เหตุแห่งน้ำตา(1)

บุ เต่อ โดะ นะ แล บุ เออ
บุ ลอ บ ะ เลอ ต่า อะ เออ

ชะตา วาสนาช่างรันทด
ต้องเผชิญแต่สิ่งลำเค็ญ

ข่าวคราวชะตากรรมและน้ำตา น้ำเลือดของประชาชนและพระในประเทศพม่าได้ถูกเผยแพร่ไปทั่วตามสื่อต่างๆ ผมทราบความเป็นไปเหล่านี้มานานบ้างแล้ว  ผมยังทราบอีกว่าส่วนหนึ่งของประชาชนในประเทศพม่านั้นคือ คนเผ่าพันธุ์เดียวกับผมซึ่งมีจำนวนมากกว่า 10 ล้านคนในประเทศทหารเผด็จการแห่งนั้น

ผมได้รับรู้ถึงเรื่องราวของน้ำตาที่เกิดขึ้นในดินแดนแห่งนั้นเป็นระยะๆมานานแล้ว โดยที่ผมเองมิอาจคาดเดาได้ว่า  มันจะสิ้นสุดลงเมื่อใด

บางทีเรื่องราวบางเรื่องมันเหมือนไกลตัวเรา แต่ความจริงมันก็ใกล้ตัวเรานี่เอง น้ำตาแห่งความเจ็บปวดไม่เคยทิ้งผู้ด้อยโอกาสกว่าในทุกสังคม  ไม่ว่าสังคมที่เป็นเผด็จการ สังคมประชาธิปไตยครึ่งใบหรือเต็มใบก็ตาม

ทำให้คนด้อยโอกาส คนรากหญ้า คนจน คนชั้นล่างเกิดขบวนการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อหลุดพ้นจากความไม่เป็นธรรมต่างๆ ที่เกิดจากนโยบายการบริหารปกครองอันมีผลกระทบร้ายแรงต่อวิถีชีวิตอยู่เรื่อย

ผมเองเคยมีเรื่องราวแห่งน้ำตาที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น เมื่อนึกย้อนไปในงาน กวีคีตา เพื่อป่าชุมชน จัดขึ้น เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2545 ณ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมแสงอรุณ ใจกลางกรุงเทพมหานคร

ซึ่งงานนี้มีทั้งนักดนตรี กวี  นักคิด นักเขียนมากันมากมาย  บางท่านผมเคยเห็นและรู้จัก แต่หลายท่านผมไม่รู้จักเลย  แต่ก็ได้มารู้จักในงานนี้

ปกติแล้วตอนนั้นผมมักจะบินคู่กับ พาตี่ทองดี แต่งานนั้น พาตี่ทองดี ไม่สบาย  ผมเลยต้องบินเดี่ยว นั่นเป็นสิ่งที่ค่อยๆลับ ค่อยๆฝนผมในทางอ้อมให้คมพอสามารถใช้แผ้วถางหญ้าได้บ้าง

ผมออกจากเชียงใหม่โดยรถทัวร์ หอบเอาร่างกายและวิญญาณก่อนหน้าที่จะมีงานเกิดขึ้นหนึ่งวัน ระหว่างทางผมได้ทบทวนวัตถุประสงค์ของการไปกรุงเทพฯครั้งนี้อย่างจริงจัง 

คำตอบในใจบอกว่า แผ่นดินเกิดกำลังจะร้อนรุ่ม  เผ่าพันธุ์กำลังเดือดร้อน ในเมื่อหมู่บ้านที่เกิด อยู่ กิน กำลังจะถูกพรากไปจากเรา  นึกถึงโชคชะตาของชนเผ่า ที่ต้องมาเจออุปสรรคต่างๆ   ทำให้คิดถึงคำบอกเล่าจากผู้เฒ่าปวาเก่อญอ  ที่เคยเล่าให้ฟังว่า

ในอดีตนั้นพวกเราอยู่กันอย่างสงบสุข และเรียบง่ายกลางป่า กลางดอย ชีวิตไม่ได้แขวนไว้กับโครงสร้างเศรษฐกิจโลกไม่ได้ยึดติดกับเงินตรา ไม่ได้หวั่นไหวกับการผันผวนของค่าเงิน  มีผืนดินเป็นเหมือนเนื้อหนัง  มีสายน้ำเป็นเป็นเหมือนสายเลือด  มีอากาศเป็นลมหายใจ ต้นไม้ป่าไม้เป็นกระดูก มีผีเทวดาคุ้มครองร่างกายและวิญญาณ เราเคารพต่อกันและกัน ไม่รบกวนที่อยู่ที่พักของผู้คุ้มครอง  ทำเท่าที่เราจะกิน กินเท่าที่เรามี  ไม่มีบัตรประชาชน หรือบัตรใดๆ   ไม่ได้อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลใดๆ

อยู่กันอย่างเสรี ตามจารีตและประเพณีปวาเก่อญอ  ที่บรรพบุรุษเคยทำเคยอยู่เคยกินกันมาเนิ่นนาน ต้นโพธิ์ที่ทวดของทวดปลูกเอาไว้ ต้นมะม่วงที่ตาของตาปลูกเอาไว้ ที่นาที่ปู่ของปู่เบิกเอาไว้ เราลูกหลานได้กินได้ใช้กันอย่างไม่ขัดสน  เพราะเราทำเท่าที่เรากิน เรากินเท่าที่เรามี

แต่อยู่มาวันหนึ่งมีคนแปลกหน้าเข้ามาในหมู่บ้าน มาบอกเราว่าผืนดินที่คุณอยู่นี้มีเจ้าผู้ครอบครอง  คุณต้องมีบัตรประชาชน ต้องเสียภาษี ทั้งภาษีไร่ ภาษีนาและภาษีคน เขาอ้างตัวว่าเป็นคนของทางการ บังคับให้ทุกคนต้องทำบัตรฯ   ทำให้คนหนุ่มบางคนในหมู่บ้านต้องหนีออกจากหมู่บ้าน เพื่อหลีกเลี่ยงการทำบัตรประชาชน

ผู้หญิงคนแก่ในหมู่บ้านจึงต้องทำบัตรประชาชน  เราพูดภาษากลางไม่เป็น  นอกจากภาษาโย(ล้านนา)  เขาเลยเรียกเราว่า ชาวเขา ไม่ใช่ ชาวเรา เมื่อเราทำบัตรเสร็จทุกอย่างมันแปรเปลี่ยน ทุกปีมีผู้เก็บภาษี ขึ้นมาเก็บภาษีในหมู่บ้าน

ในแต่ละปีนั้น  คนเก็บภาษีมา  ไม่รู้ว่าพวกไหนจริง พวกไหนปลอม แต่พวกมันอ้างตัวว่าเป็นคนของทางการ  พวกเราเลยไม่กล้าทำอะไร  เพราะบัดนี้บ้านและผืนดินที่เราอยู่มา มีผู้อ้างตนเป็นเจ้าของเสียแล้ว   มีหมูมันก็ฆ่าของเรากิน  มีไก่มันก็เชือดของเราไปต้ม  ก่อนกลับมันไม่ลืมที่จะเรียกเก็บภาษีที่นา ภาษีไร่ ภาษีบ้านและภาษีคนจากเราอีก

คนในหมู่บ้านเลยกลัวการมีบัตรประชาชน  เพราะถ้าคุณมีบัตรประชาชนแล้ว คุณต้องเสียภาษีให้กับทางการ ไม่รู้ปีละกี่ครั้งต่อกี่ครั้ง

ผู้คนในหมู่บ้านจึงไม่อยากมีบัตรฯ   เมื่อไม่มีบัตรก็กลายเป็นคนเถื่อน ทำให้มีปัญหาเรื่องบัตรประชาชนตกหล่น ถึงปัจจุบัน

ต่อมาคนของทางการยังได้มาบอกอีกว่า  ผืนที่ไร่นาของเราทำกินไม่ได้แล้ว เป็นผืนที่ป่าที่ทางการสงวนอนุรักษ์   แม้กระทั่งหมู่บ้านที่พวกเราอยู่กินกันมาเป็นร้อยๆปี ก็กลายเป็นหมู่บ้านที่ผิดกฎหมาย

ความขัดสน ความขาดแคลน ความยากจน จึงมาเยือนผู้คนในหมู่บ้านของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราต้องพึ่งพาเงิน  ต้องพึ่งพิงปัจจัยภายนอก  ต้องอาศัยเครื่องไม้ เครื่องมือ จากภายนอกที่มานำเสนอโดยมีเงื่อนไขต่าง ๆ มากมาย

โอ้….. ลูกฉันจะกินอย่างไร   เหลนฉันจะอยู่อย่างไร

ผมหลับตาคิดไปโดยไม่รู้ว่าหลับตอนไหน

ตื่นมาอีกทีไม่รู้ว่าถึงไหนแล้ว  มองออกไปนอกรถมืดไปหมด  เหมือนเส้นทางอนาคตชีวิตชนเผ่าที่ยังมองไม่ เห็นอะไร  ผมเลยหลับต่อดีกว่า  กระทั่งอีกทีผมได้ยินเสียงเพลงจากรถทัวร์ที่ดั่งผ่านประสาทหูผม  ทำให้ผมได้สติลืมตาขึ้นมา   กวาดลูกตาไปยังข้างทาง  ฟ้าเริ่มสางแล้ว  และเห็นป้ายโฆษณาสินค้าต่าง ๆและอาคาร ใหญ่โตโอฬารอยู่ตามสองข้างถนนเต็มไปหมด   แสดงว่าผมจะถึงกรุงเทพฯแล้ว

และผมก็ถึงหมอชิต  ผมลงรถแล้วได้เจอกับพี่พฤ  โอโดเชา  ซึ่งมารถคันเดียวกันโดยบังเอิญ
ผมถามเขาว่า  จะไปไหน  เขาบอกว่าไปงานเดียวกันกับผมนั่นแหละ

ทีนี้ผมโล่งใจมากที่เจอคนนำทางไปสู่ที่พักแล้ว  เพราะลำพังผมคนเดียวนั้นลำบากเป็นอย่างยิ่งกับการไปไหนมาไหนในกรุงเทพฯ   ผมแทบไม่รู้จักทางเลย  นอกจากหมอชิต  หัวลำโพงและดอนเมือง

พี่พฤ พาขึ้นรถแท็กซี่เพื่อไปยังสำนักงานมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม

พอไปถึง  ผมได้เจอกับพี่ต๋อม ชุมชนคนรักป่า  พี่ต๋อมบอกผมว่า  "เก้าโมงเราจะเดินทางไปยังสถานที่จัดงาน ตอนนี้ให้พักผ่อนตามสบาย”

แล้วผมก็จะได้เจอกับพี่สุวิชานนท์ และพี่ภู เชียงดาว  ผมสังเกตว่าพี่นนท์และพี่ภู ตื่นเต้นกับงานนี้ไม่น้อย

พี่นนท์ชวนพี่พฤ ซักซ้อมนัดแนะเกี่ยวกับงานนิดหน่อย   พี่ภูก็เรียกผมและพี่นก โถ่เรบอมา

เราได้นัดแนะกันแผนการที่จะขึ้นเวทีนิดหน่อย  แล้วเวียนกันเข้าห้องน้ำอาบน้ำเพื่อเตรียมตัวเดินทางไปในงานฯ

ความเห็น

Submitted by แม่ญิงโย-นก on

เมื่อครั้งยังตระเวณอยู่ตามหมู่บ้านสกอว์และโปว์แถวอมก๋อยนั้น ชาวบ้านพูดเหมือนกันกับที่ชิเล่า เขากลัวการเก็บภาษี กลัวการมีบัตรประชาชน กลัวการเรียกเกณฑ์ทหาร เมื่อลูกเกิด แม้บางคนที่รู้ว่าต้องแจ้งการเกิด ก็ไม่ไปแจ้ง ยิ่งหากมีลูกชาย ยิ่งมีโอกาสไม่ได้รับการแจ้งเกิดสูงกว่าลูกหญิง เพราะกลัวทางการมาเอาไปเป็นทหาร

พี่น้องปาเกอญอ โปว์ ละเวอะ จากผู้อยู่มาก่อน กลายเป็นชาวเขา เพื่อรอการยอมรับให้เป็นพลเมือง และหากตกหล่นจากการสำรวจ สถานะก็อาจจะกลายเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองในสายตาของรัฐ ทั้งที่เกิดและโตอยู่ที่นี่มาก่อนการก่อกำเนิดแห่งรัฐนั้น

ชะตาพี่น้องชนเผ่าสองฟากพรมแดน ไม่เคยแตกต่าง

มีแต่ต้องช่วยกันทำให้คนเข้าใจในสภาพปัญหาที่พี่น้องชนเผ่าเผชิญอยู่ เปิดใจให้กว้าง และไปให้พ้นจากอคติและภาพลักษณ์เชิงลบที่ครอบงำเรามานาน

ต่าบลื้อ ชิ

Submitted by เกอะปอต่าซู on

ภายหลังที่มีการสำรวจข้อมูล ให้ทุกคนต้องทำบัตรประชาชน มิฉะนั้นจะถือว่าเป็นคนเถื่อน
แล้วคนที่ตกสำรวจของรัฐ ต้องเผชิญกับชะตากรรมที่คนส่วนใหญ่เรียกว่าคนเถื่อน
มีใครบ้างเล่าที่จะช่วยเหลือพวกเขาได้
มีกรณีศึกษาที่ หมู่บ้านแห่งหนึ่งที่ผมรู้จัก เป็นผู้เฒ่า ปรามาณ70แล้ว ส่งลูกเรียนหนังสือ
ก็มีปัญหาด้านสํญชาติ ใครเล่าจะเข้าใจหัวอกผู้เป็นพ่อแม่ อย่างเขาเล่า .........

Submitted by พิบูลย์ on

โลกาภิวัตน์คือโลกาวินาส
ระบบเศรษฐกิจเสรีคือผู้รับใช้นายทุน ที่แฝงตัวในการเป็นนายทุนอยู่ในรัฐบาลไทย การค้าเสรีนั้นคนจนไม่เคยได้หรอกครับ คนรวยที่กอบโกย ที่ลงทุนด้วยการเป็นนักการเมือง สู่การกอบโกยด้วยนโยบายสาธารณะ ที่ไม่มีใครสามารถเอาผิดได้ คนที่ผิดคือคนจน ที่เกิดมาจนแล้วผิดทุกอย่าง โครงสร้างเศรษฐกิจโลกคือมารผู้สูบเลือดของผู้ต่ำต้อยนะ
ชิและคนปกาเกอญอทั้งหลายจงช่วยกันต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม ผมอยากทำงานเพื่อปกาเกอญอเหมือนกัน แต่ไม่รู้ต้องติดต่อกับใคร อยู่แม่ฮ่องสอน ห้วยปูลิงครับ อยู่ในเขตอุทยานทำไรก็ไม่ชอบด้วยกฏหมาย ทุกอย่างถูกทำให้เป็นเจ้าของโดยรัฐผู้หิวโหย

Submitted by อ้าย ฌ่าเกอปอ on

ขอให้กำลังใจพี่น้องชนเผ่าทุกๆชนเผ่า ที่ต่อสู้เพื่อวิถีชีวินของชุมชน ของส่วนรวม และของโลกด้วย พรบ.ป่าชุมชนก็ยังดูเลือนลาง

เห็นด้วยกับทุกๆท่าน ที่ post มา คับ.... ต๋าบรึ, ชิ

ไม่ได้เข้ามาอ่านงานเขียนของชิ เป็นเวลาหลายเดือนแล้ว การเขียนเดี๋ยวนี้ผมยกนิ้วให้เลยนะ พัฒนาเร็วอย่างไม่น่าเชื่อ ขอแสดงความยินดีด้วยครับ แล้วเจอกันใหม่

Submitted by ปกีรรัม on

ยิ่งใหญ่มาก จิตวิญญาณ แห่ง ชิ สุวิชาน

Submitted by ชิ on

โอะ มึ โช เปอ ครับ ปกีรรัม

ขอ สิ่งเหนือรรมชาติที่ศักดิ์สิทธิ์ จงอยู่กับท่านครับ
ต่าบลื๊อครับ

เตหน่ากูโบกบิน In USA: ประตูสู่ตะวันตก

การนอนและนอนอย่างเดียวในรถตู้ไม่ใช่เรื่องง่าย  บางทีปวดฉี่ บางครั้งปวดหลัง ทุกครั้งที่รถแวะจอดเติมน้ำมันหรือแวะทำอะไร ผมก็มักจะตื่นด้วยทุกครั้ง  จนได้รับการต่อว่าจากคนที่นั่งมาด้วยกันด้วยความเป็นห่วงว่าผมจะรับช่วงการขับรถต่อได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ

เตหน่ากูโบกบิน In USA: เสื้อปกาเกอะญอตัวแรก ณ USA

คืนนี้เป็นอีกคืนหนึ่งที่คนฟังเพลงเป็นคนไทย แต่ที่พิเศษกว่าที่อื่นเนื่องจากคนไทยเป็นคนจัดงานกันเอง เป็นการจัดงาน ”Thai Festival in Texas” ซึ่งโดยปกติแล้วจะมีการจัดปีละครั้ง ทุกๆปีจะจัดในเดือนเมษายน แต่ปีนี้มาจัดกันในเดือนกันยายนเนื่องจากต้องการให้กิจการทัวร์ ของ Himmapan 2nd world เป็นจุดเด่นของงานในปีนี้ ภายในงานมีการขายอาหาร เสื้อผ้า ของไทย มีการจัดซุ้มนวดแผนไทยมาบริการ

เตหน่ากูโบกบิน In USA: โรงเรียนปกาเกอะญอ ณ ประเทศที่สาม

จาก Houston มุ่งสู่ Dallas ระหว่างทางผมได้มีโอกาสเป็นสารถีอีกครั้ง ระหว่างทางที่ขับรถอยู่ผมก็เหลียวซ้ายและขวาบ้าง ผมเห็นตัวที่อยู่ข้างทาง วัวก็ไม่ใช่ ควายก็ไม่เชิง

เมื่อเดินทางมาถึงDallas ที่ หมาย ซึ่งมีพี่น้องคนไทยรอรับ จัดแจงที่อยู่ที่กินเป็นอย่างดี
“ที่นี่ มีคนปกาเกอะญอไหมครับ?” เป็นคำถามแรกที่ผมถามที่ Dallas

เตหน่ากูโบกบิน In USA: ตำรวจไม่ได้รับเชิญ




วันนี้ผู้หญิงได้รับอนุญาตให้ไปเดินซื้อของที่ Outlet ส่วนผู้ชายหลังจากทานอาหารเช้า ต้องเดินทางไปติดตั้งเครื่องเสียงเพื่อเล่นในเย็นวันนี้

เตหน่ากูโบกบิน In USA: ท่องราตรี

หัวค่ำ พี่แพท นายกสมาคมไทย เท็กซัส พาไปกินข้าวที่ร้านอาหารจีน  ภายในร้านมีคนเอเชียจากหลายประเทศ ทั้ง สิงคโปร์ มาเลเซีย จีน ลาว เวียดนาม รวมทั้งพี่ไทย  แต่ส่วนใหญ่จะใช้ภาษาอังกฤษคุยกันยกเว้นคนเวียดนามที่ไม่ยอมพูดภาษาอังกฤษในร้านนอกจากพูดภาษาของตนเอง