Skip to main content

 

สุรพศ ทวีศักดิ์
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร

แด่ สมยศ พฤกษาเกษมสุข 
และผองเพื่อนผู้ตกเป็นเหยื่อ ม.112 ทุกคน
ที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อ ‘ความเป็นคน’
ของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริง
 
รัฐธรรมนูญแห่ง ‘ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ ของไทยบัญญัติว่า ‘พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ’ และตามจารีตประเพณีที่มีมานานพระมหากษัตริย์ก็ครองราชย์ภายใต้ ‘ความชอบธรรม’ ตามพระบรมราชโองการของรัชกาลปัจจุบันที่ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ซึ่งคำว่า “โดยธรรม” นั้น ก็เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปทั้งจากการเทศนาของพระสงฆ์ในวัดต่างๆ ทั่วประเทศ การศึกษาในระบบทุกระดับ การประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อทุกรูปแบบว่า หมายถึง “ทศพิธราชธรรม” อันเป็นหนึ่งใน “ชุดคุณธรรมของผู้ปกครอง” ตามคำสอนของพุทธศาสนา 
 
แสดงให้เห็นว่า แม้สังคมไทยจะเปลี่ยนการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตยที่มีสถาบันกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญในปี 2475 แต่ “ความชอบธรรม” ของสถาบันกษัตริย์ยังอ้างอิงชุดคุณธรรมของผู้ปกครองตามคำสอนของพุทธศาสนาอยู่เช่นเดิม
 
คำถามจึงมีว่า ชุดคุณธรรมของผู้ปกครองตามคำสอนของพุทธศาสนาดังกล่าวสอดคล้อง หรือไปด้วยกันได้กับหลักเสรีภาพ ความเสมอภาคตามระบอบประชาธิปไตยหรือไม่? ขอให้ลองพิจารณาเนื้อหาของชุดคุณธรรมของผู้ปกครองตามคำสอนของพุทธศาสนา ดังต่อไปนี้ (คัด/ตัดทอนบางส่วน จากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของ ป.อ.ปยุตฺโต)
 
ราชสังคหวัตถุ : หลักการสงเคราะห์ประชาชนของนักปกครอง
1) สัสสเมธะ ความฉลาดในการบำรุงพืชพันธุ์ธัญญาหาร ส่งเสริมการเกษตร       
2) ปุริสเมธะ ความฉลาดในการบำรุงข้าราชการ รู้จักส่งเสริมคนดีมีความสามารถ       
3) สัมมาปาสะ ความรู้จักผูกผสานรวมใจประชาชนด้วยการส่งเสริมอาชีพ เช่น ให้คนจนกู้ยืมทุนไปสร้างตัวในพาณิชยกรรม เป็นต้น       
4) วาชเปยะ หรือ วาจาเปยยะ ความมีวาจาอันดูดดื่มน้ำใจ น้ำคำควรดื่ม คือ รู้จักพูด รู้จักปราศรัย ไพเราะ สุภาพนุ่มนวล ประกอบด้วยเหตุผล มีประโยชน์เป็นทางแห่งสามัคคี ทำให้เกิดความเข้าในอันดี และความนิยมเชื่อถือ
 
ทศพิธราชธรรม : คุณธรรมของผู้ปกครองบ้านเมือง
1) ทาน การให้ คือ สละทรัพย์สิ่งของ บำรุงเลี้ยง ช่วยเหลือประชาราษฎร์ และบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ 
2) ศีล ความประพฤติดีงาม คือ สำรวมกายและวจีทวาร ประกอบแต่การสุจริต รักษากิตติคุณ ให้ควรเป็นตัวอย่าง และเป็นที่เคารพนับถือของประชาราษฎร์ มิให้มีข้อที่ใครจะดูแคลน 
3) ปริจจาคะ การบริจาค คือ เสียสละความสุขสำราญ เป็นต้น ตลอดจนชีวิตของตน เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน และความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง 
4) อาชชวะ ความซื่อตรง คือ ซื่อตรงทรงสัตย์ไร้มารยา ปฏิบัติภารกิจโดยสุจริต มีความจริงใจ ไม่หลอกลวงประชาชน 
5) มัททวะ ความอ่อนโยน คือ มีอัธยาศัย ไม่เย่อหยิ่งหยาบคายกระด้างถือองค์ มีความงามสง่าเกิดแต่ท่วงทีกิริยาสุภาพนุ่มนวล ละมุนละไม ให้ได้ความรักภักดี แต่มิขาดยำเกรง       

6) ตปะ ความทรงเดช คือ แผดเผากิเลสตัณหา มิให้เข้ามาครอบงำย่ำยีจิต ระงับยับยั้งข่มใจได้ ไม่ยอมให้หลงใหลหมกมุ่นในความสุขสำราญและความปรนเปรอ มีความเป็นอยู่สม่ำเสมอ หรืออย่างสามัญ มุ่งมั่นแต่จะบำเพ็ญเพียร ทำกิจให้บริบูรณ์ 
7) อักโกธะ ความไม่โกรธ คือ ไม่กริ้วกราด ลุอำนาจความโกรธ จนเป็นเหตุให้วินิจฉัยความและกระทำกรรมต่างๆ ผิดพลาดเสียธรรม มีเมตตาประจำใจไว้ระงับความเคืองขุ่น วินิจฉัยความและกระทำการด้วยจิตอันราบเรียบเป็นตัวของตนเอง
8) อวิหิงสา ความไม่เบียดเบียน คือ ไม่บีบคั้นกดขี่ เช่น เก็บภาษีขูดรีด หรือ เกณฑ์แรงงานเกินขนาด ไม่หลงระเริงอำนาจ ขาดความกรุณา หาเหตุเบียดเบียนลงโทษอาชญาแก่ประชาราษฎร์ผู้ใด เพราะอาศัยความอาฆาตเกลียดชัง 
9) ขันติ ความอดทน คือ อดทนต่องานที่ตรากตรำ ถึงจะลำบากกายน่าเหนื่อยหน่ายเพียงไร ก็ไม่ท้อถอย ถึงจะถูกยั่วถูกหยันด้วยคำเสียดสีถากถางอย่างใด ก็ไม่หมดกำลังใจ ไม่ยอมละทิ้งกรณีย์ที่บำเพ็ญโดยชอบธรรม 
10) อวิโรธนะ ความไม่คลาดธรรม คือ วางองค์เป็นหลักหนักแน่นในธรรม คงที่ ไม่มีความเอนเอียงหวั่นไหวเพราะถ้อยคำที่ดีร้าย ลาภสักการะ หรืออิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์ใดๆ สติมั่นในธรรม ทั้งส่วนยุติธรรม คื ความเที่ยงธรรม ก้ดี นิติธรรม คือ ระเบียบแบบแผนหลักการปกครอง ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม ก็ดี ไม่ประพฤติให้เคลื่อนคลาดวิบัติไป 
 
จักรวรรดิวัตร : หน้าที่ของนักปกครองผู้ยิ่งใหญ่
1) ธรรมาธิปไตย ถือธรรมเป็นใหญ่ เคารพนับถือบูชายำเกรงธรรม ยึดธรรมเป็นหลัก เป็นธงชัย เป็นธรรมาธิปไตย
2) ธรรมิการักขา จัดการรักษาป้องกันและคุ้มครองอันชอบธรรมและเป็นธรรม 
       ก. อันโตชน แก่ชนภายใน ตั้งแต่พระมเหสี โอรส ธิดา จนถึงผู้ปฏิบัติราชการในพระองค์ทั้งหมด คือ คนในปกครองส่วนตัว ตั้งแต่บุตรธิดาเป็นต้นไป ด้วยให้การบำรุงเลี้ยงอบรมสั่งสอนเป็นต้น ให้อยู่โดยเรียบร้อยสงบสุข และมีความเคารพนับถือกัน 
       ข. พลกาย แก่กองทัพ คือ ปวงเสนาข้าทหาร, ข้าราชการฝ่ายทหาร 
       ค. ขัตติยะ แก่กษัตริย์ทั้งหลายผู้อยู่ในพระบรมเดชานุภาพ, เจ้าเมืองขึ้น, ปัจจุบันสงเคราะห์ชนชั้นปกครองและนักบริหารชั้นผู้ใหญ่ทั้งหลาย, ข้าราชการฝ่ายปกครอง 
       ง. อนุยนต์ แก่ผู้ตามเสด็จ คือ ราชบริพารทั้งหลาย, ปัจจุบันควรสงเคราะห์ข้าราชการฝ่ายพลเรือนเข้าทั้งหมด 
       จ. พราหมณคฤหบดี แก่ชนเจ้าพิธี เจ้าตำรา พ่อค้า เจ้าไร่เจ้านา คือ ครูบาอาจารย์ นักวิชาการ หมอ พ่อค้า ผู้ประกอบอาชีพวิชพต่างๆ และเกษตรกร ด้วยช่วยจัดหาทุนและอุปกรณ์เป็นต้น 
       ฉ. เนคมชานบท แก่ชาวนิคมชนบท คือ ราษฎรทั้งปวงทุกท้องถิ่นตลอดถึงชายแดนทั่วไปไม่ทอดทิ้ง 
       ช. สมณพราหมณ์ แก่พระสงฆ์และบรรพชิตผู้ทรงศีลทรงคุณธรรม 
       ญ. มิคปักษี แก่มฤคและปักษี คือ สัตว์อันควรสงวนทั้งหลาย 
3) อธรรมการนิเสธนา ห้ามกั้น มิให้มีการอันอธรรมเกิดขึ้นในพระราชอาณาเขต คือ จัดการป้องกัน แก้ไข มิให้มีการกระทำความผิดความชั่วร้ายเดือดร้อนเกิดขึ้นในบ้านเมือง       
4) ธนานุประทาน ปันทรัพย์เฉลี่ยให้แก่ชนผู้ไร้ทรัพย์ มิให้มีคนขัดสนยากไร้ในแว่นแคว้น       
5) ปริปุจฉา ปรึกษาสอบถามปัญหากับสมณพราหมณ์ ผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ผู้ไม่ประมาทมัวเมา อยู่เสมอตามกาลอันควร เพื่อให้รู้ชัดการอันดีชั่ว ควรประกอบหรือไม่ เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขหรือไม่ แล้วประพฤติปฏิบัติให้เป็นไปโดยถูกต้อง ข้อนี้ปัจจุบันสงเคราะห์นักปราชญ์นักวิชาการผู้ทรงคุณธรรมเข้าด้วย 
       
จักรวรรดิวัตรนี้ มาใน จักกวัตติสูตร แต่ใน อรรถกถาแห่งพระสูตรนี้เอง (ที.อ. 3/46) ท่านจัดต่างออกไปดังนี้
           1) อนฺโตชนสฺมึ พลกายสฺมึ สงเคราะห์ชนภายใน และพลกายกองทหาร
           2) ขตฺติเยสุ สงเคราะห์กษัตริย์เมืองขึ้นทั้งหลาย
           3) อนุยนฺเตสุ สงเคราะห์เหล่าเชื้อพระวงศ์ ผู้ตามเสด็จเป็นราชบริพาร
           4) พฺราหฺมณคหปติเกสุ คุ้มครองพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย
           5) เนคมชานปเทสุ คุ้มครองชาวราษฎรพื้นเมืองทั้งหลาย
           6) สมณพฺราหฺมเณสุ คุ้มครองเหล่าสมณพราหมณ์
           7) มิคปกฺขีสุ คุ้มครองเนื้อนกที่เอาไว้สืบพันธุ์
           8) อธมฺมการปฏิกฺเขโป ห้ามปรามมิให้มีการประพฤติการอันผิดธรรม
           9) อธนานํ ธนานุปฺปทานํ ทำนุบำรุงผู้ขัดสนไร้ทรัพย์
           10) สมณพฺราหฺมเณ อุปสงฺกมิตฺวา ปญฺหาปุจฺฉนํ เข้าไปหาและสอบถามปัญหากะสมณพราหมณ์
           11) อธมฺมราคสฺส ปหานํ เว้นความกำหนัดในกามโดยอาการไม่เป็นธรรม
           12) วิสมโลภสฺส ปหานํ เว้นโลภกล้า ไม่เลือกควรไม่ควร
 
เมื่อพิจารณาชุดคุณธรรมของผู้ปกครองตามที่ยกมา จะพบว่าไม่มีเนื้อหาส่วนไหนเลยที่สนับสนุนสถานะความเป็นอภิสิทธิชนเหนือการถูกวิจารณ์ตรวจสอบของผู้ปกครอง ทั้งราชสังคหวัตถุ ทศพิธราชธรรม และจักรวรรดิวัตรล้วนแต่มีสาระสำคัญยืนยันอย่างสอดคล้องต้องกันว่า ‘ผู้ปกครองมีหน้าที่รับใช้ราษฎร’ โดยต้องมีศีลธรรม มีความซื่อสัตย์ เสียสละ อ่อมน้อมถ่อมตนต่อราษฎร มีความยุติธรรม รับผิชอบ มีความรู้ความสามารถในการปกครองให้ราษฎรอยู่ดีกินดี บ้านเมืองสงบสุข เป็นต้น
 
ฉะนั้น หากสังคมไทยยืนยันว่าความชอบธรรมของสถานะสถาบันกษัตริย์ คือการครองแผ่นดินโดยธรรม หรือโดยชุดคุณธรรมของผู้ปกครองตามคำสอนพุทธศาสนา ก็ย่อมหมายความว่า กษัตริย์ไทยมีหน้าที่รับใช้ราษฎร อ่อนน้อมถ่อมตนต่อราษฎร ไม่มีอภิสิทธิ์เหนือราษฎรโดยเด็ดขาด เพราะตามหลักการพุทธศาสนาในอัคคัญญสูตรนั้น กษัตริย์เป็น ‘สมมติราช’ ไม่ใช่ ‘สมมติเทพ’ กษัตริย์จึงมีความเป็นมนุษย์เท่ากับราษฎร ชุดคุณธรรมของผู้ปกครองตามคำสอนของพุทธศาสนา จึงไม่ได้มีเนื้อหาขัดแย้งกับหลักเสรีภาพและความเสมอภาคแต่อย่างใด
 
แต่กรณีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข 11 ปี เนื่องจากศาลพิจารณาเห็นว่า 
 
บทความคมความคิด ในนิตยสารเสียงทักษิณ (ที่คุณสมยศเป็น บก.) ทั้งสองฉบับ มีเนื้อหาที่ไม่ได้กล่าวถึงชื่อบุคคล แต่เขียนโดยมีเจตนาเชื่อมโยงเหตุการณ์ในอดีต เมื่อนำเหตุการณ์ในอดีตมาเชื่อมโยงแล้วสามารถระบุได้ว่าหมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เนื้อหาของบทความเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ การที่จำเลยนำบทความไปจัดพิมพ์ จัดจำหน่าย และเผยแพร่ จึงมีเจตนาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ และเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112...(ประชาไท)
 
การลงโทษจำคุกถึง 11 ปี โดยการตีความ ‘ข้อความ’ เพื่อสรุป ‘เจตนา’ ในใจของราษฎรว่าหมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายประมุขของรัฐ ย่อมขัดต่อชุดคุณธรรมของผู้ปกครองตามคำสอนพุทธศาสนาอย่างสิ้นเชิง เพราะตามหลักการของพุทธศาสนาหากคำพูดหรือข้อความใดๆ ที่มีคนกล่าวหา ใส่ความ ด่า และฯลฯ ไม่เป็นความจริง สิ่งที่เราควรทำก็คือแสดงข้อมูลตรงข้ามมาหักล้าง แต่หากเป็นความจริงตามที่เขาว่ามาก็ต้องรับมาแก้ไขปรับปรุงตัวเอง ไม่มีเหตุผลที่ต้องลงโทษถึงขั้นต้องจำคุกใครๆ เพราะข้ออ้างที่ว่าเขาทำผิดด้วย ‘ข้อความ’ หรือ ‘คำพูด’ ในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาจึงไม่เคยมี ‘ศาลไต่สวนศรัทธา’ (Inquisition) เพราะพุทธศาสนามีมุมมองเช่นเดียวกับวลีทองที่ว่า ‘เห็นต่างไม่ใช่อาชญากร’
 
ส่วนในสังคมประชาธิปไตย การทำผิดต่อประมุขของรัฐที่มีความหมายเป็นการหมิ่นประมาทด้วยข้อความหรือคำพูดก็ควรมีโทษทางกฎหมายเท่ากับการหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา เพราะตามหลักเสรีภาพและความเสมอภาคประมุขของรัฐก็คือ ‘คนธรรมดา’ เหมือนกับประชาชนทุกคน
 
การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่สถาบันกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ และยึดประเพณีว่าสถานะของสถาบันกษัตริย์มีความชอบธรรมตามหลักคุณธรรมของผู้ปกครองในคำสอนของพุทธศาสนา จึงไม่ควรจะมี ม.112 หรือกฎหมายใดๆ ที่ยกสถานะของกษัตริย์ให้เป็นอภิสิทธิชนเหนือการวิจารณ์ตรวจสอบ
 
ฉะนั้น การมีกฎหมายอย่าง ม.112 และการใช้กฎหมายเช่นนี้ลงโทษจำคุกราษฎร ย่อมขัดต่อทั้งหลักคุณธรรมของกษัตริย์ตามคำสอนของพุทธศาสนา และขัดต่อหลักเสรีภาพ ความเสมอภาคของสังคมประชาธิปไตยอย่างสิ้นเชิง 
 
สรุปว่า “11 ปี สมยศ”  ไม่ขัดแย้งเฉพาะหลักการสากลคือหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนเท่านั้น แต่ขัดแย้งทั้งหลักการเฉพาะของวัฒนธรรมการปกครองของไทยคือ หลักคุณธรรมของกษัตริย์หรือผู้ปกครองตามคำสอนของพุทธศาสนา
 
คำถามคือ ระบบยุติธรรมไทยจะจองจำ “ความเป็นคน” ที่มีเหตุผลและเสรีภาพของประชาชนเพื่อปกป้องอะไร เพื่อปกป้อง “ความยุติธรรม” หรือครับ แล้วความยุติธรรมต้องยึดโยงอยู่กับหลักการประชาธิปไตยและคุณธรรมของกษัตริย์หรือไม่ ในที่สุดแล้วสังคมจะได้อะไร และใครคือผู้ที่มีความสามารถพอจะรับผิดชอบต่อการขัดขวางกระแสความก้าวหน้าของประชาธิปไตยที่ไม่มีวันจะหยุดนิ่ง หรือถูกตรึงอยู่กับความทรงจำของอดีตที่ชนชั้นปกครองยุคเก่าสร้างขึ้น

 

บล็อกของ กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร

กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
วิจักขณ์​ พานิชกลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์พุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร 
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
วิจักขณ์ พานิชกลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร