Skip to main content

 

โลกยุทธศาสตร์ในศตวรรษที่ 21 ยังคงถูกครอบงำด้วยระเบียบความมั่นคงอันมีลักษณะเป็นแท่งพีระมิดขนาดใหญ่ซึ่งมีสหรัฐอเมริกาสิงสถิตอยู่บนยอดชั้นแห่งอำนาจ พร้อมดำรงตำแหน่งเป็น 'องค์เอกอัครอภิมหาอำนาจทางการทหาร/Supreme Military Power' ที่มิอาจมีชาติใดสามารถแข่งรัศมีหรือเทียบชั้นได้เสมอเหมือน

อย่างไรก็ตาม เมื่อตัดแบ่งเขตภูมิรัฐศาสตร์โลกออกเป็นขั้วอนุภูมิภาคต่างๆ จะพบว่าศักดิ์อำนาจทางทหารของสหรัฐฯ  กลับมีพลานุภาพที่ลดหลั่นเจือจางหรือขาดความทัดเทียมกันในแต่ละห้วงอาณาบริเวณ

โดยขณะที่ อนุทวีปละตินอเมริกาพร้อมย่านทะเลแคริบเบียน ยังคงเป็นเขตปริมณฑลอำนาจของสหรัฐฯ แต่เพียงผู้เดียว เขตทวีปเอเชีย-แปซิฟิกที่ประกอบด้วยภูมิภาคเอเชียตะวันออก เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และออสเตรเลีย-โอเชียเนีย กลับทำให้อิทธิพลสหรัฐฯ  ถูกท้าทายอย่างไม่หยุดยั้งจากการผงาดขึ้นมาของจีน จนเริ่มทำให้ระบบโครงสร้างอำนาจสหรัฐฯ  ถูกกดลงให้ตกอยู่ในแกนทวิขั้วที่ทำให้ขีดพลังทางทหารสหรัฐฯ  ในโลกเอเชีย อาจมิได้ทิ้งช่วงห่างจากจีนมากนักในมิติของอำนาจกำลังรบเชิงเปรียบเทียบ

ต่อสภาพดุลอำนาจดังกล่าว นักยุทธศาสตร์สหรัฐฯ  จึงเร่งปรับแนวนโยบายด้านความมั่นคงแนวใหม่เพื่อเป็นการรักษาผลประโยชน์ของสหรัฐฯ  ในเวทีเอเชียแปซิฟิก ซึ่งถือเป็นสนามแข่งขันที่เต็มไปด้วยการก่อรูปของขั้วอำนาจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ ไต้หวัน ออสเตรเลียและอาเซียน

สำหรับจุดเด่นของแผนวางกำลังทหารสหรัฐฯ ในปัจจุบัน ได้แก่ การเติมกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์ในเขตเอเชียแปซิฟิกให้ได้อัตรา 60% ในปี ค.ศ.2020 ซึ่งจะเป็นไปในรูปแบบการสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางทหารแบบทวิภาคีผ่านการสถาปนาแนวสายโซ่ยุทธศาสตร์ (Strategic Chain) ที่ไล่เรียงตั้งแต่ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ไทย อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และแม้กระทั่งหมู่เกาะในอ่าวเบงกอลซึ่งเป็นประตูเชื่อมโยงไปยังพม่าและอินเดีย

แผนที่แสดงการวางฐานทัพลอยน้ำของกองทัพสหรัฐฯ ในเขตเอเชียแปซิฟิก (ที่มา China Daily, August 6, 2012)

ในบรรดาฐานทัพลอยน้ำเหล่านี้ ล่าสุด สหรัฐฯ ได้เตรียมขยายฐานทัพที่เมืองดาร์วินของออสเตรเลีย เพื่อให้มีกองนาวิกาโยธินประจำการอยู่อย่างน้อย 2,500 นาย ก่อนที่จะส่งมอบยุทโธปกรณ์ เช่น เครื่องบินรบและเครื่องบินทิ้งระเบิด ไปยังฐานทัพดังกล่าวในอีก 5-6 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้ฐานบัญชาการดาร์วิน กลายเป็นปราการเหล็กที่ช่วยบำรุงเลี้ยงให้กำลังพลสหรัฐฯ สามารถขยายแนวปฏิบัติการเข้าถึงเอเชียอาคเนย์ภาคพื้นสมุทรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

พร้อมกันนั้น ยังมีการย้ายฐานทัพจากเกาะโอกินาวาของญี่ปุ่นเข้าไปยังเกาะกวมเพื่อผลักดันให้กวมแปลงสภาพเป็นจุดส่งกำลังบำรุงหลักทางทะเลระหว่างกองบัญชาการภาคแปซิฟิกที่โฮโนลูลูของฮาวาย กับ เขตพิพาททะเลจีนใต้ที่ครอบคลุมคู่ขัดแย้งหลักอย่าง จีน ไต้หวัน เวียดนามและฟิลิปปินส์

ส่วนพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น สหรัฐได้ส่งเรือโจมตีชายฝั่งเข้าไปยังสิงคโปร์เพื่อซ้อมผลัดเปลี่ยนลูกเรือนาวีและพัฒนาระบบส่งกำลังบำรุงในเขตช่องแคบมะละกา ประกอบกับเตรียมสร้างคลังแสงพร้อมส่งกองกำลังผสมปฏิบัติการพิเศษเข้าไปประจำการยังฟิลิปปินส์อีกราวๆ 500 นาย เพื่อหนุนกองเรือฟิลิปปินส์ในการคานอำนาจจีนทางแถบทะเลจีนใต้

ขณะที่ความสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์กับเวียดนาม ก็นับว่ามีความกระชับแน่นมากขึ้นเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการหันมาใช้ฐานทัพเรือที่อ่าวคัมรานเพื่อวางกองเรือยุทธการและจัดตั้งสถานีข่าวกรองทางการสื่อสาร (Signal Intelligence/SIGINT) เพื่อตรวจจับความเคลื่อนไหวทางทหารของจีน พร้อมเตรียมเช่าอดีตฐานทัพเรือหรือฐานบินอีกบางแห่งในเขตเวียดนามใต้ซึ่งทหารอเมริกันเคยใช้ปฏิบัติการมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็น

ส่วนกรณีของประเทศไทยนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่าฐานทัพเรืออู่ตะเภา สัตหีบ หรือแม้แต่ฐานบินที่นครราชสีมา ถือเป็นคลังยุทธศาสตร์ที่ส่งผลต่อการขยายแสนยานุภาพของสหรัฐทั้งในน่านทะเลอ่าวไทยและโซนภาคพื้นทวีปอินโดจีนนับตั้งแต่สมัยสงครามเย็น ซึ่งก็คงปฏิเสธมิได้ว่าภูมิรัฐศาสตร์ไทย ยังคงมีความสำคัญเสมอต่ออำนาจกำลังรบของทหารสหรัฐฯ ในภูมิภาคอาเซียน

จากทิศทางการปรับกำลังพลแนวใหม่ของสหรัฐฯ สามารถคาดการณ์ได้ว่า เอเชียและอาเซียนในศตวรรษที่ 21 อาจกลายมาเป็นแนวสนามเพลาะแห่งใหม่ที่ทำให้ทหารสหรัฐฯ สามารถเจาะเกราะแทรกซึมเข้ามาโฉบเฉี่ยวโลดแล่นบนเวทีความมั่นคงประจำภูมิภาคได้อย่างแนบแน่นมากกว่าในอดีต

ซึ่งก็ถือเป็นทิศทางการเคลื่อนไหวที่สอดคล้องกับแผนพัฒนากองทัพสหรัฐฯ ระหว่างห้วงปี ค.ศ.2011-2015 ที่กำหนดให้โครงสร้างกำลังรบสหรัฐฯ จะต้องประกอบไปด้วยการบรรจุยุทโธปกรณ์แนวใหม่ อย่างเช่น เรือบรรทุกเครื่องบินจำนวน 10-11 ลำ กองเรือผิวน้ำขนาดใหญ่ 84-88 ลำ เรือรบสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก 29-31 ลำ ตลอดจน กองบินทิ้งระเบิดระยะไกล จำนวน 5 กอง และกองบินครองอากาศขนาดใหญ่อีกราวๆ 6 กอง

จากแผนการเพิ่มนาวิกานุภาพและเวหานุภาพของสหรัฐฯ ย่อมเป็นที่แน่ชัดว่าจะส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อการปรับเปลี่ยนนโยบายกลาโหมของมหาอำนาจยักษ์ใหญ่อย่างจีน โดยล่าสุด กองทัพปลดแอกประชาชนจีนได้ทำการสถาปนาแนววงแหวนทหาร จำนวนทั้งสิ้น 3 ชั้น (ซึ่งเรียกกันในหมู่นักเสนาธิการจีนว่า กลุ่มแนวสายโซ่หมู่เกาะ Island Chains) เพื่อป้องกันแนวพรมแดนยุทธศาสตร์ทางทะเลจากการโจมตีก่อกวนของกองเรือรบสหรัฐฯ

แผนที่แสดงเขตอำนาจทางทหารของจีน โดยสัญลักษณ์เรือสีแดงแสดงกองเรือรบจีน ส่วนสัญลักษณ์เรือสีเหลืองแสดงกองเรือรบสหรัฐฯ -ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ ในขณะที่เขตพื้นที่สีฟ้าอ่อน แสดงจุดพิพาทเขตแดนระหว่างจีนกับชาติอาเซียนในทะเลจีนใต้ (ที่มา Wen Liu, From Pivot to Rebalance: The Weight of Words in U.S. Asia Policy, contextChina.com)

โดยวงแหวนแรกจะตีระแนงจากญี่ปุ่น มาที่ไต้หวันและฟิลิปปินส์ ส่วนวงที่สองจะกวาดไล่จากหมู่เกาะซักคารินแถบชายแดนญี่ปุ่น-รัสเซีย เข้าไปถึงเขตหมู่เกาะแปซิฟิกด้านตะวันตก ขณะที่วงสุดท้ายนั้นจะกินแนวปริมณฑลที่แตะจากอลาสก้าของสหรัฐแล้วขยับขึ้นไปจนถึงเขตน้ำแข็งขั้วโลกแอนตาร์กติก

โดยอาจกล่าวได้ว่า การขยายแนวปริมณฑลทหารของจีนเพื่อตอบโต้พฤติกรรมสหรัฐฯ ได้ทำให้ผืนน้ำที่ห้อมล้อมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างหมู่เกาะสแปรตลีย์และพาราเซลล์ ถูกผนวกให้เข้าไปอยู่ในข่ายวงแหวนชั้นที่หนึ่งของจีน ซึ่งถือเป็นโซนภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลกระทบอย่างยิ่งยวดต่อบูรณาภาพเขตแดนและระบบความมั่นคงทางยุทธศาสตร์ของจีน

ฉะนั้นแล้ว คงจะมิเกินเลยนัก หากกล่าวว่า การรุกคืบทางการทหารของกองทัพสหรัฐฯ ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการโต้กลับทางยุทธศาสตร์ขนานใหญ่จากจีน ได้ทำให้ภูมิภาคอาเซียน ถูกกำหนดให้เป็นโซนบริวารหรือกระดานสัประยุทธ์ทางการทหารของสองทวิอำนาจทางการเมืองโลกอย่างชัดแจ้ง จนทำให้ อาเซียนและรัฐแปซิฟิกอื่นๆ อาจดำรงสภาพเป็นเพียงแค่เขตอิทธิพลของพญาอินทรีย์กับพญามังกร

ขณะเดียวกัน การขาดระบบกองทัพร่วมประจำอาเซียน ผสมผสานกับการทำสัญญาทางทหารแบบทวิภาคีระหว่างชาติสมาชิกอาเซียนกับรัฐมหาอำนาจอื่นๆอย่างสหรัฐฯ  ย่อมกลายเป็นตัวแปรหลักที่ทำให้ดุลกำลังทางทหารของอาเซียน ยังคงหนีไม่พ้นที่จะต้องตกอยู่ใต้การประกันคุ้มครองจากรัฐมหาอำนาจที่ทรงกำลังมากกว่า เช่น การรับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ของกองทัพฟิลิปปินส์และเวียดนามเพื่อถ่วงดุลคานอิทธิพลจีน

เพียงแต่ว่า พฤติกรรมทางทหารที่คุกคามของจีนในปัญหาเรื่องกรรมสิทธิ์เขตแดนทางแถบทะเลจีนใต้ ประกอบกับการโหมยุทธศาสตร์เติมกำลังของสหรัฐฯ ในย่านอาเซียนอย่างหนักหน่วง ก็อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สหรัฐฯ สามารถผงาดขึ้นมาเพื่อเข้าไปสิงสถิตอยู่ในสภาวะสูญญากาศเชิงอำนาจได้อย่างมีเสถียร จนค่อยๆ ผลักตัวเองให้กลายสภาพเป็นสุดยอดอภิมหาอำนาจทางทหารที่มีพลานุภาพอย่างยิ่งยวดต่อระบบภูมิทัศน์ด้านความมั่นคงของอาเซียนสืบต่อไป

 

 

ดุลยภาค ปรีชารัชช

สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

........................................................

แหล่งอ้างอิงที่น่าสนใจ

เอกชัย ศรีวิลาศ, พลเอก. 'ยุทธศาสตร์และการวางกำลังกองทัพอเมริกัน'. http://www.slideshare.net/tarayasri/ss-25910054 (เข้าถึงเมื่อ 4 เมษายน 2557).

วิชัย ชูเชิด, พันเอก. 'ยุทธศาสตร์สหรัฐฯ กับผลกระทบต่อประเทศไทย'. วารสารเสนาธิปัตย์ 61, 2 (พ.ค.- ส.ค. 2555), หน้า 18-24.

Robert Kagan. The Return of History and the End of Dream. London: Atlantic Books, 2008.

 

 


 

บล็อกของ ดุลยภาค

ดุลยภาค
รัฐประหารที่ส่อเค้าล้มเหลวในตุรกีล่าสุด ให้บทเรียนราคาแพงต่อวิชา "รัฐประหารศึกษา” และ "การเมืองเปรียบเทียบ" โดยเฉพาะเรื่องบทบาททหารกับการเมือง
ดุลยภาค
กล่าวโดยสรุป รัฐจารีตอุษาคเนย์ มักคุ้นชินกับเกมสังเวียนพยัคฆ์-คชสาร ซึ่งถูกจัดขึ้นเพื่อสะท้อนประสบการณ์เชิงบวก-เชิงลบต่อสัตว์พื้นเมืองทั้งสองชนิด รวมถึงใช้เพื่อส่งสัญญะ แสดงพลังข่มขู่ขับไล่ผู้รุกรานต่างถิ่น แต่ขณะเดียวกัน เกมสังเวียนประเภทนี้ ก็ถูกใช้เพื่อตอบสนองมหกรรมบันเทิงของเหล่ากษัตริย์-ขุนนาง-ประชาชน ซึ่งก็ไม่แตกต่างอะไรมากนักจากศึกสังเวียนโคลอสเซียมในจักรวรรดิโรมัน