Skip to main content

 

หลังจากได้อ่านคอลัมน์ว่าด้วย "รถไฟความเร็วสูงในลาว" ที่เผยแพร่ผ่านทางมติชนออนไลน์ของคุณธีรภัทร กวีหนุ่มผู้หลงใหลมนต์เสน่ห์ริมโขงแล้ว ผมเองกลับได้แง่คิดบางประการเกี่ยวกับความชอบธรรมของระบอบการเมืองในอุษาคเนย์ จริงๆ แล้ว ปัญหาการประมูลจัดทำรถไฟในลาว ซึ่งเต็มไปด้วยความคลุมเครือลางเลือนที่มีทั้งความไม่แน่ชัดของรายชื่อบริษัทที่เข้ามาร่วมทุน ความอิหลักอิเหลื่อของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ในการที่จะแถลงโครงการแบบโปร่งใสชัดถ้อยชัดคำ หรือการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนซึ่งอาจได้รับผล (ทั้งทางบวกและลบ) การจากพาดผ่านของสายรถไฟ ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาคลาสสิกอย่างหนึ่งของกระบวนการปกครองบริหารบ้านเมืองของรัฐต่างๆ ในอาเซียน ซึ่งนั่นก็คือ การขาด "ธรรมาภิบาล" หรือ "Good Governance” นั่นเอง


ภาพจาก mthai.com

Good Governance มักจะเน้นย้ำให้ภาครัฐควรมีขนาดเล็กลง (Minimal Government) เพื่อให้การส่งมอบสินค้าและบริการสาธารณะมีประสิทธิภาพ/ประสิทธิผล พร้อมๆ กับการเอื้อหนุนให้รัฐบาลหันมากระจายอำนาจสู่ภาคตลาดและภาคประชาสังคมมากขึ้น แต่กระนั้น เราอาจพบเห็นว่า การเมืองแบบรวบอำนาจและการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ในหมู่ชนชั้นนำ กลับทำให้รัฐบาลในบางประเทศ กลับคงไว้ซึ่งขนาดอันมหึมาของโครงสร้างราชการพร้อมๆ กับวิถีการใช้อำนาจอย่างเต็มพิกัด (Maximum Government) โดยปราศจากการมีส่วนร่วมของภาคส่วนอื่นๆ ใน "เครือข่ายนโยบาย” อย่างแท้จริง

หรือแม้แต่การเปิดเสรีแบบทุนนิยมซึ่งได้ทำให้รัฐและตลาดหันมาผนึกกำลังควบแน่นกันมากขึ้น ก็ไม่ได้หมายความว่า การผลิตโครงการสาธารณะต่างๆ จะต้องโปร่งใส (transparency) หรือ ตรวจสอบรับผิดได้ (accountability) เสมอไป เพราะรัฐบาลกับนายทุน อาจหันมาร่วมมือกันเพื่อเซ็ต "Agenda” บางอย่างที่แฝงอยู่ในยุทธศาสตร์การพัฒนา

นอกจากนั้น ขณะที่รัฐบาลอนุรักษ์นิยมในบางประเทศ ต่างรณรงค์ให้ประชาชนหันมาร่วมมอง “Good Governance” ในฐานะเครื่องมือของจักรวรรดินิยมแนวใหม่ เนื่องจากองค์กรนานาชาติอย่าง UNDP, WTO, ADB และ IMF ถือเป็นผู้เซ็ตมาตรฐานธรรมาภิบาลเพื่อใช้เป็นเกณฑ์พิจารณาความช่วยเหลือแก่รัฐกำลังพัฒนาทั้งหลาย (ซึ่งถือเป็นอิทธิพลของแนวคิดเสรีนิยมใหม่)

แต่ถึงอย่างนั้น เราก็กลับพบเห็นว่า รัฐอำนาจนิยมอาเซียน เช่น ลาวหรือกัมพูชา ต่างก็ต้องการความช่วยเหลือเหล่านั้นในหลายโอกาสเช่นกัน เพราะการทะลักของเม็ดเงินมหาศาลย่อมสร้างแรงกระตุ้นให้ชนชั้นนำได้เห็นถึงผลตอบแทนที่คุ้มค่า โดยขอเพียงแค่การ "เซ็ตฉาก” ว่ารัฐเริ่มพร้อมที่จะปฏิรูปธรรมาภิบาล เพื่อแลกกับจุดคุ้มทุนที่สมน้ำสมเนื้อ หากแต่ในความเป็นจริงแล้ว การยกเครื่องระบบบริหารราชการแผ่นดินจริงๆ นั้น ก็มักจะถูกกดทับแล้วลากเลื่อนให้ล่าช้าอยู่ล่ำไป

สุดท้ายนี้ ผมจึงอยากจะชี้ชวนให้เห็นว่า ปัญหาเรื่องการบริหารจัดการบ้านเมืองที่โปร่งใสนั้น มักทำให้รัฐอุษาคเนย์ต้องเผชิญกับวิกฤติการณ์ด้านความชอบธรรม (Legitimacy Crisis) และเป็นที่มาของการประท้วงหรือการเคลื่อนขบวนของภาคประชาสังคม เพื่อต่อต้านหรือเปลี่ยนพฤติกรรมรัฐให้ดำเนินนโยบายที่ขาวสะอาดและใส่ใจกับเสียงเรียกร้องของประชาชนมากยิ่งขึ้น เพียงแต่ว่า ในโครงสร้างอำนาจที่รัฐบาลยังคงเข้มแข็งและภาคสังคมยังขาดกำลังอย่างพอเพียง เฉกเช่น ในลาว ปัญหาเช่นนี้ จะยังคงดำรงอยู่ต่อไป (แม้สถานการณ์อาจมีความเปลี่ยนแปลงไปบ้างก็ตาม) ส่วนกรณีของประเทศที่สังคมเข้มแข็งอย่างฟิลิปปินส์ รัฐบาลที่ขาดความโปร่งใส อาจถูกโค่นได้ด้วยพลังประชาชน เช่น การเคลื่อนขบวนเพื่อล้มประธานาธิบดีโจเซฟ เอสตราดา

สำหรับกรณีของประเทศไทยนั้น ปัญหาหลักจริงๆ ที่ทำให้เกิดการ "Join Up" ของขบวนการต่อต้านรัฐบาลบางกลุ่ม เช่น ม็อบเกษตรกรที่ต่อต้านการขาดความโปร่งใสในนโยบายจำนำข้าว ก็ล้วนแต่เกี่ยวข้องกับประเด็นการทุจริตคอรัปชั่น หรือ การขาดการบริหารปกครองเชิงร่วมมือ (collaborative governance) แทบทั้งสิ้น

ฉะนั้น ประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาของสังคมไทย ก็คือ ทำอย่างไรที่จะให้ Democracy และ Good Governance สามารถอยู่ร่วมกันได้แนบสนิท พร้อมๆ กับสร้างความสุขให้กับคนธรรมดาอย่างเราๆ ได้อย่างแท้จริง

 

ดุลยภาค ปรีชารัชช

 

บล็อกของ ดุลยภาค

ดุลยภาค
รัฐประหารที่ส่อเค้าล้มเหลวในตุรกีล่าสุด ให้บทเรียนราคาแพงต่อวิชา "รัฐประหารศึกษา” และ "การเมืองเปรียบเทียบ" โดยเฉพาะเรื่องบทบาททหารกับการเมือง
ดุลยภาค
กล่าวโดยสรุป รัฐจารีตอุษาคเนย์ มักคุ้นชินกับเกมสังเวียนพยัคฆ์-คชสาร ซึ่งถูกจัดขึ้นเพื่อสะท้อนประสบการณ์เชิงบวก-เชิงลบต่อสัตว์พื้นเมืองทั้งสองชนิด รวมถึงใช้เพื่อส่งสัญญะ แสดงพลังข่มขู่ขับไล่ผู้รุกรานต่างถิ่น แต่ขณะเดียวกัน เกมสังเวียนประเภทนี้ ก็ถูกใช้เพื่อตอบสนองมหกรรมบันเทิงของเหล่ากษัตริย์-ขุนนาง-ประชาชน ซึ่งก็ไม่แตกต่างอะไรมากนักจากศึกสังเวียนโคลอสเซียมในจักรวรรดิโรมัน