สังคมที่เปิดกว้างและยอมรับโลกแห่งความเป็นจริงได้เกิดขึ้นอีกระดับหนึ่ง เมื่อได้เห็นหนังไทย หนังดี หนังเด่นแนวหน้าแห่งปีนี้ เรื่อง “รักแห่งสยาม” หนังที่สะท้อนให้เห็นถึงความรักหลากอารมณ์ ของสังคมเมืองไทย ในความเหมือนที่แตกต่างของสังคม
(อีกแล้วครับท่าน) เป็นกระแสแรงได้จิต สั่นสะเทือนหลายริกเตอร์ เขย่าให้เห็นถึงภาพสะท้อนของสังคมไทยในยุคปัจจุบัน เมื่อ “รักแห่งสยาม” ผ่านสายตามหาชน ทั้งพลพรรคคนรักเกย์ แอนตี้เกย์ รักครอบครัว รักเพื่อน รักแฟน รักเพศไหนๆ ยังไงก็ตาม
“คงเป็นหนังวัยรุ่นกุ๊กกิ๊ก ทั่ว ๆ ไป สปอยหรือเปล่าน๊า”
“แหวะ ... หนังเกย์ แน่ ๆ เลยเท้อออ !”
“โอ้โห ... อยากไปดูแต่ กลัวคนอื่นคิดว่า เราเป็นเกย์ ไปดูหนังเกย์รึเปล่า”
มากมายหลายเสียงของผู้บริโภคหนังก่อนเข้าชมเรื่องนี้..
“รักแห่งสยาม” เป็นหนังรักดรามา แนวครอบครัวมากกว่าแค่เรื่องเกย์ (เท่านั้น) ผลงานการกำกับของ “มะเดี่ยว” ผู้ซึ่งไม่เคยทำให้อิชั้นผิดหวัง จากผลงานที่ผ่านมาหลาย ๆ เรื่องอย่างคนผีปีศาจ 12, 13 และงานเขียนบทในบอดี้ ศพ 19
เรื่องนี้ยิ่งโดนอย่างหนักสำหรับชีวิต ความรักและสิ่งที่เกี่ยวข้องกับ เพศเกย์ของใครหลายคนในสังคม ไม่ว่าจะเริ่มจากครอบครัวเป็นฐานแรก การเริ่มเรื่องเป็นไปอย่างนิ่ม ๆ แต่ทำให้คิดตามตลอดและในใจก็ลุ้นว่าจะคลายแม็กซ์ อย่างไร
แค่เริ่มเรื่องก็ดรามา แสดงถึงความโศกเศร้าของครอบครัวที่สูญเสียคนรัก เรียกได้ว่าจนไม่เป็นอันจะกินจะนอน อิทธิพลของความรักนั้นบันดาลให้เราทำได้หลายอย่างแม้กระทั่ง ความต้องการตอบสนองทางใจ ยังคิดว่า “คนที่จากไป” จะหวนกลับมาสักวันจงได้
คุณนก สินจัย และคุณกบ นักแสดงรุ่นเดอะ ที่ฝีมือไม่เคยตก ซีนอารมณ์นี้กินขาด เริ่ดได้โล่ห์ฮ่ะพี่นก ส่วนพี่กบใช่ย่อยไม่ทิ้งกันจริงๆ นอกจากรุ่นเดอะแล้วก็ตามสมทบด้วยนักแสดงรุ่นกลางอย่าง พลอย เฌอมาลย์ก็เล่นได้เนียน และตัวชูโรงนำเรื่องคือสองหนุ่มน้อยหน้าใส วัยเยาว์ ที่รับบทโต้งกับมิว แม้จะดูขัดๆ ในตอนเริ่มต้น แต่พอดูไปเรื่อยทั้งสองคนสามารถตีบทของตัวเองได้ดีเล่นได้เป็นธรรมชาติสามารถเห็นฝีมืออย่างพัฒนาในเรื่องได้เลย
มีฉาก “จูบสะท้านฟ้า โลกาสั่นสะเทือน” เรียกเสียงกรี๊ดดดดดดดด จากชะนีโดยไม่ได้นัดหมาย และเป็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์กระฉ่อน บอกแล้วเรื่องเกย์ๆ เดี๋ยวนี้มักจะโดนสังคมพิพากษา ตัดสิน ส่วนนักแสดงสาวที่รับบทหญิง ที่ดูงุ้งงิ้งแอ๊บแบ๊ว น่าประทับใจวัยใส วัยทีน รุ่นหลานเชียว
ฉากที่ทำให้เราเห็นถึงกิจกรรมในโรงเรียน ขาสั้นคอซอง แม้จะผ่านมาร่วมสิบกว่าปี ยังคงประทับใจ ในความรู้สึก “ช่วงหนึ่งของวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ” ผู้กำกับถ่ายทอดได้ดีหลาย ๆ ฉากไม่ว่าจะเป็นฉากเด็กใส่ชุดพละนั่งเรียนด้านล่างตึก โดยมีครูเรียกนักเรียนออกมาสาธิต ฉากเด็กผู้ชายแกล้งน้องมิววัยเด็กในห้องน้ำ (ทำให้นึกถึงหนังเรื่อง “แฟนฉัน” เอาซะมากและอยากกลับไปเป็นนักเรียนเหมือนเดิม) ฉากซ้อมดนตรี มีบทสนทนาเรียกได้ว่า แบบเด็กแนวเค้าล่ะ “หยาม อะเพ่”
เอาล่ะฮ่ะ กลับเข้ามาที่ประเด็นอันเกี่ยวข้องของชาวเรากัน เนื้อเรื่องของหนังหากจะบอกว่าเป็น “Love Actually เวอร์ชั่นไทย” ก็คงไปเพี้ยนไปมาก ที่สะท้อนให้เห็นถึงความรักอันมีมากมายหลายคู่ หากแต่เรื่องนี้มีตัวเอกสองคนที่มีความรักแบบชายรักชายมาเป็นแกนหลักในการดำเนินเรื่อง(แบบธรรมดาพี่เดี่ยวไม่ นี่หละใช่เลย ให้สังคมได้มีเรื่องเม้าท์แตก และแฝงอยู่ในความเป็นจริงค๊า) มันก็เลยถูกมองว่าเป็นหนังเกย์แบบช่วยไม่ได้ ส่วนตัวแล้วขอยกนิ้วปรบมือ พนมวันทา คารวะให้พี่มะเดี่ยวและทีมงานช่างกล้า ที่กล้าทำหนังที่แตกต่างอย่างเป็นตัวของตัวเองแบบนี้ โดยไม่สนใจต่อคำตัดสินและข้อหา ครหา ประชาวิจารณ์เกย์ในสังคมไทย
ฉาก “จูบใครคิดว่าไม่สำคัญแต่ถ้าคุณจูบฉันทำเอา คนดู ผู้ปกครอง น้องนี (หญิงจริง) สั่นสะท้านทั่วสยามประเทศ” บ้างก็นั่งตีลังกา ปูเสื่อต่อต้านว่าแรงเกินรับได้ นั่นเค้าเป็นเด็กนักเรียน แล้วจะทำให้เด็กที่ไม่ได้อยู่ในความดูแลของผู้ปกครองจะเคลิ้มตาม หรือชักนำในทางที่ผิดหรือเปล่า (เสียงของกลุ่มผู้ไม่เห็นด้วย) ส่วนบางคนก็บอกว่า “เกิดฮ่า” ถ้าไม่มีฉากนี้แล้ว จะทำให้ สุนีย์ กล้าที่จะไปเรียกมิวมาคุยได้เยี่ยงไรลือ ดีที่ไม่เป็นฉากเลิฟซีนอินดอร์ นอกดอร์ (indoor – outdoor sex) หากเป็นเช่นนั้น กระทรวงวัฒนธรรมคงหาได้ให้ผ่านไม่ (เช่นเคย) แต่ฉากนี้หละที่สีหน้าของสุนีย์ตอนเห็นภาพนั้น อึ้งเหน็บหนาว ชา ไปทั้งตัวและหัวใจกับสิ่งที่คาดไม่ถึง มันสะท้อนถึงคนที่ใจสลาย ชาน่าเข้าใจ (อย่างดีค่ะ) ถึงได้ไม่ยอมบอกทางบ้านให้รับรู้ว่า ตัวตนที่แท้จริงของชาน่า คือใคร เห็นแล้วก็เข้าใจถึงความรู้สึกพ่อและแม่ จนขนลุกซู่ อินสุด ๆ โดนอย่างแรงเลยเจ้า
ส่วนตัวแล้ว ความรักที่ขาดหายไป หรือความต้องการทางจิตหวั่นไหว เริ่มไขว้เขวของโต้ง กับมิว เด็กชายโรงเรียนมัธยมชายล้วน บวกกับชีวิตทางครอบครัวที่ต้องการใครสักคนมาเติมเต็ม ชาน่าว่ามีส่วนเกี่ยวกันได้เชียวหละค่ะ
ความรับผิดชอบต่อสังคม (ไทย) ชาน่าว่า “ชายไทย” คนที่ดูหนังเรื่องนี้แล้ว คงไม่ได้รับเชื้อเกย์สายพันธุ์ใหม่ ชนิดที่ออกจากโรงแล้ว แพร่ระบาด “แต๋ว เกย์ นะฮ๊ะ ติดโรคแล้วย่ะ” เพราะคนจะเป็นยังไงก็เป็น คนไม่เป็นยังไงก็ไม่เป็นนอกจากจะอยากลองของ หลายคนคงพอจะทราบว่า เกย์ แอบ แบบไทย ๆ ก็มีมาตั้งแต่บรรพบุรุษ หรือแม้แต่ สมัยกรีก กี่พันๆ ปีมาแล้วก็ยังมีหลักฐานมากมายหลงเหลือไว้ให้เห็นหากจะยอมรับและเปิดใจให้กว้างที่จะมองคนอื่นบ้าง ถ้ามีเวลาว่างก็มองคนในครอบครัวก่อนละกัน คนบางคนหัวโบ และแอนตี้สุดๆ ถึงขนาด ดูถูก เหยียดหยาม ระวังบาปกรรมจะตกกับคนใกล้ตัวนะเจ้าค่ะ
ชาน่าอยากฝากถึงน้องๆ ชายไทยวัยทีนทั้งหลายว่า หากจะลองรัก ลองเป็น หรือหวั่นไหว หรืออยากกลับใจไปเป็นชายแม้ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าคนเรามีทางเลือกได้ก็ขอให้น้อง ๆ เลือกทำในสิ่งที่ดี เหมือนกับการเลือกทางเดินของชีวิต กากบาทข้อที่ถูกต้องที่สุดนะน้อง ถ้ากลับใจไปเป็นชายได้ยินดียิ่ง หากมันฝืนหรือทำให้เป็นทุกข์ ทรมาน ชีวิตมันแสนสั้นจะเลือกทำตามใจต้องการขอให้เป็นคนดี มีศีลก็สุดแล้วแต่ใจจะไขว่คว้า พูดยากค่ะ
ลองฟังเสียงของคนที่ชอบหนังเรื่องนี้กันค่ะ
“ประทับใจจอร์จ ไม่เคยคิดว่า จะซึ้งจนน้ำตาเกือบไหลกับตัวเอกที่เป็นเกย์สองคน”
ดูเรื่องนี้จบแล้วย้อนมองวิถีและทางเลือกของตัวเอง มันใช่เลย กับความรู้สึกเหงา เศร้า อิ่ม อบอุ่น ซึ้ง มีความสุข จนแยกไม่ออก”
“ตอนจบของเรื่องถึงจะเศร้าแต่เดี๊ยนว่า มันก็จบแบบไทยดีนะ ซึ่งสะท้อนว่า สังคมเราอาจจะยังไม่ยอมรับการคบกันแบบเปิดเผยของชายรักชาย กลุ่มรักร่วมเพศ ไม้ป่าเดียวกันยังถูกประชาฟันธง พิพากษา ว่าคนนอกรีต จิตเบี่ยงเบน ชนกลุ่มน้อย”
“รักและชอบหนังเรื่องนี้จริงๆ ในรอบหลายสิบปีที่ดูหนังไทย แม้ตัวเองจะเป็นหญิงจริง แต่เพื่อนที่เป็นชายก็คิดว่า คนส่วนมากที่ชอบเป็นเกย์หรือเปล่า”
ดูหนังดูละครแล้วย้อนดูตัวเอง แน่นอนค่ะ ว่าหนังเรื่องนี้ เกี่ยวข้องกับใครหลายคน ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครอง เพื่อนหญิงจริงที่รักชาย ชายรักชาย พี่รักน้อง น้องรักพี่ เพื่อนรักเพื่อน นี่ล่ะหนังไทยดรามา ที่แม้หนังจะจบแล้วแต่คนดู ยังไม่จบ เคยมั้ยคะ ที่พอหนังจบแล้วต้องกลับไปม้วนหน้าตีลังกา ครุ่นคิด สามวันเจ็ดวันว่า มันเกี่ยวข้องกับตัวเองและตัวละครอย่างไร เก็บเอาสิ่งที่ได้สาระแก่นสาร มาปรับให้เข้ากับชีวิตในโลกของความเป็นจริงให้มากที่สุด หรือแม้แต่จะดูเพื่อความบันเทิงแต่แฝงไว้ด้วยแง่คิดมากมายหลากหลาย เหมือนดังตอนฉากสุดท้ายที่คอนเสิร์ต หลังจากหญิงปล่อยมือโต้งให้เดินจากไปหามิว หญิงกลับมาที่ลานจอดรถพร้อมกับร้องไห้และบอกเพื่อนโต้งที่ถามหาโต้งว่า “โต้งกลับบ้านไปแล้ว"
แต่เพื่อนโต้งอีกคนบอกว่า "โต้งไปหาซานตาคลอสต่างหาก"
ถ้าหากมิว คือซานตาคลอส ของโต้ง ย่อมเท่ากับโต้งไปหามิวอาจจะไม่ใช่วันนี้ หรือจะเป็นวันหน้า อนาคตของเด็กสองคนนี้จะเป็นเช่นไร ตัวละครยังคงดำเนินต่อไป และมีชีวิตอยู่ในสังคมไทย ใน “สยาม” โดยที่ไม่มีใครรู้นอกจาก ตัวตนที่แท้จริงของเค้าเองเท่านั้นค่ะ
ใครคิดเห็นเช่นไรบอกกล่าวกันได้ เพราะเมืองไทย สยามเมืองยิ้มสุดแสนเสรี
ด้วยรักและห่วงสยาม
ชาน่า ทักทายจากประเทศอเมริกา รัฐฟลอริด้า (กลับมาทำงานต่ออีกแล้วของชีวิตนางแบก)