Skip to main content

หนังสือเดินทาง 7 เล่ม  กับเพลง 7 ซีดีอัลบั้ม

ผมหลงชอบ ‘ตากอากาศ’ อย่างไม่ทราบสาเหตุ 
ผมเห็นครั้งแรกจากหนังสือเล่มหนึ่ง  ตากอากาศกลางสนามรบ  นับแต่นั้นมา  ตากอากาศก็เข้ามาอยู่ในใจผม  มันให้ความรู้สึกนัยยะความหมาย  กว้างไกลเมื่อไปอยู่ร่วมคำอื่น  มีบวกลบอยู่ในนั้น

ผมถือโอกาสเชิญมาอยู่ร่วมในชื่อเรื่องอีกครั้ง
ต้นฉบับชิ้นนี้ เขียนห่างฝั่งทะเลสาบสงขลาราว  10 กิโลเมตร  ผมกลับไปบ้านเกิด  แบบด่วนๆ  จึงต้องพกข้อมูลทุกอย่างใส่แฟ้ม  พร้อมต้นฉบับอื่นที่ค้างคา  รูปถ่าย  กล้องถ่ายรูป(ประจำตัว)  พร้อมเป้  และเจ้าชายน้อย 7 ขวบ เช่นเคย

เรื่องของเรื่องก็คือผมเตรียมตัวล่องใต้  เรื่องไม่ใหญ่ได้อย่างไร  เมื่อนานเป็นปีกว่าจะกลับไปเยือนบ้านเกิดสักครั้ง วางแผนไว้ว่าจะไปยังเส้นทางที่เคยไป  คน--สถานที่ที่เคยผูกพัน ไปสวน ไปตามทางเดินเก่าๆ ..    

คิดได้อย่างนั้น ผมจะไปวิธีไหน
รถไฟ .. เป็นทางเลือกแรก ..  
แล้วผมก็นึกถึงหนังสือ เพลง ทีนี้ ผมจะชวนหนังสือเล่มไหนร่วมเดินทาง  ซีดีแผ่นไหนติดตัวไปด้วย.. (ผมขาดหนังสือ  ขาดเพลงไม่ได้)  

ยิ่งคิดไว้ล่วงหน้าว่า  หากได้ไปเปิดหน้าหนังสือตรงสถานที่นั้น  ฟังเพลง ณ ตรงโน้น  เรื่องอะไรบ้างล้อมรอบตัว   นึกเล่นๆไปอย่างนั้น  แค่นึกก็ได้รับรสบางอย่างไหลเข้ามาแล้ว

ผมเลือกหนังสือมา 7 เล่ม (บอกไม่ปิดลับ)
เริ่มจาก  แผ่นดินอื่น , สะพานขาด  สองเล่มนี้ เป็นงานของ กนกพงศ์  สงสมพันธุ์  อยากอ่านความคุ้นเคยร่วมบรรยากาศบ้านเกิด
หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว  ของมาเควซ  ผมเรียกสั้นๆอย่างนั้น  เปิดหน้าไหนก็ชวนอัศจรรย์   อ่านได้ทุกบรรยากาศ      
วิหารที่ว่างเปล่า ของ เสกสรรค์  ประเสริฐกุล  นักเขียนต้นแบบอีกคนหนึ่งที่ผมตามอ่านมานาน   แค่มีวิหารที่ว่างเปล่าอยู่ตัว  ก็ได้รับแรงดลใจเข้าแล้ว
ดาวที่ขีดเส้นฟ้า  ของ  พนม  นันทพฤกษ์  ด้วยอยากย้อนรอยดาวที่ขีดเส้นฟ้า
นิค  อาดัมส์  วัยหนุ่มของศิลปิน  ของ เออร์เนสต์  เฮมมิงเวย์ หยิบหนังสือเล่มนี้อ่านแล้วได้พลัง(หนุ่ม)กลับมา  
เทพเจ้าแห่งสิ่งเล็กๆ  งานของ อรุณธตี รอย  แปลโดย สดใส  ผมเพิ่งได้มา  ยังไม่ได้เปิดอ่าน
และเล่มสุดท้ายคือ ดินแดนลม บทกวีเล่มล่าสุดของผมเอง  ที่ใช้ฉากตัวละครและเรื่องราวในบ้านเกิด (ลุ่มทะเลสาบสงขลา) เสียส่วนใหญ่   

ตามด้วยแผ่นซีดี 7 แผ่น  
เริ่มด้วย  Shangri – La  ของ MARK  KNOPFLER  แผ่นนี้ เสี้ยวจันทร์  แรมไพร หยิบยื่นให้  ฟังงานชุดนี้แล้วคิดถึงเกาะนางคำ เกาะยวน เกาะทอม เกาะหมาก เกาะสี่เกาะห้ากลางทะเลสาบทุกครั้ง  
The next voice you hear  งาน the best  of Jackson  browne  ผมอยากฟังเพลง Late  for  the sky  ดังขึ้นที่บ้านเกิด  
Clapton  Chronicles  งาน the best of eric Clapton  เพียงอยากฟัง  tears in heaven  ,  my father’s eyes  และ wonderful  tonight    
SLEEP THROUGH THE STATIC  งานชิ้นหลังสุดของ JACK  JOHNSON  
การเดินทางของตะกร้า (The  Journey  Of  Basket)  งานของ รังสรรค์  ราศี-ดิบ  
นางฟ้าสีขาวกับรอยเท้าพระจันทร์ (White  Angel  and  moon’s  footprint) ของ สุวิชานนท์  รัตนภิมล  เงาผมเอง  
และสุดท้าย  รู้ว่าความรักมีพลัง  งานของพี่ศักดิ์สิริ  มีสมสืบ  ผมอยากฟังเพลงนางฟ้าชัดๆ ที่บ้านเกิดอีกที      

เพียงพอสำหรับออกไปตากอากาศบ้านเกิด  ผืนดินที่ได้ชื่อว่า แดดกับเมฆฝนผลัดเปลี่ยนกันครองพื้นที่อย่างต่อเนื่อง  วูบวาบชวนอ่อนไหว  เดี๋ยวมืดเดี๋ยวสว่าง   สลับกับลมพัดแรง  พัดจนใบยางลั่นสนั่นได้ยินไปทั่วหมู่บ้าน   

ผมนึกล่วงหน้าไปถึงเส้นทางเก่าๆ  สวน  ทะเลสาบ  ทางรถไฟ  บ้านหลังที่ผูกพัน  หน้าคนที่อยากไปเยี่ยม ..  ใช้เวลาในช่วงสั้นๆ  สู่ดินแดนนั้น  เสมือนหนึ่งกลับไปเยือนดินแดนลม
        

บล็อกของ ชนกลุ่มน้อย

ชนกลุ่มน้อย
พ่อของลูกคือลูกของพ่อ ล้วงหนังสือ “เจ้าชายน้อย” ออกจากกระเป๋าสะพาย เป็นเล่มเดียวที่ติดตัวไปด้วยทุกครั้งที่ลูกชายเดินทางไปด้วย และไม่อาจรู้หรอกว่าจะได้เปิดอ่านในช่วงไหนเวลาไหน ลูกของพ่อคือหลานของปู่กำลังง่วนอยู่กับสมุด ดินสอ สีในกระเป๋าเช่นกัน เขาคงนึกอยากเขียนภาพ
ชนกลุ่มน้อย
เดินทางแบบกระเด็นกระดอนอยู่ในกระป๋องหนาหนักติดล้อ  และความยาวนานของระยะทาง  กว่า 5 ชั่วโมงไปให้ถึงใจกลางภูเขา  แต่ยิ่งคิดว่าเมื่อไหร่จะถึงใจกลางภูเขาตามมาตรวัดของแผนที่แผ่กางออกกว้าง  ยิ่งกลับเป็นเรื่องยากไปถึงใจกลางภูเขาที่อยู่ในใจ  ภูเขาเป็นทะมึนก่อกำแพงรายล้อม  
ชนกลุ่มน้อย
    เป็นเวลา 10 กว่าปี ที่ผมไม่ได้ใช้ชีวิตร่วมกับพ่อใต้ชายคาเดียวกันนานๆ แต่คราวนี้ พ่ออยู่กับผมนานถึง 90 วัน พ่อในวัย 74 เพิ่งผ่านการบำบัดรักษาหัวใจอย่างชนิดลุ้นเส้นยาแดงผ่าแปดกันมา และต้องควบคุมตัวเองเรื่องการดื่ม กิน เคลื่อนไหว และเคร่งครัดกับขนาดจำนวนยารักษาอย่างชนิดห้ามขาดเกินเวลา
ชนกลุ่มน้อย
ไหนๆ ก็กอดกันแล้ว กอดต่ออีกครั้งเป็นไรไป ภูเขาลูกนั้นมีเถียงไร่ตั้งอยู่โดดเด่นและโดดเดี่ยว สองพ่อลูกชวนกันไปยังเถียงไร่ ที่นั่นคงสบายตา ดูลับหูลับตาคน ไม่มีใครไป พอเดินไปได้ไม่กี่ก้าว กลับพบกับไม้สามต้น ดูราวเป็นพี่น้องกัน ทรงพุ่มงามเหลือเกิน เหมือนก้อนเมฆย้อมสีเขียวเกิดเปลี่ยนใจอยากมาปักเป็นต้นไม้อยู่บนผืนดิน มองแล้วมองอีก ยังไม่อิ่ม “กอดดีกว่าพ่อ” เสียงนั้นบอก “พ่อกอดด้วย” นานอย่างนาน ผลัดกันกอดไม้สามต้นนั้น
ชนกลุ่มน้อย
 ขอทะลึ่งๆ เว่อร์ๆ อีกสักครั้งเถอะครับ ผมรู้สึกอย่างนี้จริงๆ ทันทีที่นึกอยากเขียน และโชว์รูปที่น่าจะอยู่ในอัลบั้มรูปส่วนตัว ว่างๆก็เอามาแบวางออกดูและรำลึกถึง มากกว่านำออกมาปรากฏตัวอยู่ต่อหน้าสายตาสาธารณะ ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่า เบื่อๆ เซาๆ ซึมๆ ว่างมาก มาทำเรื่องดูดีกันมั้ยลูก   มา ม๊า มาทำซึ้งกันสักครั้งดีกว่ามั้ย"เอ้า เอาเลย กอดกันเลยลูก" พูดแค่นั้นเจ้าชายน้อยโผประจำการทันที ผมไล่ตามเก็บรูป"พ่อกอดมั้ย" เขาถามกลับมา"กอดสิ ต้องกอดแน่ๆ ว่างแล้วยัง" หมายถึงไม้ต้นนั้น หมายตาไว้เหมือนกัน และถูกรักหลงในเวลาอันรวดเร็ว"ถ่ายรูปมั้ย" เขายึดกล้องไปกดรูปวันนั้น…
ชนกลุ่มน้อย
ตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปี ที่ผมตระเวนท่องไปตามป่าเขาในภาคเหนือ ไม่เคยเลยสักครั้งที่จะเผชิญหน้าจริงๆ กับพายุลมแรงที่หอบน้ำแข็งมาด้วย จนติดตรึงอยู่ในพายุน้ำแข็ง ไม่เห็นทางข้างหน้าและไม่เห็นทางข้างหลัง ขยับไปไหนไม่ได้ ราวกับทุกอย่างตกอยู่เหนือการควบคุม นอกจากยอมรับสภาพแล้วจำนนกับความเป็นไป
ชนกลุ่มน้อย
วันที่ 8 มีนาคม 2552 ผมนั่งเคียงข้างพ้อเลป่า ก่อนเดินทางกลับ ผมบอกว่า อีกสองสามอาทิตย์จะเข้ามาเยี่ยมอีกครั้ง เวลาผ่านไปสามอาทิตย์กว่า ตรงกับวันที่ 2 เมษายน 2552 พ้อเลป่าก็จากไปจริงๆ ผมไปถึงบ้านแม่แฮคี้ตอนบ่ายแก่ๆวันต่อมา บ้านไม้ริมถนนมีคนจับกลุ่มพูดคุยกันอยู่บนบ้าน ไล่เรียงอออกมานอกประตูบ้าน ผู้เฒ่ากวีแห่งแม่แฮใต้จากไปจริงๆ รูปวางถ่ายไว้บนโลงไม้ รูปสูบไปป์ที่คุ้นเคย พร้อมดอกไม้สัญลักษณ์ของความอาลัย
ชนกลุ่มน้อย
 เมื่อฉันเริ่มจำความได้ ฉันเที่ยวเล่นกับพวกเพื่อนๆ ฉันรู้ว่า แม่เป็นคนทอเสื้อให้ฉันใส่ ฉันดีใจมาก ฉันสวมเสื้อตัวนั้นแล้วเดินนำหน้าคนอื่นๆ เวลานั้นฉันรู้สึกว่า ใบหน้าของตัวเองเต็มอิ่มไปด้วยความร่าเริงยินดี
ชนกลุ่มน้อย
ชนกลุ่มน้อย
 ไม่มองซ้ายขวาหน้าหลัง  เดินเข้าไปหาแล้วโอบกอด   "ได้กลิ่นมั้ย" ผมถาม"เหมือนน้ำมัน" เขาตอบ"ใช่  ในตัวเขามีน้ำมัน" .. บทสนทนาระหว่างโอบกอด  เป็นเช่นนี้จริงๆ