! เห็นแบบนี้แล้วก็อยากจะถามบรรดาผู้เชิดชู “ความสูงส่ง” ว่า สังคมอารยะย่อมเป็นสังคมที่ใส่ใจต่อคำถามที่ท้ายทายเหตุผล และมีขันติธรรมในการโต้แย้งกันด้วยเหตุผลมิใช่หรือครับ?[iv]
ขอแทรกตรงนี้ด้วยความเคารพว่า ถ้าใครสอบผ่าน “วิชาตรรกวิทยาเบื้องต้น” จะเข้าใจชัดแจ้งว่า ข้อเสนอของ อาจารย์สมศักดิ์นี่แหละ “กลางสุดๆ” เลย (ฮ่า ฮ่า) เพราะเขาเสนอให้ใช้ “หลักการสากล” คือหลักเสรีภาพ ความเสมอภาคกับ “ทุกคน” อย่างเท่าเทียม (ไอ้ที่พยายามแสดงตนว่าเป็นกลางน่ะ ส่วนมาก “กลางดัดจริต” ครับ ประทานโทษด้วยความเคารพอีกครั้ง!) ก่อนจะไปถึงประเด็นอื่นขอฝาก “ความปรารถนาดี” จากอาจารย์สมศักดิ์ (ที่แชร์กันในเฟซบุ๊ก) ถึงบรรดาคนรักเจ้า ดังนี้
สรุปเบื้องต้นว่า เนื้อหา (nature) ของ “เผด็จการโดยธรรมราชา” คือ “ความเป็นเผด็จการ” ที่ราษฎรไม่มีเสรีภาพในการแสดงออก เพราะราษฎร “ไม่มีเสรีภาพ” จึงก่อปัญหาทางญาณวิทยาตามมาสองด้านหลักๆ คือ ด้านความน่าเชื่อถือในปัญญาของผู้ปกครอง เพราะไม่มีข้อพิสูจน์ได้ว่า ประโยชน์สุขของราษฎรที่กำหนดให้มาโดยปัญญาของผู้ปกครองนั้น ตรงกับประโยชน์สุขที่ราษฎรต้องการจริงหรือไม่ และด้านความน่าเชื่อถือในคุณธรรมของผู้ปกครอง เพราะไม่มีข้อพิสูจน์ได้ว่าคุณธรรมตามที่โปรโมทเป็นจริงหรือไม่
ปัญหาญาณวิทยาทั้งสองข้อนี้แก้ได้ด้วยการให้ราษฎรมีเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับนิยามประโยชน์สุขที่ถูกกำหนดให้มาโดยธรรมราชา มีอำนาจเสนอความต้องการ ต่อรองผลประโยชน์ว่ากลุ่มไหนต้องการอะไร แค่ไหน อย่างไร บนกติกาอะไร และมีเสรีภาพในการตรวจสอบจริยธรรมของธรรมราชา แต่การให้อำนาจต่อรองและเสรีภาพดังกล่าวแก่ราษฎร ย่อมกระทบโดยตรงต่อสถานะ “ผู้เผด็จการ” (dictator) ของธรรมราชา คือธรรมราชาจะไม่มีสถานะเป็นผู้เผด็จการอีกต่อไป
2. ข้อโต้แย้งเรื่องพุทธะไม่ได้เสนอทฤษฎีเผด็จการโดยธรรมราชา และในทางทฤษฎีแล้ว “ธรรมราชา” (เฉยๆ ไม่เป็นเผด็จการ) เป็นไปได้ในสังคมประชาธิปไตยมากกว่า ในความเข้าใจของผม (อาจผิดได้) ทฤษฎีเผด็จการโดยธรรมราชา น่าจะเกิดจากการนิยามความหมายของคำว่า “เผด็จการ” ไม่ชัดเจน เช่นที่ท่านพุทธทาสนิยามว่า “เผด็จการโดยธรรมคือการตัดสินใจทำอะไรอย่างเฉียบขาด รวดเร็วทันการณ์ แต่เฉียบขาดโดยธรรมหรือความถูกต้อง” ซึ่งโดยธรรมที่ท่านอ้างถึงก็คือทศพิธราชธรรม จักรวรรดิวัตร (เป็นต้น)[v] เช่นเดียวกับอาจารย์สุลักษณ์อ้างนั่นเอง
นอกจากนี้ อาจารย์สุลักษณ์ยังกล่าวว่า “ท่านอาจารย์พุทธทาสนี่ก็เป็นตัวอย่างของเผด็จการโดยธรรมเหมือนกันนะ เพราะในแง่หนึ่งท่านก็มีอัตตามีความเด็ดขาดของตัวเองมาก แต่ก็เด็ดขาดโดยธรรม” แต่ในอีกด้านหนึ่งเราก็อาจมองได้ว่าพุทธทาสเป็นนักประชาธิปไตย เพราะเป็นที่รู้กันว่าท่านเป็นพระนักวิพากษ์วิจารณ์รูปหนึ่งที่มีใจกว้าง หรือมีขันติธรรมต่อคำด่า คำวิพากษ์วิจารณ์ รับฟังความเห็นของคนอื่น (คือถึงท่านจะถูกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ถูกด่าว่าเป็นเดียรถีย์ก็ไม่เคยฟ้องหมิ่นประมาทใครเหมือน “พระบางรูป” ในปัจจุบัน)
ประเด็นคือ ถ้าเรานิยามว่า ความเด็ดขาด ความเฉียบขาด หรือการใช้อำนาจอย่างเด็ดขาด รวดเร็วทันการณ์ เป็นคุณสมบัติเฉพาะของ “ผู้เผด็จการ” หรือ “รัฐเผด็จการ” เท่านั้น อย่างที่อาจารย์
ฉะนั้น เพื่อแก้ปัญหาความคลุมเครือดังกล่าว เราควรนิยามให้ชัดลงไปว่า “เผด็จการ” หมายถึง “การใช้อำนาจเด็ดขาดโดยบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่รวบอำนาจการตัดสินใจไว้ที่ตัวเองเพียงผู้เดียว หรือที่กลุ่มของตนเองเท่านั้น โดยไม่เปิดโอกาสให้คนอื่นๆ หรือราษฎรมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และวิจารณ์ตรวจสอบ” [vi]แต่การใช้อำนาจตัดสินใจอย่างเด็ดขาดตามหลักนิติรัฐในระบอบประชาธิปไตยไม่ถือว่าเป็นเผด็จการ เพราะอำนาจตัดสินใจนั้นยึดโยงอยู่กับเจตจำนงทั่วไปของประชาชน และเปิดโอกาสให้ประชาชนมีเสรีภาพวิจารณ์ตรวจสอบการใช้อำนาจนั้นได้
ทีนี้ประเด็นที่ต้องพิจารณาให้ชัดอีกก็คือ คุณธรรมของผู้ปกครอง เช่น ทศพิธราชธรรมหรือจักรวรรดิวัตรไม่ได้มีเนื้อหาในเชิง “เรียกร้อง” (requirement) ให้ผู้ปกครอง หรือรัฐต้องใช้อำนาจเด็ดขาดแบบ “ผู้เผด็จการ” หรือต้องเป็น “รัฐเผด็จการ” เท่านั้น จึงจะสามารถทำให้ทศพิธราชธรรมหรือจักรวรรดิวัตรส่งผลให้เกิดประโยชน์สุขแก่ราษฎรอย่างแท้จริง การกระทำเช่นนั้นรังแต่จะก่อปัญหาแก่การใช้ทศพิศราชธรรมหรือจักรวรรดิวัตรมากกว่า เพราะจะทำให้ไม่สามารถมีข้อพิสูจน์หรือเหตุผลสนับสนุนได้ว่า ธรรมราชาผู้เผด็จการรู้ประโยชน์สุขของราษฎรได้อย่างไร และราษฎรรู้คุณธรรมของธรรมราชาผู้เผด็จการได้อย่างไร ดังกล่าวมาแล้ว
หลักการของทศพิธราชธรรมหรือจักรวรรดิวัตร มีความหมายตรงไปตรงมาว่า การเป็นผู้ปกครองที่ดีต้องมีปัญญารู้ประโยชน์สุขของราษฎร มีศีลธรรม มีความอดทน มีความเสียสละ มีความถ่อมตน มีความยุติธรรม เป็นต้น
และเมื่อพิจารณาหลักการดังกล่าวโยงไปหา “บุคลิกภาพของพุทธะ” จะเห็นว่า ไม่มีคุณลักษณะของผู้เผด็จการเลย เพราะพุทธะไม่ได้รวบอำนาจการตัดสินใจไว้ที่ตัวเองเพียงผู้เดียว แต่มอบอำนาจการตัดสินใจให้สังฆะ โดยมีเสรีภาพวิจารณ์ตรวจสอบกันและกันอย่างเสมอภาค ผู้ด้อยอาวุโสกว่าก็วิจารณ์ตรวจสอบผู้อาวุโสสูงกว่าได้ สังฆะและชาวพุทธทั้งหมดก็วิจารณ์ตรวจสอบพุทธะได้
ยิ่งลงลึกในรายละเอียด ยิ่งประจักษ์ชัดว่าพุทธะไม่นิยมการใช้อำนาจเลย เห็นได้จากไม่ได้ใช้อำนาจของตนเพียงผู้เดียวบัญญัติวินัยสงฆ์ไว้ล่วงหน้า วินัยสงฆ์ 227 ข้อนั้น บัญญัติขึ้นจากการฟังเสียงของชาวบ้านและคณะสงฆ์ ยิ่งกว่านั้น เมื่อมีผู้มาขอให้ใช้อำนาจบังคับให้พระภิกษุทำสิ่งที่เขาเชื่อว่าเป็นความดี พุทธะก็ไม่ได้ใช้อำนาจบังคับเลย เช่น กรณีที่พระเทวทัตมาขอให้พุทธะออกกฎห้ามพระฉันเนื้อสัตว์เป็นต้น ท่านก็ไม่ออกกฎบังคับแต่อย่างใด[vii] อีกกรณีหนึ่งคือภิกษุชาวเมืองโกสัมพีทะเลาะกัน พุทธะตักเตือนแนะนำถึงสามครั้ง ปรากฏว่าภิกษุเหล่านั้นไม่ยอมทำตาม แทนที่พุทธะจะใช้อำนาจบังคับ (หรือว่าอำนาจบังคับใครในสถานะศาสดาของท่านไม่มีเลย มีแต่อำนาจบารมีที่สาวกให้ความเคารพ กรณีที่เขาไม่เคารพก็ทำอะไรไม่ได้ถ้าสังฆะหรือชุมชนชาวพุทธไม่เข้ามาจัดการ) ท่านกลับหนีไปอยู่ป่าเพียงลำพังเพื่อให้ภิกษุเหล่านั้นสำนึกผิด และปล่อยให้เป็นหน้าที่ของชุมชนชาวพุทธในเมืองโกสัมพีเข้ามาจัดการแก้ปัญหาความขัดแย้งนั้น[viii] (จริงๆ แล้ว ผมชอบเรื่องนี้มาก เพราะทำให้เรามองเห็นภาพ “ความเป็นมนุษย์” ของพุทธะที่บางครั้งก็ทำอะไรไม่สำเร็จ ลูกศิษย์ตัวเองแท้ๆ ก็ยังไม่เชื่อฟัง)
ยังมีตัวอย่าง เรื่องเล็กมากๆ ที่น่าจะใช้อำนาจได้เลย แต่พุทธะกลับไม่ใช้ เช่น กรณีพระฉันนะประพฤติตัวก้าวร้าวกับภิกษุผู้อาวุโสอื่นๆ เพราะถือตนว่า “เป็นเด็กเส้น” เนื่องจากเป็นอดีตอำมาตย์คนสนิทของพุทธะ เมื่อมีผู้มาฟ้อง พุทธะเรียกมาเตือนหลายครั้ง แต่พระฉันนะก็ไม่ยอมเปลี่ยนนิสัย แล้วท่านก็ทำได้แค่แนะนำตักเตือนเท่านั้นเอง จนกระทั่งเมื่อจะปรินิพพานท่านจึงสั่งเสียไว้กับพระอานนท์ว่า “ให้สงฆ์ลงพรหมทัณฑ์แก่ฉันนะ” หมายถึงให้สงฆ์บอยคอตไม่คบค้าสมาคมด้วยจนกว่าพระฉันนะจะเปลี่ยนพฤติกรรม อีกทั้งก่อนปรินิพพานพุทธะก็ไม่ตั้งบุคคลใดบุคคลหนึ่งให้มีอำนาจปกครองสงฆ์แบบผู้เผด็จการ แต่ให้สงฆ์ปกครองตนเองเหมือนสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ โดยให้ยึด “ระบบ” หรือธรรมวินัยเป็นหลักในการอยู่ร่วมกันของสังคมสงฆ์ เสมือนว่าธรรมวินัยนั้นเป็นศาสดาแทนท่าน
แถมอีกตัวอย่างหนึ่งคือ พระรูปหนึ่ง“ปึกมาก” (แปลว่าสมองทึบ สอนไม่จำ) พระอรหันต์ผู้เป็นพี่ชายให้ท่องข้อธรรมไม่กี่ประโยคสามเดือนก็จำไม่ได้ ก็เลยไล่พระน้องชายให้สึกไปซะ (พระอรหันต์พี่ชายใช้อำนาจ) พระปึกรูปนั้นไม่อยากสึกแอบมาหลบร้องไห้อยู่ลำพัง (พระก็มีหัวใจนะโยม) พุทธะเดินมาเจอเข้าทราบเรื่องราวแล้วปลอบใจ ให้กำลังใจพระรูปนั้น เสร็จแล้วก็ออกแบบ “นวัตกรรมการสอน” ใหม่ที่ถูกจริตพระรูปนั้น ปรากฏว่าพระปึกใช้นวัตกรรมใหม่นั้นเรียนด้วยตนเองทั้งคืน พอรุ่งเช้า ดวงตะวันโผล่พ้นขอบฟ้า อากาศสดชื่นแจ่มใส พระปึกรูปนั้นก็บรรลุเป็นพระอรหันต์อย่างฉับพลัน (ปึกก็เป็นอรหันต์ได้นะโยม)
จะเห็นได้ว่า บุคลิกภาพของพุทธะไม่ชอบใช้อำนาจ สังฆะของท่านอยู่ร่วมกันด้วยจิตสำนึกยึดถือในหลักธรรมวินัย โดยจิตสำนึกนี้พัฒนาขึ้นภายในวัฒนธรรมการศึกษาเรียนรู้ การฝึกฝนตนเองภายใต้ความสัมพันธ์แบบครูกับศิษย์ เพื่อนกับเพื่อน หรืออยู่ร่วมกันฉันพี่น้องที่เชื่อมร้อยด้วย “ปัญญาและเมตตา” มากกว่าด้วย “อำนาจและเงินตรา” แบบคณะสงฆ์ปัจจุบัน
ด้วยเหตุผลที่ว่ามา ผมคิดว่าการที่พุทธะสอนทศพิธราชธรรม จักรวรรดิวัตรที่ไม่ได้มีเนื้อหาเชิงเรียกร้องให้ผู้ปกครองใช้คุณธรรมดังกล่าวอย่างผู้เผด็จการ หรือให้ใช้อำนาจเผด็จการเพื่อให้คุณธรรมดังกล่าวส่งผลดีแก่ราษฎร ประกอบกับโดย “บุคลิกภาพของพุทธะ” เองที่ไม่นิยมการรวบอำนาจไว้ที่ตนเอง และใช้อำนาจอย่างเผด็จการโดยอยู่เหนือการตรวจสอบ อีกทั้งยังมอบอำนาจให้สงฆ์ปกครองกันเองอย่างมีเสรีภาพทางความคิดเห็น และความเสมอภาค จึงสรุปไม่ได้อย่างสมเหตุสมผลว่า การที่พุทธะสอนทศพิธราชธรรม จักรวรรดิวัตรในบริบทสังคมการเมืองยุคราชาธิปไตยแบบโบราณเป็นการเสนอหรือสนับสนุน “ทฤษฎีเผด็จการโดยธรรมราชา”
ยิ่งเมื่อพิจารณาความหมายของ “ธรรมราชา” ซึ่งเป็นคำฉายานามของพุทธะ หรือเป็นคำที่ถอดความหมายออกมาจาก “บุคลิกภาพของพุทธะ” ด้วยแล้ว เป็นไปไม่ได้เลยที่ธรรมราชาอย่างพุทธะจะเป็นผู้เผด็จการที่ไม่รับฟังผู้อื่น หรือไร้ความอดทนต่อการวิจารณ์ตรวจสอบ กษัตริย์ในระบบราชาธิปไตยยุคหลังๆ ต่างหากที่ฉวยโอกาสสวมชื่อ “ธรรมราชา” ของพุทธะเพื่อโปรโมทความน่าเชื่อถือให้กับสถานะของตนเอง โดยขาดหิริโอตตัปปะที่จะตระหนักในความจริงว่า ตนหาได้มีธรรมจรรยาเทียบเสมอพุทธะแม้เศษเสี้ยว “ฝุ่นของฝุ่น” แต่อย่างใดไม่[ix]
ฉะนั้น เผด็จการโดยธรรมราชาจึงเป็นไปไม่ได้ในทางทฤษฎี และไม่ใช่สิ่งที่พุทธะเสนอ!
พูดถึง “บุคลิกภาพของพุทธะ” อย่างที่ว่าแล้ว ขอแถมอีกนิดหนึ่งคือไม่ใช่บุคลิกภาพตอนเป็นพุทธะเท่านั้นที่ดูไปกันได้ดีกับสังคมประชาธิปไตยมากว่า บุคลิกภาพก่อนเป็นพุทธะยิ่งเป็นเสรีนิยมสุดๆ ทั้งนอกคอกและสุดโต่งชนิดที่คนธรรมดาไม่กล้าทำกัน เช่น สุดโต่งแบบเตมีย์ใบ้ (แกล้งเป็นใบ้ตั้งแต่จำความได้ยันเป็นหนุ่ม) สุดโต่งแบบขันติวาทีดาบส (ปล่อยให้เขาตัดอวัยวะทีละชิ้นๆ เพื่อยืนยัน “ขันติธรรม”) สุดโต่งแบบพระเวสสันดร (บริจาคลูกเมียไปเป็นทาส) สุดโต่งแบบสิทธัตถะมีสนมตั้ง 500 คน ใช้ชีวิตในปราสาทสามหลัง ลูกเกิดวันเดียวออกบวช ปฏิเสธที่จะเดินตามครู ตามศาสนาจารีตทั้งหมด ไปทรมานร่างกายปางตาย เป็นต้น ฉะนั้น การค้นพบทางสายกลางในคืนวันเพ็ญเดือนหกไม่ใช่อยู่ๆ ก็นึกขึ้นได้ แต่เป็นผลของการ “กล้าใช้ชีวิตลองผิดลองถูก” มาแล้วอย่างเป็นตัวของตัวเองสุดๆ
บางที เวลาผมเห็นพระเทศนาเรื่องทางสายกลางๆ เห็นชาวพุทธผู้เคร่งครัดชอบอ้างทางสายกลางๆ ผมอดสงสัยไม่ได้ว่าคุณจะพบทางสายกลางด้วยตนเองได้อย่างไร หากไม่กล้าใช้ชีวิตอย่างเป็นตัวของตัวเอง หรือใช้ชีวิตเพื่อการเรียนรู้ตามวิถีที่ตนเลือกอย่างถึงที่สุดแบบที่สิทธัตถะทำ การตัดตอนจะเริ่มชีวิตความเป็นพุทธของตนเองจากตอนที่พุทธะค้นพบทางสายกลางเป็นต้นไปอาจทำให้พลาดบางอย่างไปหรือไม่ เพราะดูราวกับว่าชีวิตทางศาสนาเป็นเหมือนการวิ่งผลัด เลยจะรับไม้ผลัด “ทางสายกลาง” จากพุทธะแล้ววิ่งต่อไปเลย สบายดี ไม่ต้องย้อนไปลองผิดลองถูกแบบสิทธัตถะอีก แต่บางทีไม้ผลัดทางสายกลางที่รับมากลับกลายเป็น “คุก” ขังตัวเอง จะทำโน่น นั่น นี่ ก็กลัวๆ กล้าๆ เดี๋ยวเขาว่าไม่เป็นกลาง เอ๊ยไม่เดินในทางสายกลาง กลายเป็นคนไม่กล้าใช้ชีวิตตามศักยภาพที่ควรจะเป็นจนถึงเน่าเข้าโลงตามประเพณี เฮอร์มาน เฮสเส คงมองเห็นอะไรต่างออกไป เขาจึงกระซิบให้ “สิทธารถะ” ปฏิเสธที่จะรับไม้ผลัดจากพุทธะแล้วกลับไปใช้ชีวิตอย่างเป็นตัวของตัวเองจริงๆ ก่อน จึงค้นพบทางสายกลางด้วยตนเอง[x] (จบที่แถม)
สรุปว่า บุคลิกภาพของพุทธะและก่อนเป็นพุทธะดูจะไปกันได้กับสังคมเสรีมากกว่าเผด็จการ และที่จริงแล้วทฤษฎี “ธรรมราชา” มีโอกาสเป็นไปได้ในสังคมประชาธิปไตยมากกว่า เพราะธรรมราชาตามบุคลิกภาพแห่งพุทธะไม่ใช่ผู้เผด็จการ แต่มีขันติธรรมรับฟังเสียงวิจารณ์ตรวจสอบของราษฎร และแก้ไขตาม (ดังราชวงศ์อังกฤษกระทำ) โดยผู้ซึ่งเป็นธรรมราชานั้นย่อมยึดธรรม หรือ “หลักการอันถูกต้อง” คือหลักเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพเป็นใหญ่ ดังพุทธะเคารพธรรม ยึด “ระบบธรรมวินัย” เป็นใหญ่นั่นแล
เชิงอรรถ
[i] ดูทศพิธราชธรรมและจักรวรรดิวัตรในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม http://84000.org/tipitaka/dic/d_item.php?i=326 และ http://84000.org/tipitaka/dic/d_item.php?i=339
[iii] ดู John L. Pollock. What Is an Epistemological Problem? in American Philosophical Quarterly
Vol. 5, No. 3 (Jul., 1968), pp. 183-190: หรือ http://www.jstor.org/stable/20009271
[iv] ดูข้อโต้แย้งอย่างสังคมอารยะใน จดหมายถึง นิติพงษ์ ห่อนาค เรื่อง เงินเดือนอาจารย์มหาวิทยาลัยและงบประมาณสำหรับสถาบันกษัตริย์ by Pruay Salty Head ระบุว่า รวมจำนวนเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 สำหรับรักษาพระเกียรติของสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งสิ้น 11,208,800,975 บาท (อ่านว่า หนึ่งหมื่นหนึ่งพันสองร้อยแปดล้านแปดแสนเก้าร้อยเจ็ดสิบห้าบาท) เปรียบเทียบกับเงินเดือนของอาจารย์มหาวิทยาลัยของรัฐทุกแห่งรวมกัน
[v] ความคิดเรื่อง “เผด็จการโดยธรรม” ของพุทธทาสมีความซับซ้อนในตัวเองมากอยู่ เฉพาะ “ในเชิงทฤษฎี” ดูเหมือนท่านจะอ้างอิงลักษณะเผด็จการโดยธรรมจากนิยามของ “ธรรม” ว่าคือ “หน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามกฎธรรมชาติ” ท่านมองว่ากฎธรรมชาติมีลักษณะเผด็จการ คือมีความเฉียบขาดในตัวมันเอง การปฏิบัติธรรมคือการปฏิบัติตามกฎธรรมชาติเพื่อละกิเลสและเพื่อสร้างประโยชน์สุขที่ถูกต้องจึงต้องมีลักษณะเผด็จการ คือต้องดำเนินการอย่างเฉียบขาดให้สอดคล้องตามกฎธรรมชาตินั้นด้วย โดยนัยนี้ ทศพิธราชธรรมและจักรวรรดิวัตรจึงเป็นหน้าที่ที่ผู้ปกครองต้องปฏิบัติอย่างเฉียบขาดเพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวม นิยาม “การปฏิบัติธรรมคือการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎธรรมชาติ” นี้ ท่านพุทธทาสเปรียบเทียบกับความหมายของการทำหน้าที่ตามวรรณะ 4 ที่กำหนดไว้โดยพระพรหมตามหลักศาสนาพราหมณ์ คือในแง่การจำแนกความแตกต่างของคนตามหน้าที่ที่คนแต่ละชนชั้นรับผิดชอบดูเหมือนท่านพุทธทาสจะยอมรับ แต่ท่านปฏิเสธ “การอ้างความแตกต่างทางชนชั้นมาตัดสินคุณค่าทางศีลธรรม” ส่วนเรื่องที่เผด็จการต้องเฉียบขาดจนจำเป็นต้องใช้ความรุนแรงในบางกรณีนั้น ดูเหมือนท่านจะอ้างอิงปรัชญาภควัตคีตาดังที่ อ.สุลักษณ์อ้าง แต่ อ.สุลักษณ์ก็ชี้ว่าคานธีนำมาตีความใหม่ว่า “สาระของปรัชญาภควัตคีตาคือความเฉียบขาดในการประหารกิเลส และต้องเฉียบขาดโดยสัจจะและอหิงสาอันเป็นหัวใจสำคัญของสันติวิธี” ในทำนองเดียวกันเมื่อท่านพุทธทาสอ้างความเฉียบขาดโดยหลักการของทศพิธราชธรรมและจักรวรรดิวัตร เราก็สามารถเข้าใจได้ว่า เป็นความเฉียบหายโดยยึด “อวิหิงสา” หรือสันติวิธีเป็นวิถีสู่ประโยชน์สุขของส่วนรวมมากกว่าที่จะสนับสนุนความรุนแรง โปรดดู “ธรรมะกับการเมือง” ชุดธรรมโฆษณ์พุทธทาส และถ้าจะให้เห็นมุมมองตรงข้ามที่วิเคราะห์ความคิดของท่านพุทธทาสอย่างสัมพันธ์กับบริบททางประวัติศาสตร์สังคมการเมืองไทย ขอแนะนำให้อ่าน ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ “ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ! วิพากษ์พุทธทาสในวันล้ออายุปีที่
[vi] วิกิพีเดียอธิบายว่า คำว่า เผด็จการ อาจมีได้หลายความหมายเช่น (1) ผู้เผด็จการของสาธารณรัฐโรมันซึ่งมีอำนาจปกครองเบ็ดเสร็จในยามฉุกเฉินของบ้านเมือง ซึ่งอำนาจจากการใช้ตำแหน่งดังกล่าวไม่ต้องมีเหตุผลหรือไม่ต้องรับผิดชอบแต่อย่างใด มีอำนาจอยู่เหนือกฎหมายและถือว่าการกระทำทั้งหมดนั้นไม่ผิดกฎหมายย้อนหลัง (2) รัฐบาลซึ่งปกครองโดยบุคคลเพียงคนเดียว หรือคณะบุคคลเพียงส่วนน้อย (3) หรืออาจหมายถึง การปกครองซึ่งรัฐบาลมีอำนาจเด็ดขาด ไม่ถูกจำกัดโดยกฎหมายรัฐธรรมนูญ หรือปัจจัยทางสังคมหรือการเมืองอื่นภายในรัฐนั้น
[vii] ดู พระไตรปิฎก เล่มที่ 7 พระวินัยปิฎก เล่มที่ 7 จุลวรรค ภาค 2 เรื่องวัตถุ 5 ประการ พระเทวทัตทูลขอวัตถุ 5 ประการ พระเทวทัตโฆษณาวัตถุ 5 ประการ http://84000.org/tipitaka/book/v.php?B=7&A=3770&Z=3863
[viii] ดูอรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ยมกวรรคที่ 1 เรื่องภิกษุชาวเมืองโกสัมพี (5) http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=11&p=5
[ix] เรื่องกษัตริย์นิยมสวมสถานะ “ธรรมราชา” ของพุทธะ ดูเหมือนจะเริ่มตั้งแต่ยุคพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นต้นมา จากนั้นกษัตริย์ที่นับถือพุทธศาสนาในอุษาคเนย์ก็เลียนแบบสวมสถานะธรรมราชาตามๆ กัน รวมทั้งกษัตริย์ไทยด้วย ดู ส.ศิวรักษ์ ความเข้าใจเรื่องพระเจ้าอโศกและอโศกาวทาร. กรุงเทพฯ; เคล็ดไทย, 2552