ชาญณรงค์ บุญหนุน
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
“ขาดแสงเสียอย่างเดียว โลกทั้งโลกก็มืด . . .
แต่ถึงจะมีแสง หากขาดดวงตา โลกก็สว่างขึ้นมาไม่ได้”
– แพรเยื่อไม้ (“บาทเดียว” ในเรื่องสั้นชุด “หลวงตา”)
(1)
ภิกษุรูปหนึ่งเกิดเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2468 มรณภาพเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2524 นามเดิมคือ พจน์ คงเพียรธรรม เป็นบุตรคนที่ 4 ของนายลำไย-นางสำริด คงเพียรธรรม บรรพชาเป็นสามเณร พ.ศ. 2485 เมื่ออายุ 17 ปี และอุปสมบทเป็นภิกษุ เมื่อ พ.ศ.2488 ณ วัดบ้านช้าง อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จากนั้นในปี พ.ศ. 2489 ได้ย้ายมาจำพรรษาที่วัดประยูรวงศาวาส กรุงเทพมหานคร จนได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดประยูรวงศาวาส สมณศักดิ์สุดท้ายก่อนมรณภาพด้วยโรคมะเร็งที่หลอดอาหาร ณ โรงพยายาบาลเปาโล คือ “พระครูพิศาลธรรมโกศล” (สุพจน์ กญฺจนิโก)
ด้วยชื่อชาติอันธรรมดาสามัญของพระรูปนี้ ด้วยวันเวลาที่ผ่านไป 32 ปีแล้ว ชื่อชั้นพระครูสามัญที่เป็นทางการก็คงไม่เป็นที่จดจำ ยิ่งในวงการคณะสงฆ์แล้ว ชื่อนี้ก็อาจตายไปพร้อมกับร่างเมื่อมรณภาพแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ.2524 ไม่มีงานฉลองระดับชาติใด ๆ ที่พอจะทำให้คนจำนวนมากได้จดจำ ไม่มีงานรำลึกที่เหล่าผู้รู้และคนดี นักวิชาการ ร่วมประชุมถกเถียง ตีความคำสอน หรือมีอนุสรณ์สถานให้รำลึกถึง แต่ภิกษุผู้ธรรมดาสามัญผู้นี้คนทั่วไปอาจจะจดจำได้ในผ่านนาม “แพรเยื่อไม้” ผู้เสกสร้าง “หลวงตา” ตัวละครอันอมตะในวงการวรรณกรรมเรื่องสั้นไทย ภาพยนตร์ไทย คนจำนวนมากจึงรู้จัก “หลวงตา” มากกว่าตัวตนที่แท้จริงของผู้เสกสร้าง “หลวงตา” ขึ้นมา
แน่นอนว่า “หลวงตา” จะกลายเป็นนามอมตะ งานวรรณกรรมชิ้นนี้ยังมีชีวิตอยู่ในวงการภาพยนตร์และวงการละครทีวี แต่พระธรรมดาผู้เสกสร้างตัวละครนี้ขึ้นมา ไม่ได้มีชื่อชั้นที่โดดเด่นเป็นอมตะเหมือนท่านพุทธทาสภิกขุ เหมือนท่านเจ้าคุณพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต) คนรุ่นหนึ่งจะจดจำ “หลวงตา” ในวรรณกรรมชุดนี้ผ่านรูปเงาและงานของดาราตลกที่อมตะคนหนึ่งของวงการภาพยนตร์ไทยซึ่งต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง คือ “ล้อต๊อก”หรือ สวง ทรัพย์สำรวย (1 เมษายน 2457- 30 เมษายน 2545) ว่าไปแล้ว ชื่อจริง ๆ ของล้อต๊อกเองก็แทบไม่เป็นที่รู้จักเช่นเดียวกับชื่อจริงหรือชื่อสมณศักดิ์ของ “หลวงตาแพรเยื่อไม้” เมื่อจินตนาการถึง “พระครูพิศาลธรรมโกศล” เราไม่สามารถทะลุผ่านภาพของ “หลวงตา” ตัวละครที่ท่านสร้างขึ้นมาได้เลย
แม้เมื่ออ่านงานชุดนี้ ภาพลักษณ์ของผู้เขียนวรรณกรรมชุดนี้ยิ่งปรากฏชัดขึ้นในนามของหลวงตา จึงไม่ผิดหนักหากจะบอกว่า “หลวงตา” ในเรื่องสั้นชุด “หลวงตา” ก็คือ หลวงตา “แพรเยื่อไม้” หรือ “พระครูพิศาลธรรมโกศล” ดังนั้นในบทความนี้ บางที่บางแห่งจึงจะใช้คำว่า “หลวงตา” ในฐานะคำแทนชื่อหรือบ่งถึง “แพรเยื่อไม้” หรือ “พระครูพิศาลธรรมโกศล”
น่าสนใจว่า ด้วยความเป็นอมตะของเรื่องสั้นชุดหลวงตา ที่ผู้จัดละครทีวีได้นำไปดัดแปลงทำมาหากินกันอย่างต่อเนื่องและขายได้ตลอดตั้งแต่ต้นจนบัดนี้ ภาพหลวงตาที่เราพบเห็นผ่านละคร ผ่านภาพยนตร์ ล้วนเป็นภาพของ “ตัวตลก” โดยเฉพาะเมื่อถูกฉายผ่านเงาของ “ล้อต๊อก” ที่เป็นอมตะที่สุดในอดีต ภาพลักษณ์อันตลกน่าหัวเราะของหลวงตาจึงได้รับการขับเน้นให้โดดเด่นขึ้นไปอีก ภาพลักษณ์ของสรพงศ์ ชาตรี ใน “หลวงตามหาชน” ก็ไม่อาจลบภาพดังกล่าวได้ ว่าไปแล้วสรพงศ์ ชาตรีดูจะเหมาะกับบทพระภิกษุที่เป็นทั้งร่มเงาและอยู่ในร่มเงาของพระนเรศวรมหาราชมากกว่า แน่นอนว่าพระที่เชื่อมโยงกับองค์กษัตริย์นั้นย่อมดูศักดิ์สิทธิ์น่าเคารพยำเกรงเสมอในสังคมไทย ส่วนภาพของ “หลวงตา” ที่ปรากฏในวรรณกรรมเรื่องสั้นของแพรเยื่อไม้ และแสดงผ่านเงาของนักแสดงอย่างล้อต๊อกนั้นเป็นพระที่ธรรมดาสามัญอย่างยิ่ง คือเป็นพระตัวตลกที่ไม่ทันโลก ไม่ทันสังคม เป็นพระที่แสดงอะไรเปิ่น ๆ กระทั่งถูกพ่อค้ายาเสพติดใช้เป็นตัวช่วยให้การผ่านการตรวจค้นของตำรวจได้สำเร็จโดยไม่รู้ตัว พระแบบนี้เหมาะจะเป็นที่หัวเราะของชาวบ้านทั่วไปมากกว่า
หากท่าน ป.อ.ปยุตฺโต คือพระผู้พยายามอธิบายความธรรมตามกระแสหลักให้ครอบคลุมแนวคิดสมัยใหม่ และหากท่านพุทธทาสภิกขุคือนักปรัชญา นักคิดทางพุทธศาสนา ที่ก่อให้เกิดการรื้อถอนความเข้าใจพุทธศาสนาแบบจารีตที่สืบทอดกันมาเหมือน “เถรส่องบาตร” แต่ “หลวงตาแพรเยื่อไม้”ซึ่งต่อไปนี้จะขอเรียกว่า ”หลวงตา” เฉย ๆ ซึ่งปรากฏตัวผ่านวรรณกรรมเรื่องสั้นชุด “หลวงตา” นั้นดูจะเป็นทั้งผู้ยินดีที่มีชีวิตอยู่กับจารีตของพุทธศาสนาแบบไทย เป็นดุจ “เถรส่องบาตร” ที่ไม่รู้ว่าทำไมต้องทำเช่นนั้น ผลงานเรื่องสั้นชุด “หลวงตา” ดูอย่างผิวเผินจึงเป็นผลงานเพื่อความบันเทิงในธรรมตามแนวแห่งจารีต ยิ่งกว่านั้นยังเป็นจารีตแบบไทย ๆ โดยแท้อีกด้วย
(2)
ด้วยเหตุที่ผู้เขียนยังไม่ได้สืบสาวหาข้อมูลเกี่ยวกับภาพยนตร์หรือวรรณกรรมล้อเลียนพุทธศาสนา จึงไม่อาจแน่ใจได้ว่าภาพยนตร์ล้อเลียนพุทธศาสนาโดยพุ่งไปที่ตัวปัจเจกบุคคลอย่างหลวงตานั้น เคยเกิดขึ้นมาก่อนวงการภาพยนตร์ไทยจะได้รับอิทธิพลจากเรื่องสั้นชุด "หลวงตา” ของแพรเยื่อไม้หรือไม่ แต่เห็นได้ชัดว่าภาพยนตร์เรื่อง “หลวงตา” ได้รับความนิยมเป็นอันมาก การนำพระมาล้อเลียนผ่านภาพยนตร์หรือละครนั้นออกจะพบเห็นได้บ่อย ๆ เช่น หลวงพี่เท่ง (ภาค 1-2) หรือ “หลวงตามหาชน” เป็นต้น แต่มีข้อสังเกตว่า ชาวพุทธทั่วไปจะรับได้กับการล้อเลียนพระในแง่ปัจเจกบุคคลซึ่งมีลักษณะการเป็นพระธรรมดาสามัญหรือพระของชาวบ้านมากกว่า (ปัจจุบันเริ่มมีบรรดานักปฏิบัติธรรมเริ่มตั้งข้อสงสัยกับเรื่องการล้อเลียนพระในภาพยนตร์หรือละครกันบ้างแล้ว) การที่จะมีใครอาจหาญล้อเลียนพระที่อยู่ภายใต้ร่มเงาพระบารมีของสถาบันพระมหากษัตริย์หรือแม้แต่พระที่เป็นของทางการจริง ๆ เช่น พระที่ปรากฏในภาพยนตร์ล้อเลียนนั้น เป็นพระที่ไม่มีสมณศักดิ์และเป็นพระที่ชาวบ้านนับถือขณะเดียวกันก็มีชาวบ้านเป็นปฏิปักษ์วิพากษ์วิจารณ์ชวนทะเลาะได้อีกด้วย
หากจะมีวรรณกรรมเรื่องไหนที่นำเรื่องพระมาล้อเลียนได้ดีที่สุดก็คงจะหนีไม่พ้นวรรณกรรมเรื่องสั้นชุด “หลวงตา” เท่าที่ปรากฏอีกเรื่องหนึ่งก็คือ “ยุทธจักรดงขมิ้น” ของเสฐียรพงศ์ วรรณปก ซึ่งเล่าเรื่องชีวิตของสามเณรในลักษณะขำ ๆ ฮา ๆ อาจจะยิ่งหลวงตา แต่ “เณรเขียด” ก็ไม่ได้สร้างภาพลักษณ์ชนิดที่ตื่นตาตรึงใจได้เหมือนหลวงตา ว่าโดยภูมิหลัง วรรณกรรมชุด “หลวงตา” นี้ก่อเกิดจากบุคคลที่อยู่ในวงในพุทธศาสนา ศึกษาเล่าเรียนใช้ชีวิตพระภิกษุอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ ขณะเดียวกัน ก็มีวิถีที่แตกต่างจากพระนักวิชาการอย่างพระ ป.อ.ปยุตฺโต และแตกต่างอย่างยิ่งกับวิถีแห่งพุทธทาสภิกขุอยู่บ้าง กล่าวคือผู้สร้างวรรณกรรมชุดนี้ขึ้นมาเป็นคนที่อยู่วงในคณะสงฆ์ พื้นเพเป็นคนต่างจังหวัดเช่นเดียวกับพุทธทาสภิกขุ เช่นเดียวกับพระพรหมคุณาภรณ์ ได้รับการขัดเกลาจากการศึกษาทางการของคณะสงฆ์ ที่ต่างก็ตรงที่แพรเยื่อไม้มีชีวิตคลุกเคล้าอยู่กับวิถีพุทธศาสนาแบบชาวบ้านมากกว่าวิถีพุทธศาสนาแบบนักวิชาการ บริบททางวัฒนธรรมแบบบ้าน ๆ ที่ว่านี้ถูกบอกเล่าผ่านชีวิตบางช่วงบางตอนของหลวงตานั่นเอง
ในเรื่องสั้นชื่อ “เจ้าจ๋อย” แพรเยื่อไม้เล่าถึงชีวิตของ “หลวงตา” ไว้ว่า
“ในชนบทอันเป็นดินแดนฝังสายรกของหลวงตา นิยมร้องเพลงพื้นเมืองกัน มีพ่อเพลงแม่เพลงเสียที่ดีอยู่หลายคน อีกอย่างหนึ่งที่นิยมก็คือเทศน์มหาชาติ โดยเฉพาะแหล่มหาพน พวกผู้ชายที่ผ่านการบวชเรียนมาแล้วมักจะเทศน์เป็น สึกออกมาแล้วก็ยังนำมาร้อง บางคนก็กลายเป็นหมอทำขวัญนาคที่มีชื่อเสียง ทำให้หลวงตาชินมาตั้งแต่เด็ก ๆ ครั้นมาบวชเข้า . . . ความชินบวกกับความชอบ ก็ทำให้หลวงตาพลอยเป็นักเทศน์กับเขาไปเทศน์เรื่อย ๆ มา จนกระทั่งมีลูกศิษย์ลูกหาทางนี้อยู่หลายคน เมื่อมีผู้มาซักถามว่าลีลาท่วงทำนองนี้ไปฝึกหัดมาจากใคร หลวงตาก็นึกหาครูบาอาจารย์ของตัวเองไม่ได้. . .
เมื่อหลวงตาออกเทศน์ก่อน ๆ นั้น ก็ว่าแหล่เพราะ ๆ เรียบ ๆ ตามนิสัยชอบ ครั้นเทศน์ไป ๆ ซักจะสังเกตเห็นความนิยมของคนฟังบางประเภทที่ชอบเทศน์ประเภทสนิม ซึ่งทางการคณะสงฆ์ขัดชำระทิ้งมาครั้งหนึ่งแล้ว แต่พระเทศน์ก็เป็นดุจพ่อค้า จะเสนอสินค้าก็ต้องดูความต้องการของตลาด เมื่อสนิมยังเป็นความต้องการของตลาดอยู่ พ่อค้าก็ต้องตามใจ และลูกค้าประเภทนั้นก็ชื่นชมออกนอกหน้าเสียด้วย ฉะนั้น พระเทศน์ประเภทกาเหล้าเล่าจึงได้รับความนิยมในท้องถิ่นชนบท หลวงตาออกชนบทบ่อยเข้าก็เลยริสะสมสนิม แต่ยังไม่ถึงขนาดกาเหล้าเล่าหรอก เพราะไม่ต้องการน้อยหน้าเพื่อนนักเทศน์ด้วยกันจึงพยายามเสาะหาแหล่สัปดนเข้ามาไว้เพื่อชื่อเสียงและตามใจนักเลง” [1]
วรรณกรรมชุด “หลวงตา” จึงเป็นวรรณกรรมที่ก่อเกิดจากจุดยืนของคนในวงการคณะสงฆ์ตามแบบจารีตรัฐไทย เป็นคณะสงฆ์ที่สนับสนุนโดยรัฐ และเป็นมุมมองของพระที่คลุกคลีอยู่กับพุทธศาสนาแบบชาวบ้านที่นักวิชาการสมัยใหม่และคณะสงฆ์ส่วนกลางเองก็มองว่าเป็น “สนิม”ที่กัดกร่อนพุทธศาสนา ดูเหมือนหลวงตาเองก็มองตัวเองว่าเป็นส่วนหนึ่งของพระที่ชอบ “สนิม” เมือผ่านเรื่องราวของหลวงตา แพรเยื่อไม้จึงไม่ใช่พระนักวิชาการที่มีผลงานวิชาการชั้นเลิศ มีเหตุมีผล มีข้อมูลตรรกะน่าเชื่อถือ ที่ต้องอ่านเป็นภาคบังคับส่วนหนึ่งในมหาวิทยาลัยสงฆ์ ไม่ใช่พระนักปฏิรูปที่ยิ่งใหญ่ แต่เป็นพระเล็ก ๆ รูปหนึ่งที่อยู่กับชาวบ้าน ลูกศิษย์วัดและคนชั้นกลางที่วิถีชีวิตจะต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับวัดในบางครั้งคราว
แต่น่าสนใจว่า การเป็นพระที่ต้องการธำรงรักษาจารีตพุทธศาสนาไทยไว้นั้นไม่ได้ทำให้หลวงตา (แพรเยื่อไม้) ยอมสยบกับจารีตประเพณีอย่างไม่วิพากษ์วิจารณ์ อันที่จริงแล้ว การวิพากษ์วิจารณ์จารีตประเพณี และอำนาจของสงฆ์ผู้ปกครองในพุทธศาสนาไทยนั้นปรากฏอยู่บ่อยครั้งในเรื่องสั้นชุด “หลวงตา” ตัวอย่างเช่น ใน “ว่าที่สมเด็จ” ซึ่งเล่าถึงเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดในจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่ง “หลวงตา” ได้รับคำบอกเล่ามาเมื่อครั้งได้รับนิมนต์ไปเทศน์ในงานประจำปีของสำนักแห่งหนึ่ง เมื่ออ่านในระหว่างบรรทัดแล้ว เหตุการณ์นั้นดูเป็นเรื่องราวอันน่าเศร้าใจแก่หลวงตาอย่างมากจึงอดไม่ไหวที่จะนำมาเป็น “ฉากละครสั้น ๆ” ในเรื่อง “ว่าที่สมเด็จ”
“ปีนั้นที่สำนัก. . . อันเป็นฉากละครสั้น ๆ บทนี้ คณะกรรมการจัดให้มีงาน เมื่อโปรยใบบอกบุญออกไปได้ไม่นาน ก็เริ่มมีผู้ศรัทธา ทยอยกันเข้ามาถวายปัจจัย ยิ่งใกล้วันงานเข้ามาก็ยิ่งมีมีหน้ามีตาขึ้น ทำให้องค์ประธานแห่งสำนักนั่งยิ้มแก้มตุ่ยอย่างน่ารัก และไม่ลืมที่จะเตือนเจ้าศรัทธาทุกรายว่า “แล้วก็มาฟังเทศน์นะ ! ฉันนิมนต์สมเด็จท่านมาเทศน์” พร้อมกับออกนามสมเด็จพระราชคณะรูปหนึ่ง ข่าวนี้เป็นจุดสนใจที่มีอำนาจมาก เรียกได้ว่าเป็นหัวใจของงานเลยทีเดียว เพราะเกียรติของสมเด็จเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่เคยน้อยกว่าวัตถุอาถรรพ์ของอาจารย์ผู้วิเศษเลย ชาวบ้านพากันเบนหัวใจมาจดจ่ออยู่ที่ว่าที่สมเด็จ ตั้งตาคอยซะรอยจะเอือมหรือชาชินต่อวัตถุอาถรรพ์ที่โฆษณาถึงความวิเศษศักดิ์สิทธิ์เข้า ฉะนั้นพอถึงวันงาน จึงมีชาวบ้านทั้งใกล้และไกลหลั่งไหลกันเข้ามา จนทำให้สำนักดูแคบลงถนัดใจ ความชื่นอกชื่นใจของทุกผู้ถึงขีดสุด ก็ตรงที่ได้เห็นพระรูปพระโฉมของท่านซึ่งนั่งสง่าอยู่ในรถคันงามที่ค่อยเคลื่อนคลานเข้าสู่สำนัก” [2]
ปกติ พระสงฆ์ทั่วไปก็มีอำนาจเป็นที่ยอมรับแก่ชาวบ้านหรือคนธรรมดาสามัญอยู่แล้ว แต่พระระดับสมเด็จฯ นั้นดูจะพิเศษยิ่งกว่ามาก บางครั้งดูเหมือนจะมากยิ่งกว่า “วัตถุมงคล” หรือที่หลวงตาใช้คำว่า “วัตถุอาถรรพ์” เสียอีก ภาพตัวแทนของพระสงฆ์ใน “ว่าที่สมเด็จ” ถูกวาดออกมาในสองแบบ แบบหนึ่งคือภาพตัวแทนพระสงฆ์ธรรมดาที่มีอำนาจเหนือศรัทธาชาวบ้าน อาจด้วยศีลาจารวัตร การแสดงธรรมเทศนา หรือการที่มีความสามารถในการสร้างวัตถุมงคล และศาสนวัตถุต่าง ๆ ก็ได้ อีกแบบหนึ่งเป็นตัวแทนของพระสงฆ์ซึ่งมีอำนาจวาสนาและอยู่ในศูนย์กลางของอำนาจ “หลวงตา” ยังวาดภาพในเห็นว่าความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ระหว่างพระซึ่งไร้อำนาจวาสนากับพระซึ่งครองอำนาจวาสนา นั่นคือ“เจ้าสำนัก” ที่อาจมีเส้นสายโยงใยไปถึงพระสงฆ์ส่วนกลางที่นั่งอยู่ในอำนาจปกครองอันเป็นภาพแทนของแห่งอำนาจวาสนาและบารมีสูง ภาพที่ถูกวาดออกมาจึงเป็นภาพแทนของระบบอุปถัมภ์ที่อยู่ในแวดวงพระศาสนาด้วย
ข้อนี้เป็นเรื่องปกติ เพราะศูนย์กลางของอำนาจสงฆ์ส่วนกลางถูกออกแบบมาเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งและเชื่อมโยงกับพระสงฆ์ในชนบทอย่างที่แยกไม่ออกมาตั้งแต่มีพระราชบัญญัติลักษณะปกครองสงฆ์ในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมาแล้ว นอกจากนี้ ความเป็นสมเด็จฯซึ่งอยู่ในอำนาจศูนย์กลางนั้น ไม่ใช่เรื่องของจารีตการปกครองเท่านั้น หากแต่ในวิถีความคิดแบบพุทธที่ได้รับการปลูกฝังมานั้น ตำแหน่งแห่งที่ที่สูงขึ้นเป็นพิเศษนั้นโยงกับอำนาจบุญบารมีซึ่งเป็นเรื่องทางอภิปรัชญาอยู่ด้วย ตำแหน่งแห่งหนของพระสงฆ์หรือใครก็ตามในสังคมนี้ไม่ได้โยงถึงเรื่องของชาติที่แล้วหรือเรื่องบุญทำกรรมแต่งเรื่องวาสนาบารมี แถมด้วยเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์อีกต่างหาก อย่างไรก็ตาม พระสงฆ์ในชนบทที่ต้องการยกตัวเองให้มีอำนาจเหนือขึ้นไปกว่าปกตินี้ นอกจากจะต้องขวนขวยให้ด้วยตัวเองแล้ว การเชื่อมโยงตัวเองกับอำนาจนำในสงฆ์ส่วนกลางก็มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการขึ้นสู่ตำแหน่งแห่งที่อันสูง แต่ในอดีต พระชนบทนั้นยากจะเข้าไปสู่ตำแหน่งแห่งที่อันสูงส่งได้
ใน “ว่าที่สมเด็จ” ได้เผยให้เห็นอำนาจของพระในศูนย์กลางอำนาจปกครองที่ศักดิ์สิทธิ์กว่ากระทำต่อกลุ่มอำนาจที่น้อยกว่า เมื่ออำนาจนำในส่วนกลางยอมเคลื่อนย้ายหรือโน้มลงมาเชื่อมต่อกับอำนาจรายรอบขอบชิดซึ่งอยู่ในชนบท จะถือเป็น “เกียรติ” อันสูงส่งของผู้น้อย เรื่องราวใน “ว่าที่สมเด็จ” ได้ปูพื้นเรื่องราวให้เห็นพลานุภาพของอำนาจวาสนาบารมีของสงฆ์ที่ดำรงอยู่เป็นชั้น ๆ เหนือชาวบ้านอย่างแจ่มชัด อำนาจในชนบทอาจประสงค์จะเชื่อมต่อหรือประนีประนอมกับอำนาจนำจากส่วนกลาง แต่อำนาจบารมีส่วนกลางเองนั้น อาจไม่ได้มีความประสงค์จะประนีประนอมกับอำนาจต่ำชั้นเสมอไป นี่คือเรื่องราวอันเป็นบทสรุปที่น่าเศร้าซึ่งคลี่คลายออกมาจากคำบอกเล่าของ “หลวงตา”
“ขณะที่สมเด็จประทานพระธรรมเทศนา ท่านประธานปีติต่อกุสโลบายของตนเองจนทำให้ฟังเทศน์ไม่รู้เรื่องเลย ก็น่าเห็นใจ ท่านมองพุ่มเทียนที่ผลิใบเป็นแบงค์ซึ่งก็มากอยู่แล้ว แต่หวนนึกถึงว่าองค์เทศน์คือสมเด็จ พุ่มเทียนปัจจัยนั้นก็รู้สึกว่ายังเล็กไป ดูไม่คู่ควรกับเกียรติที่ท่านนำมาประทานแก่สำนักเลย จึงหันไปกระซิบกรรมการคนหนึ่งให้ไปนำปัจจัยซึ่งเก็บจากผู้บริจาคไว้ล่วงหน้ามาติดให้หมด กรรมการผู้นี้ก็จัดการได้อย่างทันใจ ทำให้ต้นเทียนขยายสาขาออกอีกอย่างผิดตา
พอพระธรรมเทศนาใกล้จะจบ คุณหลวงไวยาวัจกร (ผู้ติดตามสมเด็จ-ผู้เขียนบทความ) ผู้เจนงานในด้านนี้ ก็คลานแหวกคนเข้าไปล้มพุ่มเทียนลงมานับปัจจัย และกรรมการสองสามคนเห็นดังนั้นก็โดดเข้าไปช่วยนับทำให้รวดเร็วขึ้นอีก เมื่อทราบจำนวนที่แน่นอนแล้ว คุณหลวงก็ค่อย ๆ บรรจงสอดปัจจัยทั้งหมดเข้าประเป๋าหิ้วใบเขื่อง แล้วเขียนเป็นตัวเลขจำนวนลงที่ใบปวารณา นำไปให้ท่านประธานจัดงานเซ็นนามในฐานะผู้ถวาย แล้วก็กลับออกมานั่งรอให้เทศน์จบ เมื่อสมเด็จ “ยถา สัพพี” จบแล้ว ก็ลงมานั่งรับประเคนไทยทานและใบปวารณาจากประธานจัดงาน โอภาปราศัยอยู่อีกสักครู่หนึ่งก็ลากลับ รถของสมเด็จค่อย ๆ คลานผ่านฝูงชนที่พากันยืนเรียงยกมือประนมส่งเป็นแถวยาวสองฟากตรอก กว่าจะพ้นแถวของผู้เลื่อมใสศรัทธาก็เสียเวลานาน พอขึ้นสู่ถนนใหญ่ได้ก็ตะบึ่งแน่บลับจากสายตาประชาชนหายเข้ามาในกรุงเทพฯ คงทิ้งความปลาบปลื้มโสมนัสไว้ในหัวอกชาวบ้าน ที่ได้มีโอกาสมาเห็นพระรูปพระโฉม และฟังธรรมเทศนาของท่าน ขณะที่ต่างระบายตัวพากันกลับบ้าน ที่เดินคนเดียวก็เก็บความปีติไปแต่ลำพังเงียบ ๆ ที่เดิมร่วมทางกันไปต่างก็ออกปากวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเป็นสมเด็จอย่างน่าชื่นชม เมื่อทราบถึงยอดรายรับของปัจจัยบูชาธรรม บางคนถึงกับอุทานด้วยความตกใจ เพราะคาดไม่ถึงว่าจะได้มากถึงเพียงนั้น ชาวบ้านต่างพากันปลื้มในงานครั้งนี้ไปทั้งบาง
แต่ที่สำนักฯ . . . เมื่องานวันนั้นผ่านไปแล้วก็เงียบ ไม่ใช่เงียบเพราะประกาศงดมหรสพที่ตั้งใจว่าจะมีสมโภชน์งานอีกคืนหนึ่ง แต่มันเงียบยิ่งกว่านั้น. . .[3]
ตามเนื้อเรื่องนั้น ความเงียบดังกล่าว “เงียบมาจนกระทั่งรุ่งขึ้นอีกปีก็เริ่มกระปรี้กระเปร่า เพราะงานถูกกะกำหนดขึ้นอีกวาระหนึ่ง วางโครงงานเหมือนปีกลายมีเทศน์อีก” แต่จริง ๆ แล้ว ในตอนท้ายเรื่อง หลวงตาได้ทำให้เห็นว่า “ความเงียบ” นั้นก็ยังเป็นความเงียบอันเนื่องจากการยอมจำนนต่ออำนาจบางอย่างที่ไม่อาจพูดถึงหรือวิพากษ์วิจารณ์ได้ ความเงียบนั้นแสดงผ่าน “ความเงียบ” ของหลวงตาเองซึ่งได้รับนิมนต์ให้ไปเทศน์ในปีต่อมา กระนั้น ดูเหมือน “แพรเยื่อไม้” จะไม่ยอมจำนนโดยสนิทใจเสียทีเดียว ไม่เช่นนั้น “ว่าที่สมเด็จ” คงไม่มีฉากสำคัญนี้เป็นองค์ประกอบของเรื่อง
อาจกล่าวได้ว่า “ที่สมเด็จ” ก็พยายามสะท้อนให้เห็นว่า ระหว่างความศักดิ์สิทธิ์และความธรรมดาสามัญนั้น อย่างไหนเข้าใจง่ายกว่ากัน อย่างไหนคนทั่วไปจัดการได้ง่ายกว่ากัน ด้วยการเล่าถึง “เถ้าแก่ผู้เป็นกรรมการวัด” ได้เข้ามาทำข้อตกลงเรื่อง “กัณฑ์เทศน์” ที่จะถวายแก่หลวงตาก่อนที่จะถึงวันงานของรุ่งขึ้นปีต่อมา นอกจากนี้ เสียงแห่งการวิพากษ์วิจารณ์ยังพุ่งผ่านไปยังพระสงฆ์ทั่วไปซึ่งน่าจะรวมถึงผู้มีอำนาจสูงสุดของสงฆ์ผ่านเรื่อง “ค่าจ้างเทศน์” โดยมอบบทให้หลวงตาในฐานะพระธรรมดา ๆ รูปหนึ่งบอกแก่เจ้าภาพว่า “พระไม่ใช่ยี่เกหรืองิ้วนา ไม่ได้บวชมารับจ้างใคร มีหน้าที่ฉลองศรัทธาผู้นิมนต์เท่านั้น ส่วนมูลค่าปัจจัยจะถวายหรือไม่ ก็สุดแต่ใคร” พระธรรมดา ๆ รูปนี้ไม่ได้บวชมาเพื่อเป็นลูกจ้าง อยากจ้างเทศน์ก็ไปจ้างรายอื่น
ในตอนท้ายของ “ว่าที่สมเด็จ” แพรเยื่อไม้จงใจชี้แสดงให้เห็นความแตกต่างที่สำคัญระหว่างพระธรรมดารูปหนึ่งกับพระสมเด็จที่มีอำนาจวาสนาบารมีแผ่กระจาย แต่อำนาจบารมีที่แผ่กระจายนั้นบางทีก็ไม่ได้ไปด้วยกันกับ “เมตตาบารมี” ที่ผู้มีอำนาจจะพึงมีหรือพึงมอบให้แก่คนธรรมดาสามัญ ด้านหนึ่งนั้น มีคนจำนวนมากพร้อมจะสยบยอมกับอำนาจวาสนาบารมี และถมทรัพยากรทุกอย่างเท่าที่มีให้ยังบ่ออำนาจนั้น ด้วยหวังว่าตนจะได้พึ่งพาบารมีนั้นสืบไป แต่บางครั้ง บ่อบารมีนั้นก็ลึกจนไม่อาจถมได้เต็ม ดังนั้น คนเล็กคนน้อยจึงกลายเป็น “เหยื่อ” ของอำนาจ “ศักดิ์สิทธิ์” ซ้ำแล้วซ้ำเล่า อย่างไรก็ตาม ในฐานะพระธรรมดา ๆ ซึ่งอยู่ในจารีตคณะสงฆ์ สิ่งที่หลวงตาทำในตอนท้ายของเรื่องก็ได้แต่เงียบ เป็นความเงียบที่ละไว้ในฐานะบทวิจารณ์บทหนึ่งที่พระธรรมดา ๆ อย่างหลวงตาจะสามารถมีได้ต่ออำนาจส่วนกลางของคณะสงฆ์
(3)
ว่ากันโดยทั่วไปแล้ว “หลวงตา” ในการรับรู้ของผู้คนคือพระธรรมดา ๆ สามัญรูปหนึ่ง และเมื่อเอ่ยคำว่า “หลวงตา” ก็ออกจะบ้าน ๆ มีภาพลักษณ์ค่อนข้างไปทางลบด้วยซ้ำเพราะเรามักจะนึกถึงหลวงตาในฐานะชาวบ้านที่อายุมากแล้ว ไม่มีที่ไป เลยออกบวชอาศัยศาสนา ความรู้ใด ๆ แทบจะไม่มี พระหลวงตาจึงเป็น “ตัวตลก” ในวงการศาสนาหรือวงการสงฆ์ เป็นสนิมกัดกร่อนคณะสงฆ์ แต่ “แพรเยื่อไม้” หรือพระครูพิศาลธรรมโกศลจงใจใช้ “หลวงตา” เป็นสัญลักษณ์ในเรื่องสั้นของท่าน เพราะหลวงตาคือพระที่ธรรมดาสามัญ ไร้อำนาจ ไร้วาสนา ไร้บารมีและไม่ควรค่าแก่การนับถือสำหรับคณะสงฆ์
และ “หลวงตา” ของแพรเยื่อไม้ (พระครูพิศาลธรรมโกศล) ถูกทำให้เป็นธรรมดาสามัญลงไปอีกเมื่อถูกตีความเป็นบทภาพยนตร์หรือละคร คนที่นำสวมบทหลวงตาจึงเป็น “ดาราตลก” อย่างล้อต๊อก ยกเว้น ”หลวงตามหาชน” ที่สรพงศ์ ชาตรี รับบท ซึ่งทำให้หลวงตาดูจริงจังขึ้นด้วยภาพลักษณ์ของการเป็นนักแสดงที่เป็นพระเอกมาตลอดชีวิต
อย่างไรก็ตาม เมื่อเราหวนกลับไปอ่านเรื่องสั้นชุด “หลวงตา” อีกครั้ง เรื่องที่ติดตาติดใจผู้อ่านก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่อง “ปัญหาชิงไม้เรียว” ที่ดูจะเป็นเรื่องของ “ศิษย์วัดนินทาพระ” ที่ดูตลกโปกฮาไร้สาระ แต่มันก็จับใจผู้คนจะกลายเป็นแบบอย่างในการล้อเลียนพระสงฆ์โดยทั่วไป เช่น เด็กวัดในกุฎีหลวงตามเล่นทายปัญหากันว่า “พระชอบสีอะไร ?” ซึ่งคำตอบที่ถูกในเนื้อเรื่องก็คือ “สีกา” (หมายถึง หญิงสาว)
แต่เรื่องของ “หลวงตา” เมื่อเราอ่านอย่างจริงจัง “ความตลก”ของพระรูปหนึ่งเมื่อเข้าไปเกี่ยวข้องกับสถานการณ์หนึ่ง ๆ กลับห่อหุ้มไว้ด้วยเสียงและท่าทีแห่งการวิพากษ์วิจารณ์ตัวตนของพระสงฆ์อย่างถึงราก วิจารณ์อำนาจนำภายในคณะสงฆ์วิจารณ์สภาพสังคมสมัยนั้นอย่างจริงจังและเจ็บปวด ตัวตลกของอย่างหลวงตา จริง ๆ แล้วไม่ใช่ “ตัวตลก” ที่จงใจสร้างมาเพื่อให้คนหัวเราะเย้ยหยันกับลักษณะบ้าน ๆ ของหลวงตา หากแต่เป็น “ตัวตลก” ที่แพรเยื่อไม้ (พระครูพิศาลธรรมโกศล) สร้างขึ้นมาในฐานะตัวตลกที่จะชี้ให้เห็น “ตัวตลกที่แท้จริง” ซึ่งซ่อนรูปอยู่ภายในรูปเงาของความสูงส่ง ความจริงจัง เคร่งขรึมและดูศักดิ์สิทธิ์ในสายตาของผู้คน
รายการอ้างอิง
[1] แพรเยื่อไม้, วรรณกรรมเรื่องสั้นชุด “หลวงตา” . (หนังสือที่ใช้อ้างอิงในที่นี้ เข้าใจว่าผู้จัดพิมพ์คือสำนักพิมพ์ธรรมสภา แต่ผู้พิมพ์ไม่ได้จัดทำข้อมูลบรรณานุกรมใด ๆ ไว้เลย จึงไม่อาจระบุสถานที่พิมพ์ สำนักพิมพ์และปีที่พิมพ์), หน้า 11-15
[2] เรื่องเดียวกัน, หน้า 22
[3] เรื่องเดียวกัน, หน้า 23-24