บ้านเมืองเขาลงแดง จากเผด็จการทหารสู่เผด็จการพุทธศาสนาพม่า


ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์
พุทธศาสน์ของราษฎร


พระวีระธุ พระภิกษุชาวพุทธที่เดินหน้ารณรงค์ต่อต้านมุสลิมในพม่า

"พวกเราถูกข่มขืนในทุกๆ เมือง ถูกล่วงละเมิดทางเพศในทุกๆ เมือง ถูกรุมรังแกในทุกๆ เมือง"
"ในทุกๆ เมืองจะมีกลุ่มชาวมุสลิมส่วนมากที่ป่าเถื่อนและหยาบคาย"

พระวีระธุกล่าวให้สัมภาษณ์กับ The Guardian ขณะอยู่ที่วัดมะซอเหย่น ในเมืองมัณฑะเลย์
 

ผู้เขียนเคยสงสัยอยู่บ้างว่า เหตุใดระบอบเผด็จการทหารพม่าที่ยืนยงมาอย่างน้อยตั้งแต่สมัยนายพลเนวิน ตั้งแต่ปี 2505 จึงอยู่ดีมีสุขในประเทศที่รู้จักกันดีว่า พุทธศาสนารุ่งเรือง เข้มแข็งและมั่นคงอย่างยิ่ง ทั้งสองอย่างมันเกี่ยวก้อยเดินทางไปกันอย่างไร บทความนี้สนใจถึงสถานะของพุทธในประเทศพม่ากับสะเก็ดระเบิดความขัดแย้งกับมุสลิมของพม่าที่เกิดขึ้นเร็วๆนี้ ทั้งยังไม่มีทีท่าจะจบได้ง่าย และอาจยังเป็นตัวแบบเพื่อการศึกษาเทียบเคียงกับสังคมไทยได้ 

อาจกล่าวได้ว่า พุทธศาสนาและพระสงฆ์มีบทบาทในฐานะรอยต่ออันสำคัญของ "ชาวพม่า" ทั้งในส่วนที่ให้ความชอบธรรมกับเผด็จการ, พระสงฆ์อุทิศตนเพื่อประชาชน พระสงฆ์อีกส่วนหนึ่งก็แสดงให้เห็นถึงการลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า โดยเฉพาะในเหตุการณ์ปฏิวัติชายจีวร 2550 ตรงกับช่วงที่เหตุการณ์เผด็จการทหารในไทยกลับมาเรืองอำนาจอีกครั้ง การต่อสู้ของประชาชนพม่าพร้อมกับพระสงฆ์อันโรแมนติกได้ช่วยซ่อนมายาภาพ และฐานะของศาสนาพุทธในภาพอื่นที่ไม่พึงประสงค์ได้เป็นอย่างดี

แคมเปญ Free Burma! Free Aung San Suu Kyi! เป็นแคมเปญที่ทำให้ทั่วโลกเอื้ออาทรกับซีกแสงสว่างของพม่า ตัดกับความชั่วช้าเลวร้ายของเผด็จการทหารที่ก่อกรรมทำเข็ญมาอย่างให้อภัยไม่ได้ อย่างไรก็ตามพึงระลึกว่า การคุกคามของพม่า การปล้นฆ่า ข่มขืน เผาหมู่บ้านและทารุณกรรมต่างๆต่อชนกลุ่มน้อยก็เป็นกรรม เป็นการกระทำที่มีอยู่จริง

หลายคนสงสัยกันมานานแสนนานว่า ไอ้คำว่าเผด็จการทหารของพม่านั้น มันมีโครงสร้างทางการเมืองแบบใด เรียกตัวเองว่าระบอบไหน บางคนคิดว่า มันน่าจะเป็นเผด็จการแบบคอมมิวนิสต์ แต่โดยเนื้อแท้แล้วไม่ใช่ จริงอยู่ว่า พม่านั้นได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีนเพื่อการดุลอำนาจของภูมิภาคนี้ แต่โครงสร้างของพม่านั้นคลุมเครือ ในด้านหนึ่งก็เปิดโอกาสให้กลุ่มทุนต่างชาติเข้าไปดำเนินการแบบจำกัด ในอีกด้านหนึ่งก็มีพรรคปกครองประเทศพรรคเดียว แต่ก็ไม่ใช่พรรคคอมมิวนิสต์ ว่ากันว่า รัฐบาลพม่าได้ปราบพรรคคอมมิวนิสต์ด้วยซ้ำ เนื่องจากว่าเป็นภัยต่อสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่พวกเขาเรียกตัวเองว่า เป็นประเทศสังคมนิยมวิถีพม่า นับตั้งแต่การรัฐประหารรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี อูนุ ในปี 2505[1]

เหตุการณ์ต่อสู้กับรัฐบาลทหารพม่า อันโรแมนติกและเจ็บปวด ปะทุขึ้นในเหตุการณ์ที่เรียกว่า 8888 ในวันที่ 8 เดือน 8 ปี 1988/2531 อันเริ่มจากการเรียกร้องทางเศรษฐกิจก่อน แล้วยกระดับไปสู่การเรียกร้องทางการเมือง กลายเป็นทั้งสัญลักษณ์การต่อสู้ และบาดแผลของชาติ การปิดมหาวิทยาลัยและการที่รัฐบาลจับตาความเคลื่อนไหวทางการเมืองผ่านพื้นที่สาธารณะถูกทำให้พวกเขาไร้ที่ยืนอย่างเป็นทางการ จึงไม่แปลกที่เราจะพบว่า นอกประเทศพม่า เหล่านักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยได้ดำเนินการอยู่อย่างคึกคัก แต่ในอีกด้าน ภายใต้อารามและยูนิฟอร์มจีวรสีแดงวัดพุทธได้กลายเป็นศูนย์กลางความเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบลักกะปิดลักกะเปิด พระในพม่าในด้านหนึ่งได้กลายเป็นที่พึ่งของประชาชนอย่างน้อยก็คือ คนเชื้อสายพม่าที่นับถือพุทธ สิ่งที่แสดงให้เห็นชัดเจนที่สุดก็คือ การปฏิวัติชายจีวรที่เกิดขึ้นในปี 2550 เมื่อพระพม่าออกเดินนำ ด้วยจีวรและหัวที่โล้นเลี่ยน พร้อมกับบาตร กลายเป็นเกราะคุ้มกายอย่างดี แต่เราก็ปฏิเสธมิได้ถึงข่าวการทำร้ายพระพม่าจนถึงแก่ชีวิต แต่สัญลักษณ์ดังกล่าวยิ่งสร้างอำนาจนำของพระสงฆ์ขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศแห่งนี้

พุทธศาสนาจึงกลายเป็นอาวุธชั้นดี และเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งสำหรับการเดินเกมการเมืองในพม่า เช่นเดียวกับศาสนาอื่นๆ ในประเทศอื่นๆ ที่ยังมีปัญหาความคลุมเครือระหว่าง state และ church 

บ้านเมืองเขาลงแดง

ผู้เขียนยังไม่สามารถค้นรายละเอียดได้ว่า เงื่อนไขที่ซับซ้อนของการความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธและมุสลิมที่จบลงที่ความตายและการนองเลือดเกิดจากอะไรบ้าง แต่ในที่นี้ขอตั้งข้อสังเกตว่า ในสภาพบ้านเมืองที่ถูกกดจากรัฐบาลทหารพม่ามาอย่างยาวนาน ความเจริญก้าวหน้าถูกแช่แข็งด้วยเศรษฐกิจแบบพอพุทธ แบบสังคมวิถีพุทธ ทำให้ประชาชนชาวพม่าส่วนใหญ่จมอยู่กับความยากไร้ แม้ว่าเผด็จการทหารพม่าจะอยู่อย่างร่ำรวยและมั่งคั่ง แต่พวกเขาก็ยังอาจก้มหน้ารับชะตากรรม เนื่องมาจากเกรงรัฐภัย ในอีกด้านรัฐบาลเองก็พยายามสร้างความชอบธรรมผ่านการเมืองชาตินิยมแบบพุทธที่ก้มหน้าก้มตาจรรโลง และอุปถัมภ์พุทธศาสนาอย่างออกหน้าออกตา

ในทางกลับกันหากคนเถื่อนนอกศาสนามีอำนาจทางเศรษฐกิจที่เหนือกว่า ย่อมเป็นสิ่งที่ตะขิดตะขวงใจ ในเมื่อท่ามกลางชีวิตที่ทุกข์เข็ญ ศาสนาพุทธอาจเป็นแสงสว่างเดียวที่พวกเขายึดมั่นไปจนวันตาย ตราบจนเกิดใหม่ การเข้ามามีบทบาททางด้านเศรษฐกิจของชาวมุสลิมในพม่าจึงกลายเป็นหนามยอกใจชาวพุทธ เพราะนั่นหมายถึง อำนาจที่่มาพร้อมกับความเหนือกว่าทางเศรษฐกิจที่มา ร่วมกับความรู้สึกถึงภาวะคุกคามโลกทางจิตวิญญาณของพวกเขาโดยตรง

เราพบว่า มีพระสงฆ์พม่าหัวรุนแรงที่ชื่อ วีระธุ หรือที่เรียกกันว่า บินลาเดนแห่งพม่า เขาเป็นที่รู้จักจากแคมเปญบอยคอตต์ธุรกิจของชาวมุสลิม ที่เขาเป็นผู้นำรณรงค์ในปี 2001/2544 พบว่าครั้งนั้นเขาถูกจับและมีโทษจำคุก 25 ปี ข้อหายุยงให้เกิดความรุนแรงต่อชาวมุสลิม แต่ถูกปล่อยตัวในช่วงที่มีการนิรโทษกรรมขนานใหญ่ในปี 2010/2553 หลังจากถูกปล่อยตัว พระวีระธุก็ทำตัวเทศนาเผยแพร่ความเกลียดชังต่อไป เชื่อกันว่าคำพูดของเขาเป็นเชื้อไฟอย่างดีในการปลุกระดม จนเกิดการปะทะกันระหว่างชาวพุทธและชาวมุสลิมชาติพันธุ์โรฮิงยาในรัฐอาระกันเมื่อเดือน มิถุนายน 2012/2555 ทำให้ประชาชนถูกสังหาร ราว 200 ราย และมากกว่า 100,000 คนไม่มีที่อยู่อาศัย

ความแสบของศิษย์ตถาคตผู้นี้ก็คือ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2556 วีระธุเพิ่งได้รับรางวัล "เสรีภาพในการนับถือศาสนา" จากวัดศาสนรามสี (Sasana Ramsi) ซึ่งเป็นวัดพม่าชั้นนำตั้งอยู่ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในสัปดาห์เดียวกับที่เขาแพร่ข่าวลือเรื่องโรงเรียงย่างกุ้งกำลังถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นมัสยิด มีการวิจารณ์ว่า เสรีภาพในการนับถือศาสนาดังกล่าวคงเป็นเสรีภาพในการเทศนาตามใจชอบ และนี่อาจเป็นเงื่อนไขที่ทำให้เริ่มมีพระรายอื่นเริ่มเทศนาสร้างความเกลียดชังอิสลามในทำนองเดียวกันแล้ว[2]


การประท้วงให้หยุดใช้ "โทสาวาท" (Hate speech)


ฆ่า และเผา โดยเราชาวพุทธ

เรื่องใหญ่อีกระลอกที่เกิดขึ้นก็คือ การจลาจลที่เมืองเมกติลา ภาคมัณฑะเลย์ ทางตอนกลางของพม่าโดยสาเหตุความขัดแย้งบานปลายมาจากเหตุการณ์วิวาทส่วนบุคคลในร้านทองของมุสลิมใจกลางเมืองเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2556 โดยมีคู่สามีภรรยาชาวพุทธคู่หนึ่งไปขายเครื่องเพชร เกิดเหตุถกเถียงกันเรื่องราคาไม่รู้อย่างไรจนถึงขั้นลงไม้ลงมือ มีรายงานว่าเจ้าของร้านได้ทุบศีรษะของลูกค้า ความบาดหมางที่คุกรุ่นอยู่แล้วระหว่างสองศาสนิกชนได้ลุกลามออกสู่ชุมชน โดยมีข่าวว่าพระรูปหนึ่งถูกทำร้าย และต่อมาเสียชีวิตที่โรงพยาบาล ยิ่งทำให้องศาของโทสะพุ่งสูงจนกล่าวกันว่านำไปสู่การเผาและไล่ทำร้ายชุมชนมุสลิมในเมืองเมกติลา[3]

ในรายงานของ BBC ยังมีให้รายละเอียดเหตุการณ์สังหารเด็กชาวมุสลิม 20 คนที่นอกศาลากลางเมือง โดยที่เด็กทั้ง 20 คน ถูกนำตัวออกมาจากโรงเรียนมุสลิมและถูกฟันจนเสียชีวิตทั้ง 20 คน จากนั้นจึงมีการราดน้ำมันและจุดไฟเผา โดยที่โจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าว BBC รายงานว่ายังคงมีเศษกระดูกไหม้เกรียมอยู่ตามขี้เถ้าบนพื้น และมีรองเท้าที่ถูกทิ้งไว้ ขณะที่วิน เถ่ง นักการเมืองฝ่ายอองซานซูจี เล่าว่า มีกลุ่มคนออกมาตะโกนส่งเสียงเชียร์เมื่อมีการสังหารเกิดขึ้น ซึ่งในกลุ่มคนมีทั้งผู้หญิง,พระ และเด็ก พวกเขาตะโกนว่า "พวกมันฆ่าพระเราไปเมื่อวาน พวกเราถึงต้องฆ่าพวกมัน" [4]


พระภิกษุกับตำรวจในเมืองเมกติลา

สภาพเมืองเมกติลา


ข่าวล่าสุดมีรายงานวันที่ 25 เมษายน 2556 ว่า ชาวมุสลิมที่ลอกสติกเกอร์ของชาวพุทธหัวรุนแรงในนามของกลุ่ม “969 movement” ทิ้ง ถูกจับและถูกศาลตัดสินจำคุกเป็นเวลา 2 ปี ในข้อหาหมิ่นศาสนาโดยให้เหตุผลว่า “เป็นพฤติกรรมที่จงใจและประสงค์ร้ายที่จะทำลายความรู้สึกทางศาสนาด้วยการดูหมิ่นศาสนาหรือความเชื่อทางศาสนา” ทั้งที่สติกเกอร์เหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของการปลุกระดมรณรงค์ต่อต้านชาวมุสลิม ล่าสุดพระวิรธูเดินทางไปยังรัฐกะเหรี่ยงเดินหน้าแคมเปญต้านมุสลิมและรณรงค์ให้ทำลายมัสยิดด้วยเหตุผลว่า “ไม่บาป” เพราะเป็นการทำลายที่มั่นของศัตรู[5]

เราไม่แน่ใจว่า ความกลัวถึงขั้นโฟเบียอิสลามของชาวพุทธพม่านั้น เป็นความทรงจำเดียวกับชาวพุทธไทยที่มักอ้างว่าอิสลามเป็นเหตุที่ทำให้ศาสนพุทธหมดไปจากประเทศอินเดียหรือไม่ จากหนังสือ กาลานุกรม พระพุทธศาสนาในอารยธรรมโลก  (2554, พิมพ์ครั้งที่ 5) โดย พระประยุทธ์ ปยุตฺโต กล่าวถึงช่วงเวลาดังกล่าวใน หน้า 118-119 ว่า
 

“ระยะปี 1248-1258/705-715 ทัพมุสลิมอาหรับก็ได้บุกขึ้นไปปราบอาเซียกลาง นำประชากรแถบนั้นเข้าสู่มุสลิม ฝรั่งบันทึกว่า ทัพมุสลิมอาหรับบุกถึงไหน ทัพอินเดียแม้จะมีกำลังพลเหนือกว่ามากมายก็ย่อยยับแหลกลาญและถูกสังหารอย่างผักปลาที่นั่น เพราะพวกฮินดู (รวมทั้งชาวพุทธ) มัวเพลินกับชีวิตที่สุขสบาย (กลายเป็นคนอ่อนแอและประมาท) แต่อาจเป็นเพราะอีกอย่างหนึ่งด้วย คือ ทัพมุสลิมยกมาแบบสายฟ้าแลบ คาดไม่ถึงและใช้วิธีฆ่าทำลายไม่เลือก แบบที่ฝ่ายอินเดียไม่คุ้นและตั้งรับไม่ทัน...ต่อมามุสลิมอาหรับอ่อนกำลังลง และที่ศูนย์กลางหันไปเน้นด้านความสงบ พวกเตอร์กในอาเซียกลางที่เป็นมุสลิมแล้ว ก็ยกกำลังออกขยายอำนาจแผ่และพิทักษ์อิสลามแทน


พ.ศ.1749 (ค.ศ.1206) หลังจากเข้าอินเดียภาคเหนือ เผาและฆ่ากราดไปทั่วซึ่งเป็นเหตุสุดท้ายให้พุทธศาสนาหมดสิ้นไปจากอินเดียแล้ว ก็เริ่มยุคสุลต่านแห่งเดลี ที่อินเดียภาคเหนือเป็นจักรวรรดิมุสลิม เหลือเจ้าฮินดูเพียงหย่อมเล็กหย่อมน้อยที่จะต้องปราบต่อไป” (ขีดเส้นใต้โดยผู้เขียน)


สิ่งที่ต้องค้นคว้าเพิ่มเติมมากกว่านี้คือ ประวัติศาสตร์ความรู้สึกนึกคิดของชาวพุทธต่ออิสลามในแต่ละยุคสมัยว่ามันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร อยู่บนฐานอะไร โดยเฉพาะในพม่าที่เป็นพหุสังคม ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆจำนวนมาก พวกเขาผ่านแอกอาณานิคมที่มีบาดแผลตกค้างมาจากการแบ่งแยกและปกครอง พวกเขาเคยชูกระแสชาตินิยมเพื่อหลุดออกจากอังกฤษ กระทั่งใช้บ่าแบกรับน้ำหนักของท็อปบูธที่กดลงมาราวครึ่งศตวรรษ ระหว่างนั้นการดำรงอยู่ของศาสนาอิสลามและการปฏิสัมพันธ์กับมุสลิมเป็นอย่างไร ที่ผ่านมาเรายังเข้าใจเรื่องนี้อยู่น้อยมาก

ทางเดินของสันติภาพ กับ ก้าวย่างของพุทธบุตร จะลงรอยเดียวกันได้หรือไม่ คงต้องดูกันยาวๆว่า ในเมืองฐานะเมืองพุทธที่ยังใช้ศาสนาเป็นเครื่องทรงค้ำหัวอยู่ พวกเขาจะหาหนทางที่จะปรับตัวอย่างไรกับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ตัวของมันเองเสื่อมด้วยปัจจัยภายใน ขณะที่มีภาวะคุกคามของมุสลิมเป็นเดจาวูตามมาคุกคามพวกเขาชนิดที่พวกเขาอยู่ในช่วงที่กำลังจะเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมใหม่ หลังจากที่ระบอบทหารนิยมเริ่มคายอำนาจรัฐดิบเถื่อน รัฐแบบใหม่ของพม่าที่จะเผชิญไม่มีระบบกษัตริย์ให้ตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์ต่อไปแล้ว คงเหลือแต่ศาสนาของศากยมุนีที่ผนวกกลายเป็นเนื้อเดียวกับชาตินิยมเชื้อชาติพม่าที่รอการทดสอบด้วยชาวพม่ากันเอง รวมไปถึงโลกภายนอกที่กำลังจะเข้ามาทำการเปลี่ยนพม่าอีกครั้ง

เชิงอรรถ


[1] อ่านเอกสารเกี่ยวกับการปฏิวัติพม่าสู่ สังคมนิยมวิถีพม่าได้ใน http://www.ibiblio.org/obl/docs/The_Burmese_Way_to_Socialism.htm

[2] ประชาไทออนไลน์. "เรื่องของพระวีระธุผู้ยุยงให้เกิดความรุนแรงทางศาสนาในพม่า". http://prachatai.com/journal/2013/04/46302 (20 เมษายน 2556)

[3] ประชาไทออนไลน์. "หลังจลาจลเมกติลา: ศาลพม่าสั่งจำคุกชาวมุสลิมเจ้าของร้านทอง". http://prachatai.com/journal/2013/04/46231 (13 เมษายน 2556)

[4] ประชาไทออนไลน์. "บีบีซี: อะไรอยู่เบื้องหลังความรุนแรงทางศาสนาในพม่า?". http://prachatai.com/journal/2013/04/46150

(9 เมษายน 2556)

[5] Democratic voice of Burma. "Muslim jailed for removing Buddhist logo from shop". http://www.dvb.no/news/muslim-jailed-for-removing-buddhist-logo-from-sho... (April 25, 2013)