Skip to main content

ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร


ในฐานะที่ผมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล ได้รับอนุญาตให้พูดจาไม่จริงได้ในบางเรื่องในทางสากลก็รู้ว่าลักษณะแบบนี้เรียกว่า white lies  ที่จริงแล้วการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกส่งสัญญาณให้เห็นมาตั้งแต่ต้นปี แต่สถานการณ์ในช่วงนั้นไม่เหมาะสมที่จะตั้งเป้าหมายไปในทางที่ไม่ดี ผมจึงตั้งเป้าในการทำงานไว้ให้สูงเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในทางเศรษฐกิจ 

กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง [1]
23 สิงหาคม 2555


ตนรู้สึกตกใจมากว่า  คนเป็นรมว.คลัง ได้รับการอนุญาตให้โกหกได้ เพราะเป็นเรื่องอันตราย หากข้อมูลที่แถลงนั้นไม่เป็นความจริงตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้ ก็เท่ากับเป็นการลดความน่าเชื่อถือ ซึ่งไม่ใช่ลดความน่าเชื่อถือเฉพาะตัวนายกิตติรัตน์ แต่เป็นการลดความน่าเชื่อถือของผู้ที่ดำรงตำแหน่งรมว.คลังของรัฐบาลไทย และรัฐบาลไทยไปในตัว เพราะว่าหลังจากนี้ไปทุกครั้งที่รมว.คลัง หรือทีมเศรษฐกิจ หรือรัฐบาลใช้ตัวเลขอะไร คนก็มีสิทธิ์ที่จะตั้งคำถามได้อีกว่าตกลงเป็นการโกหกสีขาวอีกหรือไม่  

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ [2]
24 สิงหาคม 2555


ครั้งที่แล้วผู้เขียนได้แสดงให้เห็นการนิยามและบทบาทของการอธิบายโกหกเชื่อมโยงกับนักบวชพุทธศาสนาในสังคมไทย ดังที่กล่าวมาแล้วคืออย่างน้อยมี 2 แนวทางนั่นคือ ไม่ยอมประนีประนอมกับผลกรรมจากการโกหก และอีกแนวทางหนึ่งคือ ตระหนักถึงความจำเป็นของการมีอยู่ของการโกหกในโลกปัจจุบัน ในครั้งนี้เราจะมองการโกหกในบริบทโลกย์ๆบ้างว่า การโกหกนั้นอยู่ในสถานภาพใด

การจั่วหัวข้างต้นด้วยคำสารภาพของกิตติรัตน์ ณ ระนอง ที่ยอมรับว่า “พูดจาไม่จริง” หรือ โกหกบางเรื่อง ทำให้ถูกโจมตีอย่างหนักจากฝ่ายต้านรัฐบาลอีกครั้ง ที่น่าสนใจก็คือ การอ้างอิง “ทางสากล” ว่าการโกหกแบบนี้เป็น white lies (โกหกด้วยเจตนาดี) แน่นอนว่าคำแก้ตัวนี้อาจฟังไม่ขึ้น แต่สิ่งที่ซ่อนอยู่หลังการปะทะกันของความคิดเหล่านี้ ก็ชวนให้เราไปดูว่าการใช้การโกหกถูกใช้เป็นเครื่องมือในโลกอย่างไรบ้าง ในที่นี้จะพูดถึงด้านการเมือง เศรษฐกิจ และความรักในสังคมไทยและแถมท้ายด้วยกรณีวัดพระธรรมกายกับ
สตีฟ จ๊อบส์ สั้นๆ

การโกหกอันโสมม เป็นสมบัติของนักการเมืองปัจจุบันเท่านั้นหรือ?

เคสคลาสสิคอย่างยิ่งก็คือ การ “เสียสัตย์เพื่อชาติ” ของ สุจินดา คราประยูร ที่แสดงท่าทีอิดออดรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แทน ณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม เนื่องจากขณะนั้นณรงค์ ติดแบล็คลิสต์จากสหรัฐอเมริกาว่าเป็นบุคคลต้องห้ามเข้าประเทศ เดือนเมษายน 2535 "การโกหก" นี้เพิ่มเชื้อไฟจนนำไปสู่การชุมนุมใหญ่ต่อต้านรัฐบาลเผด็จการอย่างมีพลังของหมู่ชนชั้นกลางที่เรียกกันอย่างลำลองว่า “ม็อบมือถือ"

หากย้อนไปแล้วพบว่า การโกหกนั้นใช้กันมาทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะในนามของกลุ่มการเมือง ในสมัยก่อนทีอำนาจอธิปไตยจะอยู่ในมือของประชาชนโดยทฤษฎี ผู้ที่มีบทบาทในการกำหนดเนื้อหาประวัติศาสตร์และพระราชพงศาวดาร ก็ล้วนเป็นชนชั้นนำทั้งสิ้น ในงานวิชาการที่ชื่อ ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ ในพระราชพงศาวดารอยุธยา โดยนิธิ เอียวศรีวงศ์ ทำให้เห็นเลยว่า ในการเขียนประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยานั้น ชนชั้นนำได้ “ชำระ” โดยการตัดข้อความเก่าอะไรออกบ้าง เสริมข้อความใหม่อะไรออกไปบ้าง ที่จะสร้างความชอบธรรมทางการเมืองให้กับตนเอง จะเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า "การโกหก" ได้หรือไม่

ในสนามรบทางการเมืองทั้งใช้การทูตและการสงคราม พบว่าการเจรจา ต่อรองทางการเมืองนั้น เป็นเรื่องปกติที่จะใช้ความจริง ความลวงต่อสู้กัน นักการเมืองในอดีตก่อนปฏิวัติสยาม 2475 จึงตกอยู่ในเงื่อนไขนี้ไม่ผิดกัน อย่างไรก็ตามอาจกล่าวได้ว่า สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นกับโลกทัศน์สมัยใหม่จากตะวันตกนั่นคือ ค่านิยมของการวิพากษ์และตรวจสอบ การเข้ามาของหนังสือพิมพ์ที่มีชาวตะวันตกเป็นเจ้าของจึงสร้างคำถามแก่ชนชั้นนำสยามแบบที่ชนชั้นถูกปกครองสยามที่ผ่านมาไม่เคยทำได้มาก่อน ซึ่งการตรวจสอบเช่นนั้น จึงเป็นรูปธรรมอย่างยิ่งของการนำไปสู่ การพิสูจน์ข้อเท็จจริง และการโกหกที่เกิดขึ้นในนามการเมือง 

ดังที่กล่าวมา สื่อมวลชนจึงมีบทบาทเป็นทั้งพื้นที่กลาง เป็นผู้ตั้งคำถามต่อการโกหก และในบางคราการเล่าข่าวก็อาจกลายเป็นผู้โกหกเสียเอง ทั้งที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ สมรภูมิข่าวในชีวิตประจำวันจึงไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นพื้นที่ขาวสะอาดทางศีลธรรม และไม่จำเป็นต้องประกาศตัวเป็นอย่างนั้นด้วย

การโกหก กับ การดำเนินธุรกิจสมัยใหม่


เชื่อมโยงกับบทความที่แล้ว และจากประสบการณ์ตรงของผู้เขียน จะเห็นได้ว่า ผู้ปฏิบัติธรรมที่ต้องการจะฟอกตัวเองให้เป็น “คนดี” นั้น หวาดเกรงต่อการละเมิด “ศีล” อย่างมาก ในศีล 5 ศีล 8 นั้นศีลข้อที่สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดที่สุดในชีวิตประจำวันก็คือ การโกหกนั่นเอง โดยเฉพาะเมื่อพวกเขา พวกเธออยู่ในสถานะพ่อค้า แม่ค้า นักธุรกิจที่มีอันต้องปิดบังข้อมูลการค้า ราคาต้นทุน กำไร ขาดทุน รวมไปถึงสิ่งที่ซับซ้อนกว่านั่นก็คือ การหลีกเลี่ยงภาษี 

เรายังพบว่า ลักษณะของธุรกิจบางแห่งนั้นต้องแข่งขันกันอย่างหนัก ไม่ว่าจะเรื่องของข้อมูล ข่าวสารและราคาที่ไม่อาจเปิดเผย หรือเปิดเผยข้อมูลได้น้อยที่สุด การพูดหรือให้ข้อมูลแบบตรงไปตรงมา จึงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยในชีวิตธุรกิจที่ขับเคี่ยวอย่างเข้มข้นเช่นนั้น และนี่คือทุกข์ของชนชั้นกลางจำนวนมาก ที่ใจหนึ่งก็อยากจะเป็น “คนดี” แต่ในชีวิตประจำวันของพวกเขานั้นปฏิเสธวิถีชีวิตทางโลกย์ไม่ได้  จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่พวกเขาจะนิยมเดินทางเข้ามาสู่โลกแห่งการปฏิบัติธรรมเช่นเดียวกับการเดินทางไปพักผ่อนท่องเที่ยว หรือพยายามปลีกตัวออกจากทางโลกย์ให้นานที่สุด เพื่อการออกมาแสวงหาชีวิตของผู้ปฏิบัติธรรมอันบริสุทธิ์และทรงศีล เพื่อเป็น "คนดี" อันเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่ "การบรรลุหลักธรรมสูงสุด" ซึ่งแน่นอนคนที่จะอยู่ในฐานะและตำแหน่งนั้นได้อย่างยาวนานและถาวรกว่า ก็คือ คนที่มีอันจะกินจนไม่ต้องทำมาหากินอะไรที่เสี่ยงกับการผิดศีล “ด้วยตนเอง” แล้ว

สำหรับผู้ที่อยู่ในวงการตลาดหุ้นแล้วจะรู้ว่า ยักษ์มารที่พวกคลั่งศีลธรรมกลัวกันอย่างมาก ต่างก็ไปสุมหัวและรวมกันอยู่ที่ตลาดหุ้นนี้แหละ เพราะในตลาดการเงินอันมโหฬารนี้ มันเต็มไปด้วยการปล่อยข่าวลวง การหลอกให้ซื้อ หลอกให้ขาย ปั่นหุ้น อย่างไรก็ตามผู้เขียนเห็นว่า ชนชั้นกลางไทยไม่ได้ขาดทัศนวิจารณ์เกี่ยวกับตลาดหุ้นเท่าใดนัก เพราะพวกตระหนักดีถึงภัยของตลาดหุ้นและความไร้ศีลธรรมของนักลงทุน

ทักษิณ ชินวัตรถูกโจมตีอย่างหนักจากข้อหา “ซุกหุ้น” เพื่อหลีกเลี่ยงภาษี หรือกระทั่งการ “ขายหุ้น” ให้กับบริษัทต่างชาติ สองกระทงหนักๆ ด้วยข้อหาที่ละเมิดศีลธรรมการเมือง และเป็นผู้ขายชาติตามกรอบคิดแบบชาตินิยมไปพร้อมๆกัน จึงยิ่งตอกย้ำความเลวร้ายของทุนนิยมและนักการเมืองผู้น่ารังเกียจ ที่น่าสนใจก็คือ พวกเขาจะรู้ไหมว่า คนที่พวกเขาเคารพส่วนหนึ่งมีส่วนได้-ส่วนเสียอยู่ในตลาดหุ้นอันมีมูลค่าเป็นจำนวนไม่น้อยเลย

การโกหก กับ สัมพันธภาพในความรักสมัยใหม่


ในเวลาอันจำกัด ความรักในที่นี้จะขอหมายความถึง ความรักเชิงชู้สาวในสมัยใหม่เท่านั้น เราจะพบว่า ความเปราะบางและอ่อนไหวในสัมพันธภาพที่เรียกว่า "รัก" นี้ ล้วนมีความคาดหวังและความเป็นจริงที่แตกต่างกันระหว่างคนสองคน ความรู้สึกเรื่องรัก ถูกทำให้กลายเป็นปัจเจก ระหว่างสิ่งมีชีวิตทั้งสองโดยสมบูรณ์ ไม่เพียงเท่านั้น ด้วยมาตรฐานทางศีลธรรมสมัยใหม่พร้อมทั้งระบบเศรษฐกิจได้สอดคล้องกับความสัมพันธ์ระบบผัวเดียวเมียเดียว และนั่นทำให้ความคาดหวังสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในความรักของทั้งสองก็คือ ความจงรักภักดีต่อกัน ความรักอันหวานซึ้งดูดดื่มเป็นนิรันดร์และไม่แปรผัน สูงส่งและศักดิ์สิทธิ์

ดังนั้นการคบหากันทั้งแบบปั๊บปี้เลิฟ, การดูใจกันก่อนแต่งงานตามขนบของชนชั้นกลางจารีตนิยม จึงถูกแอกของความยิ่งใหญ่ของความรักทับถมอยู่ สิ่งที่ถูกให้คุณค่าอย่างสูงนอกจากการรักษาพรหมจรรย์ (ที่เริ่มสำคัญน้อยลงทุกที) ก็คือ “ความจริงใจ” ต่อกัน ดังนั้นความคาดหวังสูงส่งเพื่อที่จะซื่อสัตย์ต่อกันเช่นนี้ จึงเป็นความสัมพันธ์ที่เปราะบางอย่างยิ่ง การพูดไม่จริง การโกหก การหลอกลวง จึงเป็นการ “ทำลาย” “ทำร้าย” ความสัมพันธ์แบบนี้ ผลกระทบของมันสร้างความขัดแย้งตั้งแต่ระดับชวนหงุดหงิด รำคาญ ไปจนถึงการทำลายล้างสิ่งดีๆที่เรียกว่า "รัก"

อุตสาหกรรมโกหกเพื่อการบันเทิง

ในวัฒนธรรมสมัยนิยม (pop culture) การโกหกยังปรากฏออกมาในสื่อรูปแบบต่างๆ เช่น ละครโทรทัศน์ พล็อตละครที่แสดงความสัมพันธ์ในนามความรักหลังข่าวจำนวนมาก ทำให้เราเห็นถึงผลกระทบของการโกหกที่กลายเป็นจุดสำคัญของโครงเรื่องเช่นกัน หากไม่นับการโกหกของตัวร้าย การเริ่มต้นของความขัดแย้งด้านหนึ่ง มาจากการโกหกด้วยความหวังดีของพระเอกหรือนางเอก บางครั้งนำไปสู่โศกนาฏกรรม บางครั้งเป็นความเข้าใจผิดที่ทำให้เกิดเรื่องทั้งหมดในละคร  การโกหกต่อคู่รักของตนที่ไม่เข้าใจบริบทและสถานการณ์จึงเป็นเชื้อฟืนอย่างดีของความเข้าใจผิด พ่อแง่แม่งอน การทะเลาะทุ่มเถียง แต่ในที่สุดก็อาจจะจบลงอย่างแฮปปี้เอนดิ้ง ถ้าสามารถหาเหตุผลให้กับการโกหกนั้นๆ 

ขณะที่อุตสาหกรรมเพลง ก็เช่นกัน บทเพลงจำนวนไม่น้อยที่กล่าวถึงการโกหก และความหลอกลวงในนามของความรัก เพื่อตอบโต้และสะท้อนความรู้สึกของ "ผู้ถูกกระทำ" จากความรักที่หลอกลวง ไม่ซื่อสัตย์ เพลงแบบนี้ปรากฏกับทุกแนว ตั้งแต่ป๊อบ ร็อค ลูกทุ่ง เช่น โกหกหน้าตาย (เท่ห์ อุเทน พรหมินทร์), ไหนว่าจะไม่หลอกกัน (ซิลลี่ฟูลส์), โกหก (Tattoo Colour), โกหกไม่ลง พูดตรงๆไม่ได้ (ปนัดดา เรืองวุฒิ) , จะโกหกกันไปถึงไหน (D2B), โกหก (โจอี้บอย), จิรักหรือจิหลอก (ตั๊กแตน ชลดา), ถึงหลอกก็รัก (หนู มิเตอร์), ตั้งใจมาหลอก (เดวิด อินธี), หลงกลเธอแล้ว (หินเหล็กไฟ) ฯลฯ

ที่น่าสนใจก็คือ การขยายตัวของพื้นที่ข่าวบันเทิงทั้งทางหน้าจอ และหนังสือพิมพ์ การตั้งโพเดียมแบ็คดร็อปแถลงข่าวปรากฏกันอย่างเป็นเรื่องปกติ  แทบทุกวันจะมีข่าวความสัมพันธ์รักๆ เลิกๆ ของดาราหน้าใหม่และหน้าเก่า โดยเฉพาะดาราหน้าใหม่บางส่วนก็อาศัย "ข่าว" เหล่านี้ในการดันตัวเองขึ้นมาอยู่บนมอนิเตอร์ของพวกโต๊ะข่าวบันเทิง ข่าวบันเทิงที่อาศัยวิธีหากินจากการฉวยความดังจากดาราใหม่ พร้อมไปกับการเต้าข่าว สร้างเรื่อง ผูกเรื่อง จับแพะชนแกะ ทำข่าวแบบตีปิงปอง ที่อาศัยเศษของความจริงไปปั้นแต่ง เพื่อสร้างมูลค่าให้กับดาราและข่าวของตน อุตสาหกรรมโกหก จึงเปรอะอยู่ในหน้ากระดาษให้เห็นเคียงคู่กับนม ตูดและสามเหลี่ยมอันอวบอูมอยู่สม่ำเสมอ


ส่งท้าย : การอวดอุตริมนุสสธรรม กับ คำถามต่อกรณีสตีฟ จ๊อบส์

ฝันในฝัน
หลับตาฝันเป็นตุเป็นตะ ตื่นขึ้นมาหาว 1 ที
แล้วนำมาเล่าให้ฟังเป็นนิยายปรัมปรา
 [3]


ด้วยเทคนิคการเล่าเบื้องต้นของรายการ โรงเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยา ของวัดพระธรรมกาย ทำให้เห็นการหลีกเลี่ยงทางกฎหมายและยังถ่างพื้นที่การตีความให้กว้างจนสุดจักรวาลของตัวเองได้อย่างไม่น่าเชื่อ  เพราะในเมื่อกำหนดนิยามแล้วว่า เป็น “นิยายปรัมปรา” ทุกอย่างก็เป็นไปได้แทบทั้งสิ้น สิ่งที่น่าเหลือเชื่อก็คือ การเล่าเรื่องถึงชีวิตหลังความตายของสตีฟ จ๊อบส์ที่สำหรับบางคนแล้วถือว่าเป็นศาสดา ผู้นำทางจิตวิญญาณในโลกแห่งเทคโนโลยี เช่นกัน หากมีการสอบสวนในเชิงกฎหมายและหลักการ ตรงนี้คือ ช่องโหว่สำคัญที่เปิดทางให้การสู้คดีลื่นไหลได้มาก

การเล่าเรื่องวิธีการดังกล่าวอย่างน้อยมี 2 มิติ นั่นคือ อิทธิพลจากการเล่าเรื่อง กฎแห่งกรรมแบบ ท.เลียงพิบูลย์ และมิติทางธรรมะบันเทิงที่นำเรื่องดังกล่าวมาเล่าเสมือนกับนิทาน ไม่เคร่งครัดนักเหมือนกับตอนปฏิบัติแบบเป็นทางการ และยังสร้างความสนิทสนมคุ้นเคยในหมู่สาวกต่อเจ้าอาวาส เสมือนครูใหญ่โรงเรียนอนุบาลมาเล่านิทานให้ฟังด้วยตัวเอง อย่างไรก็ตามมีมิติที่แอบซ่อนอยู่ด้วยนั่นคือ การสร้างเสริมความจริงและความเชื่อบางประการเกี่ยวกับกฎแห่งกรรมและอำนาจของผู้เล่าโดยที่ผู้ฟังอาจไม่ตระหนักว่านั่นเป็นเพียง "เรื่องเล่า" แต่อย่างไรก็ตาม การวิพากษ์เช่นนี้ก็สามารถใช้กรอบนี้วิพากษ์กับนักเล่าเรื่องได้ทุกแห่งเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นนักบวชอื่นๆ สื่อมวลชน

ข้อถกเถียงต่อกรณีดังกล่าวมีดังนี้ พระไพศาล วิสาโล พระนักคิดสมัยใหม่อันเป็นที่พึ่งของชนชั้นกลาง ได้ให้ความเห็นว่า การที่เล่าถึงสตีฟ จ๊อบส์โดยมีลักษณะที่ชวนให้เข้าใจว่า เป็นการอวดอุตริมนุสธรรม ที่หมายถึงการอวดในสิ่งที่ตนไม่มีในที่นี้น่าจะหมายถึง การสำเร็จมรรคผลที่มีอิทธิฤทธิ์จนย้อนรำลึกอดีตชาติของคนอื่นๆได้ และเห็นว่า การทำเช่นนี้เป็นเรื่องที่ผิด เข้าข่ายอาบัติปาราชิก ที่ทำให้ขาดจากความเป็นพระ ซึ่งนั่นคือ ฐานความเข้าใจเรื่องของการโกหก และหลอกลวง ขณะที่พระพยอม กัลยาโณก็เห็นเช่นกันว่าเป็นการอวดอ้างตน หมิ่นเหม่จะผิดพระธรรมวินัย [4]

ในรายการโทรทัศน์ คม ชัด ลึก ออกอากาศเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2555 [5] อดีตลูกวัดพระธรรมกาย มโน เลาหวณิช มองว่า ถือเป็นพูดอวดอุตริมนุสธรรม ซึ่งการกล่าวอ้างมีญาณที่จะสามารถเห็นว่าผู้ใดเสียชีวิตไปแล้วไม่มีใครสามารถจะล่วงรู้ได้ คนที่จะล่วงรู้ได้จะต้องมีการสะสมญาณและบารมีจำนวนมาก ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับศาสนาจะต้องเข้าตรวจสอบหรือดูแล และเห็นว่าครั้งนี้วัดพระธรรมกายได้รับผลดีจากการเป็นข่าวไปทั่วโลก ในทางตรงกันข้าม เก่งกิจ กิติเรียงลาภ นักวิชาการอิสระเห็นตรงกันข้ามกับการเข้าไปควบคุมของรัฐ แต่เห็นว่า ควรจะเห็นว่านี่คือ เสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดเห็น ขณะที่สุรพศ ทวีศักดิ์ ให้ข้อสังเกตว่า การวิเคราะห์วัดพระธรรมกายนั้น ไม่สามารถแยกออกจากบริบททางการเมืองได้ เนื่องจากวัดนี้มีบทบาทอย่างสูงในพรรคการเมืองรัฐบาลและกลุ่มคณะสงฆ์ที่มีอำนาจทางการเมืองอย่างมหาเถรสมาคม

อย่างไรก็ตามสุรพศยังเห็นเพิ่มเติมอีกว่า ควรมองการบิดเบือนของวัดพระธรรมกายในกรอบของเถรวาท นอกเสียจากว่าวัดพระธรรมกายจะประกาศตนว่า ไม่ได้อยู่ในเถรวาทแล้ว [6]  ซึ่งนั่นหมายถึงว่า จะต้องฉีกตัวเองออกจากนิกายหลักที่มีฐานคนนับถือมหาศาลอยู่ด้วย แต่การถกเถียงนี้ก็ยังไม่ได้พุ่งเป้าไปที่ความโกหกมากไปกว่า การพิจารณาเรื่องอำนาจรัฐกับการควบคุมวัดพระธรรมกายที่อาจมีผลต่อการบิดเบือนพระธรรมวินัย

ไม่มีใครพูดถึงความเป็นเรื่องเล่า และช่องโหว่ของความเป็น "นิยายปรัมปรา"  

ประเด็นของนี้จึงมีมิติที่ชัดเจน และแฝงเร้น นั่นคือ ก่อนจะเล่าเรื่อง ก็มีการป่าวประกาศอย่างชัดเจนต่อสาธารณะแล้วว่าเป็นเพียงนิยายปรัมปรา แต่อีกมิติที่แฝงเร้นอยู่ก็คือ เนื้อหาในนิยายปรัมปรานั้น มันทำให้คนเคลิบเคลิ้มเชื่อตามได้อย่างจริงจัง ยังไม่นับว่านิยายนี้บางเรื่อง สอดคล้องกับข้อเท็จจริง และคำสอนหลายประการของวัดพระธรรมกายอย่างเป็นปี่เป็นขลุ่ย

April’s fool day : วันเมษาหน้าโง่

ทุกวันที่ 1 เมษายน ในโลกตะวันตก การโกหกได้รับการยอมรับอย่างเป็นเรื่องเป็นราว และมีที่ทางของมันอยู่ โดยที่อาจมีข้อยกเว้นทางศีลธรรมและกฎหมาย วันนั้นต่างคนก็พยายามนำประเด็นตั้งแต่เรื่องส่วนตัว ยังเรื่องสาธารณะทางสังคมการเมืองมาล้อเลียนออกสื่อแบบสุดลิ่มทิ่มประตู วินาศสันตะโร เรายังไม่พบการอธิบายเรื่องเทศกาลและวัฒนธรรมการโกหกนี้จากฝั่งนักคิดและผู้สอนศีลธรรมจากฝั่งไทยว่า มีท่าทีเป็นอย่างไร แต่การอธิบายคงเป็นเรื่องที่น่ากระอักกระอ่วนพอสมควร เนื่องจากว่า การตีตราทางศีลธรรมผ่านกิจกรรมทางโลกย์ยังไงๆแล้วในมุมมองของสังคมไทยแบบจารีตประเพณี ล้วนเป็นเรื่องที่ผิด แต่การอธิบายอย่างนั้นต่อสังคมโลกด้วยชุดความคิดอันล้าหลังของตนเองนั้น ก็คงจะเป็นเรื่องที่ไม่เข้าทีนัก 

อภิสิทธิ์ของคนโกหก

การอ้างและการโจมตีเรื่อง โกหกสีขาว (White Lies) ทั้งจากฝั่งรัฐบาลและฝ่ายค้านเอง ทำให้เราเห็นได้ชัดถึงท่าทีการจัดการกับความจริงและระบบทางศีลธรรม 2 ชุด แน่นอนว่า ภาพลักษณ์ของผู้ผดุงคุณธรรมนั้นมีภาษีที่ได้เปรียบกว่ารัฐนาวาที่มีเงาของคนไร้คุณธรรมอย่างทักษิณครอบงำอยู่แล้ว จึงไม่เป็นเรื่องยากนักที่จะกระแสสังคมของชนชั้นกลางที่กุมสื่อมวลชนอยู่จะสามารถผลักดันให้กลุ่มการเมืองที่ได้รับชัยชนะจากทั่วประเทศนี้ ประสบภาวะบกพร่องทางคุณธรรมอย่างรุนแรง ภาพที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องคือ ความเลวร้ายเช่นนี้รังแต่จะมีผลให้บ้านเมืองชิบหาย

ในยุคที่ข่าวสารและการสื่อสารขยายวงกว้าง การพูดผิด พูดถูกและการถูกจับผิด จับโกหกนั้นทำได้ง่ายนัก ซึ่งเหมาะกับการตรวจสอบนักการเมืองและบุคคลสาธารณะ ได้เป็นอย่างดี สื่อกระแสหลักสามารถทำงานขุดคุ้ย โจมตี เปิดโปงได้อย่างแข็งขัน แต่พวกเขากลับละเลย ไม่พูดคนจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถใช้มาตรฐานเดียวกันนี้ได้ นั่นคือ เหล่า “คนดี” “ผู้ทรงศีล” ที่เข้ามามีบทบาทล่วงล้ำในพื้นที่สาธารณะทางโลกย์มากขึ้นเรื่อย ๆ

อาจเป็นเพราะว่า พวกเขาเชื่อว่า “คนดี” “ผู้ทรงศีล” นั้นมีเจตนาดีอันบริสุทธิ์ยิ่ง ไม่ควรแก่การตั้งคำถาม หรืออีกด้านก็คือ ความหวาดกลัวต่อการละเมิดต่อ “ประติมากรรมความดี” เหล่านั้นเอง ไม่ว่าจะกลัวบาปกรรมที่ล่วงล้ำก้ำเกินคนดี หรือกลัวต่อบทลงทัณฑ์ทางโลก หรือแม้แต่การกลัวการขาดแคลนแหล่งทุนจากกองทุนคนดี

ดังนั้นคนดี ผู้ทรงศีลเหล่านี้ แม้จะพูดโกหก พูดไม่ตรงกับความจริงแล้ว กลับถือว่าเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย สามารถมีเหตุผลมาแก้ต่างได้เรื่อยๆ ไม่ว่าจากการเข้าใจผิด หรือเป็นอุบายในการสอนธรรมะ มีจุดมุ่งหมายและเจตนาที่ดี ทั้งที่เราไม่อาจตรวจสอบได้ด้วยซ้ำว่า “เจตนาดี” ที่ว่านั้นมีที่มาจากอะไร เชื่อได้แค่ไหน 

ปัญหาใหญ่ของสังคมไทยคือ การไม่รู้จักแยกแยะระหว่างอำนาจศีลธรรมศาสนาที่มีหัวใจอยู่ที่พุทธศาสนาแบบเถรวาท และการบริหารการปกครองบ้านเมืองแบบโลกย์ที่ไม่สังกัดศาสนาใดๆ โดยที่แบบแรกนั้นได้รับสิทธิที่จะไม่ถูกวิจารณ์จากสังคมกระแสหลัก ในขณะที่อำนาจด้านหลังที่เกิดขึ้นมาจากรากฐานเสียงของประชาชนนั้นที่อาจมีส่วนหนึ่งที่ไม่สังกัดศาสนาเดียวกับแบบแรก แต่กลับถูกดิสเครดิตด้วยอคติทางศาสนา

กรณีของวัดพระธรรมกายเองที่ตั้งใจเปลืองตัวไปอยู่ในวงอำนาจรัฐเองก็ถือว่าเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับวงการเถรวาทของไทยเอง ที่กำลังอยู่ในสับสนกับตัวเองจากการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลของสังคมไทย ไหนจะปัญหาเรื่องการแย่งชิงอำนาจกันระหว่างมหานิกายและธรรมยุต โดยเฉพาะปัญหาตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชองค์ต่อไป ยังไม่ต้องนับว่า คนรุ่นใหม่จำนวนมากเริ่มมั่นใจที่บอกสาธารณะว่าตนเองเป็นคนไม่มีศาสนาด้วยแล้ว

ในระยะยาวแล้วความขัดแย้งของสังคมไทยกับพุทธศาสนาจะขยายวงกว้างขึ้นแน่นอน หากยังปล่อยให้อำนาจทางศีลธรรมแบบนี้รุกคืบโดยไม่สนใจข้อจำกัดของศาสนากับการเมืองสมัยใหม่ 

เส้นทางการปฏิรูปศาสนาครั้งใหญ่ที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ยุโรปก็มีจุดเริ่มต้นคล้ายๆกันนี้.

การอ้างอิง
1. กรุงเทพธุรกิจออนไลน์. "รัฐบาลไฟเขียว'กิตติรัตน์'โกหกเพื่อชาติ". http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/finance/finance/20120824/467311/%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%90%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%99%E0%B9%8C%E0%B9%82%E0%B8%81%E0%B8%AB%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B4.html" (24 สิงหาคม 2555) 

2. เดลินิวส์. "“อภิสิทธิ์” ชี้ “กิตติรัตน์ โกหก” เป็นเรื่องอันตราย". http://www.dailynews.co.th/politics/151339 (24 สิงหาคม 2555)

3. DMC TV. "ปรโลกนิวส์ ตอน สตีฟ จ็อบส์ ตายแล้วไปไหน ตอนที่ 1". http://www.dmc.tv/pages/%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%B5%E0%B8%9F-%E0%B8%88%E0%B9%87%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B8%AA%E0%B9%8C-Steve-Jobs-%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B9%84%E0%B8%9B%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0%B8%99/20120816-%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B8%AA%E0%B9%8C-%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%99-%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%B5%E0%B8%9B-%E0%B8%88%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B8%AA%E0%B9%8C-%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B9%84%E0%B8%9B%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0%B8%99-%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88-1_LEFT.html(16 สิงหาคม 2555)

4. สปริงนิวส์. "อัดยับ!ธรรมกายแพร่ สตีฟ จ็อบส์ตายแล้วไปไหน เข้าข่ายอุตริถึงขั้นอาบัติฯ". http://www.springnewstv.tv/news/SocialNetwork/17966.html (26 สิงหาคม 2555)

5. "ศิษย์เก่ายัน'ธัมมชโย'อวดอุตตริฯ". http://www.komchadluek.net/detail/20120824/138476/%E0%B8%A8%E0%B8%B4%E0%B8%A9%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B8%B1%E0%B8%A1%E0%B8%A1%E0%B8%8A%E0%B9%82%E0%B8%A2%E0%B8%AD%E0%B8%A7%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B8%95%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%AF.html#.UDmPUcEgcrU (26 สิงหาคม 255)

6. มติชนออนไลน์. "สุรพศ ทวีศักดิ์ : ′สตีฟ จ็อบส์′ ฉบับธรรมกายกับปัญหาธรรมวินัยและการประยุกต์พุทธธรรม". http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1345937526&grpid=03&catid&subcatid&fb_action_ids=337702932989719&fb_action_types=og.recommends&fb_source=aggregation&fb_aggregation_id=288381481237582 (26 สิงหาคม 2555)

บล็อกของ กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร

กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภาพจาก http://www.tilopahouse.com/node/396 เรจินัลด์ เรย์ เขียน วิจักขณ์ พานิช แปล กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
หากเราจะมองอย่างกว้างๆ แล้ว ท้าวสักกะ พระอรหันต์ หรือ แม้แต่พระพุทธเจ้า ที่ต้องแสดงฤทธิ์บางอย่างเพื่อช่วยคน จะต่างอะไรกับซุปเปอร์ฮีโร่อย่าง ซูเปอร์แมน แบทแมน สไปเดอร์แมน ในหนังและการ์ตูนทั้งหลาย ที่จะเข้ามาช่วยคนด้วยพลังพิเศษ ทำให้กระบวนการของเหตุปัจจัยมีน้ำหนักน้อยลงไป 
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ พุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ผู้เขียนจะกล่าวถึง “มโนทัศน์เรื่องอำนาจในสังคมไทยที่มีรากฐานจากคัมภีร์พุทธศาสนา” ทั้งนี้เพื่อจะชี้ให้เห็นบทบาทด้านตรงกันข้ามกับบทบาทที่ได้กล่าวไปแล้วในบทความตอนที่ (1) ที่ว่า พุทธศาสนา (สถาบันสงฆ์) แม้จะให้ความสำคัญกับการสร้าง “คนดี” ตามอุดมคติของชาวพุทธ แต่บทบาทดังกล่าวก็ไม่ได้สอดรับกับการสร้างพลเมืองตามแนวคิดในสังคมประชาธิปไตย 
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์ กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ชาญณรงค์ บุญหนุน กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร บทความ “พุทธศาสนากับประชาธิปไตยในสังคมไทย” นี้จะนำเสนอเป็นสามตอนด้วยกัน ทั้งนี้ก็เพื่อจะชวนผู้อ่านไปร่วมพิจารณาว่า พุทธศาสนามีบทบาทในการสร้างสังคมประชาธิปไตยในสังคมไทยหรือไม่ อย่างไร และปัญหาอยู่ตรงไหน
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ พุทธศาสน์ของราษฎร  
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์ กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร    
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
 
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ชาญณรงค์ บุญหนุน  กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร