Skip to main content

 

สุรพศ ทวีศักดิ์
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
 
ปกติผมไม่ค่อยได้เข้าวัดทำบุญเท่าไร ถ้าไปวัดโดยมากจะไปคุยกับพระ ผมชอบคุยกับพระที่คุยกับเราแบบสบายๆ ไม่มีพิธีรีตอง คุยกันแบบแลกเปลี่ยน เห็นต่างได้ แย้งกันได้มากกว่าพระที่มากพิธีและเอาแต่สอนอยู่ฝ่ายเดียว หลวงพ่อดาวเรือง มหาปัญโญ แห่งสำนักสงฆ์เขาสันติ (ตั้งอยู่ฝั่งซ้ายมือของถนนช่วงเริ่มออกจากหัวหินไปปราณบุรี) คือพระที่ผมคุยกับท่านได้อย่างประเทืองปัญญาและมีความสุข ท่านเคยอยู่สวนโมกข์ 10 ปี ตั้งแต่ปี 2503-2512 จากนั้นท่านจึงมาอยู่สำนักสงฆ์แห่งนี้ ตั้งแต่ปี 2512 เป็นต้นมา ต่อไปนี้คือเรื่องที่เราคุยกันในบ่ายวันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา
 
ที่นี่เป็นสาขาของสวนโมกข์หรือเปล่าครับ หลวงพ่อนำรูปแบบอะไรจากสวนโมกข์มาใช้ที่นี่บ้าง
 
คณะธรรมทานสวนโมกข์ประกาศชัดเจนแล้วว่า สวนโมกข์จะไม่ขยายสาขา ใครศรัทธาในรูปแบบของสวนโมกข์จะนำไปใช้ก็ได้ ที่หลวงพ่อนำมาใช้ก็คือ ไม่รดน้ำมนต์ ปลุกเสก สะเดาะเคราะห์ ดูหมอ เพราะถือหลักว่า “ถ้าช่วยให้ชาวบ้านเขาฉลาดขึ้นไม่ได้ ก็อย่าไปทำให้เขาโง่ลง” ที่นี่จึงยึดการสอนธรรมะตามที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้จริงๆ ที่เป็นเรื่องของการเรียนรู้ความจริงของชีวิต อยู่กับความจริงของชีวิตให้ถูกต้องเป็นหลัก 
 
ปกติชาวบ้านมักเข้าใจว่าพระมีหน้าที่ประกอบพิธีกรรม
 
ใช่ เขาเชื่อกันอย่างนั้น แต่พระพุทธเจ้าท่านวางหลักไว้ดีแล้วว่า พระสงฆ์มีหน้าที่สอนธรรมะ หลวงพ่อเองก็ไม่คิดว่าชาวบ้านเขาโง่นะ บางครั้งพูดธรรมะที่เป็นเหตุเป็นผลให้เขาฟังสองสามนาทีเขาก็พอจะเข้าใจ ที่นี่เวลาคนมาถวายอาหารเช้า เพล ก่อนให้พรเป็นภาษาบาลี จะพูดธรรมะให้ฟังสักสามนาที ห้านาที บางครั้งก็มีคนมาปฏิบัติธรรม แต่ไม่ได้จัดเป็นคอร์สใหญ่ๆ มาสองคนสามคนหลวงพ่อก็ยินดีนำปฏิบัติ ถือว่าเป็นการทำหน้าที่ตอบแทนข้าวน้ำชาวบ้านที่เขาเลี้ยงเรา ตามเหตุปัจจัยที่พอจะทำได้
 
เห็นเขาว่าพระจากสวนโมกข์ไปอยู่ที่ไหน มักจะไปขัดแย้งกับพระในท้องถิ่น จริงหรือเปล่าครับ
 
มันก็ไม่เชิงนะ อย่างหลวงพ่อนี่ไม่เคยขัดแย้งกับใคร ถือว่าใครเขาจะเชื่ออย่างไรก็เป็นเรื่องส่วนตัวของเขา ส่วนที่เราเชื่อ เราก็ทำของเราไป ถ้าใครมาชวนให้เราไปทำพิธีกรรมอะไรที่เราไม่เห็นด้วย ก็ปฏิเสธเขาไปตรงๆ แต่จะไม่ไปตัดสินใครแบบฟันธง บางคนเข้ามาปฏิบัติธรรมที่นี่เป็นร่างทรงก็มี เราก็ไม่ไปก้าวก่ายอะไรกับความเชื่อส่วนตัวของเขา ก็พูดธรรมะตามแนวทางของเราไป ถ้าเขาเข้าใจ เห็นว่าแนวทางนี้ถูกต้อง เขาก็จะเปลี่ยนของเขาเอง คนเราไม่ว่าจะเป็นใคร จะเชื่ออะไรๆ ที่ใครๆ เขาว่างมงายอย่างไร เขาก็มีโอกาสจะเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงความเชื่อของตัวเองให้ถูกต้องได้เสมอนั่นแหละ หลวงพ่อไม่ปิดกั้นใคร คุยได้กับคนทุกประเภทที่เขามาหาเรา
 
คนไม่มีศาสนาเป็นคนดีได้ไหมครับ
 
เป็นได้สิ ประเทศสังคมนิยมที่เขาไม่มีศาสนา เขาก็ทำให้คนของเขาเป็นคนดี เสียสละ ทำประโยชน์เพื่อสังคมได้ ที่จริงมนุษย์เราแม้ไม่รู้จักศาสนาที่มีชื่อต่างๆ อย่างที่รู้กันอยู่นี้ เขาก็ทำความดีได้ เป็นคนดีได้ คนที่ไม่เคยรู้จักชื่อพุทธศาสนาเลยก็อาจรู้วิธีปฏิบัติให้ชีวิตไม่ทุกข์แบบที่พุทธศาสนาสอนก็ได้ พูดให้ถูกคือ หลักความดีที่เขาเชื่อและปฏิบัติตามนั่นแหละคือศาสนาของเขา
 
ถ้าอย่างนั้นศาสนาที่มีชื่อต่างๆ ก็ไม่จำเป็นเท่าไรสิ เพราะไม่มีศาสนาเหล่านี้คนก็ทำดีได้ เป็นคนดีได้ การมีศาสนาต่างๆ ออกจะเป็นปัญหาด้วยซ้ำ เช่นโลกเรามีความขัดแย้ง การเข่นฆ่า สงครามในนามของพระเจ้า ในนามของความดีงามต่างๆ ทางศาสนาหลายครั้ง ทุกวันนี้ก็ยังมีความขัดแย้ง และความรุนแรงทางศาสนาในหลายๆ ที่
 
นั่นมันเมาศาสนา ศาสดาของศาสนาต่างๆ สอนให้ไม่เบียดกัน ให้มีความรักความเมตตาต่อกัน หลวงพ่อพุทธทาสบอกว่าหากเราเอาข้อดีของศาสนาต่างๆ มารวมกันก็จะเกิดประโยชน์มาก พระเยซูก็สอนว่า “ถ้าเขาตบแก้มซ้ายก็หันแก้มขวาให้เขาตบด้วย” พระพุทธเจ้าก็สอนว่า “สมมติว่ามีคนกำลังใช้เลื่อยอันคมเลื่อยร่างกายของเราให้ขาดเป็นสองท่อน ถ้าเรายังจิตให้โกรธ ย่อมไม่ชื่อว่าปฏิบัติตามคำสอนของพระตถาคต” มันอาจจะเป็นเรื่องที่ทำได้ยากนะ แต่ความหมายก็คือ พระศาสดาท่านต้องการให้เราเห็นคุณค่าของความรักความเมตตา และการให้อภัย ถ้าไม่เมาศาสนา รู้จักนำข้อดีต่างๆ ของทุกศาสนามาใช้ในการดำเนินชีวิต ในการสร้างสันติภาพของโลกก็จะเกิดประโยชน์มาก
 
จากประสบการณ์ที่หลวงพ่อเคยเห็นมา พุทธศาสนาแนวสวนโมกข์เปลี่ยนแปลงชีวิตด้านในของคนคนได้จริงไหม
 
คิดว่าเปลี่ยนได้มากนะ เอาตัวอย่างหลวงพ่อเองก็ได้ แต่ก่อนก็เชื่อเรื่องราวปรัมปราตามที่พ่อแม่เราสอน เชื่อเกจิอาจารย์ที่สอนพุทธศาสนาตามประเพณีนิยม ชอบวัตถุมงคล ของขลังอะไรต่างๆ ตามเขาไป พอมาอยู่สวนโมกข์ก็เปลี่ยนความเชื่อนั้นไปเลย เข้าใจธรรมะในความหมายที่เป็นการเรียนรู้ความจริงของชีวิตมากขึ้น นำความหมายของธรรมะนั้นมาคิดพิจารณาความเป็นไปต่างๆ ในชีวิต ก็เห็นผลว่าทำให้ชีวิตเรามีทุกข์น้อยลงได้จริงๆ แล้วที่ถือว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องสอนธรรมะ ก็เพราะหลวงพ่อเห็นคุณค่าของธรรมะในความหมายนี้ มันจึงอยากจะให้คนอื่นๆ ได้เข้าใจด้วย
 
พุทธศาสนาช่วยให้เข้าใจความจริงของชีวิตอย่างไร
 
ก็ความจริงของชีวิตตามธรรมชาติของมันจริงๆ นั่นแหละ เช่น ชีวิตมันคือขันธ์ 5 ที่มีองค์ประกอบ 5 อย่าง ที่เป็นไปตามกฎธรรมชาติ คือเปลี่ยนแปลง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวกู ของกู หลวงพ่อพุทธทาสท่านพูดเรื่องนี้มาก แล้วมันก็เห็นได้ชัดว่าถ้าเรามีความรู้สึกยึดในตัวกู ของกูที่เราจินตนาการขึ้นมามันก็เกิดทุกข์ ถ้าไม่ยึดก็ไม่ทุกข์ 
 
มันไม่ง่ายนะหลวงพ่อ เพราะใครๆ ก็รู้สึกอย่างเป็นปกติว่าเราต่างมีตัวตน ศาสนาอื่นๆ และจริยศาสตร์ตะวันตกก็ยอมรับการมีอัตตาหรือตัวตน คือมันต้องเริ่มจากการยอมรับว่ามีตัวตนของเราและของคนอื่นก่อน ถึงจะพูดเรื่องสิทธิ เรื่องศีลธรรมอะไรต่างๆ ว่าทำไมตัวฉันจึงมีสิทธิ หรือทำไมตัวฉันจึงควรมีศีลธรรม แต่พุทธเริ่มจากการปฏิเสธตัวตน แล้วเราจะมีศีลธรรมไปเพื่ออะไร ศีลธรรมมันอยู่บนฐานของอะไร
 
ศีลธรรมของพุทธศาสนาก็อยู่บนฐานของปรมัตถธรรมไง คืออยู่บนฐานของความจริงตามกฎธรรมชาติ แล้วความจริงตามกฎธรรมชาติมันก็ไม่มีตัวตน มีแต่สภาพที่เป็นไปตามเหตุปัจจัยตามกฎอิทัปัจจยตา อย่างที่พระพุทธเจ้าอธิบายว่า “สาเหตุให้เกิดทุกข์มีอยู่ แต่ไม่มีผู้ทำเหตุให้เกิดทุกข์ ทุกข์มีอยู่ แต่ไม่มีผู้เสวยทุกข์ ความดับทุกข์มีอยู่ แต่ไม่มีผู้ดับทุกข์ ทางดับทุกข์มีอยู่ แต่ไม่มีผู้เดินทาง” หมายความว่า มันมีแต่กระบวนการที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย การมองเห็นตามเป็นจริงเช่นนี้มันเป็น “มัชฌิมา” หรือเป็นกลางไม่สุดโต่งไปทางใดทางหนึ่ง ศีลธรรมก็เป็นเรื่องของการกระทำตามเหตุปัจจัยในทางที่จะลดความทุกข์ และส่งผลให้เกิดประโยชน์สุขนั่นแหละ ส่วนเรื่องที่ว่ามันยากที่จะละความยึดมั่นในตัวกู ของกูนั้นมันยากแน่ เพราะมันเป็นความรู้สึกระดับสัญชาตญาณ แม้แต่สัตว์หรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ก็มีความรู้สึกว่ามีตัวกู ของกู แต่มันก็เป็นเรื่องที่เราเรียนรู้จากประสบการณ์ของตัวเองและเปลี่ยนแปลงมันได้ เช่น เราสังเกตจากประสบการณ์ของตัวเองได้ว่า เวลาทำอะไรด้วยความรู้สึกยึดตัวกูของกูนั้นมันเป็นทุกข์อย่างไร เวลาไม่ยึดมันไม่ทุกข์อย่างไร ประสบการณ์นี้มันก็จะสอนเราเองว่า ทำอย่างไรเราจึงจะทุกข์น้อยลง หรือไม่มีทุกข์ นี่แหละพุทธศาสนาก็คือการเรียนรู้ให้เข้าใจความจริงนี้ เพื่อที่จะอยู่กับความจริงนี้ให้ถูกต้อง
 
ศีลธรรมอยู่บนฐานของสัจธรรมหรือความจริง แล้วตัวศีลธรรมล่ะมันคือความจริงหรือสิ่งสมมติ
 
ศีลธรรมก็คือเรื่องของการอยู่กับความจริงให้ถูกต้อง ปฏิบัติต่อความจริงให้ถูกต้อง เช่นความจริงตามกฎธรรมชาติบอกเราว่า “เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี” ก็คือมันมีเหตุปัจจัยอย่างนี้ มันจึงส่งผลอย่างนั้น ศีลธรรมก็คือการทำเหตุที่ถูกต้องเพื่อให้เกิดผลที่ถูกต้องนั่นแหละ ตามกฎอิทัปปัจจยตาจริงๆ แล้วมันเป็นกลางๆ คือเป็นข้อเท็จจริงของมันอย่างนั้น มันไม่มีดี มีชั่วหรอก แต่คนไปสมมติขึ้นมาว่า เออเมื่อทำเหตุที่ให้เกิดผลที่ตัวเองพอใจก็บอกว่าเป็นความดี แล้วก็สมมติหรือบัญญัติเป็นหลักศีลธรรมขึ้นมา เมื่อเห็นว่าผลอันนั้นอันนี้ที่มันไม่น่าพอใจ ไม่ชอบใจ มันทำให้เดือดร้อนเป็นทุกข์ ก็ไปดูว่ามันมาจากการทำเหตุอะไร ก็บอกว่าการทำเหตุให้เกิดผลแบบนี้มันเป็นความชั่ว เพราะฉะนั้น ดี ชั่ว มันจึงเป็นเรื่องที่มนุษย์เราสมมติบัญญัติกันขึ้นมาเท่านั้นเอง
 
ศีลธรรมของพุทธศาสนา อย่างเช่นไตรสิกขา หรืออริยมรรค ก็เป็นสิ่งสมมติหรือครับ
 
อันนี้มันคือการปฏิบัติถูกตามความเป็นจริงเรื่องเหตุปัจจัยไง คือมันเป็นการสร้างเหตุปัจจัยให้พ้นทุกข์ เป็นการปฏิบัติเพื่อความสิ้นกรรม เป้าหมายของพุทธศาสนาคือการมีอิสภาพเหนือดี เหนือชั่ว ไม่ยึดติดในตัวตน แม้แต่เรื่องดี ชั่วก็ไม่ยึดติด ไตรสิกขาหรืออริยมรรคมันก็คือการทำเหตุปัจจัยให้ไม่ทุกข์ สิ้นกรรมคือเหนือดี เหนือชั่ว พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ท่านก็มีชีวิติอยู่ย่างไม่ยึดติดในดีชั่วที่โลกสมมติ แต่ว่าในไตรสิกขา หรืออริยมรรคมันก็มีความเป็นศีลธรรม คือมีความดีตามที่โลกสมมติอยู่ในตัวมันเองนั่นแหละ
 
ถ้าความดีความชั่วเป็นเรื่องสมมติ ไม่เป็นจริงในตัวมันเอง ทำชั่วก็ไม่น่าจะมีความหมายเป็นความชั่วจริงๆ แล้วทำไมพระอริยะที่มีมุมมองแบบนี้จึงไม่ทำชั่ว เพราะทำชั่วก็ไม่ชั่วจริงๆ ไม่เห็นเป็นไร
 
ก็ท่านไม่ได้มีกิเลสเป็นเหตุให้ทำชั่วแล้วไง การทำชั่วมันมีรสอร่อยของมันอยู่นะ อย่างเช่นการโกง หรือทำผิดศีลธรรมทางเพศ กิเลสมันก็ต้องการรสอร่อยจากการได้รับผลประโยชน์ รสอร่อยทางเพศ แม้จะรู้ว่าโกงผิด ละเมิดทางเพศผิดมันก็ผลักดันให้ทำ แต่พระอริยะท่านไม่มีกิเลสที่ติดในรสอร่อยต่างๆ เพราะท่านมีปัญญาเห็นตามเป็นจริงว่าการวิ่งตามความอยากต่างๆ นั้นมันเป็นทุกข์ ท่านก็ไม่มีกิเลสเป็นเหตุผลักดันให้ทำชั่ว หรือสร้างความทุกข์แก่ตัวเองและคนอื่น แต่ที่ว่าดีชั่วเป็นเรื่องสมมติไม่ใช่มันไม่มีความหมายอะไรเลยนะ มันก็มีความหมายเป็นจริงตามสมมติกัน ที่เรียกว่าสมมติสัจจะนั่นแหละ เช่น ศีลข้อกาเมที่ห้ามละเมิดสามี ภรรยาของคนอื่น ถ้าไปละเมิดเข้ามันก็เป็นความผิดจริงตามที่สมมติกันว่าเป็นความผิดนั่นแหละ แล้วมันก็ส่งผลให้เกิดทุกข์เกิดปัญหาครอบครัวแตกแยกอะไรต่างๆ ตามมาจริงๆ ฉะนั้น ศีลธรรมถึงจะเป็นสมมติบัญญัติ แต่ว่ามันก็มีความหมายเป็นจริงในแง่ว่าเป็นเครื่องมือป้องกันทุกข์ หรือสร้างประโยชน์สุขของสังคม มันจึงเป็นหน้าที่ที่เราต้องมีศีลธรรม แต่ไม่ใช่ไปยึดติดมัน บางคนยึดติดสมมติเรื่องถูก ผิด มากเกินไปจนไม่มีเหตุผล กลายเป็นคนเก็บกด เครียด จะทำโน่น ทำนี่ก็กังวลแต่เรื่องถูก ผิด เคยมีคนมาถือศีลปฏิบัติธรรมที่นี่จะกวาดลานวัดก็ไม่กล้า เพราะกลัวไม้กวาดไปโดนมดตาย กลัวบาป เลยไม่กล้าทำแม้แต่สิ่งที่ควรจะทำ นี่ก็คือการไปยึดติดสมมติมากเกินไป 
 
พุทธศาสนาสอนให้คนหมกมุ่นอยู่กับทุกข์ สุข ของตนเองมากไปหรือเปล่า เลยทำให้ชาวพุทธไม่ใส่ใจปัญหาสังคม เรื่องทำความดีของชาวพุทธก็หมายถึงไปทำบุญเพื่อบันดาลสุขส่วนตัว เข้าคอร์สปฏิบัติธรรมก็ต้องการความสุขทางใจซึ่งเป็นสุขส่วนตัวอีกเช่นกัน
 
ปัญหาแบบนั้นมันเกิดจากการไปสอน ปลูกฝังอบรมความเชื่อที่มันไม่ค่อยจะเกี่ยวข้องกับการทำความเข้าใจความจริงของชีวิตและเป้าหมายที่ถูกต้องของชีวิตมากจนเกินไป ตามคำสอนของพระพุทธเจ้าจริงๆ แล้วธรรมะเป็นเรื่องของการเรียนรู้ความจริงของชีวิต อยู่กับความจริงของชีวิตให้ถูกต้อง ก็คือทำหน้าที่ของตนเองให้ถูกต้องนั่นแหละ เพราะธรรมะคือหน้าที่ การปฏิบัติธรรมคือการปฏิบัติหน้าที่ เราอยู่ในสังคมมีหน้าที่อะไรก็ทำให้มันถูกต้อง ไม่ทำผิดหน้าที่ (เช่นไม่มีที่กำหนดไว้ใน รธน.ให้ใครทำรัฐประหารล้มรัฐบาลที่ประชาชนเลือก ก็อย่าทะลึ่งมาทำ – ผมนึกเสริมในใจ อิอิ) ในฐานะที่เป็นมนุษย์เราก็มีหน้าที่ปฏิบัติธรรม คือทำตามหลักเหตุปัจจัยที่จะทำให้ชีวิตมันทุกข์น้อยลงหรือไม่มีทุกข์เลย ถ้าทุกคนทำหน้าที่ทางสังคมของตนเองถูกต้อง ทำหน้าที่ความเป็นมนุษย์ถูกต้อง ทุกข์ของสังคม ทุกข์ของตัวเองก็จะน้อยลง แต่ว่าการทำหน้าที่ให้ถูกต้องมันเป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้ตัวเอง เรียนรู้สังคมอยู่ตลอดเวลา มันไม่ง่าย แต่มันก็ไม่ยากเกินกว่าคนทั่วไปจะเข้าใจได้ว่าอะไรคือความจริงของชีวิต อะไรคือหน้าที่ที่ถูกต้อง ถ้าชาวพุทธหันมาสนใจพุทธศาสนาในความหมายของการเรียนรู้ความจริงของชีวิตกันให้มากขึ้นๆ พูดเรื่องนี้กันให้มากขึ้นๆ จนเป็นเรื่องธรรมดามันก็จะง่ายขึ้น แทนที่จะพูดเรื่องอื่นๆ ที่มันไม่มีเหตุมีผล พิสูจน์ไม่ได้กันมากจนเกินไป  
 

บล็อกของ กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร

กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภาพจาก http://www.tilopahouse.com/node/396 เรจินัลด์ เรย์ เขียน วิจักขณ์ พานิช แปล กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
หากเราจะมองอย่างกว้างๆ แล้ว ท้าวสักกะ พระอรหันต์ หรือ แม้แต่พระพุทธเจ้า ที่ต้องแสดงฤทธิ์บางอย่างเพื่อช่วยคน จะต่างอะไรกับซุปเปอร์ฮีโร่อย่าง ซูเปอร์แมน แบทแมน สไปเดอร์แมน ในหนังและการ์ตูนทั้งหลาย ที่จะเข้ามาช่วยคนด้วยพลังพิเศษ ทำให้กระบวนการของเหตุปัจจัยมีน้ำหนักน้อยลงไป 
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ พุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ผู้เขียนจะกล่าวถึง “มโนทัศน์เรื่องอำนาจในสังคมไทยที่มีรากฐานจากคัมภีร์พุทธศาสนา” ทั้งนี้เพื่อจะชี้ให้เห็นบทบาทด้านตรงกันข้ามกับบทบาทที่ได้กล่าวไปแล้วในบทความตอนที่ (1) ที่ว่า พุทธศาสนา (สถาบันสงฆ์) แม้จะให้ความสำคัญกับการสร้าง “คนดี” ตามอุดมคติของชาวพุทธ แต่บทบาทดังกล่าวก็ไม่ได้สอดรับกับการสร้างพลเมืองตามแนวคิดในสังคมประชาธิปไตย 
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์ กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ชาญณรงค์ บุญหนุน กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร บทความ “พุทธศาสนากับประชาธิปไตยในสังคมไทย” นี้จะนำเสนอเป็นสามตอนด้วยกัน ทั้งนี้ก็เพื่อจะชวนผู้อ่านไปร่วมพิจารณาว่า พุทธศาสนามีบทบาทในการสร้างสังคมประชาธิปไตยในสังคมไทยหรือไม่ อย่างไร และปัญหาอยู่ตรงไหน
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ พุทธศาสน์ของราษฎร  
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์ กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร    
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
 
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ชาญณรงค์ บุญหนุน  กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร