Skip to main content

 

 

เมื่อราวๆ สองปีก่อน องค์การไทยแลนด์ เบอร์มา บอร์เดอร์ คอนเซอร์เดียม หรือ ที่เรียกกันว่า ทีบีบีซี/TBBC ได้ทำการสำรวจสภาพชีวิตของผู้พลัดถิ่นตามตะเข็บชายแดนไทย-เมียนมาร์ อาทิ รัฐกะเหรี่ยง รัฐคะยาห์ รัฐมอญ หรือ ภาคตะนาวศรี ซึ่งพบว่าบริเวณรอยต่อกึ่งกลางระหว่างแม่น้ำสะโตงกับแม่น้ำสาละวิน อย่างเช่น เมืองจ็อกจีและผาปูน ถือเป็นชนวนวาบไฟที่ยังคงเต็มไปด้วยปัญหาความยากจนและความอลหม่านของชุมชนพื้นเมืองที่ต้องพลัดถิ่นระหกระเหินร่อนเร่หลบหนีเงื้อมเงาการขยายแสนยานุภาพของกองทัพพม่าที่ยังคงต้องการที่จะควบคุมกองกำลังชนชาติพันธุ์แบบเบ็ดเสร็จสืบต่อไป

(แม้จะมีใครต่อใครที่เชื่ออย่างสนิทใจว่าสถานการณ์ในพม่าช่วงหลังเลือกตั้งจะเป็นไปแต่ในแง่บวกและมีแต่ความชื่นมื่นเบิกบาน โดยมิมองดูที่ปัญหาเรื่องเอกภาพระหว่างรัฐบาลกับกองทัพแห่งชาติกันอย่างจริงจัง)

ยังคงต้องรอดูกันต่อไปว่ารัฐบาล เต็ง เส่ง จะสามารถแก้ไขปัญหาความยากจนและการพลัดถิ่นภายในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงไร ซึ่งถือเป็นประเด็นที่ท้าทายทิศทางของระบบการทูตเชิงมนุษยธรรม (Humanitarian Diplomacy) มิใช่น้อย เนื่องจากหน่วยงานด้านความมั่นคงของพม่ายิงมิยอมผ่อนปรนข้อห้ามการจัดส่งความช่วยเหลือเข้าไปในพื้นที่ความขัดแย้งอย่างเต็มที่ ซึ่งก็ทำให้ความช่วยเหลือส่วนใหญ่ถูกส่งไปยังพื้นที่ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบอย่างหนักหน่วง เช่น เขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเอยาวดี (Delta) หรือเขตแห้งทางตอนกลางของประเทศ (Dry Zone)

ในขณะที่เขตภาคตะวันออกเฉียงใต้ ที่แตะคลุมรัฐชาติพันธุ์ อย่าง รัฐคะยาห์ รัฐกะเหรี่ยง หรือบางส่วนของรัฐฉานและภาคพะโค ชีวิตตัวน้อยๆ ของเหล่าพหุชนชาติ ยังคงเต็มไปด้วยความมืดมน เคว้งคว้าง และคราบน้ำตาสืบต่อไป คงต้องรอแสงตะวันใหม่ที่เกิดจากความร่วมมือปรองดองกันอย่างแท้จริง ทั้งจากรัฐบาลพม่า ชนชาติพันธุ์ อาเซียน และประชาคมระหว่างประเทศโดยรวม ซึ่งก็นับเป็นประเด็นที่เต็มไปด้วยอุปสรรคและขวากหนามอันแหลมคมมิใช่น้อย คงต้องรอลุ้นหรือให้กำลังใจเพื่อนมนุษย์กันต่อไป

เฮ้ย! แล้วคนไทยที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบทางการเมืองภายในประเทศละ โอ้โห ความรุนแรงและความมืดมนแพร่ระบาดไปทั่วประเทศเลย หลายคนต้องหนีการตามล่าอย่างหัวซุกหัวซุนจนกลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายในและนอกประเทศ หลายคนต้องบ้านแตกสาแหรกขาดเพราะความเห็นต่างทางการเมืองของสมาชิกในครอบครัว ขณะที่บางคนเริ่มจะมีอาการวิกลจริตแบบจิตป่วนแล้ว เพราะคงเจอพิษการเมืองเข้าอย่างจัง เริ่มจะลำบากเข้าใกล้ประชากรในเมียนมาร์แล้วนะครับ

Good Luck, Myanmar-Thailand

 

ดุลยภาค ปรีชารัชช

 

 

บล็อกของ ดุลยภาค

ดุลยภาค
รัฐประหารที่ส่อเค้าล้มเหลวในตุรกีล่าสุด ให้บทเรียนราคาแพงต่อวิชา "รัฐประหารศึกษา” และ "การเมืองเปรียบเทียบ" โดยเฉพาะเรื่องบทบาททหารกับการเมือง
ดุลยภาค
กล่าวโดยสรุป รัฐจารีตอุษาคเนย์ มักคุ้นชินกับเกมสังเวียนพยัคฆ์-คชสาร ซึ่งถูกจัดขึ้นเพื่อสะท้อนประสบการณ์เชิงบวก-เชิงลบต่อสัตว์พื้นเมืองทั้งสองชนิด รวมถึงใช้เพื่อส่งสัญญะ แสดงพลังข่มขู่ขับไล่ผู้รุกรานต่างถิ่น แต่ขณะเดียวกัน เกมสังเวียนประเภทนี้ ก็ถูกใช้เพื่อตอบสนองมหกรรมบันเทิงของเหล่ากษัตริย์-ขุนนาง-ประชาชน ซึ่งก็ไม่แตกต่างอะไรมากนักจากศึกสังเวียนโคลอสเซียมในจักรวรรดิโรมัน