Skip to main content

บทล้อ irony พุทธทาส (ธรรมะเผด็จการ/ธรรมะครอบจักรวาล)

จะเห็นว่า พุทธทาสยอมรับว่า “ยุคสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ นี่ ก็นับว่าบุกเบิกมาระดับหนึ่งแล้ว ขยับเปลี่ยนแปลงขึ้นมาไม่น้อยแล้ว แต่มันไม่มีคนสานต่อ...” และยืนยันว่าตัวท่านเอง “มีนิสัยคิดแบบว่าทำอะไรต้องให้ดีกว่าใคร...” เมื่อเรามองจากคำพูดของพุทธทาสดังกล่าวผนวกกับมุมมองสุลักษณ์ที่ว่า พุทธทาสเป็นนักปฏิรูปพุทธศาสนาถัดจากยุค ร.4 รวมทั้งท่าทียอมรับ “สิ่งที่ดีเขามีอยู่” จากระบบเก่า (ที่ยอมรับว่าสนใจศึกษาจากงานของสมเด็จฯ เป็นต้น และได้อิทธิพลความคิดวิพากษ์วิจารณ์มาจากการเรียนนักธรรม) เราก็น่าจะมองเห็นสิ่งที่พุทธทาสบอกว่า “ทำอะไรต้องให้ดีกว่าใคร...” ได้ชัดเจนขึ้น อย่างน้อยในเรื่องต่อไปนี้

(ก) ร.4 ปฏิรูปพุทธศาสนาโดยปฏิเสธประเพณีการสอนพุทธศาสนาแบบไตรภูมิพระร่วง ที่เน้นการบำเพ็ญบุญบารมีตามความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด เพราะเห็นว่าอธิบายให้เห็นความเป็นเหตุเป็นผลอย่างสอดคล้องกับวิทยาศาสตร์ไม่ได้ (อาจเนื่องมาจากที่ท่านสนใจศึกษาวิทยาศาสตร์มาแต่ตอนผนวชเป็น “วชิรญาณภิกขุ” จนต่อมาได้รับยกย่องเป็น “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” ด้วยกระมัง)

แต่พุทธทาสก้าวไปไกลกว่านั้นมากคือ นอกจากจะปฏิเสธจารีตไตรภูมิฯ (เช่นเห็นว่าการทำบุญเพื่อหวังผลในชาติหน้านั้นเป็นการเพิ่มความยึดมั่นใน “ตัวกู ของกู” หรือเพิ่ม “ความเห็นแก่ตัว”) แล้วยังไม่เดินตามประเพณีการศึกษาและการสอนพุทธศาสนาตามจารีตอรรถกถา ซึ่งเรียนกันในระบบการศึกษาปริยัติธรรมของคณะสงฆ์ตั้งแต่เปรียญ 1-2 ถึงเปรียญ 9 อีกด้วย และยังปฏิเสธพระไตรปิฎกบางส่วนคือ “อภิธรรมปิฎก” ว่าไม่อยู่ในรูปของพุทธพจน์ และไม่จำเป็นแก่การศึกษาและปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ เหมาะสำหรับผู้ชอบเรียนรู้เพื่อเป็นอาหารสมองมากกว่า

ข้อสังเกตคือ ทำไมการปฏิเสธเช่นนั้นจึงไม่ได้ถูกดำเนินการเอาผิดจากคณะสงฆ์เหมือนกรณีสันติอโศกและธรรมกาย (ปฏิกิริยาที่มีต่อพุทธทาสเป็นปฏิกิริยาจากพวกนักอธิธรรม หรือพระบางรูป ชาวพุทธบางส่วนที่ไม่พอใจ แต่ไม่มีหลักฐานว่า “ระบบทางการของคณะสงฆ์” ได้ดำเนินการเอาผิดอะไร) คำอธิบายใน “ทางหลักการ” (แน่นอนในแง่ “บริบท” อาจอธิบายได้ว่า พุทธทาสมีคนใหญ่คนโตในทางบ้านเมือง หรือคนมีชื่อเสียงทางสังคมให้การสนับสนุนมาทุกยุค นับแต่ปรีดี พนมยงค์ มาถึงสัญญา ธรรมศักดิ์ ประเวศ วะสี สุลักษณ์ ศิวรักษ์ฯลฯ) ก็คือว่าการปฏิเสธจารีตไตรภูมิฯ อรรถกถา และอภิธรรมดังกล่าวนั้น เป็นการปฏิเสธบนพื้นฐานของการยืนยัน “ความถูกต้อง” ของคำสอนพุทธศาสนา หรือยืนยัน “แก่นพุทธศาสนา” ตามพระไตรปิฎกเถรวาทที่คณะสงฆ์กระแสหลักยอมรับและยึดถือกันอยู่ก่อนแล้ว โดยพุทธทาสแสดงให้เห็นว่า “คำสอนที่ถูกต้อง” หรือ “แก่นพุทธศาสนา” ที่ท่านเองยืนยันนั้น อ้างอิงหลักฐานชั้น “ปฐมภูมิ” คือพระสูตร หรือ “สุตตันตปิฎก” อันเป็นที่ยอมรับในแวดวงการศึกษาพุทธศาสนาเถรวาทไทยว่าตรงตามคำสอนของพุทธศาสนาดั้งเดิมมากที่สุด ฉะนั้น พุทธทาสจึงก้าวไปหาแก่นพุทธศาสนาลึกกว่า ร.4 โดยถอดความแก่นพุทธศาสนาออกมาจากสุตตันตปิฎก ทั้งในรูปของการแปลจากบาลี การตีความ วิเคราะห์ วิจารณ์ จนกลายมาเป็นหนังสือจำนวนมากที่เน้นสิ่งที่ท่านยืนยันว่าเป็น “แก่นของพุทธศาสนา” เช่นหนังสือ “ชุดธรรมะเก้าตา” ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ แก่นพุทธศาสน์ เป็นต้น

มองจากแง่นี้ คณะสงฆ์ก็ไม่มีเหตุผลจะเอาผิดพุทธทาสได้ เพราะนอกจากพุทธทาสจะไม่ได้ทำสิ่งที่ระบบเก่าถือกันว่า “ละเมิดธรรมวินัย” (เช่นกรณี “ประกาศตนเป็นอริยบุคคลชั้นต่างๆ” ของสันติอโศก) หรือสอนผิด (เช่นกรณี “นิพพานเป็นอัตตา” ของธรรมกาย) และไม่ได้วิจารณ์โจมตีระบบอำนาจของคณะสงฆ์ (เหมือนที่สมณะโพธิรักษ์ทำ) แล้ว พุทธทาสยังแสดงให้เห็นอย่างเป็นที่ประจักษ์ว่าท่านเองได้นำ “แก่นของพุทธศาสนา” ในพระไตรปิฎกเถรวาทออกมาเผยแพร่ให้เป็นที่ยอมรับของปัญญาชนร่วมสมัย และผู้สนใจพุทธศาสนาอย่างกว้างขวางแบบที่ไม่มีใครเคยทำได้มาก่อน จึงไม่แปลกที่พุทธทาสได้บอกตั้งแต่แรกก่อตั้งสวนโมกข์แล้วว่า พระผู้ใหญ่ยอมรับใน “ภูมิ” ของท่าน เนื่องจากในบริบทยุคสมัยของท่านพระภิกษุที่โดดเด่น เช่น สุชีโวภิกขุ (สุชีพ ปุญญานุภาพ) เป็นต้น ล้วนแต่เป็นที่ยอมรับว่า “เชี่ยวชาญพระไตรปิฎก” (ขณะที่สมณะโพธิรักษ์ เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายไม่มีภาพของผู้แตกฉานพระไตรปิฎกอย่างพุทธทาส) ในแง่นี้พระสงฆ์ในระบบเก่าจึงมีท่าทีเป็นมิตรกับพุทธทาสมากกว่า ดังมหาวิทยาลัยสงฆ์ก็ส่งพระนิสิตไปศึกษาปฏิบัติธรรมที่สวนโมกข์ ขณะที่ “ระบบเก่า” หรือ “พุทธศาสนาแบบทางการ” ก็มอบสมณศักดิ์แก่พุทธทาสถึงชั้นธรรมที่ “พระธรรมโกศาจารย์” เพื่อเป็นการยกย่องคุณงามความดีในการเผยแผ่พุทธศาสนา นี่อาจมองได้ว่าคือผลสะท้อนจากบุคลิกภาพ “ประนีประนอม” ของพุทธทาสนั่นเอง



(สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบัน เยี่ยมพุทธทาสภิกขุที่สวนโมกข์ เมือเดือน ก.ย.2532)

 

(ข) อิทธิพลทางความคิดของ ร.4 เรื่องการตีความพุทธศาสนาให้มีเหตุผลสอดคล้องกับวิทยาศาสตร์ที่ตกทอดมาถึงยุคปฏิรูปสถาบันสงฆ์ในรัชกาลที่ 5 โดยมีผู้เขียนหนังสือตีความพุทธศาสนาสอดคล้องกับวิทยาศาสตร์คนสำคัญคือ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (หนังสือแสดงกิจจานุกิจ) และสมเด็จพระมหาสมณเจ้าที่ตีความพุทธศาสนาโดยตัดเรื่องปาฏิหาริย์ต่างๆ ออกไป โดยอธิบายให้เห็นความมีเหตุผลเป็นวิทยาศาสตร์ ได้ส่งผลให้พุทธทาสก้าวไปไกลถึงขนาดตีความว่า “พุทธศาสนาคือวิทยาศาสตร์ทางจิต” หรือ “พุทธศาสนาคือศาสตร์แห่งการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ที่พิสูจน์ได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์”

การอธิบายพุทธธรรมของพุทธทาสโดยรวมๆ แล้วจำกัดอยู่ในกรอบ “ปฏิบัติได้จริง พิสูจน์ผลได้จริงอย่างเป็นวิทยาศาสตร์” โดยหลีกเลี่ยงจะอธิบายเรื่อง “กรรมและการเวียนว่ายตายเกิด” ดังที่พระสงฆ์ส่วนใหญ่นิยมอธิบายสืบต่อกันมาในจารีตอรรถกถาเป็นพันๆ ปี นอกจากนี้พุทธทาสยังอ้างอิง “ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอฐ” มาโต้แย้งปฏิจจสมุปบาทแบบข้ามภพข้ามชาติของพระพุทธโฆษาจารย์ที่ชาวพุทธเชื่อถือมาอย่างยาวนานอีกด้วย (ถ้าเทียบกันแล้ว คำสอนของพุทธศาสนาแบบธรรมกายก็คือ “คำสอนแบบอรรถกถาบวกวิชาธรรมกายของหลวงพ่อสด” ว่าโดย “เนื้อหา” ธรรมกายจึงเป็นพุทธเชิงอนุรักษ์นิยม แต่ใช้รูปแบบการเผยแผ่ที่เน้นการตลาดและวัฒนธรรม Service แบบสมัยใหม่---น่าตั้งคำถามว่า พุทธศาสนาแบบทางการมีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดของชนชั้นกลางในยุคปัจจุบันเทียบเท่าพุทธศาสนาแบบพุทธทาส และธรรมกายจริงหรือไม่?)

Irony (ตลกร้าย) ของผู้เลื่อมใสพุทธทาสในกรณีนี้ก็คือ เมื่อพวกเขามีปัญหากับการอ้าง “พุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์” (หรือการอ้าง “แก่นแท้ของพุทธศาสนา”) ในปัจจุบันว่า “เป็นการจำกัดมิติที่หลากหลายของพุทธศาสนาที่เคยมีมาแต่อดีต” พวกเขามักจะโทษการปฏิรูปพุทธศาสนายุค ร.4 แต่กลับมองข้ามความจริงไปว่า จะมีคนชั้นกลางร่วมสมัยสักกี่เปอร์เซ็นต์ที่ไปศึกษาการตีความพุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ในสมัย ร.4 แล้วรับอิทธิพลนั้นมา แท้ที่จริงแล้ว การตีความพุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ที่มีอิทธิพลต่อปัญญาชนร่วมสมัย และคนชั้นกลางปัจจุบัน น่าจะมาจากพุทธทาสมากกว่า

(ค) ในแง่ปรัชญาการเมือง ร.4 ปฏิเสธคติ “เทวราช” ในไตรภูมิฯบวกความเชื่อแบบพราหมณ์และมหายาน แล้วย้อนกลับไปหาธรรมราชาผู้ทรงทศพิธราชธรรมตามคติเถรวาทยุคพ่อขุนรามคำแหง ซึ่งรับอิทธิพลมาจาก “อโศกโมเดล” อีกทีหนึ่ง โดยสร้างแนวคิดเรื่อง “อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ” ขึ้นมาอธิบายว่ากษัตริย์คือมนุษย์ธรรมดาที่ถูกชุมชนทางการเมืองสมมติให้เป็นหัวหน้าหรือผู้ปกครองแห่งชุมชนการเมืองนั้น ซึ่งสอดรับกับการที่ท่านถูกอัญเชิญขึ้นเสวยราชย์โดยความยินยอมพร้อมใจของเหล่าขุนนางในสมัยนั้น ส่วน “เทวราช” นั้น ร.4 ยกให้เป็นสถานะของเทพคู่บ้านคู่เมือง จึงได้สร้าง “พระสยามเทวาธิราช” ขึ้นมาให้ดำรงอยู่คู่กับสยามประเทศแต่บัดนั้น

ในแง่นี้ การอ้าง “ธรรม” เป็นหลักในการปกครองของพุทธทาสยิ่งเป็นการสถาปนา “ธรรมะเผด็จการ” อย่างหนักแน่นยิ่งกว่า กล่าวคือ สำหรับพุทธทาสแล้ว “ธรรมะใหญ่กว่าทุกสิ่ง” ดังที่ท่านบอกว่า “ธรรมะคือพระเจ้า, พระเจ้าคือธรรมะ” ธรรมะจึงเป็นหลักความถูกต้องของทุกสิ่ง ฉะนั้นในเรื่องการปกครองจะเป็นประชาธิปไตยก็ต้องประกอบด้วยธรรม (ธรรมิกประชาธิปไตย) จะเป็นสังคมนิยมก็ต้องประกอบด้วยธรรม (ธรรมิกสังคมนิยม) แม้แต่จะเป็นเผด็จการ (ในรูปของบุคคลหรือคณะบุคคล) ก็ต้องเป็น “เผด็จการโดยธรรม”

ว่าตามจริงแล้ว การอ้างธรรมในทางการเมืองในลักษณะเช่นนี้ ก็คือการอ้างตามประเพณีของ “ระบบเก่า” นั่นเอง ดังที่อ้าง “การปกครองแผ่นดินโดยธรรม...” ที่สืบมาแต่สมัย ร.4 หรือย้อนไปถึงจารึกอโศกที่ระบุว่า “จัดให้มีการปกครองโดยธรรม” อันมีความหมายเชื่อมโยงกับคำสอนเรื่องคุณธรรมของผู้ปกครอง เช่น จักรวรรดิวัตร ทศพิธราชธรรมในพุทธศาสนา ซึ่งเป็นไปตามข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่ว่า พุทธะสอนคุณธรรมเหล่านี้ในบริบทของสังคมยุคราชาธิปไตยที่เป็นเผด็จการอยู่ก่อนแล้ว ความมุ่งหมายที่สอนก็เพื่อให้คุณธรรมเหล่านั้นเป็น “กรอบ” ในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ปกครองไม่ให้ลุแก่อำนาจ หรือไม่ให้ใช้อำนาจตามระบบราชาธิปไตยนั้นกดขี่เอาเปรียบราษฎร แต่ให้ซื่อสัตย์ เสียสละ มุ่งความเป็นธรรม และประโยชน์สุขแก่ราษฎรเป็นที่ตั้ง พุทธะไม่ได้เสนอให้มี “ระบบทศพิธราชธรรม” ที่เป็น “ระบบเผด็จการโดยธรรม” อีกรูปแบบหนึ่งต่างหากแต่อย่างใด

ฉะนั้น การตีความพุทธศาสนาในทางการเมืองของพุทธทาส หากมาถึงเพียง “ธรรมิกประชาธิปไตย” หรือ “ธรรมิกสังคมนิยม” นี่ยังอาจเรียกได้ว่าเป็นความคิดที่ก้าวหน้า (เมื่อเทียบกับแนวคิด “อเนกนิกรสโมสรสมมติ” ยุค ร.4 หรือย้อนอดีตขึ้นไป) แต่พอสำทับท้ายแนวคิดธรรมิกสังคมนิยมด้วยวาทกรรม “เผด็จการโดยธรรม” และชี้ว่า “ระบบทศพิธราชธรรม เป็นระบบเผด็จการโดยธรรมที่ดีอีกแบบหนึ่ง” ก็กลายเป็นเรื่องยากที่ผู้เลื่อมใสพุทธทาสจะแก้ต่างว่า พุทธทาสไม่ได้สนับสนุนระบบราชาธิปไตยในจารีตที่อ้างอิง “การปกครองโดยธรรม” โดยเฉพาะเมื่อพุทธทาสเสนอความคิดนี้ออกมาในบริบทที่ยังอยู่ในห้วงเวลาแห่งการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างอุดมการณ์เก่าที่อ้างการปกครองโดยธรรมกับอุดมการณ์ประชาธิปไตยสมัยใหม่ด้วยแล้ว ออกจะเป็นเรื่องเหลือเชื่อเกินไปกระมังที่พุทธทาสผู้ซึ่งเคยสมาคมกับปรีดี พนมยงค์ จะไม่ทราบความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์ว่า ปรีดีและคณะราษฎรถูกทำลายไปด้วยอุดมการณ์อะไรในทศวรรษ 2490 โดยเฉพาะในบริบทของการต่อสู้ทางการเมืองในช่วงปี 2516-2519 ที่ท่านเสนอแนวคิดเผด็จการโดยธรรมออกมานั้น เป็นไปได้หรือที่ท่านจะไม่รู้ว่า การต่อสู้ทางการเมืองในช่วงประวัติศาสตร์ตอนนั้นเป็นการต่อสู้ระหว่างอุดมการณ์อะไรกับอะไร (การที่พุทธทาสวิพากษ์การเมืองคอร์รัปชัน ประชาธิปไตยเพื่อตัวกู ของกู สังคมนิยมเพื่อตัวกู ของกู แต่ไม่วิพากษ์ราชาธิปไตยที่ถูกเชิดชูโดยเผด็จการสฤษดิ์  ธนะรัชต์ว่ามีปัญหาอย่างไรหรือไม่ ทำให้เราเข้าใจได้ว่าข้อกล่าวหาว่า “พุทธทาสเป็นคอมมิวนิสต์” นั้น ไม่น่าจะใช่ข้อกล่าวหาอันเนื่องมาจากจุดยืนทางการเมือง แต่น่าจะเป็นข้อกล่าวหาของฝ่ายอนุรักษ์นิยมสุดโต่งทางศาสนาบางพวกมากว่า ดังที่พระพรหมคุณาภรณ์-ป.อ.ปยุตฺโต ก็เคยถูกศิษย์ธรรมกายบางกลุ่มกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์มาแล้ว เพียงเพราะความคิดทางศาสนาต่างกัน เป็นต้น)

ยิ่งกว่านั้น พุทธทาสภิกขุผู้ซึ่งเคยเป็นกัลยาณมิตรทางปัญญากับปรีดี พนมยงค์ กุหลาบ สายประดิษฐ์ จะไม่ทราบจริงๆ หรือว่า “ระบบทศพิธราชธรรม” ซึ่งเป็นระบบที่พุทธทาสเรียกว่าเป็น “ระบบเผด็จการโดยธรรม” (อีกแบบหนึ่ง) นั้นในทางปฏิบัติที่สืบเนื่องกันมาหลายศตวรรษ ระบบเช่นนี้ไม่เปิดให้ราษฎรมีเสรีภาพที่จะพูดความจริง (ในมาตรฐานของ freedom of speech) ได้เลย และระบบที่พูดความจริงไม่ได้นั้นจะเรียกว่า “โดยธรรม” ได้อย่างไร ในเมื่อ “ธรรม” ในความหมายของพุทธศาสนาเป็นเรื่องของ “สัจจะ” และ “เสรีภาพ”

อ่านความคิดเผด็จการโดยธรรมของพุทธทาสแล้ว ทำให้ผมนึกถึงมาร์ติน ลูเธอร์ นักคิดคนสำคัญในขบวนการปฏิรูปศาสนาแห่งนิกายโปรเตสแตนท์ในยุโรปยุคกลาง ที่ถูกยกย่องว่าเป็น “ผู้บุกเบิกเสรีภาพทางศาสนา” ด้วยข้อเสนอว่า ชาวคริสต์ทุกคนมีเสรีภาพที่จะตีความ เข้าใจความหมายของพระวัจนะในคัมภีร์และเข้าถึงพระเจ้าด้วยตนเองโดยตรง โดยไม่ต้องผ่านอำนาจการตีความของบรรดานักบวชและศาสนจักร แต่พอมาถึงความคิดทางการเมืองเขากลับปฏิเสธประชาธิปไตย โดยเสนอว่า “มนุษย์เสมอกันในสายตาของพระเจ้า แต่ไม่เสมอกันในความสามารถที่จะทำการปกครอง เพราะฉะนั้น ประชาธิปไตยจึงเป็นไปไม่ได้ และอำนาจต้องรวมอยู่ในมือของเจ้าผู้ปกครอง ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจในนามของพระเจ้า” (ฮาร์มอน,เอ็ม.เจ.ความคิดทางการเมืองจากเปลโต้ถึงปัจจุบัน.แปลโดย เสน่ห์ จามริก.กรุงเทพฯ: สถาบันวิถีทรรศน์,2555,หน้า 250-251)

หากแปลงความคิดของลูเธอร์ข้างบนมาแทนความหมาย “เผด็จการโดยธรรม” ของพุทธทาสก็จะเป็นว่า

“มนุษย์เสมอกันในสายตาของพระธรรม แต่ไม่เสมอกันในความเหมาะสมที่จะทำการปกครอง เพราะฉะนั้น ประชาธิปไตยโดยประชาชนที่ยังโง่ มีกิเลส จึงเป็นไปไม่ได้ อำนาจต้องรวมอยู่ในมือของผู้เผด็จการโดยธรรม ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจนั้นในนามของพระธรรม”

นี่คือ irony อีกอย่างของผู้บุกเบิกเสรีภาพการตีความพุทธศาสนา ที่ในแง่หนึ่งทำให้เกิดมิติที่หลากหลาย แต่ในแง่หนึ่งคือการสถาปนาอำนาจ absolute และครอบจักรวาลให้กับธรรม การตีความว่า “ธรรมคือพระเจ้า” หรือยกสถานะธรรมเทียบเท่ากับพระเจ้านั้น ไม่ใช่จารีตการตีความของ “พุทธศาสนาแบบทางการ” แต่อย่างใด (ไม่ได้หมายความว่าผมกำลังปกป้องระบบเก่า เพียงต้องการพูดให้ตรงกับ “ข้อเท็จจริง” เท่านั้น)

และ irony ซ้อน irony ข้างต้นคือ ผู้นับถือพุทธทาสที่มีปัญหากับการ “อ้างธรรมะแบบครอบจักรวาล” กลับจงใจที่จะมองข้ามความเป็นจริงว่า อิทธิพลการอ้างธรรมะครอบจักรวาลในหมู่ชนชั้นกลางปัจจุบันจะมาจากใครกันเล่า หากมิใช่พุทธทาสผู้แปลความหมายของธรรมะเสมอดังพระเจ้า กลายเป็นว่าขบถผู้บุกเบิกเสรีภาพทางศาสนากลับกลายเป็นผู้มอบมรดก “การอ้างธรรมะแบบครอบจักรวาล” เป็นคำตอบทั้งในมิติจิตวิญญาณของปัจเจกบุคคล และมิติทางสังคม เศรษฐกิจการ การเมือง สันติภาพของโลก (ศีลธรรมไม่กลับมาโลกาจะวินาศ และฯลฯ)

พร้อมๆ กับการหยิบยื่นธรรมะให้เป็นคำตอบสำหรับทุกปัญหา พุทธทาสก็แสดงท่าทีปฏิเสธปรัชญาตะวันตกว่านั่นเป็นเพียงเรื่องที่มีไว้ถกเถียงตรรกะเหตุผล ไม่สามารถนำมาปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ได้จริง มองเสรีภาพตามความคิดสมัยใหม่มีค่าเพียง “เสรีภาพที่จะทำตามกิเลส” ทำตามความเห็นแก่ตัว เป็นเรื่องของตัวกู ของกู เสรีภาพที่แท้ต้องแบบพุทธคือเสรีภาพจากกิเลส จากความเห็นแก่ตัว การอ้างธรรมะครอบจักรวาลแบบพุทธทาสจึงไปเกะกะระรานคุณค่าในมิติอื่นๆ ในภูมิปัญญาอื่นๆ เป็นการสร้าง myth (มายา) ว่า “พุทธศาสนาคือยารักษาทุกโรค” ไปโดยปริยาย

วัฒนธรรมการอ้างธรรมะครอบจักรวาลดังกล่าว ไม่ใช่ผลงานที่ริเริ่มโดยพุทธทาสภิกขุ ปราชญ์ทางพุทธศาสนาแห่งปัจจุบันสมัยหรอกหรือ “พุทธศาสนาแบบทางการ” ที่เสื่อมโทรมง่อยเปลี้ยภายใต้ระบบอำนาจนิยมที่ไร้นำยาทางปัญญา มีหรือจะก่อให้เกิดพลังทางเหตุผลสนับสนุนการอ้างธรรมะครอบจักรวาลที่มีอิทธิพลต่อปัญญาชนและชนชั้นกลางในโลกสมัยใหม่ได้ (ตามแผงหนังสือบนห้าง ร้านหนังสือชั้นนำ หนังสือพุทธทาสมากกว่าของใครๆ ปัญญาชน และคนชั้นกลางน่าจะเลือกเสพหนังสือพุทธทาสมากกว่าจะเลือกเสพธรรมะของ “พุทธศาสนาแบบทางการ” ทางทีวีช่วงตีสาม-ตีห้า)  

ฉะนั้น แม้เราจะมีข้อมูลที่น่าเชื่อถือว่าโดยบุคลิกภาพส่วนตัวแล้ว พุทธทาสเป็นพระสมัยใหม่ที่เปิดกว้างรับฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์และถกเถียงแลกเปลี่ยนกับบุคคลอื่นๆ อย่าง “คนเสมอกัน” หรือไม่ว่าจะเป็นความประสงค์ของพุทธทาสหรือไม่ก็ตาม แต่วาทกรรม “เผด็จการโดยธรรม” (หรือการอ้างธรรมะครอบจักรวาล) อันเป็นผลแห่ง “การตีความพุทธศาสนาแบบพุทธทาส” ก็ได้กลายเป็น “ของสาธารณะ” ที่ใครๆ จะหยิบไปใช้อ้างอิงอย่างไรก็ได้ ดังภิญญพันธุ์ตั้งข้อสังเกตว่า

รูป ปฏิมาและคำสอนของพุทธทาส ในทุกวันนี้เป็นสิ่งที่ขายได้ในสังคมเมืองที่มากไปด้วยความทุกข์แบบปัจเจก คำสอนของเขามักถูกหยิบยกมาอ้างอิง บ้างก็ลอกมาใช้แบบระมัดระวังบริบท แต่ส่วนมากก็ลอกมาใช้แบบผิดฝาผิดตัว โดยเฉพาะคำสอนที่กระทบชิ่งถึงการเมือง โดยเฉพาะคติเผด็จการโดยธรรม ยกยอเชิดชูคนดี ความดี-ศีลธรรม ยังเป็นที่นิยมติดปากอยู่เสมอ อาจกล่าวได้ว่าเป็นที่หลักธรรม-การเมืองที่ถูกใช้อ้างอิงอย่างหนักหน่วงใน ช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ เราจะพบจากปลายปากกาทั้งนักวิชาการรัฐศาสตร์อย่าง วีระ สมบูรณ์, พระนักเทศนาผู้สร้างประวัติศาสตร์จากการเทศนาหลังละครคาวโลกีย์แห่งปี ว.วชิรเมธี, สื่อมวลชน เปลว สีเงิน, อดีตนายกรัฐมนตรีเอนกประสงค์ อานันท์ ปันยารชุน, กวีซีไรท์ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ฯลฯ (เพิ่มเสน่ห์ จามริก,ประเวศ วะสี-ผู้เขียน)

และฉะนั้นแล้ว บางแง่มุมของพุทธศาสนาตามการตีความของพุทธทาสก็ดูหมดจดงดงามกว่าการตีความของระบบเก่ามิใช่หรือ แต่บางแง่มุมก็มีปุ่มปม มีตำหนิ ไม่แพ้หรืออาจจะมากกว่าระบบเก่ามิใช่หรือ โดยเฉพาะอิทธิพลของความคิดทางการเมืองแบบพุทธทาสที่ยัง practical อย่างมีชีวิตชีวาในการอ้างอิงโต้แย้งการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยสมัยใหม่ นี่มิใช่ “มรดกพุทธทาส” ดอกหรือ จะบอกว่าเป็นความผิดของผู้ที่นำมาอ้างอิงเท่านั้นได้อย่างไรเล่า

บทอวยปัจฉิมบท



(พุทธทาสกับมิตรต่างศาสนา)

ทำกับฉันอย่างกะฉันนั้นไม่ตาย
ยังอยู่กับท่านทั้งหลายอย่างหนหลัง
มีอะไรมาเขี่ยไค้ให้กันฟัง
เหมือนฉันนั่งร่วมด้วยช่วยชี้แจง


ในที่สุดแล้ว ผมคิดว่าตัวตนและวิธีคิดของพุทธทาสนั้นมีความซับซ้อนอยู่มาก เราจึงควรจะทำกับพุทธทาส “อย่างกะท่านยังไม่ตาย” ไปเรื่อยๆ อย่าปล่อยให้ “พุทธทาสลอยนวล” เพราะดูจากบทกลอนข้างบนแล้วท่านเองก็คงไม่อยากจะลอยนวลกระมัง คำวิจารณ์ที่ว่ามาทั้งหมดนั้น สมมติว่าท่านได้อ่านท่านก็คงหัวเราะ หึ หึ ในลำคอเท่านั้นเอง

สำหรับผมแล้ว คุณูปการของพุทธทาสที่ชัดเจนอยู่ที่ การตีความพุทธศาสนาโดยไม่แยกโลกกับธรรมออกจากกัน การอธิบายนิพพานให้ชาวบ้านหรือคนทั่วไปศึกษาสัมผัสได้ ไม่สงวนไว้ให้เป็นของสูงส่งสำหรับพระสงฆ์เท่านั้นเหมือนจารีตในระบบเก่า การนำพุทธมหายาน เซน วัชรยานเข้ามาประยุกต์กับเถรวาท ความใจกว้างต่อพุทธนิกายอื่นๆ และศาสนาอื่นๆ ตามปณิธาน 3 ข้อ ของท่าน เป็นต้น (แทรกการอวย--นี่เป็นการบุกเบิก “เสรีภาพทางศาสนา” แบบที่มาร์ติน ลูเธอร์เคยทำ แต่ต้องเข้าใจว่าลูเธอร์ตื่นขึ้นเพราะมองเห็นความอำมหิตของอำนาจศาสนจักรที่ล่าแม่มด ปาหิน แขวนคอ เผาทั้งเป็นคนที่โต้แย้งอำนาจศาสนจักร ทว่าทั้งลูเธอร์และพุทธทาสต่างก็ทิ้งปัญหา “เสรีภาพทางสังคมการเมือง” เอาไว้เช่นกัน โดยในเรื่องความคิดทางการเมืองต้องถือว่าพุทธทาสแย่กว่า เพราะเลยยุค 2475 มาแล้วยังย้อนไปคิดแบบลูเธอร์ในยุคกลางโน่นอีก)

(อวยต่อ) ที่สำคัญพุทธทาส “ไม่ได้โฆษณาชวนเชื่อให้ตัวเอง” ด้วยการสถาปนาตนเองให้สูงส่งกว่าคนธรรมดาโดยอ้าง “คุณวิเศษ” เหนือสามัญมนุษย์ เช่น ไม่ได้ประกาศการบรรลุเป็นพระอรหันต์ของตนเอง (เหมือนหลวงตาบัว) ไม่แสดงออกว่า ตนและบรรดาสาวกบรรลุเป็นพระอริยสงฆ์ชั้นต่างๆ (เหมือนสมณะโพธิรักษ์) ไม่แสดงตนว่าเป็นต้นธาตุต้นธรรมของพระพุทธเจ้าและมีญาณวิเศษหยั่งรู้สามโลก (เหมือนพระธัมมชโย) เป็นต้น

มุมมองที่พุทธทาสพูดถึงการเลือกเส้นทางของตัวเองนั้นตรงไปตรงมา ง่ายๆ ธรรมดาๆ ไม่ดราม่าเหมือนที่คนอื่นๆพูดถึงท่าน ซึ่งทำให้เราเข้าใจได้ว่า ท่านเลือกเส้นทางเดินด้วยใจรักในวิถีชีวิตตามที่ท่านเป็นจริงๆ และไม่ได้อวดอ้างในผลสำเร็จ แถมยังมองว่ามันเป็นเรื่อง “ฟลุค” ด้วยซ้ำ

ดังเมื่อถูกถามว่า “อาจารย์ครับ อาจารย์ช่วยวิเคราะห์ตนเองหน่อยสิครับว่า อะไรทำให้คนหนุ่มคนหนึ่งที่เป็นคนธรรมดาๆ เกิดอุดมคติ (เน้นโดยผู้เขียน) อยากอุทิศตัวเพื่อพระศาสนา” พุทธทาสตอบอย่างซื่อๆ ว่า “นั่นแหละมันไม่มี (อุดมคติ-ผู้เขียน) มันก็รื้อฟื้นและส่งเสริมพระพุทธศาสนากลับไปสู่สภาพเดิม มันฟลุค (เฮ่อๆ ๆ) มันฟลุคนิดหน่อย มันก็ไม่ได้ทำอะไรมากมายนี่ แล้วคนเขามาให้ความสำคัญเอง…ที่จริงก็ไม่ได้ตั้งใจอะไรนักหนา เพียงว่ารื้อฟื้นพระศาสนาสู่สภาพเดิมก็พอแล้ว ทำไปตามมีตามได้ ตามที่จะทำได้ เราก็มองเห็นอำนาจคณะสงฆ์ที่มันมีอะไรมากยังทำไม่ได้ แล้วเราจะทำได้อย่างไร ที่พยายามทำจริงจังอยู่ก็คือ การพยายามเข้าใจพระธรรมในพระบาลีให้ถูกถึงที่สุด (เน้นโดยผู้เขียน) เราไม่มีอำนาจอะไร เราก็ใช้สติปัญญาที่มีอยู่ ทำงานทางด้านคิดค้น และเขียนเท่านั้นแหละ”

นี่เป็นเพราะว่าพุทธทาสไม่ได้กำหนดเป้าหมายเชิงอุดมคติที่ต้องการขบถต่อระบบอำนาจนิยมของพุทธศาสนาแบบทางการแต่แรกกระมัง (?) ท่านจึงไม่วิจารณ์ระบบมหาเถรอย่างจริงจัง ไม่แม้กระทั่งแสดงความเห็นต่อสาธารณะในกรณีที่พระพิมลธรรมถูกการเมืองในวงการสงฆ์ยืมมือเผด็จการสฤษดิ์เล่นงาน จนถูกขังคุกในข้อหาคอมมิวนิสต์ฟรีถึง 5 ปี (ดังบทความภิญญพันธุ์ข้างต้นได้ตั้งข้อสังเกตไว้) การนิ่งเงียบในกรณีเช่นนี้ย่อมขัดแย้งกับธรรมชาติของผู้มี “วิญญาณขบถ” ต่อระบบอำนาจนิยมอย่างผิดสังเกต

ฉะนั้น คำพูดของพุทธทาสที่ว่า “ที่พยายามทำจริงจังอยู่ก็คือ การพยายามเข้าใจพระธรรมในพระบาลีให้ถูกถึงที่สุด” นี่เองน่าจะเป็นเป้าหมายที่แท้จริงของท่าน และผมก็เชื่อว่าการบรรลุเป้าหมายนี้เองที่ทำให้ท่านมองเห็น “แก่นสาร” ของพุทธศาสนา (หมายถึงเนื้อหาของพุทธศาสนาส่วนที่กระตุ้นให้เกิดปัญญาเข้าใจความจริงของทุกข์-ความดับทุกข์ ตามที่ท่านเน้นย้ำเป็นพิเศษ) ในนิกายอื่นๆ แม้แต่มองเห็นได้ว่าแก่นสารนั้นมีลักษณะร่วมกับศาสนาอื่นๆ แม้กระทั่งเห็นว่าคนที่ไม่เคยรู้จักพุทธศาสนามาก่อนก็อาจเข้าถึงแก่นสารที่พุทธะสอนได้ นี่จึงเป็นเหตุให้ท่านมีใจเปิดกว้างระหว่างนิกายศาสนา และกับศาสนาอื่นๆ

จะอย่างไรก็ตาม ในประเด็นว่าพุทธทาสเป็นขบถหรือไม่นั้น หากเรามอง “ความเป็นขบถ” ว่ามีความหมายซับซ้อนเกินกว่าจะตัดสินเพียงด้วยการใช้มาตรฐานว่าพุทธทาสวิจารณ์ระบบอำนาจเก่าหรือไม่เท่านั้น เราก็อาจเข้าใจได้ว่า คนบางคนอาจไม่วิจารณ์ระบบอำนาจเก่าตรงๆ แต่เป็นไปได้ว่าใจเขาอาจไม่ยอมรับระบบเก่า อีกทั้งเขายังเห็นด้วยกับใครก็ตามที่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ (พุทธทาสเคยแสดงความเห็นว่า คนที่กล้าวิจารณ์ระบบอำนาจตรงๆ แบบสุลักษณ์ ศิวรักษ์ เป็นคนที่มีคุณค่า และสังคมจำเป็นต้องมีคนแบบนี้) แต่ที่เขาไม่วิจารณ์เพราะเขาประเมินแล้วว่า ถ้าตัวเขาเองเลือกทำแบบที่เขาทำก็มีคุณค่า หรือมีประโยชน์ในทางส่งเสริมการก้าวให้พ้นไปจากระบบเก่าด้วยเช่นกัน สมมติว่าท่านพุทธทาสคิดอย่างนี้ และท่านก็ทำอย่างที่ได้ทำมาทั้งหมด เราก็สามารถประเมินได้มิใช่หรือว่า โดยภาพรวมแล้ว งานสร้างสรรค์ทางสติปัญญาของท่านมีแกนหลักอยู่ที่การส่งเสริมสติปัญญาของผู้คนไปในทางที่ให้ก้าวพ้นไปจากระบบเก่ามากว่า (?)

แต่อาจจะมีคำถามว่า ถ้าเช่นนั้นแล้วเราจะมองความคิดเรื่องธรรมิกประชาธิปไตย ธรรมิกสังคมนิยม และเผด็จการโดยธรรมอย่างไรเล่า เพราะมันขัดกับประชาธิปไตยสมัยใหม่ คำตอบก็คือว่า ถ้าเรายืนยันประชาธิปไตยสมัยใหม่ เราก็ต้องยอมรับว่า โดยหลักการของประชาธิปไตยเช่นนี้ย่อมเคารพเสรีภาพทางความคิด แม้แต่ความคิดที่ไม่เอาหรือปฏิเสธประชาธิปไตยก็ต้องแสดงออกอย่างเสรีได้ ตราบที่ผู้เสนอความคิดนั้นไม่ได้ยุยงปลุกปั่นให้ใช้กำลังหรือความรุนแรงเพื่อล้มล้างประชาธิปไตย มองในแง่นี้พุทธทาสก็มีสิทธิ์ปฏิเสธประชาธิปไตยสมัยใหม่ และเสนอแนวคิดธรรมิกประชาธิปไตย ธรรมิกสังคมนิยม เผด็จการโดยธรรมตามความเชื่อของท่าน หรือตามที่ท่านเห็นว่าดีกว่า

ดีเสียอีกที่มีคนกล้าเป็นตัวของตัวเอง (แทรกการอวย--พุทธทาสบอกว่าท่านเชื่อมั่นว่า “ธรรมชาติของมนุษย์มีความคิดอิสระของตัวเองอยู่แล้ว” และยืนยันว่าในการเสนอความคิดทางการเมืองนั้น ท่านใช้ “ความคิดอิสระของตนเองอย่างถึงที่สุด” ในการประมวลความรู้ ทฤษฎี ข้อมูลต่างๆ มาวินิจฉัยตีความ โดยไม่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของอุดมการณ์ทางการเมืองใดๆ หรือกลัวว่าใครจะด่าท่าน---แต่ irony ก็คือการใช้ความคิดอิสระของท่าน ความกล้าหาญของท่าน [ขีดเส้นใต้ “ในบริบทประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ต่อสู้กันมายาวนานระหว่างอุดมการณ์เก่ากับอุดมการณ์ใหม่”] กลับกลายเป็นการดิสเครดิตประชาธิปไตยสมัยใหม่ และไปเพิ่มความชอบธรรมแก่ “ระบบทศพิธราชธรรมเผด็จการ” โดยตรงเสียฉิบ) และกล้าเสนอความคิดที่ต่างออกไปมาท้าทายความคิดหลักที่เรายึดถือว่าถูกต้องอยู่ก่อน

ยกเว้นว่าเราจะ “หลงผิด” ไปว่าประชาธิปไตยสมัยใหม่ที่เรายึดถืออยู่เป็นระบบการปกครองที่ถูกต้อง “อย่างสัมบูรณ์” (absolute truth) ที่ใครๆ ก็ไม่มีสิทธิจะเสนอความคิดอะไรต่างออกไปได้โดยเด็ดขาด

แต่ทว่าในทำนองเดียวกัน ผู้เลื่อมใสพุทธทาสก็ต้องเคารพเสรีภาพของคนที่ตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ความคิด และตัวตนของพุทธทาสด้วยเช่นกัน

และการวิพากษ์พุทธทาสโดยเน้นไปที่การตีความพุทธศาสนาในทางการเมือง โดยเฉพาะความคิดเรื่อง “เผด็จการโดยธรรม” ก็นับว่าสมควรแล้ว เพราะนี่เป็นความคิดของพุทธทาสที่ถูกนำมาอ้างอิงในทางการเมืองมากที่สุด มีพลานุภาพในการสร้าง myth แก่ความหมายของ “ธรรม” และ “...โดยธรรม” มากที่สุด (เช่น โดยเสรีภาพ โดยความเสมอภาคไม่ใช่โดยธรรมหรือ? ก็ในเมื่อแปลความหมายของ “ธรรม” ว่าคือ “ทุกสิ่งทุกอย่าง” แล้วทำไมเสรีภาพ ความเสมอภาคในความหมายของประชาธิปไตยสมัยใหม่จึงถูกกันออกไปจากปริมณฑลของธรรม)

อีกทั้งความคิดเรื่อง “เผด็จการโดยธรรม” ยังเป็นความคิดที่ย้อนศรไปตั้งคำถามต่อภาพพจน์ความเป็น “ขบถเสรีภาพในพุทธศาสนาไทย” ของพุทธทาสอย่าง irony มากที่สุด!

บล็อกของ กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร

กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
วิจักขณ์​ พานิชกลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์พุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร 
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
วิจักขณ์ พานิชกลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร