Skip to main content

 

 

รัฐธรรมนูญลาวได้กำหนดให้อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน โดยถูกใช้ผ่านสภาแห่งชาติซึ่งถือเป็นผู้แทนประชาชน รวมถึงพรรคประชาชนปฏิวัติลาว และองค์กรมหาชนต่างๆ อาทิ สหพันธ์แม่หญิงและองค์กรคนหนุ่มปฏิวัติ

ส่วนทางระเบียบรัฐประศาสนศาสตร์ พรรคประชาชนปฏิวัติลาว ถือเป็นแกนกลางแห่งกระบวนการรวมศูนย์อำนาจ ซึ่งจะมีบทบาทในการกำหนดนโยบายสาธารณะและแต่งตั้งบุคลากรของพรรคเข้าไปประจำการยังส่วนราชการต่างๆ โดยมีสภาแห่งชาติ ใช้อำนาจทางด้านนิติบัญญัติ ประธานประเทศและคณะรัฐบาล ใช้อำนาจทางด้านบริหาร และมีศาลประชาชน-อัยการประชาชน ใช้อำนาจทางด้านตุลาการ

แผนผังจาก Vientiane Times, June 16, 2011 (โดยโครงสร้าง cabinet ใหม่ได้ถูกจัดตั้งก่อรูปขึ้นเมื่อช่วงต้นปี 2011 และกลายเป็นกลไกหลักในการบริหารประเทศจนกระทั่งถึงปัจจุบัน)

ในส่วนของโครงข่ายคณะรัฐบุคคล มีพลโทจูมมะลี ไชยะสอน (ຈູມມະລີ ໄຊຍະສອນ) ดำรงตำแหน่งประธานประเทศหรือประมุขสูงสุดแห่งรัฐ และมีท่านบุนยัง วอละจิต ดำรงตำแหน่งรองประธานประเทศ ส่วนองค์ประกอบของคณะรัฐบาล จะมี ท่านทองสิง ทำมะวง ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี และมีรัฐมนตรีดูแลงานบริหารราชการแผ่นดินอีกกว่า 20 กระทรวง

จุดที่น่าสนใจเกี่ยวกับโครงสร้างอำนาจรัฐลาวใหม่ คือ การผสานโควต้าระหว่างชนชั้นนำรุ่นเก่ากับชนชั้นนำรุ่นใหม่ ซึ่งก็ทำให้รูปลักษณ์ของ cabinet หรือ administrative machine ในลาว เต็มไปด้วยกลุ่มอำนาจที่มาจากภูมิหลังการศึกษาและประสบการณ์ทางการเมืองที่หลากหลาย

เช่น ท่านจูมมะลี ไชยะสอน อดีตนายทหารลาวลุ่มจากแขวงอัตตะปือ ซึ่งจบวิชาการทหารชั้นสูงจากโซเวียตและวิชาทฤษฏีการเมืองมาร์กซิสต์จากเวียดนามเหนือ หรือ ความโดดเด่นทางวิชาการของรัฐมนตรีหลายท่าน ซึ่งมีอยู่ไม่น้อยที่เป็นเทคโนแครตหรือผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพ พร้อมจบการศึกษาระดับปริญญาเอกจากต่างประเทศ หรือ มีตำแหน่งทางวิชาการเป็นถึงศาสตราจารย์

น่าเชื่อว่า ผังโครงสร้างอำนาจใหม่ จะทำให้รัฐลาวแปลงสภาพเป็นรัฐที่มุ่งเน้นการพัฒนา (Developmental State) ที่ประยุกต์ใช้ทั้งแนวคิดสังคมนิยมกับทุนนิยม (ซึ่งมาพร้อมกับชนชั้นนำเก่ากับชนชั้นนำใหม่ หรือประเพณีนิยมกับโลกาภิวัฒน์นิยม) จนค่อยๆ ทำให้ยุทธศาสตร์การพัฒนาและแบบแผนลีลาบริหารรัฐกิจของรัฐลาวใหม่ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในแบบฉบับที่ว่า เสถียรภาพและสันติภาพอาจสามารถเดินทางคู่ขนานไปกับวัฒนาการสถาพรได้อย่างลงตัว ค่อยเป็นค่อยไป

 


ดุลยภาค ปรีชารัชช
สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

 

 

 

บล็อกของ ดุลยภาค

ดุลยภาค
รัฐประหารที่ส่อเค้าล้มเหลวในตุรกีล่าสุด ให้บทเรียนราคาแพงต่อวิชา "รัฐประหารศึกษา” และ "การเมืองเปรียบเทียบ" โดยเฉพาะเรื่องบทบาททหารกับการเมือง
ดุลยภาค
กล่าวโดยสรุป รัฐจารีตอุษาคเนย์ มักคุ้นชินกับเกมสังเวียนพยัคฆ์-คชสาร ซึ่งถูกจัดขึ้นเพื่อสะท้อนประสบการณ์เชิงบวก-เชิงลบต่อสัตว์พื้นเมืองทั้งสองชนิด รวมถึงใช้เพื่อส่งสัญญะ แสดงพลังข่มขู่ขับไล่ผู้รุกรานต่างถิ่น แต่ขณะเดียวกัน เกมสังเวียนประเภทนี้ ก็ถูกใช้เพื่อตอบสนองมหกรรมบันเทิงของเหล่ากษัตริย์-ขุนนาง-ประชาชน ซึ่งก็ไม่แตกต่างอะไรมากนักจากศึกสังเวียนโคลอสเซียมในจักรวรรดิโรมัน