Skip to main content
เดินทางแบบกระเด็นกระดอนอยู่ในกระป๋องหนาหนักติดล้อ  และความยาวนานของระยะทาง  กว่า 5 ชั่วโมงไปให้ถึงใจกลางภูเขา  แต่ยิ่งคิดว่าเมื่อไหร่จะถึงใจกลางภูเขาตามมาตรวัดของแผนที่แผ่กางออกกว้าง  ยิ่งกลับเป็นเรื่องยากไปถึงใจกลางภูเขาที่อยู่ในใจ 

ภูเขาเป็นทะมึนก่อกำแพงรายล้อม  

ภูเขาลูกนั้นและภูเขาอีกลูก  ผลัดเปลี่ยนหน้ามาแนะนำใบหน้าตัวเอง  บางใบหน้าผมเผ้ารกรุงรัง  ดูเป็นศิลปะความรุงรัง  อีกหนึ่งใบหน้ากลับโกร๋นเศร้าซึมเงียบเหงา  ใบหน้าหนึ่งกำลังพักผ่อน  งีบหลับไปแล้วไม่อยากให้ใครรบกวน
อีกหนึ่งใบหน้ากำลังศัลยกรรมบนหัวตัวเองด้วยไฟ   

ใบหน้าภูเขาบางลูก  ยืนประกาศตามคำสั่งหน่วยคลื่นอากาศเคลื่อนที่  บอกว่า  ใบหน้าฉันนี่แหละ  รับคลื่นโทรศัพท์ได้ทั่วสารทิศ  ซึ่งภูเขาลูกอื่นไม่สามารถทำได้

อีกหนึ่งใบหน้าระทมอมทุกข์  เป็นสิวเสี้ยนกลากเกลื้อนจนมอมแมม 
ทุกอย่างนั้น  ตั้งอยู่บนความขรุขระทั้งสิ้น    


พ่อของพ่อ  คือปู่ของหลาน  พ่อของลูกคือลูกของพ่อ และลูกของพ่อคือหลานของปู่  ได้เดินทางร่วมกันครั้งแรก  แน่นอนว่าเป็นการเดินทางแบบสมบุกสมบันและลืมบันยะบันยัง  ลืมอายุจริงของปู่  จึงลืมว่าต้องระมัดระวังเรื่องใดบ้าง 

ยิ่งลึกเข้าไป  พ่อของพ่อคือปู่ของหลานยิ่งอัศจรรย์ใจ  กับการพบแผ่นดินที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน
เหมือนการปรากฎตัวครั้งแรกของพื้นผิวโลกตะปุ่มตะป่ำ

พ่อของลูกคือลูกของพ่อนั้นบอกว่า  เรามาถึงแผ่นดินบนหลังเต่ากันแล้ว  ทุกอย่างในอาณาบริเวณนี้  จะเคลื่อนไหวด้วยความเร็วของเต่า  เตรียมหมอบต่ำเข้าไว้  ย่อเข่าย่อขาให้สั้นลงอีกนิด  อย่าคิดเรื่องที่จะมาถึงในวันพรุ่งนี้หรือวันต่อๆไป  

ขอให้คิดถึง  นาทีนี้ของวันนี้บนความเร็วของเต่า
ส่วนลูกของพ่อคือหลานของปู่นั้น  บอกว่า  เขาเตรียมกระเป๋าเขียนรูป ดินสอ สี กระดาษ  พร้อมจะเขียนรูป 
ความสุขในลูก  คือความสุขในพ่อด้วย

พ่อของพ่อคือปู่ของหลานบอกเป็นบุญตา  ได้มาเห็นดินแดนในที่ลับตา  ไม่ใช่ใครนึกอยากมาก็มาได้ง่ายๆ 
"ให้มีความสุขนะพ่อ  จะพาไปดูไร่ข้าว  ที่เก็บไม้ฟืนของเขา"  พ่อของลูกคือลูกของพ่อบอกพลางชี้ให้ดูเส้นขอบฟ้า  ก็คือเส้นฟันปลาที่มีภูเขาทอดตัวเป็นฟันซี่บนกรามใหญ่ยักษ์
"มีแต่เขากับเขาเปล่าๆ"  พ่อของพ่อคือปู่ของหลานพูดด้วยสำเนียงพื้นถิ่น  ว่าไม่มีอื่นใดปะปนแบ่งแยกจริงๆ  เห็นแต่ภูเขาต่อภูเขา "ไม่รู้กลับบ้านทางไหน  เขามืดแปดด้าน"

ภูเขากั้นไว้ทุกทางจริงๆ
"เขากินไร  อยู่อย่างนี้ปลูกไรขึ้น" พ่อของพ่อคือปู่ของหลานมีข้อสงสัย "ถ้าเกิดอยู่ที่นี่  ไม่รู้ทำไรเหมือนกัน  นั่งเป่าปากไปวันแน่  ทำไรได้เล่า"
"เขาอยู่ให้ช้าลง  ถ้าเร็วขึ้นเมื่อไหร่  เขาก็ลำบากเหมือนกัน"
"เขาปลูกไรมั่ง"
"ปลูกข้าวไร่  นั่น ไร่ข้าวของเขา  ยังผักหญ้าให้เก็บได้เรื่อยๆ"

เท้าเราย่ำไป  มองกี่ครั้งๆ  ภูเขาก็เหมือนก้อนกินที่โดนบีบขยำเป็นขยุ้มด้วยนิ้วมือ  วางตากแดดตากลมเอาไว้  
ความขรุขระเป็นหน้าตาของภูเขา  พ่อของลูกคือลูกของพ่อบอกลูกชาย
เจ้าลูกชาย(ลูกของพ่อหลานของปู่)ถามว่า  ไม่มีที่ราบเลยใช่ไหม
"อยู่ในใจเรา" พ่อของลูกคือลูกของพ่อบอกลูกชายตัวเอง  แล้วเดินไปหาหลัง

เต่าอีกตัวหนึ่ง   ผิวเปลือกหลังเต่าเป็นรูปตาหมากรุก
"ข้าวเปลือกงอกที่นี่" พ่อของลูกคือลูกของพ่อพูด

สามวัย  นั่งมองฉากหลังเต่าเคลื่อนตัวผ่านหน้า  เต่าเป็นฝูงคลานต้วมเตี้ยมไล่ตามกันมา  อีกนานกว่ามันจะเดินผ่านไปทุกตัว

บล็อกของ ชนกลุ่มน้อย

ชนกลุ่มน้อย
พ่อของลูกคือลูกของพ่อ ล้วงหนังสือ “เจ้าชายน้อย” ออกจากกระเป๋าสะพาย เป็นเล่มเดียวที่ติดตัวไปด้วยทุกครั้งที่ลูกชายเดินทางไปด้วย และไม่อาจรู้หรอกว่าจะได้เปิดอ่านในช่วงไหนเวลาไหน ลูกของพ่อคือหลานของปู่กำลังง่วนอยู่กับสมุด ดินสอ สีในกระเป๋าเช่นกัน เขาคงนึกอยากเขียนภาพ
ชนกลุ่มน้อย
เดินทางแบบกระเด็นกระดอนอยู่ในกระป๋องหนาหนักติดล้อ  และความยาวนานของระยะทาง  กว่า 5 ชั่วโมงไปให้ถึงใจกลางภูเขา  แต่ยิ่งคิดว่าเมื่อไหร่จะถึงใจกลางภูเขาตามมาตรวัดของแผนที่แผ่กางออกกว้าง  ยิ่งกลับเป็นเรื่องยากไปถึงใจกลางภูเขาที่อยู่ในใจ  ภูเขาเป็นทะมึนก่อกำแพงรายล้อม  
ชนกลุ่มน้อย
    เป็นเวลา 10 กว่าปี ที่ผมไม่ได้ใช้ชีวิตร่วมกับพ่อใต้ชายคาเดียวกันนานๆ แต่คราวนี้ พ่ออยู่กับผมนานถึง 90 วัน พ่อในวัย 74 เพิ่งผ่านการบำบัดรักษาหัวใจอย่างชนิดลุ้นเส้นยาแดงผ่าแปดกันมา และต้องควบคุมตัวเองเรื่องการดื่ม กิน เคลื่อนไหว และเคร่งครัดกับขนาดจำนวนยารักษาอย่างชนิดห้ามขาดเกินเวลา
ชนกลุ่มน้อย
ไหนๆ ก็กอดกันแล้ว กอดต่ออีกครั้งเป็นไรไป ภูเขาลูกนั้นมีเถียงไร่ตั้งอยู่โดดเด่นและโดดเดี่ยว สองพ่อลูกชวนกันไปยังเถียงไร่ ที่นั่นคงสบายตา ดูลับหูลับตาคน ไม่มีใครไป พอเดินไปได้ไม่กี่ก้าว กลับพบกับไม้สามต้น ดูราวเป็นพี่น้องกัน ทรงพุ่มงามเหลือเกิน เหมือนก้อนเมฆย้อมสีเขียวเกิดเปลี่ยนใจอยากมาปักเป็นต้นไม้อยู่บนผืนดิน มองแล้วมองอีก ยังไม่อิ่ม “กอดดีกว่าพ่อ” เสียงนั้นบอก “พ่อกอดด้วย” นานอย่างนาน ผลัดกันกอดไม้สามต้นนั้น
ชนกลุ่มน้อย
 ขอทะลึ่งๆ เว่อร์ๆ อีกสักครั้งเถอะครับ ผมรู้สึกอย่างนี้จริงๆ ทันทีที่นึกอยากเขียน และโชว์รูปที่น่าจะอยู่ในอัลบั้มรูปส่วนตัว ว่างๆก็เอามาแบวางออกดูและรำลึกถึง มากกว่านำออกมาปรากฏตัวอยู่ต่อหน้าสายตาสาธารณะ ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่า เบื่อๆ เซาๆ ซึมๆ ว่างมาก มาทำเรื่องดูดีกันมั้ยลูก   มา ม๊า มาทำซึ้งกันสักครั้งดีกว่ามั้ย"เอ้า เอาเลย กอดกันเลยลูก" พูดแค่นั้นเจ้าชายน้อยโผประจำการทันที ผมไล่ตามเก็บรูป"พ่อกอดมั้ย" เขาถามกลับมา"กอดสิ ต้องกอดแน่ๆ ว่างแล้วยัง" หมายถึงไม้ต้นนั้น หมายตาไว้เหมือนกัน และถูกรักหลงในเวลาอันรวดเร็ว"ถ่ายรูปมั้ย" เขายึดกล้องไปกดรูปวันนั้น…
ชนกลุ่มน้อย
ตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปี ที่ผมตระเวนท่องไปตามป่าเขาในภาคเหนือ ไม่เคยเลยสักครั้งที่จะเผชิญหน้าจริงๆ กับพายุลมแรงที่หอบน้ำแข็งมาด้วย จนติดตรึงอยู่ในพายุน้ำแข็ง ไม่เห็นทางข้างหน้าและไม่เห็นทางข้างหลัง ขยับไปไหนไม่ได้ ราวกับทุกอย่างตกอยู่เหนือการควบคุม นอกจากยอมรับสภาพแล้วจำนนกับความเป็นไป
ชนกลุ่มน้อย
วันที่ 8 มีนาคม 2552 ผมนั่งเคียงข้างพ้อเลป่า ก่อนเดินทางกลับ ผมบอกว่า อีกสองสามอาทิตย์จะเข้ามาเยี่ยมอีกครั้ง เวลาผ่านไปสามอาทิตย์กว่า ตรงกับวันที่ 2 เมษายน 2552 พ้อเลป่าก็จากไปจริงๆ ผมไปถึงบ้านแม่แฮคี้ตอนบ่ายแก่ๆวันต่อมา บ้านไม้ริมถนนมีคนจับกลุ่มพูดคุยกันอยู่บนบ้าน ไล่เรียงอออกมานอกประตูบ้าน ผู้เฒ่ากวีแห่งแม่แฮใต้จากไปจริงๆ รูปวางถ่ายไว้บนโลงไม้ รูปสูบไปป์ที่คุ้นเคย พร้อมดอกไม้สัญลักษณ์ของความอาลัย
ชนกลุ่มน้อย
 เมื่อฉันเริ่มจำความได้ ฉันเที่ยวเล่นกับพวกเพื่อนๆ ฉันรู้ว่า แม่เป็นคนทอเสื้อให้ฉันใส่ ฉันดีใจมาก ฉันสวมเสื้อตัวนั้นแล้วเดินนำหน้าคนอื่นๆ เวลานั้นฉันรู้สึกว่า ใบหน้าของตัวเองเต็มอิ่มไปด้วยความร่าเริงยินดี
ชนกลุ่มน้อย
ชนกลุ่มน้อย
 ไม่มองซ้ายขวาหน้าหลัง  เดินเข้าไปหาแล้วโอบกอด   "ได้กลิ่นมั้ย" ผมถาม"เหมือนน้ำมัน" เขาตอบ"ใช่  ในตัวเขามีน้ำมัน" .. บทสนทนาระหว่างโอบกอด  เป็นเช่นนี้จริงๆ