Skip to main content

สุรพศ ทวีศักดิ์
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร



ทิเบตถูกจีนยึดครอง ทะไลลามะก็ต้องระเหเร่ร่อน แต่ทำไมเขาสามารถรักษาวัฒนธรรมการเรียนรู้พุทธศาสนาแบบบ่มเพาะโพธิจิตไว้ได้ บ้านเรามีโอกาสเกิดการเรียนรู้พุทธในแนวนี้ไหม

เวลาอาจารย์ถามคำถามนี้ ผมนึกถึงคำพูดขององค์ทะไลลามะตอนที่ท่านได้รับสถาปนาเป็นองค์ทะไลลามะแล้วตั้งแต่อายุยังไม่ถึงกำหนด เพราะปกติผู้ซึ่งได้รับพยากรณ์ว่าเป็นองค์ทะไลลามะองค์ที่สิบสี่ก็ต้องมาศึกษาเล่าเรียนจนกระทั่งถึงอายุสิบแปดจึงจะได้รับการสถาปนาเป็นองค์ทะไลลามะที่สมบูรณ์ แต่พอท่านมาถึงอายุแค่สิบห้าก็มีข้อเสนอว่า ต้องรีบสถาปนาแล้วเพราะว่าตอนนี้ทิเบตวิกฤตแล้วเนื่องจากจีนเข้ามาถึงลาซาแล้ว ยังไม่ถึงกับยึดเบ็ดเสร็จแต่เข้ามาแล้ว เพราะฉะนั้นท่านได้รับสถาปนาขณะที่มีอายุสิบห้า จริงๆแล้วท่านก็ยังไม่ได้รับการยอมรับเชื่อถือสักเท่าไรหรอก แต่ผมเข้าใจว่าคำพูดของทะไลลามะตอนหนึ่ง คือเมื่อตอนที่มีความคิดถึงเรื่องที่จะตั้งกองกำลังขึ้นมาต่อต้านกองทัพจีนที่มีแสนยานุภาพสูง ผมว่าประเด็นที่น่าสนใจ ท่านอาจจะพูดจากทฤษฎีก็ได้ในตอนนั้น ก็คือท่านกล่าวข้อความว่า “มันจะมีความหมายอะไรเล่า ถ้าเราจะรักษาแผ่นดินนี้ไว้ได้ แต่พุทธเกษตรคือโพธิจิตในใจเราถูกทำลาย”

ผมเข้าใจว่าคำพูดดังกล่าวมีนัยยะสำคัญ มันเหมือนที่สะท้อนออกมาจากความรู้สึกของของท่านกุนเทรอ ลาเช รินโปเช ที่ผมนับถือมาก ท่านไม่ได้มองว่าสิ่งที่จีนทำกับทิเบตเป็นสิ่งที่เลวร้าย ในปัจจุบันนะแต่ตอนหนุ่มท่านมองว่าเลวร้าย ในปัจจุบันท่านถือว่านี้คือโอกาสของท่านที่จะได้บ่มเพาะโพธิจิตให้งอกงามขึ้นในตัวท่าน สำหรับผมนี่เป็นประเด็นที่น่าคิดมาก

คำว่าน่าคิดคือ ย้อนกลับมาสู่การทบทวนว่า พุทธศาสนาในประเทศไทยเราที่เป็นอยู่ ณ ขณะปัจจุบันนี้และที่อาจารย์พูดเมื่อตะกี้ว่ามันจะออกจากไวยากรณ์นี้ได้ไหม ผมบอกว่าไม่แน่ใจว่าออกได้หรือไม่ได้ แต่หมายความว่า ความเป็นพุทธที่อยู่นอกไวยากรณ์มันจะงอกงามขึ้น คือไม่ได้หมายความว่าพุทธที่อยู่ในไวยากรณ์มันจะตายลง แต่ผมเข้าใจว่าถ้าเป็นต้นไม้ ต้นไม้ที่อยู่ในกระถางไวยากรณ์นี้กับต้นไม้ที่ขึ้นนอกกระถาง สักพักหนึ่งต้นไม้ที่อยู่นอกกระถางจะโต แล้วก็เป็นต้นไม้ที่มีร่มเงามากกว่าต้นไม้ที่อยู่ในกระถาง

พุทธที่พยายามจะปลีกตัวออกมาจากมหาเถรสมาคมกลุ่มต่างๆ เช่นสวนโมกข์ ธรรมกาย สันติอโศก มีลักษณะของการบ่มเพาะโพธิจิตบ้างหรือเปล่า ถ้ามองอย่างเปรียบเทียบ

ผมไม่มีความรู้พอ แต่ผมมีความเชื่ออย่างหนึ่งว่า ในพุทธศาสนาที่อาจจะอยู่นอกหรืออยู่ใกล้ๆ หรืออิงอาศัยกรอบอำนาจของพุทธกระแสหลักผมไม่สามารถจะวิเคราะห์ได้ แต่ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่าพุทธศาสนาที่เกิดขึ้นในลักษณะของการอิงอาศัยศรัทธาที่ประกอบด้วยโลภะมันจะเจริญเร็วแต่จะไม่ยั่งยืน สุดท้ายไปถึงจุดๆหนึ่งก็จะมีพุทธศาสนาที่มีศรัทธาที่เหมือนกับเราพูดเมื่อตะกี้ว่าศรัทธาที่เป็นไปตามกรอบความหมายเพื่อลดละตัวความโลก ความโกรธ ความหลง มันเป็นศรัทธาที่จะเกิดขึ้น จะงอกงามขึ้นในใจหลังจากที่เราผ่านกระบวนการอะไรบางอย่างแล้วเราไม่ประสบความสำเร็จเหมือนที่หลวงปู่บอกกับผมว่าโลกียสุขก็ไม่ได้เสพ โลกุตตรสุขก็ไปไม่ถึง วงจรตรงนี้มันไม่ได้เป็นแค่ชีวิตคนเดียว มันอาจจะเป็นวงจรที่คร่อมชีวิตหลายชีวิต เพราะฉะนั้นเราคนเดียวอาจจะไม่เห็นทั้งหมด ทั้งวงจร

แต่ผมเชื่อว่าพอถึงจุดๆหนึ่งพุทธศาสนาที่สถาปนาขึ้นบนศรัทธาที่ประกอบด้วยโลภะก็ไม่ยั่งยืน แล้วก็จะทำลายตัวเอง ไม่ต้องมีใครไปทำลายหรอกครับ จะทำลายตัวเอง เพราะว่าทั้งฝ่ายผู้ซึ่งประกาศหลักศรัทธานี้และฝ่ายที่เข้าไปอาศัยร่มเงาของศรัทธาแบบนี้ก็ไม่ได้เกิดความร่มเย็นเป็นสุขที่แท้จริง

น่าสนใจมากที่ว่าไม่ได้เกิดความร่มเย็นเป็นสุขที่แท้จริง ผมสังเกตว่าธรรมชาติของเถรวาทในบ้านเรามันมีลักษณะนำไปสู่ความขัดแย้งได้ง่ายมาก เช่นในแง่ของความประพฤติ ถ้ามีข่าวพระไม่ดีขึ้นมาแล้วก็มักมีการถกเถียง มีความขัดแย้งเกิดขึ้น ในภาพกว้างก็มีลุ่มจะเอาพุทธศาสนาประจำชาติ ทั้งกลุ่มที่เสนอให้พุทธศาสนาเป็นอิสระจากรัฐ ดูเหมือนหาจุดตั้งต้นร่วมกันไม่ถูก แต่ถ้ามองอย่างที่อาจารย์ว่า จุดตั้งต้นอยู่ที่การบ่มเพาะโพธิจิต นอกนั้นก็เหลือแต่ความเป็นไปได้ที่คุณจะเปิดเข้าไปปะทะสัมพันธ์กับบริบทต่างๆ เช่นกรณีวิจักขณ์ที่เขาอาจจะเดินตามแนวทางวัชรยานที่เขาไปเรียนมา แต่เขาก็มาสนใจประเด็นสังคม

ที่จริงศาสนาแบบไม่มีไวยากรณ์มันทำงานบางอย่างอยู่ เพียงแต่ว่าเราไม่ได้สนใจ เราไปสนใจแต่ไวยากรณ์ ผมจึงไม่รู้สึกตกอกตกใจอะไร และผมมีความรู้สึกว่านี่คือโอกาสที่เรากำลังจะได้รับรู้ความหมายอะไรบางอย่างที่ไม่เป็นไปตามหลักไวยากรณ์

คนที่มาอยู่ในศาสนานอกไวยากรณ์แล้วโดยธรรมชาติเขาจะไม่สนใจเรื่องสังคมการเมืองหรือเปล่า

ไม่ใช่ครับ ถ้าให้ผมพูดในความรู้สึกของผม ไม่ใช่ไม่สนใจ แต่ผมเข้าใจว่าความสนใจนั้นมันมีนัยยะความหมายที่เปลี่ยนไป มันเป็นความสนใจอีกแบบหนึ่ง เป็นความสนใจที่มีลักษณะที่ดูเหมือนไม่สนใจแต่จริงๆแล้วมันเป็นความใส่ใจที่ละเอียด ยกเว้นว่าในบางกรณีที่มันเป็นเรื่องผ่านสื่อ ที่บางคนก็อาจไม่ค่อยสนใจ ไม่ค่อยติดตามสื่อ แต่ถ้าในสาระที่มันฟุ้งกระจายอยู่ในสังคม ผมเข้าใจว่าใส่ใจ และที่สำคัญนอกจากสนใจ คือไม่สนใจผ่านสื่อนะครับแต่สนใจเรื่องราวทีมันตกตะกอนอยู่ในใจคนแล้ว มันไม่ถึงกับติดตามข่าวแบบเช้าเย็นๆ แต่สนใจว่าประชาชนคนที่เป็นเพื่อนฝูงของเราอยู่กันอย่างไร

ผมเข้าใจว่าความสนใจแบบนี้เป็นความสนใจอีกแบบหนึ่ง และความสนใจแบบนี้มันเป็นความสนใจที่ ขอโทษขอใช้ภาษาไวยากรณ์ทางศาสนานิดหนึ่งนะครับ คือเมื่อก่อนเราจะสนใจในเชิงวินิจฉัยว่าใครผิดใครถูก แล้วเราก็จะเห็นใจคนถูกและตำหนิติโทษคนผิด พูดตามตรงก็คือเราจะตำหนิคนฝั่งหนึ่งแล้วก็เห็นอกเห็นใจคนอีกฝั่งหนึ่ง ความรู้สึกแบบนี้ทำให้เราคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะปกป้องคนที่เราคิดว่าถูก แล้วก็ทำให้คนที่ผิดสูญสลายอำนาจไป

แต่พอมาถึงปัจจุบันผมว่าผมไม่ได้คิดแบบนั้น ผมคิดในความหมายว่าจะทำอย่างไรให้คนทั้งสองกลุ่มนี้ ซึ่งไม่ใช่ประเด็นเรื่องผิดเรื่องถูกได้เกิดความรู้สึกเห็นอกเห็นใจกัน เกิดความรู้สึกเข้าอกเข้าใจกัน ซึ่งผมเข้าใจว่าความสนใจแบบนี้เป็นความสนใจที่ทำให้ดูเหมือนกับเงียบ เพราะว่าถ้าเป็นความสนใจแบบเก่าเราก็จะส่งเสียงขึ้นมาเพื่อปกป้องคนถูกแล้วก็ตำหนิคนผิด แต่พอมาถึงจุดที่มันเป็นแบบนี้มันจึงไม่ได้อยู่ในเรื่องของการตำหนิคนผิดหรือการปกป้องคนถูก เพราะมันคือความรู้สึกอยากปกป้องคนทุกคน

การสนใจที่กระตือรือร้นในปัจจุบันก็คือความสนใจแบบปกป้องคนถูก เพราะเขาคิดว่ามันมีความจำเป็น เช่น เป็นนักโทษการเมืองต้องได้รับการนิรโทษกรรม และต้องแก้ปัญหาเรื่องโครงสร้างให้มันเป็นประชาธิปไตยให้ได้ นั่นคือสิ่งที่เขาสนใจกันอยู่ นี่คือแนวทางที่มันเป็นรูปธรรมที่สุด ทีนี้ในแนวทางบ่มเพาะโพธิจิตมันมาสัมพันธ์กับเรื่องพวกนี้ได้หรือเปล่า

คือมันเป็นอย่างนี้ครับ ผมเข้าใจว่าทันทีที่เราพูดถึงเรื่องความเห็นใจนั้น มันเหมือนกับที่ท่านอาจารย์ลาเชพูดถึงสภาวะที่อยู่ในเรือนจำในคุก แล้วถามว่าสภาวะที่อยู่ในคุกมันยาก หนักหนาสาหัสที่สุดคือช่วงไหน คำตอบคือช่วงที่ท่านเผลอปล่อยให้จิตคิดโกรธและเกลียดรัฐบาล ข้าราชการจีนที่ทรมานท่าน แน่นอนคำพูดนี้พูดไปก็เหมือนกับเป็นเรื่องราวโรแมนติก มันเป็นเรื่องเล่า แต่ผมว่ามันมีประเด็นคือถ้าเรามองสั้นๆนี้คือเหตุการณ์ๆหนึ่งที่เราต้องตัดสินใจปฏิบัติการอย่างหนึ่ง แต่จริงๆสิ่งที่เราบอกว่าเราต้องปฏิบัติการอย่างหนึ่งในช่วงสั้นๆนั้น ผมคิดว่าถ้าเราถอยห่างออกมาแล้วมองในช่วงยาว ช่วงกว้างแล้ว มันมีความหมายของมัน มันมีรายละเอียดที่ลึกซึ้ง

เพราะจริงๆแล้วสิ่งที่เป็นภาวะของความโกรธเกลียด ภาวะของการกระทำต่อกันและกันในปัจจุบันนี้ ขอโทษเถอะนี่เราอาจพูดในภาษาที่ดูไม่ใส่ใจ แต่จริงๆแล้วยิ่งเราเข้าไปทำอะไรด้วยความเกลียดชังอีกฝั่งหนึ่ง ฝั่งนี้ไม่รู้ว่าฝั่งไหนล่ะ แต่ปล่อยให้ความเกลียดมันเกิดขึ้นในใจ ผมเข้าใจว่ามันยิ่งจะทำให้เกิดสภาวะของความเลวร้าย ถ้าเราถือว่าความเกลียดคือความเลวร้ายดังที่อาจารย์ลาเชบอกว่าช่วงที่หนักที่สุดคือช่วงที่ปล่อยให้จิตโกรธและเกลียด เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงที่มันย่ำแย่ที่สุด แต่ถ้าพอทำให้มันมีลักษณะที่ปลอดพ้นจากความโกรธความเกลียดได้ มันก็ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เลวร้ายอะไร แม้เขาจะทรมาน แม้เขาจะทุบตีจนท่านพิกลพิการ

ประเด็นที่ผมพูดตรงนี้ไม่ใช่พูดในเชิงอุดมคติอะไรลึกซึ้งเลย แต่ผมพูดจากประสบการณ์จริงๆว่าสิ่งที่เรากำลังพูดถึงสถานการณ์ในสังคมปัจจุบันนี้ ผมเข้าใจว่าถ้าเราไม่ว่าใครหรือฝ่ายไหนก็ตามพูดถึงเรื่องต่างๆที่เป็นปรากฏการณ์ในสังคม พูดด้วยจิตใจที่ประกอบด้วยเมตตาพูดเถอะ พูดเลย พูดเพื่อให้มันเกิดความหมายที่มันมีเมตตาธรรมแผ่ไป แต่ถ้าเราพูดด้วยความโกรธและความเกลียด ผมเข้าใจว่าไม่ว่าพูดเพื่อปกป้องใคร การปกป้องที่แท้จริงก็ไม่เกิด

ที่สำคัญ ถ้าทันทีไม่ว่าจะเป็นใครก็แล้วแต่ ไม่ว่าจะสีไหน ลองนึกภาพดูสิ ถ้าสมมติว่าประชาชนสีแดงพูดถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมไทยด้วยจิตใจที่ประกอบด้วยเมตตาธรรม ผมเชื่อว่ามีการเปลี่ยน ผมเชื่อว่ามีการเปลี่ยนทันที (พูดซ้ำด้วยน้ำเสียงที่มั่นใจ)

ประเด็นมันอย่างนี้ครับ ถ้าเราพูดในกรอบของการแสดงออกในหลักของสิทธิมนุษยชน เราจะยอมรับได้ในการปลดปล่อยพลังความโกรธของคน คือเรายอมยอมรับคนที่เป็นคนจริงๆ ที่ยังมีกิเลส การแสดงความโกรธออกมาในการพูด ในท่าทีอะไรก็แล้วแต่ ตราบใดที่ไม่ละเมิดสิทธิในชีวิตร่างกายของคนอื่นก็ยังเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ แต่ปัญหาก็คือเวลาเราเอาศาสนามามองปรากฏการณ์ทางสังคม เราไม่ยอมรับการปลดปล่อยอารมณ์ด้านลบของมนุษย์บ้างเลย เราต้องการให้มนุษย์แสดงอารมณ์ด้านบวกออกมา ซึ่งมันก็ดี ผมไม่ปฏิเสธว่ามันดี แต่จริงๆแล้วในโลกของความเป็นจริงคือมันเป็นไปไม่ได้ อีกแง่หนึ่งผมคิดว่าฐานคิดในการลงโทษคนที่ทำผิดด้วยวาจาที่ไปทำผิดต่อบุคคลศักดิ์สิทธิ์ หรือมีสถานะที่เรายกย่องว่ามีคุณธรรมสูงส่งนั้น เวลาเขาไปพูดไม่ดีต่อบุคคลเช่นนั้นเราตัดสินจำคุกเขาได้เป็นสิบปี ยี่สิบปี โดยไม่ให้ประกันตัวจนตายในคุกก็มี ผมคิดว่าวิธีคิดในเชิงศีลธรรมของสังคมไทยมันมีความหมายสำคัญว่า ถ้าบุคคลนี้ดีสูงส่ง เราจะไปพูดอะไรเป็นคำพูดที่ออกมาจากิเลส จากความโกรธกับบุคคลเช่นนั้นไม่ได้ ถ้าพูดต้องลงโทษทางกฎหมายให้หนัก สังคมก็ต้องลงโทษประณามสาปแช่ง แก้กฎหมายนี้ไม่ได้ จะไปวิจารณ์ตรวจสอบท่านทำไมท่านดีแล้ว ผมก็เลยมีความคิดว่าบางทีความคิดทางศาสนาของเรามันไปทำให้คนแคร์กับการแสดงออกทางอารมณ์ด้านลบของมนุษย์มากเกินไปหรือเปล่า

ถ้าในความหมายของผมไม่ใช่อย่างนั้น เพราะมันกลับไปสู่ประเด็นที่เราพูดถึงเถรวาทและวัชรยาน ที่เราบอกว่าเถรวาทเป็นการคิดเรื่องผิดเรื่องถูก และการคิดเรื่องผิดเรื่องถูกนี้เป็นการคิดเชิงอำนาจ ก็คือพยายามใช้อำนาจองความคิดว่าดีเพื่อไปลงโทษหรือกำกับกระทำคนที่คิดว่าไม่ดีอะไรอย่างนี้นะ แม้กระทั่งในคนคนเดียวกันนี่แหละถ้าเราพูดในเชิงความหมายที่ละเอียดลึกซึ้ง ผมสารภาพตรงๆเลยนะครับว่าในสมัยที่ผมปฏิบัติธรรมแบบเถรวาท และมีความคิดว่ากิเลสเป็นมลทินต้องขจัดให้หมดสิ้นเป็นความคิดที่ผิด ในความรู้สึกของผมนะแต่ผมไม่พูดสิ่งนี้กับคนอื่นนะ

นี่แหละที่ผมกำลังตั้งคำถามว่าความคิดแบบนี้มันเป็นฐานความรุนแรงในสังคมด้วยหรือเปล่า

เป็นความรุนแรงในตัวเองด้วย เป็นความรุนแรงในตัวเองเลย ทีนี้มาพูดในทางวัชรยาน พอเราพูดทางวัชรยานเราพูดเรื่องโพธิจิต พอเราพูดเรื่องโพธิจิตเราจึงพูดถึงกรณีที่พระลามะพูดถึงเรื่องว่าเราไม่ได้พูดถึงเรื่องความร้ายแรงหรือความชั่วของคนที่ทำกับท่านเลยนะ ตอนที่ถามว่าท่านต้องเผชิญกับความยุ่งยากลำบากทรมานที่สาหัสที่สุดมันช่วงไหนอย่างไร แน่นอนคำถามนี้เรากำลังถามถึงการกระทำหรืออำนาจของคนที่มีเหนือท่าน แต่ท่านกลับตอบในความหมายซึ่งเป็นเรื่องภายในตัวของท่านเองและเป็นการใช้อำนาจที่มันเป็นอำนาจของความหมายเอง ซึ่งผมเข้าใจว่าที่ผมคุยกับอาจารย์เรื่องมิติทางสังคม ผมพยายามดึงกลับมาสู่ประเด็นนี้

ประเด็นที่เราไม่ได้คิดโดยฐานของการจำแนกว่ามีใครผิดหรือใครถูก ไม่ได้คิดในความหมายว่าใครกระทำและใครถูกกระทำ เพราะฉะนั้นจึงไม่มีประเด็นเรื่องว่า การเมินเฉยหรือการเข้าข้าง แต่เรากำลังพูดถึงว่าในที่สุดกระบวนการสุดท้ายแล้วมันกลับมาถึงประเด็นที่เราพูดว่าไม่มีไวยากรณ์ และไวยากรณ์ที่เราพูดถึงเราจึงพูดถึงไวยากรณ์ที่ผมบอกว่า ถ้าในสถานการณ์ที่เราคิดว่าจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่เราคิดจะเปลี่ยน และผมคิดว่ามันเปลี่ยนเหมือนกับกรณีที่เราพูดถึงบอกว่ามันเป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้น ถ้าเรามองในช่วงเริ่มต้นในปี 2501, 2502 ที่เกิดการปั่นป่วนในทิเบตจนกระทั่งทะไลลามะต้องลี้ภัยออกนอกประเศทิเบต เป็นความโหดร้าย คนทิเบตตายไปตั้งสองล้านกว่า ถ้าผมจำข้อมูลไม่ผิด ไม่ใช่ตายวันเดียวนะช่วงเวลานานถึงสิบๆปี เอาประชากรทิเบตเป็นตัวตั้ง ชาวทิเบตต้องเสียชีวิตลงจากเหตุการณ์นี้ประมาณสองล้านกว่าคน ชาวทิเบตที่เหลืออยู่เป็นส่วนหนึ่งที่เทียบเคียงแล้วคนที่ตายเปอร์เซ็นต์สูงมากและเป็นความเลวร้ายที่เลวร้ายสุดๆเลยในความรู้สึกในเชิงการตัดสินผิดถูก

แน่นอน เราพูดได้เพราะมันผ่านไปแล้วตั้งแต่ปี 2501, 2502 แล้วก็เหตุการณ์นี้มาถึง 2503,2504 มาเรื่อยๆ แม้จนกระทั่งปัจจุบันนี้ก็ยังมีพระทิเบตเผาตัวตายอยู่เรื่อย แต่ประเด็นที่น่าคิดก็คือในช่วงสถานการณ์ที่เลวร้ายแบบนี้กลับมีคำพูดพูดที่ดูเหมือนเพ้อฝันมาก แต่ผมเข้าใจว่ามันจริงมากๆก็คือ แทบไม่น่าเชื่อว่าทันทีที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น พุทธศาสนาแบบวัชรยานของทิเบตที่เคยเก็บตัวอยู่บนหลังตาโลกแห่งนี้มานานเป็นหลายร้อยปีหรือประมาณพันกว่าปี ถ้าเรานับจากพระชาวอินเดียเข้าไปประดิษฐานพุทธศาสนาในทิเบตนับแต่ปี พ.ศ.1100 หรือ 1200 ประมาณนี้ แต่ก่อนคนเกือบไม่รู้ว่าพุทธศาสนาแบบทิเบตคืออะไร แต่ในปัจจุบันหลังจากทิเบตถูกยึดครองโดยจีนพุทธศาสนาแบบทิเบตกลับแพร่กระจาย จนกระทั่งกลายมาเป็นคำกล่าวว่าขอบคุณรัฐบาลจีน

แน่นอน ไม่ได้ขอบคุณที่เขาฆ่าคนทิเบต แต่ขอบคุณที่มันทำให้เกิดสถานการณ์โลกจนกระทั่งว่าพุทธศาสนา ถ้าเราสมมติว่าเป็นสิ่งที่ดีนะจนเป็นที่รับรู้และรู้จักอย่างแพร่หลาย จนกระทั่งว่าประเทศที่นับถือพุทธศาสนาที่ใหญ่ๆของโลกไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น ไทย พม่า เป็นต้นก็ยังไม่สามารถให้คนทั่วโลกเข้าใจพุทธศาสนาได้มากถึงเพียงนี้ เพราะฉะนั้นคำพูดว่าขอบคุณมันก็คงไม่ต่างจากรณีที่มีคนป่วยเป็นโรคมะเร็งแล้วก็บอกว่าขอบคุณที่ป่วยเป็นโรคนี้เพราะทำให้ใจเข้าถึงธรรมอะไรประมาณนี้ (หัวเราะ)

ผมเอาเรื่องนี้มาพูดก็พูดอยู่บนฐานนี้ ฐานของความหมายของเราว่าแน่นอนถ้าเรามองเพียงแค่สั้นๆว่านี้คือเหตุการณ์หนึ่งที่มีคนกลุ่มหนึ่งถูกจองจำคุมขังมันเจ็บปวด แต่ถ้าเรามองในช่วงพลวัตของสังคมว่ามันเกิดเป็นปรากฏการณ์อะไรที่ลึกซึ้ง และที่สำคัญนะครับพูดไปเหมือนกับเราพูดนอกไวยากรณ์ที่มีไวยากรณ์หรือเปล่าก็ไม่ทราบ ความสำนึกในใจของคนที่มีความหมายว่าสิ่งที่มันเกิดขึ้นนี้มันจะถูกตีความว่าน่าปรารถนา ไม่น่าปรารถนาก็ตามที ถ้าเรามีความศรัทธาในการกระทำและผลที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการกระทำ มิได้หมายความว่าจำเพาะเจาะจงปัจเจก แต่กำลังพูดเพื่อให้ใจของเราเป็นพื้นที่เพื่อให้โพธิจิตมั่นคง เราต้องมองสถานการณ์ทั้งหมดให้มันเป็นความหมายที่ไม่ไปปลุกเร้าให้เกิดความโกรธและความเกลียด แต่จะต้องมองในความหมายที่ทำอย่างอย่างไรให้มันเกิดสภาวะที่มันเป็นความเมตตาอาทรขึ้นในใจเรา ขึ้นในใจเรานะครับ ตอนนี้อย่าไปสนใจคนอื่นนะครับ แต่ให้กลับมาสนใจเรา

ผมพูดถึงจิตใจว่าเราเกิดมาเป็นมนุษย์ในสภาวะจิตของเราที่เป็นมนุษย์มันผ่านความคับแค้นมา ผ่านความรื่นเริงบันเทิงมามากแล้ว ผมเข้าใจว่าสิ่งที่เรากำลังพูดถึงอยู่ตอนนี้ ถ้าพวกเราซึ่งสนใจพุทธศาสนาแล้วสื่อสารความหมายนี้กับใครก็ไม่รู้กับเพื่อนๆเราไม่ว่าจะเป็นใคร สีอะไร สื่อสารกันในความหมายว่า ถ้าหากโครงสร้างสังคมมันเลวร้าย เพราะมันก่อให้เกิดสิ่งที่มันเลวร้ายขึ้นในใจเรา เราไม่สามารถจะใช้ความเลวร้ายในใจเราไปพลิกเปลี่ยนโครงสร้างนี้ได้ ยิ่งเราพยายามจะพลิกเปลี่ยนความเลวร้ายก็จะเพิ่มขึ้นทั้งในใจเราและในใจที่ถูกพลิกเปลี่ยน

แต่เมื่อใดถ้าเราที่ถูกระทำแบบนั้นเกิดความหมายอะไรบางอย่างขึ้นมาได้ เฉพาะกรณีที่เกี่ยวกับเรื่องโพธิจิตผมเคยคุยกับวิจักขณ์คุยกันนานเรื่องนี้นะ ตอนนั้นวิจักขณ์กับผมคุยกันนาน เรากำลังคุยกันถึงประเด็นนี้ว่าจริงๆแล้วเมื่อมาถึงจุดๆหนึ่งที่มันมีสถานการณ์บีบคั้นเราถึงขนาดที่มีความรู้สึกจะไม่สามารถยืนทานทนในสถานการณ์นี้ได้ นั่นแหละคือจุดพลิกเปลี่ยนและจุดพลิกเปลี่ยนนี้ถ้าเราสามารถยอมที่จะสำนึกขอบพระคุณได้ว่า โอสถานการณ์นี้มีเพื่อทดสอบตัวเราเท่านั้นประมาณนี้นะครับ แล้วเราจะผ่านพ้นสถานการณ์นั้น

เพราะสุดท้ายแล้ว ผมเข้าใจว่าสถานการณ์ทุกสถานการณ์ถ้ามองว่ามันเลวร้ายมันก็เลวร้าย แม้กระทั่งว่าเราไม่ต้องอยู่ในคุกหรอกครับ แม้กระทั่งอยู่ในสังคมนี้ความเลวร้ายที่มันเกิดขึ้น ถ้าเราคิดนะครับ และที่สำคัญคือผมมีความรู้สึกอันหนึ่งซึ่งแปลกมากก็คือสิ่งที่มันทำให้เราโกรธแค้นสุดๆ ถ้าเพียงแค่เราพลิกกลับมามองว่าจริงๆแล้วมันก็เป็นโอกาสที่เราจะเจริญเมตตาได้ดีที่สุดเหมือนกัน และเป็นสิ่งที่ดี ที่ดีนี้ไม่ได้พูดถึงคนอื่นนะ ดีสำหรับเรา เพราะถ้าเราพูดถึงคนอื่นมันก็เป็นความดีที่เป็นกฎเกณฑ์

เหมือนกับโลกอยู่ที่ใจของเรา

คือถ้าพูดแบบผมนะ ภาษาผมอาจจะไม่ดีพอ ก็ใช่ เพราะเมื่อมาถึงวันหนึ่งพูดกันตรงๆ ภาษาที่เราเคยผ่านการบ่มเพาะในชีวิตนักบวชมา และชีวิตนักบวชของเราจะจริงจังตั้งใจหรือไม่ก็ไม่รู้ล่ะ แต่เราก็มีความหมายที่ปรากฏต่อสาธารณะว่า เราประสงค์ปรารถนาจะทำพระนิพพานให้แจ้งอย่างนั้นนะครับ จริงๆ เราจะมีความจริงใจขนาดไหนผมไม่รู้ แต่ผมเข้าใจว่าพอเรามีจิตปรารถนาจะทำพระนิพพานให้แจ้งและหันหน้าไปสู่ความหมายนี้อย่างแท้จริง มันก็เป็นสิ่งที่มหัศจรรย์ที่สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดกับเราล้วนแต่เป็นโอกาสให้เราเข้าถึงพระนิพพาน แต่ขณะเดียวกันมันก็เป็นโอกาสทำให้เราพลัดตกหล่นหายไปจากพระนิพพานก็ได้ อยู่ที่ใจเรา

แน่นอน คำพูดแบบนี้ถ้าพูดกันด้วยโวหารมันก็ธรรมดาๆ แต่ถ้าพูดในบางโอกาสที่มันมีพื้นที่เงื่อนไขจำกัดมันทำให้รู้สึกได้ เพราะฉะนั้นในกรณีที่บอกอยู่ที่ใจ ใช่เลยครับ ในเหตุการณ์ๆหนึ่งใจเราเท่านั้นที่จะเข้าใกล้พระนิพพานและก็ใจเราเท่านั้นที่จะห่างออกจากพระนิพพาน เพราะถ้าเมื่อใดที่เราทำให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกลายเป็นความโกรธความเกลียดเราก็ห่างไกลพระนิพพาน แต่ถ้าเหตุการณ์ที่มันเกิดขึ้นมันทำให้เราสำนึกรู้ได้ถึงคุณค่าของเมตตาและโทษของความโกรธ นั่นแหละเราเข้าใกล้พระนิพพานแล้ว

ผมลองสรุปว่า ฐานของศาสนาที่ไม่มีไวยากรณ์ก็คือ เราเชื่อในโพธิจิต และวิถีชีวิตของเราคือการบ่มเพาะโพธิจิต วิถีชีวิตที่บ่มเพาะโพธิจิตเราจะเข้าไปเกี่ยวข้องในบริบทอะไรก็ได้แต่ว่าด้วยจิตใจที่พยายามบ่มเพาะความเมตตาให้มันเกิดขึ้นอย่างนี้ได้ไหมครับ

ถ้าจะสรุปอย่างนั้นก็ได้ ถ้าประเด็นของเราก็คือขณะที่เรามีชีวิตอยู่ มีสามคติของวัชรยานเลย นี้คือโอกาสอันวิเศษและเลิศล้ำที่สุด จักรวาลและโลกใบนี้มีอายุมาไม่รู้กีล้านปี เราอุบัติมาแค่เวลาช่วงสั้นๆ และนี่คือเวลาที่ประเสริฐที่สุด ไม่ใช่อดีตที่ผ่านมาแล้ว และก็ไม่ใช่อนาคตที่ยังไม่รู้จะมาถึงเมื่อไร แต่ ณ ปัจจุบันที่เรากำลังอยู่ในทางแยกที่จะเลี้ยวไปสู่ความหมายที่ทำลายโพธิจิตหรือบ่มเพาะโพธิจิต

เพราะฉะนั้นทันทีที่มีใครสักคนหนึ่งมาทำอะไรเรา ผมเข้าใจว่านั่นคือสิ่งที่พิเศษ ผมชอบใจมากทุกครั้งเวลาผมนึกถึงพุทธศาสนาแบบทิเบต ผมนึกถึงท่านอาจารย์นาโรปะที่หันหลังให้กับนาลันทาด้วยความสำนึกว่าสิ่งที่ตัวเองรู้อยู่นั้นไม่ใช่ความรู้ เพราะเป็นเพียงแค่ความจำ แล้วเมื่อตัวท่านอาจารย์นาโรปะจะเดินทางไปหาท่านติโลปะที่ทิเบตด้วยจิตใจมุ่งมั่นว่าจะไปพบครูผู้ประเสริฐ ทุกครั้งที่อาจารย์นาโรปะเจออะไรและท่านเกิดจิตขัดเคืองปฏิเสธ คือทุกครั้งเวลามีอะไรเช่นไปเจอชาวบ้านทะเลาะกันท่านก็ต้องคิดว่ามีคนใดถูกคนใดผิด ก็จะมาปรากฏร่างหญิงชราหัวเราะเยาะ แล้วก็บอกว่าหนทางแห่งการพบครูยังอยู่ห่างไกล

ที่จริงความคิดแบบนี้ของอาจารย์ก็ต้องเริ่มมาตั้งแต่อาจารย์ยังไม่ออกมาเดินด้วยซ้ำ

ใช่

แล้วมันอยู่ในตัวอาจารย์ตั้งแต่นั้นแล้ว ผมเข้าใจว่าลูกศิษย์ก็อาจสัมผัสได้

ใช่ ผมเล่าเรื่องราวของอาจารย์นาโรปะให้นักศึกษาฟังตั้งแต่เป็นอาจารยมหาวิทยาลัย ตอนนั้นผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าชีวิตผมจะเป็นอย่างไร แต่เล่าให้ฟังว่าตำนานธรรมของอาจารย์นาโรปะผมเก็บจำไว้ในใจเสมอมา และสุดท้ายเมื่อถึงจุดๆหนึ่งที่อาจารย์นาโรปะไม่มีสิทธิ์ที่จะปฏิเสธ ไม่รังเกียจเดียดฉันอะไรแล้ว ท่านจึงพบทางไปหาติโลปะได้

ความหมายที่ผมพูดถึงนี้เพื่อจะบอกว่าในชีวิตของเราถ้าเราสามารถมีชีวิตอยู่แล้วมองเห็นสิ่งต่างๆที่ปรากฏให้จิตเรารับรู้ว่าเป็นคุณประโยชน์ ก่อให้เกิดความหมายเป็นบทเรียนไม่มีสิ่งอะไรเลวร้ายเลย แม้กระทั่งมีคนประทุษร้ายเรา หรือแม้กระทั่งเราเจอกับเหตุการณ์ที่เราไม่เคยคิดปรารถนาแต่มันก็เกิด ผมเข้าใจว่าในกรณีอย่างนี้คือกรณีที่เราจะพูดถึงวัชรยาน และผมว่านี่แหละคือความหมายของวัชรยานที่เราควรจะพูดกัน พูดกันไม่ใช่เพื่อตัดสินว่าใครผิดใครถูก และพูดกันเพื่อให้เกิดความหมายในเชิงความสำนึกว่าสิ่งที่อาจารย์พูดเมื่อตะกี้ผมเห็นด้วยเลยว่ามันอยู่ที่ใจเรา

แต่ไม่ใช่พูดเช่นนี้ในความหมายว่าไม่สนใจคนอื่น ไม่ใช่นะ เพราะการพูดเช่นนี้มันหมายความว่าอยู่ที่ใจเรานี่แหละที่จะน้อมตัวเราไปรับใช้ผู้อื่นได้ แม้กระทั่งคนที่เรากำลังรับใช้เขานั้นปฏิบัติต่อเราอย่างปราศจากความยุติธรรม หรืออยุติธรรม

และผมเข้าใจว่านี้คือความหมายที่ผมเอ่ยถึงระหว่างที่อาจารย์ลาเช รินโปเชครูผมที่เล่าว่าท่านถูกรัฐบาลจีน ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ในเรือนจำปฏิบัติต่อท่าน ม่านกลับคิดว่าเป็นความหมายที่ดีงามที่เขาเหล่านั้นทำให้ท่านได้ปฏิบัติธรรม ได้เจริญโพธิจิต ไม่ได้คิดว่าผู้คุมเหล่านั้นเป็นผู้ร้ายที่มาทุบตีทำร้ายท่าน ยิ่งเราเห็นภาพที่ท่านพิการครึ่งท่อน ขนาดนั่งอยู่ต้องใช้ผ้าคลุมส่วนที่เป็นขาไม่ให้ปรากฏ ไม่งั้นจะกลายเป็นภาพที่น่าสลดสังเวช ผมเข้าใจว่านี่คือครูในความหมายของผม เพราะนี้คือข้อเท็จจริงซึ่งมันเต็มไปด้วย value (หัวเราะ)

พวกเซนเขาไม่ค่อยมีปัญหาที่ต้องมาเถียงกันว่าอะไรคือ  fact อะไรคือ value

ใช่ๆ ผมขอบคุณทุกครั้งตอนที่ผมเป็นอาจารย์สอนหนังสืออยู่นั้น ผมได้มีบุญสอนพุทธศาสนามหายาน ผมมีบุญได้สอนพุทธศาสนานิกายเซน และการที่สอนลูกศิษย์มานานๆ มันทำให้สิ่งที่ผมสอนเกิดขึ้นในใจผมจริงๆ ตอนที่สอนเซนยังไม่รู้จะแปลคำฝรั่งที่ว่า no mind theory ว่าอย่างไร แต่ความจริงคือทฤษฎีไม่คิด คำว่า mind ตรงนี้เขาเรียกว่าความคิด

(จบแล้วครับ จบแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย)

บล็อกของ กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร

กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภาพจาก http://www.tilopahouse.com/node/396 เรจินัลด์ เรย์ เขียน วิจักขณ์ พานิช แปล กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
หากเราจะมองอย่างกว้างๆ แล้ว ท้าวสักกะ พระอรหันต์ หรือ แม้แต่พระพุทธเจ้า ที่ต้องแสดงฤทธิ์บางอย่างเพื่อช่วยคน จะต่างอะไรกับซุปเปอร์ฮีโร่อย่าง ซูเปอร์แมน แบทแมน สไปเดอร์แมน ในหนังและการ์ตูนทั้งหลาย ที่จะเข้ามาช่วยคนด้วยพลังพิเศษ ทำให้กระบวนการของเหตุปัจจัยมีน้ำหนักน้อยลงไป 
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ พุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ผู้เขียนจะกล่าวถึง “มโนทัศน์เรื่องอำนาจในสังคมไทยที่มีรากฐานจากคัมภีร์พุทธศาสนา” ทั้งนี้เพื่อจะชี้ให้เห็นบทบาทด้านตรงกันข้ามกับบทบาทที่ได้กล่าวไปแล้วในบทความตอนที่ (1) ที่ว่า พุทธศาสนา (สถาบันสงฆ์) แม้จะให้ความสำคัญกับการสร้าง “คนดี” ตามอุดมคติของชาวพุทธ แต่บทบาทดังกล่าวก็ไม่ได้สอดรับกับการสร้างพลเมืองตามแนวคิดในสังคมประชาธิปไตย 
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์ กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ชาญณรงค์ บุญหนุน กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร บทความ “พุทธศาสนากับประชาธิปไตยในสังคมไทย” นี้จะนำเสนอเป็นสามตอนด้วยกัน ทั้งนี้ก็เพื่อจะชวนผู้อ่านไปร่วมพิจารณาว่า พุทธศาสนามีบทบาทในการสร้างสังคมประชาธิปไตยในสังคมไทยหรือไม่ อย่างไร และปัญหาอยู่ตรงไหน
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ พุทธศาสน์ของราษฎร  
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์ กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร    
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
 
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ชาญณรงค์ บุญหนุน  กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร