ช่วงเย็นหลังจากที่ทำงานในไร่ และกำลังจะนั่งกินข้าวร่วมครอบครัว
“ลุงเร็ว ปู่ วาโข่ หายใจขึ้นอย่างเดียว ไม่ได้หายใจลงแล้ว” หลานชายมาวงข่าวเกี่ยวกับพือวาโข่ซึ่งเป็นพ่อของเขา เขาละจากวงทานข้าวของครอบครัว แล้ววิ่งไปหาพ่อทันที
พือวาโข่ เป็นฉายาที่เด็กๆ ในหมู่บ้านและหลานๆเ รียกชื่อผู้เฒ่าผู้ชายที่อาวุโส จนผมหงอกทั้งหัว พือหมายถึงพ่อเฒ่า วาโข่หมายถึง ผมขาว หากเป็นผู้หญิงจะเรียกว่า พีวาโข่ พีแปลว่าแม่เฒ่า นั่นเอง คนรุ่นนี้จะเป็นที่รักใคร่ของลูกหลานทั้งในครอบครัวและในชุมชน เพราะถือเป็นทรัพยากรบุคคลของชุมชนทีมีค่า หากมีปัญหาเกิดขึ้นในชุมชนที่คนรุ่นใหม่ไม่สามารถหาทางออกได้ ก็มักจะมีการปรึกษาผู้เฒ่าผู้มีประสบการณ์มาก่อน
และที่สำคัญคนปกาเกอะญอมีความเชื่อว่า คำอวยพรของผู้เฒ่าผู้แก่นั้นเป็นคำอวยพรที่มีพลังและเกิดผลต่อลูกหลานมาก เพราะคนรุ่นนี้จะมีแต่การสั่งเสียและอวยพรลูกหลาน เนื่องจากเหลือเวลาไม่มากแล้ว ทุกคนในหมู่บ้านจึงต้องคอยดูแลอย่างไกล้ชิด ท่านพร้อมและมีโอกาสที่จะจากไปได้ทุกเมื่อ
หลังจากที่เขาไปถึง เขาจับมือพ่อของเขา ลมหายใจสุดท้ายของพือวาโข่ได้หยุดและสิ้นสุดลง พี่น้องทุกคนต่างจ้องมองมาที่เขาในฐานะที่เป็นพี่ชายคนโต เขาก้มหน้าพักใหญ่เพื่อรวบรวมสติในการยอมรับความจริงของสัจธรรมแห่งชีวิตที่ไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้าได้
“งานของพ่อเสร็จแล้ว” ประโยคสั้นๆนี้เพียงพอที่ทำให้ น้องๆลูกๆหลานๆของเขา ต่างปล่อยโฮ ออกมาดังลั่นบ้าน เพื่อนบ้านและคนในชุมชนต่างขนลุกซู่ เมื่อได้ยินเสียงร้องนั้นดังขึ้น แต่ต่างรู้ถึงความหมายของเสียงนั้นเป็นอย่างดี มันเป็นสิ่งที่ทุกคน ทุกครอบครัวหลีกไม่พ้นหนีไม่ได้ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง วันนี้ดูเขาร้อง วันหน้าเขาดูเราร้อง วันนี้เราปลอบเขา วันหน้าเขามาปลอบเรา วันนี้เราร้องให้ผู้ที่จากไป วันหน้าเขาร้องให้เราซึ่งเป็นผู้จากไป นี่คือบทเพลงที่มีเนื้อและท่วงทำนองแห่งความจริงของชีวิตที่มนุษย์ล้วนต้องร้องบน “ห่อ โข่ เคลอ” หรือ บนที่แห่งการร้องไห้
“ที่เหลือเป็นงานของเรา ทุกคนตั้งใจทำเพื่อพ่อเป็นครั้งสุดท้าย ใครทำอะไรได้ก็จงทำเถิด” เขาบอกกับน้องๆลูกๆหลานอีกครั้งหนึ่ง
ทางเพื่อนบ้านและคนในชุมชนเมื่อได้ยินเสียงร้องไห้ดังขึ้นเรื่อยๆ ต่างก็ทยอยไปยังจุดกำเนิดของเสียงนั้น บ้างไปช่วยร้อง บ้างไปช่วยปลอบ บ้างไปช่วยงานสำหรับเตรียมส่งวิญญาณผู้จากไปสู่โลกปลือ ซึ่งเป็นภพแห่งชีวิตหลังความตายตามความเชื่อของคนปกาเกอะญอ
เว้นแต่เพียงเด็กแรกเกิดที่อายูยังไม่ถึงหนึ่งขวบ และหญิงที่ตั้งครรภ์ ด้วยเหตผลทางความเชื่อและประสบการณ์จริงที่เกิดขึ้นมากมายที่ส่งผลไม่ดีต่อคนกลุ่มนี้ จึงถูกห้านเข้าไปในบริเวณที่เป็นจุดกำเนิดของบทเพลงนั้น ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยต่อคนเหล่านั้นเอง
ความตายและการจากไป มักทิ้งความโศกเศร้าและความอาลัยแก่ผู้ที่ยังอยู่ต่อเสมอ แต่หลังจากบทเพลงร้องไห้ได้ส่งเสียงลอยล่องผ่านขุนเขาที่ไกล้เคียงเหมือนแจ้งข่าวการจากไปพร้อมๆ กับแจ้งข่าวถึงการบังเกิดของงานบางงาน
หนุ่มสาวทั้งในหมู่บ้าน และจากต่างขุนดอย ต่างขุนห้วย ต่างหมู่บ้าน หัวใจเริ่มเต้นรัวเมื่อได้ทราบข่าว มันมีแรงดึงดูดบางอย่างทำให้หนุ่มสาวต่างทิ้งการทิ้งงานที่ทำอยู่ กลับไปเตรียมตัวที่บ้าน
ตกเย็นมา หนุ่มสาวจากชุมชนต่างที่ไกล้เคียงต่างทยอยกันหลั่งไหลเข้ามาในบ้านผู้จากไป บรรยากาศการเต็มด้วยการทักทายกันของผู้คนที่มาจากที่ต่างๆ ทำให้พื้นที่บริเวณในบ้านของผู้จากไปแน่นขนัดไปด้วยผู้คน โดยเฉพาะคนหนุ่มคนสาว ที่รอคอยเวลาเพื่อเริ่มต้นขับขานบทเพลงแห่งการจากไป