สิบกว่าปีผ่านไป ภายในบ้านของครูดอยผู้ช้ำใจจากการนำดนตรีปกาเกอะญอไปเล่นในโบสถ์
เขารู้สึกดีใจมากที่ลูกชายของเขามาขอเรียนดนตรีพื้นบ้านของคนปกาเกอะญอ ทั้งๆที่เด็กรุ่นราวคราวเดียวกันต่างมุ่งหน้าเดินตามดนตรีตามกระแสนิยมกันหมดแล้ว นี่เป็นสิ่งที่เขาเฝ้าคอยและหวังมาโดยตลอดที่จะมีคนมาสืบทอดลายเพลงของชนเผ่า ไม่ว่าจะเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขแท้ๆ ของเขาหรือคนอื่นที่เป็นคนชนเผ่าเดียวกันก็ตาม ทำให้ฝันของเขาเริ่มเป็นจริงว่าทางเพลงแห่งวัฒนธรรมปกาเกอะญอจะไม่สิ้นสุดในยุคของเขา
แต่เขารู้สึกตกใจ เมื่อลูกชายบอกเขาว่า จะนำเตหน่ากู ไปเล่นในคืนคริสตมาสปีนี้ที่โบสถ์ในชุมชน
“ลูกแน่ใจนะ ว่าจะเล่นในโบสถ์” เขาถามลูกชายของตนเอง พร้อมๆกับนึกถึงเหตุการณ์ตอนที่ถูกต่อว่ากลางงานประชุมสมัชชาคริสตจักรกะเหรี่ยงภาคมูเจะคี เมื่อสิบปีก่อน
เขายังรู้สึกหวั่นๆ ไม่น้อย เพราะกลัวเหตุการณ์จะซ้ำรอยเดิม แล้วลูกจะทนรับความกดดันไว้ไม่ไหว หากมีคำพูดเชิงตำหนิเกิดขึ้นหลังจากไปเล่นในโบสถ์ สิ่งที่เขากังวลมากกว่านั้นคือ กลัวว่าลูกเขาจะทิ้งเสียงและสำเนียงเพลงแห่งนกเขาป่าไปในที่สุด
“แน่ใจ เล่นซิ! ผมเป็นแค่เด็ก เค้าคงไม่ว่าอะไรหรอกมั้ง!” ลูกชายยืนยัน
ด้วยความกระชั้นชิดที่วันเวลาในการแสดงใกล้จะถึงทำให้เวลาในการร่ำเรียนและฝึกฝนการเล่นเตหน่ากู มีแค่สามคืนเท่านั้น แต่สามคืนก็เพียงพอที่ทำให้ลูกชายจะโดนพ่อเขกหัวไปหลายดอก เนื่องจากเล่นและร้องไม่ได้ดั่งใจพ่อ
เมื่อคืนคริสตมาสได้มาถึง ในชุมชนมีการเฉลิมฉลองกันอย่างเรียบง่ายตามประสาคริสตจักรบนดอย แต่ก็ไม่ทิ้งความสนุกสนานรื่นเริง เฮฮา บทเพลงแล้วบทเพลงเล่าได้ถูกขับร้อง ละครเวที เรื่องการกำเนิดของกุมารน้อยเยซู ได้ถูกนำมาแสดงซ้ำอีกเช่นเคย เด็กๆ ต่างมีส่วนร่วมในการแสดงและการร้องในคืนคริสตมาสอย่างถ้วนหน้า
ในไม่ช้าก็ถึงลำดับการแสดงของเขา เขาขึ้นไปแบบเคอะเขิน เหนียมอายและตื่นๆ เวที เนื่องจากยังไม่คุ้นเคยและไม่ค่อยมั่นใจกับเครื่องดนตรีที่เขาจะเล่นในคืนนี้เท่าใดนัก แต่เขารู้สึกว่า ถึงวินาทีนี้เขาต้องเล่นให้ได้ อย่างน้อยก็ให้จบเพลงที่ฝึกมา
พ่อของเขาไม่กล้าไปดูลูกเล่นเตหน่ากูในโบสถ์ เพียงแต่ให้คำแนะนำสำหรับการเล่นบนเวที ให้ระวังในเรื่องการเขินอาย การประหม่า ให้ทำตัวสบายๆ แต่ผู้เป็นมารดานั้น ได้ไปให้กำลังใจลูกอย่างใกล้ชิด
เขาขึ้นไปบนเวทีพร้อมกับลากเก้าอี้มานั่งด้วยตนเอง ท่าทางและรูปร่างของเครื่องดนตรีของเขาเรียกเสียงหัวเราะจากคนที่มาในงานคืนนั้น แม้มันจะเป็นเครื่องดนตรีของชนเผ่าปกาเกอะญอ แต่มันก็ห่างเหินไปจากสายตาและความรู้สึกของคนในชนเผ่ามานาน อยู่ๆ ก็มีเด็กตัวเล็กหยิบเครื่องดนตรีที่ไม่ค่อยมีคนเล่นแล้วและไม่รู้ว่าเล่นเป็นหรือเปล่า จึงทำให้เป็นเรื่องขำขันสำหรับผู้คนในวันนั้น
เมื่อเขาจัดที่นั่งตนเองจนลงตัวแล้ว เขาเริ่มดีดสายเตหน่ากูอย่างตั้งใจเป็นพิเศษ จนเขาดูตัวแข็ง ไม่ลื่นไหลเป็นธรรมชาติ เขาเริ่มร้องเพลงตามแบบเสียงสั่นๆ
มีเรื่องราวราวหญิงสาวปกาเกอะญอ ชื่อ “หน่อฉ่าตรู” ที่หายไปในเมืองโย ทำให้ทุกอย่างในชุมชนปกาเกอะญอ เปลี่ยนไป ครกตำข้าวไม่ดังอีกต่อไป แม้กระทั่งไก่ก็หยุดขับขานเสียง ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ในชุมชนหมดไป แต่ยังพอมีหวังคือต้องพยายามเรียกหน่อฉ่าตรูให้กลับมา โดยใช้เสียงของเตหน่ากู ใช้วัฒนธรรมของชนเผ่าให้หน่อฉ่าตรูตื่นจากภวังค์ และกลับมาคืนชีวิตชีวาสู่ชุมชน
เป็นเนื้อเพลงที่พ่อเขาตั้งใจสอน ตั้งใจจะบอก และสื่อสารอะไรบางอย่างแก่คนในคริสตจักร ปกาเกอะญอ ผ่านเสียงเพลง
เมื่อร้องเพลงจบ เขาเดินลงเวทีอย่างรวดเร็วโดยไม่ฟังเสียงใครทั้งนั้น เขาเดินจากไปผ่านผู้มาร่วมงานในวันนั้น มิวายเขายังได้ยินคำพูดที่แว่วดังมาจากฝูงชน
“เชื้อพ่อมัน ไม่ทิ้งแถวเลย เมื่อก่อนพ่อมันเคยเล่นเตหน่ากูในโบสถ์และเคยโดน เสอหระโดะ (ศาสนาจารย์) ต่อว่าให้ครั้งหนึ่งแล้ว ตอนนี้ลูกชายมันเอาอีกละ ดีที่วันนี้เส่อหระโดะไม่อยู่ แต่มันก็เล่นจนจบเพลงได้ แสดงว่าพ่อมันตั้งใจสอน” เขาเดินผ่านทำเป็นไม่สนใจก้าวเท้าเดินกลับไปที่บ้านเพื่อไปเก็บเครื่องดนตรี
พอกลับไปที่บ้าน จึงได้วางเตหน่ากูเก็บไว้ตามที่อยู่มุมเดิมของมันอย่างสงบเสงี่ยม พ่อจ้องมองอากัปกิริยาของลูกชาย
“เล่นเป็นไงมั่ง?” พ่อเอ่ยปากถาม
“ได้มาห้าบาทคับ” เหมือนตอบไม่ค่อยตรงคำถาม
“ใครให้เหรอ?” พ่อถามต่อ
“แม่คับ” เขาตอบพ่อพร้อมกับหยิบเหรียญขึ้นมาอวดให้พ่อดู
“แม่เอ็งก็เหลือเกินนะ เห่อลูกซะจริงๆ” พ่อพูดพร้อมกับหัวเราะ
แต่พ่อของเขาโล่งอก เขารู้สึกเหมือนเป็นการกลับมาของบทเพลง และดนตรีวัฒนธรรมปกาเกอะญอในสังคมคริสตเตียนปกาเกอะญอ สร้างความหวังให้หัวใจคนเล่นดนตรีพื้นบ้านปกาเกอะญอชื้นขึ้นมาบ้าง พอเห็นโอกาสในการเข้าไปมีส่วนเปล่งเสียงในโบสถ์บ้าง