เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันตก บทสะท้อนว่าด้วย “จิตสำนึกแบบปัจเจกบุคคล” ในพุทธศาสนา

 



วิจักขณ์ พานิช
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
 
ข้อสังเกตประการหนึ่งต่อการนับถือพุทธศาสนาของคนไทยในปัจจุบัน คือความสูงส่งของคำสอนทางศาสนาอาจไม่ได้ช่วยส่งเสริมการเติบโตของจิตสำนึกแบบปัจเจกบุคคล  ยิ่งในยุคสมัยที่สังคมไทยกำลังเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นสังคมประชาธิปไตย อันมีหลักพื้นฐานประการสำคัญคือการเคารพสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของปัจเจกบุคคล

การเติบโตของจิตสำนึกประชาธิปไตยจึงจำเป็นต้องอาศัยการส่งเสริมศักยภาพ อิสรภาพ และความเป็นตัวของตัวเองของปัจเจกบุคคลไปพร้อมๆ กันด้วย  ทว่าพุทธศาสนาไทยกลับไม่มีคำสอนที่มุ่งเน้นให้ปัจเจกบุคคลตระหนักถึงสิทธิ เสรีภาพ และศักยภาพในตนเองมากนัก และบ่อยครั้งที่ผู้เขียนยังได้ยินคำกล่าวจากปากพุทธศาสนิกชนไทยในทำนองที่ว่า "พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนเรื่องเสรีภาพ" "เสรีภาพอันไม่มีขอบเขต รังแต่จะทำให้สังคมวุ่นวาย"  ยังไม่นับพุทธศาสนิกชนจำนวนไม่น้อยที่พาลรังเกียจการเมืองไปเสียทั้งหมดเพราะการเมืองเป็นเรื่องของกิเลสตัณหาและการแสวงหาผลประโยชน์  

พวกเขาศรัทธาคำสอนทางศาสนาที่มุ่งเน้นกล่อมเกลาชีวิตในอุดมคติ -- คนดีในอุดมคติ ครอบครัวในอุดมคติ สังคมในอุดมคติ รัฐในอุดมคติ พลเมืองในอุดมคติ โดยมองข้ามเสรีภาพในการแสดงออกและการสื่อสารประสบการณ์ชีวิตธรรมดาๆ ของปัจเจกบุคคลที่มีความโลภ โกรธ หลง อย่างตรงไปตรงมา  บ่อยครั้งที่เสรีภาพและความเป็นปัจเจกบุคคลถูกตัดสินว่าเป็นเรื่องความเห็นแก่ตัว เมื่อต่างคนต่างมีเสรีภาพจะทำตามใจตัวเอง ทำตามความอยาก ทำตามความต้องการเสียแล้ว สังคมก็รังแต่จะวุ่นวายโกลาหล  ….

ผลคือเมื่อปัจเจกบุคคลไม่เคยได้รับการปลดปล่อย ยอมรับ และส่งเสริมศักยภาพในประสบการณ์ความเป็นมนุษย์ของตัวเอง จึงยากที่ปัจเจกบุคคลจะแสดงออกซึ่งการเคารพในสิทธิ เสรีภาพ และศักยภาพของมนุษย์คนอื่นอย่างเท่าเทียมกันได้  สังคมเต็มไปด้วยคนดัดจริตผู้สูงส่งทางจิตวิญญาณแต่ขาดสามัญสำนึกของการเคารพคนอื่น เพราะลึกๆ พวกเขาไม่เคยให้โอกาสตัวเอง …

สังคมพุทธทุกวันนี้จึง เต็มไปด้วยภาพความสูงส่งทางศาสนาอันไม่สอดคล้องกับชีวิตจริง ทั้งยังทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญของรัฐในการกดทับศักยภาพของปัจเจกบุคคลอย่างร้ายกาจ  ศีลธรรมทางสังคมตั้งอยู่บนหลักการเดียวกัน ด้วยการมุ่งเน้นไปยังคุณค่าที่ข้ามพ้นตัวตน บุคคล ยุคสมัย เหตุปัจจัย และกาลเวลา เช่น ความรัก ความดีงาม ความสุข ความสงบเย็น สันติ ฯลฯ  ซึ่งความเป็นสัมบูรณ์ (absolute) ดังกล่าวย่อมเอื้อประโยชน์และไปด้วยกันได้ดีกับวัฒนธรรม ประเพณี ในโครงสร้างอำนาจเก่าแบบศักดินา คุณค่าทางจิตวิญญาณแบบแนวดิ่ง อันสะท้อนค่านิยมแบบเคารพสถานะ แยกลำดับชั้น เหมารวม  คิดแทน ใช้อำนาจตัดสินถูกผิด และสัจธรรมอำนาจนิยมอกาลิโกแบบจริงแท้ตลอดกาล และยิ่งความเป็นสัมบูรณ์ถูกยกเป็นมาตรฐานทางสังคมมากเท่าไหร่ มนุษยธรรม ความเป็นคน ปุถุชน และประชาชนก็ดูจะถูกลดทอนคุณค่าลงไปมากเท่านั้น  

คำสอนทางศาสนาและนโยบายทางศีลธรรมที่ถูกกำหนดโดยรัฐไม่ต้องการให้เกิดการตระหนักรู้ทางสังคมต่อความเปลี่ยนแปลงเชิงสัมพัทธ์ (relative) อันสะท้อนอยู่ในพลังและการปลดปล่อยของปัจเจกบุคคล เพราะพลังการตื่นรู้ดังกล่าวจะนำไปสู่การมีส่วนร่วมและการเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกทางสังคมในแนวราบให้ขยาย กระจายตัวออกไปอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์  จึงไม่น่าแปลกใจที่สำหรับคนจำนวนไม่น้อย คุณค่าของพุทธศาสนาถูกมองว่าไปกันไม่ได้กับคุณค่าประชาธิปไตย (หรือแม้แต่คุณค่าของวิชาการ/การศึกษาสมัยใหม่ ซึ่งมุ่งเน้นเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดและการวิพากษ์วิจารณ์) โดยมักถูกผลักให้กลายเป็นอื่นด้วยการใส่ป้ายว่า "คุณค่าแบบตะวันตก"
 
การปฏิบัติทางจิตวิญญาณเกี่ยวข้องกับการแสวงหา และสำรวจตนเอง เพื่อการค้นพบว่าเราคือใคร เราเกิดมาทำไม การแสวงหาดังกล่าว ช่วยให้เราได้ค้นพบตัวเอง การได้เผชิญกับสิ่งที่เรารัก สิ่งที่เราเกลียด สิ่งที่เรากลัว สิ่งที่มีความหมายต่อชีวิตและจิตวิญญาณ ทำให้เรารู้ว่าความสัมพันธ์ที่เรามีต่อสิ่งต่างๆ ดังกล่าว ได้ก่อร่างสร้างนิสัยและความคุ้นเคยขึ้นมาเป็นสิ่งที่เราเชื่อว่าเป็นตัวเรา  การค้นพบตัวเอง ทำความรู้จักตัวเราเองทำให้เราสงบเย็น แจ่มชัด และดำเนินชีวิตอย่างมีเป้าหมายยิ่งขึ้น  การจะวางใจในธรรมชาติของความเป็นมนุษย์จำเป็นต้องผ่านการฝึกฝน เผชิญกับตัวเองอย่างไม่หนี  ธรรมชาติแห่งความตื่นรู้นี้เป็นสิ่งที่มีอยู่เป็นพื้นฐานในทุกชีวิต และการรู้แจ้งด้วยตนเองในสัจธรรมแห่งจิตใจนี้ คือความพิเศษของสายปฏิบัติทางจิตวิญญาณของโลกตะวันออก  คำสอนทางจิตวิญญาณของโลกตะวันออกเต็มไปด้วยการเน้นย้ำถึงความสำคัญของการดำเนินชีวิตด้านในอย่างสอดคล้องกับธรรมชาติ แทนที่จะส่งจิตออกข้างนอก เพื่อยึดมั่น เปลี่ยนแปลง และควบคุมสิ่งต่างๆ ให้เป็นไปตามที่เราต้องการ เราหมุนพลังนั้นกลับมา เพื่อใช้มองเข้าข้างใน ให้เห็นถึงแก่นสารแห่งความตื่นอันว่างเปล่าจากตัวตนนั้น  การตระหนักถึงธรรมชาติอันจริงแท้ภายในที่เปิดกว้าง ตื่นรู้ สุกสว่าง และเปี่ยมกรุณานั้น ช่วยให้เราสามารถสัมพันธ์กับชีวิตในหนทางที่เต็มเปี่ยม ทรงพลัง และรุ่มรวยด้วยประสบการณ์อันหลากหลายยิ่งขึ้น การรู้แจ้งในธรรมชาตินี้เองที่จะช่วยปลดปล่อยเราจากบ่วงโซ่พันธนาการของเหตุปัจจัยในอดีต อันเป็นที่รู้จักกันในโลกตะวันออกว่า บ่วงโซ่แห่งกรรม 
 
จากทัศนะดังกล่าว เมื่ออิสรภาพ ความสุข และความดีงามของมนุษย์มีอยู่แล้วภายในตน ดังนั้นงานสำคัญที่สุดของมนุษย์ ก็คือการฝึกฝนเพื่อเข้าถึงการรู้แจ้งในธรรมชาติอันจริงแท้นั้น นี่คือสาระสำคัญของคุณค่าทางจิตวิญญาณแห่งโลกตะวันออก….
 
ในขณะที่ภูมิปัญญาแห่งโลกตะวันออกส่องสว่างให้เราเห็นถึงธรรมชาติสูงสุดแห่งสรรพสิ่ง ธรรมะอันข้ามพ้นโลกย์ ข้ามพ้นปัจเจกบุคคล ข้ามพ้นความสัมพันธ์อันพัวพันรัดรึง และข้ามพ้นประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ภูมิปัญญาแห่งโลกตะวันตกกลับดำเนินไปในวิถีที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง...       
 
รากฐานภูมิปัญญาแบบโลกตะวันตกบอกเราว่า การที่เราอยู่ที่นี่ เกิดมาบนโลกใบนี้ ไม่ใช่เพียงเพื่อเป้าหมายการรู้แจ้งถึงธรรมชาติสูงสุดเท่านั้น หากแต่รวมถึงการหาหนทางที่จะนำเอาธรรมชาตินั้นมาสู่ภาวะของความเป็นมนุษย์ทุกแง่มุมอย่างเต็มที่ หากโลกตะวันออกเน้นย้ำถึงมิติทางจิตวิญญาณแนวตั้ง  อันแสดงถึงคุณค่าอันข้ามพ้นกาลเวลา ข้ามพ้นตำแหน่งแห่งที่ (ซึ่งบ่อยครั้งแสดงออกในลักษณะการไม่ให้ความสำคัญต่อบริบทเฉพาะแบบโลกย์ๆ)  โลกตะวันตกกลับมุ่งเน้นถึงมิติทางจิตวิญญาณแนวราบ อันแสดงถึงคุณค่าชีวิตในความเป็นปัจเจกบุคคล ซึ่งเป็นคุณค่าที่เผยให้เห็นและสัมผัสได้ในชีวิตผู้คน “แต่ละคน” แต่ละยุค แต่ละสมัย และแต่ละบริบทเฉพาะ
 
โลกตะวันตกได้ให้กำเนิดแนวคิดอันก้าวหน้ามากมายแก่โลกใบนี้ อาจเรียกได้ว่าเป็นแนวคิดปฏิวัติ แนวคิดแบบแปดเปื้อนไปกับความเป็นจริงแบบโลกย์ๆ ซึ่งมีพลังพลิกเปลี่ยนโลกใบนี้ราวกับพายุ  มันแสดงออกถึงความศักดิ์สิทธิ์แห่งปัจเจกบุคคล  นั่นคือคนแต่ละคนเกิดมาบนโลกนี้ไม่ได้เพียงเพื่อประพฤติปฏิบัติตนตามประเพณี วัฒนธรรม ที่ถูกสืบทอดต่อๆกันมา ตามครอบครัว ตามสังคม และตามความเชื่อศาสนาเพียงเท่านั้น แต่ป้จเจกบุคคลมีภารกิจในการค้นพบศักยภาพ พรสวรรค์ พลังการสร้างสรรค์ ที่เรียกว่า  “ความเป็นตัวของตัวเอง” อันเปรียบได้กับของขวัญที่แต่ละคนอาจมอบไว้ให้แก่โลกใบนี้   นี่คือหลักการพื้นฐานของแนวทางปลดปล่อยความเป็นตัวเอง (individuation)  ซึ่งไม่ถือเป็นหลักสำคัญในคุณค่าแบบโลกตะวันออก  ในโลกตะวันตก คุณค่าที่มีต่อความเป็นปัจเจกบุคคลได้ช่วยปลดปล่อยศักยภาพในการตั้งคำถาม และสำรวจตรวจสอบธรรมชาติของสิ่งต่างๆ อย่างอิสระ โดยปราศจากสยบยอมต่ออำนาจและความเชื่อทางศาสนาอันตายตัว สติปัญญาอันโพยพุ่งในแนวราบได้ก่อกำเนิดเป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และรากฐานแห่งการใช้เหตุผลนี้เองที่นำไปสู่พัฒนาการของวิชาการด้านจิตใจ ในรูปของ “จิตวิทยาตะวันตก”
 
จิตวิทยาตะวันตกมุ่งเน้นไปที่ "จิตปรุงแต่ง" และการเข้าไปทำความเข้าใจทุกแง่มุมของจิตปรุงแต่งนั้นด้วยความสนใจใครรู้ ไม่ต่างกับที่โลกตะวันออกทำความเข้าใจธรรมชาติของจิตอันไม่ปรุงแต่ง  จิตวิทยาตะวันตกช่วยให้เราเข้าใจสภาวะจิตใจของปัจเจกบุคคลอันสลับซับซ้อน หนทางที่จิตปรุงแต่งเรื่องราวต่างๆ จนเกิดเป็นปมขัดแย้งและภาวะไม่เป็นปกติ ทั้งยังสามารถฉายซ้ำภาพความปั่นป่วนภายใน และแบบแผนการปกป้องตัวเอง เกิดเป็นพลวัตของความสัมพันธ์ต่อผู้อื่น ต่อสังคม และต่อโลกใบนี้ตั้งแต่วัยเด็กจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่  จากมุมมองดังกล่าว การเยียวทางทางจิตจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยความเข้าใจ การยอมรับ การได้รับความกระจ่าง และการสัมพันธ์กับพัฒนาการของพลวัตเหล่านี้อย่างตรงไปตรงมา
 
โลกตะวันออกและโลกตะวันตก มีวิธีการมอง “จิตวิทยา” แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง  จิตวิทยาใคร่ครวญภายในแบบตะวันออก ตั้งอยู่บนพื้นฐานการปฏิบัติภาวนา การเรียนรู้ตัวเอง การปล่อยวางอดีต และการยึดมั่นทางความคิด การสื่อสารคำสอนเป็นไปเพื่อความรู้แจ้งในธรรมชาติอันสัมบูรณ์ของสัจธรรม (โลกุตรธรรม) ซึ่งจะพบได้ก็ต่อเมื่อไปพ้นจากขอบเขตของจิตปรุงแต่ง  ทว่าในจิตวิทยาบำบัดแบบตะวันตกนั้น พื้นฐานตั้งอยู่บนวิธีปฏิบัติทางคลินิค การสนทนาถามตอบ และการวิเคราะห์เชิงหลักการ ซึ่งช่วยให้เราสามารถสืบหาต้นเหตุและปัจจัยแวดล้อมเฉพาะอันส่งผลต่อพฤติกรรม สภาวะจิตใจ และโครงสร้างของตัวตนในภาพรวม   จะเห็นได้ว่าการรู้แจ้งแบบโลกตะวันออกมุ่งเน้นไปที่สัจธรรมข้ามพ้นตัวตน อันไปพ้นหลักการและความคิดเชิงเหตุและผล ส่วนการรู้แจ้งแบบโลกตะวันตกมุ่งเน้นไปที่การเข้าใจประสบการณ์ในปัจเจกสภาวะ อันสัมพันธ์อยู่กับหลักการ และความเป็นเหตุเป็นผลของพฤติกรรมต่างๆ อย่างไม่อาจมองข้ามได้  แม้ทั้งสองแนวทางดูจะขัดแย้งกันในที ทว่าการประกอบกันของคุณค่าทั้งสองนี้เองที่จะทำให้การรู้แจ้งในศักยภาพที่มีอยู่ในตัวมนุษย์สมบูรณ์อย่างแท้จริง 
 
พ้นไปจากความแตกต่างทางภูมิศาสตร์ เชื้อชาติ วัฒนธรรม ภูมิปัญญาแห่งโลกตะวันออกและโลกตะวันตกแสดงให้เห็นถึงสองแง่มุมที่แตกต่างในตัวเราเอง  อุปมาอุปไมยเหมือนกับการหายใจออกและหายใจเข้า  ในการเน้นย้ำแบบโลกตะวันออกที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยวางการยึดมั่นในโลกเชิงกายภาพ รูป วัตถุ ความเป็นปัจเจกบุคคล และประวัติศาสตร์ที่ผ่านไปแล้วนั้น เปรียบได้กับการหายใจออก ขณะที่การเน้นย้ำแบบตะวันตกที่เกี่ยวข้องกับการปรากฏขึ้นของรูป ปรากฏการณ์ ประสบการณ์ส่วนบุคคล ความเป็นตัวของตัวเอง การมีส่วนร่วมทางประวัติศาสตร์ และพลังการสร้างสรรค์ในตัวบุคคล เปรียบเหมือนกับการหายใจเข้า…. 
 
เมื่อการหายใจเข้าจำเป็นต้องสัมพันธ์อยู่กับการหายใจออก 
เช่นเดียวกันกับที่การหายใจออกก็ต้องสอดคล้องไปกับการหายใจเข้า เป้าหมายหรือความสูงส่งทางจิตวิญญาณก็ต้องตั้งอยู่บนประสบการณ์ชีวิตและเส้นทางการลองผิดลองถูกเฉพาะตนของปัจเจกบุคคลอย่างไม่อาจแยกขาดจากกันได้  การจะค้นพบศักยภาพที่แท้จริงในตัวมนุษย์แต่ละคน จำเป็นจะต้องนำทั้งสองด้านมาผนวกกัน ทั้งความจริงสัมบูรณ์และสัมพัทธ์  ข้ามพ้นบุคคลและในระดับบุคคล ฟ้าและดิน โลกุตระและโลกียะ... 
 
ตะวันออกและตะวันตกจะปะทะกัน เรียนรู้จากกัน และประสานกันในท้ายที่สุด และนี่คือจิตวิญญาณการตื่นรู้ของมนุษยชาติในโลกสมัยใหม่ การรู้แจ้งที่จะงอกงามอยู่บนดิน และสัมพันธ์อยู่กับสุขทุกข์ตามที่เป็นจริง เติบโตเป็นความเคารพในความเป็นมนุษย์และศักยภาพอันแตกต่างหลากหลายของปัจเจกบุคคล และเมื่อพลังของปัจเจกบุคคลได้ถูกปลดปล่อยอยู่ในพื้นที่แห่งเสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ พลวัตแห่งความเป็นธรรมและมนุษยธรรมอันดีงามอยู่แล้วโดยพื้นฐาน ก็จะรังสรรค์สังคมแห่งการรู้แจ้งขึ้นเองตามธรรมชาติ 
 
[ บันทึกและเก็บความจากแรงบันดาลใจที่ได้จากงานของ John Welwood ที่ชื่อ "Toward a Psychology of Awakening: Buddhism, Psychotherapy, and the Path of Personal and Spiritual Transformation" ]