ชาญณรงค์ บูญหนุน
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
วันศุกร์ที่ 11 มกราคม ที่ผ่านมา มีเสวนาทางวิชาการเรื่อง “หมิ่นพระพุทธศาสนา : จะจัดการอย่างไร ใครจะจัดการ” ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าภาพคือศูนย์พุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อวิเคราะห์ปัญหาเกี่ยวกับการหมิ่นพระพุทธศาสนา และเพื่อหาแนวทางและวิธีการในการแก้ไขปัญหาการหมิ่นพระพุทธศาสนา พิจารณาจากเอกสารประกอบการเสวนาผู้จัดมีจุดมุ่งหมายในทางวิชาการเป็นหลัก
วิทยากรที่รับเชิญมาเปิดประเด็นเสวนาคือ ดร.อำนาจ บัวศิริ รองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ประโยชน์สำคัญที่ผมได้จากงานนี้ที่เป็นรูปธรรมจริง ๆ คือ ร่างพระราชบัญญัติอุปภัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา พ.ศ.. ... (ฉบับปรับปรุง) อันเป็นฉบับล่าสุด ซึ่งมีเนื้อหาแตกต่างจากเดิมที่เราเคยนำมาวิพากษ์วิจารณ์กันเมื่อประมาณต้นปีที่แล้วเพียงเล็กน้อย คือมีความระมัดระวังมากขึ้นให้อันที่จะอนุญาตให้รัฐเข้าไปจัดการกับ “การหมิ่นพระพุทธศาสนา” หากเน้นที่การอุปถัมภ์ในรูปแบบต่าง ๆ มากกว่า กระนั้นการคาดหวังที่จะให้มีการจัดการกับการหมิ่นพุทธศาสนา ก็ยังปรากฎอยู่ในมาตรา 5 (9) ที่พูดถึงอำนาจหน้าที่ของรัฐในการคุ้มครองพระพุทธศาสนา และมาตรา 32 (1) ที่พูดถึงอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการดำเนินการกับ “การหมิ่นพระพุทธศาสนา” โดยให้ดำเนินการออกคำสั่งให้ยกเลิก เพิกถอน เปลี่ยนแปลง หรือให้การกระทำการหรืองดเว้นการกระทำใด ๆ ที่เป็นการเสียหาย หรือเป็นการลบหลู่ดูหมิ่น เหยียดหยาม พระพุทธศาสนา น่าสนใจว่าใน พรบ.ฉบับปรับปรุงใหม่ที่จะเสนอเข้าสภาในครั้งนี้ไม่มีมาตราที่เกี่ยวข้องกับบทลงโทษโดยตรงแต่ให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 206 มาตรา 207 และมาตรา 208
ซึ่งตามความเห็นของชาวพุทธที่ให้ความสำคัญกับกรณีการดูหมิ่นเหยียดหยามพระพุทธศาสนา สามมาตรานี้ยังไม่ครอบคลุมถึงลักษณะการกระทำที่เป็นการหมิ่นพุทธศาสนาที่มีอยู่อย่างหลากหลายรูปแบบ เช่น การกระทำต่อพระพุทธรูป การจาบจ้วงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การใช้พระพุทธรูปประดับร้านค้า การวาดภาพที่พุทธศาสนิกชนมองว่าเป็นการหมิ่นพระพุทธศาสนา การเผยแพร่หลักคำสอนในทางพุทธศาสนาที่คลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริง เป็นต้น ดังนั้น ในการจัดเสวนาทางวิชาการครั้งนี้ทางผู้จัดจึงต้องการจะระดมความคิดเห็นจากนักวิชาการ บุคคลทั่วไป พระสงฆ์ มาช่วยกันวิเคราะห์ ให้ความเห็น และเสนอวิธีการแก้ไขเพื่อเป็นแนวทางให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปดำเนินงาน
น่าสนใจว่า ในสายตาของผู้เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา หรือผู้ที่ถูกนิยามว่า “รักพระพุทธศาสนา” นั้น “การหมิ่นศาสนา” ไม่ว่าจะเป็นศาสนาใดก็ตามถือเป็น”การรุกรานและการทำร้ายทางวัฒนธรรม” ในเอกสารประกอบการเสวนา ได้บรรยายถึงหลักการและเหตุผลอันเป็นที่มาของของการจัดประชุม ความตอนหนึ่งดังนี้ “ในปัจจุบันวัฒนธรรมตะวันตกมีอิทธิพลสูงในทุกด้านโดยเฉพาะการเมือง และการศึกษาที่แนวคิดประชาธิปไตยที่เน้นเรื่องเสรีภาพทางความคิดเป็นเรื่องสำคัญ แต่ทว่าขอบเขตของเสรีภาพและพรมแดนทางความคิดของคนแต่ละชาติแต่ละวัฒนธรรมก็ไม่เหมือนกัน คนแต่ละวัฒนธรรมก็จะใช้มาตรฐานของตนเป็นเกณฑ์โดยมิได้คำนึงถึงวัฒนธรรมอื่น ยิ่งกว่านั้นในบางกรณีที่ยังมุ่งเอาผลกำไรทางธุรกิจเป็นที่ตั้งโดยไม่นำพาความรู้สึกของคนในวัฒนธรรมที่ตนเข้าไปเกี่ยวข้องจนเกิดเป็น “การรุกรานและการทำร้ายทางวัฒนธรรม” ขึ้น และ “กรณีที่เกิดขึ้นบ่อยคือ การหมิ่นศาสนา”
การหมิ่นศาสนาอันนิยามว่าเป็นการรุกรานและการทำร้ายทางวัฒนธรรมนั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแก่พุทธศาสนาด้วย เช่น ใช้พระพุทธรูปในการโฆษณาสิ่งที่เป็นอบายมุข และใช้ภาพหญิงสาวโป๊เปลือยประกอบภาพโฆษณาร่วมกับพระพุทธรูปซึ่งเป็นสิ่งเคารพบูชาของพุทธศาสนิกชน หรือกรณีที่ศิลปินวาดภาพเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าหรือพระสงฆ์ในลักษณะที่เป็นการดูหมิ่นเหยียดหยาม การนำส่วนประกอบอาคารทางพระพุทธศาสนาไปเป็นเครื่องประดับห้องทำงานหรืออาคารที่มิใช่อาคารทางพระพุทธศาสนา” แต่ที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือตามความในหลักการและเหตุผลดังกล่าวนั้น การหมิ่นพุทธศาสนา “มักจะเกิดขึ้นจากคนศาสนาอื่นที่มุ่งร้ายหรือเกิดจากคนไร้ศาสนาที่เห็นผลประโยชน์ส่วนตัว”
แต่เดิมนั้นเวลาชาวพุทธพูดถึงการดูหมิ่นพุทธศาสนา มักจะชวนให้คิดถึงคำพูดที่มาจากบรรดาบาทหลวงที่เพิ่งเดินทางเข้ามาเผยแพร่คำสอนในประเทศไทย หรือจากมุมมองของชาวตะวันตกที่ได้ประสบกับคำสอนและพิธีกรรมอันแตกต่างจากสิ่งที่ตนเองคุ้นเคย เมื่อคิดถึงการดูหมิ่นศาสนาจึงมุ่งไปที่ศาสนาอื่นเป็นหลัก ในอดีตมักเป็นคริสต์ศาสนา ในช่วงเวลานับแต่ปี พ.ศ. 2540 เป็นต้นมาดูเหมือนศาสนาที่มีผลกระทบต่อความรู้สึกของชาวพุทธมักเป็นอิสลามและชาวสลิม โดยเฉพาะหลังมีกรณีเหตุการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ นอกจากนี้ ความเปลี่ยนแปลงททางสังคมวัฒนธรรมที่มีความเป็นเสรีนิยมมากขึ้น มีการแพร่หลายของสื่อต่าง ๆ รวดเร็วขึ้น วิถีชีวิตแบบทุนนิยมที่พยายามปรับเข้าหาวัฒนธรรมท้องถิ่นหรือใช้ประโยชน์จากวัฒนธรรมท้องถิ่นหรือศิลปวัฒนธรรมไทย ก็ได้ทำให้เกิดการกระทำบางประการที่ชาวพุทธจำนวนมากรับไม่ได้อีกเช่นกัน การกระทำบางอย่างที่มีกระทบต่อศรัทธาของชาวพุทธมักจะถูกมองว่าเป็นการกระทำที่มาจากคนไร้ศาสนา หรือไม่ก็มาจากความเห็นแก่ตัวของพวกนายทุน (เสรีนิยมและระบบทุนนิยม)
สำหรับชาวพุทธไทย การหมิ่นพุทธศาสนานั้นถือว่าเป็นปัญหาที่สำคัญอย่างยิ่ง ดูเหมือนจะสำคัญยิ่งกว่าปัญหาภายในบางประการที่เกิดขึ้น ณ ใจกลางของพุทธศาสนาในประเทศไทยเสียด้วยซ้ำ คือปัญหาอันเกิดขึ้นจากความไม่ซื่อสัตย์ต่อความเป็นพระสงฆ์หรือความเป็นชาวพุทธของตนเอง ทั้งที่มันปรากฏเป็นที่รับรู้อย่างชัดเจน แต่ก็ไม่ได้ให้ความสนใจที่จะแก้ปัญหาในระดับรากเหง้า หากแต่ต้องการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุโดยหวังพึ่งพาอาศัยกฎหมายคุ้มครองพระพุทธศาสนาช่วยจัดการในฐานะที่พฤติกรรมต่าง ๆ เหล่านั้นอาจถูกตีความให้เข้าข่ายการดูหมิ่นพระพุทธศาสนาไปด้วย
ทำไมปัญหาการดูหมิ่นพุทธศาสนาจึงเป็นเรื่องร้ายแรง เรื่องนี้ผู้เขียนคิดว่าเข้าใจได้ไม่ยาก เพราะการดูหมิ่นพุทธศาสนาในสายตาของชาวพุทธนั้นผูกโยงเข้ากับประเด็นเรื่องความมั่นคงของชาติ (ซึ่งเกิดขึ้นมานานแล้ว) ดังที่สะท้อนออกมาในเอกสารประกอบการเสวนาครั้งนี้ว่า “เนื่องจากพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ และเป็นที่ยอมรับเชื่อถือปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างกว้างขวางทั่วไปในสังคม และได้รับการปลูกฝังถ่ายทอดกันมาตลอดยาวนาน การที่หลักความเชื่อถือและการปฏิบัติในพระพุทธศาสนาได้หล่อหลอมออกมาเป็นเอกลักษณ์ของคนไทย จนกล่าวได้ว่าพระพุทธศาสนาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับความเป็นไทย ได้หล่อหลอมความเป็นชาติไทยควบคู่กับสถาบันชาติ และสถาบันพระมหากษัตริย์ สร้างความเป็นปึกแผ่นของชาติไทย ดำรงไว้ซึ่งศีลธรรม คุณธรรม และจริยธรรมของคนในชาติ แต่ปัจจุบันสังคมโลกเปลี่ยนไป ความเจริญทางด้านวัตถุที่เป็นภัยคุกคามจากวัฒนธรรมบริโภคนิยมได้เข้ามามีบทบาทชี้นำสังคมไทยมากยิ่งขึ้นเป็นเหตุให้มีผลกระทบต่อศีลธรรม คุณธรรม และจริยธรรมของชาวไทยโดยทั่วไป โดยเฉพาะต่อพระพุทธศาสนา”
มีข้อน่าสังเกตว่า การให้ความสำคัญต่อประเด็นการหมิ่นพุทธศาสนานั้นเกิดขึ้นภายใต้กรอบคิดที่ชาวพุทธส่วนใหญ่ได้รับการปลูกฝังมาตลอดระยะเวลาอันยาวนาน คือ การเชื่อในความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างพุทธศาสนากับชาติไทย พุทธศาสนาเป็นเอกลักษณ์ของชาติไทย พุทธศาสนาคือความเป็นไทย ความเป็นไทยขาดพุทธศาสนาไม่ได้ เนื่องจากพุทธศาสนาได้หล่อหลอมความเป็นชาติไทยมาคู่กับสถาบันชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์ การลดทอนความเป็นชาติไทยให้เหลือเพียงสถาบันชาติ สถาบันพุทธศาสนาและสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้ “ความหลากหลาย” ของสิ่งต่าง ๆ ที่ประกอบขึ้นเป็น “ชาติไทย” อีกจำนวนมากหายไป ความเป็นฮินดู ความเป็นคริสต์ และความเป็นมุสลิม รวมทั้งอื่น ๆ ที่หล่อหลอมความเป็นชาติขึ้นมาในสังคมไทยนับแต่สมัยอยุธยาเป็นต้นมานั้นได้ถูกทำให้หายไปเหลือเพียงความเป็นชาติที่ผูกพันไว้กับพื้นที่หรือแผ่นดิน (ที่ไม่ใช่ประชาชน) สถาบันพระมหากษัตริย์ และสถาบันพระพุทธศาสนา การที่สถาบันพุทธศาสนาถูกกระทบกระเทือนจากปัจจัยภายนอก จึงมีความหมายเท่ากับว่าความมั่นคงของชาติพลอยกระทบกระเทือนไปด้วย
อาจกล่าวได้ว่า ความรู้สึกกระทบกระเทือนใจเมื่อมีการกระทำที่หมิ่นศรัทธาต่อชาวพุทธนั้น ส่วนหนึ่งมาจากความหดสั้นของจินตนาการเกี่ยวกับความเป็นชาติไทย ที่ชาวพุทธได้รับการปลูกฝังกันมาเป็นเวลาช้านานตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน งานเขียนที่มีอิทธิพลต่อจินตนาการชาติของชาวพุทธไทยจริง ๆ อาจเกิดขึ้นในช่วงสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นต้นมานี่เอง อย่างน้อยในเทศนาเสือป่า จินตนาการชาติแบบชาวพุทธที่ผูกโยงระหว่างสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ปรากฏอยู่ในงานหรือวรรณกรรมทางพุทธศาสนาเป็นจำนวนมากนับแต่ปี พ.ศ. 2527 อันเป็นช่วงเวลาชาวพุทธค้นพบและมีความเคลือบแคลงใจต่อสมณสาส์นจากสภาวาติกันครั้งที่ 2 ที่มีไปยังชาวคาทอลิกทั่วโลก และส่วนหนึ่งได้ถูกแปลความหมายและนำไปปฏิบัติในลักษณะก่อให้เกิดความเคลือบแคลงใจอย่างล้นเหลือต่อท่าทีของชาวคริสต์ในประเทศไทย
ช่วงเวลาดังกล่าวนั้น ได้มีการสืบค้นประวัติศาสตร์เกี่ยวกับความเป็นมาของพุทธศาสนาในประเทศไทยและ ประวัติศาสตร์การถูกกดขี่รังแกจากชาวต่างชาติ เช่น กรณีมหาวิทยาลัยนาลันทาและวิกรมศิลาถูกเผาทำลาย พระสงฆ์ในอินเดียถูกเข่นฆ่าสังหารอย่างโหดเหี้ยมโดยชาวมุสลิมที่รุกลงมาจากตอนเหนือของอินเดีย การปกครองศรีลังกาของชาวตะวันตก (รวมทั้งบรรดามิชชั่นนารี) ที่กินเวลานานถึง 200 ปีจนเกือบทำให้พุทธศาสนาศูนย์หายไปจากเกาะแห่งนี้ และนำมาตีพิมพ์เผยแพร่เป็นเอกสารสำคัญในงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรก ณ ท้องสนามหลวง นัยสำคัญก็เพื่อชี้ให้เห็นภัยคุกคามพุทธศาสนาในรูปแบบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์และยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องแม้ในปัจจุบัน[1] ขณะเดียวกันก็มีบทสัมภาษณ์ที่พูดถึงท่าทีที่รัฐควรมีต่อพระพุทธศาสนาโดยบุคคลสำคัญคือพระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) [2] เนื้อหาสาระของหนังสือดังกล่าวมีสองส่วนหลักคือ ด้านหนึ่งสร้างจินตนาการเกี่ยวกับความเป็นไทยที่มีพุทธศาสนาเป็นองค์ประกอบหลัก แต่อีกด้านหนึ่งก็ให้จินตนาการเกี่ยวกับภัยคุกคามที่มีต่อพุทธศาสนา ถ้าหากเข้าใจไม่ผิดนั่นคือการขีดเส้นแบ่งระหว่างมิตรและศัตรูที่ชัดเจนเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาไทยสมัยใหม่
จินตนาการของชาวพุทธเกี่ยวกับความเป็นชาติไทย ดูเหมือนจะเป็นจินตนาการที่คับแคบและน่าอึดอัดอย่างยิ่งเมื่องมองจากแง่มุมหรือมุมมองความคิดเรื่องชาติที่กำลังเป็นที่ยอมรับในนักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่ ๆ หรือกรอบคิดเรื่องจินตนาการใหม่เกี่ยวกับความเป็นไทยและชาติไทยในปัจจุบัน เนื่องจากคนต่างศาสนาและต่างวัฒนธรรมซึ่งอยู่เขตแดนเดียวกันตามแผนที่ประเทศไทย ได้ถูกบีบรัดเข้าไปเพื่อให้อยู่ภายใต้กรอบจินตนาการชาติที่สร้างขึ้นภายใต้แนวคิดชาตินิยม แบบที่ชาวพุทธยึดถืออยู่ จินตนาการนี้เป็นจินตนาการที่งดงามและเป็นที่น่าพึงพอใจอย่างยิ่งสำหรับชาวพุทธเพราะมันได้กำหนดตำแหน่งแห่งที่ความเป็นชาวพุทธไว้ในสถานะสูงกว่าความเป็นศาสนิกอื่นในผืนดินเดียวกัน แต่คิดจากมุมมองของระบอบประชาธิปไตย จินตนาการชาติแบบนี้น่าอึดอัดอย่างยิ่ง บีบรัดอย่างยิ่ง
นิยามของความเป็นชาติที่นิยามโดยชาวพุทธปัจจุบันดูเหมือนจะยังไม่เปลี่ยนแปลงแม้ว่างานศึกษาทางด้านชาติพันธุ์และประวัติศาสตร์รุ่นใหม่ ๆ ได้บอกพวกเราว่าสังคมไทยในอดีตนั้น (สยาม) ประกอบขึ้นด้วยชนชาติอันหลากหลายภาษาและวัฒนธรรม การยึดกุมความเป็นไทยผ่านสถาบันชาติ พุทธศาสนาและพระมหากษัตริย์ยังคงมีบทบาทนำในการจินตนาการเกี่ยวกับความมั่นคงชาติที่คนต่างศาสนา ด้วยเหตุนี้ คนไม่มีศาสนา วัฒนธรรมตะวันตก และประชาธิปไตยที่เน้นสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค กลายเป็นผู้ร้ายที่จะมาเฝ้ารุกรานและทำร้ายวัฒนธรรมของชาติ ซึ่งมีพุทธศาสนาเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญเสมอ
สิ่งที่น่าพิจารณาอีกประการหนึ่งในการเสวนาทางวิชาการ “หมิ่นพระพุทธศาสนา : จะจัดการอย่างไร ใครจะจัดการ” ก็คือข้อบรรยายในเอกสารประกอบการเสวนาที่ว่า “พุทธศาสนาได้มีส่วนสำคัญในการ ดำรงไว้ซึ่งศีลธรรม คุณธรรม และจริยธรรมของคนในชาติ” ขณะที่ในปัจจุบัน สังคมโลกเปลี่ยนไป “ความเจริญทางด้านวัตถุที่เป็นภัยคุกคามจากวัฒนธรรมบริโภคนิยมได้เข้ามามีบทบาทชี้นำสังคมไทยมากยิ่งขึ้น เป็นเหตุให้มีผลกระทบต่อศีลธรรม คุณธรรม และจริยธรรมของชาวไทยโดยทั่วไป” จะเห็นว่าการจับคู่ตรงข้ามระหว่างพระเอกกับผู้ร้ายของบทบรรยายนี้เป็นปรากฏการณ์ที่พอจะเห็นได้ทั่วไปตลอดหลายต่อหลายปีที่ผ่านมา ไม่ใช่เรื่องใหม่ บทบรรยายทำนองนี้เป็นเสมือนบทสวดที่เสริมความแข็งแกร่งให้กับจินตนาการชาติที่มีพุทธศาสนาเป็นแกนหลักอย่างหนึ่ง เพื่อที่จะได้เห็นเหตุผลชัดเจนว่าทำไมพุทธศาสนาจึงควรผูกพันอยู่กับรัฐไทยตลอดไปทั้งในแง่นิตินัยและพฤตินัย
แต่สิ่งที่ผู้เขียนตั้งคำถามตลอดสิบปีที่ผ่านมาที่สอนเกี่ยวกับ “พุทธศาสนาในชีวิตคนไทย” และ “พุทธศาสนาในสังคมไทยปัจจุบัน” คือ เป็นจริงหรือไม่ที่สังคมไทยเป็นสังคมพุทธ หรือเป็นอย่างที่พูดกันอย่างไม่คิดสักเท่าไรว่า “เมืองไทยเป็นเมืองพุทธ” เวลาบอกเช่นนี้สิ่งที่นำมาอ้างถึงเสมอคือปริมาณของประชากรที่นับถือพุทธศาสนาในประเทศไทย ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องนี้คงเถียงไม่ได้ แต่สมมติว่าเราใช้เกณฑ์ศีล 5 มาพิจารณาเรื่องนี้เราก็อาจจะเห็นภาพหรือข้อสรุปเกี่ยวกับสังคมไทยในแง่มุมที่แตกต่างออกไป
จะเริ่มจากศีลข้อ 5 ก่อนก็ได้ ประเด็นของเรื่องนี้ไม่ใช่ว่า มีคนไทยหรือชาวพุทธจำนวนเท่าใดดื่มเหล้าหรือไม่ดื่มเหล้า แต่คือหาคุณคิดว่าประเทศนี้เป็นเมืองพุทธหรือเป็นรัฐพุทธศาสนา เหตุใดรัฐจึงอนุญาตให้มีโรงงานสุราเกิดขึ้นทั่วประเทศ โดยที่ชาวพุทธเองก็ไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์ปัญหาของการมีบริษัทค้าขายเครื่องดื่มประเภทสุราหรือแอลกอฮอร์ในประเทศนี้แต่ประการใด แต่มักจะมุ่งไปที่ใครสักคนที่อยากจะดื่มพร้อมกับชี้นิ้วประนามว่าแกทำผิดศีลข้อ 5 และออกกฎหมายมาจะบีบคอผู้บริโภคจน ๆ ที่ต้องการรื่นรมณ์กับชีวิตชั่วขณะหนึ่ง แต่ไม่มีโอกาสจะมีชีวิตรื่นรมณ์ได้ด้วยวิธีอื่นใดนอกจากความรื่นรมย์จากสุราสักขวดสองขวดริมถนน การอนุญาตให้มีโรงงานสุราทั่วประเทศนั้นมันผูกโยงกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของรัฐหรือของประเทศโดยตรง แต่ดูเหมือนชาวพุทธจะยอมรับได้กับธุรกิจประเภทนี้
ขยับมาที่ศีลข้อกาเมสุมิจฉาจาร ในประเทศของเรามีอาบอบนวดที่ให้บริการทางเพศไปทุกหัวระแหงของประเทศ การประกอบกิจการค้าประเวณีอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมายมีอยู่ทั่วไปแต่ชาวพุทธก็ทำเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ เงียบเฉยต่อการดำรงอยู่ของมันตราบเท่าที่ยังไม่ได้ทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย การไม่มีท่าทีวิพากษ์วิจารณ์การดำรงอยู่ของบริการทางเพศที่ซุกซ่อนอยู่ในหลืบหรือที่เปิดเผยของสังคมก็ตาม ไม่ตระหนักถึง “การค้า”ที่คุกคามความเป็นมนุษย์ของผู้หญิง เด็กและเยาวชน ไม่ว่าจะเป็นคนชาติลาวเขมร พม่า หรือที่ไหนก็ตามในโลกนี้ก็ตาม ย่อมสะท้อนให้เห็นว่าชาวพุทธในประเทศนี้ไม่ได้ Serious กับศีลข้อกาเมสุมิจฉาจารอย่างที่อวดอ้าง มิหนำซ้ำยังอาจตีความธรรมในลักษณะที่ยอมรับให้มีการกดขี่ทางเพศหรือการบริการทางเพศด้วยซ้ำไป เช่นมองว่าเป็นกรรมของพวกผู้หญิงเองที่ต้องมาขายบริการทางเพศ หรือที่เธอต้องถูกข่มขื่น
หรือถ้าจะชี้ไปยังสิ่งที่เห็นกันชัดเจนที่สุดในสังคมไทยปัจจุบันในช่วงปี พ.ศ.2552-2553 ก็คือการยินดีกับการฆ่ากันท่ามกลางเมืองหลวง การไม่ยอมรับรู้ “ฆาตกรรมหมู่” ในใจกลางประเทศ หรือแม้กระทั่งการยุยงให้เกิดการฆ่าเพียงเพราะเห็นว่าผู้ถูกฆ่าเป็นคนชั่วร้าย (มีความเป็นมนุษย์น้อยกว่าคนทั่วไป) จึงสมควรจะถูกฆ่าตาย หรือเพราะไม่รักพ่อ ไม่ภักดีต่อพ่อจึงไม่ควรจะมีชีวิตอยู่ในประเทศนี้ก็ดี สิ่งเหล่านี้มันช่วยสนับสนุนวาทกรรมที่ว่าพุทธศาสนาช่วยจรรโลงศีลธรรมและจริยธรรมของคนไทยตรงไหนกัน อันนี้เป็นประเด็นที่ควรจะถามหรือไตร่ตรองกันให้มากหากคิดจะผูกโยงความเป็นพุทธเข้ากับความเป็นไทย หรืออวดว่าพุทธศาสนาสร้างระบบศีลธรรมอันดีงามแก่คนในชาติไทยตลอดมา
สุดท้ายสำหรับเครื่องบ่งชี้ว่าพุทธศาสนาได้หล่อหลอมความเป็นคนดีมีศีลธรรม จริยธรรมและคุณธรรมของคนในชาติร่วมกับสถาบันชาติ และสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นก็เป็นสิ่งที่เราอาจเห็นได้ชัดเจนว่ามันไม่ได้เป็นอย่างที่เอื้อนเอ่ยกันเสียทีเดียว ในสถานการณ์ที่มนุษย์คนหนึ่งไม่สามารถพูดความจริงได้ทั้งที่ความจริงนั้นจำเป็นต่อการมีชีวิตที่ดีของคนโดยรวม ไม่สามารถพูดความจริงอันเนื่องมาจากข้อเท็จจริงได้ ทั้งที่การพูดความจริงนั้นเป็นคุณธรรมหรือศีลธรรมประการหนึ่งที่พุทธศาสนาสนับสนุนดังที่ปรากฏในศีลข้อมุสาวาท แต่ชาวพุทธยอมให้มีการปิดปาก “คนที่พูดความจริง” ผ่านกฎหมายอาญามาตรา 112 นี่เป็นลักษณะของสังคมที่ Serious ในเรื่องศีลธรรมจริยธรรมตรงไหน สังคมที่พระสงฆ์ทนไม่ได้กับอทินนาทานที่เกิดขึ้นในรัฐบาลที่สืบสายสัมพันธ์จากทักษิณ ชินวัตร แต่ทนได้กับปาณาติบาตที่เกิดขึ้นในนามของสถาบันสูงสุดของชาติ สังคมที่สอนให้ลืมความเจ็บปวดของผู้ทุกข์ยาก ทำผิดแล้วไม่ต้องรับโทษ ยอมให้มีการปกปิดความจริงหรือยอมให้มีการทำร้ายผู้ที่พูดความจริงในระดับโครงสร้างของประเทศเช่นนี้ควรจะได้ชื่อว่าเป็นเมืองพุทธหรือรัฐพุทธอย่างนั้นหรือ
ถ้าพุทธศาสนาทำให้เราเพิกเฉยต่อความเป็นความตายหรือต่อชีวิตของมนุษย์ได้อยากเลือดเย็นขนาดนี้ เห็นการพูดความจริงเป็นความเลวร้ายที่จะต้องคุมขังโดยไม่อนุญาตให้สามารถต่อสู้คดีได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เห็นคนไร้อำนาจเป็นเพียงมดปลวกที่ไม่ควรค่าแก่ความเป็นคนหรือพลเมืองอย่างที่เกิดขึ้นในสองสามปีที่ผ่านมานี้ พุทธศาสนาควรจะได้รับการปกป้องมากน้อยแค่ไหน ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ต้องใคร่ครวญพิจารณากันให้ดี และอันไหนเป็นปัญหาสำคัญกว่ากันระหว่างการดูหมิ่นเหยียดหยามที่เกิดขึ้นชั่วครั้งชั่วคราวจากคนนอก กับสนมเนื้อในตนที่นับวันจะกร่อนพุทธศาสนาที่รากฐานให้พังทลายลง นั่นเป็นเรื่องที่ชาวพุทธควรจะได้ตระหนักและใคร่ครวญให้มาก
สรุปแล้ว ศีลธรรมจรรยาที่พุทธศาสนาค้ำจุนอยู่ในปัจจุบันนั้นเป็นศีลธรรมประเภทไหนกันแน่ เป็นศีลธรรมของชนชั้นผู้มีอำนาจหรือศีลธรรมที่อิงแอบกับหัวใจหรือคำสอนของพุทธศาสนาอย่างแท้จริง นี่ก็ควรจะเป็นข้อควรพิจารณาไตร่ตรองให้แน่ชัดสำหรับชาวพุทธที่เห็นว่า สถาบันพุทธศาสนาควรได้รับการปกป้องด้วยกฎหมายหมิ่นที่จะออกมาในอนาคต ควรจะคิดต่อไปด้วยว่าการผูกพันตนเองอย่างแนบแน่นกับสถาบันชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์คือทางรอดเดียวของพุทธศาสนาในสังคมไทยหรือไม่
รายการอ้างอิง
[1] จำนงค์ ทองประเสริฐ, (บก.). พุทธศาสนา ศาสนาประจำชาติไทย. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการจัดงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา, 2527.
[2] พระราชวรมุนี, (ประยุทธ์ ปยุตฺโต), “ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพุทธศาสนาในรอง ๒ ศตวรรษ” ใน จำนงค์ ทองประเสริฐ, (บก.). อ้างแล้ว, หน้า 29-48.
บล็อกของ กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภาพจาก http://www.tilopahouse.com/node/396
เรจินัลด์ เรย์ เขียน
วิจักขณ์ พานิช แปล
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
หากเราจะมองอย่างกว้างๆ แล้ว ท้าวสักกะ พระอรหันต์ หรือ แม้แต่พระพุทธเจ้า ที่ต้องแสดงฤทธิ์บางอย่างเพื่อช่วยคน จะต่างอะไรกับซุปเปอร์ฮีโร่อย่าง ซูเปอร์แมน แบทแมน สไปเดอร์แมน ในหนังและการ์ตูนทั้งหลาย ที่จะเข้ามาช่วยคนด้วยพลังพิเศษ ทำให้กระบวนการของเหตุปัจจัยมีน้ำหนักน้อยลงไป
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์
พุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ผู้เขียนจะกล่าวถึง “มโนทัศน์เรื่องอำนาจในสังคมไทยที่มีรากฐานจากคัมภีร์พุทธศาสนา” ทั้งนี้เพื่อจะชี้ให้เห็นบทบาทด้านตรงกันข้ามกับบทบาทที่ได้กล่าวไปแล้วในบทความตอนที่ (1) ที่ว่า พุทธศาสนา (สถาบันสงฆ์) แม้จะให้ความสำคัญกับการสร้าง “คนดี” ตามอุดมคติของชาวพุทธ แต่บทบาทดังกล่าวก็ไม่ได้สอดรับกับการสร้างพลเมืองตามแนวคิดในสังคมประชาธิปไตย
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ชาญณรงค์ บุญหนุน
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
บทความ “พุทธศาสนากับประชาธิปไตยในสังคมไทย” นี้จะนำเสนอเป็นสามตอนด้วยกัน ทั้งนี้ก็เพื่อจะชวนผู้อ่านไปร่วมพิจารณาว่า พุทธศาสนามีบทบาทในการสร้างสังคมประชาธิปไตยในสังคมไทยหรือไม่ อย่างไร และปัญหาอยู่ตรงไหน
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์
พุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร