Skip to main content

 

 

ในยามที่บ้านเมืองต้องแตกร้าวระส่ำระส่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมของกลุ่มประเทศโลกที่สาม การแผ่อำนาจทางการเมืองของทหาร มักถือเป็นเรื่องปกติ จนมักมีการเรียกขานทหารที่ตัดสินใจเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองว่า "องครักษ์ผู้ค้ำจุนรัฐ" หรือ "เพรโตเรี่ยน การ์ด/ Praetorian Guard"

ในทางประวัติศาสตร์ คำๆ นี้มักหมายถึง หน่วยทหารที่ทำหน้าที่คุ้มครององค์จักรพรรดิโรมัน หากแต่ว่า กองทหารเหล่านี้ก็อาจจะแอบลอบสังหารผู้ปกครองที่ประสบความล้มเหลวในการบริหารบ้านเมือง หรืออาจหันมาให้ความคุ้มกันต่อคณะสภาซีเนทเพื่อให้การคัดเลือกองค์อธิปัตย์ตนใหม่ เต็มไปด้วยความสงบราบรื่น

อย่างไรก็ตาม เวลาต่อมา คำว่า "เพรโตเรี่ยน การ์ด" ได้กลายมาเป็นศัพท์เทคนิคทางรัฐศาสตร์ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมักถูกนำมาใช้อธิบายถึงการแทรกแซงทางการเมืองของทหาร ควบคู่ไปกับคำศัพท์วลีอื่นๆ อย่างเช่น "The Man on Horseback" หรือที่อาจแปลเป็นภาษาไทยว่า "ชายบนหลังม้า" "บุรุษอาชาไนย" หรือ "อัศวินขี่ม้าขาว"

ปกหนังสือของ Finer นักรัฐศาสตร์ชื่อดังด้านทหารกับการเมือง เรื่อง "The Man on Horseback" จัดพิมพ์โดย Penguin ปี 1976 แสดงภาพชายบนหลังม้า บุรุษผู้เข้ามากู้วิกฤติให้กับบ้านเมือง เพียงแต่ข้าพเจ้าอยากจะตีความเอาเองว่า ในประวัติศาสตร์ของรัฐโลกที่สาม ถือว่ามีอยู่หลายครั้งที่ทหารมิสามารถจะนำสันติภาพกลับคืนสู่สังคมได้อย่างแท้จริง ซึ่งก็ทำให้อัศวินผู้กล้ากลับต้องขับขี่อาชาไนยสีเลือด แทนที่จะเป็นอัศวยุทธสีขาวอันทรงเกียรติและปราศจากมลทินทางการเมือง แต่กระนั้น ก็กลับมีอดีตบุรุษลายพรางบางกลุ่มที่พยายามทุ่มพละกำลังเพื่อเข้าแก้ไขวิกฤติของบ้านเมืองได้อย่างน่าประทับใจอยู่เช่นกัน อาทิ อดีตนายพลเต็ง เส่ง ของพม่า และ อดีตนายพล ซูซิโล บัมบัง ยูโดโยโน ของอินโดนีเซีย


จากนิยามดังกล่าว การตัดสินใจประกาศกฎอัยการศึกของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อเข้าระงับความขัดแย้งในบ้านเมือง พร้อมกระชับอำนาจให้กองทัพบกกลายมาเป็นแกนกลางหลักแห่งโครงสร้างการเมืองไทย จึงถือเป็นพฤติกรรมที่เข้าข่ายลักษณะขององครักษ์ผู้ค้ำจุนรัฐ ซึ่งนับเป็นประเพณีการพัวพันทางการเมืองในแบบปกติของรัฐกำลังพัฒนาทั้งหลายทางแถบเอเชีย อัฟริกา และละตินอเมริกา

โดยกลิ่นอายแห่งความเป็นเพรโตเรี่ยน การ์ด สามารถสังเกตได้จากท่วงทำนองการประกาศอำนาจของตัวผู้บัญชาการทหารบก ที่ใช้พระบรมราโชวาทของรัชกาลที่ห้า เป็นฉากหลังขณะกำลังนั่งอ่านแถลงการณ์ ซึ่งมีข้อความสำคัญ เช่น "ทหารคือสุภาพบุรุษผู้ถืออาวุธเพื่อป้องกันประเทศ" หรือ "ทหารเป็นผู้เสียสละประโยชน์สุขส่วนตัวเพื่อความผาสุกของประชาชน และ ความอยู่รอดของชาติ”

นอกจากนั้น ภูมิหลังของพลเอกประยุทธ์ที่เติบโตมาจากกลุ่มทหารสายบูรพาพยัคฆ์ซึ่งรับมอบภารกิจเป็นกองทหารราชองครักษ์เพื่อถวายความคุ้มครองแด่องค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ก็อาจเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบหลักที่ช่วยตอกย้ำภาพลักษณ์ของความเป็นเพรโตเรี่ยน การ์ด ให้ตราตรึงอยู่ในมโนทัศน์ทางการเมืองของพลเอกประยุทธ์

สำหรับเรื่องของศิลปะการใช้อำนาจ จะเห็นว่า การประกาศกฎอัยการศึกครั้งล่าสุด อาจยังผลดีหรือช่วยอวยประโยชน์ทางการเมืองให้กับขั้วอำนาจขององครักษ์ผู้คำจุนรัฐ โดยในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน โครงสร้างอำนาจการปกครองตามแบบปกติของพลเรือน จะถูกแทนที่ด้วยโครงสร้างบังคับบัญชาของกองทัพ เช่น การเข้ามามีอำนาจของศาลทหารในการตัดสินคดีความด้านความมั่นคง หรือ การถ่ายระดับกลไกอำนาจรัฐจากกองอำนวยการส่วนกลาง ลงสู่กองทัพภาค กองพล กองพัน และ กองร้อย ตลอดจนการแทรกตัวของเจ้าหน้าทหารเข้าไปในโครงข่ายการบริหารปกครองสายมหาดไทย เช่น จังหวัด อำเภอ ตำบลและหมู่บ้าน

การขยับปริมณฑลการใช้อำนาจเช่นนี้ ย่อมส่งผลให้ ผบ.ทบ. กลายเป็นองค์รัฏฐาธิปัตย์เฉพาะกิจซึ่งมีอำนาจแทนที่รัฐบาลในการจัดการปกครองประเทศ ขณะเดียวกัน การสถาปนากองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) ยังทำให้เกิดการเปลี่ยนดุลอำนาจภายในกองทัพ ซึ่งถือเป็นความพยายามกระชับอำนาจของทหารสายคุมกำลังรบให้มีอยู่เหนือกลุ่มทหารฝ่ายวางแผนและธุรการ อย่างเช่นจากขั้วปลัดกระทรวงกลาโหม หรือ จากขั้วชนชั้นนำพลเรือนภายในศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย หรือ ศอ.รส.

ในอีกแง่มุมหนึ่ง การประกาศกฎอัยการศึกครอบคลุมทั่วประเทศ ยังเป็นการเสริมสร้างความเหนียวแน่นให้กับกองทัพภาคแต่ละแห่ง ซึ่งจะมีลักษณะเป็นการดึงให้หน่วยขึ้นตรงต่างๆ สามารถประสานหรือประกอบกำลังกันเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในแต่ละพื้นที่ พร้อมเปิดโอกาสให้แม่ทัพประจำหน่วยรบระดับกองพลหรือกองพัน มีโอกาสแสดงความพร้อมหรือทักษะการปฏิบัติการในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น กองพลทหารราบที่ 9 จากค่ายสุรสีห์ ที่เคลื่อนย้ายกำลังอย่างรวดเร็วจากกาญจนบุรีเข้าสู่ถนนอักษะเพื่อตรึงแนวชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง หรือ การเตรียมกำลังรักษาความสงบของกองพลทหารราบที่ 7 ค่ายขุนเณร จังหวัดเชียงใหม่ และกองพลทหารราบที่ 6 ค่ายสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ จังหวัดร้อยเอ็ด

แต่อย่างไรก็ตาม แม้พลเอกประยุทธ์ จะประสบความสำเร็จในการประกาศใช้กฎอัยการศึก แต่ก็มิใช่ว่าเส้นทางการสร้างเอกภาพภายในประเทศ จะปราศจากซึ่งขวากหนาม โดยยังต้องจับตามองกันต่อไปว่าการสำแดงบทบาทเป็นองครักษ์ผู้ค้ำจุนรัฐในคราบของทหารผู้ไกล่เกลี่ย (Moderator) จะสามารถดึงให้คู่ขัดแย้งขั้วต่างๆ ยอมตัดสินใจลดเงื่อนไขทางการเมืองพร้อมเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการปรองดองอย่างจริงจัง ได้มากน้อยเพียงไร

ซึ่งถ้าหากขั้นตอนดังกล่าวประสบความล้มเหลว หรือมีแนวโน้มว่าจะยืดเยื้อสืบต่อไป การเพิ่มพลังของบุรุษอาชาไนย ขึ้นสู่การเป็นทหารผู้ปกครองแบบเต็มพิกัด (Ruler) ผ่านการยึดอำนาจหรือการทำรัฐประหารเต็มรูป ก็อาจกลายเป็นฉากทัศน์ที่ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของ ผบ.ทบ. หรือ กองทัพไทยโดยรวมอยู่มิใช่น้อย ในอีกกรณีหนึ่ง แม้ขุมพลังของกองทัพภาคที่ประกอบด้วยป้อมค่ายซึ่งตั้งเรียงรายอยู่ตามจังหวัดยุทธศาสตร์ต่างๆ จะสามารถยึดโยงให้กองทหารสามารถเปิดปฏิบัติการเพื่อควบคุมฝ่ายปรปักษ์ได้อย่างค่อนข้างมีประสิทธิภาพ

พลเอกประยุทธ์ ในพิธีสวนสนามวันกองทัพไทย

หากแต่ว่า ทหารเองนั้นย่อมถือเป็นส่วนหนึ่งของผลผลิตทางสังคม ซึ่งหากสังคมหรือภูมิภาคต่างๆ ภายในประเทศ ล้วนเต็มไปด้วยการแตกแยกทางความคิดหรือสภาวะขัดแย้งทางชนชั้น การคุมกำลังพลระดับล่างซึ่งเริ่มมีการรับรู้ข่าวสารที่มาจากนอกค่ายทหารมากขึ้นเรื่อยๆ หรือมีเครือญาติซึ่งเป็นคนที่ชอบต่อต้านอิทธิพลทางการเมืองของทหารอยู่เนืองๆ ก็อาจกลับกลายเป็นขั้วปัจจัยที่สร้างความยากลำบากให้กับการรวมเอกภาพภายในกองทัพ หรือ การสานเอกภาพระหว่างกองทัพกับประชาชน

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น กองทัพญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษ 1920 ที่กำลังพลระดับบนมักเป็นชนชั้นสูงสายอนุรักษ์นิยม ขณะที่กำลังพลระดับล่างกลับเป็นชนชั้นกลางและชนชั้นชาวนา หรือกรณีความระส่ำระส่าของกองทัพฝรั่งเศสในอัลจีเลียช่วงทศวรรษ 1950 ที่การเกณฑ์กำลังพลจากหลายพื้นที่ ได้ทำให้ทหารระดับล่างถูกแยกกลุ่มหรือสนับสนุนกลุ่มอำนาจที่มาจากภูมิภาคต่างๆ จนทำให้การรวมศูนย์ของกองทัพต้องสั่นคลอน

นอกจากนั้น ประเด็นที่เหล่าองครักษ์เพรโตเรี่ยนในโลกการเมืองปัจจุบัน จำเป็นจะต้องให้ความสำคัญกันอย่างจริงจังคือการคืนความสงบแก่บ้านเมืองให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้พร้อมจัดการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรม ควบคู่ไปกับการประกันความปลอดภัยให้กับผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งก็นับเป็นประเด็นที่หาความสำเร็จได้ยากในหมู่กองทัพของรัฐกำลังพัฒนาทั้งหลาย เช่น ความล้มเหลวของทหารพม่าในการจัดการเลือกตั้งที่โปร่งใสเที่ยงธรรมเมื่อช่วงปี 1990 และ 2010 หรือแม้แต่การจัดเลือกตั้งหลังการยึดอำนาจของนายพลปัก จุงฮี ของเกาหลีใต้ ช่วงต้นทศวรรษ 1960 เป็นอาทิ

ท้ายที่สุด คงต้องภาวนาให้ราชองครักษ์ผู้ค้ำจุนรัฐไทย สามารถใช้ทักษะด้านความมั่นคง เข้าคลี่คลายสถานการณ์เพื่อนำพาประเทศกลับคืนสู่สภาวะปกติ พร้อมนำกำลังกลับเข้ากรมกอง แล้วปล่อยให้สังคมเดินหน้าไปตามระบบและกรอบกฎหมายที่เต็มไปด้วยความศักดิ์สิทธิ์และยุติธรรม ซึ่งถ้าหากพลเอกประยุทธ์สามารถจบภารกิจได้ในระยะเวลาอันสั้น ก็เท่ากับเป็นความสำเร็จส่วนหนึ่งในการปฏิรูปภาคทหาร (Military Reform) ของกองทัพไทย

เพียงแต่ว่า โอกาสแห่งความสำเร็จในบ้านเมืองนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับกลุ่มพลังภาคพลเรือนดุจเดียวกันกัน โดยต้องจับตามองว่าเขาเหล่านั้นจะสามารถเจรจาประนีประนอมเพื่อหาข้อยุติทางการเมืองได้มากน้อยเพียงใด

อนึ่ง การต่อสู้ห้ำหั่นกันอย่างรุนแรงและสุดโต่งของกลุ่มการเมืองแต่ละฝ่าย รวมถึงจำนวนผู้เสียชีวิตที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมๆ กับการตะแบงและสาดโคลนกันไปมาอย่างยาวนานของบรรดานักการเมือง ก็นับเป็นอีกหนึ่งข้อบกพร่องที่ทำให้การยอมรับความเหนือกว่าของพลเรือน หรือที่เรียกในทางวิชาการว่า "Civilian Supremacy” ยังมิอาจหยั่งรากลึกหรือซึมซาบเข้าไปในจิตใจของชนชั้นนำทหารไทยได้อย่างจริงจัง

ผลที่ตามมา คือความไม่เชื่อมั่นของผู้นำทหารเกี่ยวกับสมรรถนะทางการปกครองของพลเรือนและวัฏจักรการเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองของทหารในฐานะองครักษ์ผู้คำจุนรัฐหรืออัศวินขี่ม้าขาว ซึ่งอาจจะยังคงเกาะติดแทรกซึมเข้าไปในกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยของรัฐไทย สืบต่อไป

 

 

ดุลยภาค ปรีชารัชช

สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


................................................

 

รายการอ้างอิง

Finer, S.E. The Man Horseback: The Role of Military in Politics. Baltimore [etc]: Penguin, 1976.

Huntington, S.P. The Soldier and the State: The Theory and Politics of Civil-Military Relations. New York: Vintage Book, 1957.

Nordlinger, E.A. Soldiers in Politics: Military Coups and Governments. New Jersey: Prentice-Hall, 1997.
 

บล็อกของ ดุลยภาค

ดุลยภาค
รัฐประหารที่ส่อเค้าล้มเหลวในตุรกีล่าสุด ให้บทเรียนราคาแพงต่อวิชา "รัฐประหารศึกษา” และ "การเมืองเปรียบเทียบ" โดยเฉพาะเรื่องบทบาททหารกับการเมือง
ดุลยภาค
กล่าวโดยสรุป รัฐจารีตอุษาคเนย์ มักคุ้นชินกับเกมสังเวียนพยัคฆ์-คชสาร ซึ่งถูกจัดขึ้นเพื่อสะท้อนประสบการณ์เชิงบวก-เชิงลบต่อสัตว์พื้นเมืองทั้งสองชนิด รวมถึงใช้เพื่อส่งสัญญะ แสดงพลังข่มขู่ขับไล่ผู้รุกรานต่างถิ่น แต่ขณะเดียวกัน เกมสังเวียนประเภทนี้ ก็ถูกใช้เพื่อตอบสนองมหกรรมบันเทิงของเหล่ากษัตริย์-ขุนนาง-ประชาชน ซึ่งก็ไม่แตกต่างอะไรมากนักจากศึกสังเวียนโคลอสเซียมในจักรวรรดิโรมัน