ท่ามกลางการสัประยุทธ์ทางการเมืองอันร้อนระอุ ผู้สันทัดกรณีการเมืองไทยหลายท่าน ได้ทำนายทายทักไปถึงแนวโน้มการทำรัฐประหาร ที่อาจมาพร้อมกับการเคลื่อนกำลังของบุรุษลายพรางแบบโดดๆ หรือ แม้แต่การ "join up" กับคลื่นพลังปฏิวัติของมวลมหาประชาชน
สัญญาณทาบทับทีเผยถึงความกังวลใจในครั้งนี้ คือ การเคลื่อนยุทโธปกรณ์ของกองทัพในช่วงเทศกาลวันเด็ก เพื่อสำแดง "นาฏกรรมของชายบนหลังม้า" พร้อมๆกับ การเติมกำลัง หนุนเสริมอย่างต่อเนื่องเพื่อล้อรับกับมหกรรมแสดงแสนยานุภาพในวันกองทัพไทย ฉะนั้น ห้วงเวลาระหว่างวันที่ 11-18 มกราคม จึงเป็นเงื่อนสถานการณ์ ที่นักยุทธศาสตร์เพื่อไทย อาจมีความกังวลระส่ำระส่ายอยู่บ้าง เนื่องจาก ในทางยุทธวิธีนั้น ถือเป็นการเคลื่อนพลแบบอัตโนมัติเพื่อล็อกเป้าศูนย์อำนาจไว้เรียบร้อยแล้ว หรือพูดง่ายๆ ก็คือ หากผู้ก่อการรัฐประหาร คิดจะยึดอำนาจเพื่อปิดเกมส์แล้วเซ็ทระบบใหม่ขึ้นมาจริงๆ ผ่านวิธีการแบบ คลาสสิกในการเมืองไทย กระบวนการเคลื่อนกำลัง ก็ถือว่าเสร็จสิ้นสมบูรณ์ไปกว่า 50% แล้ว
กระนั้น การทำรัฐประหารท่ามกลางโครงสร้างรัฐที่เต็มไปด้วยขั้วอำนาจหลายศูนย์ กลับทำให้ คณะผู้ก่อการ เริ่มเกิดความพะวงลักลั่นหรือชะงักงันในทางยุทธศาสตร์ เนื่องจากฐานอำนาจของรัฐบาลนั้น กลับแบ่งออกเป็นสามขาหลักๆ ได้แก่ 1.เมืองหลวงตามประเพณีอย่างกรุงเทพ 2.เมืองคะแนนนิยมตามภูมิภาคอย่างเชียงใหม่หรืออุดรธานี และ 3.เมืองนานาชาติเพื่อรองรับรัฐบาลพลัดถิ่นอย่าง ฮ่องกง ดูไบ หรือ วอชิงตัน จากสภาพภูมิทัศน์ดังกล่าว แม้คณะผู้ก่อการอาจประสบความสำเร็จในการทำรัฐประหารในกรุงเทพ ซึ่งรัฐบาลได้เริ่มถูกสะบั้นอำนาจจน "State Machine" เกิดอาการง่อยเปลี้ย หากแต่ในความเป็นจริงแล้ว การทัวร์เหนือและอีสานบ่อยครั้งของรักษาการนายก ก็ได้เริ่มช่วยชี้ชวนให้เห็นว่า ประเทศไทย อาจมีศูนย์อำนาจแห่งที่สองอยู่ที่เชียงใหม่ (หากมีรัฐประการเกิดขึ้นจริงๆ) ซึ่งอาจถูกเลือกให้เป็นฐานที่มั่นของรัฐบาล (ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเชียงใหม่ที่ใหญ่โตและมีชัยภูมิพิงเขา อาจมีศักยภาพพอที่จะเป็นทำเนียบชั่วคราว) พร้อมๆกับ ศูนย์อำนาจคู่แฝดแห่งที่สองอย่างที่อุดรหรือขอนแก่น
ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเชียงใหม่
การเล่นเกมส์ภูมิรัฐศาสตร์เช่นนี้ ย่อมทำให้สถานการณ์การต่อสู้มีความยืดเยื้อ และพื้นฐานจังหวัดชายแดนภาคเหนือหรืออีสาน ที่ไม่ไกลจากชายแดนเพื่อนบ้านอย่างพม่าหรือลาว ก็อาจทำให้ประเทศเพื่อนบ้านเริ่มเข้ามามีบทบาทบ้างในม่านละครการเมืองไทย หากรัฐบาลที่เคลื่อนเข้ามาใกล้ชายแดนคิดที่จะสานปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการ ลงทุน ในแบบอาเซียนภิวัฒน์ หรือ มองหาลู่ทางลี้ภัยหลบหลีก หากฝ่ายตรงข้ามคิดเจาะเกระแทรกซึมเข้ามาในพื้นที่สงวนเหล่านี้ ซึ่งก็ย่อมทำได้ผ่านสายบัญชาการของกองทัพภาคที่สองและสาม (เพียงแต่จะควบคุมมวลชนที่ต่อต้านรัฐประหารได้มากน้อยเพียงใด)
จริงๆ แล้ว ในเชิงการเมืองเปรียบเทียบ รัฐประหารที่ทรงอานุภาพควรสามารถที่จะพิชิตศูนย์อำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จ โดยรัฐประหารที่ประสบความสำเร็จทั้งในแง่ของการยึดเมืองหรือการบริหารประเทศ หลังยึดอำนาจ มักเกิดขึ้นในแบบที่โครงสร้างอำนาจแห่งรัฐ มักไม่มีลักษณะกระจายตัวหรือแบ่งออกเป็นหลายศูนย์มากนัก ความล้มเหลวของรัฐประหารที่กระทำไปท่ามกลางความพร่ามัวของโครงข่ายอำนาจเช่น นี้ ได้แก่ การเคลื่อนพลยึดเวียงจันทน์ของกองแล วีระสาน เมื่อปี พ.ศ. 2503 ที่สะท้อนให้เห็นว่า การยึดเมืองหลวงนั้น ไม่ใช่เรื่องยาก หากแต่หลังยึดแล้ว สิ่งที่กองแลต้องปวดเศียรเวียนเกล้ามากที่สุด คือ การกระชับอำนาจทั่วราชอาณาจักรลาว ซึ่งเต็มไปด้วยขุนศึกหรือขั้วการเมืองที่คุมพื้นที่ชนบทอันหลากหลายทั้งที่ หลวงพระบาง ทุ่งราบเชียงขวางหรือจำปาศักดิ์ จนท้ายที่สุดแล้ว เราจะพบว่า แม้กองแลจะยึดอำนาจได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากขุนศึกได้กระจายตัวไปทั่วประเทศ หากแต่ สภาวะแตกกระจายเช่นนี้ กลับทำให้ กองแลไม่สามารถบริหารราชแผ่นดินได้อย่างปกติสุข จนมีผลต่อเสถียรภาพเชิงอำนาจของเขาในเวลาต่อมา
นายพลกองแล วีระสาน
ท้ายที่สุด ผมหวังว่า นักรัฐประหารไทยที่คิดจะทำรัฐประหารใต้เงาตะวันแดง อาจคงฉุกคิดได้ถึงต้นทุนที่จะต้องสูญเสียหากคิดที่จะใช้วิธีการแบบคลาสสิก เช่นนี้ เพียงแต่ว่าสภาวะแบบหลายค่าย หรือ การแสวงหาฐานที่มั่นสำรองไว้หลายๆจุดของรัฐบาล ก็ได้ทำให้ความโกลาหลระส่ำระส่ายของบ้านเมืองถูกขยายผลและยืดเยื้อขึ้นไปอีก เช่นกัน จนมองไม่ออกว่าเกมส์จะจบลงอย่างไร ฉะนั้น คงหวังแต่วัฒนธรรมสันติภาพท่ามกลางความเห็นอันหลากหลาย พร้อมๆกับ ประชาธิปไตยที่มีธรรมาภิบาล good governance ที่อาจจะช่วยชะรอปัญหาระยะยาวลงได้บ้าง โดยมิทำให้ไทยต้องเจอสภาพสงครามกลางเมืองแบบลาว กัมพูชา หรือ พม่า ในยุคสงครามเย็น
ดุลยภาค ปรีชารัชช