Skip to main content

 

สุรพศ ทวีศักดิ์
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร

 

“มนุษย์เสมอกันในสายตาของพระเจ้า 
แต่ไม่เสมอกันในความสามารถที่จะทำการปกครอง 
เพราะฉะนั้น ประชาธิปไตยจึงเป็นไปไม่ได้ 
และอำนาจต้องรวมอยู่ในมือของเจ้าผู้ปกครอง 
ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจในนามของพระเจ้า”

-มาร์ติน ลูเธอร์-



(ภาพจากหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ)

 

หากแปลงความคิดของลูเธอร์ข้างบนมาแทนความหมาย “เผด็จการโดยธรรม” ของพุทธทาส ก็จะเป็นว่า

“มนุษย์เสมอกันในสายตาของพระธรรม
แต่ไม่เสมอกันในความเหมาะสมที่จะทำการปกครอง
เพราะฉะนั้น ประชาธิปไตยโดยประชาชนที่ยังโง่ ใช้เสรีภาพตามกิเลสจึงเป็นไปไม่ได้
อำนาจต้องรวมอยู่ในมือของผู้เผด็จการโดยธรรม
ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจนั้นในนามของพระธรรม”

 

บทอวยอารัมภบท
 

พุทธทาสคงอยู่ไปไม่มีตาย
ถึงดีร้ายก็จะอยู่คู่ศาสนา
สมกับมอบกายใจรับใช้มา
ตามบัญชาองค์พระพุทธไม่หยุดเลย


อ่านบทกวีของพุทธทาสบทนี้แล้ว นึกถึงคำสั่งเสียของพุทธะที่กล่าวแก่พระสาวกก่อนอำลาโลกว่า “ธรรมและวินัยที่เรากล่าวไว้ดีแล้วจักเป็นศาสดาของพวกเธอ หลังจากเราล่วงลับไป” มีคนจำนวนน้อยในโลกนี้ที่เชื่อว่าผลงานที่ตนเองสร้างขึ้นนั้นจะคงอยู่ต่อไป แม้ว่าตัวเขาจะจากโลกนี้ไปแล้ว พุทธะเลือกเส้นทางชีวิตที่ต่างออกไปจากวิถีทางของศาสนาหลักๆ ในอินเดียโบราณ ผลแห่งการเลือกนั้นนำมาสู่ความมั่นใจในบั้นปลายว่า แม้ชีวิตจะแตกสลายไป แต่ผลงานคือธรรมวินัยจะคงอยู่ต่อไป พุทธทาสก็เลือกเส้นทางที่ต่างออกไปจากชาวพุทธร่วมสมัย และจากโลกนี้ไปด้วยความมั่นใจว่าผลงานทางปัญญาอันเกิดจากการรับใช้พุทธะจะยังคงอยู่ต่อไปส่วนบนของฟอร์ม

วันที่ 27 พฤษภาคม 2556 ที่จะถึงนี้เป็นวันล้ออายุพุทธทาสภิกขุ (พ.ศ. 2449 - 2536) ครบ 107 ปี เป็นความจริงว่า พุทธทาสถูกอ่าน ตีความ อ้างอิง และ/หรือตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์ในหลากหลายแง่มุม แล้วแต่พื้นฐานข้อมูล ความเข้าใจ ความคิด ความรู้สึก ที่แต่ละคนมีต่อพุทธทาสที่แตกต่างกันไป

บางมุมมองร่วมสมัยที่น่าสนใจ เช่น ในปาฐกถาชื่อ “การสร้างสรรค์สติปัญญาอย่างไทย”  สุลักษณ์ ศิวรักษ์ มองว่า บุคคลสำคัญที่มีบทบาทสร้างสรรค์ “สติปัญญาอย่างไทย (ส่วน) ที่มีพุทธศาสนาเป็นแกน” คือชนชั้นปกครองในระบบราชาธิปไตยทั้งนั้น เช่น พ่อขุนรามคำแหงนำปรัชญาการเมืองแบบพุทธเถรวาทตามนัยจารึกอโศกมาเป็นแนวทางปกครองดังหลักฐานคือศิลาจารึกหลักที่ 1 บุคคลที่สองคือพญาลิไทผู้แต่งไตรภูมิพระร่วงซึ่งมีผลให้สถานะกษัตริย์เป็นเทวราช เป็นพระโพธิสัตว์ ที่มีอิทธิพลต่อมาตลอดสมัยอยุธยาจนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น บุคคลที่สามคือ “วชิรญาณภิกขุ” หรือรัชกาลที่ 4 ผู้ปฏิรูปพุทธศาสนาและปรัชญาการปกครองโดยย้อนกลับไปอ้างอิงปรัชญาการเมืองของพุทธเถรวาทยุคสุโขทัย พร้อมกับตีความพุทธศาสนาให้เข้ากันได้กับวิทยาศาสตร์ ส่งผลตกทอดมาสู่รัชกาลที่ 5 ที่ทำให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งรัฐเต็มรูปแบบ โดยมีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สืบทอดการตีความพุทธศาสนาให้สอดคล้องกับวิทยาศาสตร์ และจัดวางระบบการการปกครองและการศึกษาของคณะสงฆ์ให้ขึ้นต่อส่วนกลางทั้งหมด เรื่อยมาถึงรัชกาลที่ 6 ที่ตีความพุทธศาสนาสนับสนุนอุดมการณ์ “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” จนมีอิทธิพลต่อสังคมไทยมาถึงปัจจุบัน แต่ทั้งหมดนี้เป็นเพียงการสืบทอดอิทธิพลความคิดทางพุทธศาสนาจากรัชกาลที่ 4 เป็นหลัก

ส่วนบุคคลที่สี่คือพุทธทาสภิกขุ เป็นสามัญชนคนแรกที่ปฏิรูปภูมิปัญญาพุทธศาสนาอย่างพ้นไปจากลัทธิชาตินิยม ลัทธินิกาย พ้นไปจากอคติระหว่างศาสนา ทำให้พุทธศาสนามีความเป็นสากล โดยมีส่วนในการเสนอคำอธิบาย และทางออกจากปัญหาทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองร่วมสมัย และสันติภาพของโลก

ในบทความ “พุทธทาสกับความเป็นขบถเสรีภาพในพุทธศาสนาไทย” (ประชาไท, 30 เม.ย.56) วิจักขณ์ พานิช มองว่าพุทธทาสคือ “ขบถเสรีภาพในพุทธศาสนาไทย” เพราะ “พุทธศาสนาแบบทางการ” ไม่มีเสรีภาพในการตีความ ไม่ส่งเสริมวัฒนธรรมการตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ พุทธทาสจึงเป็นผู้บุกเบิกเสรีภาพในการตีความพุทธศาสนาคนแรกของสังคมไทย ดังที่เขาเขียนว่า

“บุคคลสำคัญที่ต่อสู้ในเรื่องนี้ และเปิดจินตนาการการตีความคำสอนให้กับพุทธศาสนาไทยอย่างที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ก็คือท่านพุทธทาส โดยที่เราต้องไม่ลืมว่า การก่อตั้งสวนโมกข์ เกิดขึ้นเพราะการปฏิเสธแนวทาง สถานะ และการตีความคำสอน/ธรรมวินัย ตามแบบพุทธศาสนาของรัฐโดยตรง”

 และ “จะว่าไป งานทั้งหมดที่ท่านพุทธทาสทำตลอดทั้งชีวิต ก็คืองานแปลความ การถอดความ ตีความคำสอนพุทธศาสนานั่นเอง ....ในพุทธศาสนาธิเบตเรียกครูบาอาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ว่า “The Great Translator“ ในแต่ละยุคแต่ละสมัยผู้สืบทอดสายธรรมมีหน้าที่จะฝึกฝนตัวเองผ่านประสบการณ์ตรง ในลักษณะดังกล่าว เพื่อให้คำสอนไม่ถูกมองเป็นวัตถุสิ่งของอันล้ำค่า ที่ผู้คนหลงผิดว่าสูงส่งและมีอำนาจในตัวมันเอง คำสอนจะต้องเป็นคำสอนที่มีชีวิตและสอดคล้องกับบริบทความทุกข์ทั้งในแง่ปัจเจกและสังคม

ยิ่งกว่านั้นวิจักขณ์ยังมองว่าแม้พุทธทาสจะพยายามย้อนกลับไปหารากความเป็นพระแบบสมณะ ทว่าในอีกด้านหนึ่ง “พุทธศาสนาแบบทางการ” ก็ยังคงครอบงำจินตนาการของชาวพุทธไทยอยู่ตลอดเวลา…ดังนั้นแม้พุทธทาสจะทิ้งเมล็ดพันธุ์แห่งเสรีภาพ ความกล้าหาญ และความเปิดกว้างทางจินตนาการไว้ ทว่าหากการตีความคำสอน ชีวิต และผลงานเหล่านั้น ยังคงถูกกระทำผ่านชุดอุดมการณ์ของพุทธศาสนาแบบรัฐ ซึ่งเน้นที่ความสูงส่ง การยึดติดตัวบุคคล และการปิดกั้นการถกเถียง เสวนา และวิพากษ์วิจารณ์ พุทธทาสในแง่ความเป็นขบถก็อาจถูกทำให้กลายเป็นอำนาจนิยมพุทธทาสไปในที่สุด

จะเห็นว่าสุลักษณ์ขับเน้นภาพของพุทธทาสให้โดดเด่นในฐานะ “สามัญชนผู้สร้างสรรค์สติปัญญาอย่างไทย (ส่วน) ที่มีพุทธศาสนาเป็นแกนอย่างก้าวไกลไปกว่าเจ้า” ขณะที่วิจักขณ์วางภาพของพุทธทาสทาบกับพุทธศาสนาแบบทางการให้เห็นภาพ “พุทธศาสนาแบบทางการที่ปิดกั้นการถกเถียง เสวนา และวิพากษ์วิจารณ์” และขับเน้นความโดดเด่นของ “พุทธทาสผู้เปิดจินตนาการการตีความคำสอนให้กับพุทธศาสนาไทย โดยปฏิเสธแนวทาง สถานะ และการตีความคำสอน/ธรรมวินัย ตามแบบพุทธศาสนาของรัฐโดยตรง”” ทว่าในที่สุดแล้วคุณค่าของพุทธทาสก็อาจจะถูกทำลายลง ด้วยการตีความชีวิตและงานของพุทธทาสใน “กรอบของพุทธศาสนาแบบทางการ” นั่นเอง

บทโบยตีโดยธรรม

แต่จะอย่างไรก็ตาม ยังมีบางมุมมองที่แสดงให้เห็นว่า แม้จะตีความชีวิตและงานของพุทธทาสด้วยกรอบอื่น โดยเฉพาะ “กรอบเสรีประชาธิปไตย” ยิ่งจะทำให้เราได้เห็น irony (ตลกร้าย) ในความเป็น “ขบถเสรีภาพ” ของพุทธทาสอย่างไม่น่าเชื่อ ดังเช่นในบทความ ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ! วิพากษ์พุทธทาสในวันล้ออายุปีที่ 105” (ประชาไท, 27 พ.ค.54) ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัลย์ วิพากษ์แนวคิด “ธรรมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ” ของพุทธทาสในหลายแง่มุม

เช่น ดูเหมือนพุทธทาสจะมองปรัชญาตะวันตกแบบเดียวกับชาวพุทธไทยโดยมากที่มักมองว่าปรัชญาตะวันตกด้อยกว่าพุทธศาสนา และไม่เข้าใจว่าปรัชญาตะวันตกมีบทบาทต่อปฏิบัติการทางสังคมอย่างไร ดังภิญญพันธุ์ตั้งข้อสังเกตว่า

สิ่งที่พุทธทาสโจมตีอีกประการหนึ่งก็คือ วิธีคิดเชิงปรัชญาตะวันตกเกี่ยวกับด้านศีลธรรม ที่เห็นว่าเป็นเพียงปรัชญาไม่มีผลในการปฏิบัติ เป็นเหตุผลสำหรับพูด สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาอย่างยิ่งสำหรับพุทธทาสและพุทธศาสนิกชนจำนวนมากที่ละเลยในการทำความเข้าใจว่า ปรัชญานั้นมีบทบาทต่อปฏิบัติการทางสังคมอย่างไร การตีความศีลธรรมสากลที่เกี่ยวข้องกับโลกทางการเมืองสมัยใหม่ ที่อยู่นอกพ้นไปจากประสบการณ์ทางจิตวิญญาณทางศาสนาแล้วเป็นอย่างไร

การที่พุทธทาสเน้นว่า “การเมืองเป็นเรื่องของศีลธรรม” และวิจารณ์ว่า “รัฐธรรมนูญก็ไม่มีบทบัญญัติที่เกี่ยวศีลธรรมเลย” นั้น ทำให้ภิญญพันธุ์วิจารณ์ว่า

พุทธทาสต้องการจะขับเน้นการเมืองแบบขาว-ดำ โดยให้ค่าว่าการปกครองโดยการควบคุมให้สังคมสงบราบคาบอย่างไม่ต้องเลือกวิธี การแต่ขอให้ผู้นำมีศีลธรรมนั้นประเสริฐ ซึ่งอยู่คนละฟากเหวกับประชาธิปไตยเสรีนิยมที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย เต็มไปด้วยคนพาลมากกิเลส ที่เป็นคนกลุ่มเดียวกันนี่แหละที่เรียกร้องสิทธิ ความเสมอภาคของกลุ่มคนชนชั้นล่าง พวกเขาไม่ใช่ “ปูชนียบุคคล” ไม่ใช่อภิสิทธิ์ชน...

ใครว่าพุทธทาสโปรประชาธิปไตย?

ในที่สุดพุทธทาสก็เผยให้เห็นทัศนคติที่ไม่ไว้วางใจประชาธิปไตย เมื่อเขากล่าวว่า “โลกเรามีประชาธิปไตยกันมากี่สิบปีแล้ว แล้วโลกนี้เป็นอย่างไร มันมุ่งหมายไปรวมที่จุดไหน”  โดยที่เขาไม่ได้มองประชาธิปไตยในแง่หลักการของความเสมอภาค สิทธิเสรีภาพของมนุษย์ที่พึงจะมีจะได้ “ประชาธิปไตยเสรีนิยม” เป็นของต่ำที่ทำให้คนด้อยศีลธรรมหลงระเริงไปตามกิเลส เมื่อประชาธิปไตยเปิดโอกาสให้เสียงข้างมาก ก็ยิ่งเอื้อให้คนมีกิเลสมารวมหัวกัน ทำให้สงสัยว่า ตกลงพุทธทาสกำลังเสนอทางออกให้กับผู้พิพากษาที่เป็นพระอรหันต์ผู้ไร้กิเลสแล้วหรืออย่างไร

ถ้ายังไม่ชัดเจน โปรดฟังคำปฏิเสธที่ขึงขังของเขาด้วยย่อหน้านี้

“เดี๋ยวนี้ มนุษย์เรามีความคิดอย่างที่พวกฝรั่งเขาคิดให้กลายเป็นว่า ทุกคนเสมอภาค คนที่มีการศึกษาแล้ว ก็ให้ทุกคนมีสิทธิปกครอง จนเกิดรูปประชาธิปไตยขึ้นมา...อาตมา ในฐานะประชาชน ไม่กลัวจะถูกใครจับไปฆ่า ไปแกง เพราะว่าไม่นิยมประชาธิปไตยแบบนี้ก็ได้ ไม่นิยมแน่ แต่นิยมประชาธิปไตยแบบสังคมนิยมตามหลักแห่งพระศาสนา ซึ่งประกอบด้วยธรรมแล้วก็มีวิธีดำเนินการอย่างเผด็จการ อย่างระบบทศพิธราชธรรมนั่นเอง”

การที่พุทธทาสอ้างว่าไม่นิยม “ประชาธิปไตยแบบฝรั่ง” แต่นิยม “ประชาธิปไตยแบบสังคมนิยมตามหลักแห่งพระศาสนาซึ่งประกอบด้วยธรรม แล้วก็มีวิธีดำเนินการอย่างเผด็จการ อย่างระบบทศพิธราชธรรมนั่นเองจึงทำให้ข้อวิพากษ์ของภิญญพันธุ์ข้างล่างนี้ดูมีน้ำหนักมากขึ้น

หากพิจารณาจากความสัมพันธ์ใกล้ชิดของพุทธทาสและสัญญา ธรรมศักดิ์แล้ว คำสอน ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ นั้น น่าจะเป็นสัญญาณตรงที่ส่งถึงสัญญา ธรรมศักดิ์ ผ่านมาทางผู้พิพากษา ที่จะปลุกปลอบให้กำลังใจและให้ความชอบธรรมแก่สัญญา ธรรมศักดิ์ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจากประชาชน วรรคทองที่เขากล่าวไว้ถึงกับทำตัวเอียงเน้นไว้ด้วยซ้ำว่า “ถ้าคนดีเผด็จการ นั่นแหละดี ถ้าคนเลวก็ใช้ไม่ได้ เมื่อระบบสังคมนิยมดี มันต้องมีเครื่องมือเป็นเผด็จการ”สารถึงสัญญา ธรรมศักดิ์นั้น ในอีกด้านหนึ่งยังสร้างความชอบธรรมให้อำนาจของตุลาการ และชนชั้นนำที่กำลังหาคำอธิบาย และวิธีจัดการกับความไม่สงบเรียบร้อยในประเทศ

รูปปฏิมาของปรัชญาเมธีทางการเมืองเรื่องศีลธรรมของพุทธทาส จึงถูกภิญญพันธุ์ถอดรื้อ และ “โบยตีโดยธรรม” อย่างเจ็บแสบ ด้วยประการฉะนี้แล

บทล้อความหลังของ “พุทธทาส” (สิ่งมีชีวิตที่อวตารมาจากดาวดวงอื่นหรืองอกขึ้นจากระบบเก่ากันแน่)

พุทธทาสคือสิ่งมีชีวิตที่อวตารมาจากดาวดวงอื่นที่มีแต่ความบริสุทธิ์หมดจด หรือเป็น “น้ำดี” ทางพุทธศาสนาที่มาจากนอกโลกเพื่อมาชำระล้างพุทธศาสนาในระบบเก่าที่มีแต่น้ำเน่าสกปรกโสมมเช่นนั้นหรือ หรือว่าพุทธทาสน่าจะเป็นนักปฏิรูปที่มีบุคลิกภาพ “ประนีประนอม” (กับระบบเก่า) ตามบทกลอนที่ท่านเขียนว่า “เขามีส่วนเลวบ้างช่างหัวเขา จงเลือกเอาส่วนที่ดีเขามีอยู่” มากกว่า จึงทำให้ท่านหลีกเลี่ยงที่จะวิพากษ์วิจารณ์ระบบเก่าตรงๆ (อย่างที่อาจารย์สุลักษณ์ทำ หรือแม้แต่อย่างที่สมณะโพธิรักษ์ทำเป็นต้น)

ตกลง “ความเป็นพุทธทาส” หรือตัวตนของพุทธทาสคือสิ่งมีชีวิตที่มาจากดาวดวงอื่น เป็นพระเอกขี่ม้าขาวมาจากโลกอื่น หรือคือสิ่งมีชีวิตที่งอกออกมาจากระบบเก่า ที่อาจจะ “ยังไปไม้พ้นระบบเก่า” กันแน่ เราอาจเข้าใจได้จากการพิจารณาประเด็นต่อไปนี้

1. ข้อปรารภเรื่องเบื่อหน่าย “พระกรุงเทพฯ” อันเป็นเหตุให้กลับบ้านเกิดไปก่อตั้งสวนโมกข์ ดังที่อ้างถึงใน พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินฺทปญฺโญ) - วิกิพีเดีย พุทธทาสพูดถึงความคาดหวังต่อพระกรุงเทพฯ และข้อเท็จจริงที่ขัดกับความคาดหวังไว้ว่า”ก่อนไปถึงกรุงเทพฯ เราก็เคยคิดว่า พระที่กรุงเทพฯ มันไม่เหมือนที่บ้านเรา พระกรุงเทพฯ จะดี เคยคิดว่าคนที่ได้เปรียญ 9 คือคนที่เป็นพระอรหันต์ด้วยซ้ำไป เคยคิดว่ากรุงเทพฯ ดีที่สุด ถูกต้องที่สุด ควรจะถือเป็นตัวอย่าง เคยนึกว่าพระอรหันต์เต็มไปทั้งกรุงเทพฯ ก่อนไปกรุงเทพฯ มันคิดอย่างนั้น (มุมมองนี้ออกจะดราม่ามากๆ เหมือนมุมมองของคนชั้นกลางโดยมากที่พูดถึงพระสงฆ์ในจินตนาการ-ผู้เขียน)...แต่พอไปเจอจริงๆ...พระเณรไม่ค่อยมีวินัย มันผิดกับบ้านนอก มันก็เป็นมาจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ เรื่องสตางค์ เรื่องผู้หญิง...”
 

ในหนังสืออัตชีวประวัติของท่านเองชื่อ “เล่าไว้ในวัยสนธยา” (คำถาม-ตอบ ที่อ้างอิงข้างหน้ามาจากหนังสือเล่มเดียวกันนี้ โปรดอ่านใน “เว็บไซต์พุทธทาสศึกษา”) พุทธทาสก็ไม่ได้พูดถึง “ปัญหาเชิงระบบของคณะสงฆ์” อย่างจริงจังมากนัก เพียงแต่พูดถึงภาพรวมกว้างๆ ทำนองว่าพระสงฆ์ทั่วๆ ไปในกรุงเทพฯ เวลานั้นยึดติดในความคิดเก่า ลาภสักการะ หย่อนประสิทธิภาพในการเผยแผ่พุทธศาสนา “อำนาจคณะสงฆ์ที่มีมากก็ยังพื้นฟูพุทธศาสนาไม่ได้” บรรยากาศทั่วไปของกรุงเทพฯ มีปัญหาทั้งเรื่องฝุ่น และสภาพโดยรวมทำให้รู้สึกอึดอัด เบื่อหน่าย

 

2. การริเริ่มก่อตั้งสวนโมกข์ก็ไม่ได้ถูกกีดกันจากอำนาจของพุทธศาสนาแบบทางการ หากแต่พระในระบบเก่านั่นแหละยัง “เชื่อภูมิ” ของพุทธทาสอีกด้วย ดังเมื่อถูกถามถึงอุปสรรคจากอำนาจคณะสงฆ์ในการก่อตั้งสวนโมกข์ว่า “พระเถระในพุมเรียงรู้สึกอย่างไรครับ เมื่ออาจารย์กลับมาตั้งสวนโมกข์” คำตอบของพุทธทาสก็ระบุถึงปัญหาส่วนบุคคลเท่านั้นว่า “ไม่มีหรอกที่ต่อต้าน เพราะว่าเขาเชื่อภูมิเรา อาจารย์ผู้เฒ่าทั้งหลายนี่เขาเชื่อภูมิเรา...มันมีอุบาสกคนหนึ่งเป็นอุบาสกวัดโพธาราม เขาอยากจะเด่นจะดังอยู่เหมือนกันในทางผู้นำ...ดูเหมือนจะเป็นคนแรก หรือเสียงแรกที่ว่ามีพระบ้าที่สวนโมกข์ พระที่สวนโมกข์เป็นพระบ้า แล้วเด็กๆ มันก็พูดตาม…”

เมื่อถูกถามถึง “อุดมคติ” ในการเลือกทางเดินของท่านว่า “...อะไรเป็นเหตุปัจจัยให้อาจารย์เปลี่ยนความรู้สึกนึกคิดจากการเรียนหนังสือตามปกติของพระเณรสมัยนั้น มากลายเป็นคนหนุ่มมีอุดมคติรุนแรงที่จะเดินตามทางของพระพุทธเจ้า” ท่านก็ตอบซื่อๆ ว่า “(เฮ่อๆ ๆ) ไม่มีอะไรจริงจังหรอก เชื่อว่าเป็นความบังเอิญหลายๆ อย่าง ไม่ได้มีเจตนาปักใจอะไรหรอก มันถูกบีบบังคับให้อยู่ไม่ได้ที่กรุงเทพฯ มันไม่มีทางจะทำอะไรได้ ถ้าจะทำอะไร มันต้องออกมาบ้านนอก ไม่ใช่ใครบังคับ...แต่มันมีวางเข็มว่าจะต้องทำอย่างนี้ คือฟื้นฟูการปฏิบัติพุทธศาสนาที่มันสูญหายไปกลับมา... ส่งเสริมปริยัติ ส่งเสริมปฏิบัติ และเผยแผ่ศาสนา เป็นเรื่องของการรื้อฟื้นแก้ไขปรับปรุงด้วยสติปัญญาอันน้อยเท่าที่มีอยู่...” (ลองนึกเปรียบเทียบกับ “การขบถ” ของสมณะโพธิรักษ์นะครับ เหตุผลที่แยกตัวออกมาคือ ไม่ยอมรับทั้งระบบอำนาจเถรสมาคม และประเพณีการศึกษาปฏิบัติของพุทธศาสนาแบบทางการทั้งหมดเลย)

จะเห็นว่า พุทธทาสยังคิดอยู่ในกรอบเถรวาทที่นิยมพูดกันมาหลายศตวรรษคือ เมื่อใครก็ตามเห็นว่าพุทธศาสนาเสื่อมโทรม การฟื้นฟูพุทธศาสนาก็คือ การฟื้นฟูหรือส่งเสริม “ปริยัติ, ปฏิบัติ” ต่างแต่ว่าจะทำแบบแยกสองเรื่องออกจากกัน หรือทำให้เป็นเรื่องเดียวกัน ดูเหมือนพุทธทาสจะทำให้เป็นเรื่องเดียวกัน หรือให้เป็นเรื่องเสริมสนับสนุนกัน

3.ชื่อ “พุทธทาส” ก็อาจมองได้ว่าเป็นการเลือกเอา “สิ่งที่ดีเขามีอยู่” จากระบบเก่าก็ได้ เพราะมีที่มาจากบทสวดทำวัตรเย็น (ที่น่าจะแต่งขึ้นในสมัย ร.4 หรือ ร.5) ดังพุทธทาสให้สัมภาษณ์พิเศษรายการ "ชีพจรลงเท้า" ปี 2525 ว่า “ทีนี้บวชแล้ว ทุกเย็นไม่ว่าวัดไหนเขาก็สวดทำวัตรเย็น ในบททำวัตรเย็นมันก็มีคำชัดเลยว่า ข้าพเจ้าเป็นทาสของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นนาย มีอิสระเหนือข้าพเจ้า ข้าพเจ้ามอบกายถวายชีวิตนี้แต่พระพุทธเจ้า เขาสวดอยู่อย่างนี้ทุกวันๆ เป็นธรรมเนียมหรือว่าเป็นวินัย เป็นระเบียบที่จะต้องสวด มันก็ยิ่งเข้ารูปกันกับเราที่ตั้งใจอยู่ว่าจะรับใช้พระพุทธเจ้าในฐานะที่เป็นทาส จึงสมกับที่เรียกตัวเองว่าพุทธทาส แล้วก็ได้ทำงานอย่างนั้นตามความประสงค์”
 


(ภาพจากหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ)

 

การประกาศตนเป็น “ทาสของพระพุทธเจ้า” ตามบทสวดทำวัตรเย็นที่แต่งขึ้นในชั้นหลังดังกล่าว น่าจะเกิดขึ้นในสมัยที่นิยมยกย่องพุทธะให้กลายเป็น “อภิมนุษย์” ไปแล้ว ยิ่งหากบทสวดนี้แต่งขึ้นในสมัยที่ ร.4 ปฏิรูปพุทธศาสนา (หรือสมัย ร.5) ซึ่งในด้านหนึ่งอยู่ในบริบทที่เผชิญกับการเผยแผ่คริสต์ศาสนาของบรรดามิชชันนารีที่ประกาศตนเป็น “ผู้รับใช้พระเจ้า” ด้วยแล้ว บทสวดที่แต่งขึ้นให้ชาวพุทธประกาศตนเป็น “ทาสของพระพุทธเจ้า” ก็อาจรับอิทธิพลจากคติ “ผู้รับใช้พระเจ้า” มาก็ได้ เพราะ “ทาสของพระพุทธเจ้า” ก็หมายถึง “ผู้รับใช้พระพุทธเจ้า” นั่นเอง

ดูเหมือนพุทธทาสเองจะเคยพูดอยู่เหมือนกันว่า มีคน “ค่อนแคะ” ท่านว่า “เขาประกาศเลิกทาสไปนานแล้ว ทำไมพุทธทาสยังประกาศตนเป็นทาสอยู่อีก” ท่านอธิบายทำนองว่า “เขาไม่เข้าใจว่ามันคนละความหมายกัน เพราะการเป็นทาสของพระพุทธเจ้าไม่ใช่ถูกบังคับ แต่เป็นโดยสมัครใจ โดยเสรีภาพ”

4.เมื่อพิจารณาจากบริบททางประวัติศาสตร์ความต่อเนื่องของความคิดในกระแสปฏิรูปพุทธศาสนา เราอาจพบร่องรอยได้ว่า พุทธทาสได้รับอิทธิพลทางความคิดบางอย่างในเรื่องการตีความพุทธศาสนามาจากสมัย ร.4 ที่ต่อเนื่องมาถึงสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระวชิรญาณวโรรส ในสมัย ร.5 โดยตัวท่านเองบอกว่าต้องการทำให้ดียิ่งกว่า เพราะ “...มันไม่อยากทำอะไรเสมอใครหรือต่ำกว่าใคร...”

ดังที่นักวิชาการที่มองพัฒนาการของการตีความพุทธศาสนาไปในทางที่สอดคล้องกับวิทยาศาสตร์ เช่น สมภาร พรมทา วิเคราะห์ว่า “สมเด็จฯ น่าจะมีอิทธิพลทางความคิดต่อท่านพุทธทาสมาก” (วารสารปัญญาฉบับวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2556) หรือจะเห็นได้จากการวิเคราะห์พุทธประวัติในหนังสือ “พุทธประวัติ (ฉบับวิจารณ์)” ของพุทธทาสเองที่เน้นไปในทางมองภาพของพุทธะเป็นมนุษย์มากกว่าที่จะเป็นอภิมนุษย์ ก็สอดคล้องกับการวิเคราะห์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ที่ทำมาก่อนแล้วเช่นกัน

เมื่อดูท่าทีของพุทธทาสต่อสมเด็จฯ ก็เป็นไปในทางบวก เช่นที่ท่านพูดว่า “ยุคสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯนี่ ก็นับว่าบุกเบิกมาระดับหนึ่งแล้ว ขยับเปลี่ยนแปลงขึ้นมาไม่น้อยแล้ว แต่มันไม่มีคนสานต่อ คนที่ฉลาดอย่างนั้น สามารถอย่างนั้นมันไม่มี มันไปยึดหลักตายตัวเท่าที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ได้วางเอาไว้ สักคำหนึ่งก็ไม่กล้าแตะต้องหรือแก้ไข ปัญหามันมีอยู่อย่างนี้แหละในวงการศาสนา...” หมายความว่า พุทธทาสยอมรับว่าสมเด็จฯบุกเบิกให้พุทธศาสนาก้าวหน้าขึ้น แต่ก็ควรกล้าแตะ กล้าวิจารณ์สิ่งที่ท่านทำไว้  

แต่เมื่อถูกถามตรงๆ ว่า “การที่อาจารย์ตีความธรมะต่างๆ ออกไปนี่ เป็นการสืบสายมาจากสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ และจากเทียนวรรณใช่ไหม” พุทธทาสตอบว่า “ไม่ ไม่ใช่ มันเป็นคนชอบทำอะไรให้เด่น ให้แปลก ให้ดีกว่าที่เขามีกันอยู่ก่อน ก่อนเราบวช เราก็ได้ข่าวแล้ว เมื่อมีใครพูดอะไรดีๆ ไม่ว่าจะเป็นเทียนวรรณ ก.ศ.ร. กุหลาบ หรือสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ มันมีนิสัยคิดแบบว่าทำอะไรต้องให้ดีกว่าใคร (ฮะๆ ๆ) มันไม่ใช่เป็นการอวดดี แต่มันเป็นการอวดดีอยู่ในตัวเอง มันไม่อยากทำอะไรเสมอใครหรือต่ำกว่าใคร...”

และเมื่อถูกถามว่า “ความคิดในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ของอาจารย์เกิดขึ้นได้อย่างไร...” พุทธทาสกลับตอบตรงไปตรงมาว่าได้รับอิทธิพลมาจากการศึกษาในระบบเก่า “มันมาจากการเรียนนักธรรมแล้วจะเอาไปแต่งกระทู้ หรืออธิบายให้เขาฟัง มันต้องมองให้มันลึกลงไปกว่าผู้อื่น ให้มันดีกว่าผู้อื่น” ถามว่า “อ่านงานของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ มากไหม” ตอบว่า “เยอะ อ่านเท่าที่จะหามาอ่านได้ สมัยนั้นชุดรวมนิพนธ์ของท่านยังไม่มี มีแทรกอยู่ที่นั่นที่นี่ ต้องหาอ่านเอาเอง เท่าที่จะจำได้ ผมก็ชอบสำนวนแปลของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ...”

นี่เป็นเพียงตัวอย่างบางเรื่องราวที่สะท้อนว่า สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าพุทธทาสนั้นก็น่าจะงอกออกมาจากดิน น้ำ ปุ๋ย ของระบบเก่า ไม่ได้อวตารมาจากดาวดวงอื่น หรือเป็นพระเอกขี่ม้าขาวมาจากโลกอื่นเพื่อมาปราบยุคเข็ญของระบบเก่าแต่อย่างใด จึงเป็นไปได้ว่า “การเวียนว่าย ตาย เกิดของความคิดแบบพุทธทาส” ในหลายๆ เรื่องก็ยังคงเวียนวนอยู่ใน “วัฏจักรของระบบเก่า” จึงอาจมิใช่เพียงว่าความคิดหรืองานสร้างสรรค์ทางปัญญาของพุทธทาสถูกลดคุณค่าลง เพราะถูกนำมาตีความภายใต้กรอบของระบบเก่า ทว่าความคิดของพุทธทาสเองแม้ในเรื่องสำคัญมากที่สุด และส่งผลกระทบต่ออุดมการณ์ทางสังคมการเมืองมากที่สุด ก็อาจจะยัง “ไปไม่พ้นระบบเก่า” ดังที่เราจะพิจารณาต่อไป

(โปรดติดตามตอนที่ 2 : บทล้อ irony พุทธทาส (ธรรมะเผด็จการ/ธรรมะครอบจักรวาล))

 

บล็อกของ กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร

กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภาพจาก http://www.tilopahouse.com/node/396 เรจินัลด์ เรย์ เขียน วิจักขณ์ พานิช แปล กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
หากเราจะมองอย่างกว้างๆ แล้ว ท้าวสักกะ พระอรหันต์ หรือ แม้แต่พระพุทธเจ้า ที่ต้องแสดงฤทธิ์บางอย่างเพื่อช่วยคน จะต่างอะไรกับซุปเปอร์ฮีโร่อย่าง ซูเปอร์แมน แบทแมน สไปเดอร์แมน ในหนังและการ์ตูนทั้งหลาย ที่จะเข้ามาช่วยคนด้วยพลังพิเศษ ทำให้กระบวนการของเหตุปัจจัยมีน้ำหนักน้อยลงไป 
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ พุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ผู้เขียนจะกล่าวถึง “มโนทัศน์เรื่องอำนาจในสังคมไทยที่มีรากฐานจากคัมภีร์พุทธศาสนา” ทั้งนี้เพื่อจะชี้ให้เห็นบทบาทด้านตรงกันข้ามกับบทบาทที่ได้กล่าวไปแล้วในบทความตอนที่ (1) ที่ว่า พุทธศาสนา (สถาบันสงฆ์) แม้จะให้ความสำคัญกับการสร้าง “คนดี” ตามอุดมคติของชาวพุทธ แต่บทบาทดังกล่าวก็ไม่ได้สอดรับกับการสร้างพลเมืองตามแนวคิดในสังคมประชาธิปไตย 
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์ กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ชาญณรงค์ บุญหนุน กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร บทความ “พุทธศาสนากับประชาธิปไตยในสังคมไทย” นี้จะนำเสนอเป็นสามตอนด้วยกัน ทั้งนี้ก็เพื่อจะชวนผู้อ่านไปร่วมพิจารณาว่า พุทธศาสนามีบทบาทในการสร้างสังคมประชาธิปไตยในสังคมไทยหรือไม่ อย่างไร และปัญหาอยู่ตรงไหน
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ พุทธศาสน์ของราษฎร  
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์ กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร    
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
 
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ชาญณรงค์ บุญหนุน  กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร