Skip to main content



ตอนบ่ายของวันที่ป๋าเข้าโรงพยาบาล ผมพาแม่ไปเก็บข้าวของบางอย่างที่จำเป็น ที่บ้านสวน บ้านหลังที่ป๋ามาใช้ชีวิตยามบั้นปลาย ผมเดินไปดูรอบๆบ้านระหว่างรอแม่ นั่งลงริมบ่อเลี้ยงปลาหางนกยูง ข้างซุ้มไม้ไผ่ที่เป็นเหมือนเรือนเพาะชำไปในตัว ป๋าคงนั่งๆนอนๆอยู่บนแคร่ไม้ไผ่ในซุ้มนั้นอยู่บ่อยๆ

ข้างๆมีเครื่องไม้เครื่องมือวางกองระเกะระกะ ได้ยินแม่เล่าว่าก่อนมาโรงพยาบาล ป๋ายังนั่งซ่อมรถอยู่เลย ผมเงยมองแท้งค์เก็บน้ำซีเมนต์ ครัวที่ต่อออกมาจากตัวบ้าน สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นฝีมือป๋าทั้งสิ้น (แน่นอนว่า บางส่วนคงมาจากคำบัญชาของแม่)

ผมรู้สึกทึ่ง เพราะแม้กระทั่งวัยขนาดผม ก็ยังคิดว่าจะทำอะไรอย่างที่ป๋าทำได้ เหมือนที่ผมไม่เคยแต่งนิราศได้เพราะเท่าป๋า


นิราศร้างห่างสิ้นถิ่นอาศัย ต้องจากพี่จากน้องครองแดนไกล

สุดหักใจได้ลงคงคนึง

ตราบวันนี้พี่มาถึงที่แล้ว คงไม่แคล้วเฝ้าฝันหมั่นคิดถึง

สุดที่รักคนดีที่บึ้งตึง มาตะลึงจิตใจให้อาวรณ์


เป็นกวีบทแรกๆที่ผมจำได้ขึ้นใจ กวีบทแรกๆที่ผมนั่งมองคนเขียนมันขึ้นมาตรงหน้า เป็นการบ้านในวิชาภาษาไทยตอนมอ 2 และผมต้องออกไปอ่านหน้าชั้น เพื่อนๆทุกคนทึ่ง แต่ป๋าคงคิดว่ากำลังเขียนจีบแม่อยู่ ป๋าคงลืมโจทย์ที่ว่า คนเขียนต้องเป็นเด็กมอ 3 และแน่นอน ครูไม่เชื่อว่าผมเขียนเอง


ทุกวันนี้ แม้ผมจะขีดๆเขียนๆอะไรได้บ้าง ผมก็ยังไม่คิดว่าตัวเองจะแต่งได้แบบนั้น

มันคงต้องผ่านชีวิตอันโชกโชนแบบป๋า ผู้ผ่านการผจญภัยมาหลายต่อหลายครั้ง เผชิญโชคไปยังที่ต่างๆ และสุดท้าย ลูกทะเลแบบป๋าก็มาไกลถึงซบร่างกับหุบเขา


ทุกคนคงมีความทรงจำที่สวยงามกับป๋าในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง แม่ น้องจอง ป้ามน แป๋ง น้องชายผมเดินมาบอกว่า ให้พูดด้วยว่า ลุงบูลย์คือป๋า ได้ช่วยชีวิตเด็กน้อยคนหนึ่งจากการจมน้ำ ซึ่งก็คือตัวมันนั่นเอง


ส่วนความทรงจำในวัยเด็กของผมที่มีต่อป๋า มักจะเป็นการริเริ่มอะไรใหม่ๆเสมอ สร้างสระว่ายน้ำให้ลูกในบ้านด้วยตัวเอง จัดงานวันเกิดให้ลูกเป็นคนแรกของหมู่บ้าน ตั้งโรงหนังฉายหนัง 8 มม. เรื่องจอมโจรซอโร โดยมีแม่ก่อเตาอั้งโล่ปิ้งข้าวเกรียบอยู่หน้าม่าน


ซื้อจักรยานจากตัวเมืองหาดใหญ่และปั่นมันกลับบ้านที่ห่างออกมา 10 กิโล มันคงไม่ใช่เรื่องใหญ่โต แต่สำหรับเด็กตัวเล็กๆ เสียงกริ่งจักรยานในวันนั้น มันช่างเป็นเสียงแห่งวีรกรรมที่ยิ่งใหญ่มาก


แม้กระทั่งคำเรียกพ่อของลูก ป๋าก็ยังให้เราเรียกไม่เหมือนใคร จนทำให้เพื่อนของน้องสาวเข้าใจไปว่า น้องมีป๋าขา มาอุปการะเลี้ยงดู


ผมก็ได้สายเลือดมาจากป๋า สายเลือดที่หลงรักความงาม ศิลปะ หนังสืออักษรวิจิตรที่ป๋าซื้อให้ วิชาวาดรูปที่ป๋าพาไปฝากฝังเรียนกับช่างวาดภาพเหมือนในตัวเมือง เป็นพื้นฐานวิทยายุทธที่นำผมมาจนถึงทุกวันนี้ และผมมักจะได้ยินป๋าเอ่ยถึงมันด้วยรอยยิ้มอย่างภาคภูมิใจอยู่เสมอ ป๋าปรารภอยู่บ่อยๆว่าอยากจะเก็บสมุดวาดภาพที่ผมใช้เรียนตอนนั้น ผมไม่แน่ใจว่าแกหาเจอแล้วหรือยัง


ก่อนจะขึ้นมาอยู่เชียงใหม่ ทุกครั้งที่ผมไปหาป๋า ก็จะพบว่าแกจะใช้เวลาว่างจากการทำงาน ซ่อมเครื่องมืออุปกรณ์อิเล็กโทรนิกส์ที่ป๋าเสาะหามาจากตลาดมือสองอยู่เป็นประจำ ทั้งวิทยุ เครื่องเล่นซีดี โทรศัพท์ แต่เมื่อเลือกมาใช้ชีวิตชาวสวนกับแม่ สองมือนั้นก็คงหยาบกร้านจากการซ่อมเครื่องสูบน้ำ เครื่องตัดหญ้าแทน


ป๋าไม่เคยยอมแพ้อะไรง่ายๆ อดทน ทำอะไรเองได้ ป๋าไม่รั้งรอจะลงมือทำ ทำด้วยความร่าเริง และมองโลกในแง่ดีอยู่เสมอ แม้จะนอนอยู่ในโรงพยาบาล ป๋าก็ยังบอกว่าไม่เป็นไร สบายแล้ว ไล่ให้ผมกลับบ้านไปดูลูกเมีย


แม้ว่าเราจะไม่ชอบ ไม่อยากให้เกิดการสูญเสีย แต่การสูญเสียนั้นก็นำมาซึ่งบางอย่างเสมอ ครอบครัวได้มาพบกัน ปลอบโยน พูดคุย ลูบหลังลูบไหล่ นอนเคียงข้างกัน ซึ่งคงหาโอกาสแบบนี้ได้ไม่ง่ายนัก


ในยามปกติวัฒนธรรมของคนใต้แบบเรา เหมือนกับผู้ล่วงลับไม่ได้จากเราไปไหน เรายังยกข้าวไปให้เขา บางคราวเขาก็มาเยียนเราในร่างของลูกหลาน สิ่งเหล่านี้มันคงทำให้เรามิอาจลืมเลือนเขา


เขายังอยู่ในการโอบอ้อมของเรา เรายังโอบล้อมกันและกัน แม้จะมองไม่เห็น แต่เราสัมผัสได้ สัมผัสนั้นถักทอให้เรากอดเกลียวกันอย่างอบอุ่น และผมก็เชื่อว่าป๋าก็คงเป็นเส้นด้ายเส้นหนึ่งในสายใยนี้ เป็นด้ายเส้นที่สีสันฉูดฉาดแพรวพราวอยู่ไม่น้อย


ขอให้ป๋าหลับฝันดีครับ

บทบันทึกนี้เขียนข้างๆสภากาแฟที่ป๋าชอบนั่ง


***
เป็นเสียงของความรู้สึกที่จับใจครั้งหนึ่งของผม ในวันสุดท้ายที่พ่อลูกจากกันชั่วนิรันดร์

ลูกชายเขียนเพื่ออ่านประวัติพ่อให้คนมาร่วมฌาปณกิจได้ฟัง ผมบอกลูกชายที่สูญเสียพ่อว่า อยากเอาไปเผยแพร่ต่อได้มั้ย เขาตอบกลับมาว่า ป๋าคงดีใจ ผมพิมพ์แต่ละตัวจากต้นฉบับที่อยู่ในมือเขา ด้วยความรู้สึกกระเพื่อมไหวภายใน


***
ขอแสดงความเสียใจกับลูกชายคนนั้น ศุภโมกข์ ศิลารักษ์(อ้น)(เขียนเรื่องสั้น ทำเพลง และหนังสั้น) ที่สูญเสียพ่อไปอย่างกะทันหัน พลังชีวิตในตัวพ่อไม่ได้หายไปไหน ได้ถ่ายทอดถึงหัวใจลูกชายไว้เต็มเปี่ยมแล้ว

 

 

บล็อกของ ชนกลุ่มน้อย

ชนกลุ่มน้อย
เสียงเธอดังขึ้นในความเงียบ ผมบอกให้เธอรู้อีกครั้ง ใช่ๆ ใช่มันจริงๆ อีแร้งหรือไม่ก็นกยักษ์ มันนั่งยองๆ อยู่บนรั้วบ้าน อย่างกับทิ้งน้ำหนักนับพันๆกิโลกดทับลงบนกำแพงคอนกรีตอันบอบบาง ถ้ามันนั่งนานกว่านี้ เมืองทั้งเมืองจะเทลาดมาทางนี้ มันเชิดหน้าเฉยเมย ประกาศความใหญ่โตหนาหนัก ผมยืนมองมันด้วยความรู้สึกแขนขาอ่อน เนื้อตัวเย็นเฉียบ อย่าคิดมากเลย คำพูดผมเบาเป็นนุ่น เธอไม่เชื่อในสิ่งที่ผมเห็นมากับตา เธอต้องลงไปดู ไม่ แต่พี่เห็นมัน มันคงมาเล่นงานเราอีก คราวนี้พี่อย่ายอมมันนะ ไอ้นกป่วยนั่นนำโชคร้ายมาให้ มันควรไปเกาะที่อื่น ไปในที่ๆไม่ใช่ขอบรั้วบ้านมนุษย์ยิ่งดี…
ชนกลุ่มน้อย
ด็อกเตอร์สมบัติ เครือทอง ครูการเขียนคนแรกของผม ย้ายจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มาสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร พิษณุโลก นานหลายปีมาแล้ว แต่ผมได้พบครูสอนเขียนเพียงครั้งสองครั้งเท่านั้น วันที่ครูมาร่วมงานสัมมนาทางวิชาการในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อสัปดาห์ก่อนนี่เอง ผมไม่พลาดโอกาสที่จะพบหน้าครูให้ได้ เราพบกันในร้านกาแฟบนถนนนิมนานเหมินทร์ ย่านร้านรวงธุรกิจบริการกาแฟผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด จัดแต่งร้านพร้อมนำเสนอเครื่องดื่มชวนดื่มชิมรส รมณียสถานคราคร่ำด้วยผู้คนทั้งกลางวันกลางคืน พบกันคราวนี้ ผมมีเรื่องเก่าย้อนถาม “จดหมายจากสวนยางถึงสวนลุกซองบูร์ยังมีอยู่มั้ยครับ…
ชนกลุ่มน้อย
เปิดตัวหนังสืออีกแล้วหรือพี่..!??!” เครื่องหมายประหลาดใจตามมาด้วยความตกใจ ประมาณว่าไม่เข็ดหลาบจำเสียทีนะพี่ หนังสือเล่มไหนเล่มใหม่หรือพี่ ออกมาเมื่อไหร่ ไม่เห็นหน้าเห็นตาเลย “นั่นสิ มันหลบอยู่ตรงไหน กลายเป็นของหายากไปได้อย่างไร หลบหน้าหลบตาคนอ่าน” ทีเล่นหรือทีจริงก็ตาม สุดท้ายผมก็บอกไปว่า สงสัยแผงเขาไม่ว่างวางของหนัก หรือไม่ก็เขาเก็บออกไปจากแผงเสียแล้วมั้ง แล้วเขาก็ถามต่ออีกว่า แล้วพี่จะมาเปิดตัวหนังสืออีกทำไม สำนักพิมพ์ที่พิมพ์งานของพี่รวยเหรอ ผมรีบออกตัวว่า เปล่า อาจจะจนก็ได้มั้ง พอศอของข้าวแพงไข่ไก่แพง บนหนทางที่ไม่ได้ปลูกข้าวกินเอง และไม่ได้เลี้ยงไก่ไว้กินไข่…
ชนกลุ่มน้อย
ผมไปตามวันเวลาหมอนัดอีกครั้ง หลังจากพลาดนัดครั้งแรก ถ้าผมไม่ไปตรงเวลา ผมจะต้องคอยนานอีกอย่างน้อยสองเดือน คนจัดการรับเรื่องนัดหมายพยายามแจกแจงให้เห็นความจำเป็นของการคอย เพราะคนป่วยอันเนื่องมาจากฟัน มีเป็นจำนวนมาก เหมือนกับต่างคนต่างรู้ช่องทางทำฟันราคาถูก “ไปคลีนิกไม่ต้องนัดนานเป็นเดือนนะลูก” ป้าคนนั่งกุมแก้มขวาบวมเป่ง ผมถามป้าว่ามาทำอะไร “ถอนฟัน” .. ห่างออกไปราวสิบห้าเมตร มือเหล็กยักษ์กำลังขุดคุ้ยโคนรากไม้ เสียงเครื่องยนต์ครางกระหึ่มตลอดเวลา เส้นเชือกขีดคั่นปักแดนล้อมเอาไว้ แต่แค่บอกอาณาบริเวณห้ามคนผ่านเข้าไปเท่านั้น คนเดินผ่านไปมาก็ยังต้องหันไปมองมัน…
ชนกลุ่มน้อย
พอพ่อลูกเดินไปถึงสถานีขนส่งช้างเผือก คนก็มองจ้องราวกับกำลังจะมีฉากถ่ายหนังในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้า เขากองสัมภาระไว้ข้างเก้าอี้ ลูกชายนั่งเฝ้า เขาเดินไปซื้อตั๋ว คนมองลูกชายพลางมองพ่อไปมา บางคนแอบกระซิบยิ้มหัวขณะสายตามองไปยังลูกชาย “เชียงดาวสองที่นั่ง” คนเป็นพ่อมองหญิงวัย 40 กว่าๆ ดูสีหน้าแววตาขี้เล่น ใบหน้าลงเครื่องแป้งหนาลบวัยจริง เป็นใบหน้าคอยถามตอบต้อนรับผู้โดยสาร “ลงที่ไหนจ้าว..วว์” เสียงหวานถามกลับเป็นสำเนียงคำเมืองยืดหางเสียง คนเป็นพ่อนิ่งคิด ชั่วอึดใจนั้น คนขายตั๋วก็มีสถานที่นำเสนอให้ลง “สถานีตำรวจมั้ยจ้าว” น้ำเสียงนั้นเจือยิ้มหัวเป็นกันเอง…
ชนกลุ่มน้อย
คุณไปยืนอยู่ใต้ต้นพลัมตอนย่ำค่ำ มันขึ้นปะปนอยู่กับป่าผลไม้อื่นๆ อย่างพลับ ท้อ บ้วย สาลี่ อโวคาโด ขนุน กล้วย นับรวมหลายสิบชนิด เพียงต่อพลัมกำลังให้ลูกสุกเต็มต้น เช้าวันต่อมา คุณกลายร่างเป็นนกป่าเข้าสวนตั้งแต่เช้า ดวงอาทิตย์สว่างมาจากแนวป่าสนลอดผ่านพุ่มใบไม้เป็นลำแสงสีเงินสีทอง งามสงบจนคุณไม่อยากจะเดินย่างไปไหน   แต่นกหิวลืมตัว ปลิดเข้าปากกินสดๆ อย่างไม่รู้จักอิ่ม “ลูกนี้สุกแล้ว ลองดูๆพันธุ์ลูกแดง พันธุ์ลูกเหลืองก็มี เดินไปดูต้นโน้น” เจ้าของสวนชวนชิม “กินเลยๆ ปล่อยให้มันร่วงไปอย่างนั้น นกมานกก็กินกัน”
ชนกลุ่มน้อย
ผมตกปากรับคำนั่งซ้อนหลังอานรถของเขาอย่างไม่มีข้อสงสัยใดๆ ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าผมจะวางใจในฝีไม้ลายมือของเขา รู้ทั้งรู้ว่าเป็นเส้นทางที่เขาขับขี่ไปมาอยู่ทุกวัน ผมควรประหยัดคำพูดที่จะถามเรื่องคุ้นเคยเส้นทาง อีกทั้งมอเตอร์ไซค์คู่ชีพเขา ก็ตั้งวางให้เห็นความแข็งแรงพร้อมลุย โคลนคลุกตามตัวรถเหมือนบอกว่าไปทางไหนไม่หวั่น “ไกลมั้ย” ผมจะถามถึงระยะทาง “หลังเขาลูกนั้น” เขาชี้มือไปยังเนินเขาไกลๆอยู่ม่านหมอกฝน เขามาอาสาเป็นธุระรับส่งไปสวนป่า ผมอยากไปเห็นกับตา ว่าป่าธรรมชาติกับคนทำสวนในป่านั้น จะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร ความเข้าใจคนทั่วไปนั้น ป่าก็อยู่ส่วนป่า คนก็อยู่ส่วนคน…
ชนกลุ่มน้อย
31 สิงหาคม 2540 13.30 น. ไกลลิบ ถนนโค้งพุ่งผิดรูปหายไปในพงหญ้าสูงท่วมศีรษะ คนหนึ่งเหมือนหลักกิโลเมตรเคลือบสีดำ เห็นมาแต่ไกล เพียงแต่เสาหินเคลื่อนที่ได้ ช้าเหมือนมด พอรถวิ่งไปใกล้ จึงเห็นผืนผ้าขาวเขียนตัวหนังสือด้วยหมึกดำ เคียงคู่ไปกับเสาหิน เหมือนไม่รู้สุขรู้เศร้า เสาหินสวมหมวกเก่าๆ รองเท้ายางหุ้มส้น ในใจผมคิดว่า แกคงเดินเรียกร้องบางสิ่งบางอย่าง พอรถแล่นผ่านตัวแก โค้งถนนเป็นเส้นตรงอีกครั้ง ความจริงก็ปรากฏ ขบวนแห่ศพ!!.. รถผมเชื่องช้าเป็นไส้เดือน เหมือนว่าล้อรถหุ้มด้วยหนังงูเหลือม ลมตีเข้ามาทางหน้าต่าง ไม่ใช่ลมดอกไม้สด แต่เป็นลมมีกลิ่นธูป…
ชนกลุ่มน้อย
30 สิงหาคม 254008.35 น. รถจิ๊ปสีดำส่งเสียงอยู่หน้าบ้าน เสียงนั้นเพิ่งกลับมาจากทำงาน เธออดนอนมาค่อนคืน ชั่วอึดใจหนึ่งนั้น เสียงเหล็กปะทะของแข็ง ผมผละจากหน้าเครื่องพิมพ์ดีดโอ เสาบ้าน กันชนแตกเป็นรอยร้าวเธอมองหน้าผม ผมพยายามจะเข้าใจ “อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าชีวิตจริงจะมีกันชนหรือไม่ก็ตาม”หนังสือ “ลมหายใจสงคราม” ของอา ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ยังวางอยู่บนโต๊ะ ผมเปิดอ่านอีกครั้ง “..ผมเสียใจ! ระยำ! ผมไม่เคยมีความรู้สึกนี้บ่อยนัก แต่มันเป็นไปไม่ได้เลยที่ผมจะแนะนำให้คุณเข้าป่า ในป่ามันก็มีสงครามระหว่างแมลงกับใบไม้ และดอกไม้เป็นพิเศษ บัดซบ! คุณไม่รักสงคราม แต่คุณก็ไม่เกลียดมัน คุณกลัวมันเท่านั้น…
ชนกลุ่มน้อย
ไม่มีเหตุผลที่ผมจะมุ่งไปยังเถียงนาหลังนั้น เพียงแต่อยากเดินเข้าไปในโพรงจมูกของเทือกอินทนนท์สักครั้งหนึ่ง วันที่แดดแรงปลายฤดูร้อน นาข้าวขั้นบันไดสุดหูสุดตาเหลือแต่ตอ มองไปทางไหนก็เห็นแต่ร่องรอยเก็บเกี่ยว โล่งลิบ ใบข้าวกองเกลื่อน ร่องรอยตีข้าวมีฟางข้าว ตอซังข้าวเป็นตุ่มตาเรียงรายบนพื้นผิวไหล่เขา ผมยืนอยู่บนไหล่เขาแล้วมองออกไปทางราบลุ่ม ภาพที่เห็นอย่างกับการปรากฏตัวของชิ้นส่วนวัตถุประหลาดผุดขึ้นมาจากพื้นดินผมนึกไม่ออกว่า เถียงนาลุงเหน่วอเป็นอย่างไร คนนำทางก็ไม่ได้บอกว่า เถียงนาหลังนั้นซุกซ่อนเรื่องราวใดไว้บ้าง หรือมีส่วนปลีกย่อยอื่นใด ทำให้เกิดความหมายน่าสนใจขึ้นมากกว่าเถียงนาหลังอื่นๆ…
ชนกลุ่มน้อย
“ถ้าน่องมนุษย์ตั้งท้องได้ คนทุกคนจะเป็นพี่น้องกัน” ถึงเวลาหยิบปลาแห้ง กุ้งแห้ง กะปิ สะตอใส่กล่องลังเสียที ช่วงเวลาตากอากาศบ้านเกิดหมดลงอีกครั้ง ผมได้ย้อนกลับไปบนเส้นทางเก่าๆที่เคยไป สถานที่ที่ข้องเกี่ยวกับวัยเด็ก คนที่ผูกพันใจ รวมไปถึงพืชพันธุ์ต้นไม้ที่อยู่ในใจ กลับไปสู่ต้นสายปลายเหตุของตัวเอง และเดินทางต่อไป อย่างที่บอกแต่ต้น ผมพกหนังสือไปหลายเล่ม แต่ไม่ได้อ่านครบทุกเล่ม อย่างเล่ม แผ่นดินอื่น รวมเรื่องสั้นของ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ผมเปิดอ่านผ่านๆอีกรอบ แต่ผมก็มีโอกาสไปเดิน บนถนนโคลีเซียม เรื่องสั้นเรื่องหนึ่งของเขา วันเวลาได้กลืนกินฉากเก่าๆไปแทบหมดสิ้น…
ชนกลุ่มน้อย
 ยืนอยู่บนท่าเรือปากพะยูน  มองเห็นเกาะสี่เกาะห้าที่อยู่ของรังนกนางแอ่นชัดเจน  ราวกับภาพวาดในม่านฝน  เบลอๆหมองๆ มองได้นานๆ  ผมกลับบ้านทุกครั้ง  ต้องไปให้ถึง ณ จุดนั้นให้ได้  ที่ซึ่งระเบียงยื่นออกไปในน้ำ   ยังมีร้านกาแฟ  ชาผงชงถุงแบบโบราณ  โต๊ะเก้าอี้ตั้งวางแบบเปิดโล่ง  ตกเย็นถุงกาแฟบนรถเข็นยกขึ้นลงไม่ขาดมือ  ชงหวานชงขม  ใส่นมข้นหวาน  น้ำตาลกับโกปี้  โต๊ะต่อโต๊ะ  เก้าอี้ต่อเก้าอี้ตั้งพื้นไม่มีหลังคา  รับลมพัดมาแรงๆ  มองออกไปยังเห็นพื้นน้ำเขียวกว้าง  …