Skip to main content

 

หลังจากได้อ่านคอลัมน์ว่าด้วย "รถไฟความเร็วสูงในลาว" ที่เผยแพร่ผ่านทางมติชนออนไลน์ของคุณธีรภัทร กวีหนุ่มผู้หลงใหลมนต์เสน่ห์ริมโขงแล้ว ผมเองกลับได้แง่คิดบางประการเกี่ยวกับความชอบธรรมของระบอบการเมืองในอุษาคเนย์ จริงๆ แล้ว ปัญหาการประมูลจัดทำรถไฟในลาว ซึ่งเต็มไปด้วยความคลุมเครือลางเลือนที่มีทั้งความไม่แน่ชัดของรายชื่อบริษัทที่เข้ามาร่วมทุน ความอิหลักอิเหลื่อของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ในการที่จะแถลงโครงการแบบโปร่งใสชัดถ้อยชัดคำ หรือการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนซึ่งอาจได้รับผล (ทั้งทางบวกและลบ) การจากพาดผ่านของสายรถไฟ ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาคลาสสิกอย่างหนึ่งของกระบวนการปกครองบริหารบ้านเมืองของรัฐต่างๆ ในอาเซียน ซึ่งนั่นก็คือ การขาด "ธรรมาภิบาล" หรือ "Good Governance” นั่นเอง


ภาพจาก mthai.com

Good Governance มักจะเน้นย้ำให้ภาครัฐควรมีขนาดเล็กลง (Minimal Government) เพื่อให้การส่งมอบสินค้าและบริการสาธารณะมีประสิทธิภาพ/ประสิทธิผล พร้อมๆ กับการเอื้อหนุนให้รัฐบาลหันมากระจายอำนาจสู่ภาคตลาดและภาคประชาสังคมมากขึ้น แต่กระนั้น เราอาจพบเห็นว่า การเมืองแบบรวบอำนาจและการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ในหมู่ชนชั้นนำ กลับทำให้รัฐบาลในบางประเทศ กลับคงไว้ซึ่งขนาดอันมหึมาของโครงสร้างราชการพร้อมๆ กับวิถีการใช้อำนาจอย่างเต็มพิกัด (Maximum Government) โดยปราศจากการมีส่วนร่วมของภาคส่วนอื่นๆ ใน "เครือข่ายนโยบาย” อย่างแท้จริง

หรือแม้แต่การเปิดเสรีแบบทุนนิยมซึ่งได้ทำให้รัฐและตลาดหันมาผนึกกำลังควบแน่นกันมากขึ้น ก็ไม่ได้หมายความว่า การผลิตโครงการสาธารณะต่างๆ จะต้องโปร่งใส (transparency) หรือ ตรวจสอบรับผิดได้ (accountability) เสมอไป เพราะรัฐบาลกับนายทุน อาจหันมาร่วมมือกันเพื่อเซ็ต "Agenda” บางอย่างที่แฝงอยู่ในยุทธศาสตร์การพัฒนา

นอกจากนั้น ขณะที่รัฐบาลอนุรักษ์นิยมในบางประเทศ ต่างรณรงค์ให้ประชาชนหันมาร่วมมอง “Good Governance” ในฐานะเครื่องมือของจักรวรรดินิยมแนวใหม่ เนื่องจากองค์กรนานาชาติอย่าง UNDP, WTO, ADB และ IMF ถือเป็นผู้เซ็ตมาตรฐานธรรมาภิบาลเพื่อใช้เป็นเกณฑ์พิจารณาความช่วยเหลือแก่รัฐกำลังพัฒนาทั้งหลาย (ซึ่งถือเป็นอิทธิพลของแนวคิดเสรีนิยมใหม่)

แต่ถึงอย่างนั้น เราก็กลับพบเห็นว่า รัฐอำนาจนิยมอาเซียน เช่น ลาวหรือกัมพูชา ต่างก็ต้องการความช่วยเหลือเหล่านั้นในหลายโอกาสเช่นกัน เพราะการทะลักของเม็ดเงินมหาศาลย่อมสร้างแรงกระตุ้นให้ชนชั้นนำได้เห็นถึงผลตอบแทนที่คุ้มค่า โดยขอเพียงแค่การ "เซ็ตฉาก” ว่ารัฐเริ่มพร้อมที่จะปฏิรูปธรรมาภิบาล เพื่อแลกกับจุดคุ้มทุนที่สมน้ำสมเนื้อ หากแต่ในความเป็นจริงแล้ว การยกเครื่องระบบบริหารราชการแผ่นดินจริงๆ นั้น ก็มักจะถูกกดทับแล้วลากเลื่อนให้ล่าช้าอยู่ล่ำไป

สุดท้ายนี้ ผมจึงอยากจะชี้ชวนให้เห็นว่า ปัญหาเรื่องการบริหารจัดการบ้านเมืองที่โปร่งใสนั้น มักทำให้รัฐอุษาคเนย์ต้องเผชิญกับวิกฤติการณ์ด้านความชอบธรรม (Legitimacy Crisis) และเป็นที่มาของการประท้วงหรือการเคลื่อนขบวนของภาคประชาสังคม เพื่อต่อต้านหรือเปลี่ยนพฤติกรรมรัฐให้ดำเนินนโยบายที่ขาวสะอาดและใส่ใจกับเสียงเรียกร้องของประชาชนมากยิ่งขึ้น เพียงแต่ว่า ในโครงสร้างอำนาจที่รัฐบาลยังคงเข้มแข็งและภาคสังคมยังขาดกำลังอย่างพอเพียง เฉกเช่น ในลาว ปัญหาเช่นนี้ จะยังคงดำรงอยู่ต่อไป (แม้สถานการณ์อาจมีความเปลี่ยนแปลงไปบ้างก็ตาม) ส่วนกรณีของประเทศที่สังคมเข้มแข็งอย่างฟิลิปปินส์ รัฐบาลที่ขาดความโปร่งใส อาจถูกโค่นได้ด้วยพลังประชาชน เช่น การเคลื่อนขบวนเพื่อล้มประธานาธิบดีโจเซฟ เอสตราดา

สำหรับกรณีของประเทศไทยนั้น ปัญหาหลักจริงๆ ที่ทำให้เกิดการ "Join Up" ของขบวนการต่อต้านรัฐบาลบางกลุ่ม เช่น ม็อบเกษตรกรที่ต่อต้านการขาดความโปร่งใสในนโยบายจำนำข้าว ก็ล้วนแต่เกี่ยวข้องกับประเด็นการทุจริตคอรัปชั่น หรือ การขาดการบริหารปกครองเชิงร่วมมือ (collaborative governance) แทบทั้งสิ้น

ฉะนั้น ประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาของสังคมไทย ก็คือ ทำอย่างไรที่จะให้ Democracy และ Good Governance สามารถอยู่ร่วมกันได้แนบสนิท พร้อมๆ กับสร้างความสุขให้กับคนธรรมดาอย่างเราๆ ได้อย่างแท้จริง

 

ดุลยภาค ปรีชารัชช

 

บล็อกของ ดุลยภาค

ดุลยภาค
โจทย์สำคัญของสถาบันกองทัพที่สิงสถิตอยู่ในสังคมอันเต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลาย ว่าสุดท้ายแล้ว กระบวนการปฏิรูปการเมืองของประเทศ กับ การปฏิรูปภาคทหารของกองทัพ จะดำเนินควบคู่ไปกับการปฏิรูปทางสังคมที่ตั้งอยู่บนฐานความยุติธรรมและสันติวิธี ได้มากน้อยเพียงไร