สองสามคืนผ่านไป ลูกชายไม่ได้มายุ่งกับพ่อ แต่คืนนี้ภายในบ้านไม้ไผ่ หลังคาตองตึงทรงปวาเก่อญอหลังเดิม ลูกชายถือเตหน่ากูมาอยู่ข้างพ่ออีกครั้ง
“ลองฟังดูนะ ใช้ได้หรือยัง?” ลูกชายพูดจบเริ่มดีดเตหน่าและเปล่งเสียงร้องเพลงแบบไมเนอร์สเกลให้พ่อฟัง แต่ด้วยความตั้งใจมากไปหน่อยทำให้การเล่นบางครั้งมีสะดุดเป็นช่วงๆ แต่ลูกชายไม่ยอมแพ้และไม่ยอมหยุด เล่นและร้องให้พ่อซึ่งเป็นครูสอนเตหน่ากูให้เขาจนจบเพลง
“ฮึ ฮึ ก็ดี เริ่มต้นได้ขนาดนี้ก็ไช้ได้” พ่อตอบเขาแบบยิ้มๆ
“แล้วพ่อจะสอนอีกแบบหนึ่งได้หรือยัง?” เขามองหน้าพ่อ
“อ๋อ ที่มาเล่นให้ฟังนี้ก็เพื่อให้รู้ว่าเล่นไมเนอร์ได้แล้ว จะขอเรียนแบบเมเจอร์ต่อว่างั้นเถอะ” พ่อรู้ทันเขา ลูกชายหันหน้าไปแม่และส่งยิ้มให้กัน
“คุณสร้างเขามาคุณก็ต้องรับผิดชอบในการสอนความรู้ของคุณให้เขา งานคุณเยอะขึ้นแล้ว พ่อเอ๋ย” แม่ซึ่งกำลังปักเสื้ออยู่ข้างเตาไฟบอกพ่อ
“พ่อไม่ได้สร้างคนเดียว คุณก็มีส่วนสร้างด้วย แล้วมาโยนหน้าที่ให้กันคนเดียวได้ไง” พ่อพูดเชิงแหย่แม่นิดๆ
“ถ้าเป็นลูกสาว แม่ก็จะสอนเขาทอผ้าเย็บผ้า หุงข้าวหุงแกง พ่อไม่ต้องห่วง แต่ลูกชายพ่อก็ต้องเป็นคนรับผิดชอบ จริงมั้ย” แม่หันมาถามลูกชาย
“อย่าเถียงกันเลย สอนเตหน่ากูดีกว่า” ลูกชายตัดบทของพ่อกับแม่
“เออ ถูกต้อง” แม่เสริมลูกชายอีกที ขณะที่พ่อยิ้มแล้วส่ายหัวนิดๆ
“จริงๆ แล้วการตั้งสายแบบเมเจอร์ ก็ไม่ต่างจากไมเนอร์มากนักหรอก เพียงแต่เปลี่ยนตำแหน่งของสายเท่านั้น เดี๋ยวพ่อจะเริ่มที่การตั้งสายเตหน่ากูแบบเมเจอร์ที่มีสายจำนวนหกเส้นก่อนนะ” พ่อบอกพร้อมกับหยิบเตหน่ากูมาบิดสายเพื่อตั้งเสียงให้ลูกชายดู
ในการตั้งสายเตหน่ากูแบบเมเจอร์สเกล (Major scale) ที่จำนวนสาย 6 เส้นลักษณะการตั้งสายจะเป็นดังนี้
สายเส้นล่างสุดจะตั้งเป็นเสียง มี(M)
สายที่สองจากล่างสุดจะตั้งเป็นเสียง เร (R)
สายที่สามจากล่างสุดจะตั้งเป็นเสียง โด (D)
สายที่สี่จากล่างสุดจะตั้งเป็นเสียง ลา (L)
สายที่ห้าจากล่างสุดจะตั้งเป็นเสียง โซ (S)
สายที่หกจากล่างสุดหรือสายบนสุดจะตั้งเป็นเสียง โด (D) แต่เป็นเสียง (Octave) ออค-เทฝ ต่ำ
นั่นหมายความว่าจะมีสายเสียงคู่แปด(Octave) เป็นเสียง โด (D)
หากเป็นการตั้งสายเตหน่ากูแบบไมเนอร์สเกลจำนวน 7 สายลักษณะการตั้งสายโดยทั่วไปจะเป็นดังนี้
สายเส้นล่างสุดจะตั้งเป็นเสียง มี(M)
สายที่สองจากล่างสุดจะตั้งเป็นเสียง เร (R)
สายที่สามจากล่างสุดจะตั้งเป็นเสียง โด (D)
สายที่สี่จากล่างสุดจะตั้งเป็นเสียง ลา (L)
สายที่ห้าจากล่างสุดจะตั้งเป็นเสียง โซ (S)
สายที่หกจากล่างสุดจะตั้งเป็นเสียง เร (R) แต่เป็นเสียง (Octave) ออค-เทฝ ต่ำ
สายที่เจ็ดจากล่างสุดหรือสายบนสุดจะตั้งเป็นเสียง ลา (L) แต่เป็นเสียง (Octave) ออค-เทฝ ต่ำเช่นกัน
นั่นหมายความว่าจะมีสายเสียงคู่แปด(Octave) สองตำแหน่งคือสายคู่แปดเสียง เร (R) กับสายคู่แปดเสียง โด (D)
หากเป็นการตั้งสายเตหน่ากูแบบไมเนอร์สเกลจำนวน 8 สายลักษณะการตั้งสายโดยทั่วไปจะเป็นดังนี้
สายเส้นล่างสุดจะตั้งเป็นเสียง มี(M)
สายที่สองจากล่างสุดจะตั้งเป็นเสียง เร (R)
สายที่สามจากล่างสุดจะตั้งเป็นเสียง โด (D)
สายที่สี่จากล่างสุดจะตั้งเป็นเสียง ลา (L)
สายที่ห้าจากล่างสุดจะตั้งเป็นเสียง โซ (S)
สายที่หกจากล่างสุดจะตั้งเป็นเสียง มี (M) แต่เป็นเสียง (Octave) ออค-เทฝ ต่ำ
สายที่เจ็ดจากล่างสุดจะตั้งเป็นเสียง เร (R) แต่เป็นเสียง (Octave) ออค-เทฝ ต่ำเช่นกัน
สายที่แปดจากล่างสุดหรือสายบนสุดจะตั้งเป็นเสียง โด (D) แต่เป็นเสียง (octave) ออค-เทฝ
นั่นหมายความว่าจะมีสายเสียงคู่แปด(Octave) เพิ่มเป็นสามตำแหน่งคือสายคู่แปดเสียง มี (M) สายคู่แปดเสียง เร(R) และสายคู่แปดเสียง โด (D)
“ถ้ามีการเพิ่มจำนวนสายมากขึ้นก็จะยิ่งเพิ่มสายเสียงคู่แปดมากขึ้นไปเรื่อยๆเช่นกันใช่มั้ย” ลูกชายถาม
“ใช่ เหมือนไมเนอร์สเกลนั่นแหละ” พ่อตอบ
“ผมดูแล้ว วิธีการตั้งสายเกือบคล้ายกันนะพ่อน้อ มันแตกต่างตรงที่การตั้งสายแบบไมเนอร์สเกลนั้นสายบนสุดจะเป็นเสียงลา (L) ตลอด แต่การตั้งสายแบบเมเจอร์สายบนสุดจะเป็นเสียง โด (D)” ลูกชายแสดงภูมิรู้ที่ได้มาสดๆร้อนๆ
“นั่นถือเป็นข้อแตกต่างหลักของการตั้งสายเตหน่ากูบบเมเจอร์สเกลกับไมเนอร์สเกลเลยแหละ” พ่อกล่าวเพิ่มเติมให้ลูกชาย